รอบอาทิตย์แรก ส.ค.54 สภาเห็นชอบ 296 เสียง ส่ง "ยิ่งลักษณ์ ครองนายกฯ"

รอบอาทิตย์แรก ส.ค.54 สภาเห็นชอบ 296 เสียง ส่ง "ยิ่งลักษณ์ ครองนายกฯ"

เมื่อ 8 ส.ค. 2554

 

จัดหนัก!! สมาคมต้านสภาวะโลกร้อนเตรียมฟ้อง 2 คดี รับศาลปกครองเปิดแผนกคดีสิ่งแวดล้อม

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ให้ข้อมูลว่า สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้อำนาจทางปกครองในทางละเมิด 2 เรื่อง คือ หนึ่ง การอนุญาตให้ก่อสร้างคลังน้ำมันเพื่อป้อนสนามบินสุวรรณภูมิในพื้นที่ผังเมืองสีเขียว ก่อให้เกิดไอระเหยจากน้ำมันกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนข้างคลังน้ำมันกว่า 20 ครอบครัว สอง การอนุญาตให้บริษัทเอกชนการก่อสร้างคอนโดมิเนียมสูง 95 เมตร ยาวกว่า 180 เมตร บริเวณขอบชิดเขตถนนงามวงศ์วาน ใกล้สี่แยกพงษ์เพชร เป็นการปิดกั้นทิศทางแสงอาทิตย์ และทิศทางลมของชาวบ้าน ชุมชนโดยรอบพื้นที่ และอยู่ชิดโรงเรียนอนุบาลด้วย สร้างปัญหาและความเดือดร้อน และละมิดกฎหมายหลายประการ สมาคมฯและชาวบ้านเดินทางไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองแผนกคดีสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เป็นคดีตัวอย่าง ในวันที่ 2 สิงหาคมนี้ เวลา 10.30 น.


ศาลปกครองกลางเฮี้ยบ ! สั่งระงับการประกอบกิจการถ่านหินสมุทรสาครทุกกรณี

ก่อนการแถลงข่าวการเปิดทำการแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองชั้นต้น เพียง 1 วัน ศาลปกครองกลางได้อ่านคำสั่งกำหนดมาตรการ หรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดี ในคดีที่นายทองนาค เสวกจินดา (ผู้เสียชีวิต) ที่หนึ่ง นายแหลมทอง ทองศิริมา ผู้เสียชีวิตที่สอง นายสัญญา เบาเนิด ผู้เสียชีวิตที่สาม ยื่นฟ้อง องค์การบริหารส่วนตำบลท่าทราย สำนักงานอุตสาหกรรม จ.สมุทรสาคร และสำนักงานขนส่งทางน้ำ จ.สมุทรสาครโดยมี บริษัท เทคนิทีม (ประเทศไทย) เป็นผู้ร้องสอด  เกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมาย
ตุลาการเจ้าของสำนวนได้มีคำสั่งให้ระงับการประกอบกิจการถ่านหินทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นการลำเลียง การเก็บกอง การขนถ่าย การขนส่ง หรือการดำเนินการขั้นตอนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ในความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลท่าทราย อำเภอเมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร โดยให้ผู้ถูกฟ้องทั้งสาม ปฎิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ เพื่อควบคุม ตรวจสอบ หรือกำกับให้มีการปฎิบัติตามคำสั่งศาลและคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดสุมทรสาครอย่างเคร่งครัด  โดยก่อนหน้านี้ นายทองนาค เสวกจินดา  แกนนำต่อต้านถ่านหิน และในฐานะผู้ฟ้องคดี ได้ถูกยิงเสียชีวิต


