รอบอาทิตย์ที่สอง ธ.ค.54: ศาลสั่งคดีหมิ่นฯ แปลหนังสือTKNS คุก 2 ปี 6 เดือน

รอบอาทิตย์ที่สอง ธ.ค.54: ศาลสั่งคดีหมิ่นฯ แปลหนังสือTKNS คุก 2 ปี 6 เดือน

เมื่อ 9 ธ.ค. 2554

ศาลสั่งจำคุก 5 ปี "โจ"หมิ่นเบื้องสูง สารภาพลดโทษเหลือ 2 ปี 6 เดือน ไม่รอลงอาญา
เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม  ศาลอาญาได้พิพากษาคดีที่อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ฟ้องนายเลอพงษ์ ว.หรือสิน แซ่จิ้ว หรือ นายโจ จี เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นสถาบัน และกระทำให้เกิดความปั่นป่วนในหมู่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน เป็นผู้นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เผยแพร่ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112,116 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 2 พฤศจิกายน 2550 ถึงวันที่ 24 พฤษภาคม 2551 จำเลยใช้นามแฝงว่า "นายสิน แซ่จิ้ว" และอ้างตัวเป็นผู้แปลหนังสือ The King Never Smiles ซึ่งเป็นหนังสือต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งมีเนื้อหาจาบจ้วงสถาบันเบื้องสูง โดยศาลพิพากษาให้จำคุกเป็นเวลา 5 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพจึงลดโทษให้เหลือจำคุก 2 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา
ปรับปรุงจาก : มติชน
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

.วัฒนธรรมสั่งทบทวนร่าง พ...จดแจ้งการพิมพ์

นางสุกุมล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา เคยมีมติเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 และที่ประชุมครม. เมื่อวันที่ 1 พ.ย. มีมติถอนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวออกจากครม.และกฤษฎีกา โดยมอบให้ วธ. นำกลับไปพิจารณาอีกครั้ง เพราะเกิดการวิพากษ์วิจารณ์หลายประเด็น รวมถึงกฤษฎีกาส่งความเห็นกลับมาว่าเนื้อหาบางส่วนใน พ.ร.บ.ดังกล่าวอาจขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 เรื่องสิทธิเสรีภาพและแสดงความคิดเห็นของประชาชนนั้น นางสุกุมลชี้แจงว่ากฎหมายฉบับดังกล่าว จัดร่างมาตั้งแต่รัฐบาลที่ผ่านมา ดังนั้นมอบหมายให้กรมศิลปากรนำร่างดังกล่าวมาพิจารณาใหม่ โดยเฉพาะประเด็นที่ถกเถียงและถูกวิจารณ์ โดยให้เชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดมาประชุมและทำประชาพิจารณ์ด้วย

ด้านนายการุณ สุทธิภูล รองอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า จากนี้จะทบทวนรายละเอียดของพ.ร.บ.ดังกล่าวและทำประชาพิจารณ์ โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องมาหารือในประเด็นที่ถูกวิจารณ์ อาทิ รายละเอียดร่างมาตราที่ 10 ให้ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติมีอํานาจออกคําสั่ง ห้ามพิมพ์ เผยแพร่ สั่งเข้า หรือนำเข้าเพื่อเผยแพร่ในราชอาณาจักรซึ่งสิ่งพิมพ์ใดๆ ที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือ ผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ หรือกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยในเร็วๆ นี้จะหารือกับกฤษฎีกาว่าจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไรถึงจะเดินไปได้ด้วยดีกันทุกฝ่าย

“ขณะเดียวกันกฎกระทรวง 3 ฉบับที่ต้องออกประกอบ พ.ร.บ.ดังกล่าว กรมศิลปากรก็จะดำเนินการต่อไป เพราะไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาและมาตราที่มีวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อสิ่งพิมพ์ (เรทติ้ง) ยังคงยึดตามหลักการเดิมที่วางไว้เบื้องต้นว่าแบ่งประเภทของสิ่งพิมพ์เป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1.หนังสือการ์ตูน 2.นิตยสาร และ 3.บันเทิงคดี นิยาย โดยให้แต่ละประเภทแสดงข้อความเพื่อระบุประเภทของสิ่งพิมพ์” รองอธิบดีกรมศิลปากรกล่าว

