คดีฟ้องนักเคลื่อนไหวด้านพลังงาน หมิ่นประมาทอาญา-แพ่ง 300 ล้าน
โจทก์ : บริษัท สยามเอ็นเนอร์จี จำกัด
จำเลย : นางสาววัชรี เผ่าเหลืองทอง กลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือก
ข้อหา : หมิ่นประมาท (อาญา, แพ่ง)
คดีอาญา : คดีหมายเลขดำที่ 5508/2552
คดีแพ่ง : ยังไม่นัดวัน รอดูผลคดีอาญาก่อน
ข้อมูลพื้นฐาน:
วัชรี เผ่าเหลืองทอง กลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือก ถูกบริษัท สยามเอ็นเนอร์จี จำกัด โดยนายบุญชัย เจียมจิตจรุง ผู้รับมอบอำนาจ ฟ้องร้องในข้อหาหมิ่นประมาท โดยกล่าวในรายการคมชัดลึก ช่องเนชั่น แชนแนล โดยมีจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2552 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านจากอ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ได้ปิดถนนประท้วงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าบางคล้า
บริษัท สยามเอ็นเนอร์จี จำกัด ฟ้องว่า นางสาววัชรีใส่ความบริษัทว่าไปร่วมมือและมีผลประโยชน์กับข้าราชการในกระทรวง พลังงานหรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ให้ช่วยวิ่งเต้นเพื่อให้ได้สัมปทานการประมูลสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซขนาด ใหญ่จำนวน 1,600 เมกะวัตต์ ที่อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา
บริษัท สยามเอ็นเนอร์จี จึงฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326,328,332 และฟ้องคดีแพ่ง ฐานทำให้ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง เรียกค่าเสียหาย จำนวน 300 ล้านบาท
วัชรี เผ่าเหลืองทอง หรือ "ปุ้ม" เป็นนักเคลื่อนไหวด้านพลังงานทางเลือก อยู่กลุ่มศึกษาปัญหานิวเคลียร์ ทำงานกับชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ และเป็นที่ปรึกษาสมัชชาคนจน และทำงานเคียงคู่กับ วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ หรือ "มด" ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว
บริษัท สยามเอ็นเนอร์จี จำกัด เป็นบริษัทที่มีโครงการด้านพลังงาน ทั้งในประเทศไทย และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ความเคลื่อนไหวของคดี:
10 มิ.ย.52 ชาวบ้านจากอ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ปิดถนนประท้วงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าบางคล้า
24 ก.ย.52 โจทก์ยื่นฟ้องต่อศาล
16 ธ.ค.53 ศาลอาญามีคำสั่งรับฟ้อง
ศาล อาญามีคำสั่งรับฟ้องนางสาววัชรี เผ่าเหลืองทอง เอ็นจีโอด้านพลังงานจากโครงการจับตานิวเคลียร์ (จำเลยที่1) และนางสาวจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ ผู้ดำเนินรายงานคมชัดลึก ทางเนชั่นชาแนล (จำเลยที่ 2)ในความผิดฐานหมิ่นประมาท เป็นคดีหมายเลขดำที่ 5508/2552
ทั้ง นี้ ศาลวินิจฉัยให้ยกฟ้องนางสาวจอมขวัญ จำเลยที่ 2 เพราะเป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งจัดรายการสดเกี่ยวกับการชุมนุมคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าบางคล้า โดยมีจำเลยที่ 1 ชาวบ้านในพื้นที่ และนักวิชาการ ร่วมรายการ มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินรายการ
ศาลให้เหตุผลในการยกฟ้องว่า การตั้งคำถามของจำเลยที่ 2 สืบเนื่องจากการประท้วงซึ่งอยู่ในความสนใจของประชาชน ตามที่เป็นข่าวทั่วไป เมื่อจำเลยที่ 1 ตอบคำถาม จำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อความที่จำเลยที่ 1 ตอบคำถาม จากนั้นจึงเป็นการตั้งคำถามต่อเนื่องไปยังผู้ร่วมรายการอื่น มิได้เป็นเพียงการสนทนาของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ประเด็นคำถามต่างๆ เกี่ยวกับผลกระทบทั้งที่เกิดกับประชาชนในพื้นที่หากมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งเป็นข้อกังวลของผู้ร่วมรายการ และความโปร่งใสในการประมูล จึงเป็นการทำหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ในฐานะสื่อมวลชน เพื่อนำเสนอรายละเอียดต่อสาธารณชน จึงไม่มีเจตนาที่จะหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ให้เสื่อมเสียชื่อเสียง อาศัยเหตุดังที่วินิจฉัยแล้ว จึงยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
31 ม.ค.54 นัดตรวจพยานหลักฐาน
22 ก.ย. 54 สืบพยานโจทก์ (ศาลอาญารัชดา ห้อง 910)
วัน แรกของการสืบพยานโจทก์ คดีที่บริษัท สยามเอ็นเนอร์จี จำกัด โดยบุญชัย เจียมจิตจรุง ผู้รับมอบอำนาจ ฟ้องร้อง วัชรี เผ่าเหลืองทอง นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวในกลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือก ข้อหาหมิ่นประมาท
นาย บุญชัย ในฐานะโจทก์ขึ้นเบิกความ โดยยืนยันถ้อยคำที่เคยให้ไว้ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์เห็นว่า นางสาววัชรีใส่ความโจทก์ในรายการคมชัดลึก โดยกล่าวหาว่าบริษัท สยามเอ็นเนอร์จี จำกัด ใช้อิทธิพลของผู้บริหารบริษัทวิ่งเต้นเพื่อให้ได้สัมปทาน ซึ่งเป็นการกล่าวหาโดยไม่มีมูลความจริง
ทนายได้ถาม ว่า เพราะเหตุใดจึงไม่ใช้วิธีแถลงข่าวหรือออกรายการเพื่อแก้ข่าว นายบุญชัยกล่าวว่าไม่ต้องการทำแบบนั้น เพราะต้องการให้เกิดบรรทัดฐาน และที่เจาะจงเลือกฟ้องเฉพาะนางสาววัชรี โดยไม่ฟ้องผู้เข้าร่วมรายการคนอื่นๆ ที่เป็นประชาชนในพื้นที่และนักวิชาการ เนื่องจากเพราะเห็นว่า นางสาววัชรีมุ่งโจมตีบริษัทมาตั้งแต่การก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานถ่าน หินที่อำเภอบ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ โรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 และโรงไฟฟ้าที่หนองแซง ทำให้โจทก์เห็นว่า วัชรีมีอคติต่อบริษัท และยุงยงชาวบ้านด้วย
ทั้งนี้ โครงการสร้างโรงไฟฟ้าที่อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ดำเนินการไม่สำเร็จ เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าที่บ่อนอก ซึ่งดำเนินการไม่สำเร็จและยังมีคดีความที่ประชาชนในพื้นที่ที่คัดค้านถูก ฟ้องร้องด้วยเช่นกัน ขณะที่โรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 และโรงไฟฟ้าหนองแซงอยู่ระหว่างดำเนินการ และอยู่ระหว่างการฟ้องร้องให้เพิกถอนโรงไฟฟ้าด้วย
