เวทีประชาชนอาเซียนเกือบล่ม รัฐบาลกัมพูชาขวางจัดคู่ขนาน
วันที่ 29 มีนาคม 2555 ที่โรงแรมลักกี้ สตาร์ โฮเตล กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา มีการจัดเวทีอาเซียนภาคประชาชนครั้งที่ 8 “เปลี่ยนอาเซียนไปสู่ประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง” มีตัวแทนภาคประชาชนและภาคประชาสังคมเข้าร่วมกว่า 1,000 คน โดยเวทีเริ่มต้นด้วยความทุลักทุเล เนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ของโรงแรมเข้ามารื้อถอนป้ายนิทรรศการ
รายงานข่าวแจ้งว่า เนื่องจากทางโรงแรมถูกกดดันไม่ให้มีการจัดเวทีดังกล่าว เพราะรัฐบาลกัมพูชาไม่พอใจที่มีการจัดเวทีของภาคประชาชน เพื่อเตรียมจัดเวทีคู่ขนานกับการประชุมสุดยอดอาเซียนที่จะมีขึ้นในช่วงปลายปี 2555 ที่ประเทศกัมพูชาเป็นเจ้าภาพ
ชนเผ่า-คนไร้สัญชาติ ค้างคืนข้างทำเนียบ เดินหน้าดัน "เขตสังคมวัฒนธรรมพิเศษ"
บริเวณทำเนียบรัฐบาล เครือข่ายคนไร้สัญชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมืองกว่า 800 คน รวมตัวผลักดันนโยบายเขตสังคมวัฒนธรรมพิเศษของกลุ่มชาติพันธ์และชนเผ่าพื้นเมือง ก่อนเปิดเสรีอาเซียน เพื่อเสนอปัญหาและแนวทางแก้ไขระดับนโยบายต่อรัฐบาล รวมทั้งเป็นการรณรงค์เพื่อผลักดันข้อเสนอต่อสังคม
สืบเนื่องจาก ที่ผ่านมากลุ่มคนไร้สัญชาติ กลุ่มชาติพันธ์และชนเผ่าพื้นเมือง เป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากแผนพัฒนาที่ไม่สมดุล ถูกละเลย ถูกแย่งชิงทรัพยากร ถูกละเมิดสิทธิชุมชน เข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน รวมทั้งถูกเอารัดเอาเปรียบเป็นอย่างมาก ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธ์และชนเผ่าพื้นเมืองถึง 36 เผ่า มีประชากรรวมกันมากกว่า 1,200,000 คน และในจำนวนนี้เป็นผู้ไร้สัญชาติถึง 400,000 คน ทั้งที่ผลการศึกษาระบุว่าส่วนใหญ่คนกลุ่มนี้อาศัยมายาวนาน บางกลุ่มตั้งถิ่นฐานกว่า 300 ปี
ในปี 2553 มีมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับ แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลและชาวกะเหรี่ยง รวมทั้งให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องพิจารณากำหนดพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษที่เอื้อต่อกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีลักษณะสังคมวัฒนธรรมจำเพาะเหล่านี้ ให้ครอบคลุมทั้งที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน การฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรมและการพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกด้าน แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาเพราะปัญหาเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง
คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายชงร่างพรฎ.ตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย
นายคณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.)เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. .... เสนอต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อประกอบการพิจารณาการให้ความเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย ฯ
จากการศึกษา วิเคราะห์ และรับฟังความคิดเห็นร่วมกันกับผู้แทนฝ่ายต่างๆ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายมีความเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. .... โดยเห็นด้วยให้จัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรี ตามมาตรา 52 ของพระราชบัญญัติความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 โดยให้เป็นองค์การมหาชน ตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 เพราะองค์การมหาชนตามพระราชบัญญัตินี้ต้องการให้เป็นหน่วยงานอิสระที่จัดทำบริการสาธารณะ ไม่แสวงหากำไร และอยู่ในการกำกับดูแลของรัฐมนตรี จึงสอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่ต้องการให้สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ มีความเป็นอิสระในการดำเนินงาน
ขณะที่กระบวนการได้มาของคณะกรรมการบริหารสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ เห็นควรให้กำหนดจำนวน ที่มา และคุณสมบัติ โดยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเห็นว่า ประธานกรรมการบริหาร ไม่จำเป็นต้องเป็นข้าราชการที่มีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ เนื่องจากภารกิจของคณะกรรมการบริหาร ไม่ใช่คณะกรรมการกำหนดนโยบาย หรือวางแนวทางของสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ เท่านั้น แต่เป็นคณะกรรมการที่ต้องทำหน้าที่บริหารเพื่อให้สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ซึ่งข้าราชการประจำโดยเฉพาะข้าราชการระดับสูง ยังมีข้อจำกัดด้านเวลาในการทำงานในฐานะประธานกรรมการบริหาร อีกทั้งหากประธานกรรมการบริหารเป็นข้าราชการจะทำให้ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการจัดสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ที่ต้องการให้เป็นอิสระในการดำเนินงาน
หากพิจารณาในบทเฉพาะกาล คปก.เห็นว่า ควรกำหนดให้คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ทำหน้าที่ดำเนินการให้มีคณะกรรมการบริหารปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการบริหารสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ให้แล้วเสร็จภายใน180 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ซึ่งถือเป็นภารกิจเร่งด่วนเพื่อการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ โดยไม่มีเหตุจำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่แทนคณะกรรมการบริหารสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตามในระยะต่อไปควรจะพัฒนาพระราชกฤษฎีกาสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย ฯเป็นพระราชบัญญัติแทนพระราชกฤษฎีกา เพื่อจัดตั้งสถาบันที่มีความเป็นอิสระ และมีทรัพยากรมากพอ ให้สามารถดำเนินการเพื่อป้องกัน แก้ไขปัญหา จัดทำมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อประกันสิทธิของบุคคลที่จะได้รับหลักประกันความปลอดภัยและสวัสดิภาพการทำงาน รวมถึงหลักประกันในการดำรงชีพ ทั้งในระหว่างทำงานและพ้นภาวะการทำงาน.
แอมเนสตี้ เผยไทยเป็นประเทศส่วนน้อยที่มีโทษประหารชีวิต ร้องยกเลิก
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยแถลงรายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตทั่วโลกประจำปี 2554
ในรายงานระบุข้อเท็จจริงและตัวเลขของ โทษประหารทั่วโลกปี 2554 ว่า มีผู้ถูกประหารชีวิตอย่างน้อย 676 คนใน 20 ประเทศ
การประหารชีวิตส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ประเทศจีน อิรัก อิหร่าน เกาหลีเหนือ ซาอุดิอาระเบีย โซมาเลีย สหรัฐฯ และเยเมน
จีนประหารชีวิตบุคคลเป็นจำนวนมากกว่าการประหารชีวิตในประเทศที่เหลือในโลกรวมกัน แต่เราไม่ทราบข้อมูลการใช้โทษประหารที่แท้จริงในจีน เพราะทางการถือเป็นความลับทางราชการ
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยกระตุ้นรัฐบาลไทยให้ดำเนินการตามสัญญาและการให้คุณค่ากับคุณภาพชีวิตมนุษย์ทุกคน ทั้งนี้เพราะไม่มีหลักฐานพิสูจน์ได้เลยถึงความเชื่อมโยงระหว่างโทษประหารกับการลดลงของอาชญากรรม
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลต่อต้านโทษประหารในทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้นเกี่ยวกับพฤติการณ์ของความผิด บุคลิกลักษณะของผู้กระทำผิด หรือวิธีการประหารชีวิตที่ใช้ โทษประหารเป็นการละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิต และเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรี
ประกาศแล้ว กฎกระทรวง คุมเข้ม ประเภท- ระบบความปลอดภัยของอาคาร หลังไฟไหม้กลางกรุง
วันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๕ ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ กฎกระทรวง กำหนดประเภทและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้เพื่อประกอบกิจการเป็นสถานบริการ พ.ศ. ๒๕๕๕
ก่อนหน้านี้ ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้อาคาร FICO ภายในซอยสุขุมวิท 21 ถนนสุขุมวิท ( 3 มีนาคม ) ตามด้วยไฟไหม้โรงแรมแกรนด์ ปาร์ค อเวนิว ซอยสุขุมวิท 22 ( 8 มีนาคม 2555)
จากการตรวจสอบ เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ ระบุว่า โดยที่ปัจจุบันอาคารที่ใช้เพื่อประกอบกิจการเป็นสถานบริการมีระบบความปลอดภัยของอาคารไม่เหมาะสมกับสภาพการใช้อาคารที่มีความจำเป็นต้องมีความปลอดภัยจากอัคคีภัยอย่างเพียงพอแต่เมื่ออาคารดังกล่าวมีระบบความปลอดภัยไม่เพียงพอเมื่อเกิดเหตุ เพลิงไหม้ หรือเหตุชุลมุนวุ่นวายจะทำให้ไม่สามารถอพยพผู้คนออกจากอาคารดังกล่าวได้ทัน อันจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อเป็นการกำหนดมาตรการเกี่ยวกับระบบความปลอดภัยสำหรับอาคารที่ใช้เพื่อประกอบกิจการเป็นสถานบริการ สมควรกำหนดประเภทระบบความปลอดภัย การป้องกันอันตราย และการตรวจสอบของอาคารดังกล่าว จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
ทั้งนี้ กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวัน( 3 เดือน) นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
กปพ.แก้ม.113 โทษชัดปฏิวัติสำเร็จหรือไม่เป็นกบฏเท่านั้น
นายประสพ บุษราคัม ประธานคณะกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน (กปพ.) สภาผู้แทนราษฏร เปิดเผยว่า จากการจัดเสวนาเรื่อง “รัฐฐาธิปัตย์ เอื้อประโยชน์รัฐประหาร หรือทำรายระบบนิติธรรม” เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยมีสาระสำคัญ คือ ในการเสวนาตัวแทนศาลที่มาร่วมเสวนายืนยันว่าศาลเป็นของประชาชน
ดังนั้น เมื่อศาลจะตัดสินคดีใด ก็ควรตัดสินโดยใช้กฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนเท่านั้น จากการเสวนาซึ่งตั้งข้อสงสัยว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 บัญญัติในการล้มล้างรัฐธรรมนูญด้วยการรัฐประหารหากทำไม่สำเร็จถือเป็นความผิดฐานกบฎ แต่หากทำสำเร็จถือว่าไม่ผิด และสิ่งใดที่เกิดขึ้นภายหลังจากการทำรัฐประหารได้กลายเป็นรัฎฐาธิปัตย์ หรือการเป็นบรรทัดฐานที่ถูกต้อง
อย่างไรก็ดี เมื่อกปพ.ย้อนกลับไปดูเจตนารมณ์ของการยกร่างมาตราดังกล่าวแต่ไม่พบ จึงพิจารณาเห็นควรมีการเสนอร่างแก้ไขว่า การล้มล้างรัฐธรรมนูญจะทำสำเร็จหรือไม่สำเร็จ หากภายหลังมีการนำคดีขึ้นสู่ศาลให้ถือเป็นความผิดฐานกบฎทั้งหมด
จี้สภา เร่งพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับคนงาน ก่อนหมดสมัยประชุม
เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน นำโดย น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนและผลักดันร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฯ จัดเวทีสาธารณะเพื่อพูดคุยเรื่องการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ น.ส.วิไลวรรณ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 14,264 คนเป็นผู้เสนอ เพื่อให้ทันการประชุมสมัยสามัญนิติบัญญัติ 18 เม.ย.นี้ โดยการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ค้างมาจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.54 ว่าจนบัดนี้สภาผู้แทนราษฎรยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวในการประชุมครั้งใด
ทั้งนี้ หลังการแลกเปลี่ยน คนงานราว 300 คนซึ่งตั้งขบวนที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าได้เดินเท้ามาสมทบ โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างทยอยมารับหนังสือเรียกร้องให้เร่งรัดที่ประชุมสภาฯ ให้พิจารณาร่างดังกล่าว ให้ทันการประชุมสมัยสามัญนิติบัญญัติสมัยนี้ อาทิ นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายนคร มาฉิม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น