ร่วมลงชื่อ “ขอแบ่งปันพื้นที่สร้างสรรค์ : เราต้องการลิโด้ และสกาล่า”

ร่วมลงชื่อ “ขอแบ่งปันพื้นที่สร้างสรรค์ : เราต้องการลิโด้ และสกาล่า”

เมื่อ 19 มี.ค. 2555

หลังจากมีข่าวว่าสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตรียมแผนที่จะพัฒนาพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงภาพยนตร์ลิโด้ เนื้อที่ 7-8 ไร่ เป็นช็อปปิ้งมอลล์แห่งใหม่ หลังจากสัญญาการเช่าพื้นที่หมดลงในปี 2556 ขณะที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการสยามสแควร์วัน บนเนื้อที่ของโรงภาพยนตร์สยามเดิม ที่ใช้เงินลงทุน 1,800 ล้านบาท

 
จากข่าวนี้ทำให้มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งแสดงความไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะกลุ่มนักดูหนัง ที่มองว่าโรงภาพยนตร์ทั้งสยาม ลิโด้ และสกาล่า เป็นพื้นที่สำหรับงานศิลปะ มีลักษณะเป็นพื้นที่ทางเลือก เพราะไม่ว่าจะเป็นหนังนอกกระแส (หนังสั้น หนังสารคดี หนังรางวัล หนังการเมือง หนังข้ามเพศ ฯลฯ) กิจกรรมสร้างสรรค์ทางสังคม งานเด็กเยาวชน งานสาธารณะ ฯลฯ ต่างก็เคยแวะเวียนมาใช้พื้นที่โรงภาพยนตร์ดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งสามารถเลือกที่จะเสพสุนทรียจากหนังทางเลือกสารพัดประเภทจากทั่วโลกที่ถูกคัดสรรมาจัดฉายที่นี่เป็นการเฉพาะได้
 
นอกจากนี้ กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยยังมองว่า พันธกิจของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยควรเป็นสถาบันที่อบรม ให้ความรู้ ผลิตบุคลากรคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ มากกว่ามุ่งพัฒนาในเรื่องธุรกิจและรายได้เป็นหลักอย่างที่เป็นอยู่
 
ดังนั้นคนกลุ่มหนึ่งในนามผู้บริโภคศิลปวัฒนธรรมทางเลือก จึงเขียนจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องให้สำนักงานจัดการทรัพย์สิน ทบทวนแนวทางการพัฒนาสยามแสควร์ จากแผนที่จะสร้างเป็นตึกอาคารสูงปรับเปลี่ยนมาเป็นการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ที่ดำรงอัตลักษณ์ความเป็นสยาม โดยพัฒนาและปรับปรุงโรงภาพยนตร์ทั้งสองแห่งให้กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ สำหรับการเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย  และเปิดให้ทุกคนร่วมลงชื่อสนับสนุนจดหมายดังกล่าวเพื่อส่งถึงอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
 
 
 
 

“ขอแบ่งปันพื้นที่สร้างสรรค์ : เราต้องการลิโด้ และสกาล่า”

เรียน  อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

1.
สืบเนื่องจากรายงานข่าว “เตรียมไล่รื้อสยามสแควร์ทำช็อปตึกสูง” (http://www.thaipost.net/x-cite/140312/53979) ที่อ้างถึงแนวทางการบริหารที่ดินของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในย่านสยามสแควร์ซึ่งมีพื้นที่รวมประมาณ 60 ไร่ โดยจะมีการเวนคืนที่ดินและพัฒนาที่ดินบริเวณดังกล่าว และเนรมิตให้ย่านสยามสแควร์กลายเป็นวอล์กกิ้งสตรีทแนวสูง ด้วยงบลงทุนกว่า 1,800 ล้านบาทที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าแผนพัฒนาที่ดินดังกล่าวย่อมจะส่งผลกระทบต่อผู้ เช่า ผู้ประกอบการ สถานบริการ ร้านค้าจำนวนมากภายในพื้นที่บริเวณนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
 
และที่สำคัญเราพอจะมองเห็นภาพลางๆ ถึงอนาคตของพื้นที่บริเวณนี้ ในวันที่เต็มไปด้วยตึกสูง อาคารระฟ้า และไม่มีโรงภาพยนตร์ลิโด้ และสกาล่าอีกต่อไป
 
