ครม.เห็นชอบลงนามอนุสัญญาคุ้มครองไม่ให้คนหาย
เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 54 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย (International Convention for the Protection of all Persons from Enforced Disappearance ) และมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหายต่อองค์การสหประชาชาติให้ทันก่อนวันที่ 5 ตุลาคม 2554 ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ
กระทรวงยุติธรรมได้เสนอรายงานต่อคณะรัฐมนตรี ถึงสาระสำคัญของอนุสัญญาว่า
1. อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย (International Convention for the Protection of all Persons from Enforced Disappearance ) เป็นหนึ่งในสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งรับรองโดยข้อมติสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ สมัยที่ 61 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2549 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดให้การทำให้บุคคลหายสาบสูญโดยถูกบังคับเป็นฐานะความผิดตามกฎหมายอาญา (เน้นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือการกระทำในนามเจ้าหน้าที่รัฐ) รวมทั้งกำหนดโทษของความผิดดังกล่าว โดยรัฐจะต้องกำหนดให้ตนมีเขตอำนาจศาลเหนือความผิดฐานกระทำให้บุคคลหายสาบสูญโดยถูกบังคับ ถึงแม้ว่าบุคคลที่หายสาบสูญ หรือบุคคลที่ประกอบอาชญากรรมดังกล่าวจะไม่ใช่คนชาติของตน และการทำให้หายสาบสูญก็มิได้เกิดขึ้นในดินแดนของรัฐตน ทั้งนี้ คำสั่งของผู้บังคับบัญชาจะไม่สามารถยกขึ้นเป็นข้ออ้างสำหรับการกระทำให้บุคคลหายสาบสูญได้ นอกจากนี้ ยังกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ปฏิบัติอย่างเป็นธรรมและจัดให้เหยื่อและสมาชิกในครอบครัวได้รับการเยียวยาและชดเชยอย่างเหมาะสมอนุสัญญาฯ ดังกล่าวมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2553 โดยมีประเทศที่ลงนามแล้ว 88 ประเทศ และเข้าเป็นภาคีโดยการให้สัตยาบันแล้ว 23 ประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 21 มีนาคม 2554)
2. ยธ. (กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ) ได้รับแจ้งข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องถึงความเหมาะสมของท่าทีของประเทศไทยที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในอนุสัญญา
3. ในการประชุมคณะทำงานเพื่อประสานงานด้านสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 2/2550 ที่ประชุมมีความเห็นว่า ยธ. เป็นหน่วยงานที่เหมาะสมที่สุดที่จะเป็นหน่วยงานประสานหลัก เนื่องจากอนุสัญญาฯ ทั้งในด้านสาระและการปฏิบัติกำหนดพันธกรณีที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมอยู่หลายข้อบท
4. ยธ. (กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ) ได้พิจารณาความเหมาะสมและความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ เรียบร้อยแล้ว โดยได้ดำเนินการศึกษาถึงความพร้อมของประเทศไทยต่อการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ร่วมกับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพิจารณาถึงท่าทีที่เหมาะสมของประเทศไทย ในการเข้าไปมีส่วนร่วมในอนุสัญญาฯ ร่วมกับคณะกรรมการที่กระทรวงยุติธรรมแต่งตั้งขึ้นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน รวมทั้งได้มีหนังสือสอบถามความเห็นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกชั้นหนึ่งด้วย ซึ่งในเบื้องต้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเห็นว่า ประเทศไทยมีความเหมาะสมที่จะเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากยังมีกฎหมาย กฎระเบียบ มาตรการ และแนวปฏิบัติที่ยังไม่สอดคล้องโดยตรงกับหลักการของอนุสัญญาฯ ดังนั้น ในเบื้องต้น จึงเห็นว่าประเทศไทยควรลงนามในอนุสัญญาฯ เพื่อแสดงให้ประชาคมระหว่างประเทศทราบถึงเจตนารมณ์และความตั้งใจจริงของรัฐบาลไทยที่จะแก้ไขปัญหาการบังคับให้บุคคลสูญหายและแสดงความพร้อมที่จะส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้เป็นไปอย่างสอดคล้องกับมาตรฐานสากลอันเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์เชิงบวกให้กับประเทศไทยในฐานะรัฐสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ และผู้นำอาเซียน อย่างไรก็ดี หากภายหลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปรับแก้กฎหมาย กฎ ระเบียบ มาตรการ และแนวปฏิบัติให้สอดคล้องกับพันธกรณีที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาฯ ทุกประการแล้ว รัฐบาลไทยก็ควรพิจารณาเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาฯ ต่อไป
