รอบอาทิตย์ที่สาม ก.พ.55 : 15 ปีตรวจเอดส์ได้ไม่ต้องขอพ่อแม่

รอบอาทิตย์ที่สาม ก.พ.55 : 15 ปีตรวจเอดส์ได้ไม่ต้องขอพ่อแม่

เมื่อ 19 ก.พ. 2555

องค์กรสิทธิไทย-เอเชียชี้ 'สมยศ' ต้องได้ประกันตัว

องค์กรสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยและเอเชีย 10 แห่ง เช่น เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องต่อเจ้าหน้าที่พนักงานและศาลไทย ให้สิทธิการประกันตัวนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องหาคดีม. 112 จากการเป็นบรรณาธิการบริหารนิตยสารวอยซ์ ออฟ ทักษิณ โดยชี้ว่า สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสากลที่มนุษย์ควรได้รับอย่างเท่าเทียม
 
แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า หากมีการตีความยกเว้นของกฎหมายกรณีไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ศาลจำเป็นต้องมีพยานหลักฐานที่เป็นภาวะวิสัยและน่าเชื่อถือ และตีความกฎหมายอย่างเคร่งครัด ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่มีหลักฐานที่ทำให้เชื่อได้ว่าพยานจะหลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับหลักฐาน ก็จำเป็นต้องให้ประกันตัวแก่จำเลย และปฏิบัติแก่ผู้ต้องหาในฐานะผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะสามารถพิสูจน์ความผิดตามกระบวนการทางกฎหมาย ตามที่ระบุไว้เป็นหลักการว่าในคดีอาญา รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 39 วรรค 2 ประกอบ วรรค 3 
 
อ่านแถลงการณ์ฉบับเต็มได้ที่: เว็บไซต์เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
 
 
มธ.แจงไม่ได้ห้ามถก ม.112 แต่ผู้จัดต้องรับผิดชอบ
 
คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดประชุมครั้งที่ 3/2555 วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555 เพื่อพิจารณามติของมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ.2555 ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ในมหาวิทยาลัยเพื่อจัดกิจกรรมที่มีลักษณะเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง  โดยมติดังกล่าวได้ก่อให้เกิดการตีความไปในหลายแง่มุมที่แตกต่างกัน อีกทั้งองค์การนักศึกษามหาวิทยาธรรมศาสตร์และสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีหนังสือขอให้มหาวิทยาลัยพิจารณาทบทวนเรื่องดังกล่าว และชี้แจงมติฯ ให้ชัดเจนเพื่อความเข้าใจตรงกัน 
คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยมีความเห็นโดยสรุปว่า  มหาวิทยาลัยยินดีให้ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยจัดกิจกรรมด้านเสรีภาพทุกเรื่อง แต่การอนุญาตให้ใช้อาคารสถานที่เพื่อแสดงความคิดเห็นตามสิทธิเสรีภาพทางวิชาการต้องอยู่บนเงื่อนไขสองประการ คือ กิจกรรมดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย และห้ามมิให้มีการแสดงออกอย่างเปิดเผยหรือใช้สัญลักษณ์อันยั่วยุให้เกิดความรุนแรงระหว่างผู้ที่มีความคิดเห็นต่างกัน ทั้งนี้ กลุ่มนิติราษฎร์หรือบุคคลภายนอก หากประสงค์จะจัดกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยก็สามารถเสนอเรื่องให้คณะกรรมการพิจารณาได้ โดยคณะกรรมการฯจะพิจารณาเรื่องตามหลักเกณฑ์แล้วพิจารณาเป็นกรณีๆไป 
 
ที่มา: ประชาไท
 
 
ให้ศพละ 7.5 ล้าน รัฐเยียวยาเหยื่อไฟใต้
 
ที่ประชุมคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 2/2555 เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ วัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่มได้รับการช่วยเหลือและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีกรอบการให้เงินเยียวยา รายละไม่เกิน 7.5 ล้านบาท เท่ากับกรณีผู้ได้รับผลกระทบทางการเมือง
 
ที่ประชุมได้แยกกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์วันที่ 28 เมษายน 2547 ทั้งหมด 11 จุด รวมเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะและสะบ้าย้อย กลุ่มที่ 2 เหตุการณ์ตากใบและมัสยิดไอร์ปาแย กลุ่มที่ 3 กลุ่มผู้ที่ถูกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐกรณีถูกบังคับให้สูญหายหรือการทรมาน หรือถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และกลุ่มที่ 4 ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทั่วไป นอกเหนือจากให้เงินเยียวยาแล้ว ทั้ง 4 กลุ่มจะได้รับการช่วยเหลือด้านอื่นๆ เช่น ที่อยู่อาศัย อาชีพ การศึกษา และการประกอบพิธีฮัจย์ เป็นต้น
 
