ไอซีทีเปิดตัวศูนย์ความมั่นคงไซเบอร์ สุดเข้มปราบเว็บหมิ่นฯ สถาบัน
1 ธ.ค เวลา 11 นาฬิกา นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีกว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พร้อมตัวแทนจากกองทัพบก กองทัพอากาศ กองทัพเรือ สภาความมั่นคง สนง.ข่าวกรองแห่งชาติ สนง.ตำรวจแห่งชาติ กระทรวงกลาโหม และกระทรวงยุติธรรม ได้เปิดตัว “ศูนย์ปฏิบัติการความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์” (Cyber Security Operation Center: CSOC) ซึ่งตั้งอยู่ที่อาคาร 9 บมจ. ทีโอที ถ. แจ้งวัฒนะ เพื่อดำเนินภารกิจในการปราบปรามภัยทางไซเบอร์ที่เป็นอันตรายต่อประชาชนโดยเฉพาะเว็บหมิ่นเบื้องสูง พร้อมอธิบายถึงขั้นตอนในการทำงานของศูนย์ดังกล่าว
อนุดิษฐ์ อธิบายว่าศูนย์ดังกล่าวเป็นการยกระดับจาก “ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางอินเตอร์เน็ต” (Internet Security Operation Center: ISOC) ที่ก่อตั้งในปี 2553 โดยจะใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้นในการตรวจสอบ วิเคราะห์ และระงับเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะกับการใช้สื่อและการส่งถ่ายข้อมูลที่เปลี่ยนรูปแบบไป โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีการใช้โซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ ซึ่งส่งผลให้การส่งต่อข้อมูลที่อันตรายระหว่างบุคคลเป็นไปได้อย่างง่ายดายและรวดเร็วขึ้น
“การเทิดทูนและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ถือเป็นภารกิจสำคัญของรัฐบาลที่ได้แถลงนโยบายไว้ต่อรัฐสภา ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่หลักของกระทรวงฯ ที่จะต้องสนองนโยบายดังกล่าว และดำเนินการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในโซเชียลเน็ตเวิร์กบนโลกอินเตอร์เน็ต ด้วยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มีความทันสมัยมาใช้ในการควบคุมอาชญากรรมอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด” อนุดิษฐ์กล่าว
ที่มา ประชาไท
ศาลอิตาลียกฟ้อง บก.ออนไลน์ไม่ต้องรับผิดทางกม.ต่อความเห็นคนอ่าน
30 พ.ย.54 ศาลสูงอิตาลีมีคำตัดสินว่า บรรณาธิการสิ่งพิมพ์ออนไลน์ไม่สามารถรับผิดชอบทางกฎหมายต่อข้อความหมิ่นประมาทที่โพสต์โดยผู้อ่าน
ก่อนหน้านี้ เมื่อปลายเดือนตุลาคม ศาลแห่ง Cassation ยกฟ้อง ดาเนียลา อามาวี อดีตบรรณาธิการออนไลน์ของนิตยสาร L'Espresso ในความผิดฐานล้มเหลวในการป้องกันการหมิ่นประมาทซึ่งเกิดจากผู้อ่านของเธอได้
ศาลกลับคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองในโบโลญญา ที่ตัดสินให้อามาวี มีความผิดฐานบกพร่องในการลบความเห็นที่เข้าข่ายหมิ่นประมาท
ศาลระบุว่า สิ่งพิมพ์ออนไลน์ไม่ควรถูกปฏิบัติในลักษณะเดียวกับสื่อสิ่งพิมพ์ดั้งเดิม และไม่ควรถูกคาดหวังว่าจะใช้อำนาจกลั่นกรองของบรรณาธิการเพื่อควบคุมความเห็นของผู้อ่าน
ศาลระบุว่า ตามกฎหมายอิตาลี สื่อสิ่งพิมพ์ดั้งเดิม คือการทำสำเนาต้นฉบับเดิมทางกายภาพ แล้วจึงเผยแพร่ไปยังสาธารณะ ขณะที่สิ่งพิมพ์บนอินเทอร์เน็ตนั้น ไม่ใช่การเผยแพร่ต่อสาธารณะทางกายภาพ แม้ว่าโดยทฤษฎีแล้วเป็นไปได้ที่ต้นฉบับออนไลน์จะถูกพิมพ์ออกมาและเผยแพร่ทางกายภายไปยังบุคคลที่สาม
ศาลระบุว่า เป็นเรื่องไม่ถูกต้องตามกฎหมายที่จะปรับใช้มาตรการลงโทษที่ใช้กับบรรณาธิการสื่อดั้งเดิมที่บกพร่องในการป้องกันการหมิ่นประมาทในสิ่งพิมพ์ กับบรรณาธิการออนไลน์ ผู้บกพร่องในการนำข้อความหมิ่นประมาทออกหลังจากผู้อ่านโพสต์