ย่านสยามแสควร์ หรือสยาม เป็นพื้นที่ที่มีชีวิตชีวา สยามไม่เคยขาดสีสัน ความทันสมัย และแน่นอนว่าย่านสยามมีมูลค่าการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงลิ่ว แต่อีกฟากหนึ่งของความเจริญทางวัตถุเหล่านั้น ท่ามกลางความจอแจ ในพื้นที่สยามแสควร์ก็ยังมีพื้นที่เล็กๆ สงบเงียบ และเป็นศูนย์รวมของบรรดาคนรักงานศิลปวัฒนธรรม คนรักการเสพภาพยนตร์ อย่างพื้นที่ “โรงภาพยนตร์ในเครือเอเพ็กซ์” จำนวน 3 โรง คือ สยาม ลิโด้ และสกาล่า ที่แม้ว่าปัจจุบันจะเหลือเพียง 2 โรง(ลิโด้และสกาล่า) ก็ตาม
 
2.
สำหรับบรรดาคนรักหนัง โรงภาพยนตร์ในเครือเอเพ็กซ์ ทั้ง 3 โรง คือพื้นที่สร้างสรรค์และมีอัตลักษณ์ของความเป็นพื้นที่ทางเลือก เพราะไม่ว่าจะเป็นหนังนอกกระแส (หนังสั้น หนังสารคดี หนังรางวัล หนังการเมือง หนังข้ามเพศ ฯลฯ) กิจกรรมสร้างสรรค์ทางสังคม งานเด็กเยาวชน งานสาธารณะ ฯลฯ ต่างก็เคยแวะเวียนมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่โรงภาพยนตร์ดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ
 
ลิโด้ สกาล่า (อันหมายรวมถึงโรงภาพยนตร์สยามด้วย) อาจไม่สามารถตอบสนองโจทย์ทางเศรษฐกิจแก่ผู้ประกอบการ รวมทั้งเจ้าของพื้นที่อย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะคงไม่สามารถแข่งขันกับโรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์น้อยใหญ่ที่ผุดขึ้นราว ดอกเห็ดล้อมหน้าล้อมหลัง และมีกลุ่มผู้บริโภคที่ยินดีจะจ่ายค่าตั๋วราคาแพงแสนแพง
 
หากแต่ผู้บริโภคซึ่งเป็นกลุ่มคนที่อาจมีจำนวนไม่มากนัก แต่ก็มีจำนวนไม่น้อย ผู้บริโภคเหล่านี้ก็นิยม ยินดี และเลือกที่จะเดินเข้ามาใช้บริการโรงภาพยนตร์ในเครือเอเพ็กซ์ ที่มีรูปแบบการบริการแบบญาติ ในราคาคุณธรรม ไม่ขูดรีด และสามารถเลือกที่จะเสพสุนทรียจากหนังทางเลือกสารพัดประเภทจากทั่วโลกที่ถูก คัดสรรมาจัดฉายเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค
 
คุณค่าของพื้นที่ ที่มีอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรม และเสรีภาพเช่นนี้ ยังไม่เพียงพอที่จะต่อลมหายใจของลิโด้ สกาล่า ใช่หรือไม่?
 
3.
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในนามของมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย 
ในนามของมหาวิทยาลัยที่อบรม ให้ความรู้ ผลิตบุคลากรคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ 
“จุฬาลงกรณ์” ยังเป็นมหาวิทยาลัยของประชาชน อยู่ใช่หรือไม่?
 
หรือวันนี้ มูลค่าทางเศรษฐกิจ ธุรกิจต่างๆ และการผลักดันมหาวิทยาลัยก้าวสู่ความก้าวหน้าทันสมัยนั้น ได้ทำให้สถาบันการศึกษาแห่งนี้ หลงลืมพันธกิจ ภาระหน้าที่ของสถาบันการศึกษาที่มีต่อสังคมเสียแล้ว
 
จากเว็บไซด์ http://www.chula.ac.th ปรากฏชัดว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ทำหน้าที่ในการบริการสังคมมากมายหลายด้าน อำนวยความสะดวกและจัดสรรคุณภาพชีวิตของสังคมให้ดีขึ้นมาโดยตลอด” ขณะที่เว็บไซด์ของหน่วยงานอย่างสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (http://www.property.chula.ac.th) กลับมุ่งพัฒนาหน่วยธุรกิจเป็นหลัก ดังปรากฏชัดเรื่องแผนการพัฒนาพื้นที่บริเวณสยามแสควร์
 
