เปิดตัวกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ย้ำไม่ได้ตั้งเพื่อชนนิติราษฏร์
นายบรรเจิด สิงคะเนติ คณะบดีนิติศาสตร์ สถาบันบัญฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่าในวันนี้กลุ่มนักวิชาการจาก 5 สถาบันอุดมศึกษาประมาณ 20 กว่าคน จะมีการรวมตัวกัน โดยใช้ชื่อกลุ่มว่า “สยามประชาภิวัฒน์ ” พร้อมเปิดตัวและแสดงแนวคิดของกลุ่ม ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิชาการของจริงที่นิด้า “ทางกลุ่มจะแถลงจุดยืนในเรื่องต่างๆ ทั้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การปฏิรูปสังคม กฎหมาย การเมืองเพราะในกลุ่มกำลังเป็นห่วงในเรื่องทุนนิยมผูกขาดโดยพรรคการเมืองและวิกฤตเสรีภาพและวิกฤตศีลธรรมที่เกิดขึ้น”
“โดยมองจากหลักคิดว่าต้องให้คุณค่าสังคมไทยไม่ใช่ไปเอาแบบสังคมตะวันตก สังคมไทยให้ความสำคัญกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะมีคุณค่านี้คือหลักสำคัญที่เป็นตัวตั้งของสังคมไทย กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์เป็นการรวมกลุ่มกันของนักวิชาการที่ไม่ได้รวมกันแบบเฉพาะกิจ แต่รวมกันจริงจังเพื่อขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ ที่สังคมอยากรู้ท่าทีของเรา เช่น เรื่องมาตรา 112 หรือเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ เราไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อประกบชนกับนิติราษฏร์ แต่เราเห็นว่าสังคมไทยจำต้องมีการขับเคลื่อนให้เป็นประชาภิวัฒน์โดยกลุ่มประชาชนเป็นหลักไม่ใช่กลุ่มชนชั้นนำหรือ Elite” นายบรรเจิด กล่าว
อ่านเพิ่มเติม : Siam Intelligence Unit
ที่ปรึกษากม."พท."ย้ำแก้รธน.ต้องมีส.ส.ร.
นายชูศักดิ์ ศิรินิล ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายอุกฤษ มงคลนาวินประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักยุติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) เสนอให้ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 34 คนและไม่เห็นด้วยที่จะมีการตั้งส.ส.ร.มายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าส่วนตัวรัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเอาไว้ว่าจะให้มีส.ส.ร. ดังนั้นรัฐบาลคงต้องทำตามที่ได้แถลงนโยบายเอาไว้ ทั้งนี้ สำหรับแนวคิดของนายอุกฤษนั้นก็ถือว่าเป็นประโยชน์ในแง่ที่ทำให้เกิดความตื่นตัวว่าจะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ที่ตรงกันก็คือต้องมีการทำประชามติ ส่วนเรื่องส.ส.ร.นั้นสุดท้ายแล้วยังไงก็ต้องทำเพราะเป็นนโยบายของรัฐบาล
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีข้อสรุปที่ชัดเจนเมื่อไหร่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า คาดว่าเร็วๆ นี้คงจะต้องได้ช้อสรุป เพราะต้องดำเนินการให้ทันสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติที่จะสิ้นสุดในเดือนเม.ย. โดยอย่างน้อยจะต้องแก้ไขมาตรา 291 ให้จบในสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ เพราะจากนั้นยังมีขั้นตอนของการตั้งส.ส.ร.และการยกร่างอีกที่ต้องใช้เวลาอีกนาน ดังนั้นจึงควรที่จะมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ทันสมัยประชุมนี้ โดยรัฐบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบในการนำเสนอร่างแก้ไข จากนั้นจึงให้รัฐสภาเป็นผู้พิจารณา
ที่มา : เนชั่นทันข่าว
"เฉลิม"แจง กมธ.ไอซีที ปราบเว็บหมิ่นยาก-คิดแก้ ก.ม.อาญา
