ตร.ปลื้มสถิติโพสต์หมิ่นลด
วันที่ 14 มีนาคม ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึง ผลการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและเฝ้าระวังการเสนอข้อมูลข่าวสารที่ผิดกฎหมายหรือไม่เหมาะสมผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่มี พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา ที่ปรึกษา(สบ 10) ด้านความมั่นคง เป็นประธาน เมื่อวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา ว่า ตั้งแต่วันที่ 7 ธ.ค.54-12 มี.ค.55 ได้ตรวจพบการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ไม่เหมาะสมและส่งข้อมูลให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสาร หรือ ICT ซึ่งได้ดำเนินการส่งเรื่องไปยังศาล และศาลได้มีคำสั่งปิดกั้นเว็บไซต์ที่มีข้อมูลไม่เหมาะสมดังกล่าว 28 ครั้ง จำนวน 5,064 URL
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมยังตรวจพบว่าสถิติการโพสต์ข้อความเหมาะสมหรือหมิ่นสถาบันมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนธ.ค.54-มี.ค.55 โดยเฉพาะในเดือนมี.ค.55 มีจำนวนครั้งที่มีการโพสต์ข้อความไม่เหมาะสมต่ำที่สุดและมีแนวโน้มจะลดน้อยลงไปอีก ขณะเดียวกันพบว่าการตรวจสอบการค้นหาคำที่ไม่เหมาะสมผ่านเว็บไซต์Google.com ก็ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน แสดงให้เห็นว่าการเฝ้าระวังติดตามของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นตำรวจ กระทรวงICT และบริษัทผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตหรือISP มีประสิทธิภาพและได้ผล
ที่มา : เนชั่นทันข่าว
ผ่าร่างคุ้มครองผู้เสียหายฯ จุดยืนต่างขั้ว “หมอ-ประชาชน”
ที่สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย - คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) จัดประชุมรับฟังความเห็นต่อร่างกฎหมายที่ประชาชนเข้าชื่อ 2 ฉบับ ว่าด้วยการคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข โดยได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล รองประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานเข้าชื่อเสนอกฎหมายร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากระบบบริการสาธารณสุข พ.ศ....นางสาวปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนาประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ในฐานะคณะทำงานเข้าชื่อเสนอกฎหมายร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ....
พญ.อรพรรณ์ เปิดเผยว่า ร่างกฎหมายภาคประชาชนมีเจตนาที่มุ่งร้ายต่อสังคมไทย หากพิจารณาตามมาตรา 50 ระบุระหว่างที่ยังไม่คณะกรรมการให้มีคณะกรรมการเฉพาะกิจ ให้มีเอ็นจีโอ 5 คนและผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งพ.ร.บ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พ.ร.บ.การสร้างเสริมสุขภาพ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ร.บ. คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ พ.ร.บ.สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ร.บ.รับรองสถานพยาบาล และร่าง พ.ร.บ.ภาคประชาชน จึงไม่มีความยึดโยงกับภาคประชาชนผู้แทนที่มาจากเอ็นจีโอก็ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าจะเป็นผู้แทนของประชาชนอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังพบว่าในพ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ได้ให้อำนาจกับรัฐมนตรีทำให้การบริหารราชการแผ่นดินไม่บรรลุเป้าหมาย จึงเห็นว่าควรเพิกถอน พ.ร.บ. ข้างต้นทั้งหมดเนื่องจากไม่มีความจำเป็นและมองว่าระบบเดิมดีอยู่แล้ว หากพบบกพร่องตรงจุดใดก็ให้แก้ไขตรงนั้นเป็นกรณีไป ดังนั้นจึงขอให้ คปก.พิจารณาทบทวน พ.ร.บ. ข้างต้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2535อีกครั้ง
