สัมมนา "ภูมิทัศน์และการเมืองของการพัฒนาชนบทไทยร่วมสมัย"

สัมมนา "ภูมิทัศน์และการเมืองของการพัฒนาชนบทไทยร่วมสมัย"

หลักการและเหตุผล
การพัฒนาชนบทไทยมักวางอยู่บนความรู้และความเข้าใจชนบทที่ต่างกันสองขั้ว ในขั้วหนึ่งชนบทไทยมีสถานะเป็นพื้นที่ของความล้าหลังด้อยพัฒนา ประชากรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรยากจนที่ประสบปัญหาและไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ จำเป็นที่รัฐจะต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือหรือว่า “พัฒนา” ให้มีความ “ทันสมัย” หรือพ้นจากความยากจน ขณะที่อีกขั้วชนบทไทยมีสถานะเป็นชุมชนที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุลมา หลายชั่วอายุคน ทว่าอยู่ในสภาวะเสื่อมถอยเพราะการรุกคืบของรัฐในนามของการพัฒนารวมทั้งการ ก้าวเข้ามาของทุนและตลาด จำเป็นที่รัฐจะต้องลดบทบาทและเปิดโอกาสให้ชนบทได้เผชิญกับทุนและตลาดบนฐาน ของ “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” ความรู้และความเข้าใจชนบทไทยขั้วแรกแพร่หลายในแวดวงที่เรียกว่า “การพัฒนากระแสหลัก” ซึ่งมีหน่วยงานรัฐเป็นกลไกขับเคลื่อน ขณะที่ความรู้และความเข้าใจขั้วหลังแพร่หลายในแวดวงที่เรียกว่า “การพัฒนาทางเลือก” ซึ่งมีองค์กรนอกภาครัฐเป็นกำลังสำคัญ

อย่างไรก็ดี ภูมิทัศน์การพัฒนาชนบทไทยข้างต้นได้เปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในช่วงกว่าทศวรรษ ที่ผ่านมา เพราะในด้านหนึ่ง “การพัฒนากระแสหลัก” ได้ผนวกรวมแนวคิดและวิธีปฏิบัติของ “การพัฒนาทางเลือก” เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งอย่างต่อเนื่อง เช่น เกษตรกรรมทางเลือกหรือเกษตรกรรมยั่งยืนได้รับการบรรจุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและ สังคมแห่งชาติตั้งแต่ฉบับที่ 6 เป็นต้นมา และหน่วยงานรัฐจำนวนมากได้จัดให้การส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนเป็น ส่วนหนึ่งของแผนงานและกิจกรรมของแต่ละหน่วยงาน ขณะที่อีกด้าน “การพัฒนาทางเลือก” ได้ถูกปรับขยายให้ครอบคลุมแนวคิดและรูปแบบการพัฒนาพิเศษจำพวกเศรษฐกิจพอ เพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งแยกไม่ออกจาก “การพัฒนากระแสหลัก” เพราะเป็นแนวคิดและรูปแบบการพัฒนาที่ส่งเสริมและดำเนินการโดยหน่วยงานรัฐใน พื้นที่ต่างๆ ทั่วทั้งประเทศ เส้นแบ่งระหว่างแนวทางการพัฒนาทั้งสองจึงไม่มีความเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอีกต่อไป และพรมแดนระหว่างรัฐ ทุน และสังคมก็มีความปรุพรุนและเลื่อนไหลกว่าที่เข้าใจกันมาก

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงในภูมิทัศน์การพัฒนาชนบทไทยข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของการต่อรอง อำนาจระหว่างฝ่ายต่างๆ ในสังคมไทยที่ยังไม่มีข้อยุติ เพราะแม้การที่ “การพัฒนากระแสหลัก” เปิดรับแนวคิดและวิธีปฏิบัติของ “การพัฒนาทางเลือก” สามารถนับเป็นผลของการรณรงค์เคลื่อนไหวในระดับนโยบายของ “ภาคประชาชน” หรือ “ภาคประชาสังคม” ทว่าในอีกแง่สภาวการณ์ดังกล่าวอาจเป็นผลของการที่รัฐรวมทั้งทุนพยายามลดแรง กดดันหรือดูดซับแรงต้านโดยที่ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงแนวคิดและวิธีปฏิบัติ ของตนในระดับรากฐาน นอกจากนี้ การที่สถาบันการเมืองจารีตซึ่งเป็นส่วนสำคัญของรัฐไทยได้เสนอแนวคิดและรูป แบบการพัฒนาชนิดพิเศษให้ทั้งข้าราชการและประชาชนนำไปปฏิบัติอย่างกว้างขวาง ทั่วทั้งประเทศก็สามารถนับเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามธำรงสถานะนำของสถาบัน การเมืองจารีตดังกล่าวในปริมณฑลการพัฒนาชนบท

