"อากง SMS" เสียชีวิตในรพ.เรือนจำ
นายอำพล ต. อายุ 61 ปี หรือ "อากง" ผู้ต้องขัง 20 ปีในคดีกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หมิ่นสถาบันเบื้องสูงนั้นเสียชีวิตแล้ว โดยมีนางรสมาลิน หรือ "ป้าอุ๊" ภรรยา รอรับศพนาย อำพลที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และกล่าวเพียงสั้นๆ ด้วยอาการโศกเศร้าว่า ขอตั้งสติก่อน ยังไม่ขอพูดอะไรในขณะนี้ ส่วนการจัดการศพอากงต้องรอปรึกษากับลูก
นายอำพล หรืออากง เคยป่วยเป็นมะเร็งในช่องปากก่อนถูกคุมขัง และเมื่ออยู่ในเรือนจำอาการหวนกลับมากำเริบ ทำให้ท้องบวม ก่อนหน้าจะเสียชีวิตปวดท้องอย่างรุนแรง และถูกนำตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์เมื่อช่วงเช้าวันที่ 4 พ.ค.ที่ผ่านมา
สำหรับการชันสูตรศพนายอำพล พ.ต.อ.พรชัย สุธีรคุณ รรท.ผบก.นต. ได้มีคำสั่งการตั้งคณะกรรมการชันสูตรพลิกศพประกอบด้วย พล.ต.ต.นพ.ณรงศักดิ์ เสาวคนธ์ รองนายแพทย์ใหญ่(สบ 7) เป็นที่ปรึกษา พ.ต.อ.ภวัต ประทีปวิศรุต นายแพทย์(สบ 5) พ.ต.อ.สุพิไชย ลิ่มศิวะวงศ์ นายแพทย์(สบ 4)และพ.ต.ต.เอกสิทธิ์ หงส์แก้ว นายแพทย์(สบ 2) เป็นกรรมการและผู้ผ่าชันสูตร
ไม่พบบาดแผลหรือร่องรอยการถูกทำร้าย ขณะที่การผ่าชันสูตรศพภายในช่องท้องพบเนื้องอกบริเวณตับ ซึ่งได้ลุกลามยังลำไส้และปอดด้านขวา มีน้ำในช่องท้องจำนวนมาก มีอาการสมองตายเล็กน้อย ซึ่งอาจพอสรุปสาเหตุการเสียชีวิตของนายอำพลได้ว่าน่าจะมาจากมะเร็งระยะสุดท้าย แต่จะเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตในทันทีคงไม่สามารถบอกได้ อย่างไรก็ตามการสรุปสาเหตุการเสียชีวิตอย่างเป็นทางการต้องรอแพทย์นิติเวชเป็นผู้สรุป ทั้งนี้ ได้มีการส่งตัวอย่างชิ้นเนื้อ เลือด อาหารในกระเพาะอาหาร น้ำในช่องท้อง และปัสสาวะ ไปตรวจทางพิษวิทยาว่ามีสารพิษซึ่งคาดว่าจะรู้ผลภายใน 1 สัปดาห์
ที่มาข่าว ข่าวสด
บทเรียนจากกรณี "อากง" กลุ่มนักกฎหมายสิทธิฯ เรียกร้องสิทธิปล่อยตัวชั่วคราว-รักษาพยาบาล
เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย และศูนย์ข้อมูลชุมชน (Community Resource Centre) ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อครอบครัวของนายอำพล พร้อมระบุว่า การเสียชีวิตของนายอำพล เป็นการสะท้อนให้เป็นที่ประจักษ์ของปัญหาเกี่ยวกับสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ทั้งในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และในคดีอาญาอื่น ๆ โดยมีข้อเสนอ ดังนี้
1. ควรดำเนินการเพื่อให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีหมิ่นฯได้รับการปล่อยชั่วคราว ตามมาตรฐานการใช้ดุลพินิจที่ศาลก็ได้เคยอนุญาตให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในคดีที่มีอัตราโทษสูงกว่าอัตราโทษในข้อหาหมิ่นฯ มาแล้ว และในระหว่างที่ยังไม่รับสิทธิดังกล่าวขอให้ย้ายนักโทษในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมายังเรือนจำชั่วคราวหลักสี่เพราะถือเป็นนักโทษการเมืองเช่นเดียวกัน
2. เสนอให้มีการปรับปรุงมาตราฐานในการคัดกรองบุคคลเพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาล เพิ่มงบประมาณและบุคลากรทางการแพทย์ และจัดการรักษาโรคในลักษณะเฝ้าระวังของผู้ต้องขังเพื่อให้เข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลอย่างแท้จริงและทันทัวงที ไม่ใช่การรักษาเมื่อมีอาการภายนอกรุนแรงแล้วเท่านั้น
3. ขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายช่วยกันค้นหาความจริงว่านายอำพลเสียชีวิตด้วยเหตุใด ได้รับการรักษาพยาบาลที่เพียงพอแล้วหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อทำความเป็นจริงให้ปรากฏ รวมถึงเรียกร้องให้มีองค์กรอิสระเข้ามาร่วมตรวจสอบสาเหตุที่ทำให้นายอำพลเสียชีวิต เพื่อความโปร่งใสของกระบวนการและขจัดข้อสงสัยต่อสังคม
สมาพันธ์สิทธิสากล-กรรมการสิทธิเอเชียร้องชันสูตรศพ “อากง” ชี้ เรือนจำไทยต่ำกว่ามาตรฐาน
สมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (The International Federation for Human Rights –FIDH) ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ร่วมกับสมาคมส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (Union for Civil Liberty- UCL) ออกแถลงการณ์กรณีการเสียชีวิตของนายอำพล (ขอสงวนนามสกุล) หรือ “อากง” ผู้ต้องขังคดีหมิ่นที่เสียชีวิตเมื่อเช้าวานนี้ (8 พ.ค.) ในเรือนจำ เนื่องจากอาการเจ็บปวดในช่องท้อง โดยเรียกร้องให้ทำการชันสูตรศพของนายอำพลอย่างเป็นอิสระ พร้อมทั้งเปิดเผยผลการตรวจสอบ พร้อมชี้ว่า สภาพเรือนจำไทยต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำสากลที่สหประชาชาติได้กำหนดไว้อย่างมาก
สมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล ระบุว่า การจำคุกของนักโทษที่มีอายุมากและมีสุขภาพที่ย่ำแย่ในเรือนจำของไทย เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ยังชี้ด้วยว่า การรักษาพยาบาลในเรือนจำของไทยมักเป็นไปอย่างจำกัด (primitive)
“การเสียชีวิตของนายอำพลเป็นเครื่องเตือนใจแก่ทางการไทย ถึงผลกระทบที่น่าเศร้าและโหดร้ายของการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ รวมถึงการปฏิเสธการให้ประกันอย่างเป็นระบบ” Souhayr Belhassen ประธานองค์กร FIDH กล่าว “รัฐบาลไทยควรให้ความสนใจแก่การเรียกร้องที่มากขึ้นของประชาชนไทยและประชาคมนานาชาติ เพื่อการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล หรือยกเลิกไป”
ฮิวแมนไรทส์วอทช์แนะไทยปรับกระบวนการยุติธรรม
นายแบรด อดัมส์ ประธานองค์การสิทธิมนุษยชนภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (ฮิวแมนไรทส์วอทช์) ได้เดินทางเข้าพบนายสุนัย จุลพงศธร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อสอบถามถึงการเสียชีวิตของนายอำพล ตั้งนพกุล หรือ อากง ผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบัน ซึ่งได้เสียชีวิตไปแล้ว โดยนายแบรด กล่าวว่า ตนรู้สึกไม่ดีที่ประเด็นนี้ยังไม่ได้ปรับปรุงให้ดีขึ้น
“สถานะของไทยขณะนี้เสื่อมถอยไปมาก ในสายตานานาชาติ ซึ่งปัจจัยหนึ่งมาจากอัตราโทษที่รุนแรง และจำคุกเป็นเวลานาน ซึ่งส่วนมากมาจากคดีหมิ่นสถาบัน เป็นเรื่องที่ชาวโลกไม่สามารถเข้าใจได้ อาทิ กรณีคดีอากง บทลงโทษรุนแรงกว่า เมื่อเทียบกับคดีอาชญากรรม คดียาเสพติด เมื่อเทียบกันแล้วไม่สมเหตุสมผลผมมองว่ารัฐบาลและศาลยุติธรรมควรปฎิรูปกฎหมาย เพื่อลดอัตราการลงโทษในคดีหมิ่นสถาบัน เพราะที่ผ่านมาการตัดสินในคดีหมิ่นสถาบันมีการดึงเอาเหตุทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นการตัดสินของศาลต้องมีเหตุผลที่อธิบายได้ อดีตไทยเคยมีเสรีภาพทางสื่อออนไลน์มากที่สุด แต่ระยะหลังมีการปิดกั้น ซึ่งกติการะหว่างประเทศกำหนดให้สังคมประชาธิปไตย ควรมีการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นให้น้อยที่สุด แต่ไทยกลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม" นายแบรด กล่าว