“สังคมไทยต้องพิจารณาความรับผิดที่เป็นการจำเพาะ มาตรฐานวิชาชีพสังคม โดยขณะนี้มี พ.ร.บ.วิชาชีพแล้วแม้จะล่าช้าแต่เทียบกับความเป็นธรรม กฎหมายแพ่งและอาญายังทำหน้าที่ได้ ซึ่งหากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐก็สามารถใช้พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯได้ ขณะที่ความเสียหาย ความบกพร่องทางการรักษา มาตรฐานของภาวะวิสัยในสังคม กล่าวถึงคนให้เป็นโทษเกินจริงเพียงเพราะอยากตั้งกองทุน คณะกรรมการสามารถสั่งจ่ายได้ตามแต่กำหนด อีกทั้งยังมีการบังคับค่าชดเชยค่าเสียหาย ดอกเบี้ย รวมถึงยึดสถานพยาบาล ตรงจุดนี้รับไม่ได้” พญ.อรพรรณ์ กล่าว
นางสาวปรียานันท์ กล่าวว่า เมื่อเกิดความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ ไม่ปรากฏความรับผิดชอบที่น่าพอใจภาระตกอยู่กับประชาชนผู้รับบริการ แม้ว่าประชาชนผู้เสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์จะใช้กระบวนการทางกฎหมายเพื่อร้องขอความเป็นธรรม ทั้งอาศัย พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ ยังเกิดปัญหาความไม่เป็นธรรม ความไม่เสมอภาค และมีภาระการพิสูจน์ กระบวนการพิจารณา การไกล่เกลี่ย ภาระจึงตกแก่ผู้เสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ทั้งสิ้น จึงเห็นควรให้ยกร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ.... เพื่อชดเชยผู้เสียหายจากการใช้บริการสาธารณสุข และ เพื่อลดการฟ้องร้องของผู้ป่วยต่อแพทย์และสถานพยาบาล และความขัดแย้งในปัจจุบันโดยเฉพาะการกำหนดวงเงินเยียวยา
“ที่มาเงินกองทุนส่วนหนึ่งจะมาจากเงินสมทบจากสถานพยาบาลเอกชน โดยเรียกเก็บเมื่อต่อทะเบียนใบอนุญาตประจำปี รวมถึงเงินสมทบจากกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามาตรา 41 และรัฐบาลจ่ายจากงบประมาณรวม” นางสาวปรียานันท์ กล่าว
อ่านเพิ่มเติม : ประชาไท
ปชป.เสนอยึด 8 ข้อแก้ปัญหาไฟใต้
นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดูแลพื้นที่ภาคใต้ กล่าวถึงแนวนโยบายของพรรคฯ ในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ภาคใต้หลังจากพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคมาตุภูมิ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ระบุว่าจะนำเสนอการแก้ไขปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ร่วมไปกับรายงานของ กมธ.ปรองดองด้วยว่า พรรคประชาธิปัตย์ยังยึดมั่นแนวทางการแก้ไขปัญหาภาคใต้รวม 8 ข้อคือ 1. ยึดมั่นในพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ "เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา" 2. การใช้นโยบายการเมืองนำการทหาร 3. ยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา และใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 4. ยกเลิกการใช้กำลังทหารจากกองทัพภาค 1 ภาค 2 ภาค 3 กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 4 อำเภอของสงขลา และใช้กองกำลังจากกองทัพภาค 4 รวมถึงกองอาสารักษาดินแดนกรมการปกครองแทน
5. สนับสนุน ส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 4 อำเภอของสงขลา รับราชการและทำหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มากขึ้น โดยเฉพาะตำแหน่งในสายการบริหารในระดับจังหวัด 6. ให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นหน่วยงานหลักในการให้ความยุติธรรม เป็นธรรม การฟื้นฟู เยียวยาแก่ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัด 4 อำเภอของสงขลา 7. ยืนยันว่า เราไม่เห็นด้วยกับการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2548-2553 จำนวน 7.75 ล้านบาทเป็นการเฉพาะ แต่ไม่จ่ายเงินให้ พลเรือน ตำรวจ ทหาร และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งต้นเหตุของการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นจากนโยบายที่ผิดพลาดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 5 พันคน และ 8. พรรคคัดค้านการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษหรือร่าง พ.ร.บ.ปัตตานีมหานคร เนื่องจากมี ศอ.บต. และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) อยู่แล้ว
ที่มา : เนชั่นทันข่าว
กรรมการแก้กฎหมายสภาฯสรุปผลศึกษาส่งสมศักดิ์ 23 มี.ค.