ที่มา:  ประชาไท
 
 
คนอำนาจเจริญนับหมื่นร่วมประกาศ “ธรรมนูญประชาชน” สร้างสังคมอยู่เย็นเป็นสุข
 
ชาวอำนาจเจริญนับหมื่นร่วมงานประกาศธรรมนูญประชาชนฅนอำนาจเจริญ โดยใช้สัญลักษณ์สุ่มไก่หงายขึ้นฟ้ารองรับธรรมนูญฉบับประชาชน  หมายถึง การปลดปล่อยอิสรภาพจากระบบการปกครองแบบรวมศูนย์ เพื่อให้ประชาชนได้เป็นผู้กำหนดอนาคตของตนเอง ทั้งในด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การศึกษา งานพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคม และการเมืองการปกครองอย่างรอบด้าน 
 
นายวานิชย์ บุตรี ประธานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลจังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวว่า การใช้ธรรมนูญประชาชนจะดำเนินงานผ่านกลไกสภากลาง ทั้งในระดับชุมชน ตำบล และจังหวัด โดยกลไกระดับจังหวัด จะออกแบบกระบวนการขับเคลื่อนระบบ จากการคัดเลือกพื้นที่ปฏิบัติการนำร่องให้เกิดสภาระดับท้องถิ่นและกำหนดโครงการ 1 ตำบล 1 แผนพัฒนาอย่างน้อย 30 พื้นที่ ทั้งนี้ ทางจังหวัดจะจัดให้มีทีมติดตาม  เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงาน รวมถึงระบบสื่อสารต่อสาธารณะและภาคีร่วมพัฒนา โดยทางจังหวัด และ/หรือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด ต้องสนับสนุนงบประมาณให้เป็นกองทุนกลางในการขับเคลื่อนงานอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ทางเครือข่ายฯ ยังได้เสนอให้องค์กรภาคีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนการดำเนินงานสร้างธรรมนูญประชาชน ได้แก่ สภาพัฒนาการเมือง (สพม.) และสำนักงานปฏิรูป นำบทเรียนจากจังหวัดอำนาจเจริญและพื้นที่อื่นๆ ขยายผลสู่นโยบายสาธารณะต่อไป 
 
ที่มา: TCIJ
 
 
แพทยสภาไฟเขียว อายุ 15 ตรวจเอดส์ได้ ไม่ต้องขอผู้ปกครอง
 
ศ.นพ. สมศักดิ์ โล่เลขา ที่ปรึกษาแพทยสภา ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาแนวทางปฏิบัติการตรวจหาการติดเชื้อ   เอชไอวีในบุคคลที่อายุต่ำกว่า 18 ปี กล่าวว่า อนุกรรมการฯ เห็นชอบในหลักการแก้ไขแนวปฏิบัติของแพทย์เกี่ยวกับการตรวจเชื้อเอชไอวีในผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 18  ซึ่งแต่เดิมจะอนุญาตให้แพทย์ตรวจเชื้อในกรณีที่ได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองเท่านั้น    โดยมีความเป็นไปได้ที่จะกำหนดให้ผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป สามารถขอรับการตรวจเชื้อได้เอง โดยอนุกรรมการฯ อาจมีมติเพิ่มเติมให้มีการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลลิสและหนองในด้วย เนื่องจากเห็นว่า เด็กในวัยดังกล่าวมีความสามารถในการเข้าใจและตัดสินปัญหาไม่ต่างจากผู้ใหญ่ หากอนุกรรมการฯ ได้ข้อสรุปในการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 19 มีนาคม 2555 จะนำเข้าสู่การพิจารณาของกรรมการแพทยสภา และออกเป็นข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีในวัยรุ่น พ.ศ. .. และจะมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา
 
ศ.นพ. สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า อนุกรรมการฯจะมีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อขอให้พิจารณาการจ่ายสิทธิประโยชน์ให้กับวัยรุ่นที่สมัครใจเข้ารับการตรวจดังกล่าวสามารถเข้ารับการตรวจได้ในทุกสถานพยาบาลที่ต้องการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และไม่จำกัดจำนวนครั้ง
 
 
 
