รอบอาทิตย์ที่สาม พ.ค.55 : สองปีของการสลายการชุมนุม ยังไม่มีความยุติธรรมให้กับเหยื่อ

รอบอาทิตย์ที่สาม พ.ค.55 : สองปีของการสลายการชุมนุม ยังไม่มีความยุติธรรมให้กับเหยื่อ

เมื่อ 20 พ.ค. 2555

 

ส.ส. พรรคแรงงานจี้รบ. อังกฤษ แจงจุดยืนต่อการตายกรณี 'อากง'

รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศเงาของอังกฤษ เคอรรี แมคคาร์ธี (Kerry McCarthy) ส.ส. พรรคแรงงานจากเขตบริสตอลตะวันออก ได้ตั้งคำถามต่อรัฐบาลอังกฤษในสภา เกี่ยวกับกรณีการเสียชีวิตของ "อากง" หรือนายอำพล และในประเด็นการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศไทยด้วย

รายงานดังกล่าวระบุว่า มีการส่งคำถามไปยังรัฐมนตรีประจำสำนักนายกของอังกฤษ โดยเป็นคำถามที่กำหนดให้มีการตอบภายในวันที่ 21 พ.ค. แต่หากยังไม่ตอบภายในเวลานั้น อาจถือได้ว่า รัฐบาลอังกฤษยัง "อยู่ระหว่างการพิจารณา" (holding) การตอบคำถามนั้นไว้ก่อน ซึ่งคำถามดังกล่าว มีดังนี้ 

• รัฐมนตรีมีท่าทีอย่างไรต่อการจำคุกและการเสียชีวิตของนายอำพล

• รัฐมนตรีได้ประเมินอย่างไรต่อเรื่องการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของนักโทษในเรือนจำของไทย

• รัฐมนตรีประเมินอย่างไรต่อการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังที่ถูกจับกุมและจำคุกด้วยกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศไทย

• รัฐมนตรีประเมินอย่างไรต่อการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศไทย หากพิจารณาคู่กับมาตรา 19 ตามประกาศสิทธิมนุษยชนสากล และเขามีท่าทีอย่างไรต่อรัฐบาลต่อประเด็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและกฎหมายอาญามาตรา 112

รายงานดังกล่าวชี้ว่า คำถามเหล่านี้ บ่งบอกถึงการที่กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้กลายเป็นประเด็นสากลที่กว้างขึ้น โดยจะมีผลให้รัฐบาลอังกฤษต้องทบทวนในจุดยืนของตนเอง ไม่ใช่แค่เรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเท่านั้น แต่ยังต่อเรื่องการรักษาพยาบาลและความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังในประเทศไทยด้วย 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: เว็บไซต์ Asian Correspondent

 

ปธ.ศาลรธน.ยันวินิฉัย'จตุพร'พ้นส.ส.ตามหลักกม.ไทย

นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ต่อกรณีนายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อว่า การพิจารณาของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้เป็นไปตามหลักของกฎหมายไทย กระบวนการในการพิจารณาถูกต้อง ไม่ได้เอาหลักของกฎหมายของบ้านเมืองอื่นมาใช้

“ไม่มีใครเขามาตั้งธงไว้ก่อนหรอก แต่กกต.ก็ส่งเรื่องร้องมาให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา เราก็ต้องพิจารณาโดยยึดหลักเกณฑ์ของกฎหมาย ไม่ใช่ใช้ความรู้สึก หรือการคิดไปเอง เอามาพิจารณา ในเมื่อวันเลือกตั้งไม่ได้ไปใช้สิทธิก็ถือว่าขาดจากการเป็นสมาชิกพรรค ถ้ายังไม่มีการเลือกตั้งก็ยังเป็นสมาชิกพรรคได้ ไม่ขาดจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเพราะถูกควบคุมอยู่

การที่พรรคส่งชื่อเป็นผู้สมัครทำได้ กกต.รับสมัครได้ไม่ห้าม แต่เมื่อถึงวันเลือกตั้งนายจตุพรไม่ได้ออกไปเลือกตั้งเพราะถูกคุมขังอยู่ ทั้งที่ขอศาลแล้วไม่ให้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งจึงเป็นเหตุให้ขาดจากการเป็นสมาชิกพรรค ซึ่งกฎหมายเขียนไว้ชัด เฉพาะในวันเลือกตั้งเขากลายเป็นผู้ต้องห้ามไม่ให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งก็กลายเป็นผู้ที่เป็นสมาชิกพรรคไม่ได้ ที่เป็นอยู่ก็ขาดจากการเป็นสมาชิกพรรค “นายวสันต์ กล่าว