นายประสพ บุษราคัม ประธานคณะกรรมการการปรับปรุงด้านพัฒนากฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน (กปพ.) ที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งขึ้น เปิดเผยว่า วันที่ 23 มี.ค. นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้นัดให้ตนมอบผลการศึกษากฎหมาย ประกอบด้วย กฎหมายที่ออกโดยสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 191 ฉบับ ซึ่งออกโดยขัดกับรัฐธรรมนูญ เนื่องจากองค์ประชุมในการโหวตให้ผ่านกฎหมายดังกล่าว กลับมาจาก สนช.ที่ไม่ครบองค์ประชุม
นอกจากนี้ ยังเสนอให้แก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับการบังคับใช้จริงในสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปี 2548 พ.ร.บ.โรงรับจำนำ พ.ร.บ.การเกณฑ์ทหาร พ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ร.บ.การพนัน และการเสนอพ.ร.บ.ค้าปลีก กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่ง พ.ศ.
สำหรับการแก้ไขพ.ร.บ.การพนัน ซึ่งมีการบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2490 โดยไม่มีการแก้ไขเรื่องการพนันบางประเภทที่ยกเลิกไปแล้ว จะได้ให้มีการออกกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อครอบคลุมการพนันในรูปแบบปัจจุบันให้มากขึ้น รวมทั้ง การพนันบอลและการแทงพนันออนไลน์ข้ามประเทศ รวมถึงในส่วนการแก้ไขพ.ร.บ.เกณฑ์ทหาร ซึ่งปัจจุบันนี้คนเข้ารับเกณฑ์ทหารกลับมีจำนวนเกินความต้องการของกองทัพแล้ว ซึ่งจะแก้ไขให้เป็นการรับสมัครโดยวิธีสมัครใจเข้ามาเป็นทหารอาชีพ
ด้าน พ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาล จะมีการเสนอให้ออกหวยออนไลน์ เพราะประชาชนสามารถเลือกเลขตามใจขอบได้จำนวน 6 หลัก ณ ที่ตู้ขายหวย และยังจะให้เล่นหวยแบบล็อตโต้ได้ด้วย ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาการผูกขาดการขายหวยจากผู้มีอิทธิพล 5 เสือ และป้องกันการขายหวยที่มีราคาแพง อย่างไรก็ตาม การเสนอกฎหมายค้าปลีกนั้น ก็เพื่อช่วยเหลือผู้ค้าปลีกรายย่อยดั้งเดิมของไทยให้สามารถแข่งขันกับธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (โมเดิร์น เทรด) และจะห้ามมิให้การโอนเงินผลกำไรออกนอกประเทศเป็นระยะเวลา 10 ปี
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขพ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น จะเปลี่ยนแปลงโดยห้ามไม่ให้ทหารออกมาทำหน้าที่สลายการชุมนุม โดยต้องเป็นหน้าที่ของตำรวจและข้าราชการพลเรือน ที่ได้รับการฝึกอบรมการสลายการชุมนุมจากกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งจะกำหนดขั้นตอนการสลายการชุมนุมจากอ่อนไปเข้ม โดยห้ามใช้กระสุนจริง
ขณะที่การทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ หากเป็นการป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมายจนมีผู้ชุมนุมเสียชีวิตก็ไม่มีความผิด แต่หากเจ้าหน้าที่กระทำโดยทุจริต จับซ้อมจนผู้ชุมนุมเสียชีวิตและบาดเจ็บ ก็เปิดโอกาสให้ญาติหรือผู้เสียหาย สามารถเอาผิดแก่เข้าหน้าที่ดังกล่าว รวมทั้งเรียกร้องค่าเสียหายได้
นายประสพ กล่าวอีกว่า หลังจากมอบกฎหมายทั้งหมดต่อประธานสภาฯเรียบร้อยแล้ว เชื่อว่าก็จะสามารถแก้กฎหมายได้ 3 ช่องทาง คือ 1.โดยสส. จำนวน 20 คน สามารถเสนอแก้ไขต่อประธานสภาฯ แล้วบรรจุเป็นวาระ 2.หากประชาชนสนใจก็สามารถมาขอกฎหมายและไปรวบรวมรายชื่อประชาชน 1 หมื่นรายชื่อ เพื่อเสนอแก้ไขกฎหมายตามช่องทางของรัฐธรรมนูญ 3.รัฐบาลหากสนใจก็นำเข้าครม. และให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กลั่นกรองก่อนเสนอสู่การพิจารณาในรัฐสภาต่อไป
ที่มา : โพสต์ทูเดย์
ยกเลิกสืบพยาน ‘10 เอ็นจีโอปีนสภา’ ค้าน สนช. นัดใหม่ปีหน้า
วันที่ 15 มี.ค.55 นางสาวชันษา สุพรรณเมือง ทีมเลขาทนายจำเลย คดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายจอน อึ๊งภากรณ์ กับพวกรวม 10 คน กรณีเหตุการณ์ในปี 2550 ที่ผู้ชุมนุมนับพันคัดค้านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เร่งผ่านกฎหมายสำคัญก่อนหมดวาระ โดยมีการปีนรั้วเข้าไปนั่งชุมนุมบริเวณหน้าห้องประชุมภายในอาคารรัฐสภา เผยว่า ศาลได้ยกเลิกนัดสืบพยานที่เหลืออีก 12 วัน ไปสืบต่อในช่วงวันที่ 15 ม.ค.-15 มี.ค.56 โดยอัยการขอเลื่อนสืบพยานโจทก์ 2 ปากออกไป และแถลงว่าติดใจสืบพยานเพิ่มเติมอีกรวมเป็น 38 ปาก โดยที่โจทก์ไม่สามารถติดตามตัวพยานทั้งหมดให้ทันตามกำหนดนัดได้ จึงขอยกเลิกวันนัดสืบพยานโจทก์และวันนัดสืบพยานจำเลย และขอนัดวันสืบพยานโจทก์และสืบพยานจำเลยใหม่
คดีดังกล่าว ศาลรับฟ้องเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.53 เป็นคดีดำที่ อ.4383/2553 ฟ้องร้องว่าผู้ชุมนุมละเมิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (กระทำการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล สร้างความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน) มาตรา 215 (มั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง) มาตรา 362 (เข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น) มาตรา 364 (เข้าไปในเคหะสถานโดยไม่มีเหตุอันควรและไล่ไม่ยอมออก) มาตรา 365 (ใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่ว่าจะประทุษร้ายในการกระทำตามมาตรา 362, 364)
จำเลยในคดีได้แก่ นายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตประธานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม อดีตประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และเคยได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการภาครัฐ นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายพิชิต ไชยมงคล นายอนิรุทธ์ ขาวสนิท นายนัสเซอร์ ยีหมะ นายอำนาจ พละมี นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย และประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ นักกิจกรรมด้านสื่อ ปัจจุบันเป็นหนึ่งใน กสทช
ที่มา : ประชาไท
"เฉลิม" ยันปรองดองจะเกิดขึ้นได้ต้องออกเป็นพ.ร.บ.
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าในการเสนอร่างพ.ร.บ.ปรองดอง ว่า ตนไม่ขอพูดเรื่องนี้ แต่การเสนอนั้นจะเสนอคนละส่วนกับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองแห่งชาติ เพราะตนมองว่าการที่จะสร้างความปรองดองนั้นจะมาทำเป็นความเห็นไม่ได้ เพราะไม่มีใครเชื่อ เนื่องจากต่างแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เมื่อผลออกมาไม่ตรงกับใจก็ไม่ยอมรับ ต้องออกเป็นกฎหมายผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ดังนั้นเมื่อออกเป็นพ.ร.บ.ก็จะปฏิเสธไม่ได้ เพราะเป็นกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะถูกมองว่าเป็นการมัดมือชกหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ตนไม่ขอพูด แต่สิ่งที่ตนพูดนั้นพูดในฐานะนักกฎหมาย ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทยจะเดินทางไปพบพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ประเทศกัมพูชานั้น ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ตนไม่ทราบเพราะไม่ได้ไปด้วย และถ้าหากตนแสดงความคิดเห็นสื่อบางฉบับก็จะเอาไปโจมตีตนอีกว่าจะถูกปลดออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ ตนมองว่าตำแหน่งทางการเมืองนั้นไม่ใช่สมบัติ จะมีการปรับเปลี่ยนเมื่อไหร่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี
ที่มา : เนชั่นทันข่าว
เพนซิลเวเนียออกกฎ โชว์บัตรประชาชน ก่อนเลือกตั้งปธน.