นายการุณ กล่าวต่อไปอีกว่า หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการกำหนดประเภทสิ่งพิมพ์ให้เป็นไปตามที่กฎกระทรวงกำหนด ส่วนการพิจารณาคุณภาพเนื้อหาสื่อสิ่งพิมพ์แต่ละประเภทนั้น จะดูเนื้อหาของสิ่งพิมพ์ว่า เหมาะกับผู้อ่านประเภทใด พร้อมทั้งจะมีสัญลักษณ์ประเภทของสิ่งพิมพ์ ซึ่งสำนักพิมพ์ต้องแสดงไว้บนหนังสือให้ผู้อ่านได้เห็นชัดเจน เช่น สัญลักษณ์ ท หมายถึง หนังสือที่เหมาะสมกับผู้อ่านทุกเพศทุกวัย สัญลักษณ์ ว12+ แทนคำว่า วัยรุ่น12+ หมายถึง หนังสือที่เหมาะกับผู้อ่านเห็นได้อย่างชัดเจน หากอายุต่ำกว่า 12 ปี การอ่านควรมีผู้ปกครองให้คำแนะนำ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามวันเดียวกัน นายปราโมทย์ ฝ่ายอุประ ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และ นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้มีหนังสือถึงนางสุกุมล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม เพื่อคัดค้านและเรียกร้องให้กระทรวงวัฒนธรรมยุตติการเสนอร่างร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ เนื่องจากเห็นว่า เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อและประชาชน

ทั้งนี้ตัวแทนองค์กรสื่อทั้งสองและตัวแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้หารือร่วมกันในประเด็นปัญหา การเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะในประเด็นที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง และ การลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อและประชาชน โดยตัวแทนของกระทรวงวัฒนธรรมรับว่าจะยังไม่มีการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ และ จัดให้มีการสอบถามความเห็นสื่อมวลชนอีก

อ่านเพิ่มเติม : ประชาไท

รองนายกฯ มอบ"เพรียวพันธ์"จับตาเว็บหมิ่น

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมนัดแรกของคณะกรรมการอำนวยการกำหนดนโยบายการป้องกันและปราบปรามการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ผิดกฎหมาย หรือไม่เหมาะสมผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยกรอบการประชุมว่า เป็นการหารือถึงการแก้ปัญหาเว็บไซต์ที่มีเนื้อหากระทบความมั่นคงและหมิ่นสถาบัน ทั้งนี้ มอบหมายให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยกันสอดส่องดูแล ไม่ให้มีผู้กระทำความผิด โดยจะเน้นการจับกุมผู้เผยแพร่ข้อความไม่เหมาะสม โดยเฉพาะเว็บไซต์ที่ได้รับการสนับสนุนจากชาวต่างประเทศ

เบื้องต้น สั่งการให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล ประสานขอความร่วมมือห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ประตูน้ำ ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการปล่อยสัญญาณเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ให้ช่วยกวดขันดูแลข้อความที่ไม่เหมาะสมด้วย

ที่มา : ผู้จัดการ

ตร.เตรียมเรียก"ดีเจแน๊ต"รับทราบข้อกล่าวหาแจ้งความเท็จ คดีฟ้อง"อ๊อฟ"หมิ่นเบื้องสูง

นายสงกรานต์ อัจฉริยทรัพย์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกฎหมาย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย หรือ มมร.กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีที่ได้แจ้งความกองปราบปรามให้ดำเนินคดีกับ นายภูมิพัฒน์ วงศ์ยาชาวลิต หรือ แน๊ต พีรกร นักร้องลูกทุ่ง ในข้อหาแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่น หรือประชาชนเสียหาย เพื่อแกล้งให้บุคคลใดต้องได้รับโทษทางอาญา

จากกรณีที่ นายภูมิพัฒน์ได้เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สน.คันนายาว ให้ดำเนินคดีกับนายพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง หรือ อ๊อฟ ผู้กำกับการแสดงและนักแสดงชื่อดัง ในข้อหาหมิ่นเบื้องสูงว่า หลังจากพนักงานสอบสวนกองปราบปราม ได้ตรวจสำนวนแล้ว ได้โอนสำนวนคดีไปให้ สน.คันนายาว รับเรื่องไว้ตรวจสอบ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่นายภูมิพัฒน์ได้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับนายพงษ์พัฒน์

ล่าสุดจากการตรวจสอบไปทางพนักงานสอบสวน สน.คันนายาว ทราบว่า เตรียมออกหมายเรียกให้นายภูมิพัฒน์ มารับข้อกล่าวหาในเร็วๆ นี้

ที่มา : ผู้จัดการ

ศิริโชคจี้ DSI ประสานจนท.นำตัวกี้ร์ส่งศาลสงขลา

นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง นักโทษหนีคดี ที่เข้ามอบตัวในวันที่ 7 ธ.ค.ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่า ล่าสุดตนได้โทรศัพท์พร้อมกับส่งโทรสารหมายศาลจ.สงขลา ไปยังพล.ต.ท.วินัย ทองสอง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) และจะประสานไปยังนายธาริต เพ็งดิต อธิบดีดีเอสไอ เพื่อขอให้เจ้าหน้าที่อายัดตัวนายอริสมันต์ และนำตัวส่งศาลจ.สงขลา เนื่องจากตนได้ฟ้องนายอริสมันต์ ข้อหาหมิ่นประมาท ในการโฆษณากล่าวหาว่าตนเข้าไปแทรกแซง เรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจเมื่อปี 53 ซึ่งทางผบช.น.ได้รับปากว่าจะรับไปดำเนินการ แต่ขอดูข้อกฎหมายก่อน และหากไม่ดำเนินการตามกฎหมายเท่ากับเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามกฎหมายอาญา มาตรา 157 อย่างไรก็ตามเท่าที่ตรวจสอบขณะนี้นายอริสมันต์ มีหมายจับทั้งหมด 8-9 ฉบับ

