ทำไม iLaw

iLaw (อ่านว่า ไอ - ลอ) หรือชื่อทางการว่า โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน เป็นเว็บไซต์ที่อยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมผลักดันการเปลี่ยนแปลงในสังคมด้วยการเสนอกฎหมาย

เราร่วมกันเสนอกฎหมายได้หากระดมชื่อได้ครบหนึ่งหมื่นชื่อ ช่องทางการมีส่วนร่วมลักษณะนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2540 และยังต่อเนื่องมายังมาตรา 142 และ 193 ในรัฐธรรมนูญ 2550 ที่บอกว่า ประชาชนหนึ่งหมื่นคนสามารถเสนอกฎหมายในหมวด "สิทธิเสรีภาพ" และ "แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ" และหากประชาชนต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็สามารถทำได้ด้วยการเสนอห้าหมื่นชื่อ
 
การมีส่วนร่วมของประชาชนย่อมเปลี่ยนสังคมไปในทางที่ดี แม้กฎหมายประชาชนไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง ลำพังการแก้กฎหมายคงไม่สามารถแก้ปัญหาทุกเรื่องได้ แต่อย่างน้อย กระบวนการนี้ก็ช่วยสร้างอำนาจการต่อรองของคนธรรมดา ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีได้
 
กฎหมายอาจดูเหมือนเป็นเรื่องยากสำหรับคนที่ไม่ถนัดภาษานิติศาสตร์ แต่ชีวิตทุกคนก็ผูกพันกับกฎหมายอย่างแยกไม่ออก ดังนั้น เพียงแค่กำแพงทางภาษาวิชาการ ไม่ควรเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เราเข้าไม่ถึงเรื่องที่อยู่ใกล้เพียงปลายจมูก
 
iLaw จึงขอเชิญคุณมาร่วมเสนอกฎหมาย ในแบบที่ไม่ต้องกังวลว่าจะผิดมาตรฐานสำนักตรากฎหมายอย่างกฤษฎีกา สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความเห็นของทุกคน ซึ่งทีมงานจะรับหน้าที่หาล่ามแปลความคิดให้เป็นภาษากฎหมาย เพื่อให้คุณสามารถสนุกกับ iLaw ได้โดยไม่ต้องเกร็ง
 

เล่นอะไรได้บ้าง

หัวใจสำคัญของ iLaw คือ การมีส่วนร่วมในการปฏิรูปสังคม คุณทำได้! โดยในเว็บไซต์นี้มีสามส่วนหลักคือ คิด - ออกแบบ – ลงนาม
 
"คิด" : เสนอความคิด ตั้งประเด็นเกี่ยวกับสิ่งที่อยากเปลี่ยนสังคม รวมทั้งแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับความคิดอื่นๆ ในชุมชน โหวตแนวคิดที่เห็นว่าน่าสนใจ เรื่องใดได้รับความสนใจมาก ทีมงานจะหา "เจ้าภาพ" ซึ่งอาจเป็นหน่วยงาน กลุ่มบุคคล หรือเป็น "คุณ" มาพัฒนาเรื่องนั้นให้ออกเป็นกฎหมายประชาชนต่อไป
 
"ออกแบบ" : ประเด็นต่างๆ ที่มีเจ้าภาพแล้ว เจ้าภาพจะเสนอหลักการและสาระสำคัญที่เห็นว่าต้องมีในกฎหมายนั้นๆ แล้วเปิดให้ชุมชนช่วยออกแบบเนื้อหาให้สมบูรณ์ คุณสามารถเสนอความเห็นได้ ใช้ภาษาธรรมดาๆ บ้านๆ ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษากฎหมาย เพราะเจ้าภาพจะรวบรวมข้อเสนอต่างๆ รวมทั้งตัดสินใจฟันธงในเรื่องที่มีความหลากหลายสูง ส่งต่อยังทีมกฎหมายเพื่อปรับเป็นร่างกฎหมายที่สมบูรณ์
 
"ลงนาม" : เมื่อร่างกฎหมายประชาชนที่จัดทำโดยเจ้าภาพทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว หากคุณพึงพอใจในเนื้อหา ก็พิมพ์แบบฟอร์ม กรอกรายละเอียด ลงนาม แนบสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน แล้วส่งไปรษณีย์ไปให้กลุ่มเจ้าภาพ เพื่อร่วมเป็นหนึ่งในหมื่นรายชื่อผลักดันกฎหมายเข้าสู่กระบวนการต่อไป
 