นานาชาติพร้อมใจแนะกลางเวทียูเอ็น ประเทศไทยควรแก้ไขกฎหมายหมิ่นฯ – พ.ร.บ. คอมพ์ฯ
เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 54 สภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้จัดเวทีการรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย โดยมีตัวแทนจากรัฐบาลไทยรายงานสถานการณ์สิทธิฯ ต่อสหประชาชาติและตัวแทนจากรัฐบาลต่างๆ กว่า 50 ประเทศ
การรายงานการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของแต่ละประเทศ หรือกระบวนการยูพีอาร์ เป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ประเทศต่างๆ ในสภาสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ตั้งคำถามต่อประเทศที่ถูกตรวจสอบ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งใน 16 ประเทศของรอบเดือนตุลาคม 2554 ที่ต้องรายงานสถานการณ์สิทธิภายในประเทศต่อประชาคมนานาชาติ โดยใช้เวลารวมทั้งหมดสามชั่วโมง
ทางคณะผู้แทนไทย นำโดยเอกอัครราชทูตสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ พร้อมตัวแทนจากกระทรวงต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงแรงงาน ได้รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทยโดยรวมว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเสรีภาพสื่อมาก จะเห็นจากการที่สื่อไทยและต่างประเทศสามารถทำงานได้โดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐบาล และกล่าวถึงเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในปีที่แล้วว่า รัฐบาลกำลังดำเนินการทำการเยียวยา และชดใช้ความเสียหายให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบตามความเหมาะสม
ในเวทีดังกล่าว พบว่า ตัวแทนรัฐบาลจากเกือบ 20 ประเทศ อาทิเช่น เยอรมนี สหราชอาณาจักร นอร์เวย์ สวีเดน แคนาดา ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ และออสเตรเลีย ได้แสดงความกังวลต่อประเด็นเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกในไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งถูกมองว่าเป็นกฎหมายที่ริดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และได้เสนอคำแนะนำต่อประเทศไทย ให้ยกเลิก หรือแก้ไขกฎหมายดังกล่าวให้สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล
ทางตัวแทนรัฐบาลอังกฤษ กล่าวในประเด็นเสรีภาพในการแสดงออกของประเทศไทยว่า เห็นด้วยกับประเทศไทยที่ชี้ว่า การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เป็นเรื่องที่ต้องทำด้วยความเคารพ อย่างไรก็ตาม ประชาชนไทยควรจะสามารถถกเถียงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในรัฐธรรมนูญได้ โดยไม่กลัวว่าจะถูกดำเนินคดีเพราะทำผิดกฎหมาย
เช่นเดียวกับตัวแทนรัฐบาลนอร์เวย์ ที่แสดงความเป็นห่วงถึงจำนวนผู้ที่ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายหมิ่นและ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ที่สูงขึ้นมาก และได้มีข้อเสนอแนะว่า รัฐบาลไทย ควรทำให้กระบวนการยุติธรรมต่อผู้ที่ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายดังกล่าวเป็นไปอย่างโปร่งใสต่อสาธารณะ และควรให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่เหมาะสมแก่ผู้ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายดังกล่าวด้วย
นอกจากนี้ ยังกล่าวว่า ในฐานะที่นอร์เวย์เป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบรัฐธรรมนูญอันทรงมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (Constitutional Monarchy) นอร์เวย์เองก็มีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หากแต่กฎหมายดังกล่าวกำหนดผู้ฟ้องไว้เฉพาะพระมหากษัตริย์ หรือต้องได้รับคำยินยอมจากพระมหากษัตริย์ก่อนเท่านั้น ทำให้ป้องกันไม่ให้มีการนำกฎหมายดังกล่าวไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองได้
“เราขอแนะนำให้ประเทศไทย แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก ทั้งนี้ เรายินดีที่จะแบ่งปันประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของเราในประเด็นดังกล่าว [กับประเทศไทย]” ตัวแทนจากรัฐบาลนอร์เวย์ระบุ
ด้านตัวแทนจากกระทรวงยุติธรรมไทย กล่าวรายงานต่อสภาสิทธิฯ ว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ และพ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ มิได้ละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกใดๆ อย่างไรก็ตาม ทางการไทยยอมรับว่ากฎหมายดังกล่าวควรมีการแก้ไขเพื่อป้องกันมิให้กฎหมายดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อทบทวนและคัดกรองคดีความที่เกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทำให้หลายคดีถูกถอนข้อกล่าวหาไปแล้วเนื่องจากไม่มีมูลเหตุเพียงพอ
นอกจากนี้ ผู้แทนไทยยังชี้แจงว่า ในขณะนี้ รัฐบาลได้ได้ตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาเกี่ยวกับการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในส่วนที่เป็นปัญหา โดยศึกษาตัวอย่างจากประเทศต่างๆ พร้อมทั้งกล่าวว่า ข้อถกเถียงที่มีอยู่มากเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าวในสังคมไทยตอนนี้ จะถูกนำมาพิจารณาในคณะกรรมการดังกล่าวด้วย
ในประเด็นเรื่องพ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ ทางตัวแทนไทยได้ชี้แจงว่า กฎหมายดังกล่าวมีการป้องกันการใช้อย่างเหมาะสมแล้ว ดังจะเห็นจากข้อกำหนดที่ต้องขอหมายศาลก่อน เพื่อขออนุญาติก่อนทางตำรวจจะดำเนินการใดๆ อย่างไรก็ตาม เขาแจงว่า ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำลังพิจารณาการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว โดยเชิญฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้บริการให้อินเตอร์เน็ตมาให้ข้อเสนอแนะ
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : ประชาไท
รอลงอาญา 2 ปี ชาวบ้านสระบุรีปิดถนนประท้วงโรงไฟฟ้า-บ่อขยะ
5 ต.ค.54 เวลาประมาณ 10.00 น. ที่ศาลจังหวัดสระบุรี มีการพิพากษาคดีกรณีชาวบ้านหนองแซงปิดถนนประท้วงเพื่อเรียกร้องให้รัฐยุติโครงการก่อสร้างโรง ไฟฟ้าพลังก๊าซหนองแซง เมื่อวันที่ 24-25 ก.ย.52 โดยมีแกนนำชาวบ้านตกเป็นจำเลย 4 คน และนักพัฒนาเอกชน(เอ็นจีโอ) 1 คน รวมเป็น 5 คน โดยมีชาวบ้านจากอำเภอหนองแซงเข้าร่วมฟังคำพิพากษาจำนวนมาก รวมทั้งชาวบ้านจากกลุ่มอนุรักษ์บ่อนอก-บ้านกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์ นำโดย กรณ์อุมา พงษ์น้อย ภรรยาของเจริญ วัดอักษร แกนนำต้านโรงไฟฟ้าบ่อนอกที่ถูกยิงเสียชีวิต รวมแล้วประมาณ 40-50 คน
ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 229 เกี่ยวกับการกีดขวาง การจราจรบนทางหลวง, ตาม พ.ร.บ.ทางหลวง มาตรา 39 และมาตรา 71, พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 54 วรรค 2 และมาตรา 148, พ.ร.บ.ควบคุมโฆษณาโดยการใช้เครื่องขยายเสียง มาตรา 4วรรค 1 และมาตรา 9 วรรค 1 ให้ลงโทษ 1 ปี แต่ให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี และสั่งปรับตามประมวลกฎหมายอาญาคนละ 6,000 บาท ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตคนละ 200 บาท รวมทั้งให้ทำงานบริการสาธารณะคนละ 48 ชั่วโมง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษา เจ้าหน้าที่ได้นำตัวจำเลยทั้งห้าไปควบคุมตัวไว้ที่ห้องฝากขังนานเกือบ 3 ชั่วโมงระหว่างการดำเนินการจ่ายค่าปรับ ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวในที่สุด
“แม้การกระทำของจำเลยจะเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ใช้ทาง แต่ในการนำสืบเชื่อว่าการกระทำดังกล่าวมีเจตนาที่จะเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐเข้ามาดูและแก้ไขความเดือดร้อนของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เกี่ยวกับบ่อขยะและการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ส่วนจำเลยที่ 5 เป็นการให้ความรู้และชี้แจงผลกระทบ ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำความผิดมาก่อน จึงให้รอลงอาญา” มนทนา ดวงประภา หนึ่งในทนายความจากคณะทำงานสภาทนายความที่ช่วยเหลือในคดีนี้กล่าว
ทนายความระบุด้วยว่า ในการต่อสู้คดีได้มีการหยิบยกบทบัญญัติเกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญขึ้นต่อสู้ด้วย แต่ศาลพิพากษาว่าชาวบ้านจะเข้าถึงสิทธิดังกล่าวได้ก็โดยไม่ละเมิดกฎหมายอื่นๆ ที่มีอยู่
ทนายความยังระบุด้วยว่า การเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหนองแซงตลอด 2-3 ปีที่ผ่าน ชาวบ้านถูกฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งสิ้น 9 คดี โดยส่วนมากเป็นคดีบุกรุก หมิ่นประมาท ทำร้ายร่างกาย โดยมีคดีที่ยกฟ้องไปแล้ว 1 คดี คดีที่อยู่ระหว่างฎีกาอีก 1 คดี และคดีนี้นับเป็นคดีที่ 3 ที่มีการตัดสินแล้ว
นายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี หนึ่งในจำเลย กล่าวว่า ตนเองถูกฟ้องหลายคดีจากการนำการเคลื่อนไหวในพื้นที่ ทั้งที่บางคดีนั้นไม่ได้ร่วมในเหตุการณ์ด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ท้ายที่สุดโครงการโรงไฟฟ้าจะสามารถเดินหน้าก่อสร้างได้ในพื้นที่ โดยขณะนี้ทำการถมดินและเริ่มตอกเสาเข็มแล้ว แต่ชาวบ้านก็ยังยืนยันจะร่วมตรวจสอบการดำเนินการของโรงไฟฟ้า รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องว่าทุกอย่างเป็นไปตามที่ระบุไว้ในรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) หรือไม่ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการป้องกันผลกระทบด้านต่างๆ ในพื้นที่