คณะกรรมาธิการการสื่อสารและโทรคมนาคม หรือ ไอซีที สภาผู้แทนราษฎร เชิญ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยงานกำหนดนโยบายการป้องกันและปราบปรามการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ผิดกฎหมาย เข้าให้ข้อมูล ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิม ชี้แจงว่า ที่ผ่านมาการดำเนินการอาจไม่ต่อเนื่องและครอบคลุมต่างประเทศ เพราะเว็บไซต์ส่วนหนึ่งจัดตั้งที่ต่างประเทศ พร้อมยืนยันว่าหากกลุ่มใดกระทำผิดจะปฏิบัติตามกฎหมายโดยไม่ยกเว้น
นอกจากนี้ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวระหว่างให้ข้อมูลว่า มีแนวคิดจะแก้ไขกฎหมายอาญาบางมาตรา โดยมีเนื้อหาห้ามบุคคลหนึ่งกล่าวหาบุคคลอื่นว่าไม่จงรักภักดี และอ้างตนว่าจงรักภักดีมากกว่า หากฝ่าฝืนจะต้องโทษจำคุก 5 ปี แต่แนวคิดนี้ต้องพูดคุยกับกฤษฎีกาก่อน
ด้าน พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา เลขานุการคณะกรรมการ ที่เดินทางมาให้ข้อมูล กล่าวว่า หลังจากเข้ามาดำเนินการ ได้ทำการปิดเว็บไซต์ไปแล้ว 757 URL และมีส่วนที่อยู่ระหว่างสืบสวนอีก 1,493 คดี โดยยอมรับว่า สืบสวนหาตัวผู้กระทำผิดในต่างประเทศทำได้ยาก เพราะไม่ค่อยให้ความร่วมมือ ซึ่งจะมีระบบเพื่อเฝ้าระวังติดตามเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม เพื่อทำการปิดได้เร็วขึ้น
ที่มา : ผู้จัดการ
"ไชยวัฒน์"ฟ้องนายกฯแทรกแซงกองทัพสั่งถอนทหาร
เมื่อเวลา 11.45 น. นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ เลขาธิการ การสมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทย และตัวแทนแนวร่วมคนไทยรักชาติ รักษาแผ่นดิน, ม.ล.วัลย์วิภา บุรุษรัตนพันธุ์ และนายสมบูรณ์ ทองบุราณ อดีต ส.ว. ได้ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ถูกฟ้อง เรื่องกระทำการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ กรณีที่ให้ผู้ถูกฟ้อง งดเว้นการกระทำการที่จะทำให้ประเทศไทยต้องเสียอธิปไตยเหนือดินแดน พื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร
โดยคำฟ้องระบุว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลกัมพูชา พยายามจะเข้ายึดครองพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร โดยใช้วิธีการสบคมกับรัฐบาลไทยในหลายยุคต่อเนื่องกันมา จนเมื่อหลังการเลือกตั้งปี 2554 ที่การตั้งรัฐบาลใหม่ซึ่งผู้ถูกฟ้องเป็นนายกรัฐมนตรี ประชาชนส่วนใหญ่คาดหวังว่า จะต้องปฏิเสธการกระทำขัดรัฐธรรมนูญและไม่ชอบด้วยกฎหมายของรัฐบาลก่อนต่อกรณีพิพาทปราสาทพระวิหารที่มีการนำคดีสู่ศาลโลก แต่ประชาชนต้องผิดหวังเพราะรัฐบาลและผู้ถูกฟ้อง แถลงต่อสาธารณะหลายครั้งว่าจะยอมรับ ถือปฏิบัติตามคำสั่งและคำพิพากษาของศาลโลก ซึ่งต่อมาศาลโลกมีคำสั่งคุ้มครองชั่วก่อนพิพากษาตามคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของฝ่ายรัฐบาลกัมพูชา ที่ให้ทั้งสองฝ่ายถอนทหารออกจากพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร เนื้อที่ 17.3 ตารางกิโลเมตร ทั้งที่รัฐบาลและผู้ถูกฟ้อง รู้ดีว่าคำสั่งนั้นขยายพื้นที่จาก 4.6 ตารางกิโลเมตร เป็น 17.3 ตารางกิโลเมตร และเป็นการให้ถอนทหารออกจากพื้นที่ประเทศไทยเกือบทั้งหมด ซึ่งมีเพียงบางส่วนที่เป็นหน้าผาของเขาพระวิหารที่ไม่มีประชาชนอาศัยเท่านั้น ขณะที่พื้นที่นั้นชาวกัมพูชาได้เข้ามาตั้งชุมชนอย่างถาวรอยู่แล้ว หากกองทัพไทยถอนทหารออกมา พื้นที่นั้นจะเหลือแต่ชาวกัมพูชา เท่ากับว่าประเทศไทยต้องเสียดินแดนไปอย่างถาวร และหลังจากศาลโลกมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ผู้ถูกฟ้องและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แทรกแซงสั่งการโดยขัดรัฐธรรมนูญ ให้กองทัพไทยถอนทหารออกจากพื้นที่ตามคำสั่งศาลโลก