ผลอุทธรณ์ฟัน "เชคสเปียร์ต้องตาย" ถูก "แบน" ทีมสร้างลั่นสู้ยิบตา
11 พ.ค. ..55 ที่กระทรวงวัฒนธรรม คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ที่มี พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ ได้ประชุมนัดพิเศษเพื่อพิจารณาผลการยื่นกรณีนายมานิต ศรีวานิชภูมิ ผู้สร้างภาพยนตร์เรื่อง "เชคสเปียร์ต้องตาย" (Shakespeare Must Die) ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ในกรณีที่มีมติห้ามฉายภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว เพราะเห็นว่ามีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ออกมาว่า ยังยืนยันในมติเดิม นั่นคือห้ามฉายภาพยนตร์ เรื่องนี้ ซึ่งหมายความว่า "เชคสเปียร์ต้องตาย" ถูก "แบน" ห้ามฉายในประเทศไทย
หน.อช.แก่งกระจาน นำทีมบุกโรงพักยื่นหนังสือดำเนินคดี คกก.สิทธิฯ ฐานหมิ่นเบื้องสูง
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี นำทีมบุกโรงพัก สภ.แก่งกระจาน ยื่นหนังสือจี้ตำรวจดำเนินคดีนายนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายสุรพงษ์ กองจันทึก คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่นสภาทนายความ และคณะ ฐานหมิ่นเบื้องสูง
หลังจากที่สำนักคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีหนังสือถึงหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานว่า ให้เข้าตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนขอให้ตรวจสอบโครงการตัดเถาวัลย์ และโครงการปลูกพืชให้ช้างสร้างอาหารให้สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติ บริเวณเขาปะการัง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ตรวจสอบและมีมติ มีคำสั่งให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชและอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ทบทวนโครงการวิจัยศึกษาผลกระทบของการรุกรานของเถาวัลย์ปกคลุมป่าธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และให้ยกเลิกโครงการปลูกพืชอาหารช้าง สร้างอาหารสัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติ และให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อคุ้มครองประชาชนในพื้นที่และชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม
เมื่อวันที่ 11 พ.ค. นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ผู้ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่หัวหน้าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อสนองงานตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และชาวบ้านกว่า 100 คนเดิมทางมายัง สภ.แก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เพื่อนำหนังสือเอกสารยื่นแจ้งความเพื่อต้องการดำเนินคดีต่อนายนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายสุรพงษ์ กองจันทึก คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่นสภาทนายความ และคณะ รวมทั้งหมด 3 ข้อกล่าวหาด้วยกัน ประกอบด้วย
