กก.ปฏิรูปกฎหมาย เสนอรัฐบาลใหม่ เร่งพิจารณาร่างกฎหมายต่อ
เมื่อวันที่ 30 ส.ค.54 คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ทำหนังสือถึงนายกฯ ให้เดินหน้าพิจารณาร่างกฎหมายต่อ แบ่งเป็นร่างที่ควรเห็นชอบ 26 ฉบับ ไม่ควรเห็นชอบ 5 ฉบับ พร้อมเหตุผลและความคิดเห็นต่อกฎหมายแต่ละฉบับประกอบด้วย
เนื่องจากมาตรา 153 ของรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดว่า รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา จะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือร่าง พ.ร.บ.ที่รัฐสภายังมิได้ให้ความเห็นชอบต่อไปได้ถ้าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่หลังการเลือกตั้งทั่วไปร้องขอภายใน 60 วัน นับแต่วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกหลังการเลือกตั้งทั่วไป และรัฐสภามีมติเห็นชอบด้วย
โดยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายระบุว่า มีร่างกฎหมายที่ไม่ควรเห็นชอบให้พิจารณาต่อไป 5 ฉบับ ร่างกฎหมายที่สมควรเห็นชอบให้พิจารณาต่อไป แบ่งเป็นร่างกฎหมายที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมกันเข้าชื่อเพื่อเสนอโดยตรงต่อสภาฯ 7 ฉบับ และร่างกฎหมายที่สำคัญและจำเป็นสมควรให้พิจารณาต่อไป 19 ฉบับ
อนึ่ง ร่างกฎหมายที่ไม่ควรเห็นชอบให้พิจารณาต่อไป 5 ฉบับ ได้แก่
1.ร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ
2.ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม
3.ร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์
4.ร่าง พ.ร.บ.เงินทดแทน
5.ร่าง พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน
ร่างกฎหมายที่สมควรเห็นชอบให้พิจารณาต่อไป แบ่งเป็นร่างกฎหมายที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมกันเข้าชื่อเพื่อเสนอโดยตรงต่อสภาฯ 7 ฉบับ ได้แก่
1.ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค
2.ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพแพทย์แผนไทย
3.ร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
4.ร่าง พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล
5.ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุข
6.ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข
7.ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย)
ร่างกฎหมายที่สำคัญและจำเป็นสมควรให้พิจารณาต่อไป 19 ฉบับ
1.ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
2.ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
3.ร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ
4.ร่าง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่...)
5.ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
6.ร่าง พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ
7.ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
8.ร่าง พ.ร.บ.การมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองส่วนท้องถิ่น
9.ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ
10.ร่าง พ.ร.บ.คุมประพฤติ
11.ร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการปฏิรูปและพัฒนากระบวนการยุติธรรมแห่งชาติ
12.ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์
13.ร่าง พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในทางแพ่งเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิและควบคุมดูแลเด็ก
14.ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย
15.ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน
16.ร่าง พ.ร.บ.การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ
17.ร่าง พ.ร.บ.พระราชบัญญัติ
เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการและกรรมการการเลือกตั้ง ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการและกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประธานกรรมการและกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
18.ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน
19.ร่าง พ.ร.บ.สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
นักวิชาการแนะรัฐบาล เร่งตั้งองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค ตาม รธน.
