“วรเจตน์ ภาคีรัตน์” แกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ ถูกชาย 2 คนทำร้าย ในมธ.
“วรเจตน์ ภาคีรัตน์” แกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ ถูก 2 คนร้ายทำร้ายร่างกายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชื่อสาเหตุมาจากเคลื่อนไหวให้มีการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเวลา 15.45 น. ขณะที่ นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และแกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ เดินอยู่หน้าโรงอาหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีชาย 2 คนใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ เมื่อสบโอกาส 1 ใน 2 คนร้ายได้ตะโกนใส่หน้าว่า “กูมารอตั้งแต่เช้าแล้ว” ก่อนวิ่งเข้าด้านหลังและชกเข้าที่ใบหน้าด้านขวา ซึ่งขณะนั้นมีเพื่อนอาจารย์ที่เห็นเหตุการณ์เข้ามาช่วยขวางได้ทัน ขณะที่คนร้ายอีกคน ตรงเข้าด้านหน้าและชกเข้าที่ใบหน้าถูกบริเวณคิ้วขวาจนแว่นสายตาแตก ก่อนที่คนร้ายทั้งสองจะขี่รถจักรยานยนต์หลบหนีไป และยืนยันไม่เคยรู้จักและเห็นหน้าคนร้ายมาก่อน
นายวรเจตน์ เชื่อว่าสาเหตุเกิดจากการที่ตนและกลุ่มนิติราษฎร์ออกมาเคลื่อนไหวให้มีการแก้กฎหมายอาญา มาตรา 112 เชื่อว่าคนที่ไม่เข้าใจได้อ่านร่างที่ตนเสนอจะเข้าใจมากขึ้น แต่ถึงแม้จะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นก็จะเดินหน้าล่ารายชื่อประชาชนให้ครบ 10,000 รายชื่อ เพื่อยื่นต่อวุฒิสภา ทำการพิจารณาต่อไป ก่อนจะนำใบรับรองเป็นหลักฐานแจ้งความที่ สน.ชนะสงครามตามจับกุมคนร้ายต่อไป
เบื้องต้นแพทย์โรงพยาบาลธนบุรี 1 ระบุหลังจากตรวจอาการนายวรเจตน์มีอาการบวมแดง ช้ำและถลอก จากการถูกชกบริเวณเหนือคิ้วขวา และมีรอยเล็บข่วนใบหน้าเป็นทางยาวประมาณ 5 เซนติเมตร
รวมปฏิกริยาต่อการทำร้าย วรเจตน์ ภาคีรัตน์
พ่อน้อง"เฌอ" เดินเท้า"เมตตาบาทา"ชม.-ฝาง หลังถูกพระฟ้องหมิ่นประมาท
นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ บิดาของ "เฌอ" หรือนายสมาพันธ์ ศรีเทพ เดินเท้า "เมตตาบาทา"ถึงอ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา และสอบปากคำเพิ่มเติม ในกรณีที่ถูกพระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพหรือตัวอักษร อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328
การฟ้องร้องในครั้งนี้เกิดจากกรณีที่มีการโต้เถียงกันในเฟซบุ๊ค ตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2554 ในช่วงเหตุการณ์น้ำท่วม โดยข้อความของพระกิตติศักดิ์มีการพาดพิงถึงผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในเดือนพฤษภาคม 2553 ทำให้นายพันธ์ศักดิ์ไม่พอใจ และได้โพสต์ข้อความโต้ตอบกลับไป นำไปสู้การแจ้งความโดยพระกิตติศักดิ์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2554
นายพันธ์ศักดิ์ได้เข้ารายงานตัวต่อพ.ต.ท.ธนพล ธนธารีนนท์ พนักงานสอบสวนสภ.ฝาง หลังรับทราบข้อกล่าวหาและสอบปากคำเพิ่มเติม นายพันธ์ศักดิ์ได้ให้การปฏิเสธในทุกข้อกล่าวหา โดยพนักงานสอบสวนได้นัดหมายอีกครั้งในวันที่ 12 มีนาคม 2555 เพื่อมาเซ็นต์รับทราบสำนวนการส่งฟ้องในชั้นของอัยการต่อไป
เครือข่ายแรงงานฯ เรียกร้องค่าจ้าง 300 บาท ต้องเท่ากันทั่วประเทศทันที
เครือข่ายแรงงานฯ เรียกร้องค่าจ้าง 300 บาท ต้องเท่ากันทั่วประเทศทันที ชี้ค่าครองชีพต่างจังหวัดไม่ได้ถูกกว่า พร้อมแนะนายจ้าง ขยับขึ้นค่าจ้างตามฝีมือ-อายุงาน
เครือข่ายแรงงานเพื่อการปฏิรูปค่าจ้างที่เป็นธรรม ประกอบด้วย สภาองค์กรลูกจ้าง สหพันธ์แรงงาน สหภาพแรงงานในย่านอุตสาหกรรมต่าง ๆ และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จำนวนกว่า 1,000 คน ชุมนุมเรียกร้องให้มีการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ขึ้นค่าจ้าง 300 บาทนำร่องใน 7 จังหวัด ตั้งแต่ 1 เมษายนนี้ ขณะที่จังหวัดอื่นปรับขึ้นอีกประมาณร้อยละ 40 โดยรวมตัวที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ก่อนเดินทางไปยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงน.ส.ลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่หน้าทำเนียบรัฐบาล
ชงปรับ พ.ร.บ.ฉุกเฉินให้เป็นไปตามสากล