นายสมคิด ดวงแก้ว หนึ่งในจำเลย ระบุว่า รู้สึกว่าชาวบ้านไม่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญในการใช้สิทธิ
“วันนี้ก็เป็นบทเรียนว่าเมื่อชาวบ้านออกมาปกป้องสิทธิชุมชนมันก็ขัดแย้งกับระดับนโยบาย ที่สำคัญ ขบวนการยุติธรรมทุกระดับไม่ว่า ตำรวจ อัยการ ศาล ก็มีทัศนคติว่าโครงการเหล่านี้มาสร้างความเจริญ มีความชอบธรรม ชาวบ้านคิดว่าจะเป็นที่พึ่งได้ ก็หมดหวัง เป็นบทเรียนว่าการต่อสู้ของประชาชนมีทางคับแคบมาก” นายสมคิดกล่าว
ทั้งนี้ จำเลยทั้ง 5 คนได้แก่ นายนพพล น้อยบ้านโง้ง และนายคูณทวี ภาวรรณ์ ชาวบ้านจากพื้นที่ อ.แก่งคอยและ อ.เมือง ซึ่งประสบปัญหาจากบ่อขยะเคมีของบริษัท เบ็ตเตอร์เวิลด์กรีน จำกัด, นายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี และนายสมคิด ดวงแก้ว ชาวบ้านจากอำเภอหนองแซง ซึ่งประสบปัญหาจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังก๊าซหนองแซง ขนาด 1,600 เมกะวัตต์ และนางสาววัชรี เผ่าเหลืองทอง กลุ่มพลังงานทางเลือก ทั้งหมดถูกฟ้องในความผิดฐานร่วมกันกระทำการใดๆ ในทางสาธารณะอันน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่การจราจร, ร่วมกันปิดกั้นทางหลวงนำสิ่งใด มากีดขวาง หรือกระทำการใดๆ ในลักษณะที่อาจเกิดอันตราย เสียหายแก่ยานพาหนะหรือบุคคล, ไม่จอดรถชิดขอบทาง, ร่วมกันทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับใบอนุญาต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงบ่ายวันเดียวกัน ที่ศาลมีการสืบพยานโจกท์ในคดีบุกรุก ซึ่งชาวบ้านหนองแซงเป็นจำเลย 8 คน เหตุเกิดเมื่อ 17 ส.ค.52 เนื่องจากชาวบ้านเข้าไปสอบถามและขวางการรังวัดพื้นที่ของโครงการ โดยในวันนี้ทนายความแจ้งว่าชาวบ้านทั้ง 8 รายให้การรับสารภาพ และศาลนัดพิพากษาในวันที่ 19 ต.ค.นี้
ที่มา : ประชาไท
เครือข่ายองค์กรโลกเรียกร้องให้รัฐบาลไทย เข้าร่วมภาคีศาลอาญาระหว่างประเทศ
คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission: AHRC) ได้เผยแพร่แถลงการณ์ร่วมโดย องค์กรเครือข่ายเพื่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (Coalition for the International Criminal Court - CICC) เรียกร้องให้รัฐบาลไทยแสดงเจตจำนงที่จะร่วมกับประชาคมโลกในการต่อสู้ ต่อต้านระบบ “ลบล้างความผิด” (Impunity) ด้วยการให้สัตยาบันต่อธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court – ICC) ซึ่งเป็นศาลอาญาถาวรระหว่างประเทศแห่งแรก และแห่งเดียวของโลก ที่มุ่งจัดการกับคดีที่มีลักษณะเป็นอาชญากรรมสงคราม อาชญากรรมต่อต้านมนุษยชาติ และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ประเทศไทย เป็นประเทศเป้าหมายหลักของการรณรงค์ระดับโลก เพื่อการให้สัตยาบันต่อธรรมนูญกรุงโรม ในเดือนตุลาคม 2554 การรณรงค์ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่จะเรียกร้องให้ประเทศภาคีสมาชิกของสหประชาชาติให้สัตยาบันต่อธรรมนูญกรุงโรม ซึ่งถือเป็นอนุสัญญาสาคัญที่เป็นพื้นฐานแห่งการจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศขึ้น
หนังสือลงวันที่ 3 ตุลาคม 2554 ที่องค์กรเครือข่ายระหว่างประเทศ ซึ่งมีสมาชิกหลากหลายมากมายกว่า 2500 องค์กร/ หน่วยงาน จาก 150 ประเทศทั่วโลก มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดศาลอาญาระหว่างประเทศ ที่มีความเที่ยงธรรม มีประสิทธิภาพ และมีความเป็นอิสระ ส่งถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เรียกร้องให้รัฐบาลไทยได้ดำเนินการให้เกิดความคืบหน้าสู่การให้สัตยาบันต่อธรรมนูญกรุงโรม ว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศในเร็ววัน
ปัจจุบัน 118 รัฐภาคีทั่วโลก ได้เข้าร่วมกับภาคีธรรมนูญกรุงโรม ว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศแล้ว และล่าสุดประเทศมัลดริฟส์ได้เข้าร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญาฉบับนี้ ในรอบสองปีที่ผ่านมา ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเซียได้เริ่มเข้ามีส่วนร่วมในศาลอาญาระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น อาทิ เช่น บังกลาเทศให้สัตยาบันเมื่อเดือนมีนาคม 2553 ฟิลิปปินส์ให้สัตยาบันเมื่อเดือนสิงหาคม 2554 และตามด้วยมัลดริฟส์ เมื่อเดือนกันยายน ที่ผ่านมา ภูมิภาคเอเซียยังคงเป็นภูมิภาคที่ด้อยจานวนภาคีสมาชิกในศาลอาญาระหว่างประเทศอยู่มากเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ กล่าวคือ มีเพียง 9 รัฐภาคีเท่านั้น ในปัจจุบัน
