รอบอาทิตย์ที่สาม นิติราษฎร์เสนอร่างรธน.ใหม่ ล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยาฯ

รอบอาทิตย์ที่สาม นิติราษฎร์เสนอร่างรธน.ใหม่ ล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยาฯ

เมื่อ 23 ก.ย. 2554

“คดีม็อบท่อก๊าซ” ศาลปกครองสูงสุดแถลงยัน “สตช.” ต้องชดใช้ ชี้การชุมนุมสงบ-ปราศจากอาวุธ

เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 13 ก.ย.54 ที่ห้องพิจารณาคดี 4 ศาลปกครองสูงสุด นายชาญชัย แสวงศักดิ์ หัวหน้าคณะตุลาการศาลปกครองสูงสุด และองค์คณะรวม 5 คน ออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคำอุทธรณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในคดีหมายเลขดำที่ 454/2546 คดีหมายเลขแดงที่ 51/2549 ซึ่งเป็นคดีนายเจะเด็น อนันทบริพงศ์ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และพวกรวม 24 คน ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 1 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย เพื่อเรียกค่าเสียหายจากเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐ จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซ ไทย–มาเลเซีย เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.45 ที่โรงแรมเจ.บี.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยมีผู้ฟ้องคดีและประชาชนจาก อ.จะนะ จ.สงขลา ประมาณ 50 คน เดินทางมาฟังการพิจารณา
นายสมศักดิ์ ตัณฑเลขา ตุลาการผู้แถลงคดี ได้อ่านคำแถลงต่อองค์คณะมีเนื้อหาโดยสรุปว่า ที่ศาลปกครองสงขลาพิจารณาคดีเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมโดยกำหนดให้มีการชดใช้ค่าเสียหายจากการสลายการชุมนุมนั้นชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองสงขลามีอำนาจพิจารณาพิพากษา และเห็นว่าที่ผู้ถูกฟ้องคดีอุทธรณ์ว่าการชุมนุมของผู้ชุมนุมในวันที่ 20 ธ.ค.45 ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะชุมนุมโดยไม่สงบและมีอาวุธนั้น การยึดลูกตะกั่วถ่วงอวน หนังสติ๊กสามง่าม มีดสะปาต้า แม้เป็นอาวุธโดยสภาพ แต่มีจำนวนน้อย เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ชุมนุม จึงเชื่อว่าเป็นเรื่องของเจตนาของแต่ละบุคคลไม่ใช่เจตนาร่วม
ส่วนกรรไกร และไม้คันธงไม่ถือเป็นอาวุธโดยสภาพ มีการนำมาใช้ต่อเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมแล้ว จึงเป็นเจตนาของแต่ละบุคคล ไม่ใช่มีเจตนานำมาใช้เป็นอาวุธ เมื่อผู้ชุมนุมหยุดรอการเจรจาโดยสงบ บางส่วนนั่งรับประทานอาหาร บางส่วนละหมาด แล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจกลับเข้าผลักดันสลายการชุมนุม จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม
ด้าน นางสาวส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความ เปิดเผยว่า ตุลาการเจ้าของสำนวนแจ้งว่าหลังจากนี้ตุลาการจะดำเนินการให้แล้วเสร็จ จากนั้นจะส่งคำพิพากษาให้ศาลปกครองสงขลาอ่านคำพิพากษา โดยยังไม่ได้ระบุวันเวลาแต่อย่างใด

ที่มา ทีซีไอเจ


นิติราษฎร์เสนอร่างรธน.ใหม่ ล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยาฯ


18 ก.ย. 54 ณ ห้อง LT 1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีรายงานว่า คณะนิติราษฎร์ จัดแถลงข้อเสนอทางวิชาการเนื่องในโอกาส "5 ปี รัฐประหาร 1 ปี นิติราษฎร์" ขึ้น โดยเสนอ 4 ประเด็นใหญ่คือ 1. การลบล้างผลพวงจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 2. การขับเคลื่อนข้อเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 3. กระบวนการยุติธรรมไทยกับผู้ต้องหาหรือจำเลย และการเยียวยาผู้เสียหาย 4. การยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 และการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่
 
