รอบอาทิตย์ที่3 ต.ค.54 : ท่ามกลางฝุ่นตลบน้ำท่วม

รอบอาทิตย์ที่3 ต.ค.54 : ท่ามกลางฝุ่นตลบน้ำท่วม

เมื่อ 21 ต.ค. 2554

ศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบายสื่อฯค้านร่าง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์

ศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบายสื่อมวลชน ออกแถลงการณ์คัดค้านร่าง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฉบับใหม่ ชี้เปลี่ยนหลักคุ้มครองเป็นควบคุม ซ้ำโอนอำนาจไปที่ ผบ.ตร. เชื่อรัฐฉวยโอกาสภัยพิบัติจ้องแทรกแซงสื่อ

(21 ต.ค.54) จักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานกรรมการบริหารศูนย์ศึกษา กฎหมายและนโยบายสื่อมวลชน สถาบันอิศรา ออกแถลงการณ์คัดค้านการแก้ไข พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ระบุร่างที่เสนอแก้ไข นอกจากจะเปลี่ยนแปลงหลักการจากหลัก “ส่งเสริมคุ้มครอง” มาเป็นหลัก “ควบคุม” และถ่ายโอนหน้าที่ของกรมศิลปากร มาเป็นอำนาจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแล้ว ยังเป็นความพยายามที่จะตรากฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 อีกด้วย พร้อมระบุว่า ยังไม่มีเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วนใดๆ ที่จะแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ เชื่อรัฐบาลฉกฉวยสถานการณ์ภัยพิบัติ มาเป็นประโยชน์ในการแก้ไขกฎหมายเพื่ออำนาจในการกำกับควบคุมสื่ออย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ที่มาข่าว ประชาไท

อ่านรายละเอียดได้ที่ เว็บไซต์สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

 

นายกฯออกคำสั่งพรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ กระชับอำนาจบริหารจัดการเพื่อความเป็นเอกภาพ

วันนี้ (21 ต.ค. 54) เวลา 10.24 น. ณ ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) อาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ท่าอากาศยานกรุงเทพมหานคร นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวก่อนเข้าประชุมร่วมกับเหล่าทัพเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมว่า รัฐบาลได้ตัดสินใจออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีภายใต้พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยปี 2550 มาตรา31 ในการเตือนภัยพิบัติร้ายแรง โดยให้ทุกหน่วยงานขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อการทำงานที่สัมพันธ์กันและเป็นเอกภาพมากยิ่งขึ้น

"ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมขณะนี้ได้สั่งให้ตั้งคณะทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานครดูแลภาพรวมอย่างใกล้ชิด โดยให้ทางกรุงเทพมหานครเปิดประตูระบายน้ำให้เต็มที่ทุกประตู และสัมพันธ์กับประสิทธิภาพของการระบายน้ำออกสู่ทะเลฝั่งตะวันออกโดยเร็วที่สุด เพื่อรักษาจุดสำคัญไม่ให้น้ำท่วมกรุงเทพมหานครชั้นใน นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้เหล่าทัพจัดกำลังเฝ้าระวังบริเวณแนวคันกั้นน้ำตามโครงการพระราชดำริ และให้ตำรวจผลัดเปลี่ยนเวรเฝ้าประตูระบายน้ำทุก 2 ชั่วโมง " นายกรัฐมนตรีกล่าว

ที่มาข่าว มติชนออนไลน์

 

“สุขุมพันธุ์” กัดฟันยอมจำนน พ.ร.บ.ป้องกันภัย

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. แถลงว่า กรณีที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 2550 ว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวทำให้ตนมีอำนาจมากกว่าเดิมสามารถสั่งการอะไรในพื้นที่ กทม.ก็ได้ แต่อยู่ภายใต้การควบคุมจากนายกรัฐมนตรี หากนายกรัฐมนตรีไม่เห็นชอบเรื่องใด กทม.ก็ไม่สามารถคัดค้านได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กทม.พร้อมปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาล และการทำงานหลังจากนี้ก็คงเป็นแนวทางเดียวกัน เพราะเข้าใจดี และเคยเป็น ส.ส.มาก่อน รวมถึงเคยผ่านกฎหมายมาหลายฉบับ ฉะนั้นย่อมเคารพต่อกฎหมาย