การให้สัตยาบันต่อธรรมนูญกรุงโรมแห่งศาลอาญาระหว่างประเทศของรัฐบาลไทย จะเป็นแบบอย่างที่ดียิ่งสำหรับประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียน “ประเทศไทยอยู่ในฐานะที่มีบทบาทโดดเด่นในภูมิภาคเอเซีย และบทบาทนำในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค” Evelyn Balais Serrano ผู้ประสานงานภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกขององค์กรเครือข่ายเพื่อศาลอาญาระหว่างประเทศระบุ
“ภายใต้รัฐบาลใหม่ ถือได้ว่านี่เป็นโอกาสอันสาคัญยิ่งที่ประเทศไทยจะพิจารณาให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีธรรมนูญกรุงโรมแห่งศาลอาญาระหว่างประเทศอย่างจริงจัง และนี่จะเป็นความพยายามในการกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการหยุดยั้ง และขจัด ‘การลบล้างความผิด’ (Impunity) และดำเนินการให้เกิดความยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเหยื่อผู้ถูกล่วงละเมิดท่ามกลางความขัดแย้งในอดีต ทั้งนี้ให้เป็นไปบนหลักการพื้นฐาน เป้าหมาย และเจตนารมย์แห่งธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ”
องค์กรเครือข่ายเพื่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (CICC) ยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยได้มีส่วนร่วมในการประชุม ณ กรุงโรม และมีการดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อเข้าสู่กระบวนการให้สัตยาบัน และขณะเดียวกันก็ตระหนักว่าข้อท้าทายทางกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งเกิดเป็นประเด็นคำถามขึ้น อันสืบเนื่องมาจากความ (ไม่) สอดคล้องกันระหว่างธรรมนูญศาล กับกฎหมายภายในประเทศ องค์กรเครือข่ายเพื่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (CICC) เรียกร้องให้รัฐไทยได้ศึกษาบทเรียนการแก้ปัญหา หรือคลี่คลายความกังวลจากรัฐภาคีอื่นๆ ซึ่งประสบผลสำเร็จในการฝ่าข้ามความกังวลเหล่านั้นมาแล้วด้วยดี รัฐบาลใหม่ต้องแสดงจุดยืน และความมุ่งมั่นในการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
“ภายใต้การปฏิรูประบบ กลไก และนโยบายหลักโดยรัฐบาล ผู้บริหารชุดใหม่พึงจะได้รับประโยชน์จากการเข้าเป็นภาคีธรรมนูญกรุงโรมด้วย ทั้งนี้จะเป็นการแสดงให้เป็นที่ปรากฎว่า ประชาชนไทยมีความห่วงใยและเห็นอกเห็นใจ รู้สึกในความสมานฉันท์กับผู้เจ็บปวด ผู้สูญเสีย และเหยื่อของความขัดแย้งในภูมิภาคเอเซีย และประเทศทั่วโลก” นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้นำสำคัญในคณะทำงานไทยว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศกล่าว
เมื่อเข้าเป็นภาคีแล้ว รัฐบาลไทยจะสามารถเข้ามีส่วนร่วมในการประชุมประจำปีของรัฐภาคีของศาลอาญาระหว่างประเทศ ในฐานะสมาชิก และเข้าร่วมประชุมเพื่อร่วมพิจารณาในประเด็นปัญหาสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการภารกิจศาล ตลอดจนการสรรหา/เลือกตั้งผู้พิพากษา หัวหน้าอัยการศาล และเจ้าหน้าที่ตำแหน่งสาคัญอื่น ๆ
อ่านเพิ่มเติม : ประชาไท
พท.ไม่หวั่น ชงกมธ. กฎหมายแก้พ.ร.บ.กลาโหม
เมื่อวันที่ 7 ต.ค. นายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า จะเสนอคณะกรรมาธิการพิจารณาแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมในสัปดาห์หน้า โดยศึกษาถึงผลดี ผลเสียในการแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าว ส่วนตัวเห็นตรงกับ ส.ส. นักวิชาการ และนักประชาธิปไตยหลายคนว่าสมควรมีการปรับแก้ เพราะมองดูแล้วให้อำนาจทหารเยอะเกินไป มีลักษณะที่ขัดและฝืนกับอำนาจฝ่ายบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติ อีกทั้ง พ.ร.บ.ดังกล่าวเกิดขึ้นในยุครัฐประหาร ไม่ได้เกิดจากรากหญ้าประชาธิปไตย ไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากปวงชนชาวไทย
นายประชา กล่าวอีกว่า ส่วนตัวคิดว่า ถ้าแก้ พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม แล้วก็ไม่ได้ทำให้กระทรวงกลาโหมหมดความมั่นคงลงแต่อย่างใด แต่จะทำให้อยู่ในระบบระเบียบประชาธิปไตยมากขึ้น ทหารอย่าวิตกกังวลว่าจะเป็นการเสียศักดิ์ศรีอะไรเลย ความจริงอำนาจทหารนั้นล้นมืออยู่แล้ว
ที่ผ่านมาก็ได้แสดงบทบาทให้เห็นหลายต่อหลายครั้ง ถ้ายังมี พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมนี้อยู่อีก รัฐบาลก็ต้องดูถึงความเหมาะสม การจัดโผโยกย้ายทหารต่างๆ โดยทางนิตินัย นายกฯ ต้องมีส่วนเข้ามาดู และมีอำนาจตัดสินใจด้วย
"ทั้งนี้ หากเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการแล้ว คงจะมีการเชิญ รมว.กลาโหม ปลัดกระทรวงกลาโหม รวมทั้ง ผบ.เหล่าทัพต่างๆ มาให้ข้อมูลด้วย เมื่อเสร็จสิ้นแล้วก็จะนำผลการศึกษาเสนอต่อรัฐบาล ขณะเดียวกัน ส.ส.ก็สามารถเข้าชื่อแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ได้เช่นเดียวกัน" นายประชา กล่าว.