จึงขอให้ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษา 1.ให้นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีในรัฐบาล หยุดการกระทำที่ก้าวก่ายแทรกแซงกองทัพไทย ในการสั่งถอนทหารออกจากพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารตามคำสั่งศาลโลก 2.ให้ผู้ถูกฟ้อง ดำเนินการให้รัฐบาลไทยถอนตัวออกจากคดีรัฐบาลกัมพูชา ฟ้องเรียกเอาดินแดนในศาลโลก รวมทั้งให้ปฏิเสธความผูกพันเกี่ยวข้องในการพิจารณาพิพากษาใดๆ ของศาลโลกในทุกกรณีด้วย และ 3.หากผู้ถูกฟ้องไม่ปฏิบัติ ให้ถือเอาคำพิพากษาศาลปกครองเป็นคำสั่งในการปฏิบัติ
ทั้งนี้ ศาลรับคำฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่ 50/2555 เพื่อพิจารณาต่อไปว่าคดีอยู่ในอำนาจศาลปกครอง และจะมีคำสั่งประทับรับคำฟ้องไว้เพื่อมีคำพิพากษาหรือไม่
ที่มา : เนชั่นทันข่าว
ครม.มีมติเห็นชอบการออกพระราชกำหนด4ฉบับ
นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยหลังการประชุมครม.ว่า ครม.มีมติเห็นชอบการออกพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) 4 ฉบับ เพื่อการพัฒนาประเทศในระยาว ประกอบด้วย การลงทุนระบบบริหารจัดการน้ำงบประมาณ 350,000 ล้านบาท, การจัดตั้งกองทุนประกันภัยให้กับผู้ประกอบการที่ลงทุนภายในประเทศ 50,000 ล้านบาท, กฎหมายปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.... 1.14 ล้านล้านบาท และให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำกับผู้ประกอบการ 300,000 ล้านบาท โดยจะนำ พ.ร.ก.ทั้ง 4 ฉบับ มาดำเนินการใน 3 ด้าน คือ การฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วมในปี 2554 การสร้างความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจและการดำรงชีวิตของประชาชน และป้องกันความเสียหายจากปัญหาน้ำท่วมในปี 2555 และในระยะยาวอย่างยั่งยืน ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคมนี้เป็นต้นไป
สำหรับรายละเอียดของ พ.ร.ก. การบริหารหนี้เงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.... ได้มีการตัดเนื้อหาในมาตรา 7 (3) เรื่องการโอนทรัพย์สินของธนาคารแห่งประเทศไทย ให้กองทุนฟื้นฟูดูแลออก เพื่อให้ธปท.เป็นผู้บริหารจัดการหนี้เอง คาดว่า ภาระหนี้ทั้งหมดจะชำระเสร็จภายใน 20 ปี และเชื่อว่าฐานะทางการเงินของ ธปท.จะดีขึ้น หลังสามารถชำระหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯได้หมด ทั้งนี้ จะการนำ พ.ร.ก.ทั้ง 4 ฉบับขึ้นทูลเกล้าฯ หลังจากนั้นจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อมีผลบังคับใช้ต่อไป
ที่มา : เนชั่นทันข่าว
วุฒิสภาพลิกกฎหมายไทยพลัดถิ่น เพิ่มเนื้อหาคว่ำ ร่างพ.ร.บ.สัญชาติ
นายภควิน แสงคง ที่ปรึกษาเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทยจังหวัดระนองและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แกนนำเครือข่ายไทยพลัดถิ่น เปิดเผยว่า ทางเครือข่ายไทยพลัดถิ่น มีความจำเป็นต้องเคลื่อนไหว ติดตามร่างพระราชบัญญัติ สัญชาติ (ฉบับที่…) พุทธศักราช …ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2555 เป็นต้นไป โดยวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2555 จะจัดเวทีวิชาการเพื่อเรียนรู้ร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่) พ.ศ. …. ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ.….วุฒิสภา ก่อนนำเข้าพิจารณาวาระที่ 2 และ 3 ต่อไป
