รอบอาทิตย์ที่สาม พ.ย. 54: ลือสะพัด ครม.ถกลับพรฎ.อภัยโทษ

รอบอาทิตย์ที่สาม พ.ย. 54: ลือสะพัด ครม.ถกลับพรฎ.อภัยโทษ

เมื่อ 18 พ.ย. 2554

ลือสะพัด ครม.ถกลับผ่านกม.อภัยโทษ

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันนี้ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบพระราชกฤษฎีกา (พรฎ.) อภัยโทษเนื่องในวรโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา โดยได้พิจารณาเรื่องนี้เป็นเรื่องลับช่วงท้ายการประชุมครม.

"พรฎ.อภัยโทษกรรมดังกล่าวได้กำหนดหลักเกณฑ์ของผู้ที่จะได้รับการอภัยโทษไว้ดังนี้ คือ ผู้ต้องโทษที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และไม่จำเป็นต้องได้รับโทษมาก่อน ซึ่งตามหลักเกณฑ์นี้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะอยู่ในข่ายได้อภัยโทษทันที"รัฐมนตรีคนหนึ่งระบุ

อย่างไรก็ตามเมื่อตรวจสอบกับรัฐมนตรีสายพรรคเพื่อไทยบางคนก็ปฏิเสธว่าเป็นการประชุมลับเรื่องอื่น อนึ่งการประชุมครม.วันนี้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วยโดยได้มอบให้ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมแทน

อ่านเพิ่มเติม : โพสต์ทูเดย์

ร่างพรฎ.อภัยโทษจับตา"ชลอ เกิดเทศ"คุณสมบัติครบ

แหล่งข่าวจากกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า ตามปกติการยกร่างกฎหมายเกี่ยวกับการพระราชทานอภัยโทษในวโรกาสสำคัญต่างๆ จะกระทำในรูปแบบคณะกรรมการ มีส่วนงานที่เกี่ยวข้องร่วมยกร่างกฎหมายไม่ต่ำกว่า 20 คน แต่ในครั้งนี้ภายหลังครม.แต่งตั้งพ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย จากผู้ตรวจราชการกระทรวงไอซีที มาเป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ก็เริ่มมีการดำเนินการยกร่างกฎหมาย โดยกำหนดตัวบุคคลเข้าไปเกี่ยวข้องให้น้อยที่สุด แม้แต่นายชาติชาย สุทธิกลม รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กำกับดูแลกรมราชทัณฑ์ ก็ไม่เห็นร่างกฎหมายดังกล่าวที่รายงานตรงถึงพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม

แหล่งข่าวเปิดเผยด้วยว่า ร่าง พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ ปี54 เป็นการยกร่างโดยคัดลอกมาจากพ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ ปี 53 แต่ขยายขอบเขตและหลักเกณฑ์เพื่อให้มีการปล่อยตัวผู้ต้องขังได้มากขึ้น เนื่องจากขณะนี้เรือนจำมีปัญหานักโทษล้นคุก จึงมีแนวคิดที่จะปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีทั่วไป โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี รวมถึงนักโทษชราและนักโทษที่ป่วยเรื้อรัง หรือป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งการปล่อยตัวนักโทษครั้งนี้คาดว่าจะมีนักโทษได้รับการปล่อยตัวเกือบ 30,000 คน

สำหรับนักโทษคดีสำคัญที่อาจอยู่ในข่ายได้รับการพระราชทานอภัยโทษ คือ พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ จำเลยคดีอุ้มฆ่าสองแม่ลูกตระกูลศรีธนะขันฑ์ และคดีอมเพชรซาอุ เนื่องจากเป็นนักโทษชราอายุเกิน 70 ปีขึ้นไป ซึ่งต้องโทษจำคุกในเรือนจำนานหลายสิบปีจนมีคุณสมบัติเข้าหลักเกณฑ์ได้รับการปล่อยตัว

อ่านเพิ่มเติม : สำนักข่าวเนชั่น

ครม.แก้ร่าง เว้นกระเทยเกณฑ์ทหาร

เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 54 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....ออกตามความใน พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 รวม 2ฉบับ คือ ร่างกฎกระทรวงที่กำหนดให้คนที่มีภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดเป็นคนจำพวกที่ 2 และร่างกฎกระทรวงปรับปรุงลักษณะของความพิการทุพพลภาพหรือโรค ซึ่งไม่สามารถจะรับราชการทหารได้)

อ่านเพิ่มเติม : โพสต์ทูเดย์

ครม.ไฟเขียวพักหนี้เกษตรกรรายย่อยกว่า7แสนราย

วันที่15พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. มีมติเห็นชอบโครงการพักชำระหนี้เกษตรกรรายย่อย เพื่อบรรเทาภาระหนี้สินของเกษตรกรรายย่อยและประชาชนที่มีรายได้น้อย โดยต้องมีหนี้ค้างต่ำกว่า 500,000 บาท สำหรับลูกค้าของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 6.3 แสนราย วงเงินกว่า 7.7 หมื่นล้านบาท และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 5 แห่ง จำนวน 1.3 แสนราย วงเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท รวมเป็นวงเงิน 9 หมื่นล้านบาท โดยใช้ในการพักชำระหนี้เป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 - วันที่ 30 กันยายน 2557 โดยเกษตรสามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายนนี้ เป็นต้นไป นับเวลา 3 เดือน

ที่มา : มติชน

เปิดชื่อ กมธ.วิสามัญศึกษาติดตามการบังคับใช้กฎหมาย-มาตรการพิทักษ์สถาบันกษัตริย์

เมื่อไม่นานมานี้ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศวุฒิสภา เรื่อง ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาติดตามการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการเกี่ยวกับการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ประกาศระบุว่า ด้วยในคราวประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๘ (สมัยสามัญทั่วไป) วันจันทร์ที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๕๔ ที่ประชุมได้พิจารณาญัตติ เรื่อง ขอเสนอญัตติให้วุฒิสภาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาติดตาม การบังคับใช้กฎหมายและมาตรการเกี่ยวกับการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่ง นายสมชาย แสวงการ กับคณะ เป็นผู้เสนอ แล้วลงมติตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาศึกษาติดตาม การบังคับใช้กฎหมายและมาตรการเกี่ยวกับการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๓๕ ประกอบด้วย

๑. นายคำนูณ สิทธิสมาน ๒. นายณัฐเมศร์ เรืองพิชัยพร ๓. ศาสตราจารย์เกียรติคุณตรึงใจ บูรณสมภพ ๔. นายตวง อันทะไชย ๕. รองศาสตราจารย์ทัศนา บุญทอง ๖. นางทิพย์วัลย์ สมุทรักษ์ ๗. นายธานี อ่อนละเอียด ๘. พลโท นันทเดช เมฆสวัสดิ์ ๙. นายปรเทพ สุจริตกุล ๑๐. นายประสาร มฤคพิทักษ์ ๑๑. นายปิยพันธุ์ นิมมานเหมินท์ ๑๒. รองศาสตราจารย์พรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ ๑๓. นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ ๑๔. พลเอก เพิ่มศักดิ์ พวงสาโรจน์ ๑๕. พลเอก เลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์ ๑๖. ศาสตราจารย์กิตติคุณวงศ์กุลพัทธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ๑๗. นายวิทวัส บุญญสถิตย์ ๑๘. นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ๑๙. พลเอก สมเจตน์ บุญถนอม ๒๐. นายสมชาย แสวงการ ๒๑. นายสมบูรณ์ ทศบวร ๒๒. นายสมพล พันธุ์มณี ๒๓. นายสมัคร เชาวภานันท์ ๒๔. นายสันติสุข โสภณสิริ ๒๕. นายสาย กังกเวคิน ๒๖. นางสาวสุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ๒๗. พลเรือเอก สุรศักดิ์ ศรีอรุณ ๒๘. นายอโณทัย ฤทธิปัญญาวงศ์ ๒๙. นายอนุศักดิ์ คงมาลัย ๓๐. นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล

ที่มา : มติชน

"อากู๋"แกรมมี่ ลั่นพร้อมยื่นศาลปกครอง ฟ้อง"กสทช."ยกเลิกมติยึดคืนคลื่น ”กรีนเวฟ”

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ"รายงานว่า นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการ บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เปิดเผยถึงกรณี ที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติที่จะไม่ต่อสัญญาเช่าคลื่นวิทยุสถานี 1 ปณ. ทั้งหมด 9 สถานี ทั่วประเทศ และ 1 ในนั้นรวมถึง คลื่นวิทยุ 106.5 ภายใต้รายการ “กรีนเวฟ” ของแกรมมี่ด้วย โดยยืนยันว่า สัญญาเช่าของกรีนเวฟไม่ได้สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2554 นี้ อย่างที่ กสทช. กล่าวอ้าง แต่ระบุให้กรีนเวฟ เช่าต่อไปได้จนกว่าจะมีการประกาศใช้แผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ ซึ่งในสัปดาห์หน้า บริษัทจะเข้าหารือกับ กสทช. เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวอีกครั้ง หากไม่ได้ข้อยุติก็จะเตรียมการเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อระงับมติของ กสทช. ในเร็วๆ นี้ด้วย

