"ดร.ชาญวิทย์" นำทีม 15 นักวิชาการ เสนอตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการฟ้องร้องในความผิดมาตรา112
นักวิชาการ 15 คนนำโดยดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้เผยแพร่เอกสารเรื่อง ข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยเรียกร้องให้มีการจัดตั้ง "คณะกรรมการกลั่นกรองการฟ้องร้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112" ที่ประกอบด้วยหลายฝ่าย เช่น ข้าราชการที่เป็นตัวแทนฝ่ายบริหาร, ส.ส. และ สว. ที่เป็นตัวแทนจากรัฐสภา, กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, อัยการ, นักวิชาการ, ผู้นำชาวบ้าน, ผู้แทนจากสหภาพแรงงาน ฯลฯ คณะกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่กลั่นกรองทุกคดีที่ฟ้องร้องกันในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และเลือกสรรเฉพาะคดีที่เสียงส่วนใหญ่ของคณะกรรมการฯ เห็นว่ามีมูล เพื่อส่งเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต่อไป
กระบวนการกลั่นกรองคดีความที่เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ดังกล่าวข้างต้นนี้ จะช่วยป้องกันมิให้ผู้ใดสามารถใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเครื่องมือทางการเมืองได้อย่างสะดวก และยังเอื้อให้เกิดพื้นที่ทางสังคมที่ปลอดภัยสำหรับการถกเถียงทางวิชาการอย่างกว้างขวางเพื่อหาทางออกให้แก่ความขัดแย้งในเรื่องนี้อย่างสร้างสรรค์อีกด้วย
ที่มาข่าว มติชนออนไลน์
"หมอตุลย์" จี้ UN ขอโทษอย่าวิจารณ์ ม. 112
น.พ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ และภาคีเครือข่ายสยามสามัคคี ได้เดินทางมาหน้าองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย เพื่อยื่นหนังสือต่อตัวแทนองค์การสหประชาชาติ เกี่ยวกับกรณีที่สหประชาชาติ ได้แสดงความคิดเห็นว่า กฎหมายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ มาตรา 112 ของไทย มีโทษหนักเกินไป และผิดกติการะหว่างประเทศว่าด้วยพลเมืองและสิทธิทางการเมือง โดย น.พ.ตุลย์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการเข้ามาละเมิดอธิปไตยทางกฎหมายของไทย จึงขอให้ทางสหประชาชาติยุติเรื่องดังกล่าว และหากเป็นไปได้ ก็อยากให้ออกมาขอโทษประเทศไทย
พร้อมทั้งยืนยันว่า ทุกประเทศมีกฎหมายปกป้องประมุขของตนเองทั้งนั้น และกฎหมายมาตรา 112 ไม่ได้ขัดต่อกติการะหว่างประเทศ โดยได้ยกกติการะหว่างประเทศมาตรา 19 มายืนยันต่อสื่อมวลชนที่มารอทำข่าว และหลังจากนั้น ทางภาคีเครือข่ายสยามสามัคคี จะเดินทางไปยื่นหนังสือในเรื่องเดียวกันต่อสถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทยต่อไป
ที่มาข่าว ไอเอ็นเอ็น
จ่อปรับภาษีบุหรี่-เหล้า อธิบดีสรรพสามิต พูดชัดได้เวลาเก็บภาษีเพื่อสุขภาพ รอรัฐบาลตัดสินใจ
นางเบญจา หลุยเจริญ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผย"ประชาชาติธุรกิจ" ในประเด็นการปรับโครงสร้างภาษี ว่า การทำงานของกรมสรรพาสามิต ต้องศึกษาว่ามีอะไร ที่ควรปรับโครงสร้างภาษี เพื่อสะท้อนความเป็นจริงว่า สิ่งใดพึงจะเสียภาษีก็ควรเสีย เช่น สินค้าที่เกี่ยวข้อง หรือกระทบกับสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำมัน รถยนต์ หรือสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น สุรา ยาสูบ เป็นต้น
ในแง่ของแผนปฏิรูปภาษีต้องนำเสนออยู่แล้ว แต่อาจต้องเริ่มที่ภาษีสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพก่อน เพราะเป็นเรื่องที่กรมสรรพสามิตสามารถทำได้เลย แต่ถ้าในส่วนของภาษีสิ่งแวดล้อมต้องเกี่ยวโยงกับหลายภาคส่วน เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมต้องหารืออีกหลายขั้นตอน
ในส่วนของภาษีสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพ อย่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรรมาธิการงบประมาณบางคนถามว่า ทำไมไม่เก็บภาษีตามดีกรี แต่ความจริงเราเก็บอยู่แล้ว ทั้งในแง่การมองในฐานสุขภาพ(ดีกรี) แต่ขณะเดียวกันเราก็มองฐานมูลค่าในแง่ความลักเซอรี่ด้วย เพราะถ้าหากมองดีกรีอย่างเดียวอาจจะกลายเป็นว่า เหล้าขาวเก็บภาษีแพงกว่าไวน์ได้
ประชาชน จว.ชายแดนใต้ ส่งโปสการ์ดสันติภาพถึง UN คัดค้าน พรก.ฉุกเฉิน