นายประสพ บุษราคัม ประธานคณะกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ของประธานสภาผู้แทนราษฎร (กปพ.) เปิดเผยว่า กปพ.ได้ทำการศึกษาพบว่าควรมีการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยจะเสนอเป็นร่าง พ.ร.บ.การแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ....(ยังไม่สามารถระบุปีได้) มีหลักการสำคัญเพื่อยก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเสนอปรับปรุงนิยามสถานการณ์ฉุกเฉินใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ปรับปรุงองค์ประกอบคณะกรรมการใหม่ และกำหนดให้มีการชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และตั้งหน่วยงานพิเศษถาวรขึ้นมาจัดการเรื่องการดูแลและสลายการชุมนุมและกำหนดข้นตอนการสลายการชุมนุมให้เป็นไปตามหลักสากล เป็นต้น
นายประสพ กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้เพราะที่ผ่านมามีการใช้กำลังทหารเข้าไปสลายการชุมนุม ซึ่งถือว่าไม่มีความเหมาะสมตามหลักสากล ทำให้เกิดความสูญเสีย ดังนั้น ควรมีการปรับปรุงเพื่อให้มีการตั้งหน่วยงานเข้าดูแลเรื่องนี้เป็นการเฉพาะแทน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหากยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินจริงจะไม่ส่งผลต่อการบังคับใช้กฎหมาย และการควบคุมสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่เดิมอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ เพราะยังมี พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551แทน.
ศาลสั่งจำคุกสนธิ 20 ปีไม่รอลงอาญา
ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.1036/2552 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ในเครือผู้จัดการ และ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย , นายสุรเดช มุขยางกูร อดีตกรรมการบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ,น.ส.เสาวลักษณ์ ธีรานุจรรยงค์ อดีตผู้บริหารแผนฟื้นฟู บมจ. แมเนเจอร์ฯ และ น.ส.วยุพิน จันทนา อดีตกรรมการกรรมการ บมจ. แมเนเจอร์ฯ เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานกระทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 307, 311, 312 (1) (2) (3) , 313
หลังศาลมีคำพิพากษาแล้ว เจ้าหน้าที่ได้คุมตัวนายสนธิ ไปไว้ที่ห้องพักจำเลย โดยนายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความนายสนธิ ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ เป็นกรมธรรม์ประกันอิสรภาพ มูลค่า 10 ล้านบาท เพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์คดี ต่อมาเวลา 17.45 น. ศาลมีคำสั่ง ให้ปล่อยตัวชั่วคราวนายสนธิ พร้อมจำเลยร่วม โดยตีราคาประกันคนละ 10 ล้านบาท
พิพากษาจำคุก 7 ปีครึ่ง “สุรชัย แซ่ด่าน” ยังเหลืออีก 2 คดี
28 ก.พ.55 ที่ห้องพิจารณาคดี 801 ศาลอาญา รัชดา เวลา 10.45 น. ผู้พิพากษา นำโดยนายชนาธิป เหมือนพะวงศ์ พร้อมองค์คณะนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษา คดีที่อัยการฟ้องนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (แซ่ด่าน) อายุ 69 ปี กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ใน 3 คดี ซึ่งเป็นการปราศรัยใน 3 จุด ได้แก่ อิมพีเรียล ลาดพร้าว, อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ และ จ.อุดรธานี ซึ่งนายสุรชัยได้ร้องขอต่อศาลให้พิจารณาพร้อมกันทั้งหมดและได้รับสารภาพในทุกคดีแล้ว ทั้งนี้ ในวันนี้มีผู้เข้าฟังผลการตัดสินจนเต็มห้องพิจารณาคดี
ศาลได้อ่านคำพิพากษาแต่ละคดีโดยไม่ได้อ่านทวนเนื้อหาที่โจทก์ฟ้อง ระบุเหตุผลว่า พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับการสืบเสาะแล้วเห็นว่าแม้จะกระทำความผิดขณะอายุ 68 ปี แต่จำเลยมีบทบาททางการเมืองมายาวนาน และจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เคยเป็นสมาชิก อบจ.นครศรีธรรมธรรม เป็นผู้มีวุฒิภาวะ อีกทั้งช่วงเกิดเหตุสังคมกำลังมีความขัดแย้งทางความคิดอย่างรุนแรง การที่จำเลยกล่าวถ้อยคำดังกล่าวยิ่งทวีความขัดแย้งให้มากขึ้น และเป็นการให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์
ศาลพิพากษา ลงโทษจำคุกจำเลยใน 3 คดี คดีละ 5 ปี แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพจึงลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือคดีละ 2 ปี 6 เดือน ศาลระบุอีกว่า เนื่องจากจำเลยเคยต้องโทษมาแล้วหลายครั้งแต่ไม่หลาบจำ ไม่สมควรรอการลงโทษ คงเหลือโทษจำคุกทั้งสิ้น 7 ปี 6 เดือน