เสื้อแดงต่างจังหวัดหนุน 'อภัยโทษ' ย้ำเพื่อวาระพิเศษ '5 ธันวา' ไม่ใช่เพื่อ 'ทักษิณ'
19 พ.ย.
แดงมุกดาหารชุมนุมหน้าศาลากลางหนุนอภัยโทษ 'ขวัญชัย' จัดทัพแดงอีสานเตรียมเดินสายเปิดเวที อุดรธานี, ขอนแก่น, มหาสารคาม ส่วนแดงรากหญ้าหลายจังหวัดล่ารายชื่อ ย้ำเพื่อวาระพิเศษ '5 ธันวา' ไม่ใช่เพื่อ 'ทักษิณ'
‘ประชา’ แจงร่างฯอภัยโทษทุกครั้งต้อง ‘ลับ’ ยันทักษิณไม่ได้ประโยชน์
20 พ.ย. ศปภ. ASTV ผู้จัดการออนไลน์ รายงานการแถลงของ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กรณีร่างพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษว่า การเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษในวโรกาสมหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวามหาราชทุกครั้งเป็นการดำเนินการในทางลับมาโดยตลอด แต่เนื่องจากมีการวิพากษ์วิจารณ์และทำให้ประชาชนเกิดความสับสน จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจ โดยที่ผ่านมา นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่ง โดยคำสั่งของกระทรวงยุติธรรมเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2554 คำสั่งที่ 67/2554 ว่าด้วยเรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการพระราชทานอภัยโทษ มีคณะบุคคลได้รับการแต่งตั้งขึ้นมา 20 คน ประกอบด้วยปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน รองปลัดกระทรวงยุติธรรมหัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาพฤตินิสัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นรองประธาน และมีกรรมการจากหน่วยงานต่างๆ เช่น ราชเลขาธิการ หรือผู้แทน หรือเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม หรือผู้แทน อธิบดีกรมคุมประพฤติ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เป็นต้น
จากนั้นคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้เสนอหลักเกณฑ์การพระราชทานอภัยโทษต่อนายพีระพันธ์ ซึ่งได้มีความเห็นชอบในหลักการ โดยมีเนื้อหาสำคัญ 2 ประการ คือ1. ให้ขอพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวให้แก่นักโทษเด็ดขาดซึ่งมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป โดยไม่มีเงื่อนไข เว้นคดีต้องโทษประหารชีวิตและคดีเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ 2. ขอพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวให้แก่นักโทษเด็ดขาดที่มีอายุตั้งแต่ 60-69 ปี โดยยกเลิกหรือผ่อนคลายเงื่อนไขและข้อจำกัดต่างๆ เท่าที่จะกระทำได้ เว้นแต่คดีซึ่งต้องโทษประหารชีวิตความผิดร้ายแรง และมีกำหนดโทษสูง และคดีอาเสพติดให้โทษ ซึ่งเดิมการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาพ.ศ. 2553 เงื่อนไขเหล่านี้ถูกกำหนดไว้ในบัญชีความผิดท้ายพรฎ.ก็ยังมีอยู่
พล.ต.อ.ประชา กล่าวด้วยว่า เงื่อนไขที่นายพีระพันธ์เห็นชอบนี้ ตนก็ได้เห็นชอบตามนั้น ไม่มีการหักล้างอะไร และได้เซ็นรับทราบ เห็นควรดำเนินการต่อไป เมื่อ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา เรื่องจึงกลับไปคณะกรรมการและร่างฯ เพื่อเสนอตนอีกครั้ง จากนั้นจึงได้แทงเรื่องไปให้กรมราชทัณฑ์ นำร่างไปหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาให้เป็นไปตามกฎหมาย ป.วิอาญา แล้วนำกลับเสนอตนอีกครั้งว่ามีการหารือและกฤษฎีกามีความเห็นอย่างไร ซึ่งก็ได้เห็นชอบ และเสนอคณะรัฐมนตรีเมื่อ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา
กรณีที่มีการถามต่อมาว่าร่างฯนี้เอื้อประโยชน์ให้คนใดคนหนึ่งหรือไม่ พล.ต.อ.ประชา ชี้แจงว่า “ตอบด้วยความสัตย์จริงว่า ไม่มี คนต้องโทษการทุจริต ตามกฎหมาย ป.ป.ช.ก็ยังอยู่ในบัญชีแนบท้าย ผู้ต้องหาเกี่ยวกับยาเสพติดก็ยังอยู่ ไม่ได้ขาดหายไปไหน การวิพากษ์วิจารณ์อาจทำให้ประชาชนสับสน จึงต้องเรียนให้ชัดเจนและไม่น่าห่วงอะไร เพราะเป็นร่างฯ ที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีส่วนใดขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแต่อย่างใด และที่ห่วงทำประโยชน์คนใดคนหนึ่งก็ยืนยันว่าไม่มี”
เว็บไซต์เอเอสทีวีรายงานการถามของผู้สื่อข่าวที่ถามย้ำว่า โทษทุจริตมีการตัดออกหรือไม่ คนที่ไม่ได้รับโทษหรือคนที่หนีคดีมีโอกาสได้รับประโยชน์จากร่าง พรฎ.นี้หรือไม่ พล.ต.อ.ประชา กล่าวยืนยันว่า “ไม่มีครับ” เมื่อถามต่อว่า ยืนยันว่าต้องเป็นนักโทษที่ติดคุกมาก่อน พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า “ถูกต้องครับ” ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า ตอบให้ชัดได้เลยหรือไม่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะไม่ได้รับประโยชน์จาก พ.ร.ฎ.นี้ พล.ต.อ.ประชา หยุดคิดแล้วย้อนถามว่า “จะให้ตอบเลยเหรอครับ ถูกต้องครับไม่ได้ประโยชน์”
ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ยังได้สัมภาษณ์นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ กล่าวถึงคำแถลงในจดหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่จะไม่ขอรับการอภัยโทษ ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่สามารถแสดงเจตนาที่จะรับ หรือไม่รับอภัยโทษได้ เนื่องจากกรณีดังกล่าว เป็นเรื่องรัฐบาลที่ออกกฎหมายให้มีผลตามพระราชกฤษฎีกา หากจะให้เรื่องนี้ยุติ รัฐบาลควรเปิดเผยร่างดังกล่าว ให้สาธารณชนได้รับทราบ หากเนื้อหาไม่เข้าข่าย ถือว่าเรื่องนี้เป็นข้อยุติ
พันธมิตรฯ งดชุมนุม หลัง “ประชา” ยืนยันร่างอภัยโทษยึดของเดิม
เมื่อเวลา 17.40 น.วันที่ 20 พ.ย. นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เปิดเผยผ่านรายการ “ชั่วโมงข่าวสุดสัปดาห์” ทางเอเอสทีวี ว่า ตามที่ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ประกาศแล้วว่าจะใช้พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ ตามที่รัฐบาลประชาธิปัตย์ได้ทำมาแล้วในปี 2553 ทุกประการ ซึ่งยังคงเงื่อนไขว่าผู้ที่ต้องโทษด้วยคดียาเสพติดและคอร์รัปชันจะไม่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ เท่ากับว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะได้ไม่ได้รับประโยชน์จากการพระราชทานอภัยโทษครั้งนี้ ดังนั้น แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เห็นว่า เมื่อรัฐบาลเปลี่ยนท่าที และถอยจากประเด็นนี้แล้ว จึงหมดเงื่อนไขที่จะเดินทางไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในวันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน 2554 นี้ ดังนั้น จึงขอประกาศยุติการชุมนุมตามที่นัดหมายแต่เดิม แต่เปลี่ยนเป็นกิจกรรมย่อยพบปะพูดคุย และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับแกนนำและผู้ปราศรัย โดยจัดเวทีกลางแจ้งที่บ้านเจ้าพระยา วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน 2554 เวลา 10.00-18.00 น.
นายปานเทพ กล่าวด้วยว่า ขอขอบคุณพี่น้องพันธมิตรฯ ที่เตรียมจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ซึ่งท่าทีการเคลื่อนไหวของพี่น้องพันธมิตรฯ ครั้งนี้ที่ทำให้เกิดแรงกระเพื่อม ทำให้รัฐบาลยอมถอย และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต้องรีบเขียนจดหมายเปิดผนึกเมื่อเช้านี้ และต้องขออภัยพี่น้องที่ไม่ได้มาชุมนุมตามความตั้งใจ แต่เราได้เตรียมการจัดกิจกรรมสังสรรค์ไว้ต้อนรับแล้ว
ศาลพิเศษกัมพูชา เริ่มเปิดการพิจารณาคดี 3 อดีตแกนนำเขมรแดง
21 พ.ย.