นายภควิน เปิดเผยว่า สาเหตุที่ต้องออกมาเคลื่อนไหวในช่วงนี้ เนื่องจากเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้แปรญัตติเพิ่มเติมมาตรา 7/1 มีเนื้อหาว่า “มาตรา 7/1 การสำรวจจัดทำทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ตามบทนิยามคำว่า “ไทยพลัดถิ่น” ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฉบับนี้ หมายถึง การสำรวจจัดทำทะเบียนของคนไทยพลัดถิ่นซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ”
นายภควิน กล่าวว่า ข้อความข้างต้น ส่งผลให้มีการกำหนดเงื่อนไขของกลุ่มบุคคลที่จะได้สัญชาติไทยไว้ 3 ประการ โดยใช้ทะเบียนราษฎรเป็นเครื่องมือกล่าวคือ 1.ต้องเป็นผู้ที่จัดทำทะเบียนคนไทยพลัดถิ่น 2.ต้องเป็นผู้ที่มีทะเบียนแล้ว 3.ต้องเป็นผู้ที่จัดทำทะเบียนก่อนวันที่กฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ.... จะนำเข้าพิจารณาวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ต่อที่ประชุมวุฒิสภา ในวันที่ 16 มกราคม 2555 นี้
ที่มา : ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ) ผ่าน ประชาไท
กสร.ขู่! ผู้ประกอบการใช้แรงงานเด็ก สั่งดำเนินคดีทันที
12 ม.ค. นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในช่วงต้นปีนี้ กสร.จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบในสถานประกอบการในจังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการใช้แรงงานเด็กโดยเฉพาะจังหวัดที่มีการใช้แรงงานต่างด้าวจำนวนมาก เนื่องจากไทยถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่ต้องปรับปรุงแก้ไขเรื่องการใช้แรงงานเด็กและการค้ามนุษย์ หากไม่ปรับปรุงและถูกจัดอันดับที่แย่ลงก็จะถูกคู่ค้าในต่างประเทศกีดกันทางการค้า ถ้าตรวจพบว่าสถานประกอบการใดใช้แรงงานเด็กโดยผิด พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งกำหนดไว้ห้ามนายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีเป็นลูกจ้าง ห้ามไม่ให้จ้างงานเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานอันตรายและงานเกี่ยวกับสารเคมี รวมถึงการทำงานในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม ทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุด จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายโดยมีโทษจำไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
นายอาทิตย์ กล่าวว่า จากข้อมูลของ กสร.ในปี 2554 พบว่า มีแรงงานเด็กทั่วประเทศประมาณ 19,074 คน ซึ่ง กสร.มีนโยบายและยุทธศาสตร์ในการป้องกันและแก้ปัญหาการใช้แรงงานเด็ก โดยส่งเจ้าหน้าที่ไปทำความเข้าใจกับสถานประกอบการในจังหวัดต่างๆ จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือแรงงานหญิงและเด็กทั่วประเทศ รวมทั้งดำเนินคดีทันทีเมื่อพบว่ามีการใช้แรงงานเด็กต่ำกว่า 15 ปี หรือให้เด็กทำงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสภาพร่างกายและจิตใจ รวมทั้งจัดทำบัญชีงานอันตรายที่ห้ามแรงงานเด็กทำของประเทศไทย เช่น งานปั๊มโลหะ งานเกี่ยวกับสารเคมีที่เป็นอันตราย งานเกี่ยวกับวัตถุมีพิษ งานที่ต้องทำใต้ดิน ใต้น้ำ ฯลฯ