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
"จรัล ดิษฐาอภิชัย" รับทราบข้อหาฝืน พ.ร.บ.มั่นคง
เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่สน.ลุมพินี นายจรัล ดิษฐาอภิชัย แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พร้อมนายคารม พลพรกลาง ทนายความ เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ร่วมกันฝ่าฝืนประกาศของผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ฉบับที่ 5 ลงวันที่ 3 เมษายน 2553 โดยไม่ออกจากพื้นที่ที่กำหนด ตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ภายหลังนายจรัลหลบหนีออกนอกประเทศไปในระหว่างการชุมนุมของกลุ่มนปช.เมื่อช่วงเดือน พ.ค.ปี 2553 ที่ผ่านมา
โดยการเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาของนายจรัลในวันนี้ มีกลุ่มคนเสื้อแดงประมาณ 10 คน เดินทางมารอมอบดอกไม้ให้กำลังใจ ไม่คึกคักเหมือนเมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่นางดารุณี หรือเจ๊ดา กฤตบุญญาลัย แกนนำเสื้อแดงอีกคนเข้ามารับทราบข้อหล่าวหา จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำตัวนายจรัล เข้าไปสอบปากคำในห้องประชุมชั้น 2 ของสน. โดยมี พ.ต.อ.ศรัณยู ชำนาญราช รอง ผบก.น.5 พ.ต.อ.ชนิน วชิรปาณีกูล ผกก.สน.ลุมพินี พ.ต.ท.อัครวัฒน์ พุ่มไพศาลชัย รอง ผกก.สส.สน.ลุมพินี ร่วมทำการสอบปากคำ
นายจรัล กล่าวว่าว่า วันนี้มาพบพนักงานสอบเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาดังกล่าวตามหมายเรียกเพื่อต่อสู้คดี และตนขอให้การปฏิเสธ เนื่องจากในวันที่ 3 เม.ย.53 ที่มีการออกประกาศมานั้น กลุ่มนปช.ยังชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าและราชประสงค์ด้วยความสงบปราศจากอาวุธ และยังไม่มีเหตุการณ์รุนแรงอะไร ที่ผ่านมาตนได้หลบหนีไปอยู่ประเทศต่างๆมามากมายเป็นเวลานาน ตอนนี้คิดถึงประเทศ ครอบครัว เพื่อนฝูงและประชาชนที่ร่วมกันต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมานาน 4-5 ปี อีกทั้งรัฐบาลก็มีเจตนาดีที่จะดำเนินคดีด้วยความยุติธรรม ไม่ 2 มาตรฐานเหมือนเมื่อก่อน ตนจึงรู้สึกเชื่อมั่นและมั่นใจ จึงเดินทางกลับมารับทราบข้อกล่าวหา
ต่อมาเวลา 11.00 น.หลังสอบปากคำนานประมาณ 1 ชั่วโมง นายจรัล พร้อมนายคารม ได้เดินทางกลับ โดย พ.ต.ท.อัครวัฒน์ พุ่มไพศาลชัย รอง ผกก.สส.สน.ลุกพินี กล่าวว่า ทางนายจรัล ได้ขอให้พนักงานสอบสวนสอบปากคำพยานเพิ่มเติม ซึ่งหลังจากนี้ทางพนักงานสอบสวนจะนัดหมายผ่านทนายความให้นายจรัล นำพยานมาสอบปากคำอีกครั้งหนึ่ง ก่อนจะทำสำนวนให้เสร็จเรียบร้อยและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ที่มา : สำนักข่าวเนชั่น
ทีมกม.ปชป.ขู่อัยการ ส่งเอกสารคดีอ้อภายใน 11 ต.ค.
เมื่อวันที่ 7 ต.ค. นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานด้านกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ในวันอาทิตย์ ที่ 9 ต.ค.นี้ คณะทำงานจะหารือกันหลังจากที่ได้ยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุด เพื่อขอสำเนาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการใช้ดุลยพินิจไม่ยื่นฎีกากับคุณหญิง พจมาน ณ ป้อมเพชร คดีหลีกเลี่ยงการเสียภาษี
โดยอัยการขอเวลาส่งเอกสาร หลังวันที่ 5 ต.ค. ซึ่งคณะทำงานได้กำหนดกรอบเวลาไว้เป็นวันที่ 11 ต.ค. จึงหวังว่าในต้นสัปดาห์หน้าจะได้รับเอกสารจากอัยการสูงสุดตามที่มีการยื่น เรื่องร้องขอไป แต่ถ้าไม่มีการมอบเอกสารตามที่สัญญาไว้ก็จะดำเนินการผ่านสื่อ และอาจใช้ช่องทางของพรบ.ข้อมูลข่าวสาร และยืนยันว่าจะเดินหน้าเรื่องนี้อย่างเต็มที่ เพราะเป็นเรื่องใหญ่ที่สังคมให้ความสนใจ อีกทั้งยังมีผลต่อกระบวนการยุติธรรมด้วย
นายวิรัตน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ในการประชุมคณะทำงานจะมีการพิจารณาประเด็นของนางกฤษณา ศรีหลักษณ์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง กรณีใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขตเข้าไปแทรกแซงการบริหารงานของคณะกรรมการ อสมท. เท่าที่เห็นข้อมูลคิดว่าเป็นเรื่องหนักของรัฐมนตรีทั้ง 2 คนที่จะเข้าข่ายถูกยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่งได้.