23 ก.ย. 54 สืบพยานโจทก์นัดที่สอง (ศาลอาญารัชดา ห้อง 910)
การสืบพยานโจทก์วันที่สอง โจทก์นำพยานเข้าสืบสองปาก คือ นางสาวดลฤดี ไชยสมบัติ และ นางสาวรังสิมา พักเกาะ
นาง สาวดลฤดี ไชยสมบัติ ผู้สื่อข่าวแพลทส์ ประเทศสิงคโปร์ พยานโจทก์ เบิกความเพิ่มเติมจากบันทึกคำเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเมื่อวันที่ 9 ส.ค.53 สรุปความได้ว่า พยานทำงานผู้สื่อข่าวมากว่า 10 ปี รู้จักนายบุญชัย เจียมจิตจรุง ผู้รับมอบอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องในคดีนี้ เนื่องจากเคยทำข่าวการเปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) และได้รับชมรายการคมชัดลึกเมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.52 โดยตลอด จึงโทรแจ้งโจทก์ เกี่ยวกับการนำเสนอข้อมูลของจำเลยเพื่อขอข้อมูล แต่ไม่ได้นำข้อมูลรวบรวมทำรายงานให้กับสำนักข่าวแพลทส์ และรู้จักจำเลยในฐานะเอ็นจีโอที่เคลื่อนไหวคัดค้านโรงไฟฟ้า แต่ไม่เคยทำข่าวสัมภาษณ์จำเลย หรือชาวบ้านที่คัดค้านโรงไฟฟ้า
นาง สาวดลฤดี ให้ข้อมูลด้วยว่า เธอเป็นผู้ดำเนินรายการเอ็นเนอร์จีไทม์ ทางคลื่นวิทยุ 97.0 MHz ซึ่งนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องพลังงาน มีบริษัทพลังงานเป็นผู้สนับสนุนอาทิ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) อย่างไรก็ตามบริษัทโจทก์ ไม่เคยเป็นผู้อุปถัมภ์รายการของเธอ ส่วนผู้บริหารบริษัทของเธอจะเคยเป็นผู้บริหารบริษัทโจทก์หรือไม่นั้นไม่ทราบ
ต่อ จากนั้น นางสาวรังสิมา พักเกาะ ผู้อำนวยการฝ่ายอำนวยการคณะกรรมการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งขณะเกิดเหตุอยู่ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เบิกความว่า การประกวดราคาจัดหาผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ เริ่มจากนโยบายของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ จากนั้นจึงมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาคัดเลือก โดยให้ผู้ผลิตเอกชนส่งข้อมูลเบื้องต้น คือ ข้อมูลเทคนิค สถานที่ตั้งโรงไฟฟ้า และอัตราค่าไฟฟ้า หลังอนุกรรมการออกประกาศเรื่องการประกวดราคา มีบริษัทที่มาซื้อซองประมูล 50 ราย แต่มีผู้มายื่นซอง 20 ราย เมื่ออนุกรรมการพิจารณาด้านเทคนิคมีบริษัทที่ผ่านการพิจารณา 17 ราย และมีผู้ชนะผ่านการประมูล 4 ราย โดยบริษัทโจทก์เป็น 1 ใน 4 ทั้งนี้ตามเอกสารที่ตรวจสอบไม่มีการร้องเรียนว่ากระบวนการไม่ชอบ
เรื่อง สถานที่ตั้งโรงไฟฟ้า จำไม่ได้ว่าในการเตรียมเอกสารสถานที่ตั้งต้องได้รับความยินยอมจากประชาชนใน พื้นที่หรือไม่ แต่ในส่วนเงื่อนไขด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมมีสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม ดูแลอยู่ นอกจากนั้นผู้ยื่นซองประมูลจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวด ล้อม (อีไอเอ) ยื่นต่อสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (ผส.) และ อีไอเอของบริษัทที่ชนะการประมูลจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก สผ.