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากนายอริสมันต์ เข้ามอบตัวเฉพาะในคดีเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง และได้รับการประกันตัว ก็ถือว่าจบหรือไม่ นายศิริโชค กล่าวว่า ยังไม่จบ เพราะเจ้าหน้าที่ต้องอายัดตัวเพื่อส่งนายอริสมันต์ ไปยังศาลที่มีหมายจับ จะละเว้นไม่ได้ ส่วนที่ว่าการอายัดตัวนายอริสมันต์ จำเป็นต้องคุมขังนายอริสมันต์ ในเรือนจำ เพื่อรอการส่งตัวไปดำเนินการคดีอื่นในศาลอื่นหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าจะให้การประกันตัวหรือไม่ ทั้งนี้ตนจะประสานงานกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจในเรื่องดังกล่าว แต่หากไม่มีความคืบหน้าในการส่งผู้ต้องหา ให้กับศาลจ.สงขลา ตนก็จะดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไป

ที่มา : เนชั่นทันข่าว

กรมคุกเตรียมย้ายนักโทษการเมืองไปเรือนจำหลักสี่ 21 ..นี้

พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันตชัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยถึงกรณีการเคลื่อนย้ายนักโทษคดีการเมืองไปคุมขังที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ ว่า เนื่องจากมีข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และมติคณะรัฐมนตรี ที่ให้แยกนักโทษคดีการเมืองออกจากนักโทษคดีอาชญากรรมทั่วไป ทางกรมราชทัณฑ์จึงจะดำเนินการย้ายนักโทษที่เข้าข่ายคดีการเมืองกว่า 100 คน ซึ่งรวมนายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง แกนนำ นปช. หากยังไม่ได้รับการประกันตัว ไปอยู่ยังเรือนจำชั่วคราวหลักสี่ที่กำลังปรับปรุงอยู่ในขณะนี้ ในวันที่ 21 ธันวาคม

ส่วนหลักเกณฑ์ในการพิจารณานักโทษคดีการเมืองที่จะย้ายมาอยู่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่นั้น ทาง คอป.จะเป็นผู้กำหนดทั้งหมด

ที่มา : ผู้จัดการ

สหประชาชาติแถลงข่าวกรุงเจนีวา จี้ทางการไทยแก้ไขกม. หมิ่นฯ

(9 ธ.ค. 54 ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ราวินา แชมดาซานิ (Ravina Shamdasani) รักษาการโฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Office of the High Commissioner for Human Rights - OHCHR) ได้แถลงข่าวเรียกร้องให้ทางการไทยแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เนื่องจากมองว่ากฎหมายดังกล่าวส่งผลกระทบที่ร้ายแรงต่อเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน

"เราขอเรียกร้องให้ทางการไทยแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในขณะเดียวกันก็ควรมีการกำหนดแนวทางการดำเนินการให้แก่ตำรวจและอัยการ เพื่อยุติการจับกุมและดำเนินคดีบุคคลด้วยกฎหมายดังกล่าวที่มีความคลุมเครือ และนอกจากบทลงโทษที่ศาลตัดสินอย่างเกินกว่าเหตุแล้ว เรายังกังวลต่อการคุมขังผู้ต้องหาซึ่งมีระยะเวลานานต่อเนื่องในช่วงก่อนการไต่สวนคดีด้วย" ตัวแทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ กล่าว

อ่านเพิ่มเติม : ประชาไท

สื่อต่างชาติจับตากฎหมายหมิ่นสถาบัน ฯ ของไทย

นางเอลิซาเบ็ธ แพร็ตต์ กงสุลใหญ่สหรัฐฯ กล่าวหลังฟังคำพิพากษาคดีของนายโจ จี. ว่า คำพิพากษาดังกล่าวมีความร้ายแรง โดยสหรัฐฯ ยังคงเคารพสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย แต่ก็จะสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งได้รับการยอมรับจากสากลว่าเป็นสิทธิมนุษยชนประเทศหนึ่งพร้อมกันด้วย

ด้านสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นของสหรัฐฯ เปิดเผยคำให้สัมภาษณ์ของนายโจหลังการพิพากษาว่า เขาเป็นคนอเมริกัน ไม่ใช่คนไทย คนอเมริกันมีสิทธิและเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ แต่ในประเทศไทย สิ่งนี้กลับเป็นสิ่งที่ถูกจำกัด