รศ.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้จัดการแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะให้รัฐบาล ยืนยันกฎหมายองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภคตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ ขอแรง สส.สว. ที่เคยได้สนับสนุนมาแล้วอธิบายให้รัฐบาลเข้าใจสาระและเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ
รศ.ดร.วิทยา กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่รัฐบาลใหม่ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคในนโยบายด้านต่างๆ โดยที่รัฐธรรมนูญมาตรา 61 ระบุให้มีการจัดตั้งองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภคให้เสร็จสิ้นหลังการแถลงนโยบาย จึงเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนเรื่องการจัดตั้งองค์การอิสระฯ เพื่อให้สอดคล้องกับที่มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยรัฐบาลควรเร่งยืนยันกฏหมาย ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ผ่านการรับรองจากการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว และกฎหมายนี้ประชาชนกว่าหมื่นคนได้ร่วมกันสนับสนุนและเสนอต่อสภาฯ ให้พิจารณา จึงควรให้ความสำคัญ เพื่อไม่ให้กฎหมายดังกล่าวตกไปโดยเสียเวลาเปล่าและเพื่อให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ดำเนินการให้เสร็จในหนึ่งปีภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550
รศ.ดร.วิทยา กล่าวว่าจากการศึกษาคำแถลงของคณะรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่แถลงต่อรัฐสภา พบว่ามีการพูดถึงเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค โดยกล่าวถึงการส่งเสริมและพัฒนาบทบาทขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งภาครัฐและเอกชน การแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย มาตรการต่างๆ อย่างไรก็ตามไม่พบว่ามีการระบุถึงการเร่งรัดการผลักดันให้เกิดองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค ตามมาตรา 61 ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 แต่อย่างใด
รมว.สธ.ชี้กลับมาใช้ 30 บาทรักษาทุกโรค เก็บเงินเฉพาะอายุ 12-59 ปี
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จากการให้บริการฟรีกับคนไทยทุกคนทุกช่วงอายุที่ไม่มีสิทธิ์อื่น โดยเปลี่ยนกลับมาเก็บเงิน 30 บาทจากผู้เข้ารับบริการ ว่าเบื้องต้นจะเก็บเฉพาะในกลุ่มอายุระหว่าง 12-59 ปี งดเว้นการจัดเก็บผู้พิการ ผู้สูงอายุที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีรายได้น้อย ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆนี้
ส่วนกรณีของผู้ใช้สิทธิ์ประกันสังคม จะมีการนัดหารือร่วมกับกระทรวงแรงงานในการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้รับบริการให้มากขึ้น นอกจากนี้ยังเตรียมจัดตั้งเครือข่ายออนไลน์ให้ครอบคลุมการดูแลผู้ป่วยในทุกสิทธิ์การรักษา เน้นพัฒนาระบบส่งต่อและการดูแลแบบใกล้บ้านใกล้ใจ และการให้คำปรึกษาผู้ป่วยและญาติ ผ่านระบบ SMS ตั้งเป้าดำเนินการได้ใน 6 เดือน และครอบคลุมทั่วประเทศภายใน 2 ปี
เปิดโฉม 11 รายชื่อ กสทช.
ที่ประชุมวุฒิสภา เผยผลการคัดเลือกคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) รวมทั้งหมด 11 คน ดังนี้
- ด้านกิจการวิทยุกระจายเสียง 1 คน
1. พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธานสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์กรมหาชน)
- ด้านกิจการวิทยุโทรทัศน์ 1 คน
2. พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
- ด้านกิจการโทรคมนาคม 2 คน
3. พ.อ.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ นายทหารฝ่ายกิจการโทรคมนาคม กระทรวงกลาโหม
4. พ.อ.นที ศุกลรัตน์ อดีต กรรมการ กทช.
- ด้านกฎหมาย 2 คน
5. นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)
6. พ.ต.อ.ทวีศักดิ์ งามสง่า อดีตผู้กำกับ สภ.สีชมพู จ.ขอนแก่น
- ด้านเศรษฐศาสตร์ 2 คน
7. นายธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ ผอ.ศูนย์คอมพิวเตอร์ และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
8. นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรรมการสถาบันพระปกเกล้า
- ด้านคุ้มครองผู้บริโภค 1 คน
9. น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ
- ด้านส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน 1 คน
10. นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผอ.สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม สำนักงาน กสทช.