'โคฟี อันนัน' พร้อมอดีตปธน. ฟินแลนด์ เยือนไทย หวังหนุนการปรองดอง
 
นายโคฟี  อันนัน  อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ และนายมาร์ตติ  อาห์ติซาริ อดีตประธานาธิบดีแห่งสาธาณรัฐฟินแลนด์ เดินทางเยือนไทยระหว่างวันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ 2555 เพื่อเข้าพบกับน.ส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร  นายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอป.) ตามที่ได้รับคำเชิญให้เป็นที่ปรึกษาและนำประสบการณ์ด้านการสร้างความปรองดองในต่างประเทศ เป็นแนวทางการในสร้างความปรองดองของประเทศไทย โดยนายโคฟีและนายมาร์ตติ จะเข้ารับฟังข้อมูลความคิดเห็นของทุกฝ่าย จากนั้นในวันที่ 18 ก.พ. นายโคฟีและนายมาร์ตติจะเปิดเวทีพูดคุยถึงบทบาทของตนเองที่สามารถเข้ามามีส่วนแนะนำทิศทางการสร้างความปรองดองรวมทั้งเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้มีโอกาสซักถาม ที่ห้องบอลรูม โรงแรมแชงกรีล่า
 
ทั้งนี้นายโคฟี  กล่าวถึงการเดินทางมาประเทศไทยว่า ตนมาเยือนในฐานะเพื่อนของประชาชนชาวไทย ซึ่งจะรับฟัง เรียนรู้ และแบ่งปันประสบการณ์ในเรื่องการปรองดอง โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์และมีคุณค่าสำหรับการทำงานของคอป. ในอนาคต  ขณะที่นายมาร์ตติ  กล่าวว่า แม้กระบวนการปรองดองในแต่ละที่จะมีความแตกต่างกัน เพราะไม่มีกระบวนการปรองดองของที่หนึ่งจะไปเหมือนอีกที่หนึ่งได้ แต่ทุกประเทศต่างก็มีประเด็นและสิ่งท้าทายเหมือนกัน จึงหวังว่าการเดินทางมาประเทศไทยเพื่อร่วมหารือกับคอป.ครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้คนไทยสามารถกำหนดทิศทางไปสู่การปรองดองของตัวเองได้
 
ที่มา: ประชาไท
 
 
ไทยลงนามพิธีสาร “นาโงยา” รักษาผลประโยชน์ทรัพยากรพันธุกรรม
 
นายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) แถลงข่าวว่า ประเทศไทยได้ร่วมลงนามในพิธีสารนาโงยาเรื่องการเข้าถึง และแบ่งผลประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรม เพื่อแสดงเจตนารมย์ว่า จะมีส่วนร่วมในการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมให้กับผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพยากร ซึ่งนอกจากจะครอบคลุมการใช้ทรัพยากรชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็น พืช สัตว์ จุลินทรีย์และส่วนประกอบของสิ่งมีชีวิต เพื่อนำไปใช้ในการศึกษาวิจัย พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ หรือใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร การเกษตร ยา เครื่องสำอาง ยังครอบคลุมไปถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือองค์ความรู้ในการนำทรัพยากรชีวภาพนั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์
 
พิธีสารนาโงยาเป็นพิธีสารภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ได้รับการพัฒนาบนแนวคิดที่ว่า ประเทศมีสิทธิอธิปไตยในทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ในขอบเขตอำนาจของตน ดังนั้น การเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมในประเทศใดจึงต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายภายในของประเทศนั้นๆ เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ต้องมีการต่อรองเพื่อทำข้อตกลงในการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดจากการใช้ร่วมกัน โดยผลประโยชน์ที่แบ่งเป็นได้ทั้งตัวเงิน (ค่าธรรมเนียม, ค่าสิทธิ, เงินทุนการวิจัย) และผลประโยชน์ที่ไม่เป็นตัวเงิน (การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการร่วมเป็นเจ้าของสิทธิบัตร) โดยในอดีต ประเทศไทยเคยเสียผลประโยชน์จากกรณีนักวิจัยชาวญี่ปุ่น เก็บเอาต้นเปล้าน้อยไปวิจัยพัฒนาเป็นยารักษาโรคกระเพาะอาหาร โดยไม่สามารถเรียกร้องใดๆได้
 
 
 
ศาลฎีกาญี่ปุ่นตัดสิน-การบังคับร้องเพลงชาติชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
 