“ส่วนสาเหตุที่รัฐบาลประกาศ พ.ร.บ.ป้องกันฯ ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร ต้องไปถามรัฐบาล แต่ยืนยันว่า กทม.เปิดประตูระบายน้ำมาโดยตลอด แต่อาจเปิดได้ไม่เต็มที่ เพราะผมมีหน้าที่รับผิดชอบต่อชาว กทม. ไม่ใช่รับผิดชอบต่อคนทั้งชาติ หากถามความรู้สึกผม ถ้าจะให้ทำอะไรก็พร้อมทำทุกอย่าง ผมถวายชีวิตให้คน กทม.แล้ว แค่กฎหมายนี้ทำไมผมจะยอมรับไม่ได้” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าว

ที่มาข่าว คมชัดลึก

 

'อภิสิทธิ์'ย้ำรัฐบาลต้องใช้ พรก.ฉุกเฉินจัดการน้ำท่วม

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 17 ต.ค. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมคณะได้เดินทางไปยังเขตนิคมอุตสาหกรรมนวนคร จ.ปทุมธานี เพื่อเยี่ยมชมการทำงานของศูนย์อำนวยการป้องกันน้ำท่วมในนิคมฯ และดูความพร้อมในการรับมือ แต่ยังไม่ทันถึงที่หมายก็ต้องยกเลิกกลางคัน เนื่องจากระหว่างเดินทางเกือบถึงทางเข้านิคมฯ ได้เกิดเหตุการณ์คันกั้นน้ำพัง จนทำให้เกิดความโกลาหลในหมู่ประชาชนจากการอพยพออกจากพื้นที่อย่างเร่งด่วน ทำให้ถนนที่เคยเป็นทั้งทางเข้าและทางออก กลายเป็นทางออกอย่างเดียว รถยนต์ไม่สามารถเข้าไปได้

นายอภิสิทธิ์ ยังได้กล่าวถึงกรณีที่นายกฯมอบหมายให้กองทัพไทยเป็นผู้บริหารสถานการณ์ ใน 5 จังหวัดที่วิกฤติน้ำท่วม แต่ไม่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินว่า “ผมได้บอกไปหลายครั้งแล้วว่า รัฐบาลไม่ควรลังเลในเรื่องภาพลักษณ์ที่จะใช้กฎหมายพิเศษในการจัดการเพราะมี ความจำเป็น เพราะน้ำที่ทะลักเข้ามาบริเวณจุดรอยต่อบริเวณปริมณฑลและกรุงเทพฯ มีความขัดแย้งหลายจุดต้องจัดการให้ชัดเจน สิ่งเหล่านี้รัฐบาลต้องตัดสินใจ เพราะหากจะอ้างเหตุผลเพียงภาพลักษณ์คงฟังไม่ขึ้น เพราะชาวโลกรับรู้จากเหตุที่เกิดขึ้นจริง อะไรที่จำเป็นเพื่อชีวิตประชาชนต้องทำ และเชื่อว่าสถานการณ์ขณะนี้ประชาชนรับได้ และเชื่อว่าหลังได้รับมอบหมายให้ทางกองทัพก็น่าจะมีความพร้อมมากกว่าหน่วย อื่น ทั้งกำลังคนและเครื่องมืออุปกรณ์

ที่มาข่าว ไทยรัฐออนไลน์

 

วชช.เร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.เข้าสู่สภา ในเดือน พ.ย.นี้

วิทยาลัยชุมชนเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.เข้าสู่สภา ภายในเดือน พ.ย.นี้ หลังปรับแก้เรื่องการกระจายอำนาจ และการเปิดสอนระดับสูงกว่าอนุปริญญาตามแนวทาง รมว.ศธ.
       