ผู้ว่าการรัฐเพนซิลเวเนีย ลงนามอนุมัติบังคับใช้กฎหมายท้องถิ่นฉบับใหม่ ให้ประชาชนแสดงบัตรประจำตัวประชาชน ก่อนลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ วันที่ 6 พ.ย. นี้ เพื่อป้องกันการทุจริต...
นายทอม คอร์เบตต์ สมาชิกพรรครีพับลิกันและผู้ว่าการรัฐเพนซิลเวเนียของสหรัฐฯ ลงนามอนุมัติการบังคับใช้กฎหมายท้องถิ่นฉบับใหม่ที่บังคับให้ประชากรในรัฐต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนที่มีภาพถ่ายระบุตัวตนชัดเจนก่อนลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 6 พ.ย. ขณะที่ ผู้ไม่มีบัตรพร้อมภาพถ่ายจะหมดสิทธิ์ลงคะแนนทันที และนายคอร์เบตต์ระบุว่า ก.ม.ฉบับนี้จะช่วยป้องกันการทุจริตเลือกตั้งในกรณีที่มีผู้สวมสิทธิ์บุคคลอื่นไปลงคะแนนเสียงแทน ทว่า องค์กรส่งเสริมสิทธิพลเมืองในสหรัฐฯ ระบุว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีรายงานการสวมสิทธิเลือกตั้งเกิดขึ้นในรัฐเพนซิลเวเนียมาก่อน ทำให้การบังคับใช้ ก.ม.นี้ไม่สมเหตุสมผล
ส่วนกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตเตรียมยื่นเรื่องต่อศาลให้พิจารณาระงับหรือยกเลิกการบังคับใช้ ก.ม.นี้ โดยให้เหตุผลว่าเป็น ก.ม.ที่กีดกันผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ไม่มีเงินจ่ายค่าธรรมเนียมทำบัตรแสดงตัวตนแบบใหม่มิให้ใช้ สิทธิ์ของตัวเองได้ตามที่ควรจะเป็น ขณะที่รัฐเพนซิลเวเนียเป็นรัฐแรกที่ประกาศใช้ ก.ม.นี้ หลังมีความพยายามผลักดันในรัฐอื่นๆ ทั้งเท็กซัส แคนซัส วิสคอนซิน และ เซาท์แคโรไลนา แต่ถูกคัดค้านอย่างหนัก โดยเฉพาะในรัฐเท็กซัสและเซาท์แคโรไลนา ซึ่งระบุว่า การบังคับใช้ ก.ม.อาจส่งผลให้ชาวอเมริกันเชื้อสายฮิสแปนิกจำนวนมากเสียโอกาสในการเลือกตั้ง เพราะไม่มีบัตร ขณะที่ผลสำรวจความเห็นบ่งชี้ว่าประชากรกลุ่มนี้จะเลือกพรรคเดโมแครตมากกว่าพรรครีพับลิกัน.
ที่มา : ไทยรัฐ
วงดนตรีเม็กซิกันถูกแบนหลังร้องเพลงยกย่องอาชญากร
วงดนตรีชื่อดังในเม็กซิโกถูกรัฐบาลท้องถิ่นห้ามจัดแสดงคอนเสิร์ตต่อสาธารณชน หลังร้องเพลงที่มีเนื้อหายกย่องชื่นชมอาชญากร
รัฐบาลท้องถิ่นเมืองชิวาว่า ประเทศเม็กซิโก สั่งห้ามวงโลส ไตเกรส เดล นอร์เต้ (Los Tigres Del Norte) วงดนตรีพื้นเมืองชื่อดังของเม็กซิโก จัดแสดงในที่สาธารณะ โดยกล่าวหาว่าวงไตเกรสละเมิดกฎหมายการห้ามร้องเพลงประเภทนาร์โก้ กอร์ริโด้ ซึ่งเป็นเพลงเพื่อชีวิตที่มักมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของแก๊งมาเฟียและขบวนการค้ายาเสพย์ติด
เพลงที่ทำให้วงไตเกรสถูกสั่งห้ามแสดง ได้แก่เพลง ลา เรอิน่า เดล ซูร์ หรือ "ราชินีแห่งแดนใต้" ซึ่งมีเนื้อหาที่นำเสนอชีวิตของเทเรซ่า เมนโดซ่า ตัวละครหญิงในนวนิยายชื่อดังของสเปนที่เป็นนักค้ายาเสพย์ติดรายใหญ่ของยุโรปในแง่ของการชื่นชมยกย่อง