ศาลยกฟ้องอามาวี เนื่องจากความล้มเหลวในการป้องกันการหมิ่นประมาท "ไม่ถูกกำหนดโดยกฎหมายว่าเป็นอาชญากรรม"
รวมปฏิกริยาที่เกิดขึ้นหลังศาลพิพากษาคดี อากง sms จำคุก 20 ปี
อ่านรายละเอียดคดีอากง คลิกที่นี่
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AHRC) จี้ปล่อยตัว 'อากง'
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AHRC) ออกแถลงการณ์จี้ปล่อยตัวอำพล หรือ 'อากง' ที่ถูกตัดสิน 20 ปีจากการถูกกล่าวหาว่าส่งเอสเอ็มเอสหมิ่นหาเลขาฯ อภิสิทธิ์ ระบุศาลไทย "เป็นที่ที่ไม่อาจหาความยุติธรรม"
สืบเนื่องจากกรณีการตัดสินคดีจำคุก 20 ปี กรณีอำพล (ขอสงวนนามสกุล) หรือ 'อากง' ด้วยข้อหาละเมิดกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการถูกกล่าวหาว่าส่งข้อความหมิ่นเบื้องสูงหาเลขาอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 54 ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission) จึงได้ออกแถลงการณ์ต่อกรณีดังกล่าว โดยเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวอำพล รวมถึงนักโทษที่ถูกตัดสินในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และ พ .ร.บ. คอมพิวเตอร์ เนื่องจากมองว่ากฎหมายดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือที่ละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนที่คิดเห็นต่าง ในนามของ 'ความมั่นคงของชาติ' ที่มีการนิยามอย่างคลุมเครือ
นอกจากนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียชี้ว่า กรณีนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงวิกฤติด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยอย่างชัดเจน และระบุว่า จะคอยจับตาคดีที่เกี่ยวข้องกับการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเรียกร้องให้ประชาชนที่ห่วงใยความยุติธรรมทำเช่นเดียวกัน
ที่มา/อ่านแถลงการณ์ฉบับเต็ม
go6TV
สำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยออกแถลงการณ์แสดงความกังวล
สำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยออกแถลงการณ์ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แสดงความกังวลต่อกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้จำคุก นายอำพล (สงวนนามสกุล) หรือ อากง ผู้ต้องหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากการส่งข้อความสั้นผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยสั่งให้จำคุกเป็นเวลา 20 ปี
โดยแถลงการณ์ระบุว่า คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย มีความกังวลอย่างมากที่ศาลมีคำพิพากษาให้จำคุกนายอำพล เป็นเวลา 20 ปี ฐานละเมิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือที่เรียกกันว่า “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” และพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ พุทธศักราช 2550
สหภาพยุโรป เน้นย้ำให้เห็นความสำคัญของการยึดหลักนิติรัฐ หลักประชาธิปไตย และการเคารพในสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ก็ยังต้องการผลักดันให้ทางการไทย ใช้หลักนิติรัฐ ในลักษณะที่ไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ ให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และยืนหยัดในหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
ทั้งนี้ นับตั้งแต่มีความขัดแย้งและความตึงเครียดทางการเมืองในประเทศไทย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้หลายครั้งจนเป็นที่สังเกตและจับตามองจากนานาประเทศ