ที่มา สำนักข่าวประชาธรรม



พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นผู้นำฝ่ายค้าน


19 กันยายน ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
นายอภิสิทธิ์ กล่าวหลังจากรับพระบรมราชโองการว่าฯ ตนและพรรคประชาธิปัตย์ถือว่าหน้าที่ของส.ส.มีความสำคัญทั้งการดูแลปกป้องประโยชน์ของประชาชน สร้างศรัทธาในระบบรัฐสภา และประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในการทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้าน ตนจะทุ่มเทประสานและคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสูงสุด ขณะนี้บ้านเมืองเรามีปัญหามากทั้งปัญหาเฉพาะหน้า เช่น ภัยพิบัติ ปัญหาเศรษฐกิจ และความขัดแย้งในสังคม ดังนั้น การทำหน้าที่ของเราจะคำนึงถึงทุกข์สุขของประชาชน เราจะส่งเสริมให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าในทิศทางที่ถูกต้องตามระบอบ ประชาธิปไตย โดยจะตรวจสอบอย่างเข้มข้น ตรงไปตรงมา มุ่งมั่นรักษาผลประโยชน์ชาติตามกฎหมาย และปกป้องสถาบันหลักของชาติ เพื่อให้ประชาชนดำรงชีวิตอย่างปลอดภัยและอยู่ดีกินดี ทั้งหมดเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยโดยแท้จริง

ที่มา มติชนออนไลน์


ศาลปกครองไต่สวนคุ้มครอง “ทีนิวส์” ถูกถอด “เจาะข่าวร้อน” พ้นช่อง 11
      
เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 54 นายฉัตรชัย ภู่โคกหวาย กรรมการผู้ช่วยผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ทีนิวส์ เปิดเผยว่า ตนได้รับมอบอำนาจจากบริษัท กรีน อินเทลลิเจ้นท์ จำกัด ซึ่งผลิตรายการ “เจาะข่าวร้อน ล้วงข่าวลึก” โดยสถานีโทรทัศน์ ที-นิวส์ ออกอากาศทางช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ ทุกวันจันทร์ เวลา 21.00-22.00 น.ยื่นฟ้องกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นคู่สัญญาการเช่าเวลาออกอากาศ ต่อศาลปกครองกลาง กรณีที่กระทำการโดยไม่ชอบฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ โดยการสั่งตรวจสอบสคริปต์ และเทปบันทึกรายการก่อนออกอากาศ รวมทั้งมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงการออกอากาศ ด้วยการแจ้งจะนำรายการอื่นมาออกอากาศแทน “เจาะข่าวร้อน ล้วงข่าวลึก” ในช่วงเวลาดังกล่าว โดยอ้างเหตุว่ารายการที่บริษัทผลิต มีเนื้อหาไม่ส่งเสริมการปรองดองสมานฉันท์ ทั้งที่ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 45 บัญญัติให้บุคคล รวมทั้งสื่อ มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ขณะที่การจะห้ามแสดงความคิดเห็นกระทำไม่ได้ รวมทั้งการนำข่าวไปให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจก่อนก็ทำไม่ได้

ที่มา ผู้จัดการออนไลน์



‘เครือข่ายผู้บริโภคลำปาง’ เร่งรัฐบาล เดินหน้า ‘กม.องค์การอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค’

19 ก.ย.54 เวลา 10.00 น.กลุ่มเครือข่ายชีวิตดีและสมาคมเส้นทางชีวิตใหม่ จ.ลำปาง จำนวน 80 คน รวมตัวกันที่บริเวณลานข่วงเมือง หน้าเทศบาลนครลำปาง จ.ลำปาง เพื่อร่วมรณรงค์เร่งรัดให้รัฐบาลที่นำโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นำร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เข้าสู่สภาเพื่อพิจารณาประกาศใช้บังคับ เนื่องจากร่างกฎหมายดังกล่าวจะหมดอายุลงในวันที่ 28 ก.ย.นี้
 
ต่อมาตัวแทนนายอิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์ ส.ส.จังหวัดลำปาง พรรคเพื่อไทย ได้เดินทางมารับหนังสือที่ส่งถึงนายกรัฐมนตรี พร้อมรับปากว่าจะรีบประสานให้ ส.ส.เร่งนำร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรต่อไป
 
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ... ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาแล้ว เหลือเพียงการนำร่างดังกล่าวขอรับความเห็นชอบจากสภาและคณะรัฐมนตรีให้มีผล บังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 61 บัญญัติให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงาน รัฐ ประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภคทำหน้าที่ให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของหน่วยงาน รัฐในการตราและบังคับใช้กฎหมายตลอดจนการกำหนดมาตรการต่างๆ ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการคุ้มครองผู้บริโภค โดยรัฐให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงาน และต้องดำเนินการให้เสร็จใน 1 ปีภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550

ที่มา ทีซีไอเจ


ครม.เห็นชอบ พ.ร.บ.จดหมายเหตุแห่งชาติ ชงสภาดัน กม.ป้องกันเอกสารชาติ


เมื่อวันที่ 20 กันยายน นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.จดหมายเหตุแห่งชาติ พ.ศ... ตามที่กรมศิลปากรนำเสนอ โดยขั้นตอนหลังจากนี้ วธ.จะส่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ผลักดันออกเป็นกฎหมายต่อไป
นางสุกุมล กล่าวว่า เหตุผลที่ต้องมี พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพราะสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จำเป็นต้องมีอำนาจควบคุมให้หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หน่วยงานราชการส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น จัดทำทะเบียนเอกสารที่อยู่ในครอบครองและจัดส่งเอกสารที่ได้รับการประเมินคุณค่าและเห็นว่ามีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ควรแก่การเก็บเป็นจดหมายเหตุมาให้กรมศิลปากรเก็บรักษาไว้ รวมทั้งคุ้มครองป้องกันเอกสารสำคัญไม่ให้ถูกนำออกนอกราชอาณาจักรและมีการซื้อขาย

ที่มา มติชนออนไลน์


ภูมิใจไทยปัดเอี่ยวการเมือง ดัน 'พรบ. ล้างมลทิน' เข้าสภาฯ

เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่รัฐสภา นายมานิต นพอมรบดี ส.ส.พรรคภูมิใจไทย หนึ่งใน ส.ส. ที่ลงชื่อเสนอญัตติร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ล้างมลทิน ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา กล่าวกับทีมข่าว "ไทยรัฐออนไลน์" ว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อล้างมลทินผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่างๆ ซึ่งได้พ้นโทษไปแล้ว และผู้ถูกลงโทษทางวินัยของกระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานของรัฐวิสาหกิจต่างๆ ซึ่งได้รับโทษทางวินัยแล้ว เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554
นายมานิต ยอมรับว่า ยังอยู่ในขั้นตอนการเตรียมเสนอพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร ที่ยังต้องมีการหารือเพื่อกำหนดขอบเขต หรือกรอบของกฎหมายว่า จะครอบคลุมย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค. 2554 ไปจนถึงเมื่อใด จึงต้องมีการหารือตกลงกัน แต่ไม่ใช่ย้อนหลังไปจนถึงปี 2549 ที่เกิดการปฏิวัติรัฐประหารอย่างแน่นอน
ด้านนายบุญดำรง ประเสริฐโสภา ส.ส.ภูมิใจไทย และเป็นผู้ร่วมลงชื่อ เสนอญัตติดังกล่าว ยืนยันกับทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์เช่นกันว่า ร่าง พ.ร.บ.ล้างมลทินฯ นี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองและย้ำว่า ไม่มีการหมกเม็ดหรือสอดใส้ หรือต้องการช่วยเหลือ คนในบ้านเลขที่ 111 หรือ 109 รวมไปถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีหลายฝ่ายออกมาตั้งข้อสังเกตอย่างแน่นอน
ที่มา ไทยรัฐ