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

สุทธิพล ทวีชัยการ ลาเก้าอี้โฆษก กสทช. หลีกทางให้สุภิญญา กลางณรงค์

นายสุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการ กสทช. ลาออกจากตำแหน่งโฆษก กสทช. หลังมีการแต่งตั้ง น.ส. สุภิญญา กลางณรงค์ เป็นโฆษกอีกคนหนึ่ง โดยนายสุทธิพล ให้เหตุผลในการลาออกว่าเพื่อให้เกิดเอกภาพในการให้ข้อมูลข่าวสาร ไม่ได้น้อยใจแต่อย่างใด

อ่านเพิ่มเติม : ประชาไท

ตั้งโต๊ะรวบรวมหลักฐาน สภาทนายเดินหน้าฟ้องรัฐ

นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ว่า หลังจากได้หารือกับนักกฎหมายของสภาทนายความแล้ว ทางสภาทนายความจะดำเนินการฟ้องร้องเอาผิด กับผู้ที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติจากกรณีอุทกภัยครั้งใหญ่นี้ โดยในวันนี้ได้ออกแถลงการณ์สำนักงานสภาทนายความทุกจังหวัด ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบอุทกภัย โดยตั้งประเด็นฟ้องร้องไว้ 5 กรณี คือ 1.กรณีความเสียหายทางปกครอง 2.กรณีประมาทเลินเล่อ 3.กรณีไม่ปฏิบัติหน้าที่ที่ควรปฏิบัติ 4.กรณีความเสียโอกาส เช่น ผู้มีรายได้แต่ต้องเสียโอกาสทางรายได้ และ 5.กรณีความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน

อ่านเพิ่มเติม : ไทยโพสต์

อาเซียนอนุมัติให้พม่าเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 15 พ.ย.ว่า บรรดารัฐมนตรีอาเซียน ได้ตกลงอนุมัติยอมรับข้อเสนอของพม่าที่ต้องการเป็นประธานกลุ่มในปี 2014 โดยพม่าจะสามารถจัดการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มอาเซียนได้ ภายหลังพม่าส่งสัญญาณด้านบวกที่ดีจากการปฎิรูปด้านประชาธิปไตยในช่วงที่ผ่านมา

นายอานิฟาห์ อามาน รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน เปิดเผยระหว่างการประชุมอาเซียนที่เกาะบาหลีของอินโดนีเซียว่า ทุกประเทศได้ตกลงให้พม่าเป็นประธานจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน เพราะที่ผ่านมา พม่าได้เคลื่อนไหวเชิงบวกหลายด้านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย และผู้นำกลุ่มอาเซียนได้อนุมัติการให้พม่าเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนตามการเสนอแนะของรัฐมนตรีชาติอาเซียน

รายงานระบุว่า เมื่อปี 2006 พม่าถูกบีบให้ทิ้งตำแหน่งประธานกลุ่มหลังจากเผชิญกระแสโจมตีว่าละเมิดสิทธิมนุษย์ชนและเสรีภาพอย่างรุนแรง แต่ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว ซี่งรัฐบาลทหาารพม่าได้ถ่ายโอนไปสู่รัฐบาลพลเรือน รัฐบาลใหม่ได้เดินหน้ามาตรการเชิงบวกต่าง ๆ ที่สร้างความแปลกใจและพอใจแก่หลายฝ่าย ขณะที่การตัดสินใจให้พม่าเป็นประธานกลุ่มอาเซียน รวมทั้งการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก จะทำให้พม่าต้องพบกับตัวแทนจากชาติสหรัฐ ซึ่งเป็นชาติผู้สังเกตการณ์ของกลุ่มด้วย และที่ผ่านมา พม่ายังคงเผชิญกับมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐอยู่

อย่างไรก็ตาม นายวันนา หม่อง เลวิน รัฐมนตรีต่างประเทศพม่า กล่าวว่า พม่ารู้สึกยินดีกับการที่อาเซียนได้สนับสนุนให้พม่าได้เป็นประธานจัดการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มอาเซียนในปี 2014