'พระบรมฯ' พระราชทานทรัพย์ระงับคดีพิพาทวอลเตอร์บาว-รัฐบาลไทย


ตามที่ศาลแขวงแลนด์สฮูตได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2554 ให้วางเงินประกัน 20 ล้านยูโร เพื่อถอนการอายัดเครื่องบินพระที่นั่ง ตามกรณีพิพาทระหว่างรัฐบาลไทยกับบริษัท วอเตอร์ บาว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารมิได้ทรงตอบโต้แต่ประการใดต่อคำพิพากษาและคำตัดสิน ด้วยทรงมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลและประชาชนของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
แม้ว่า พระองค์ทรงไม่ได้มีส่วนได้เสียหรือเกี่ยวข้องกับข้อพิพาทและมิได้ทรงเป็นผู้สร้างเรื่องหรือเหตุการณ์ข้อพิพาทขึ้นมา แต่ผลจากข้อพิพาทดังกล่าว ได้นำมาซึ่งความเดือดร้อนพระราชหฤทัย กระทบต่อพระราชกรณียกิจและเสี่ยงต่อการเสื่อมเสียพระเกียรติยศเป็นอย่างยิ่ง ในการนี้ จึงทรงมีพระราชกระแสและพระราชปณิธานที่จะทรงตอบแทนพระคุณแผ่นดินไทย และทรงใช้หนี้บุญคุณให้กับประเทศชาติ ในพระราชฐานะที่ทรงเป็นประชาชนชาวไทยพระองค์หนึ่ง และทรงเป็นองค์สยามมกุฎราชกุมารของประเทศไทย อีกทั้งไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและเพื่อให้ข้อพิพาทดังกล่าวจบลงด้วยดีและรวดเร็ว จึงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อนำไปใช้ในการระงับข้อพิพาทดังกล่าว ทั้งนี้ ไม่ทรงปรารถนาที่จะให้มีพระนามาภิไธยไปเกี่ยวข้องกับข้อพิพาท และมิให้เป็นที่เสื่อมเสียต่อพระเกียรติยศ


ศาลปกครองเปิดแผนกคดีสิ่งแวดล้อม ยื่นฟ้องแล้ว 4,634 คดี จ่อเปิดแผนกใหม่อีก 2 สค.


นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด นายเกษม คมสัตย์ธรรม ตุลาการหัวหน้าแผนกคดีสิ่งแวดล้อมศาลปกครองสูงสุด และนายกมล สกลเดชา ตุลาการหัวหน้าแผนกคดีสิ่งแวดล้อมศาลปกครองกลาง ร่วมแถลงเปิดแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครองสูงสุด ศาลปกครองกลาง และศาลปกครองภูมิภาค อย่างเป็นทางการ เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีปกครอง ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ
นายหัสวุฒิ กล่าวว่า การเปิดแผนกคดีสิ่งแวดล้อมครั้งนี้เป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67, 68 และ 85 ซึ่งที่ผ่านมา ตั้งแต่ศาลปกครองเปิดทำการมีคดีที่เป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมยื่นฟ้องจำนวน 4,634 คดี ศาลได้พิจารณาแล้วเสร็จ จำนวน 3,657 คดี ทั้งนี้เหลือเรื่องที่ยังคงค้างการพิจารณา จำนวน 977 คดี โดยส่วนใหญ่คดีที่ฟ้องศาลปกครองมักเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายของรัฐ และการใช้อำนาจทางการปกครองในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นศาลปกครองจึงจำเป็นต้องตั้งแผนกคดีดังกล่าวขึ้น เบื้องต้นในศาลปกครองสูงสุดจะมีองค์คณะตุลาการที่รับผิดชอบคดีเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม 1 คณะ ประกอบด้วยตุลาการจำนวน 5 นาย ศาลปกครองกลางจะมีองค์คณะรับผิดชอบคดีสิ่งแวดล้อม 2 องค์คณะ  ศาลปกครองภูมิภาคแต่ละแห่งจะมีองค์คณะรับผิดชอบคดีอย่างน้อย 1 คณะ
 โดยในการพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมของศาลปกครองจะมีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น เมื่อมีประชาชนยื่นฟ้องไม่ว่าจะด้วยการเขียนคำฟ้องด้วยตนเองหรือส่งคำฟ้องมาทางไปรษณีย์ก็จะได้รับการพิจารณาจากพนักงานธุรการศาลส่งต่อให้หัวหน้าแผนกคดีสิ่งแวดล้อมทันที ไม่ต้องผ่านอธิบดีศาล เป็นการลดขั้นตอน เมื่อคดีเข้าสู่องค์คณะก็มีสิทธิ์พิจารณาว่าจะรับคดีดังกล่าวไว้พิจารณาหรือไม่  ส่วนคดีเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและมีการฟ้องร้องกันก่อนหน้านี้ เช่น คดีโรงไฟฟ้าถ่านหิน คดีมาบตาพุด คดีมลพิษทางเสียงสนามบินสุวรรณภูมิ ฯลฯ นั้น จะไม่มีการโอนคดีเหล่านี้เข้ามาในแผนกคดีสิ่งแวดล้อม เนื่องจากได้ผ่านกระบวนการพิจารณาและไต่สวนแล้ว อย่างไรก็ตามหลังจากนี้อาจจะมีการเปิดแผนกคดีเฉพาะด้านเพิ่มเติมขึ้นอีก แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้