เฉลิมยัน DSI ไร้สิทธิ์ปล่อยผู้ชุมนุมถูกขัง

21 กันยายน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ไม่มีอำนาจในการปล่อยตัวผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ถูกคุมขัง แต่การกล่าวหา หากพบว่าไม่ได้กระทำผิด ทาง DSI ต้องทำสำนวนสั่งไม่ฟ้อง และส่งให้อัยการพิจารณาสั่งไม่ฟ้องหรือไม่ หากสั่งไม่ฟ้อง ทางผู้ต้องหาก็ต้องการขอประกันตัว
ส่วนกรณีที่ข้อเสนอของนักวิชาการกลุ่มคณะนิติราษฎร์ ให้ล้มผลพวงการรัฐประหารปี 2549 นั้น ร.ต.อ.เฉลิม ยืนยันว่า ข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้เป็นการทำเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง เพราะนักวิชาการที่เสนอ เป็นอาจารย์จากคณะ
นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเชื่อว่าหากคิดทำเพื่อคนๆ เดียว ก็จะเหมือนการฆ่าตัวตาย และเห็นว่า อาจารย์กลุ่มนี้เป็นอาจารย์สมัยใหม่ เข้าใจโครงสร้างของประชาธิปไตยเป็นอย่างดี แต่ทั้งนี้ไม่ทราบว่า อาจารย์กลุ่มคณะนิติราษฎร์ จะเข้าร่วมในคณะกรรมการอิสระว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ที่มี นายอุกฤษ มงคลนาวิน เป็นประธานหรือไม่ แต่เห็นว่าควรให้โอกาสการทำงานของคณะกรรมการชุดดังกล่าวก่อน
ร.ต.อ.เฉลิม ยังกล่าวสนับสนุนข้อเสนอ 7 ข้อ ของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เพราะในหลักการถือว่าเป็นเรื่องดี แต่อาจทำได้อยาก เพราะมีคนบางกลุ่มถวิลหาแต่เผด็จการ ส่วนข้อกังวลของผู้ชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงไม่ได้รับการเยียวยานั้น ร.ต.อ.เฉลิม ยืนยันว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามเสนอของ คอป. แล้ว ก็จะเร่งรีบเยียวยาให้กับทุกภาคส่วน รวมทั้งกรณีเหตุการณ์กรือเซะ และตากใบ ด้วย
ทั้งนี้ ร.ต.อ.เฉลิม ยืนยัน คดีของกลุ่มคนเสื้อแดงไม่ได้เป็นการก่อการร้าย เพราะกฎหมายอาญามาตรา 135/1 วรรคสุดท้าย ระบุชัดเจนว่า เรื่องการก่อการร้าย หากเป็นการชุมนุมทางการเมืองเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ก็จะไม่เข้าข่ายความผิดในคดีนี้ ส่วนคดีผู้เสียชีวิตในที่ชุมนุม 13 ศพนั้น เชื่อว่าจะมีความคืบหน้าในเร็วๆ นี้ เช่นกัน

ที่มา สนุกดอทคอม


สรส.ร้ององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ เหตุไทยละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติ


ในเช้าวันที่21 กันยายน 2554นายสาวิทย์ แก้วหวาน ได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมธิการผู้เชี่ยวชาญในนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์  เพื่อเเสดงถึงการ ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศของรัฐบาลไทย ดังปรากฏหลักฐานจากการที่รัฐบาลไทยกำหนดนโยบายที่ไปฏิเสธมิให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน การยื่นหนังสือครั้งนี้เป็นการยื่นเอกสารเพิ่มเติมจากการยื่นหนังสือครั้งล่าสุดของ สรส. ณ ที่ประชุมเเรงงานระหว่างประเทศ ที่นครเจนีวา เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2554

ที่มา สำนักข่าวประชาธรรม



คณิตชงรื้อกม.ก่อการร้าย-อั้งยี่

22 กันยายน
นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) กล่าวตอนหนึ่งในสัมมนาเรื่อง “การขับเคลื่อนสังคมไทยด้วยหลักนิติธรรม” ว่า กระบวนการยุติธรรมต้องคิดใหม่ว่าต้องมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง “นิติรัฐ” ในสังคมไทย เป็นปัญหาที่รุนแรงมาก กระบวนการยุติธรรมกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการพัฒนาประชาธิปไตย ต้องไปด้วยกัน
ทั้งนี้ หากกระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพสูงก็จะทำให้ประเทศชาติเจริญรุ่งเรือง แล้วจะเป็นที่พึ่งพิงของประชาชนได้ แต่ถ้ากระบวนการยุติธรรมเป็นแบบเช้าชามเย็นชามก็จะเป็นปัญหาต่อไป ทั้งนี้ กระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่มีประสิทธิภาพสามารถป้องกันการยึดอำนาจได้ การใช้อำนาจรัฐจะต้องตรวจสอบได้ เพราะหากใช้อำนาจแล้วไม่มีกฎหมายรองรับมันก็ไม่ถูกต้อง
ส่วนกฎหมายว่าด้วยการก่อการร้าย เป็นพระราชกำหนดออกโดยฝ่ายบริหาร จนกลายเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน และเป็นเรื่องใหญ่จึงมีแนวคิดที่จะเขียนเรื่องกฎหมายก่อการร้ายเพื่อเสนอรัฐบาลเทียบกับอั้งยี่ตามที่สากลกำหนด เพราะการก่อการร้าย มันเป็นเรื่องระดับสากลมีบทลงโทษเพื่อไม่ให้ไปทำผิดอีก ต่างประเทศจำคุกไม่เกิน 10 ปีแต่ของไทยอั้งยี่คือโทษประหารชีวิตซึ่งรุนแรงมาก เพราะกฎหมายไทยใช้ผิดหลักเกณฑ์ไปหมด
ที่มา โพสต์ทูเดย์



