นานาชาติตะลึงไทยถอนตัวภาคี "มรดกโลก"
วันที่ 25 มิ.ย. นายสุวิทย์ คุณกิตติ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนการเจรจามรดกโลกฝ่ายไทย ยื่นจดหมายลาออกจากการเป็นภาคีคณะกรรมการมรดกโลกแล้ว ซึ่งมีผลในทันที การลาออกดังกล่าวทำให้เกิดปฏิกริยาตกตะลึงจากชาติสมาชิก เพราะไทยเป็นประเทศแรกในโลกที่ลาออกจากคณะกรรมการนี้ โดยฝ่ายไทยเห็นว่า คณะกรรมการมรดกโลกไม่ฟังข้อทักท้วงของไทย ในการปรับแก้ข้อความและถ้อยคำในร่างมติการประชุมล่วงหน้าเกี่ยวกับแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทเขาพระวิหาร
ผลจากการลาออกครั้งนี้ทำให้คณะกรรมการมรดกโลกไม่สามารถจัดการใดๆ ได้ เนื่องจากมติใดๆ เกี่ยวกับปราสาทเขาพระวิหารจะไม่มีผลผูกพันกับไทยอีกต่อไป
ที่มาข่าว มติชนออนไลน์
พันธมิตรฯประกาศสลายการชุมนุม 1 ก.ค. ยก"สุวิทย์"เป็นพระเอก
นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แถลงถึงกรณีที่ประเทศไทยได้ถอนตัวออกจากการเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลก ว่า ต้องขอบคุณนายสุวิทย์ คุณกิตติ ในฐานะหัวหน้าผู้เจรจามรดกโลก ที่ได้ตัดสินใจถอนตัว ถือเป็นชัยชนะของประชาชนคนไทยทั้งประเทศและถือเป็นความสำเร็จของการชุมนุมรวมพลังปกป้องแผ่นดินของกลุ่มพันธมิตรฯ โดยคืนวันที่ 1 ก.ค.จะประกาศยุติการชุมนุมทั้งด้านสะพานมัฆวานฯ และสะพานชมัยมรุเชฐ
ที่มาข่าว มติชนออนไลน์
ก.แรงงานเตรียมแก้พ.ร.บ. 3 ฉบับ รับแรงงานเสรีอาเ้ซียน
นายสิงหเดช ชูอำนาจ ผอ.สำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวหลังประชุมคณะทำงานว่า ที่ประชุมมีมติให้ปรับปรุงกฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ 1.พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 2.ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ฉบับที่ .... และ 3.พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 เนื่องจากกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ มีบทบัญญัติบางประการที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งเกรงว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีอาเซียนปี 2558 เพื่อให้แรงงานใน 7 วิชาชีพสามารถเข้ามาทำงานในประเทศไทยและจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ ซึ่งขณะนี้ร่างแก้ไขกฎหมายทั้ง 3 ฉบับอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา หากพิจารณาแล้วเสร็จทางกระทรวงแรงงานจะเสนอต่อรัฐบาลใหม่เพื่อผลักดันเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ต่อไป
ที่มาข่าว thailabourcampaign
“ยิ่งลักษณ์” ลงชายแดนใต้ ชูเขตปกครองพิเศษเหมือน กทม.
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 พรรคเพื่อไทย ลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หาเสียง โดยให้สัมภาษณ์ว่า เห็นด้วยกับการยกระดับการพัฒนาในพื้นที่เป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบ พิเศษ เช่นเดียวกับ กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา พร้อมทั้งการส่งเสริม และการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มากกว่าการใช้ความรุนแรงในพื้นที่
ที่มาข่าว ประชาไท
"ประยุทธ์" ค้านนโยบายกระจายอำนาจให้พื้นที่ชายแดนใต้
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก พร้อมด้วย เดินทางลงพื้นที่ จ.ปัตตานี เพื่อประชุมผู้บังคับหน่วย และรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์ และผลการปฏิบัติงานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า
“มันไม่มีวิธีการใดที่ดีไปกว่าการให้เจ้าหน้าที่รัฐทำงาน ประเทศไทยยังต้องมีการปกครองจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค เพราะฉะนั้นใครที่เสนอความคิดเป็นอย่างอื่นก็ไปทบทวนให้ดีว่าสุ่มเสี่ยงที่ จะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตหรือไม่ ผมทราบดีว่าประชาธิปไตยเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นน่าจะทบทวนดูว่าประเทศชาติสำคัญที่สุด การทำอะไรต่าง ๆ ที่สุ่มเสี่ยงต่อความไม่เข้มแข็ง หรือเกิดความอ่อนแอต่ออำนาจของรัฐ ผมว่ามันน่าเป็นห่วง ประเทศไทยไม่ได้ใหญ่โตที่จะต้องถ่ายทอดอำนาจจนขาดตอน ไม่เหมือนในต่างประเทศที่เขามีพื้นที่กว้างขวาง และคนไทยก็คือคนไทย ไม่น่าจะเอาอย่างเขาได้ทั้งหมด” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ที่มาข่าว ประชาไท
กก.สิทธิฯ ออกจดหมายเปิดผนึกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องทำประชามติทั้งประเทศ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เผยแพร่ จดหมายเปิดผนึก เรื่อง“โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ใครมีสิทธิ...ตัดสินใจ?” มีข้อสรุปสาระสำคัญได้ ๓ ประเด็นหลัก คือ รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่รอบด้าน ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ กรณีควรมีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่ โดยต้องให้มีการจัดทำประชามติครอบคลุมทั่วประเทศ
ที่มาข่าว มติชนออนไลน์
"กลุ่มผู้ใช้ยา"จี้ ก.สาธารณสุข หนุนนโยบายลดอันตรายจากการใช้ยา
ผู้สนับสนุนนโยบายลดอันตรายจากการใช้ยาและเครือข่ายภาคประชาสังคมกว่า 100 คนในนามกลุ่ม “12-D” ซึ่งทำงานในประเด็นยาและปัญหาเอชไอวีจะยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรียกร้องให้แสดงความเป็นผู้นำและความก้าวหน้ามากขึ้นในการผลักดันนโยบายลดอันตรายจากการใช้ยาในประเทศไทย
นักรณรงค์ระบุว่า ประเทศไทยไม่สามารถแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีและไวรัสตับอักเสบที่อันตราย เนื่องจากขาดมาตรการในการควบคุมนอกจากนั้น นโยบายปราบปรามยาเสพติดที่กระทำอย่างสม่ำเสมอยังเป็นอุปสรรคขัดขวางทำให้กลุ่มผู้ใช้ยาเหล่านี้แทบไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุข การให้บริการสาธารณสุขมักมีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ใช้ยา ในขณะที่ตำรวจยังคงละเมิดสิทธิผู้ใช้ยาอย่างต่อเนื่อง และยังขัดขวางไม่ให้ผู้สนับสนุนและนักกิจกรรมทำงานเพื่อผู้ใช้ยา
ที่มาข่าว ประชาไท