1.เป็นตัวการหรือให้ผู้สนับสนุนการบุกรุกแผ้วถางตัดไม้ทำลายป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 มาตรา 11, 48, 54 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 16(1), (13) พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 ในพื้นที่บางกลายบนห้วยสามแพร่งชายแดนไทย-สหภาพเมียนมาร์ ท้องที่อำเภอหนองหญ้าปล้อง และอำเภอแก่งกระจาน ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารของแม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรี และแม่น้ำแม่ประจัน พื้นที่ถูกบุกรุกแผ้วถางจำนวน 427 ไร่ คิดเป็นค่าความเสียหายไร่ละ 150,000 บาท รวมเป็นเงิน 64,050,000 บาท และความเสียหายทางความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ ซึ่งยังไม่สามารถสรุปคำนวณเป็นตัวเลขค่าความเสียหายได้
2.ละเมิดสิทธิข้าราชการประจำ ประชาชนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มาตรา 64 มาตรา 78 (4), (5)มาตรา 85(1) และพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2542 ในการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนเองอย่างเป็นอิสระและเป็นกลางรวมทั้งต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ ส่วนรวมของชาติและประชาชน (มาตรา 9) และเป็นการบั่นทอนการใช้อำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้และต่างสำนึกการเป็นผู้ปฏิบัติราชการที่ดีเพื่อสนองตามแนวพระราชดำริพระราชเสาวนีย์ เสมอมา เป็นผลให้เกิดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นสมบัติของธรรมชาติสาธารณะของประเทศไทย อาเซียนและของโลก
และ 3.หมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ พระบรมราชินีนาถ โดยไม่ให้การเคารพน้อมนำพระราชดำริพระราชกระแส และพระราชเสาวนีย์ โดยมีการมีมติยกเลิกโครงการปลูกพืชอาหารช้างเพื่อเป็นแหล่งอาศัยและแหล่งอาหารของช้าง แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงมีพระราชดำรัสที่ทรงเน้นย้ำให้พนักงานเจ้าหน้าที่ช่วยดูแลรักษาป่าต้นน้ำลำธารของแม่น้ำเพชรบุรีอย่าให้มีการลักลอบตัดไม้ ถางป่า ทำไร่ ในป่าต้นน้ำของแม่น้ำเพชรบุรีเพราะจะทำให้เกิดความแห้งแล้ง แม้จะได้มีการให้สัมปทานป่าแปลงนี้ไปบ้างแล้วก็ขอให้เจ้าหน้าที่ตรวจดูแลการทำไม้อย่าให้เป็นการทำลายป่าเกิดขึ้น โดยมี พ.ต.ท.ไพบูลย์ แพรสีนวล ผกก.(สส.) สภ.แก่งกระจาน เป็นผู้รับหนังสือเอกสารดังกล่าวซึ่งจะดำเนินการตรวจสอบเอกสารเพื่อที่จะยื่นเรื่องดำเนินการต่อไป
เสนอแก้กฎหมายกทม.ให้เลือกตั้ง ผอ.เขต
2 พ.ค.55 ที่รัฐสภา นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคเพื่อไทย ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการปกครองส่วนท้องถิ่น สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า จากที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯได้ศึกษาพระราชบัญญัติบริหารกทม. พ.ศ. 2528 ซึ่งใช้มาเป็นเวลากว่า 26 ปี โดยทำการสำรวจความเห็นประชาชนกว่า 6 พันคน ซึ่งประชาชนร้อยละ 75.5 เห็นด้วยที่จะให้มีการเลือกตั้งผู้อำนวยการเขตกทม.ของแต่ละเขตโดยตรง เพราะเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ที่ตัวแทนของประชาชนจากประชาชนเป็นผู้เลือก จึงสามารถเข้าถึงประชาชนได้ดี และแก้ปัญหาในพื้นที่ได้อย่างดี ซึ่งกมธ.โดยมีตนและนายถวิล ไพรสณฑ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ จะได้ศึกษาและยกร่างแก้ไขพ.ร.บ.ฉบับนี้ไว้แล้ว จากนั้นก็จะฟังเสียงของประชาชนและข้าราชการ ซึ่งหากร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวสำเร็จ ก็จะเป็นต้นแบบของการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นอื่นๆต่อไป