กระทรวงแรงงานร่าง 10 นโยบาย เตรียมเสนอรัฐบาลชุดใหม่

3 ส.ค. นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์  ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ช่วงการปรับเปลี่ยนการบริหารราชการของประเทศย่อมต้องมีนโยบายที่เกี่ยวโยง ถึงงานด้านแรงงานอย่างแน่นอน ดังนั้นกระทรวงแรงงานจึงจัดเตรียม 10 นโยบายด้านแรงงานเชิงรุก เพื่อเตรียมพร้อมรับการบริหารงานและเสนอรัฐบาลชุดใหม่พิจารณา  
นโยบายสำคัญหลักได้แก่ 1. นโยบายเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท โดยเน้นเรื่องการพัฒนาฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับค่าจ้าง 300 บาทต่อวัน 2. นโยบายเรื่องการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานและอุตสาหกรรมหลัก 3. นโยบายเเร่งส่งเสริมการฝึกทักษะ พัฒนาอาชีพสำหรับแรงงาน 4. นโยบายด้านการส่งเสริมแรงงานที่มีทักษะฝีมือออกไปสู่ภาคบริการต่างๆภายนอกประเทศ 5. นโยบายการจัดระบบสวัสดิการสังคม 6. นโยบายการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว 7. นโยบายการจัดระเบียบและขอบเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านแรงงาน 8. นโยบายการสร้างความสามัคคีปรองดอง 9. นโยบายปัญหายาเสพติด และ 10. นโยบายด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ  




สธ.ชี้"เบียร์ช้าง-คาราวบาว"ทำผิดกฎหมาย จัดคอนเสิร์ตพ่วง"โฆษณาเหล้า" เร่งรวบรวมหลักฐานส่งฟ้อง

3 สิงหาคม นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เพื่อพิจารณากรณีการกระทำผิดเรื่อง การจัดคอนเสิร์ต 30 ปี คาราบาว แต่มีการโฆษณาส่งเสริมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด ว่า คณะอนุกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายการสื่อสารเพื่อการตลาด ส่งเสริมการขาย ซึ่งเป็นความผิดตาม มาตรา 32 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ เพราะไม่ได้เป็นการจัดแสดงดนตรีตามปกติ แต่เป็นการสื่อสารการตลาดเพื่อส่งเสริมการขาย สร้างความรับรู้ ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยตรง
นพ.สมานกล่าวว่า คณะอนุกรรมการมีมติให้แจ้งโทษต่อผู้จัดคอนเสิร์ตหลัก ได้แก่ 1.กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเบฟฯ ในฐานะสปอนเซอร์ หลักในการจัดงาน และเป็นกฎหมายอาญา จึงต้องแจ้งข้อหาที่ตัวบุคคล 2.วงดนตรีคาราบาว ในฐานะตัวการร่วม ให้มีการโฆษณาส่งเสริมการขาย ส่วนผู้สนับสนุนรายอื่นจะพิจารณาเป็นรายกรณีไป ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ โดยขั้นตอนหลังจากนี้ จะส่งจดหมายถึงผู้ที่กระทำความผิดทั้งหมด เพื่อเชิญมาให้ข้อมูลประกอบสำนวนในการแจ้งความดำเนินคดี ทั้งนี้จะมีการตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ เพื่อรวบรวมหลักฐานในการดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด
นอกจากนี้ในส่วนของการกระทำผิดในการอนุญาตให้จำหน่ายในที่สาธารณะ และสถานที่ราชการจะมีการเชิญผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเทศมนตรี นายก องค์การบริหารส่วนจังหวัด และผู้อำนวยการโรงเรียน มาให้ข้อมูลว่ามีส่วนร่วมในการกระทำผิดหรือไม่ เพื่อความชัดเจนด้วย
โทษในการกระทำความผิด มาตรา 32 ว่าด้วยการโฆษณาส่งเสริมการขาย ห้ามโฆษณาส่งเสริมการขาย มีโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ ไม่เกิน 5 แสนบาทและโทษปรับรายวัน วันละ 5 หมื่นบาท ซึ่งพบว่ายังมีการโฆษณาในส่วนของเว็บไซต์อยู่ด้วย