- ด้านพัฒนาสังคม 1 คน
11. พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ที่ปรึกษาพิเศษ กองบัญชาการกองทัพไทย
โดยขั้นตอนหลังจากนี้ ประธานวุฒิสภา จะส่งรายชื่อผู้ได้รับเลือกเป็นกสทช. ให้กับนายกรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล้า ทูลกระหม่อม เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อม แต่งตั้งต่อไป โดย กสทช.จะมีวาระการดำรงตำแหน่งทั้งสิ้น 6 ปี หรือ ผู้มีอายุครบ 70 ปี ต้องพ้นวาระ
ที่มาข่าว Moneychannel
พม่าตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนหลังถูกกดดันหนักจากยูเอ็น
หนังสือพิมพ์นิวไลท์ ออฟ เมียนมาร์ รายงานว่า รัฐบาลพม่า ได้จัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วยคณะกรรมการทั้งหมด 15 คน เป็นข้าราชการที่เกษียณอายุราชการแล้ว เพื่อสอบสวนการกระทำผิดต่างๆในประเทศและดูแลด้านสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเรือน ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศ ปี 2551
คณะกรรมการดังกล่าวได้รับการแต่งตั้ง ตามเจตนารมณ์ของนายโทมัส โอเจีย ควินตานา ทูตด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (ยูเอ็น)ที่มาเยือนพม่า เมื่อเดือนที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กลุ่มสิทธิมนุษยชน ได้ออกแถลงการณ์ประนามสถานการณ์ในพม่า ที่มีการกักขังนักโทษทางการเมืองจำนวนกว่า 2,000 ราย และจะรอดูว่า คณะกรรมการชุดดังกล่าวของพม่ามีประสิทธิภาพหรือไม่
เดินหน้าธนาคารพระพุทธศาสนา ปล่อยกู้ให้คนมีคุณธรรม-ศีลธรรม
นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เปิดเผยว่า วางแผนที่จะดำเนินการงานด้านพระพุทธศาสนาใน 3 เรื่องสำคัญ ดังนี้
1.ต้องมีการตั้งสำนักงานกลางพระพุทธศาสนาโลกขึ้นที่ประเทศไทย โดยขณะนี้ได้สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการดำเนินการเรื่องนี้แล้ว และต้องการให้มีการวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างสำนักงานนี้ในวันที่ 5 ธันวาคม 2554
2.การใช้สื่อในการเผยแพร่เรื่องราวในด้านต่างๆ เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา จะให้สำนักงานพระพุทธศาสนาฯ เป็นศูนย์กลาง รวมทั้งส่งเสริมการเผยแพร่ไปยังต่างประเทศด้วย
3.การจัดตั้งธนาคารพระพุทธศาสนา ซึ่งทราบมาว่าขณะนี้มีการร่างพ.ร.บ.ธนาคารพระพุทธศาสนาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น จะให้สำนักพุทธฯ นำร่างพ.ร.บ.นี้มานำเสนอตน เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายและให้สามารถจัดตั้งธนาคารพระพุทธศาสนาได้สำเร็จ
พระครูปลัดสุวัฒนจริยคุณ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวต้องถูกพับเก็บไปเนื่องจากมีการยุบสภา แต่ขณะนี้จัดตั้งรัฐบาลใหม่เรียบร้อยแล้ว จึงจะมีการเสนอร่างพ.ร.บ.นี้อีกครั้ง โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคเพื่อไทย 20 คน ลงนามที่จะเสนอร่าง พ.ร.บ.นี้แล้ว วัตถุประสงค์ คือ เพื่อให้เป็นแหล่งทุนในการอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาเป็นหลัก ไม่มุ่งเน้นในเชิงธุรกิจเท่ากับธนาคารทั่วไป ทั้งยังจะมีการพิจารณาปล่อยเงินกู้ให้ผู้ที่มีคุณธรรม ศีลธรรม ซึ่งจะใช้ทุนประเดิมในการจัดตั้ง 2,000 ล้านบาท เน้นช่วยเหลือคนรากหญ้าที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ต้องการให้พระสงฆ์ พุทธศาสนิกชนมีแหล่งเงินทุนในการนำไปอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง หากวัดบางแห่งไม่มีงบประมาณในการบูรณะ พัฒนาวัดก็จะได้มีแหล่งเงินทุนสนับสนุนอย่างชัดเจน