น.ส.ทัตติยา ลิขิตวงษ์ ผู้ประสานงานโครงการแรงงานเด็ก มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก กล่าวว่า ปัจจุบันมีการใช้แรงงานเด็กจำนวนมาก ซึ่งกลุ่มนักวิชาการออกมาเปิดเผยว่ามีการใช้แรงงานเด็กในไทยกว่า 3 แสนคน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กต่างด้าว 3 สัญชาติ พม่า ลาว และกัมพูชา ขณะที่เด็กไทยจะมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีการจ้างในกลุ่มอาชีพงานบ้าน โรงงานขนาดเล็ก ร้านอาหาร และร้านค้าขนาดเล็ก
อ่านเพิ่มเติม: ผู้จัดการ
กสทช.สั่งรื้อกม.เล็งเอาผิดมือถือล่มบ่อย
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยว่า กสทช.อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อเตรียมแก้ไขกฎหมายและประกาศต่างๆ ที่เกี่ยวกับการให้บริการโทรคมนาคม เช่น ประกาศ เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ให้ครบคลุมเรื่องคุณภาพการให้บริการของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในเชิงลึกและละเอียดมากขึ้น เพื่อให้สามารถเอาผิดจนถึงขั้นปรับ หากเกิดกรณีเครือข่ายล่ม ทั้งนี้ เพราะที่ผ่านมา แม้จะมีกฎหมายหรือประกาศเกี่ยวกับการให้บริการโทรคมนาคม แต่เป็นเพียงการกำหนดมาตรฐานแบบผิวเผิน เช่น กำหนดคุณภาพการให้บริการที่จะต้องโทรติดไม่ต่ำกว่า 98% ทั่วประเทศ แต่ไม่ได้ลงรายละอียดในเชิงพื้นที่หรือจังหวัด ซึ่งเมื่อค่าเฉลี่ยภาพรวมยังคงอยู่ในมาตรฐาน ทำให้ไม่สามารถเอาผิดผู้ให้บริการได้
สำหรับการแก้ไข หรือ เพิ่มเติมเนื้อหาในกฎหมายต่างๆ นั้น คาดว่าจะใช้เวลา 3 เดือน จึงสามารถประกาศได้ เนื่องจากต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน ทั้งการประกาศขึ้นเว็บไซต์ว่าจะมีการแก้ไข ใช้เวลา 30 วัน กระบวนการรับฟังความเห็นสาธารณะ หรือ ประชาพิจารณ์ เป็นต้น แต่จะเร่งให้เสร็จเร็วมากที่สุด
อ่านเพิ่มเติม: โพสต์ทูเดย์
"อองซาน ซูจี" ยืนยันลงเลือกตั้งซ่อม เม.ย.นี้
โฆษกประจำตัวนางอองซาน ซูจี แถลงว่า นางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือเอ็นแอลดีของพม่า จะลงรับสมัครเลือกตั้งซ่อมในวันที่ 1 เมษายนนี้ โดยจะเป็นตัวแทนพรรคที่ชิงชัยในสนามเลือกตั้งซ่อมเมืองกอว์มู (Kawhmu) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชานเมืองของนครย่างกุ้ง
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทางการพม่าได้อนุมัติจดทะเบียนพรรคเอ็นแอลดี ส่งผลให้นางซูจี และพรรคของเธอสามารถกลับมาเคลื่อนไหวทางการเมืองได้อีกครั้ง โดยเมื่อปี 2553 นางซูจีได้รับอิสรภาพจากการถูกกักบริเวณในบ้านพัก แต่พรรคเอ็นแอลดีได้ตัดสินใจถอนตัวจากการเลือกตั้งทั่วไป เพราะรัฐบาลพม่าออกกฎหมายกีดกันไม่ให้นางออง ซาน ซูจี สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้
ผ่านมากว่า 1 ปี ผลจากความพยายามของรัฐบาลพม่าที่ต้องการปฏิรูปประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง ทำให้นางออง ซาน ซูจี และพรรคเอ็นแอลดีสามารถกลับมามีบทบาททางการเมืองได้อีกครั้ง
โดยในช่วงปี 2554 ต่อเนื่องจนถึงต้นปี 2555 เจ้าหน้าระดับสูงของชาติมหาอำนาจไม่ว่าจะเป็น นางฮิลาลี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ นายเคนอิจิโร เก็มบะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น นายวิลเลียม เฮก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ ได้เดินทางเยือนประเทศพม่าในเวลาไล่เลี่ยกัน ล่าสุด สำนักข่าวอิระวดีออนไลน์รายงานว่า นาย เควิน รัดด์ รัฐมนตรีว่ากระทรวงการต่างประเทศของออสเตรเลีย ออกแถลงการณ์จะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อพม่าบางส่วนแล้ว
ที่มา : VoiceTV