วธ.ถอนร่าง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ หลังขัด รธน.มาตรา 45
นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงได้ถอนร่าง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ออกไปจากการพิจารณาแล้ว หลังคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เสนอความเห็นในที่ประชุมครม.เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 45 ซึ่งจะพิจารณาเพิ่มเติม และจะต้องขอคำปรึกษาจากหลายๆฝ่ายก่อน
เมื่อถามว่าจะมีการเดินหน้าต่อหรือไม่ นางสุกุมล กล่าวว่า ขณะนี้คงต้องมุ่งเน้นในเรื่องของการฟื้นฟูเรื่องน้ำท่วมก่อน
ครม.อนุมัติงบช่วยน้ำท่วม ครัวเรือนละ 5,000 บาท ในเขต กทม.รวม 30 เขต
นางสาวอนุตตมา อมรวิวัฒน์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2554 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (กรณีอุทกภัย) ครัวเรือนละ 5,000 บาท ในเขตกรุงเทพมหานครรวม 30 เขต ครอบคลุมผู้ที่ได้รับผลกระทบกรณีน้ำท่วมถึงบ้านพักอาศัยโดยฉับพลันและทรัพย์สินได้รับความเสียหาย รวมทั้งกรณีบ้านพักอาศัยถูกน้ำท่วมขังติดต่อกันไม่น้อยกว่า 7 วันและทรัพย์สินได้รับความเสียหาย จำนวน 621,355 ครัวเรือน รวมเป็นเงินกว่า 3,106 ล้านบาท ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบสามารถแจ้งคำร้องได้ที่สำนักงานเขตพื้นที่ที่ประสบภัย โดย กรุงเทพมหานคร จะมีการตรวจสอบข้อมูล รับรองความถูกต้อง ตรวจสอบความซ้ำซ้อนของครัวเรือนที่ประสบภัยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ก่อนจ่ายเงินช่วยเหลือ ทั้งนี้ ให้สำนักงบประมาณจัดสรรเงินงบประมาณตรงให้ธนาคารออมสิน เพื่อดำเนินการช่วยเหลือต่อไป
กรมศุลกากรยกเว้นอากรสำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อบริจาคให้แก่ผู้ประสบภัย
นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัยในปัจจุบันที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง และขยายพื้นที่มากขึ้นได้นำความเดือนร้อนมาสู่ประชาชนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง จึงได้ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านพิธีการศุลกากรเกี่ยวกับ การยกเว้นอากรสำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อบริจาคให้แก่ผู้ประสบภัย โดยผ่อนผันหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการผ่านพิธีการแก่ของดังกล่าว ดังนี้
1. การบริจาคผ่านส่วนราชการ ไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่าส่วนราชการนั้น มีหน้าที่ในการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือหรือบรรเทาทุกข์แก่ประชาชนโดยตรงหรือไม่
2. การบริจาคผ่านองค์การสาธารณกุศล ไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่าองค์การสาธารณกุศลนั้น มีวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งเพื่อช่วยเหลือ หรือบรรเทาทุกข์แก่ประชาชนหรือไม่
3. หากมีความจำเป็นเร่งด่วน ให้สามารถรับของไปก่อนปฏิบัติพิธีการ และให้ผ่อนผันการตรวจสอบหนังสือรับรอง/หนังสือค้ำประกันจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ให้ผู้รับมอบอำนาจมาติดต่อรับของ ทำสัญญาประกันตนเอง พร้อมกับสำเนาภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน/เจ้าหน้าที่ของรัฐไว้เป็นหลักฐานเพื่อการติดตามตรวจสอบต่อไปในภายหลัง