“แนวโน้ม Shopping center ในเขตใจกลางเมืองยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศูนย์การค้าที่อยู่ติดกับระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ เช่น รถไฟฟ้า ซึ่งเป็นเส้นทางการเดินทางหลักในอนาคต ศูนย์การค้าสยามสแควร์ซึ่งต้องอยู่บริเวณสี่แยกปทุมวันรายล้อมด้วยศูนย์การ ค้าชื่อดังที่อยู่ใกล้เคียง เช่น มาบุญครอง Siam Discovery และ Siam Center มีส่วนช่วยกันเสริมสร้างความคึกคักกับธุรกิจ Shopping center มาเป็นระยะเวลายาวนานนับสิบปี โดยสยามสแควร์เป็นแห่งเดียวที่ยังคงเอกลักษณ์ที่เป็นเป็นศูนย์การค้าแนวราบ เปิดโล่งขนาดใหญ่ใจกลางเมืองแห่งเดียว ปัจจุบันการแข่งขันศูนย์การค้าต่างมีการแข่งขันกันสูงมาก เห็นได้ชัดจากศูนย์การค้าต่างๆ รอบด้านต่างเร่งกันปรับปรุงรูปโฉมภายนอกและภายในให้ทันสมัยเพื่อดึงดูด ผู้ใช้บริการ สำหรับสยามสแควร์ก็เช่นเดียวกันในช่วงที่ผ่านมาได้ทำการปรับปรุงภูมิทัศน์ โดยรอบหลายอย่าง ในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปตามพื้นที่ต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดความพึงพอใจต่อผู้ค้าและผู้ใช้บริการในระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามการปรับปรุงดังกล่าวยังขาดภาพรวมการพัฒนา เพื่อให้ สยามสแควร์ให้เป็นศูนย์การค้าชั้นนำมีภูมิทัศน์ที่สวยงามทันสมัย มีระบบสาธารณูปโภคที่ดีและความเป็นระเบียบเรียบร้อยตลอดพื้นที่ ดัง นั้นจึงจำเป็นต้องมีวางแผนการพัฒนาในระยะยาวที่มีการศึกษาปัญหาในปัจจุบัน ที่ต้องปรับปรุงและออกแบบสร้างสรรค์รูปแบบสยามสแควร์ในอนาคต โดยกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจและบริการปัจจุบันให้น้อยที่สุด เพื่อคงความนิยมและสามารถแข่งขันกับศูนย์การค้าอื่นๆ ในระยะยาว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนพัฒนาสยามสแควร์”
 
4.
วอล์กกิ้งสตรีทแนวสูง ด้วยงบลงทุนกว่า 1,800 ล้านบาท สามารถอำนวยความสะดวกและจัดสรรคุณภาพชีวิตของสังคมให้ดีขึ้นได้หรือไม่?, แผนการพัฒนาที่จะออกแบบสร้างสรรค์รูปแบบสยามสแควร์ในอนาคต จะกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจและบริการปัจจุบันให้น้อยที่สุด จริงหรือ?
 
แน่นอนที่สุดว่า ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็ว แต่เหตุผลของการเปลี่ยนแปลงก็เป็นสาระสำคัญสำหรับการจะเปลี่ยนแปลงบางสิ่ง บางอย่างด้วยหรือไม่?
 
ครั้งหนึ่งตลาดสามย่านเคยคึกคัก มีชีวิตชีวา ครั้งนี้บนที่ดินเดิมผืนนั้น กำลังจะกลายเป็นคอนโดหรูหราในไม่ช้า แต่ตอนนี้เป็นได้เพียงที่ดินว่างเปล่าและที่ตั้งสวนสนุกร้างๆ เงียบเหงาไร้ผู้ใช้บริการ, ครั้งหนึ่ง มีชุมชนเก่าแก่รายล้อมรอบๆ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีตลาดชุมชน มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรม หวนกลับไปอีกครั้ง พื้นที่ตรงนั้นกลายเป็นพื้นที่โล่งเตียนรอวันผุดเป็นคอนโด
 
สิ่งเหล่านี้ คือ พันธกิจของมหาวิทยาลัย อย่างนั้นหรือ?
คอนโดที่โอบล้อมสถาบันการศึกษา สถานที่พัฒนาสร้างเสริมภูมิความรู้ที่แวดล้อมไปด้วยสถานบริการ คอมเพล็กซ์ ความบันเทิง
 