ศาลพิเศษกัมพูชาที่สหประชาชาติให้การสนับสนุน ได้เริ่มเปิดการพิจารณาคดีอดีตแกนนำเขมรแดง 3 คน ซึ่งได้แก่นายนวน เจีย อดีตผู้นำอันดับสองรองจากพล พต นายเขียว สัมพัน อดีตผู้นำหน้าฉาก และนายเอียง ซารี อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ โดยทั้งหมดถูกตั้งข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ นอกจากทั้งสามคนแล้ว ที่จริงยังมีจำเลยอีกหนึ่งคน คือนางเอียง ธิริธ อดีตรัฐมนตรีกิจการสังคม ภรรยาของนายเอียง ซารี แต่เมื่อสัปดาห์ก่อนศาลเพิ่งตัดสินว่านางสุขภาพไม่แข็งแรงพอเพราะป่วยเป็นอัลไซเมอร์จึงไม่ต้องถูกนำตัวขึ้นศาล ทั้งนี้ ยุคการปกครองอันโหดร้ายของเขมรแดงช่วงปี 2518-2522 ทำให้ชาวกัมพูชาเสียชีวิตไปมากถึง 2 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมดในขณะนั้น.
ศาลปกครองสงขลาสั่งชดใช้ 5 แสน ทหารคุมตัวเกินอำนาจกฎอัยการศึก
เมื่อเวลา10.00 น.วันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 ที่ห้องพิจารณาคดี 1 ศาลปกครองสงขลา นายสมยศ วัฒนภิรมย์ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสงขลาออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษา คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ระหว่างนายอิสมาแล เตะและนายอามีซี มานาก ผู้ฟ้องคดี 1,2 กับกองทัพบกและกระทรวงกลาโหม ผู้ถูกฟ้องที่ 1, 2 คดีหมายเลขดำที่187/ 2554 คดีหมายเลขแดงที่ 235/2554 และคดีหมายเลขดำที่ 188/2554 คดีหมายเลขแดงที่ 236/2554
คำพิพากษาสรุปว่า ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ชำระเงินแก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1จำนวน 255,000 บาท และผู้ฟ้องที่ 2 จำนวน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2552 ซึ่งเป็นวันฟ้องคดี ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่มีคำพิพากษาถึงที่สุด
เนื่องจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 ควบคุมตัวผู้ฟ้องคดีทั้งสองไว้เป็นเวลา 9 วัน ตั้งแต่ 27 มกราคม 2551 และปล่อยตัวไปในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งเกินกว่าที่พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 ให้อำนาจในการควบคุมตัว ซึ่งตามมาตรา 15 ทวิ ของพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 กำหนดให้เจ้าหน้าที่สามารถกักไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน จึงเป็นการกักตัวไว้โดยไม่ชอบด้วย
สำหรับค่าเสียหายของผู้ฟ้องคดีทั้งสองจากการรักษาพยาบาล กรณีเจ้าหน้าที่ใช้กำลังทำร้ายผู้ฟ้องคดีทั้งสองในระหว่างการจับกุมและควบคุมตัว ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ได้ยื่นพยานหลักฐาน ได้แก่ สำเนาเวชระเบียนบันทึกตรวจโรค เลขที่ 0516385 ของโรงพยาบาลยะลา ประกอบกับภาพถ่ายบาดแผลที่สอดคล้องกัน จึ่งน่าเชื่อว่า บาดแผลตามที่แพทย์วินิจฉัยไว้เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นกระทำการละเมิดตามมาตรา 420 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงต้องรับผิดชอบชดใช้ค่ารักษาพยาบาลให้แก่ผู้ฟ้องที่ 1 จำนวน 5,000 บาท ส่วนผู้ฟ้องคดีที่ 2 ไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดๆ ว่าถูกการกระทำร้ายร่างกาย ศาลจึงไม่อาจกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ได้
ส่วนคำขออื่นให้ยก และให้ยกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ทั้งนี้นายอิสมาแล เตะ และนายอามีซี มานาก ถูกทหารควบคุมตัวขณะยังเป้นนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
หมอชูชัยยื้อขอลาออกเอง
23 พ.ย.