ขณะเดียวกันการที่พรรคการเมืองต่างหันมาแข่งขันกันในเชิงนโยบายก็ส่งผลให้ การเมืองของการพัฒนาชนบทมีความเข้มข้นและซับซ้อนยิ่งขึ้น เพราะในด้านหนึ่งนโยบายของพรรคการเมืองให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาชนบท เพราะเห็นว่าเป็นปัญหาสำคัญและส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมาก ทว่าในอีกด้านนโยบายเหล่านี้ก็ถูกคิดคำนวณขึ้นบนฐานของความพยายามที่จะมัดใจ คนในชนบทเพื่อชัยชนะในการเลือกตั้ง ซึ่งในหลายกรณีเส้นแบ่งระหว่างวัตถุประสงค์ทั้งสองข้อนี้ไม่สามารถเห็นได้ ชัดหรืออาจจะมีความขัดแย้งกันเอง นอกจากนี้ แม้แต่ข้อเสนอของสถาบันหรือองค์กรที่ปวารณาตัวว่า “เป็นกลางทางการเมือง” เช่นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศก็เป็นส่วนหนึ่งของการเมืองเรื่องการพัฒนาที่ว่า นี้ด้วย เพราะนอกจากคณะกรรมการปฏิรูปจะเป็นผลผลิตของการเมืองโดยตรง ข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาการเกษตร สามารถนับเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะบรรเทาความคับข้องใจในชนบทไม่ให้ ลุกลามจนเป็นภัยคุกคามต่อระเบียบอำนาจหลักที่ดำรงอยู่

ประเด็นที่ควรพิจารณาคือ ถึงแม้แวดวงการศึกษาชนบทไทยร่วมสมัยจะให้ความสำคัญกับการสำรวจพลวัตและความ เปลี่ยนแปลงในชนบทซึ่งสั่นคลอนความรู้และความเข้าใจที่อยู่เบื้องหลังทั้ง “การพัฒนากระแสหลัก” และ “การพัฒนาทางเลือก” อย่างแหลมคม ทว่ายังไม่สู้จะให้ความสำคัญกับการสำรวจภูมิทัศน์และการเมืองที่อยู่เบื้อง หลังการพัฒนาชนบทไทยในปัจจุบันมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการที่แนวทางการพัฒนาที่ต่างกันทั้งสองรวมทั้งการที่ หน่วยงาน สถาบัน และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาไม่ว่าจะเป็นที่สังกัดรัฐหรือที่อยู่นอก ภาครัฐมีความเหลื่อมซ้อนและโยงใยกันมากขึ้นจนยากจะแยกออกจากกันได้ นอกจากนี้ แวดวงการศึกษาชนบทไทยยังไม่สู้ให้ความสำคัญกับการพิจารณาความสัมพันธ์ ระหว่างความเปลี่ยนแปลงในชนบทไทยโดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจและสังคมกับบริบทการ เมืองร่วมสมัยไม่ว่าจะเป็นในส่วนของนโยบายพรรคการเมืองหรือว่าการเคลื่อนไหว ทางการเมืองที่มีชนบทเป็นองค์ประกอบสำคัญ การจัดให้มีการแลกเปลี่ยนและอภิปรายในหัวข้อเกี่ยวกับชนบทและการพัฒนาชนบท ดังกล่าวนี้จึงมีความสำคัญ เพราะจะเป็นช่องทางในการสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจให้กับผู้ที่ เกี่ยวข้องและผู้ที่สนใจในการเผชิญปัญหาชนบทและการพัฒนาชนบทต่อไป

วัตถุประสงค์
1) เพื่อแสดงให้เห็นพลวัตและความเปลี่ยนแปลงในชนบทและการพัฒนาและแก้ปัญหาชนบทในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา
2) เพื่อแสดงให้เห็นความเป็นการเมืองของการพัฒนาและแก้ปัญหาชนบทที่แฝงอยู่ในการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
3) เพื่อแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างความเปลี่ยนแปลงในชนบทกับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน

เวลาและสถานที่
วันที่ 8 กรกฎาคม 2554 ณ ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 อาคารเอนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

จัดโดย
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
องค์กรร่วมจัด
1) ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
2) มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)
3) กลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย (Thai Social Movement Watch, TSMW)

 

 

กำหนดการ

 

 

8:45-9:00 น. ลงทะเบียน
9:00-9:05 น. ชี้แจงความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของการจัดงาน
9:05-9:15 น. คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวต้อนรับและเปิดงาน
9:15-10:45 น. การนำเสนอรายงานและการแลกเปลี่ยนหัวข้อ “ความรู้และการเมืองเรื่องการพัฒนาและชนบทไทย” โดย
ดร.กฤษฎา บุญชัย (นักวิชาการอิสระและอดีตเลขานุการคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ)
“ทางเลือก: ยุทธศาสตร์การต่อรองอำนาจทวนกระแส”
ดร.อัจฉรา รักยุติธรรม (คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร)
“การพัฒนาทางเลือกกระแสหลัก”
ดร.จักรกริช สังขมณี (คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
“ย้อนคิดว่าด้วยชีวิตทางการเมืองของชาวบ้าน: การเมืองในชนบทที่มากกว่าการเลือกตั้งและการชุมนุมประท้วง”
ให้ความเห็นโดย ผศ. ดร.นลินี ตันธุวนิตย์ (คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
ดำเนินรายการโดย ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ (คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)
10:45-11:00 น. พักรับประทานอาหารว่าง
11:00-12:30 น. การนำเสนอรายงานและการแลกเปลี่ยนหัวข้อ “ความจริงในม่านฝุ่น: มองชนบทไทยและการพัฒนาจากการศึกษาภาคสนาม” โดย
เนตรดาว เถาถวิล (PhD Candidate in Social Sciences, RCSD มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
“เฮ็ดอยู่ แต่บ่พอกิน: การดิ้นรนของชาวนาอีสานในยุคโลการภิวัตน์ด้านอาหารและการพัฒนา”
ทับทิม ทับทิม (PhD Candidate in Social Sciences, RCSD มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ University of Sydney)
“ลูกทุ่งหรือลูกกรุง?: ความเป็นเมืองในชนบทไทย”
สุรินทร์ อ้นพรม (PhD Candidate in Geography, University of Sydney)
“ป่าชุมชน: เครื่องมือเสริมสร้างความเข้มแข็งหรือเพียงแค่เทคโนโลยีอำนาจชิ้นใหม่?”
ชลิตา บัณฑุวงศ์ (PhD Candidate in Anthropology, University of Hawaii)
“ออแฆกำปง (ชาวบ้าน) ไม่โรแมนติค: การเกษตรและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบเข้มข้นในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้

ให้ความเห็นโดย ดร.รัตนา โตสกุล (คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
ดำเนินรายการโดย สืบสกุล กิจนุกูล

12:30-13:30 น. พักรับประทานอาหาร

13:30-15:00 น. การอภิปรายโต๊ะกลมหัวข้อ “เราอยู่กันอย่างไรในชนบทที่เปลี่ยนแปลง” โดย
สุรพล สงฆ์รักษ์ (สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.))
ส้มป่อย จันทร์แสง (กองทุนข้าวอินทรีย์สุรินทร์)
มานะ ช่วยชู (โครงการดับบ้านดับเมือง)
นันทา กันตรี (เกษตรกรจังหวัดสุพรรณบุรี)
ดำเนินรายการโดย กิ่งกร นรินทรางกูร (มูลนิธิชีววิถี)

15:00-15:15 น. พักรับประทานอาหารว่าง

15:15-16:30 น. การอภิปรายโต๊ะกลมหัวข้อ “ก้าวต่อไปของการศึกษาและการพัฒนาชนบทไทย” โดย
ศ. สุริชัย หวันแก้ว (ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ (มูลนิธิชีววิถี)
ผศ. ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง (คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
ผศ. ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย (คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
ดำเนินรายการโดย ดร.อนุสรณ์ อุณโณ (คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

16:30-16:35 น. กล่าวปิดงานโดย ดร.รัตนา โตสกุล