ที่มา : มติชน

8 องค์กรสิทธินานาชาติร้องไทย ยกฟ้อง ‘สมยศ’ ระบุ ‘กม. หมิ่น’ ขัดหลักสิทธิสากล

เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 54 องค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติ 8 แห่ง จากเอเชีย ยุโรป และแคนาดา ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลไทยให้ยกเลิกข้อกล่าวหาต่อ สมยศ พฤกษาเกษมสุข นักเคลื่อนไหวด้านแรงงาน และแกนนำกลุ่ม 24 มิถุนา ที่ถูกจับกุมด้วยกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยระบุว่า กฎหมายดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิของบุคคลในการการแสดงออก พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิสากลด้วย

แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า การที่สมยศถูกปฏิเสธการประกันตัวมาแล้วถึง 4 ครั้ง โดยที่ไม่มีเหตุผลชัดเจนพอจากทางการว่าเป็นเพราะเหตุผลใด เป็นการละเมิดสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่เท่าเทียมและเป็นธรรม ทั้งๆ ที่คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ได้ระบุไว้ในรายงานฉบับที่สองว่า การประกันตัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้ต้องหาทุกคนพึงมี

อนึ่ง องค์กรสิทธิดังกล่าว เป็นองค์กรที่รณรงค์ทางด้านสิทธิมนุษยชน เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพสื่อที่ตั้งอยู่ในเอเชีย ยุโรป และแคนาดา ประกอบไปด้วย Front Line Defenders, Protection International, Asian Forum on Human Rights and Development (FORUM-ASIA), International Federation for Human Rights (FIDH), World Organisation against Torture (OMCT) , Lawyers' Rights Watch – Canada (LRWC) and Southeast Asia Press Alliance (SEAPA) และ Clean Clothes Campaign

อ่านเพิ่มเติม : ประชาไท

ศาลนิวยอร์กหนุน "ไล่ที่" กลุ่มต้านวอลล์สตรีท"ถูกกฎหมาย" ชี้ผู้ประท้วงหมดสิทธิ์ปักเต้นท์

ศาลนครนิวยอร์กชี้ว่า คำสั่งรื้อถอนที่พักและสิ่งก่อสร้างของกลุ่มผู้ต่อต้านวอลล์สรีท ที่สวนสาธารณะซุคคอตตีพาร์ค เป็นการกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมาย ขณะที่กลุ่มผู้ประท้วงจำนวนนับร้อยต่างเดินทางกลับไปยังสวนสาธารณะดังกล่าวอีกครั้งในช่วงคืนวันอังคารที่ 15 พ.ย. อย่างไรก็ดีทั้งหมดไม่ได้รับอนุญาตให้ตั้งเต้นท์หรือใช้เครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้าใดๆ

ก่อนหน้านี้ตำรวจสามารถจับกุมผู้ประท้วงราว 200 คน ในการเข้าปราบปรามแบบฉับพลันในช่วงคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา ด้านนายไมเคิล บลูมเบิร์ก นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก เปิดเผยว่า การเข้าจัดการพื้นที่ดังกล่าวเพื่อควบคุมมิให้เกิดโรคระบาดและเพื่อความปลอดภัยของประชาชน

ด้านผู้พิพากษาศาลนิวยอร์กกล่าวว่า สิทธิภายใต้รัฐธรรมนูญสหรัฐฯไม่ได้ให้สิทธิผู้ประท้วงในการตั้งสิ่งก่อสร้างใดๆภายในสวนสาธารณะดังกล่าว อีกทั้งผู้ประท้วงไม่ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับผู้ครอบครองสถานที่ และเกิดขึ้นในเวลาและสถานที่ที่ไม่สมควร อีกทั้งยังมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม อย่างไรก็ดี การประท้วงยังสามารถดำเนินต่อไปได้ แต่ต้องไม่มีการตั้งเต้นท์ สิ่งก่อสร้าง เครื่องกำเนิดไฟฟ้า และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอื่นๆ ขณะที่นายบลูมเบิร์กเปิดเผยหลังจากการอ่านคำตัดสินว่า สิทธิของผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมประท้วงเป็นสิ่งที่สำคัญทัดเทียมกับสิทธิของผู้ที่อยู่ในสวนสาธารณะ

อ่านเพิ่มเติม : มติชน