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแจ้งว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิฯ มีมติย้าย น.พ.ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการสำนักงาน ไปเป็นนักบริหารระดับสูง ระดับ 11 เมื่อวันที่ 22 พ.ย.โดยมีมติเกือบเอกฉันท์ ยกเว้น น.พ.แท้จริง ศิริพานิช คนเดียวที่ “วอล์คเอาท์”
ภายหลังการประชุมเมื่อคืนวันอังคาร เจ้าหน้าที่บริหารกลางได้ทำร่างคำสั่งตามไปให้ นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธาน กสม.ลงนามที่สนามบินสุวรณภูมิ ก่อนเดินทางไปประชุมที่กรุงปราก สาธารณรัฐเชก ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ได้นำคำขอร้องจาก นพ.ชูชัยไปแจ้งนางอมราว่า อย่าเพิ่งเซ็นคำสั่ง นพ.ชูชัยจะลาออกเองในวันที่ 30 พ.ย.นี้ แต่นางอมราโทรกลับมาปรึกษากรรมการแล้ว ยืนยันให้เซ็นคำสั่ง นางอมราจึงเซ็น
อย่างไรก็ดี ในช่วงเช้าวันพุธ ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่บริหารกลางยังหน่วงเหนี่ยวกระบวนการให้ล่าช้า ไม่ยอมนำคำสั่งมามอบให้ พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด ซึ่งทำหน้าที่รักษาการประธาน กสม.ระหว่างนางอมราไม่อยู่ รับทราบเพื่อลงนามแต่งตั้งรองเลขาธิการอาวุโสสูงสุด มารักษาการแทน นพ.ชูชัย
ขณะที่ นพ.ชูชัยได้เรียกประชุมเจ้าหน้าที่ที่ห้องทำงาน เพื่อให้กำลังใจ และชี้ว่ากรรมการที่เป็นตัวตั้งตัวตีให้ย้ายได้แก่ พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด, นายปริญญา ศิริสารการ และ น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ
ทั้งนี้หลังจาก “ประชาไท” เสนอข่าวเมื่อคืนวันที่ 22 พ.ย. ในช่วงเช้าก็มีผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์หลายฉบับไปเกาะติดสถานการณ์ และกรรมการบางคนกำลังจะให้สัมภาษณ์สื่ออย่างเป็นทางการ
นพ.ชูชัย ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมมาตลอด รวมทั้งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงตรวจสอบทุจริตยา ในรัฐบาลชวน 2 ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสม.ในคณะกรรมการชุดแรกที่มีนายเสน่ห์ จามริก เป็นประธาน แต่ก็มีปัญหาความขัดแย้ง จนถูกคณะกรรมการสั่งย้ายไปเป็นที่ปรึกษาระดับ 11 ในปี 2546 นพ.ชูชัยฟ้องศาลปกครองได้รับตำแหน่งคืน ก่อนลาออกในเวลาต่อมา
หลังจากเกิดรัฐประหาร 2549 นพ.ชูชัยได้เข้ารับตำแหน่งรองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการ กสม.ด้วยมติ 5 ต่อ 2 เมื่อต้นปี 2553 แต่ก็ถูกคำสั่งย้ายอีกครั้งเนื่องจากกรรมการเห็นว่าปฏิบัติหน้าที่ไม่เหมาะสม ทำเกินหน้าที่เสมือนเป็นกรรมการอีกคนหนึ่ง
เมื่อเร็วๆ นี้ นพ.ชูชัยยังเพิ่งแจ้งความดำเนินคดีเครือหนังสือพิมพ์มติชน ต่อ สภ.ปากเกร็ด นนทบุรี ฐานหมิ่นประมาท เปิดเผยจดหมาย นพ.วิชัย โชควิวัฒน์ ถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สนับสนุนให้ นพ.ชูชัยเป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข
คณะกรรมการสิทธิฯเอเชียจี้ปล่อยตัว 'อากง' และนักโทษคดีหมิ่นฯ -พ.ร.บ. คอมพ์ฯ
25 พ.ย.