เจ้าภาพ

ในการผลักดันข้อเสนอแต่ละเรื่อง iLaw จะประสานงานหากลุ่ม “เจ้าภาพ” เพื่อมาทำงานร่วมกัน เป็นผู้ติดตามดูแล เจ้าภาพอาจเป็นกลุ่มคนทั่วไปที่สนใจเรื่องนั้น หรือเป็นคนที่มีชีวิตหรือทำงานใกล้ชิดกับเรื่องนั้นๆ
 
บทบาทของเจ้าภาพคือการรวบรวมข้อเสนอจากคนทั่วไปแล้วนำไปประมวลเป็นข้อกฎหมาย อาจมีหลายครั้งที่รายละเอียดในข้อเสนอมีความแตกต่างไปคนละทิศทาง กลุ่มเจ้าภาพจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจเลือกในขั้นสุดท้ายว่า จะให้ทิศทางของกฎหมายไปทางไหน โดยมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ได้แก่ เหตุและผลที่ชุมชนร่วมกันเสนอ คะแนนการโหวต รวมถึงจุดยืนและอุดมการณ์ของกลุ่มเจ้าภาพ
 
แม้ดูเหมือนว่ากลุ่มเจ้าภาพมีบทบาทสูงในการกำหนดทิศทางเนื้อหา แต่ที่จริงแล้ว กลุ่มเจ้าภาพจะต้องรับผิดชอบต่อชุมชน เพราะในท้ายที่สุด เมื่อข้อเสนอต่างๆ ปรากฏเป็นร่างกฎหมายแล้ว ชุมชนสามารถตรวจสอบองค์กรเจ้าภาพได้อีกทาง หากเนื้อหาที่องค์กรเจ้าภาพกำหนดไม่เป็นที่พึงปรารถนา ชุมชนสามารถแสดงออกได้ด้วยการไม่ให้ความร่วมมือในการลงนามเสนอชื่อกฎหมายหมื่นชื่อ
 
หลังจากนั้น เมื่อร่างกฎหมายของประชาชนได้เข้าสู่กระบวนการรัฐสภาแล้ว กลุ่มเจ้าภาพจะต้องส่งตัวแทนเพื่อเข้าไปนั่งเป็นกรรมาธิการพิจารณากฎหมายนั้นๆ ในสัดส่วนหนึ่งในสามของกรรมาธิการทั้งหมด
 
 

ข้อตกลง

  1. iLaw มีจุดยืนที่เคารพเรื่องความเท่าเทียมกันของบุคคล ไม่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เห็นด้วยกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย และ iLaw จะเพิกเฉยไม่สนใจ หากมีการเสนอประเด็นสังคมและกฎหมายที่ขัดกับจุดยืนนี้
  2. ทุกคนต้องลงทะเบียนก่อนแสดงความเห็น เพื่อยืนยันว่าการสื่อสารในชุมชน iLaw เป็นการสื่อสารกับคน มิใช่เครื่องจักร
  3. ความเห็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเว็บไซต์ เป็นความเห็นของเจ้าของข้อความนั้น ซึ่งทีมงาน iLaw ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย
  4. iLaw เป็นเว็บไซต์กฎหมายเพื่อการปฏิรูปสังคม หากมีการพูดคุยนอกประเด็น ทีมงานขออนุญาตกระทำการบางอย่าง เพื่อให้บทสนทนานั้นยังอยู่ในประเด็นสำคัญ
  5. ทีมงานขออนุญาตปิดกั้นข้อความที่ละเมิดสิทธิผู้อื่น รวมทั้งข้อความที่ทีมงานพิจารณาแล้วว่าหากถูกฟ้องอาจเถียงแพ้คดี
 
 

ทีมงาน iLaw

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม มีคณะกรรมการ ประกอบด้วย
  1. กรรณิการ์ กิจติเวชกุล เครือข่าย FTA Watch
  2. จอน อึ๊งภากรณ์ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (ประธานคณะกรรมการโครงการ)
  3. จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
  4. ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  5. เพ็ญวดี แสงจันทร์ มูลนิธิดวงประทีป
  6. ไพโรจน์ พลเพชร คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน
 

Credit

    • ระบบจัดการข้อมูลโดย Drupal
    • พัฒนาระบบโดย opendream
    • ออกแบบโดย anpanpon