“จตุพร” เดินหน้าคืนยุติธรรมแดง-นิรโทษกรรมทักษิณ

4 ส.ค.54 นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ เสื้อแดง กล่าวถึงเจตนารมย์การนิรโทษกรรมให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีในคดีความต่างๆ หลังแกนนำคนเสื้อแดงเข้ามาทำหน้าที่ในรัฐสภาว่า ขณะนี้ยังไม่มีเรื่องดังกล่าว ตราบใดที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รักษาการนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รักษาการรองนายกฯ ยังไม่ถูกดำเนินคดีข้อหาบงการฆ่าคน อีกทั้งโทษจำคุก 2 ปีของพ.ต.ท.ทักษิณ ที่ศาลพิพากษาในคดีที่ดินย่านรัชดานั้น เทียบไม่ได้กับคดีบงการฆ่าประชาชน อย่างไรก็ตามประเด็นดังกล่าวตนขอให้สื่อมวลชนเปลี่ยนประเด็นคำถามใหม่ เป็นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกฯ จะออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ หรือไม่
เมื่อถามถึงประเด็นคืนความยุติธรรมและความเป็นธรรมให้กับคนเสื้อแดงที่ถูกจำคุกและเสียชีวิตจากเหตุการณ์ การชุมนุมที่ผ่านมา นายจตุพรกล่าวว่า ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีการส่งสำนวนของคดีไปให้อัยการและส่งศาล โดยนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่มีการละเว้น และที่สำคัญต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมา ส่วนกระบวนการหาความจริงที่รัฐบาลใหม่ จะใช้ช่องทางของ คอป. นั้น ก็ให้ดำเนินการไป  



ที่ประชุมสภาเห็นชอบ 296  ไม่เห็นชอบ 3 งดออกเสียง 197 เสียง ส่ง "ยิ่งลักษณ์" ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

ที่อาคารรัฐสภา วันที่ 5 สิงหาคม เวลา 11.40 น. นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยผลการลงคะแนนเสียงเพื่อรับรองการเป็นนายกรัฐมนตรี ของ นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 พรรคเพื่อไทย โดยมีเสียงเห็นชอบ 296 เสียง ไม่เห็นชอบ 3 เสียง และงดออกเสียง 197 เสียง ถือว่าได้เสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่ง ส่งผลให้นางสาวยิ่งลักษณ์ได้รับเลือกจากรัฐสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรี


ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภครับร้องเรียนรถตู้รับผู้โดยสารเกินกว่า กม.กำหนด

5 ส.ค. ศูนย์พิทักษ์สิทธิมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับการร้องเรียนจากผู้ใช้บริการรถตู้โดยสาธารณะว่ารถตู้รับผู้โดยสารเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด บางคันรับผู้โดยสารถึง 24 คน
ผู้โดยสารร้องเรียนเรื่องตีตั๋วยืนในรถตู้โดยสารสาธารณะไปยังศูนย์ พิทักษ์สิทธิมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งการบรรทุกผู้โดยสารเกิน 15 ที่นั่งตามกฎหมายกำหนดใน 3 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ - สุพรรณบุรี, กรุงเทพฯ-อยุธยา และกรุงเทพฯ-ตลาดโรงเกลือ ที่จังหวัดสระแก้ว ซึ่งมูลนิธิฯ ตั้งข้อสังเกตว่าผู้โดยสารที่ตีตั๋วยืนจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นหรือไม่ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ เผยว่าแม้การตีตั๋วยืนจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่ก็ยังเกิดขึ้นเป็นประจำทุกวัน
หลังเกิดโศกนาฎกรรมอุบัติเหตุรถตู้โดยสารสาธารณะเมื่อปลายปีที่ผ่านมา คิวรถตู้ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทั้งหมดได้รับการปรับปรุงให้คำนึงถึงความ ปลอดภัยของผู้โดยสารมากขึ้น ผู้ประกอบการมองว่าแม้การปรับปรุงเรื่องความปลอดภัยจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น แต่เจ้าของธุรกิจควรที่จะคิดถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารมากกว่ารายได้ของตัวเอง
มาตรฐานความปลอดภัยของรถตู้โดยสารสาธารณะยังคงเป็นปัญหาที่หลายฝ่ายวิตก และยังไม่ได้รับการแก้ไข ขณะที่ 2 ปีที่ผ่านมามีการร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรื่องปัญหารถตู้โดยสารสาธารณะ 23 กรณี โดยมีผู้ประสบอุบัติเหตุจากรถตู้โดยสาธารณะแล้ว 198 คน