นอกจากนี้เขายังกล่าวกับสำนักข่าวซีบีเอสว่า เขาไม่คาดหวังว่าจะรอดจากคดีนี้ เพราะว่าระบบยุติธรรมในประเทศไทย มักจะจับคนขังคุก แม้ไม่มีหลักฐานพิสูจน์การกระทำผิดก็ตาม โดยเขาเปิดเผยว่า หลังพ้นโทษ เขาจะยังคงอยู่ในประเทศไทย เพื่อรอดูการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี

ขณะที่เว็บไซต์ thaitravelblogs.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่แนะนำการท่องเที่ยวในประเทศไทยให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ลงข่าวเตือนให้ชาวต่างชาติระวังการกด "แชร์" หรือกด "ไลค์" เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระมหากษัตริย์ของไทยบนโซเชียลมีเดีย เนื่องจากการกระทำดังกล่าวอาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พรบ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 แม้ว่าผู้กระทำจะเป็นชาวต่างชาติก็ตาม

ทั้งนี้ สำนักข่าวต่างประเทศทุกสำนักรายงานตรงกันว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศไทย เป็นหนึ่งในกฎหมายป้องกันการหมิ่นประมาทพระบรมวงศานุวงศ์ที่ร้ายแรงที่สุด ด้วยบทลงโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ถึง 15 ปี

ที่มา : Voice TV

ครม.เบรก"สุกำพล"ดันโครงการพัฒนาที่ดินใต้ทางด่วน

"สุกำพล" ถูก ครม.ขวางอีกโครงการพัฒนาเชิงพาณิชย์ที่ใต้ทางด่วน กฤษฎีกาเตือนระวังโดนร้องศาลทำผิดกฎหมาย ด้านนายกฯ โยน สศช.-สคก.พิจารณาเป็นรายกรณี...

7 ธ.ค.ในการประชุมคณะรัฐมนตรี ระหว่างการพิจารณาเรื่องที่กระทรวงคมนาคมเสนอให้ ครม.เห็นชอบแนวทางการพัฒนาพื้นที่ในเขตทางพิเศษเชิงพาณิชย์ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยขอยกเว้นไม่ปฏิบัติตามมติครม.เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2547ข้อ(2) ที่ห้าม กทพ.นำพื้นที่บริเวณทางด่วนไปใช้ในกิจการเชิงพาณิชย์ โดย กทพ.เสนอแนวทางการพัฒนาให้มีการใช้พื้นที่เพื่อประโยชน์สาธารณะและเชิงพาณิชย์ควบคุู่กันไป เพื่อให้สามารถบริหารจัดการพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำรายได้มาเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลบริหารจัดการโครงการ

กทพ.ได้กำหนดโครงการนำร่องไว้ 5 บริเวณ ได้แก่ บริเวณถนนสุขุมวิท ด้านทิศใต้ เนื้อที่ประมาณ 4.4 ไร่ ที่จะพัฒนาเป็นที่จอดรถ ตลาดสินค้า/ตลาดอาหารและลานโล่งสาธารณะ บริเวณถนนสีลม เนื้อที่ประมาณ 8.4 ไร่ ที่จะพัฒนาเป็นเป็นศูนย์บริการรถขนส่งสาธารณะ ตลาดชุมชน Mall ขนาดเล้ก ลานโล่งสาธารณะและสวนพักผ่อนหย่อนใจ ลานกีฬาชุมชน บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-ซอยศาสนา ที่จะพัฒนายกระดับศูนย์บริการรถตู้สาธาณะเดิมให้มีมาตรฐาน เป็นลานจอดรถ 2 ชั้น ชั้นล่างจอดรถ ชั้นบนพักคอย จำหน่ายตั๋วมีร้านกาแฟ ห้องน้ำบริการ ในซอยศาสนาเป็นจุดพักรถตู้คอยก่อนลงคิว บริเวณถนนประดิษฐ์มนูธรรม เนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ จัดทำเป็นศูนย์กีฬาและลานกีฬาประเภทต่างๆ ใช้เป็นพื้นที่สีเขียว สร้างสะพานลอยข้ามในจุดที่ใกล้แยก บริเวณทางเข้าด่านฯ จตุโชติ ทางพิเศษสายรามอินทรา-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ เนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ จะพัฒนาเป็นจุดพักรถขนาดใหญ่สำหรับการเดินทางและการขนส่งสินค้า นายกฯ สั่งให้ สศช.-สคก.พิจารณารายกรณีนั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเสนอโครงการดังกล่าวของ พล.อ.อ.สุกำพล ถูกนายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ท้วงติงว่า การไปเวนคืนที่ดินมาทำทางด่วน แล้วกลับไม่ทำ แต่ไปสร้างเป็นสนามฟุตบอล หรือสวนหย่อมหรืออื่นๆ หากชาวบ้านไปฟ้องร้องต่อศาลแล้วจะมีปัญหาว่ากระทำผิดกฎหมาย เวนคืนที่แล้่วนำมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ได้ ซึ่ง พล.อ.อ.สุกำพล พยายามชี้แจงด้วยน้ำเสียงหงุดหงิดว่าเป็นที่ดินที่เหลือจากการสร้างทางด่วน และคงไม่มีใครเอาไปสร้างร้านอ๊อกเหล็ก แต่นายอัชพร ชี้แจงว่า ตามกฎหมายแม้จะเป็นที่ดินที่เหลือก็เอาไปทำอย่างอื่นที่ผิดวัตถุประสงค์ไม่ได้ ต้องนำไปก่อสร้างในสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับทางด่วน เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรี ที่เห็นด้วยกับเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและทาง สศช. ว่าเห็นควรว่าเรื่องนี้ควรจะนำมาเสนอต่อ ครม. พิจารณาเป็นรายกรณีไป ไม่ใช่มาเสนอทีเดียวแล้ว คค.จะเอาไปดำเนินการโครงการเองอย่างไรก็ได้ แต่ขอให้ทางกระทรวงคมนาคมไปหารือกับสภาพัฒน์ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นรายโครงการไปแล้วค่อยมาว่ากัน