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
มาเลย์ล้างกฎหมายโหด ปล่อย 125 ผู้ต้องหาคดีอาญา
เมื่อ 5 ต.ค. นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค แห่งมาเลเซีย ประกาศปล่อยตัวผู้ต้องสงสัยก่ออาชญากรรม ซึ่งถูกจับภายใต้ “กฎหมายจำกัดการอยู่อาศัย” (อาร์อาร์เอ) 125 คน หลังเขาประกาศจะยกเลิกกฎหมายด้านความมั่นคงต่างๆ ที่เข้มงวดโหดร้ายและถูกใช้เป็นเครื่องมือเล่นงานฝ่ายต่อต้านรัฐบาลมายาวนาน
คาดว่ารัฐสภาจะลงมติยกเลิกกฎหมายอาร์อาร์เอในเดือนนี้ หลังบังคับใช้ตั้งแต่พ.ศ. 2476 สมัยยังเป็นอาณานิคมอังกฤษ โดยกฎหมายนี้ให้อำนาจรัฐเนรเทศผู้ต้องสงสัยก่อคดีอาญาไปอยู่ท้องถิ่นห่างไกล และบังคับให้รายงานตัวกับตำรวจสม่ำเสมอ
ส่วนกฎหมายสำคัญท่ีสุดที่คาดว่าจะถูกยกเลิกในปีหน้า คือกฎหมายความมั่นคงภายใน (ไอเอสเอ) ซึ่งรัฐมีอำนาจควบคุมตัวผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ก่อการร้าย นักเคลื่อนไหวด้านแรงงานและอื่นๆ ได้โดยไม่ต้องพิจารณาคดี คาดว่านายนาจิบหวังใช้เรื่องนี้ดึงคะแนนเสียงเลือกตั้งในต้นปีหน้า.
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เสนอ "กลไกคุ้มครองผู้บริโภค" ให้ว่าที่ กสทช.-ย้ำคำนึงถึงสิทธิพลเมืองด้วย
เมื่อวันที่ 5 ต.ค.54 ที่สำนักงาน กสทช. คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม จัดเสวนา "ร่วมออกแบบกลไกคุ้มครองผู้บริโภคในยุค กสทช." โดยมีว่าที่ กสทช. 4 คนเข้าร่วมรับฟัง โดยสารี อ๋องสมหวัง ประธานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าวถึงข้อเสนอต่อว่าที่ กสทช. ว่า โครงสร้างหน่วยงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ควรมีความเป็นอิสระในการบริหารงาน เพื่อให้ทำงานได้คล่องตัว มีประสิทธิภาพ โดยอาจมีสถานะเป็นสถาบันหรือสำนัก เทียบเท่าสำนักอื่นๆ ใน กสทช. ทำงานขึ้นตรงต่อ กสทช. โดยมีหน่วยรับเรื่องร้องเรียนจุดเดียว จากนั้นค่อยส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อความสะดวกของผู้บริโภค
สำหรับที่มาของคณะอนุกรรมการทั้งสองชุด สารีกล่าวว่า ควรยึดรูปแบบการสรรหาคณะอนุกรรมการตามแบบของ สบท. และให้มีคณะอนุกรรมการ จำนวนตั้งแต่ 5-9 คน ซึ่งจะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น ด้านกฎหมาย ด้านเศรษฐศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์
โสภิดา วีรกุลเทวัญ จากมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ กล่าวในเชิงหลักการว่า ควรออกแบบขอบเขตการตรวจสอบ คุ้มครองของคณะอนุกรรมการฯ ให้ชัดเจน เพราะเมื่อพูดถึงเรื่องสื่อแล้ว นอกจากประชาชนจะเป็นผู้บริโภค ยังมีมิติของความเป็นพลเมืองด้วย เช่น เมื่อพูดถึงสิทธิในการใช้คลื่นวิทยุจะถือเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคไหม หรือเมื่อมีกรณีการปิดเว็บไซต์จะร้องเรียนที่ไหน นอกจากนี้ ในสัดส่วนของคณะอนุกรรมการด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ซึ่งมีข้อเสนอให้มีตัวแทนจากผู้ประกอบอาชีพสื่ออยู่ด้วยนั้น ตั้งคำถามว่า จะตรวจสอบความเป็นตัวแทนได้แค่ไหน เนื่องจากก่อนหน้านี้ยังมีข้อถกเถียงเรื่องสื่อแท้และสื่อเทียม และในอนาคต ซึ่งจะมีโทรทัศน์ดาวเทียมอีกมหาศาล แล้วใครจะเป็นตัวแทนของโทรทัศน์ดาวเทียม
ด้าน ฉัตรชัย เชื้อรามัญ ผู้อำนวยการสำนักข่าวเด็กและเยาวชน เสนอว่า คณะอนุกรรมการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ต้องทำงานในเชิงรุกด้วย โดยตรวจสอบการทำหน้าที่ของสื่อวิทยุโทรทัศน์ ที่มีโฆษณาแฝงในรายการเล่าข่าว ละเมิดสิทธิผู้ถูกกล่าวหาโดยเสนอภาพขณะขึ้นศาล หรือพยายามถ่ายภาพของเด็ก ซึ่งขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้มีการวิจัยเพื่อจัดเกณฑ์เรทติ้งให้ชัดเจนด้วย
ที่มา: ประชาไท
ศาลปค.สูงสุดยืนไม่รับฟ้องพธม.ฟ้อง JBC ไทย-กัมพูชา
เมื่อเวลา 13.30 น. นายสุเมธ รอยกุลเจริญ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด เจ้าของสำนวน และองค์คณะมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้น ไม่รับฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 1693/2553 ที่มีนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ กับพวกรวม 4 คน ยื่นฟ้องนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ขณะปี 2553 และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 เรื่องกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน และไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 รวมทั้งขัดรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 190 และไม่บริหารราชการแผ่นดินตามคำแถลงนโยบายของ ครม.ที่แถลงต่อรัฐสภา