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานคณะกรรมการวิทยาลัยชุมชน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการวิทยาลัยชุมชน ว่า ที่ประชุมได้รับทราบถึงร่าง พ.ร.บ.วิทยาลัยชุมชน ที่รอการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร ว่า แม้ว่าร่างดังกล่าวจะเคยผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้ว แต่เนื่องจากมีการประกาศยุบสภา ดังนั้น จึงต้องมีการเสนอร่างดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ใหม่อีกครั้ง แต่ปรากฏว่า นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไม่ได้ยืนยันที่จะส่งร่างฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภา ดังนั้น ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการวิทยาลัยชุมชน จึงได้เข้าพบเพื่อหารือเรื่องดังกล่าว ซึ่ง รมว.ศธ.ได้ให้แนวคิดใน 2 เรื่อง คือ เรื่องการกระจายอำนาจ และเรื่องการเปิดสอนให้มากกว่าอนุปริญญา ซึ่งคณะทำงาน ได้นำ 2 เรื่องนี้กลับมาพิจารณาและทบทวนร่างเดิม จากนั้นจะนำเสนอ รมว.ศึกษาธิการ พิจารณาใหม่อีกครั้ง
       
อย่างไรก็ตาม การเสนอร่าง พ.ร.บ.นั้น มีหลายช่องทางที่สามารถทำได้ และที่ผ่านมา การร่าง พ.ร.บ.วิทยาลัยชุมชน ก็มีการยกร่างขึ้นหลายฉบับ ทั้งที่ดำเนินการจากฝ่ายรัฐบาลเอง คือ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และที่จัดร่างจากภาคประชาชน ซึ่งในส่วนที่จัดร่างจากภาคประชาชนนี้ เข้าใจว่า จะมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.วิทยาลัยชุมชน ผ่านสมาคมวิทยาลัยชุมชน ที่มีการประสานงานผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านโดยตรงเพื่อเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯคู่ขนานไปกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับของภาครัฐ ทั้งนี้คาดว่าการปรับร่าง พ.ร.บ.วิทยาลัยชุมชน นี้จะแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน และผลักดันบรรจุเป็นวาระประชุมของสภาได้ในเดือน พ.ย.นี้

ที่มาข่าว ผู้จัดการออนไลน์

 

ไทย-จีนค้านสหรัฐฯ เปิดเสรีสินค้าสิ่งแวดล้อม

อเมริกา ผนึก ออสซี่ กีวี่ ปลาดิบ รุกเอเปคเปิดเสรีการค้าสินค้าและบริการสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้าหั่นภาษีเหลือไม่เกิน 5% ภายในปี 55 ขณะที่ ไทย จีน อินโดฯ และฟิลิปปินส์ ร่วมค้าน ชี้ควรทำแบบค่อยเป็นค่อยไป

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงการเข้าร่วมประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค (กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก) ครั้งที่ 3 ประจำปี 2554 ว่า สหรัฐอเมริกาได้ร่วมกับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น ยกร่างแถลงการณ์ของผู้นำเศรษฐกิจเอเปค เพื่อประกาศความพร้อมของเขตเศรษฐกิจเอเปคในการส่งเสริมการค้าและการลงทุน สำหรับสินค้าและบริการสิ่งแวดล้อม โดยวางเป้าหมายให้เขตเศรษฐกิจเอเปคดำเนินการต่างๆ เช่น ลดภาษีนำเข้าที่เก็บจริงกับสินค้าสิ่งแวดล้อมให้เหลือไม่เกิน 5% และยกเลิก หลีกเลี่ยงข้อบังคับการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศสำหรับการผลิตสินค้าและบริการ สิ่งแวดล้อม รวมถึงนโยบายพลังงานสะอาด ภายในปี 2555