อ่านเพิ่มเติม : ไทยรัฐออนไลน์

เร่งนำเข้าแรงงานพม่าแทนแรงงานข้ามชาติหนีน้ำกลับบ้าน

ก.แรงงาน นำเข้าข้ามชาติชดเชยน้ำท่วม หลังหนีกลับประเทศกว่า 2 แสนคน ประสาน “บัวแก้ว” นำเข้าทางเครื่องบิน เตือนแรงงานข้ามชาติถูกกฎหมายฉวยโอกาสเปลี่ยนนายจ้างช่วงวิกฤตกลายเป็นแรงงานเถื่อน

นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กกจ.มีแนวคิดในการนำเข้าแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะแรงงานสัญชาติพม่า ผ่านข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลพม่า เพื่อนำมาชดเชยแรงงานต่างด้าวที่หนีน้ำท่วมและเดินทางกลับประเทศ จำนวนประมาณ 2 แสนคน โดยทาง กกจ.ได้เปิดให้สถานประกอบการที่ขาดแคลนแรงงานมายื่นเอกสาร เพื่อขอโควตาแรงงานต่างด้าวได้ตลอดเวลาที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด ซึ่ง กกจ.จะส่งเรื่องไปยังรัฐบาลพม่าให้จัดส่งแรงงานมาตามจำนวนที่ทางนายจ้างร้องขอ

อธิบดี กกจ.กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ กกจ.ได้พิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติไปแล้วกว่า 7 แสนคน จากทั้งหมดกว่า 9 แสนคน ยังค้างอยู่ 1 แสนคนที่ยังพิสูจน์สัญชาติไม่แล้วเสร็จ ซึ่งจะหมดเขตในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 หากพ้นกำหนดแล้ว แรงงานข้ามชาติที่ยังไม่ได้พิสูจน์สัญชาติ จะต้องถูกผลักดันกลับประเทศ ส่วนแรงงานข้ามชาติที่เปิดจดทะเบียน เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดระยะเวลาพิสูจน์สัญชาติ แต่ กกจ.กำลังจัดทำทะเบียนประวัติแรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้ในรูปแบบ Bio Data เช่น รูปถ่าย การสแกนลายนิ้วมือ เป็นต้น ซึ่งจะมีการพิจารณาเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติในคราวต่อไป

อ่านเพิ่มเติม : ผู้จัดการ

สุเทพแจงคดีสลายแดงย้ำทำตามกม.

ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเข้าให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนในคดีสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ที่มีผู้เสียชีวิต 91 ศพ โดยใช้เวลาสอบปากคำนานกว่า 3 ชั่วโมงว่า วันนี้เดินทางมาให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนในฐานะที่เคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์ความวุ่นวายของบ้านเมืองเมื่อปี 2553

พนักงานสอบสวนสอบปากคำตนในเหตุการณ์ขอคืนพื้นที่เมื่อวันที่ 10 เม.ย.53 ที่ตนสั่งการให้เจ้าหน้าที่ในฐานะผอ.ศอฉ.ขอคืนพื้นที่จราจรบริเวณสะพานพราม 8 และสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า โดยเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานตามคำสั่งนั้น ได้ปฏิบัติตามกรอบของกฎหมายอย่างถูกต้องทุกอย่าง แต่มีคนไปอ้างว่าการปฏิบัติการดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิต ซึ่งไม่เป็นความจริง ตนได้ยื่นหลักฐานต่างๆ ให้กับทางตำรวจแล้ว

นายสุเทพ กล่าวอีกว่า การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตามคำสั่งของตนนั้น ได้ทำงานอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย และพรก.ฉุกเฉิน ปีพ.ศ.2548 ซึ่งตนขอยืนยันว่า เหตุการณ์ต่างๆ ที่เป็นคำสั่งของตนในฐานะผอ.ศอฉ.นั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด

"ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตามคำสั่งของผมทำงานอย่างถูกกฎหมายทุกอย่าง ไม่มีเหตุรุนแรงที่เกิดจากเจ้าหน้าที่ แต่วันนี้ผมได้ให้ภาพถ่ายกับตำรวจ ที่เป็นชายชุดดำซึ่งเป็นผู้ก่อการร้ายเข้ามาก่อการ เป็นเหตุให้ประชาชนต้องบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม วันนี้ตนมาให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตามเหตุการณ์ที่เกิดในวันที่ 10 เม.ย.53 เท่านั้น"นายสุเทพกล่าว

อ่านเพิ่มเติม : โพสต์ทูเดย์

ผู้นำซีเรียปฏิเสธไม่ได้สั่งฆ่าประชาชน

นายบาชาร์ อัล อัสซาด ประธานาธิบดีซีเรีย ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์เอบีซีของสหรัฐอเมริกาว่า เขาไม่เกี่ยวข้องกับการสั่งฆ่ากลุ่มผู้ประท้วงชาวซีเรียกว่า 4,000 คนในช่วงที่ผ่านมา โดยระบุว่า การสลายการชุมนุมอยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพซีเรีย ซึ่งเขาไม่มีอำนาจเข้าไปสั่งการ และไม่มีรัฐบาลที่ไหนที่จะฆ่าประชาชนของตัวเอง

นายอัสซาดกล่าวเพิ่มเติมว่า เขาเชื่อว่าเหตุประท้วงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 9 เดือนที่ผ่านมานั้น มีบางประเทศสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง และเมื่อถูกถามถึงรายงานของสหประชาชาติที่ระบุว่า รัฐบาลซีเรียได้ก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติในช่วงการลุกฮือของประชาชน ซึ่งนายอัสซาดได้แสดงความไม่เชื่อถือต่อองค์กรสหประชาชาติ โดยกล่าวว่า เขาเสียใจต่อการเสียชีวิตของประชาชนจำนวนมาก แต่ไม่รู้สึกผิด เพราะไม่ได้เป็นคนลงมือฆ่าประชาชนเหล่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในกฎหมายของซีเรียระบุว่า ประธานาธิบดีเป็นผู้บัญชาการของกองทัพ และเป็นผู้มีอำนาจในการสั่งการ

ด้านนายมาร์ก โทเนอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้แถลงตอบโต้บทสัมภาษณ์ดังกล่าวของนายอัสซาดว่า นายอัสซาดต้องการหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบในการสลายการชุมนุม แต่สิ่งที่แน่นอนที่สุดก็คือ เขาหมดความชอบธรรมในสายตาของประชาชนและควรจะลงจากอำนาจ

แม้ว่านายอัสซาดจะได้ให้คำสัญญากับประชาชนว่า เขาจะเร่งปฏิรูประบอบประชาธิปไตยและฟื้นฟูเสรีภาพด้านต่างๆ ในซีเรีย แต่นักเคลื่อนไหวส่วนใหญ่มองว่า คำสัญญาดังกล่าวไม่น่าจะนำความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงมาสู่ซีเรียได้

ที่มา : VoiceTV

ผู้เชี่ยวชาญ UN ประณามกฎหมายใหม่มาเลย์ “ห้ามปิดถนนประท้วง”

8 ธ.ค. 54 เอเอฟพี - ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนจากองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประณามกฎหมายใหม่ของมาเลเซีย ซึ่งห้ามการชุมนุมประท้วงบนท้องถนน พร้อมเตือนว่า อาจเข้าข่ายจำกัดสิทธิประชาชนในการชุมนุมโดยสันติ

ในแถลงการณ์ร่วมซึ่งออก ณ กรุงเจนีวา ผู้เชี่ยวชาญยูเอ็น ระบุว่า กฎหมายว่าด้วยการชุมนุมโดยสันติฉบับใหม่ อาจทำให้ประชาชนในมาเลเซียหมดโอกาสที่จะแสดงความไม่พอใจรัฐบาลในที่สาธารณะ “โดยไม่ต้องหวาดกลัวการถูกคุมขังหรือคว่ำบาตร”

ภายใต้กฎหมายดังกล่าวซึ่งจะมีผลบังคับใช้หลังกษัตริย์มาเลเซียทรงให้การเห็นชอบ การชุมนุมประท้วงบนท้องถนนจะถูกสั่งห้ามโดยสิ้นเชิง นอกจากนี้ ยังห้ามพลเมืองมาเลเซียและบุคคลต่างด้าวที่มีอายุต่ำกว่า 21 ปี เข้าร่วมชุมนุมโดยสันติด้วย