ก่อนจึงจะมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟ อย่างไรก็ตามในภายหลังมีการเปลี่ยนเงื่อนไขโดยความเห็นชอบของ กพช. ให้ กฟผ.รับไปลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ก่อนที่อีไอเอจะแล้วเสร็จ ซึ่งจำไม่ได้ว่าเหตุผลของการเปลี่ยนเงื่อนไขนั้นเป็นเพราะบริษัทโจทก์ยื่น ข้อขัดข้องไม่สามารถทำอีไอเอได้ตามเวลากำหนดเวลาหรือไม่ และไม่ทราบว่าบริษัทโจทก์มีการผ่อนผันอีไอเอกี่ครั้ง
ทั้ง นี้ การที่โจทก์นำสืบพยานปาก นางสาวรังสิมา พักเกาะ ก็เพื่อต้องการจะพิสูจน์ว่า สิ่งที่จำเลยพูดออกอากาศในรายการคมชัดลึก ช่องเนชั่น แชนแนล กล่าวหาบริษัทโจทก์นั้น ไม่เป็นความจริง
27 ก.ย. 54 สืบพยานโจทก์ (ศาลอาญารัชดา ห้อง 910)
โจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยานต่อ หมดพยานโจทก์ ยกเลิกการนัดสืบพยานในวันนี้
28 ก.ย. 54 สืบพยานจำเลย (ศาลอาญารัชดา ห้อง 910)
สืบพยานจำเลยปากแรก นางสาววัชรี เผ่าเหลืองทอง ขึ้นให้การเป็นพยานให้ตนเอง
นาง สาววัชรี กล่าวเบิกความต่อศาลถึงเหตุที่ถูกฟ้องคดีว่า ได้รับการติดต่อจากรายการคมชัดลึก ของสถานีโทรทัศน์เนชั่นชาแนล ให้ร่วมพูดคุยในหัวข้อ “โรงไฟฟ้า เพื่อใคร” จากสถานการณ์ขณะนั้นที่มีชาวบ้านบางคล้าชุมนุมในพื้นที่เพื่อต่อต้านโครงการ โรงไฟฟ้าของ บริษัท สยามเอ็นเนอร์จี จำกัด ในฐานะนักพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอ ที่ติดตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน ซึ่งเธอยินดีเข้าร่วม โดยระบุถึงเหตุผลว่าต้องการสื่อสารให้สังคมได้รับรู้ ร่วมตรวจสอบ และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านพลังงานที่ดียิ่งขึ้น ให้ประชาชนได้รับประโยชน์ไม่ต้องจ่ายค่าไฟแพง ขณะที่กิจการพลังงานโปร่งใส มีหลักธรรมภิบาลในการดำเนินกิจการ ซึ่งเธอเชื่อว่าการเผยแพร่ข้อมูลเป็นหน้าที่ของเอ็นจีโอ
นางสาววัชรี กล่าวด้วยว่า ผู้ร่วมรายการในวันนั้นประกอบด้วย นักวิชาการ ดร.ถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระ ปกเกล้า และชาวบ้านอีก 2 คนที่เธอไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่ไม่มีตัวแทนบริษัทโจทก์ และตัวแทนของกระทรวงพลังงานเข้าร่วม ซึ่งนางสาวจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ ผู้ดำเนินรายการได้ชี้แจงว่าได้มีการติดต่อแล้วแต่ไม่ได้รับการตอบรับ อย่างไรก็ตาม รายการได้มีการต่อสาย ดร.ดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เข้าร่วมพูดคุย
เอ็น จีโอด้านพลังงาน กล่าวถึงสิ่งที่พูดในรายการดังกล่าวว่า มีการวิพากษ์ในส่วนนโยบายพลังงาน และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในส่วนการวางรูปแบบหลักเกณฑ์การเปิดประมูลผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (IPP) อีกทั้งพูดถึงการปฏิบัติตัวของข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพลังงาน โดยไม่ได้มุ่งตอบว่าใครเป็นผู้คอรัปชั่นแต่อย่างใด