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AHRC) ออกแถลงการณ์จี้ปล่อยตัวอำพล หรือ 'อากง' ที่ถูกตัดสิน 20 ปีจากการถูกกล่าวหาว่าส่งเอสเอ็มเอสหมิ่นหาเลขาฯ อภิสิทธิ์ ระบุศาลไทย "เป็นที่ที่ไม่อาจหาความยุติธรรม"
สืบเนื่องจากกรณีการตัดสินคดีจำคุก 20 ปี กรณีอำพล (ขอสงวนนามสกุล) หรือ 'อากง' ด้วยข้อหาละเมิดกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
ตามข่าวนี้ จากการถูกกล่าวหาว่าส่งข้อความหมิ่นเบื้องสูงหาเลขาอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 54 ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission) จึงได้ออกแถลงการณ์ต่อกรณีดังกล่าว โดยเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวอำพล รวมถึงนักโทษที่ถูกตัดสินในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และ พ .ร.บ. คอมพิวเตอร์ เนื่องจากมองว่ากฎหมายดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือที่ละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนที่คิดเห็นต่าง ในนามของ 'ความมั่นคงของชาติ' ที่มีการนิยามอย่างคลุมเครือ
นอกจากนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียชี้ว่า กรณีนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงวิกฤติด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยอย่างชัดเจน และระบุว่า จะคอยจับตาคดีที่เกี่ยวข้องกับการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเรียกร้องให้ประชาชนที่ห่วงใยความยุติธรรมทำเช่นเดียวกัน
ศป.แผนกคดีสิ่งแวดล้อมนัดไต่สวนคดีชาวบ้านฟ้อง ศปภ.-กทม. ระงับกู้ถนนสาย 340 บางบัวทอง-สุพรรณฯ 29 พ.ย.
เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่ศาลปกครอง (ศป.) ถนนแจ้งวัฒนะ ศาลปกครองกลางแผนกคดีสิ่งแวดล้อม มีคำสั่งนัดไต่สวนคู่กรณี ในคดีที่นางทศสิริ พูลนวล อาชีพรับจ้าง ชาวบ้าน อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ยื่นฟ้องศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) และ กทม. เรื่องออกคำสั่งโดยมิชอบ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ระงับการกู้ถนนหลวงสาย 340 บางบัวทอง-สุพรรณบุรี และถนนกาญจนาภิเษก และระงับการปิดประตูระบายน้ำและการเสริมแนวกระสอบทรายช่วงเชื่อมต่อคลองมหาสวัสดิ์และพื้นที่ จ.นนทบุรี ที่ส่งผลกระทบให้น้ำพื้นที่ จ.นนทบุรี ต้องท่วมขังเป็นเวลานาน โดยศาลจะทำการไต่สวนคู่กรณีทั้งสองฝ่ายในวันอังคารที่ 29 พฤศจิกายนนี้ เวลา 09.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 8
นางทศสิริ ผู้ฟ้อง กล่าวว่า ได้รับหนังสือแจ้งจากศาลแล้วให้ไปให้ถ้อยคำเพื่อประกอบการพิจารณา ซึ่งตนเตรียมพยานไปให้ข้อมูล โดยจะชี้ให้ศาลเห็นว่าการที่ ศปภ.ดำเนินการโครงการกู้ถนนสาย 340 บางบัวทอง-สุพรรณบุรี ไม่ได้มีการชี้แจงทำความเข้าใจให้ประชาชนได้รับทราบถึงผลดีและผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน ขณะเดียวกันการที่ให้ กทม.เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจว่าจะเปิดหรือปิดประตูระบายน้ำแต่เพียงผู้เดียวน่าจะไม่ถูกต้อง เนื่องจากในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยการจะตัดสินเปิดหรือปิดประตูระบายน้ำนั้น เห็นว่าควรให้ผู้มีส่วนได้เสียทั้ง 2 ฝ่ายได้ร่วมกันตัดสินใจเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างประชาชนใน 2 เขต เช่น พื้นที่รอยต่อ จ.นนทบุรีกับกรุงเทพมหานคร ทั้งผู้ว่าฯกทม.และผู้ว่าฯนนทบุรี ก็ควรลงมาหารือกับพูดคุยกับทั้งประชาชนในเขต กทม.และเขตนนทบุรี ที่ได้รับผลกระทบว่าควรจะมีการดำเนินการเปิดประตูระบายน้ำหรือไม่ในระดับที่เท่าใด เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาระหว่างประชาชน 2 ฝ่ายในภายหลังเหมือนที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้