ทั้งนี้ วงโลส ไตเกรส เดล นอร์เต้ เป็นวงดนตรีแนวหน้าในวงการเพลงเพื่อชีวิตของประเทศ ซึ่งเคยได้รับรางวัลแกรมมีของเม็กซิโกถึง 6 รางวัล และมีผลงานเพลงแนวเพื่อชีวิตถึงกว่า 30 เพลง แต่มีเพียงเพลงลา เรอิน่า เดล ซูร์เท่านั้นที่ถูกตัดสินว่าเข้าข่ายละเมิดกฎหมาย
ที่มา : VOICE TV
เฟซบุ๊ก-กูเกิลเตรียมขึ้นศาลอินเดียฐานไม่ยอมคัดกรองข้อมูล
กูเกิลและเฟซบุ๊กเตรียมขึ้นศาลอินเดีย หลังถูกกล่าวหาว่าข้อมูลบนเว็บไซต์มีเนื้อหาไม่เหมาะสม ซึ่งหากพบว่ามีความผิดจริง ผู้บริหารของบริษัททั้งสองก็อาจจะต้องโทษจำคุก
ตัวแทนจากบริษัทกูเกิลและบริษัทเฟซบุ๊กเตรียมขึ้นศาลประเทศอินเดีย หลังถูกนายวิเนย์ ราย ผู้สื่อข่าวของอินเดียฟ้องร้องเว็บไซต์ 12 แห่ง รวมถึงเฟซบุ๊ก ยูทูป เครือข่ายสังคมออนไลน์อาร์คุต และเว็บไซต์รายย่อยๆ ของอินเดียอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก ว่ามีเนื้อหาที่จะก่อให้เกิดศัตรู ความเกลียดชัง และความรุนแรงในวงกว้าง รวมถึงจะทำให้ค่านิยมของคนเสื่อมทรามลง จากการล้อเลียนและดูหมิ่นสัญลักษณ์ของศาสนาฮินดู มุสลิม และคริสต์
อย่างไรก็ตาม ทั้งกูเกิลและเฟซบุ๊กออกมาตอบโต้ว่า กฎหมายการสื่อสารและเทคโนโลยีของอินเดียได้ปกป้องให้เว็บไซต์ต่างๆ ไม่ต้องรับผิดในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่มีผู้ใช้โพสต์ขึ้นบนอินเทอร์เน็ต แต่พวกเขาก็รับทราบว่า มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบลบข้อมูลตามที่ได้รับการแจ้ง แต่จะให้บริษัทเป็นผู้คัดกรองข้อมูลเพียงฝ่ายเดียวนั้นเป็นไปไม่ได้ และนายราย ผู้ฟ้อง ก็ไม่ได้แจ้งมายังบริษัทโดยตรงว่าเนื้อหาส่วนใดเป็นปัญหา แต่กลับไปแจ้งรัฐบาลแทน
ตามกฎหมายของประเทศอินเดีย บริษัทอินเทอร์เน็ตจะต้องลบข้อมูลที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมภายใน 36 ชั่วโมงหลังจากได้รับแจ้ง โดยข้อมูลซึ่งถูกจัดให้อยู่ในประเภทที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมนั้น รวมถึงการดูถูกชาติพันธุ์ การก่อผลเสียต่อสังคม การหมิ่นประมาท และการหมิ่นศาสนา
ทั้งนี้ กูเกิลและเฟซบุ๊กได้ยื่นต่อศาลสูงเดลีให้ยกฟ้องคดีดังกล่าวไปแล้ว แต่การไต่สวนจะเริ่มต้นขึ้นในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ โดยหากพบว่า ทั้งสองบริษัทมีความผิดจริง ผู้บริหารของทั้งสองบริษัทก็อาจจะต้องรับโทษจำคุก และบริษัทต้องรับผิดชอบจ่ายเงินค่าปรับตามที่กฎหมายกำหนด ขณะที่ก่อนหน้านี้บริษัทยาฮูประสบความสำเร็จในการยื่นคำร้องว่าทางบริษัทไม่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวแล้ว
ที่มา : VoiceTV