นาง สาววัชรี กล่าวถึงการทำงานเอ็นจีโอว่า เริ่มตั้งแต่เมื่อปี 2534 จากประเด็นผลกระทบจากเขื่อนปากมูล ในฐานะของผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับธรรมชาติ วิถีชีวิต จากนั้นได้ร่วมสนับสนุนขบวนสมัชชาคนจน โดยการทำงานใหญ่เป็นงานในเชิงข้อมูล และการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งสื่อมวลชน จนกระทั้งในปี 2541 ได้มีการตั้งกลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคตขึ้น โดยทำงานติดตามเรื่องนโยบายด้านพลังงานของภาครัฐ ผลกระทบ และทางออกของพลังงานไทย ต่อมาใน ปี2538 มีการเปิดประมูล IPP เป็นครั้งแรกตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ทำให้ได้เข้าช่วยเหลือเรื่องข้อมูลแก่ชาวบ้านที่คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินของ บริษัทกัลฟ์เพาเวอร์เจเนอเรชั่น (บริษัทในเครือของโจทก์) ในพื้นที่ ต.บ่อนอก อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์
ต่อ กรณีที่ทนายโจทก์ถามค้านโดยอ้างถึงข่าวจากหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งที่ระบุว่า กลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคตซึ่งจำเลยร่วมอยู่ด้วยได้รับเงินจาก แหล่งทุนจากประเทศเดนมาร์กซึ่งมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีพลังงานทางเลือก ทำให้จำเลยต้องคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เพื่อให้นักธุรกิจในประเทศเดนมาร์กสามารถขายเทคโนโลยีเกี่ยวกับพลังงานทาง เลือกได้ นางสาววัชรีตอบว่าไม่เป็นความจริง และย้ำว่าไม่ได้มุ่งเป้าค้านโครงการโรงไฟฟ้าแต่มุงเปลี่ยนแปลงนโยบายด้าน พลังงาน
“จำเลย ไม่ได้เกลียดชังโจทก์เป็นการส่วนตัว หรือเกลียดชังเชื้อเพลิงชนิดใดเป็นพิเศษ แต่การใช้เชื่อเพลิงแต่ละชนิดควรคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นที่ยอมรับของชุมชน ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และหลักธรรมาภิบาล” จำเลยกล่าวในตอนหนึ่งของการสืบพยาน
ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศในห้องพิจารณาคดีวันนี้มีผู้มาร่วมฟังการสืบพยานจำนวนมาก โดยมีบุคคลในแวดวงนักสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมด้วย อาทิ นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายไพโรจน์ พลเพชร เลขาธิการสมาคมสิทธิเสรีภาพประชาชน (สสส.) และประธาน คณะกรรมการประสานงานองค์กรเอกชน (กป.อพช.) รวมทั้งนางสาวกรณ์อุมา พงษ์น้อย กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก-กุยบุรี ซึ่งเคยต่อสู้โรงไฟฟ้าบ่อนอก ที่มาให้กำลังใจจำเลยในคดีด้วย
สำหรับ การพิจารณาคดี ในวันนี้ ทั้งพยานโจทก์และทนายจำเลยต่างซักถามให้ประเด็นคำพูดและข้อมูลที่นางสาว วัชรีนำเสนอต่อในรายการโทรทัศน์อย่างละเอียด ทำให้การสืบพยานจำเลยใช้เวลานาน และต้องสืบต่อในช่วงเช้าวันถัดไป
29 ก.ย. 54 สืบพยานจำเลย (ศาลอาญารัชดา ห้อง 910)
พยานจำเลยปากแรก นางสาววัชรี เผ่าเหลืองทอง ตอบคำถามทนายโจทก์ถามค้าน ต่อจากวันที่ 28 ก.ย. 54
ทนาย โจทก์นำสืบพยานเอกสารซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายวัน สามฉบับ ที่ผู้เขียนระบุว่า นางสาววัชรี เป็นแกนนำชาวบ้านในการต่อต้านโรงไฟฟ้า นางสาววัชรีเบิกความ ยืนยันว่าตนไม่ได้เป็นแกนนำ ไปร่วมในการชุมนุมทุกครั้งในฐานะผู้สังเกตุการณ์ จะช่วยงานเฉพาะที่ชาวบ้านประชุมตกลงกันแล้วชาวบ้านขอมาให้ช่วยเท่านั้น เช่น ช่วยติดต่อนักข่าว แต่ตนไม่ได้ร่วมประชุมหรือตัดสินใจใดๆ ด้วย
สำหรับ เอกสารที่โจทก์นำสืบนั้น นางสาววัชรี กล่าวว่า เอกสารนั้นไม่ใช่ข่าว แต่เป็นเพียงคอลัมภ์ในหนังสือพิมพ์ สิ่งที่ปรากฏจึงไม่ใช่ข้อเท็จจริง แต่เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ซึ่งผู้เขียนก็ไม่ได้ลงชื่อ นามสกุลจริง ปรากฏเพียงนามปากกาเท่านั้น
นอกจากนี้ นางสาววัชรี ยังยืนยันว่า ประเด็นต่างๆ ที่ได้พูดในรายการคมชัดลึก ของสถานีโทรทัศน์เนชั่นชาแนล นั้น มุ่งที่จะวิพากษ์วิจารณ์นโยบายด้านพลังงานระดับประเทศ ที่อาจะมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างคณะกรรมการนโยบายพลังงานบางท่านกับ บริษัทเอกชนบางแห่ง โดยไม่ได้เจาะจงที่จะให้ร้ายบริษัทโจทก์แต่อย่างใด
นาง สาววัชรี เบิกความเสร็จในช่วงเช้า และช่วงบ่ายเป็นการสืบพยานจำเลยปากที่ 2 คือ ดร.ถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า นักวิชาการที่ร่วมออกรายการ คมชัดลึก พร้อมกับนางสาววัชรี
30 ก.ย. 54 สืบพยานจำเลย (ศาลอาญารัชดา ห้อง 910)
สืบ พยานจำเลยปากที่ 3 และปากที่ 4 ได้แ่ก่ นางสาวจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ ผู้ดำเนินรายการคมชัดลึก เนชั่นชาแนล และนายประยุทธ แซ่เตียว ชาวบ้านบางคล้า ที่ร่วมออกรายการคมชัดลึกพร้อมกับนางสาววัชรีด้วย
นาง สาวจอมขวัญ จำเลยที่ 2 ในคดีเดียวกันซึ่งศาลมีคำสั่งยกฟ้องไปก่อนหน้านี้ เบิกความในฐานะพยานจำเลย ว่า การจัดรายการในวันเกิดเหตุสืบเนื่องจากขณะนั้นมีการชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้า ของชาวบ้านบางคล้า โดยใช้หัวข้อ “โรงไฟฟ้าเพื่อใคร” ซึ่งเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม จำเป็นต้องมีการพูดคุยเพื่อให้ได้ความรู้ ได้ข้อมูลชุดเดียวกัน และเพื่อเป็นการหาทางออก ทั้งนี้ การเลือกประเด็นเป็นไปตามหลักการของรายการและการทำหน้าที่สื่อมวลชน อีกทั้งมีการติดต่อผู้เกี่ยวข้องกับประเด็นในทุกด้านมาร่วมสนทนา
ผู้ ดำเนินรายการคมชัดลึก กล่าวด้วยว่า การเชิญนางสาววัชรีจำเลยในคดีมาร่วมรายการ เนื่องจากเป็นเอ็นจีโอด้านพลังงาน และในรายการนางสาววัชรีได้นำเสนอความเห็นต่อการดำเนินโครงการขนาดใหญ่โดย เน้นย้ำเรื่องการถามความคิดเห็นของชาวบ้าน และความโปร่งใสในการกำกับดูแลของรัฐ ยกตัวอย่างกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงเข้าไปมีตำแหน่งอยู่ในบริษัทเอกชน ย่อมมีการซ้อนทับเรื่องผลประโยชน์ได้ตามหลักการ ซึ่งโดยส่วนตัวคิดว่าในรายการนางสาววัชรีวิพากษ์วิจารณ์โดยพุ่งเป้าที่ กระบวนการตรวจสอบของรัฐว่ามีความโปร่งใสหรือไม่ โดยใช้บริษัทของโจทก์เป็นกรณีตัวอย่าง