ทั้งนี้ในกรณีที่ รมว.ต่างประเทศ ใช้อำนาจบริหาร เสนอเรื่องบันทึกผลการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย - กัมพูชา (JBC) 3 ครั้ง ในการทำบันทึกความเข้าใจสภาพแวดล้อมพื้นที่ชายแดน รอบปราสาทพระวิหาร เข้าสู่ที่ประชุมของสมาชิกรัฐสภาโดยเปิดให้มีการอภิปรายเมื่อวันที่ 26 ต.ค.53 ทั้ง ๆ ที่บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทย - กัมพูชา ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก หรือ MOU ลงวันที่ 14 มิ.ย.43 ไม่ชอบด้วยกฎหมายและประชาชนไทยได้โต้แย้งคัดค้านมาโดยตลอดขั้นตอน โดยที่ประชุมสภา ได้กำหนดวาระที่จะลงมติเกี่ยวกับ MOU 43 ดังกล่าว ในวันที่ 2 พ.ย.นี้ หากปล่อยให้มีการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อไป ย่อมเป็นการแสดงเจตนายืนยันชัดแจ้งถึงการยอมรับในแผนที่กำหนดแนวเขต MOU 43 ดังกล่าวที่จะส่งผลให้เป็นสนธิสัญญาที่มีผลบังคับทั้งสองฝ่าย แล้วจะเป็นการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตอย่างชัดเจนและกระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพของประชาชนไทยทุกคนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างร้ายแรง ที่อาจแก้ไขเยียวยาภายหลังไม่ได้
การดำเนินการของผู้ถูกฟ้องทั้งสองจึงเป็นการใช้อำนาจฝ่ายบริหารตามบทบัญญัติ รธน.ไม่ใช่อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง ที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความนั้นชอบแล้ว ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย จึงมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้น และเมื่อศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีแล้ว จึงไม่มีเหตุที่ต้องส่งคำร้องที่ผู้ฟ้อง ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการที่ รมว.ต่างประเทศ และ ครม. ผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 ดำเนินการเกี่ยวกับบันทึกความ MOU 43 นั้นขัด รธน.มาตรา 190 หรือไม่ อีกจึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ที่มา : สำนักข่าวเนชั่น
ครม.เล็งวางกรอบ FTA ไทย-เปรู
เมื่อวันที่ 4 ต.ค. คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ เรื่อง การอนุวัติพิธีสารระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐเปรู เพื่อเร่งเปิดเสรีการค้าสินค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้า และพิธีสารที่เกี่ยวข้อง และร่างกรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเปรู ดังนี้
1. เห็นชอบร่างกรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเปรู สำหรับการขยายการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-เปรู ครอบคลุมการเปิดเสรีการค้าส่วนที่เหลือ การค้าบริการและการลงทุน และให้นำเสนอรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
2. นำเสนอพิธีสารระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐเปรู เพื่อเร่งเปิดเสรีการค้าสินค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้า และพิธีสารเพิ่มเติมระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐเปรู เพื่อเร่งเปิดเสรีการค้าสินค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้ารวม 2 ฉบับ เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป
3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศแจ้งสาธารณรัฐเปรูทราบว่าไทยได้ดำเนินการเสร็จสิ้นตามกระบวนการภายในแล้ว เมื่อพิธีสารฯ ตามข้อ 2. ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว เพื่อให้พิธีสารฯ ทั้ง 4 ฉบับ มีผลใช้บังคับในคราวเดียวกันต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
1. พิธีสารระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐเปรู เพื่อเร่งเปิดเสรีการค้าสินค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้า (Early Harvest) และพิธีสารเพิ่มเติมฯ จำนวน 3 ฉบับ มีสาระสำคัญคือ การเร่งลดภาษีนำเข้าสินค้าบางส่วนจำนวนร้อยละ 70 ของรายการสินค้าทั้งหมดภายในปี 2558 และกฎระเบียบต่าง ๆ อาทิ กฎเกณฑ์ว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า มาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าพิธีการศุลกากร การบริหารจัดการกฎหมาย กฎระเบียบที่โปร่งใส และกลไกระงับข้อพิพาท
2. กรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-เปรู มีสาระสำคัญครอบคลุม 10 ประเด็น ได้แก่ 1) การค้าสินค้า 2) กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า 3) ด้านศุลกากร 4) มาตรการป้องกันและมาตรการเยียวยาด้านการค้า 5) มาตรการปกป้องด้านดุลการชำระเงิน 6) การค้าบริการ 7) การลงทุน 8) ความร่วมมือและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 9) ทรัพย์สินทางปัญญา และ 10) เรื่องอื่น ๆ