ประชาสังคมร่วมถกปัญหาหมอกควันระดมแผนปี 56 ป้องกันเหนือตอนบน
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภาคเหนือ ร่วมกับโครงการเชียงใหม่จัดการตนเอง และเครือข่ายเชียงใหม่เขียว สวย หอม เปิดเวทีถกสถานการณ์ปัญหาหมอกควันในจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือตอนบน ระดมหน่วยงานทุกภาคส่วน อาทิ หน่วยงานราชการ ผู้นำเครือข่ายองค์กรชุมชน ภาคธุรกิจและเอกชน และนักวิชาการ ร่วมหาทางออกวางแผนการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน หมอกควันไฟป่าในภาคเหนือตอนบนไม่ให้เกิดปัญหาในปี 2556 ณ ห้องเจนีวา ชั้น 2 โรงแรมเมอร์เคียว จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้มีผู้เข้าร่วมอย่างคับคั่ง
นายศรีบุญ ศรีจันตา เครือข่ายองค์กรชุมชนจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจ.เชียงใหม่ ได้กล่าวถึงบทเรียนและปัญหาจากการปฏิบัติการว่า ชุมชนได้มีการแบ่งเขต การจัดทำแนวกันไฟภายในหมู่บ้าน มีการจัดขอบเขตของไฟ แบ่งป่าตามประเภท ไม่ว่าจะเป็นป่าใช้สอย พื้นที่การเกษตร ซึ่งชาวบ้านได้ร่วมจัดการด้วยตนเอง ปัญหาที่เกิดขึ้นคือไม่มีการเชื่อมโยง ความต่อเนื่องในการจัดการไฟป่าระหว่างภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคนในพื้นที่
นายเดโช ไชยเทพ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภาคเหนือ กล่าวถึงทิศทางการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันทั้งระบบว่า ปัญหาไฟป่าหมอกควัน ทุกคนต้องลุกขึ้นมาช่วยกันจัดการไฟป่า ซึ่งตอนนี้จะเห็นได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นยังขาดกระบวนการในการจัดการ วางแผนร่วมกัน หน่วยงานต่างๆยังต่างคนต่างอยู่ต่างจัดการเพียงภายในองค์กรของตนเอง ดังนั้นจะต้องมีการร่วมมือกันบริหารจัดการ สามารถควบคุม สั่งการ สนับสนุนในแนวทางแก้ไขปัญหา ทำงานแบบบูรณาการเพื่อการการเชื่อมโยงในการทำงานร่วมกัน ทั้งนี้จำเป็นต้องใช้หรือมีกฎหมายรองรับในระยะยาว โดยให้อำนาจแก่ท้องถิ่น ชนบทในการจัดการไฟป่า รวมไปถึงระดับนโยบายอีกด้วย
นายสัญญา ทุมตะขบ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำพูน กล่าวถึงแผน และความเป็นจริงที่เกิดขึ้น บทเรียนข้อจำกัดในการทำงานของส่วนราชการเกี่ยวกับปัญหาหมอกควันว่า สืบเนื่องจากเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่บนเกาะสุมาตราและบอร์เนียวเมื่อปี 2540 ประเทศภาคีสมาชิกอาเซียนได้มีการจัดทำข้อตกลงอาเซียนเรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน และคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2545 เห็นชอบให้ลงนามในข้อตกลงอาเซียน เรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2545 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย จนนำไปสู่แผนแก้ไขปัญหา