มาร์กาเร็ต เซคักเกีย ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษย์ชนอีกรายหนึ่ง กล่าวว่า การห้ามประชาชนอายุต่ำกว่า 21 ปีร่วมชุมนุม ถือเป็นสิ่งที่อันตราย พร้อมเสริมว่า สิทธิในการชุมนุมและประท้วงโดยสันติเป็นเกราะป้องกันที่จำเป็นสำหรับการปกป้องสิทธิมนุษยชน

แฟรงก์ ลา รู ผู้เชี่ยวชาญด้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เรียกร้องให้กัวลาลัมเปอร์ทบทวนกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

“การที่บุคคลสามารถแสดงออกอย่างเสรี รวมถึงประท้วงอย่างสันติ เป็นเครื่องพิสูจน์ระดับความเป็นประชาธิปไตยในประเทศนั้นๆ” เขากล่าว

นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก แห่งมาเลเซีย ออกมาปกป้องกฎหมายดังกล่าว โดยชี้ว่ามีจุดประสงค์เพื่อรับรองสิทธิในการชุมนุมโดยสันติ ซึ่งในปัจจุบันจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากตำรวจเท่านั้น พร้อมกล่าวหาผู้ที่วิจารณ์กฎหมายฉบับนี้ว่าพยายามทำให้สาธารณชนสับสน

อ่านเพิ่มเติม : ผู้จัดการ

เต็งเส่ง” เซ็นแล้ว พม่าประท้วงถูกกฎหมายเป็นครั้งแรก

สื่อของทางการพม่า รายงานเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ว่า ประธานาธิบดี เต็งเส่ง ได้อนุมัติรับรองกฎหมายอย่างเป็นทางการอนุญาตให้ประชาชนจัดการประท้วงอย่างสันติ

หนังสือพิมพ์เมียนมาร์อาห์ลิน รายงานว่า กฎหมายที่ลงนามโดยประธานาธิบดี เต็งเส่ง เมื่อวันศุกร์ ระบุว่า ผู้ชุมนุมประท้วงต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ล่วงหน้า 5 วัน และระบุเวลา สถานที่ และเหตุผลที่ต้องการจัดชุมนุมประท้วง และว่า ผู้ประท้วงจะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ล่วงหน้าว่าพวกเขาจะพูด หรือแสดงความเห็นเกี่ยวกับอะไรในที่ชุมนุม รวมทั้งเส้นทางที่พวกเขาวางแผนจะใช้เดินขบวน

กฎหมายฉบับนี้ห้ามผู้ชุมนุมประท้วงปิดกั้นเส้นทางจราจรหรือก่อความไม่สงบขณะเดินขบวน และหากใครก็ตามที่จัดประท้วงโดยไม่ได้รับอนุญาตอาจต้องโทษจำคุก 1 ปี หรือรบกวนการชุมนุมอย่างสงบมีโทษจำคุก 2 ปี วันเดียวกันนี้ทางการพม่ายังบรรลุข้อตกลงหยุดยิงกับกองทัพรัฐชานใต้ ที่เป็นหนึ่งในกลุ่มกบฏชนกลุ่มน้อยที่ต่อสู้กับกองทัพทหารพม่ามาอย่างยาวนาน.

ที่มา : ผู้จัดการ

เลือกตั้งรัสเซียเริ่มแล้ว

รัสเซียเริ่มการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งระดับรัฐสภา ท่ามกลางกระแสข่าวการทุจริตและละเมิดกฎหมายเลือกตั้งประชาชนชาวเมืองวลาดิวอสต็อค ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกสุดของรัสเซีย ได้ออกมาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งระดับรัฐสภาเป็นเขตแรก ท่ามกลางอุณหภูมิ -41 องศาเซลเซียส และการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นที่จับตามองว่าจะเป็นการทดสอบความนิยมที่มีต่อพรรคการเมืองของนายวลาดิเมีย ปูติน ซึ่งปกครองประเทศมากว่า 12 ปี

ถึงแม้ผลสำรวจจะออกมาว่าพรรคยูไนเต็ด รัสเซีย ของนายปูตินน่าจะได้รับคะแนนเสียงส่วนใหญ่ แต่อาจได้เพียง 315 จากเดิม 450 ที่นั่ง ซึ่งหากได้คะแนนเสียงไม่ถึง 2 ใน 3 ของรัฐสภา พรรครัฐบาลจะไม่มีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตลอดจนการถอดถอนประธานาธิบดี ซึ่งจะทำให้อำนาจเด็ดขาดในการบริหารประเทศของรัฐบาลใหม่ลดลงกว่าในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ตลอดช่วงของการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคฝ่ายค้านได้พยายามกล่าวหาว่าพรรคยูไนเต็ด รัสเซีย ซึ่งเป็นพรรคของรัฐบาล ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งได้รับเวลาการออกอากาศทางโทรทัศน์มากกว่า ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปอย่างไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม นอกจากนี้ สำนักข่าวบีบีซียังรายงานว่า โกลอส องค์กรอิสระเดียวในประเทศที่ทำหน้าที่ตรวจสอบกระบวนการเลือกตั้ง ได้รับข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดกฎหมายเลือกตั้งกว่า 5,300 กรณี