ศาลฏีกาญี่ปุ่นสั่งยกคำร้อง 2 คดีที่มาจากครูและนักวิชาการด้านการศึกษา 375 คน ที่ฟ้องร้องให้หยุดการบังค้บให้ร้องเพลง "คิมิงะโยะ" ซึ่งเป็นเพลงชาติของญี่ปุ่นในโรงเรียน โดยศาลมีมติเห็นชอบ 4-1 ว่าการบังคับร้องเพลงชาติดังกล่าวเป็นสิ่งที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ และไม่ได้เป็นการละเมิดเสรีภาพทางความคิด ตามที่กลุ่มผู้ฟ้องร้องคดีนี้อ้างถึง อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้เป็นที่ถกเถียงกันมานานในญี่ปุ่น ในหลายกรณี ครูที่ต่อต้านเพลงนี้จะถูกตำหนิ ถูกตัดเงินเดือน หรือถูกสั่งพักงาน
 
จากข้อมูลของสารานุกรมวิกิพีเดียไทยระบุว่า "แม้ว่าเพลงคิมิงะโยะจะเป็นเพลงชาติของญี่ปุ่นโดยพฤตินัยมานานแล้วก็ตาม แต่การรับรองฐานะทางกฎหมายเพิ่งจะมีขึ้นในปี ค.ศ. 1999 จากการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยธงชาติและเพลงชาติของญี่ปุ่นในปีนั้น ซึ่งหลังจากการผ่านกฎหมายดังกล่าว ก็ได้มีข้อขัดแย้งเกี่ยวกับการขับร้องและบรรเลงเพลงชาติในโรงเรียนต่างๆ ของญี่ปุ่นขึ้น กล่าวคือ เพลงคิมิงะโยะถูกอ้างถึงในฐานะสัญลักษณ์ของลัทธิจักรวรรดินิยมและลัทธิทหารของญี่ปุ่น"
 
ที่มา: ประชาไท
 
 
ศาลยุโรปหนุนสวีเดนลงโทษคนแจกใบปลิวให้ร้ายเกย์-ชี้ไม่เป็น Free Speech
 
ศาลสิทธิมนุษยชนของยุโรปให้การสนับสนุนสวีเดนในการตัดสินลงโทษผู้ที่เผยแพร่เอกสารหรือข้อความที่แสดงความเกลียดชังต่อชาวเกย์ โดยศาลสิทธิมนุษยชนของยุโรปเปิดเผยว่า ประเทศต่างๆ สามารถลงโทษผู้ที่เผยแพร่แจกจ่ายสิ่งที่แสดงความเกลียดชังต่อชาวเกย์ โดยไม่ถือว่าการลงโทษดังกล่าวนี้เป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก หลังจากที่นายทอร์ เฟรดริค เวชเดแลนด์, มาติอัส ฮาร์ลิน, บียอร์น ตาง, และนิคลาส ลุนด์สตรอมได้ยื่นอุทธรณฺ์ต่อศาลสิทธิมนุษยชนของยุโรป กรณีศาลฎีกาของสวีเดนตัดสินทั้งสี่ในข้อหา 'ปลุกปั่นต่อต้านกลุ่มทางเชื้อชาติหรือเผ่าพันธุ์'  โดยอ้างว่ากฏหมายของสวีเดนละเมิดเสรีภาพในการแสดงความเห็นของพวกเขาภายใต้มาตรา 10 ของอนุสัญญาแห่งสหภาพยุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน  หลังผู้ต้องหาทั้งสี่คนถูกจับกุมในโรงเรียนขณะที่กำลังแจกจ่ายใบปลิวต่อต้านเกย์ในปี 2004 ข้อความในใบปลิวระบุว่า เกย์เป็นพวกตัวประหลาดเบี่ยงเบนทางเพศที่ทำให้ศีลธรรมในสังคมเสื่อมทราม นอกจากนี้แล้ว ยังบอกว่าการเป็นเกย์ก่อให้เกิดเชื้อ HIV และโรคเอดส์ 
 
คดีดังกล่าวนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ศาลยุโรปต้องทำหน้าที่ตัดสินคดีที่เกี่ยวกับ "โทสวาท" (Hate Speech) ซึ่งทางศาลยังได้กล่าวอีกว่าการเผยแพร่ข้อความโฆษณาชวนเชื่อให้เกลียดชังชาวเกย์นั้นไม่ได้ถูกปกป้องโดยเสรีภาพในการแสดงความเห็น ตามมาตรา 10 ของอนุสัญญาฯ
 
ที่มา: ประชาไท