เปิดตัวที่ปรึกษา คอป. ต่างชาติ 4 ไทย 2 "ชัยวัฒน์-สุรเกียรติ์ "


23 ก.ย. 54 - นายคณิต ณ นคร ประธาน คอป. แถลงข่าวเปิดตัวคณะที่ปรึกษาคณะกรรมการ คอป. ประกอบด้วยชาวต่างชาติ ได้แก่ น.ส.พริสซิลล่า เฮย์เนอร์, นายเดนิส เดวิส, นายเดวิด เคนเนดี และ นายฮัสซัน วิรายูดา คนไทยอีก 2 คน คือ นายชัยวัฒน์ สถาอานันท์ และ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย
นายคณิต ระบุว่า การมีที่ปรึกษาชาวต่างชาติเข้ามาช่วยเป็นที่ปรึกษาจะช่วยให้การทำงานของ คอป. ดำเนินไปในทิศทางที่ดี  ยืนยันว่า คอป. ยังเป็นอิสระ จะพยายามทำทุกวิธีทางให้เกิดสันติปรองดอง ซึ่งการตัดสินใจทุกอย่างที่จะมีขึ้นในอนาคต เป็นการตัดสินใจของ คอป.
ด้าน นายสุรเกียรติ์ กล่าวว่า คณะที่ปรึกษาไม่ได้ทำหน้าที่ตัดสินใจ เพียงแต่ให้คำแนะนำและเสนอความคิดที่เป็นประโยชน์ในแง่มุมเชิงวิชาการ โดยในอนาคตมีแนวคิดเชิญอดีตผู้นำจากหลายประเทศ ที่เคยมีเหตุความไม่ปรองดองเกิดขึ้น เช่น ประเทศชิลี มาเล่าประสบการณ์การทำงานที่ประสบความสำเร็จด้วย
ส่วนกรณีการเสนอแก้กฎหมายก่อการร้าย ซึ่งเห็นว่ามีโทษรุนแรง นั้น นายคณิต มองว่า กฎหมายดังกล่าวออกมาเป็นพระราชกำหนด จึงเห็นว่าไม่ถูกต้องตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากไม่ผ่านกระบวนการพิจารณาของรัฐสภา ซึ่ง คอป.กำลังพิจารณาว่าจะขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวอย่างไร ส่วนกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานประสานงานกับ คอป.เพื่อดำเนินการตามข้อเสนอของ คอป. เห็นว่าเป็นเรื่องของรัฐบาล ซึ่ง คอป.ได้เสนอแนวทางไปหมดแล้ว ต่อไปเป็นหน้าที่ของสื่อมวลชนที่จะติดตามว่ารัฐบาลจะทำตามข้อเสนอของ คอป.หรือไม่
ที่มา ประชาไท


ยกฟ้องหมอพรทิพย์เบิกความเท็จ

23 กันยายน
ศาลอาญาพิพากษายกฟ้องแพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กับพวกรวม 2 คน ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง คดีที่นายนพดล ธรรมวัฒนะ กรรมการบริหารบริษัทบอดี้โกรฟ เป็นโจทยื่นฟ้อง ในความผิดฐานเบิกความเท็จ กรณีเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2547 ถึง 28 มกราคม 2548 ระหว่างการพิจารณาคดี การเสียชีวิตของนายห้างทอง ธรรมวัฒนะ จำเลยทั้งสองได้เบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล และความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี เนื่องจากคำเบิกความเท็จของจำเลยทั้งสอง อาจทำให้ศาลหลงเชื่อไปได้ว่า การตายของนายห้างทอง ไม่ได้เกิดจากการฆ่าตัวตายโดยใช้อาวุธปืนยิง แต่เกิดจากการฆาตกรรม โดยถูกทำร้ายด้วยการตีที่ศีรษะด้วยของแข็งไม่มีคมก่อนถูกยิงด้วยอาวุธปืนที่ ขมับขวา และหลงเชื่อต่อไปว่า ผู้ที่ฆ่าหรือร่วมในการฆ่านายห้างทอง ธรรมวัฒนะ ก็คือโจทก์
โดยศาลพิจารณาในชั้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าจำเลยไม่มีผลต่อคดีฟ้องโจทก์ จึงไม่มีมูลพิพากษายกฟ้อง ภายหลังคำพิพากษา นายนพดล กล่าวว่า จะยื่นอุทธรณ์สู้คดีต่อไป

ที่มา ว๊อยซ์ทีวี