ถึงแม้ว่านายวลาดิเมีย ปูติน ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรัสเซีย ยังคงเป็นนักการเมืองที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของประเทศ จากผลงานการนำพารัสเซียให้รอดพ้นจากช่วงเปลี่ยนผ่านหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต และสร้างยุคของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน แต่ความไม่สบายใจในหมู่ประชาชนจากการอยู่ภายใต้การปกครองอันเด็ดขาดของปูตินมานานกว่า 1 ทศวรรษ อาจจะทำให้ผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ ไม่เป็นไปตามที่เขาคาดหวังก็เป็นได้

ที่มา : VoiceTV

รัฐสภาฝรั่งเศสเตรียมถกญัตติให้การค้าประเวณีเป็นสิ่งผิด กม.

ฝรั่งเศส 7 ธ.ค.-รัฐสภาฝรั่งเศสเตรียมอภิปรายถึงความเป็นไปได้ในการขจัดการค้าประเวณี ด้วยการดำเนินคดีทางกฎหมายกับธุรกิจค้าประเวณีอย่างเข้มงวด

รัฐสภาฝรั่งเศสจะลงมติรับรองญัตติที่ร่างโดยกรรมาธิการจากหลายพรรค ซึ่งกำหนดให้การค้าประเวณีเป็นสิ่งผิดกฎหมาย โดยหากสมาชิกรัฐสภาลงมติเห็นชอบ ก็จะเดินหน้าจัดทำเป็นกฎหมายในเดือนมกราคมปีหน้า โดยในปัจจุบันฝรั่งเศสมีกฎหมายเกี่ยวข้องกับการปราบปรามการค้าประเวณีอยู่แล้ว แต่หลายฝ่ายต้องการให้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์และปราบปรามทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อประเวณีอย่างเข้มงวดมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเชื่อว่าหากปราบปรามไม่ให้มีผู้ซื้อบริการทางเพศ จำนวนผู้ขายบริการทางเพศก็จะลดลง โดยในปัจจุบันเชื่อว่า มีจำนวนผู้ค้าประเวณีในฝรั่งเศสอยู่ราว 20,000 ราย

ที่มา : สำนักข่าวไทย

พรรครัฐบาลออสเตรเลียหนุนแต่งงานรักเพศเดียวกัน

ที่ประชุมพรรครัฐบาลของออสเตรเลีย มีมติสนับสนุนการแต่งงานของกลุ่มรักเพศเดียวกัน นับเป็นชัยชนะของนักต่อสู้เพื่อสิทธิของกลุ่มรักร่วมเพศ ที่ทำให้พรรคเปลี่ยนจุดยืนในเรื่องนี้ได้

ที่ประชุมใหญ่พรรคแรงงาน ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของออสเตรเลีย มีมติสนับสนุนกฎหมายการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน โดยจะเปิดโอกาสให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงมติอย่างเสรีในกฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขกฎหมายการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน

การลงมติในครั้งนี้นับเป็นความสำเร็จของกลุ่มที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวรักเพศเดียวกัน ที่สามารถเปลี่ยนแปลงจุดยืนของพรรคแรงงานในเรื่องนี้ได้ โดยนางเพนนี หว่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรงการคลัง ที่เป็นชาวรักเพศเดียวกัน ระบุว่า มติในครั้งนี้เป็นการสนับสนุนความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ

ในขณะฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็มองว่า การอนุญาตให้กลุ่มรักร่วมเพศแต่งงานกัน เป็นการทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของการแต่งงาน ที่ในกฎหมายระบุว่า เป็นการตกลงปลงใจที่จะอยู่ร่วมกันของชายและหญิง

คาดกันว่า กฎหมายฉบับนี้น่าจะเข้าสู่รัฐสภาออสเตรเลียในปีหน้า แต่อาจไม่ผ่านการลงมติจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากพรรคแรงงานที่มีเสียงมากกว่าพรรคเสรีนิยมเพียงนิดเดียว ไม่สนับสนุนการแต่งงานของเพศเดียวกัน

ปัจจุบัน กฎหมายของออสเตรเลียไม่อนุญาตให้คนเพศเดียวกันแต่งงานกัน แต่บางรัฐก็ได้อนุญาตให้กลุ่มรักเพศเดียวกันสามารถอยู่ร่วมกันอย่างถูกกฎหมายได้ จากการสอบถามความคิดเห็นของชาวออสเตรเลียเกี่ยวกับเรื่องนี้พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยที่รัฐเปิดโอกาสให้กลุ่มรักเพศเดียวกันอยู่ร่วมกันอย่างถูกกฎหมาย

ที่มา : Voice TV