5.
ในนามผู้บริโภคศิลปวัฒนธรรมทางเลือก ที่อาจจะเป็นเพียงกลุ่มคนจำนวนไม่มากนัก แต่เราก็ดำรงอยู่ในสังคมแห่งนี้ด้วยเช่นกัน เราขอเรียกร้องต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต่อสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
เราไม่ได้ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลง การพัฒนา หากแต่ขอให้ทบทวนแนวทางการบริหารที่ดินย่านสยามแสควร์ ทบทวนการพัฒนาที่ดินบริเวณดังกล่าว รวมทั้งทบทวนบทบาทหน้าที่ พันธกิจของมหาวิทยาลัย รวมทั้งใคร่คำนึงถึงความคาดหวังของสังคมที่มีต่อสถาบันแห่งนี้ “เกียรติภูมิจุฬาฯ คือเกียรติแห่งการรับใช้ประชาชน”
 
ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์มีความประสงค์จะดำเนินการโรงภาพยนตร์ทั้งสองต่อ เราขอเรียกร้องให้สำนักงานจัดการทรัพย์สินฯ ทบทวนแนวทางการพัฒนา โดยเปิดโอกาส เปิดพื้นที่และแบ่งปันพื้นที่เพื่อให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ โดยเรียกเก็บค่าเช่าในอัตราที่เป็นธรรมและไม่มุ่งแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจ เพื่อให้โรงภาพยนตร์ทั้งสองแห่งได้ทำหน้าที่ในการเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ในด้านศิลปวัฒนธรรมแก่สังคมต่อไป
 
หากผู้ประกอบการไม่พร้อมจะดำเนินกิจการต่อ เราขอเรียกร้องให้สำนักงานจัดการทรัพย์สิน ทบทวนแนวทางการพัฒนาสยามแสควร์ จากแผนที่จะสร้างเป็นตึกอาคารสูง ปรับเปลี่ยนมาเป็นการพัฒนาปรับ ปรุงพื้นที่ที่ดำรงอัตลักษณ์ความเป็นสยาม โดยไม่จำเป็นต้องสร้างอาคารสูงเพื่อมุ่งแข่งขันกับห้างร้านในบริเวณเดียวกัน โดยพัฒนาและปรับปรุงโรงภาพยนตร์ทั้งสองแห่งให้กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ สำหรับการเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เช่น การพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ด้านภาพยนตร์ ศูนย์การเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น เพื่อให้โรงภาพยนตร์ทั้งสองสามารถดำเนินกิจการอันเป็นประโยชน์เฉกเช่นที่ ผ่านมาได้ต่อไป
 
สังคมอุดมปัญญาเติบโตภายใต้ร่มเงาของการแบ่งปัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และมีพื้นที่สำหรับทุกความแตกต่างหลากหลาย ทั้งพื้นที่ในกระแสหลักที่เน้นการแข่งขันทางเศรษฐกิจ การเติบโตของระบบทุนต่างๆ พื้นที่กระแสรองหรือกระแสทางเลือก รวมทั้งพื้นที่ชายขอบ เฉกเช่นนั้นแล้ว เรามุ่งหวังว่าการพัฒนารังสรรค์ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเติบโตและก้าวหน้า เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำจะก่อเกิดขึ้นบนพื้นที่ของการแบ่งปัน และการยอมรับซึ่งความแตกต่างหลากหลาย การตระหนักถึงคุณค่าทางสังคม วัฒนธรรมมากกว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจ
 
เมล็ดพันธุ์ที่เพาะหว่านอยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเติบใหญ่ขึ้นจะเป็นเช่นไรนั้น 
เราหวังว่า “พื้นที่สถาบันการศึกษา” จะเป็นต้นแบบในการสร้างการเรียนรู้ สร้างคน สร้างชาติด้วยเช่นกัน
 
ด้วยความเคารพ

 

 
 

 

Comments

เก็บโรงหนังของเราไว้เถอะครับ เราต้องการมัน

ของเก่าดีๆ พัฒนาได้ แต่อย่าทิ้งนะคะ

ร่วมอนุรักษ์ อย่าเหลือเพียงแค่ภาพถ่าย

ยังไงก็ยังไม่อยากให้ทำลาย สิ่งเก่าๆที่เป็นสิ่งที่ดีๆ

 

หนังสั้น "ลิโด้" เมื่อวันที่ Shopping Mall สำคัญกว่า โรงหนังที่ฉายหนังดีๆ สักโรงหนึ่ง http://youtu.be/ZfJpNR_7zMg