เครือข่ายประชาสังคมคัดค้าน พรก.ฉุกเฉิน ได้จัดกิจกรรมรณรงค์คัดค้านการต่ออายุ พรก.ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ที่บังคับใช้ต่อเนื่องมานานกว่า 7 ปี โดยเครือข่ายฯ ได้จัดกิจกรรมจำหน่ายโปสการ์ดสันติภาพ หรือ Post Peace To UN ให้กับประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อเขียนข้อความคัดค้าน พรก.ฉุกเฉิน ส่งถึงองค์การสหประชาชาติ ในวันที่ 10 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันรัฐธรรมนูญและวันสิทธิมนุษยชนโลก
ข้อความในโปสการ์ดระบุว่า "ร่วมกันสร้างสันติภาพชายแดนใต้ โดยการร่วมคัดค้าน พรก.ฉุกเฉิน ด้วยการส่งจดหมายสันติภาพ (โปสการ์ดคัดค้าน พรก.ฉุกเฉิน) อีกทั้งสามารถเขียนข้อความลงในโปสการ์ดนี้ ถึงสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UN Office of High Commissioner for Human Rights - UNOHCHR) หัวหน้าหน่วยงานนาย โฮมายูน อลิซาเด ตัวแทนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"
นอกจากนี้ เครือข่ายคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้เปิดเฟซบุ๊ค ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อกฎหมายดังกล่าว โดยส่งถ่ายภาพมายังเฟซบุ๊ค ชื่อ “SAY NO : EMERGENCY DECREE | เครือข่ายคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” และใช้การชูหัวแม่มือและกำมือในลักษณะคว่ำมือชี้หัวแม่มือลงพื้น เป็นสัญลักษณ์แสดงออกถึงการปฏิเสธ พรก.ฉุกเฉิน ซึ่งมีประชาชนสนใจส่งภาพเข้ามาเป็นจำนวนมาก
ศาลพิพากษาจำคุก ‘ดา ตอร์ปิโด’ 15 ปี
วันที่ 15 ธ.ค. ที่ห้องพิจารณา 801 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.3959/2551 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ‘ดา ตอร์ปิโด’ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และพระราชินี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุก 3-15 ปี
ภายหลังฟังคำพิพากษา นายประเวศ ประภานุกุล ทนายความจำเลย กล่าวว่า เท่าที่ได้พูดคุยเรื่องคดี ลูกความประสงค์ที่จะไม่อุทธรณ์คดีต่อ ยอมถูกจำคุก ซึ่งลูกความถูกคุมขังในทัณฑสถานหญิงมา 3 ปีเศษแล้ว ส่วนจะยื่นอภัยโทษหรือไม่ ต้องหารือกันอีกครั้ง ซึ่งแล้วแต่ความประสงค์ของลูกความ
'เฉลิม'โวทำงาน3วันปิด116เว็บหมิ่น
"เฉลิม"นำทีมกก.ป้องกันเว็บหมิ่น โวทำงาน 3 วัน ปิดไปแล้ว 116 เว็บ ด้าน"รอง ผบก.ปอท."แนะอย่าเข้าดู ส่งต่อ กดไลค์ ค้นหา และแสดความคิดเห็น ชี้เหตุจะทำให้เกิดการยั่วยุ ทำให้คนทำผิดยิ่งได้ใจ และสร้างความนิยม ไปโดยไม่รู้ตัว
เมื่อเวลา 13.40 น.วันที่ 14 ธ.ค. ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการกำหนดนโยบายการป้องกันและปราบปรามการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ผิดกฎหมายหรือไม่เหมาะสมผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร แถลงการทำงานของคณะกรรมการฯว่า หลังจากที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ดังกล่าวขึ้น ตนได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงษ์ ในฐานะผบ.ตร. เป็นผู้รับผิดชอบ โดยได้ตั้งคณะทำงาน ขึ้นมีพล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา ที่ปรึกษา(บร 2) เป็นหัวหน้าชุดทำงาน
ใช้เวลาเพียง 3 วัน เจ้าหน้าที่ตำรวจและกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) บูรณาการกำลังหาแนวคิดและแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยที่ผ่านมาทุกรัฐบาลต่างก็ตั้งใจที่จะสกัดกั้นเว็บไซต์ที่กระทำการผิดกฎหมาย หรือไม่เหมาะสม แต่ไม่มีการบูรณาการการทำงาน และไม่เอาจริงเอาจัง ตนจึงได้บูรณาการตำรวจทั้งหมดที่มีควารู้ความสามารถ โดยได้หน่วยกองกำลังจากกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) หน่วยทางเทคนิคจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) และความร่วมมือจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) โดยยืนยันว่างานนี้ไม่มีเสื้อสีใด ใครกระทำความผิดก็ต้องรับผิด และย้ำว่างานนี้ไอซีทีกับตำรวจต้องทำงานไปด้วยกัน
