กฎหมายที่ประชาชนเสนอ ต้องเป็นร่างพระราชบัญญัติตามที่กำหนดในหมวด ๓ และหมวด ๕ แห่งรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญ มาตรา 163 กำหนดให้สิทธิประชาชนในการเข้าชื่อกันหนึ่งหมื่นชื่อเพื่อเสนอกฎหมายให้รัฐสภาพิจารณาได้ และกำหนดด้วยว่ากฎหมายที่จะเสนอได้นั้นต้องเป็นกฎหมายตามที่กำหนดในหมวด 3 และหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญ

ซึ่งรัฐธรรมนูญ หมวด 3 คือหมวด สิทธิเสรีัภาพของชนชาวไทย

หมวด 5 คือ หมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ

ที่ผ่านมาผู้ที่ใช้อำนาจในการวินิจฉัยว่ากฎหมายที่ประชาชนเสนอนั้นเป็นกฎหมายตามที่กำหนดในหมวด 3 และหมวด 5 หรือไม่ คือ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และเคยมีประสบการณ์ที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติที่ประชาชนเสนอ ไม่ใช่กฎหมายตามที่กำหนดในหมวด 3 และหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญแล้ว 2 ฉบับ คือ  ร่างพระราชบัญญัติเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ... และ ร่างพระราชบัญญัติการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ พ.ศ. ... ซึ่งมีผลทำให้กฎหมายที่ประชาชนเข้าชื่อกันเสนอตกไปโดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภา

 

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐
หมวด ๗
 
 
         มาตรา 163 ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอ ต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตามที่กำหนดในหมวด ๓ และหมวด ๕ แห่งรัฐธรรมนูญนี้
 
        คำร้องขอตามวรรคหนึ่งต้องจัดทำร่างพระราชบัญญัติเสนอมาด้วย
       
        หลักเกณฑ์และวิธีการเข้าชื่อ รวมทั้งการตรวจสอบรายชื่อ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
       
        ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตามวรรคหนึ่ง สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ต้องให้ผู้แทนของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นชี้แจงหลักการของ ร่างพระราชบัญญัติ และคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวจะต้อง ประกอบด้วยผู้แทนของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นจำนวนไม่น้อยกว่า หนึ่งในสามของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมด