ศาลพิพากษา ยกฟ้อง คดีบริษัทโรงไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ฟ้องหมิ่นประมาทภาคประชาชน
เหตุแฉความจริงเบื้องหลังธุรกิจพลังงาน
ศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาคดีอาญา หมายเลขดำที่ 5508/2552
ระหว่าง
บริษัท สยามเอนเนอร์ยี่ จำกัด (เจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าบางคล้า) โจทก์
วัชรี เผ่าเหลืองทอง (อดีตผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต) จำเลย
ฐานความผิด : หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326,328)
ข้อมูลพิื้นฐาน
นางสาววัชรี เผ่าเหลืองทอง ถูกยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 52 สืบเนื่องจากกรณีที่ได้ให้สัมภาษณ์วิพากษ์วิจารณ์นโยบายพลังงาน การวางรูปแบบหลักเกณฑ์การเปิดประมูลผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (IPP)ของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และการปฏิบัติตัวของข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพลังงาน และมีการตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในการประมูล และกระบวนการจัดทำอีไอเอของบริษัทโจทก์ออกอากาศทางรายการคมชัดลึกของสถานีโทรทัศน์เนชั่นชาแนล เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.52ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่มีสถานการณ์ชาวบ้านบางคล้าชุมนุมปิดถนนเพื่อต่อต้านโครงการโรงไฟฟ้าของบริษัท สยามเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด
ทั้งนี้ บริษัท สยามเอนเนอร์ยี่ จำกัด ยื่นฟ้องนางสาววัชรี ทั้งคดีอาญาในข้อหาหมิ่นประมาทและคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายกว่า 300ล้านบาท ซึ่งศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีแพ่งไว้เป็นการชั่วคราวเพื่อรอผลคำพิพากษาในคดีอาญา
----------------------------------------------------------------------------------------
บันทึการสังเกตุการณ์คดี
วันที่ 20 มกราคม 2555 ศาลอาญารัชดา ห้องพิจารณาคดี 912 เวลา 9.00น.
ศาลนัดอ่านคำพิพากษา คดีที่ บริษัท สยามเอ็นจีเนียริ่ง ฟ้อง นางสาววัชรี เผ่าเหลืองทอง นักเคลื่อนไหวด้านพลังงาน ฐานหมิ่นประมาท โดยกล่าวในรายการคมชัดลึก ช่องเนชั่นแชนแนล ซึ่งมีนางสาวจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2552 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านจาก อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ได้ปิดถนนประท้วงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าบางคล้า
บรรยากาศการพิจารณาคดีในวันนี้มีผู้มาให้กำลังใจนางสาววัชรี เป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเป็นชาวบ้านที่เคลื่อนไหวต่อต้านโรงไฟฟ้าจากหลายท้องที่ เช่น อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี อำเภอบ่อนอก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และมีเอ็นจีโอ นักเคลื่อนไหวจากองค์กรต่างๆ อีกหลายแห่ง เช่น โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม มูลนิบูรณนิเวศ สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ทำให้บรรยากาศในห้องพิจารณาค่อนข้างแน่น มีผู้เข้าฟังประมาณ 10 คนที่ต้องยืนฟังคำพิพากษาเพราะที่นั่งมีไม่พอ
นางสาววัชรี เผ่าเหลืองทอง จำเลย เดินทางมาถึงห้องพิจารณาคดีด้วยสีหน้ายิ้มแย้มตั้งแต่เวลาประมาณ 9.00 น. ทนายความฝั่งโจทก์มาศาล ทนายความฝั่งจำเลย คือ นายกฤษฎางค์ นุตจรัส มาศาล
เวลาประมาณ 9.30 ผู้พิพากษาพร้อมด้วยองค์คณะขึ้นบัลลังก์ ทนายความจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลขอคัดถ่ายคำพิพากษา ศาลใช้เวลาอ่านและพิจารณาเอกสารที่ยื่นประมาณ 5 นาที แล้วจึงเริ่มอ่านคำพิพากษา
ในการอ่านคำพิพากษา ศาลพิเคราะห์ว่า กรณีมูลเหตุคดีนี้เกิดจากการประมูลโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ของบริษัทเอกชน ซึ่งปกติเป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่าการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าเป็นกิจการรัฐ และเป็นเรื่องที่กระทบต่อผลประโยชน์ของประชาชน การเปิดให้เอกชนเข้ามาดำเนินการและประมูลโครงการ ย่อมเป็นที่สนใจของประชาชนทั่วไป และย่อมอยู่ในวิสัยที่ประชาชนทั่วไปไม่เฉพาะจำเลยเท่านั้นที่จะสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าการประมูลโรงไฟฟ้าบางคล้า มีการตกลงทำสัญญากันโดยไม่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อน และยังไม่มีการทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ซึ่งเป็นขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญมาตรา 67 กำหนดไว้ ในวรรคสอง ว่า การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน
เพราะฉะนั้นย่อมทำให้จำเลยที่ 1 และบุคคลทั่วไป เข้าใจได้ว่าการประมูลสัญญาก่อสร้างโรงไฟฟ้ามีการดำเนินการผิดขั้นตอน อาจเกิดความไม่โปร่งใสได้ และข้อความที่กล่าวนี้เป็นข้อความเช่นเดียวกับที่ ดร.ถวิลวดี บุรีกุล กล่าวไว้ในรายการคมชัดลึกเช่นกัน และนายบุญชัย เจียมจิตจรุง ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ก็ยอมรับว่าไม่ได้ฟ้อง ดร.ถวิลวดีด้วย เพราะเห็นว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของรัฐ เกี่ยวกับการประมูล
เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการอนุญาตโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าก่อนที่จะรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จะได้รับอนุมัติ ตามที่ปรากฏในรายงานการประชุมของคณะกรรมการนโยบายพลังงาน และปรากฏว่ามีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของคณะกรรมการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และมีการขยายระยะเวลาการยื่นรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมออกไปอีกหลายครั้ง ซึ่งไม่ตรงกับหนังสือชี้ชวนเข้าร่วมการประมูล จึงก่อให้เกิดความสงสัยแก่ประชาชนทั่วไปได้ได้ว่ากระบวนการอาจมีความไม่โปร่งใส
อีกทั้งการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าก็ลดลง เพราะไม่มีความจำเป็นต้องผลิตกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ ทำให้เป็นทีสงสัยแก่บุคคลทั่วไปว่าทำไมจึงต้องสร้างโรงไฟฟ้า
นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความของนายบุญชัย ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ว่าบิดาของกรรมการของบริษัทโจทก์ท่านหนึ่งมียศเป็นนายพล จึงอาจทำให้เกิดข้อสงสัยกับบุคคลทั่วไปได้ว่า คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติอาจเกิดความเกรงใจในการพิจารณาโครงการได้ ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของนางสาวรสนา โตสิตระกูล พยานจำเลย และเอกสารของคณะกรรมการวุฒิสภา คำพูดของจำเลยจึงมีความน่าเชื่อถือ คำพูดของจำเลยไม่ได้มีการกล่าวเฉพาะถึงตัวโจทก์ว่าเป็นผู้ทุจริต
และยังปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีข้าราชการระดับสูง ในคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ บางคนเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทโรงไฟฟ้าบางแห่ง ทำให้การวางนโยบายอาจมีลักษณะเอื้อประโยชน์แก่เอกชนมากกว่าได้ และอาจทำให้ประชาชนสงสัยถึงความโปร่งใส
ศาลพิจารณาแล้ว เห็นว่า คำพูดของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นการกล่าวร้ายบริษัทโจทก์ เป็นการพูดในภาพรวม เพื่อวิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ เรื่องนโยบายพลังงานตามข้อมูลที่จำเลยที่ 1 ได้รับทราบมา ซึ่งเป็นเรื่องสาธารณะ คำกล่าวของจำเลยเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ที่โจทก์กล่าวอ้างว่า การกระทำของจำเลยทำไปเพราะรับเงินจากบริษัทต่างชาติมาสร้างความเสียหายให้โจทก์ ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ กับจำเลยที่ 1 และบริษัทต่างชาติมีข้อพิพาทกันอยู่แต่อย่างใด
การกระทำของจำเลยเป็นการวิพากษ์วิจารณ์เชิงระบบ เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยประชาชนพึงกระทำโดยสุจริต และไม่ปรากฏว่าหลังจากจำเลยที่ 1 พูดข้อเท็จจริงตามคำฟ้องแล้วต่อมามีการยกเลิกสัญญาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหรือการประมูลแต่อย่างใด จึงไม่ได้ทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้องโจทก์ พิพากษายกฟ้อง
อ่านคำพิพากษาเสร็จ เวลาประมาณ 10.05 น.
------------------------------------------------------
ข้อมูลเพิ่มเติม
1. วัชรี เผ่าเหลืองทอง เป็นนักเคลื่อนไหวด้านพลังงานทางเลือกทำงานกับชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่และเป็นที่ปรึกษาสมัชชาคนจน และทำงานเคียงคู่กับมดวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์นักต่อสู้เพื่อคนจน
2. โครงการโรงไฟฟ้าบางคล้า ถูกคัดค้านอย่างหนักจากชาวบางคล้าและชาวฉะเชิงเทราจนผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ต้องเปิดการเจรจาและเสนอรัฐบาลไม่ให้มีการก่อสร้าง สุดท้ายมีการแก้ไขสัญญาจนย้ายไปตั้งที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ 3จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (โดยได้รับการแก้ไขสัญญาเพิ่มเงินค่าซื้อไฟฟ้าให้)
3. บริษัท สยามเอนเนอร์ยี่จำกัด เป็นบริษัทลูกของ บริษัท เจ-พาวเวอร์ และกัลฟ์ เจพี จำกัดซึ่งเป็นบริษัทเชื้อสายญี่ปุ่นรายใหญ่ที่เข้ามาลงทุนผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย โดยบริษัท กัลฟ์ เจพี จำกัด เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าใหม่ 2โรง คือ โรงไฟฟ้าหนองแซง 1650เมกะวัตต์ (ใช้ชื่อบริษัทกัลฟ์ เจพี เอนเอส จำกัด) และโรงไฟฟ้าบางคล้าเดิม1,600เมกะวัตต์ (ใช้ชื่อบริษัท สยามเอนเนอร์ยี่ จำกัด)
อ่านข้อมูลก่อนหน้า http://ilaw.or.th/node/1190