“สมาชิกเอเปค โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา เช่น จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย เห็นพ้องเรื่องการสนับสนุนเป้าหมายการเปิดเสรีการค้าการลงทุนในภูมิภาค รวมถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ข้อเสนอของเขตเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว มีระดับความทะเยอทะยานสูงและตั้งเป้าหมายด้วยระยะเวลาที่สั้นเกินไป และเห็นว่าร่างแถลงการณ์ของผู้นำควรผลักดันให้เอเปคดำเนินการเพื่อบรรลุเป้า หมายอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยพิจารณาจากความพร้อมและระดับการพัฒนาที่แตกต่างกัน ดังนั้น เอเปคยังต้องหารือเพื่อหาข้อสรุปในเรื่องนี้ต่อไป”

ที่มาข่าว ไทยรัฐออนไลน์

 

อ.นิติศาสตร์ชี้สภาเกษตรฯ ตั้งไข้ได้ เอ็นจีโอลั่นจับตากม.เอื้อทุน-นักการเมือง

สืบเนืองจากกรณีสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเมื่อ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา ใจความว่าตามที่กษ.หารือมา ประเด็นที่ สภาเกษตรกรจังหวัดและสภาเกษตรกรแห่งชาติในขณะนี้สามารถดำเนินงานตามบทบาทอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ไปพลางก่อนได้หรือไม่เพียงใด คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า ไม่สามารถดำเนินงานตามอำนาจ หน้าที่ได้จนกว่าจะมีการเลือกสมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิ

ทศพล ทรรศนกุลจันทร์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ในฐานะผู้ที่ติดตามการดำเนินงานจัดตั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่าที่ผ่านมามีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรฯ ระดับตำบล อำเภอ จังหวัดแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการฟอร์มทีมระดับชาติ แต่การดำเนินการก็เป็นไปด้วยความล่าช้า เนื่องจากรัฐบาลอ้างว่าติดขัดเรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วม การเลือกตั้งสภาเกษตรแห่งชาติที่กฤษฎีกานำไปตีความอยู่ที่ประเด็นการเลือก ผู้ทรงคุณวุฒิให้ได้ภายในระยะเวลากำหนด แต่ไม่ได้หมายความว่าจะดำเนินการไม่ได้ เพียงแต่ถ้าทำไม่ได้หรือทำไม่ทันการประกาศใช้บทเฉพาะกาลก็จะมีปัญหา ซึ่งพ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ล้มแน่นอน รอเพียงแต่ให้รัฐบาลประกาศใช้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะผลักดันกฎหมายนี้หรือเปล่าในอนาคต

อุบล อยู่หว้า ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน กล่าวว่า แม้ว่าสภาเกษตรฯยังดำเนินการไม่ได้ เพราะติดอยู่ที่การคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิภาคเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนยังไม่ แล้วเสร็จ แต่กฎหมายออกมาเป็นพ.ร.บ.แล้วคงไม่ล้ม คงจะมีการดำเนินการต่อไป แต่กฎหมายฉบับนี้ก็คงเหมือนฉบับอื่นๆ เช่น กองทุนฟื้นฟูเกษตรกร ที่มักมีฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซง เข้าไปช่วงชิงกันเอง เจตนารมณ์ของกฎหมายเขียนมาดี แต่การบังคับใช้ไปอีกทิศทางหนึ่ง ผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับมันน้อยมาก ประเทศไทยเป็นลักษณะกลับหัวกลับหาง นโยบายเกษตรควรมาจากเกษตรกรรอยย่อย แต่กลับให้กลุ่มทุนและนักการเมืองเข้ามามีบทบาทมากเกินไป สภาเกษตรแห่งชาติเสี่ยงมากต่อการถูกแทรกแซงจากกลุ่มธุรกิจการเกษตร กลุ่มนักการเมือง เพราะดูจากการเลือกตั้งระดับตำบล อำเภอ จังหวัดก็มีการซื้อเสียงกันอึกทึกคึกโครม

ที่มาข่าว สถาบันอิศรา