นาง สาวจอมขวัญ กล่าวต่อมาว่า การสนทนาในวันดังกล่าวเนื้อหายังไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของรายการ เพราะขาดผู้เกี่ยวข้องกับประเด็น คือ บริษัทเอกชนเจ้าของโครงการโรงไฟฟ้า และตัวแทนจากหน่วยงานรัฐ แม้จะมีการต่อสาย ดร.ดิเรก ลาวัณย์ศิริ
ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เข้าร่วมพูดคุยในรายการ เพราะควรเป็นการเข้าร่วมรายการเพื่อตอบคำถามประเด็นต่อประเด็นให้ครบถ้วน
อย่าง ไรก็ตาม ในความเห็นส่วนตัว ข้อมูลของนางสาววัชรีเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และทุกคนควรวิจารณ์นโยบาย และกระบวนการกำกับดูแลกิจการโดยรัฐได้ไม่ใช่เฉพาะเอ็นจีโอเท่านั้น และเป็นหน้าที่ของสื่อมวลชนด้วย
ต่อ คำถามซักค้านของทนายโจทก์ถึงหลักการการตรวจสอบ กลั่นกรองคำพูดของผู้ร่วมรายการในรายการสดนางสาวจอมขวัญ ชี้แจงว่า ข้อแรกทางรายการได้เชิญผู้เกี่ยวข้องกับประเด็นทุกคนเข้าร่วมในการสนทนา แต่เป็นสิทธิที่ผู้ถูกเชิญจะเข้าร่วมหรือไม่ และหากในรายการมีการล้ำเส้นไปเป็นการกล่าวหาที่ก่อความเสียหาย จำเป็นต้องชี้แจงในทันที ผู้ดำเนินรายการจะหยุดประเด็นไว้ เพราะผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้มาร่วมในรายการ ส่วนหากคำพูดของผู้ร่วมรายการปรากฏในภายหลังว่าเป็นการให้ร้ายผู้อื่น ส่วนตัวเห็นว่าควรเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทั้งผู้ร่วมรายการ ผู้ดำเนินรายการ และผู้ถูกกล่าวหา เนื่องจากไม่มาร่วมชี้แจงในรายการ
ด้าน นายประยุทธ แซ่เตียว ชาวบ้านบางคล้าซึ่งมาเบิกความต่อศาล กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า การพูดคุยในรายการคมชัดลึก ชาวบ้านได้ร่วมให้ข้อมูลถึงเหตุผลการชุมนุมคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าในพื้นที่ ว่าอาจทำให้ชาวบ้านทำมาหากินไม่ได้และจะกระทบต่อวิถีชีวิต โดยการคัดค้านโครงการดังกล่าวมีมาก่อนที่จะพบกับนางสาววัชรี และการพูดคุยในรายการเป็นการตั้งข้อสังเกตถึงการดำเนินการของรัฐที่อาจเอื้อ ประโยชน์ต่อบริษัทเอกชนที่ธุรกิจด้านพลังงาน
ส่วน สถานการณ์ในพื้นที่ หลังจากย้ายโครงการโรงไฟฟ้าไปก่อสร้างยังนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา นายประยุทธ ให้ข้อมูลว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาทางบริษัทฯ ได้ให้คนงานนำเครื่องจักรเข้าไปปรับสภาพพื้นที่ในที่ดินกว่า 500 ไร่ที่ซื้อไว้สำหรับทำโรงไฟฟ้า และทราบว่ามีความต้องการที่จะทำรั้วล้อมรอบพื้นที่ จากที่ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าได้เปิดให้เช่าพื้นที่ทำนา ทำให้ชาวบ้านต้องคอยเฝ้าระวังดูสถานการณ์ เพราะที่ดินเป็นของโรงไฟฟ้า แม้โครงการเก่าจะย้ายไป แต่จะประมูลใหม่วันไหนชาวบ้านก็ไม่รู้
การ สืบพยานในคดีนัดต่อไป ศาลนัดสืบพยานจำเลยปากสุดท้ายคือนางสาวรสนา โตสิตระกูล ประธานคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาล ในคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ในวันที่ 1 ธ.ค.54