พ.ต.อ.ศิริพงษ์ ติมุลา รอง ผบก.ปอท. กล่าวว่า ทางปอท.ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีทีมงานที่ทำการศึกษาเทคโนโลยีว่ามีความก้าวหน้าอย่างไร โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์อย่าง Facebook , Twitter และYou tube ว่ามีความสลับซับซ้อนอย่างไร โดยได้ค้นคว้าหาเครื่องมือที่จะช่วยรักษาความปลอดภัยของระบบเครือข่ายซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล คือ ระบบ Lawful Interception (LI) โดยจะกระทำภายใต้กรอบของกฎหมาย ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของประชาชน ทั้งนี้เสนอให้กระทรวงไอซีทีเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติการสั่งซื้อมูลค่า 400 ล้านบาท จำนวน 1 เครื่อง เพื่อสกัดกั้นเครือข่ายเว็บไซต์ดังกล่าว โดยนายกฯมีมติให้กระทรวงไอซีทีเป็นผู้ดำเนินการต่อไป
มาตรา 21 แท้ง ผู้ต้องหาชุดแรกถอนตัว
4 ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงชายแดนใต้ชุดแรก ขอถอนตัวจากการใช้พ.ร.บ.ความมั่นคง มาตรา 21 หรือการเข้ารับการอบรมแทนถูกขัง ยันขอสู้คดีต่อไป อ้างถูกบังคับ เกรงสังคมมองเป็นโจร เหตุเพราะศาลไม่ได้ตัดสิน
เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 14 ธันวาคม 2554 ศาลจังหวัดนาทวี จังหวัดสงขลา นัดไต่สวนคำร้องตามมาตรา 21 ของพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคง) โดยนายมนัสชัย ฉิมมี พนักงานอัยการจังหวัดนาทวี เป็นผู้ยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาอนุญาตให้ผู้ต้องหา 4 คน คือนายมะซับรี กะบูติง คดีหมายเลขดำที่ รม. 1/2554 นายซุบิร์ สุหลง คดีหมายเลขดำที่ รม.2/2554 นายสะแปอิง แวและ คดีหมายเลขดำที่ รม. 3/2554 และนายอับริก สหมานกูด คดีหมายเลขดำที่รม. 4 /2554 เข้าอบรมแทนการจำขังตามมาตรา 21 ของพ.ร.บ.ความมั่นคง โดยได้ยื่นคำร้องเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2554
ทั้งนี้ ผู้ต้องหาทั้ง 4 คน จะต้องให้การยืนยันต่อศาลว่าจะเข้าอบรมแทนการจำขัง เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้อนุญาต แต่ปรากฏว่า นายกิจจา อาลีอิสเฮาะ ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม หนึ่งในทนายของผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ได้แถลงต่อศาลด้วยเอกสารว่า ผู้ต้องหาทั้ง 4 คน จะไม่ขอเข้ารับการอบรมแทนการจำขังแล้ว โดยจะขอต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมปกติ
ศาลจึงมีคำสั่งให้เลื่อนการไต่สวนคำร้องดังกล่าวออกไป เป็นวันที่ 19 มกราคม 2555
ข่ายแรงงานข้ามชาติ-ผู้ติดเชื้อ ร้อง สิทธิประกันตนควรเท่าเทียมคนไทย ครอบคลุมโรคเอดส์
เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย และเครือข่ายองค์กรด้านสิทธิและสุขภาพแรงงานข้ามชาติ ประกาศข้อเรียกร้อง เนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล วันที่ 18 ธันวาคม 2554 โดยเรียกร้องให้ สิทธิประโยชน์บัตรประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติต้องครอบคลุมสิทธิประโยชน์ด้านเอดส์ และต้องได้มาตรฐาน เท่าเทียมกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของคนไทย
นายอภิวัตน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติที่มีอยู่ไม่ต่ำกว่าสองล้านคน หากคำนวณตามอัตราการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มนี้ประมาณ 2% นั่นหมายความว่า อาจจะมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีอยู่ 40,000 คน ในจำนวนนี้ มีอยู่ประมาณ 10% ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส
นอกจากนี้ ยังมีรายงานอีกว่า ในวันที่ 28 ธันวาคมนี้ เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯจะเดินทางไปยังศาลปกครองเพื่อฟังคำพิพากษาคดีที่เครือข่ายฯ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและมูลนิธิเข้าถึงเอดส์เป็นโจทก์ฟ้อง กระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ กรมการค้าภายในและคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ที่ใช้ดุลพินิจกับข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม กรณียกคำร้องของเครือข่ายผู้ป่วยต่อกรณีบริษัทแอ๊บบอต เจ้าของยาต้านไวรัสโลพินาเวียร์/ริโทรนาเวียร์ละเมิด พรบ.การแข่งขันทางการค้าถอนคำขอขึ้นทะเบียนยา เพราะไม่พอใจที่รัฐบาลไทยประกาศใช้ซีแอลเมื่อปี 2550.