แถลงการณ์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน:เรื่อง ความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ในห้วงเวลาที่ความขัดแย้งในการเมืองไทยมีความรุนแรงมากขึ้น กฎหมายมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาซึ่งเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการใส่ร้ายป้ายสีบรรดาผู้คนที่ยืนอยู่ในฝ่ายตรงกันข้าม ซึ่งนำไปสู่การลงโทษอย่างรุนแรงมาอย่างต่อเนื่อง อันมีผลทำให้ความขัดแย้งยิ่งบานปลายออกไปมากขึ้น
โดยที่กฎหมายนี้มีปัญหาและข้อบกพร่องปรากฏอยู่อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะทั้งในด้านของเนื้อหาสาระของกฎหมายและกระบวนการในการดำเนินคดีดังกล่าวนี้
ในด้านของเนื้อหา จะพบว่าในแง่ของการริเริ่มคดีที่เปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้สามารถที่จะริเริ่มคดีกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ อันนำมาซึ่งการกล่าวโทษกันอย่างง่ายดายและกว้างขวาง บทลงโทษของการกระทำความผิดฐานนี้ซึ่งเป็นการแสดงออกประเภทหนึ่งแต่มีโทษจำคุกรุนแรงถึง 15 ปี
ในด้านของกระบวนการ จะพบว่านับตั้งแต่ขั้นตอนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ บุคคลที่ตกเป็นผู้ต้องหาจะพบกับความยุ่งยากในการประกันตัว และชั้นพิจารณาคดีก็จะต้องเผชิญกับความยุ่งยากในลักษณะเดียวกัน
ทั้งนี้เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่มักถูกให้เหตุผลก็คือเป็นคดีที่มีโทษรุนแรงหรือเป็นคดีที่กระทบต่อสถาบัน และด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้จึงมักจะทำให้การวินิจฉัยคดีอยู่ภายใต้แรงกดดันหรือความเชื่อ ซึ่งอาจนำไปสู่การวินิจฉัยที่ละเลยหรือตีความที่ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย
ด้วยปัญหาที่กล่าวมาจึงทำให้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่ใช่เพียงเครื่องมือใส่ร้ายป้ายสีระหว่างฝักฝ่ายต่างๆ ในทางการเมืองเท่านั้น หากยังขยายรวมออกไปถึงประชาชนอีกเป็นจำนวนไม่น้อยที่ต้องได้รับโทษจากกฎหมายนี้อย่างไม่เป็นธรรม
กรณีคำวินิจฉัยใน “คดีอากง” เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่กระทำต่อประชาชนได้อย่างง่ายดาย ทำให้เกิดการใช้กฎหมายนี้อย่างฟุ่มเฟือยโดยมีวาระทางการเมืองแอบแฝง
และหากเปรียบเทียบกับการลงโทษที่เกิดขึ้นในหลายคดีที่แม้เป็นการฆาตกรรมต่อชีวิตของบุคคลอื่นก็ยังไม่ได้รับโทษเทียบเท่ากับกรณีนี้ ย่อมสะท้อนให้เห็นบทลงโทษที่รุนแรงและไม่สอดคล้องกับการกระทำที่ได้บังเกิดขึ้น
การใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับกรณี “ อากง” ส่งผลให้คนจำนวนมากในสังคมรู้สึกอึดอัดและไม่พอใจ เพราะผลการวินิจฉัยนั้นขัดแย้งกับสามัญสำนึกแห่งความยุติธรรม ซึ่งได้ส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อเนื่องไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมีความเห็นว่า หากไม่ต้องการที่จะเปิดโอกาสให้การใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือในการทำร้ายผู้คนดังเช่นที่ได้เกิดขึ้นมา จำเป็นที่จะต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา
ทั้งนี้ไม่ใช่เพียงการป้องกันผู้บริสุทธิ์จากการรังแกของกฎหมายเพียงอย่างเดียว หากจะเป็นการปกป้องเสรีภาพในการแสดงความเห็นในสังคมประชาธิปไตยให้มีความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น
1 ธันวาคม 2554