4. อนุญาตให้แก้ไขบัญชีสินค้าสำหรับเรือ/อากาศยานจากผู้รับตราส่งเดิมที่ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นอากรเป็นส่วนราชการหรือองค์การสาธารณกุศล (Amend be Consignee) ได้ โดยไม่ต้องพิจารณาความผิดและไม่คำนึงว่าจะมีหลักฐานการบริจาคช่วยเหลือก่อนหรือหลังวันนำเข้า
แรงงานวางมาตรการรองรับแรงงานน้ำท่วม
นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน กล่าวว่า จากสถานการรณ์น้ำท่วมที่กระทบต่อผู้ใช้แรงงาน จากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. จนถึงขณะนี้ สถานประกอบการทั่วประเทศได้รับผลกระทบแล้ว 21,257 แห่งใน 32 จังหวัด มีผลกระทบต่อลูกจ้างหรือผู้ใช้แรงงาน 834,995 คน ซึ่งพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ จ.ปทุมธานี โดยเฉพาะที่นิคมอุตสาหกรรมนวนครที่มีลูกจ้างรวม 270,000 คน
สำหรับปัญหาว่างงานหลังน้ำลดนั้นได้กำชับเจ้าหน้าที่ ในการออกหน่วยเคลื่อนที่เพื่อให้บริการรับขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน จัดหาตำแหน่งงานว่างรองรับ รวมไปถึงการรับลงทะเบียนเคลื่อนย้ายแรงงาน รวมทั้งประสานงานให้มีการยืมตัวลูกจ้างจากบริษัทที่มีความพร้อมในการรับลูกจ้างตามโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน ซึ่งขณะนี้มีสถานประกอบการเสนอตัวเข้าร่วมโครงการแล้ว 465 แห่ง มีตำแหน่งงานรองรับกว่า 57,692 อัตรา ส่วนกรณีการถูกเลิกจ้าง หรือมีแนวโน้มในการเลิกจ้างนั้น กระทรวงแรงงานได้เตรียมตำแหน่งงานว่างไว้รองรับทั่วประเทศจำนวน 126,638 อัตรา และงานนอกประเทศ 5,000 อัตรา
นอกจากนี้ ยังมีการตั้งกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง โดยตั้งวงเงินในปีงบประมาณ 55 ไว้ 259 ล้านบาท เตรียมพร้อมรองรับหากลูกจ้างถูกเลิกจ้าง โดยจะจ่ายเงินชดเชยบางส่วนให้ลูกจ้างแทนนายจ้างที่ไม่สามารถจ่ายได้ไปแทนก่อน เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้ากรณีถูกเลิกจ้าง
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยผู้ประสบอุทกภัย กระทรวงแรงงาน ณ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน เพื่อเป็นศูนย์การการรวบรวมข้อมูลและการให้ความช่วยเหลือประชาชน นายจ้าง และลูกจ้าง สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่โทร. 0-2248-2222 หรือสอบถามด้านข้อมูลสิทธิแรงงาน และการบริการของกระทรวงแรงงาน ได้ที่ศูนย์ประสานเพื่อนผู้ใช้แรงงานที่ประสบอุทกภัย โทร.0-2567-5101-2 ต่อ 14–16 หรือที่สายด่วน 1506
นศ. จัดลอยกระทงหน้าศปภ. ยื่นข้อเสนอการแก้ปํญหาน้ำท่วมให้ รบ.
เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 กลุ่ม นศ. หลายมหาวิทยาลัยจัดงานลอยกระทงหน้า ศปภ. กระทรวงพลังงาน ถนนวิภาวดี ซอยวิภาวดี ยื่นแถลงการณ์เสนอแนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมให้รัฐบาล แนะควรให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการน้ำ ชี้ มหาวิทยาลัยควรผ่อนผันค่าเทอมให้กับ นศ. ที่ประสบอุทกภัย
เครือข่ายนักศึกษาได้แก่ กลุ่มเสรีนนทรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซุ้มเหมราช มหาวิทยาลัยรามคำแหง กลุ่มสะพานสูง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มลูกชาวบ้านมหาวิทยาลัยบูรพา ศูนย์ประสานงานเยาวชนสังคมนิยม-ประชาธิปไตย (YPD) และเครือข่ายยังเติร์กคอนเนคชั่น ที่ได้ร่วมเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่าง ๆ ได้จัดกิจกรรมลอยกระทง ที่หน้า ศปภ. ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 และอ่านแถลงการณ์เสนอต่อรัฐบาลถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน
โดยมีข้อเสนอคือ 1. รัฐบาลควรจัดทำนโยบายเฉพาะหน้าในการเยียวยาและฟื้นฟูความเสียหายของประชาชนโดยเท่าเทียมกัน 2. รัฐบาลควรสรุปบทเรียนแนวทางในการบริหารจัดการน้ำ 3. รัฐบาลควรมีบทบาทประสานความช่วยเหลือเฉพาะหน้า และสนับสนุนการทำงานของภาคประชาชน 4. รัฐบาลควรให้สิทธิประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของทางราชการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 5. มหาวิทยาลัยควรมีมาตราการยกเว้น หรือผ่อนชำระค่าเทอมในแก่นิสิตนักศึกษาที่ประสบอุทกภัย 6. ขอให้กำลังใจทุกภาคส่วนที่ทำงานด้วยจิตอาสาอันบริสุทธิ์นการช่วยเหลือผู้ประสบภัยครั้งนี้
ที่มาข่าว ประชาไท
สภาทนายความ ระบุ ฟ้องได้ "ณรงค์"ชี้้ฟ้องรัฐเพื่อคนจน
วันนี้ (10 พ.ย.) นายเกรียงศักดิ์ วรมงคลชัย รองโฆษกสภาทนายความ กล่าวถึงกรณีที่นายกสภาทนายความ ออกแถลงการณ์ว่าสภาทนายความพร้อมให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายกับประชาชนผู้ประสบอุทกภัย ว่า ขณะนี้สภาทนายความส่วนกลาง ได้แจ้งให้ประธานสภาทนายความจังหวัดต่างๆ รับทราบเพื่อพร้อมดำเนินการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่แล้ว แต่ยังไม่ได้รับรายงานว่า มีประชาชนยื่นคำร้องขอความช่วยเหลือ ซึ่งหากประชาชนผู้ประสบภัยต้องการความช่วยเหลือก็สามารถแจ้งเรื่องใดที่ประธานสภาทนายความจังหวัดในพื้นที่
ส่วนที่มีข่าวว่า นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะรวบรวมข้อมูลผู้ประสบภัย ประสานขอความช่วยเหลือการฟ้องคดีนายกรัฐมนตรี หรือหน่วยงานที่ไม่สามารถบริหารจัดการน้ำจนเกิดน้ำท่วมสร้างความเสียหายนั้น นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับการประสานข้อมูลใดๆ หากจะมีการรวบรวมข้อมูลและขอคำปรึกษาด้านกฎหมายในการฟ้องคดี สภาทนายความก็ยังต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า น้ำท่วมเกิดเพราะภัยธรรมชาติ หรือการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดของนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานราชการ ซึ่งหากข้อเท็จจริงชัดเจนว่าความเสียหายในอุทกภัยครั้งนี้ เกิดจากการบริหารจัดการน้ำของเจ้าหน้าที่รัฐ ก็สามารถทำเป็นคดียื่นฟ้องได้ทั้งในส่วนของคดีศาลยุติธรรม หรือเป็นคดีปกครองในลักษณะการกระทำประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเพื่อเรียกค่าเสียหายตามกฎหมายได้ ซึ่งจะต้องพิจารณามูลค่าความเสียหายผู้ประสบภัยเป็นรายๆ ไป
รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวว่าก่อนหน้านี้มีคนติดต่อเข้ามาว่าให้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาล โดยจะมีทนายความว่าความให้ฟรี ซึ่งในความเป็นจริงตนดูแลตัวเองได้ แต่เมื่อนึกถึงคนจน ซึ่งไม่มีโอกาสเรียกร้องค่าเสียหายทางกฎหมายได้ ตนจึงตั้งใจที่จะฟ้องร้องเพื่อช่วยเหลือคนจน ทั้งนี้ ตนได้หารือกับทนายความแล้ว พบว่า มีอยู่ 2-3 ประเด็นที่เป็นรูปธรรมพอที่จะฟ้องร้องถึงความเสียหายว่ามีอะไรบ้าง ใครบ้างที่จะเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งจะรวบรวมผู้ที่มีความรู้เพื่อร่างประเด็นนำไปเสนอว่ามีใครบ้างที่ได้รับความเสียหาย ก่อนที่จะยื่นฟ้องหน่วยงานต่างๆ อาจมีทั้งรัฐบาล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือกรุงเทพมหานคร
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ในเบื้องต้นจะช่วยเหลือคนจนเป็นหลัก แต่เมื่อมีคนเห็นด้วยจำนวนมากจึงตัดสินใจฟ้องร้องเป็นประเด็นสาธารณะ
ส่วนความคาดหวังที่จะได้รับการชดเชยจากภาครัฐมีมากน้อยแค่ไหน รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวว่า อย่าไปประเมินถึงตัวเลขความเสียหายเป็นตัวเงิน แต่ต้องดูความเดือดร้อนว่ามีมากเท่าไหร่ การที่รัฐบาลชดเชยให้ครัวเรือนละ 5,000 บาท ก็ต้องดูไปถึง คนที่มีที่ทำงานเก็บเงินเป็นแสนบาทเพื่อซื้อบ้านหนึ่งหลัง แล้วพอเกิดน้ำท่วมขึ้นมาครั้งเดียวบ้านก็จมหายไปทั้งหลัง หรือคนงานที่ทำงานได้ค่าแรงวันละ 100-200 บาท พอเกิดน้ำท่วมขึ้นมาก็ขาดรายได้ แล้วจะอยู่กันอย่างไร ชีวิตคนจนจะสลายมากไปเท่าไหร่
เว็บไซต์สมาคมฟุตบอลไทยถูกแฮ็กหน้าเว็บ
และขึ้นข้อความว่า “Saudi Arabia Hackers” ขึ้นเป็นอักษรตัวใหญ่ที่หน้าจอ และเขียนข้อความเป็นภาษาอาหรับ พร้อมระบุด้วยว่าผลการแข่งขันระหว่างทีมไทยกับทีมซาอุดิอาระเบีย ซาอุดิอาระเบียจะชนะ 3-0
ทั้งนี้ในคืนวันนี้ (11 พ.ย.) เวลา 23.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย จะมีการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกระหว่างซาอุดิอาระเบียและไทย ที่เมืองริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย
พรบ. กสทช. เริ่มทำงาน ไม่ต่อสัญญา 9 สถานี FM และ 1 สถานี AM
ตามที่พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 นั้นกำหนดให้การใช้งานเพื่อการค้าต้องได้รับใบอนุญาตผ่านการประมูลเท่านั้น ปัญหาคือกสทช. จะเริ่มจัดสรรคลื่นความถี่ได้ก็หลังจากออกตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติได้เสียก่อน ระหว่างนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่สัญญาการใช้ความถี่ต่างๆ ที่หมดลงจะต้องหยุดดำเนินกิจการจนกว่าเราจะเข้าสู่ระบบการประมูล ผลคือกิจการที่สัญญาจะหมดลงในช่วงนี้ก็จะถูกยึดความถี่คืนทั้งหมด
ความถี่ชุดแรกที่ถูกยึดคืนเป็นวิทยุ AM และ FM ที่กำลังจะหมดสัญญาลงทั้งหมด 9 สถานีรวมถึง Green Wave และ Good FM เฉพาะคลื่น Green Wave นั้นมีค่าเช่ากับกสทช. อยู่ 2.7 ล้านบาทต่อเดือน แต่หลังจากวันที่ 1 มกราคม 2555 สัญญาเดิมก็จะหมดอายุลงและต้องหยุดออกอากาศ คาดว่ากสทช. จะใช้คลื่นเหล่านี้เพื่อสาธารณะประโยชน์จนกกว่าแผนแม่บทจะเสร็จสิ้นแล้วนำมาประมูลกันต่อไป
เรื่องนี้เป็นเรื่องปรกติที่จะต้องเกิดขึ้นในระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทาน ที่ค่อนข้างสะเปะสะปะมาเป็นระบบใบอนุญาตที่เอกชนทุกรายจะอยู่ภายใต้กติกาเดียวกัน เรื่องที่ต้องกังวลคือแผนแม่บทจะออกได้เร็วเพียงใด โดยตัวพ.ร.บ. นั้นกำหนดไว้ให้ออกแผนแม่บทภายใน 1 ปีนับจากวันแต่งตั้ง (ตามมาตรา 85 ของพ.ร.บ.) แต่กสทช.ก็มั่นใจว่าจะออกแผนแม่บทได้ก่อนหน้านั้น โดยตอนนี้กสทช. เริ่มส่งความเห็นของร่างแผนแม่บทแล้ว และจะทำร่างของกสทช. ให้เสร็จภายในปีนี้ ก่อนจะฟังความคิดเห็นในปีหน้า คาดว่าจะเสร็จสิ้นก่อนสงกรานต์
ประเด็นการทำแผนแม่บทเป็นเรื่องที่คนไทยควรให้ความสนใจอย่างมาก เพราะเป็นผลประโยชน์ของคนทั้งชาติอย่างมหาศาล เช่น Wi-Fi รุ่นใหม่ที่จะมีรัศมีการใช้งานนับสิบกิโลเมตรนั้นก็เกิดขึ้นได้จากการจัดสรรความถี่ White space เสียใหม่ให้มาใช้งานสื่อสารของมูลแทนการส่งคลืนอนาล็อก
ที่มาข่าว blognone