นายวสันต์ กล่าวอีกว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ 2 มาตรฐานอย่างแน่นอน และเรื่องนี้ก็ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จึงถือได้ว่าเป็นบรรทัดฐานกับการสมัครครั้งต่อไปของกกต. อยากถามกลับว่าคนที่บอกว่า 2 มาตรฐานนั้นรู้ความหมายของคำว่า 2 มาตรฐานหรือไม่ แปลว่าอะไร อย่ามาพูดโก้ๆ โดยที่ไม่รู้

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ

 

สมยศ” วืดประกันอีก หลังศาลสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัว

นายคารม พลพรกลาง ทนายความของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาเพื่อประชาธิปไตย จำเลยคดีหมิ่นสถาบัน เดินทางมายื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ เป็นโฉนดที่ดินส่วนตัวของนายสมยศ ประมาณ 1.6 ล้านบาท และเงินช่วยเหลือจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมอีก อีก 1.4 ล้านบาท รวมมูลค่า 3 ล้านบาท ขอปล่อยตัวชั่วคราวนายสมยศ เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยยื่นคำร้องแล้วหลายครั้ง แต่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว

นายคารม กล่าวถึงเหตุผลประกอบคำร้องขอปล่อยตัวว่า เนื่องจากคดีนี้กระบวนการสืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว นายสมยศไม่สามารถไปข่มขู่พยานได้อีก อีกทั้งนายสมยศถูกคุมขังในเรือนจำมาเป็นเวลา 1 ปี 18 วันแล้ว สมควรให้โอกาสออกมาต่อสู้คดี ต่อมาเวลา 18.00 น. ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลย โดยระบุเหตุผลไว้ชัดเจนแล้ว กรณีนี้จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 10 ที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว

ที่มา: สำนักข่าวไทย

 

ดีเอสไอสรุปคดี 89 ศพ มี จนท.รัฐเกี่ยว 22 ศพ จาก นปช.12 ศพ

นายธาริต  เพ็งดิษฐ์  อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ดีเอสไอ  กล่าวถึงผลการสอบสวนคดีที่เกิดจากการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ว่า หลังการสอบสวนผ่านมา 2 ปี  พบมีคดีที่เกี่ยวข้องกับ นปช. จำนวน 266 คดี แบ่งเป็น การก่อการร้าย 150 คดี การขู่บังคับใช้รัฐบาลกระทำการใดๆ 22 คดี การทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ 73 คดี และการกระทำต่ออาวุธ ยุทธภัณฑ์ของราชการ 21 คดี  ในจำนวนนี้สอบสวนแล้วเสร็จ 174 คดี 

ส่วนคดีการเสียชีวิต 89 ศพ จากเหตุรุนแรงทางการเมืองช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553  มี 16 ศพ ที่มีหลักฐานชัดเจนว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง  และดีเอสไอได้ส่งสำนวนให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ชันสูตร อย่างไรตาม  บช.น.ได้ประสานขอรับสำนวนเพิ่มเติมอีก 6 ศพ รวมเป็นสำนวนคดีที่เสียชีวิตจากเจ้าหน้าที่รัฐขณะนี้ 22 ศพ โดยบางคดีศาลได้ไต่สวนไปแล้ว หลังศาลไต่สวนจะส่งสำนวนกลับมาให้ บช.น.เพื่อส่งกลับมาให้ดีเอสไอนำไปประกอบการสอบสวนในสำนวนหลัก ส่วนกลุ่มที่พบว่าเกิดจากการกระทำของ นปช. มีทั้งสิ้น 12 ศพ และอีก 55 ศพ ยังไม่พบว่าเสียชีวิตจากการกระทำของฝ่ายใด

นายธาริต ยังกล่าวถึงกรณีการเสียชีวิตของ พล.อ.ร่มเกล้า  ธุวธรรม ขณะนี้การสอบสวนจัดไว้ในกลุ่มเสียชีวิตโดยการกระทำของ นปช.  ส่วน พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นการกระทำของกลุ่มใด แต่เบื้องต้นสามารถระบุได้ว่าวิถีกระสุนมาจากจุดใด โดยใช้การจำลองสถานการณ์ด้วยคอมพิวเตอร์พบว่าวิถีกระสุนมาได้จาก 2 ตึกเท่านั้น แต่ยังไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอในการบ่งชี้ว่าใครเป็นผู้กระทำ ทั้งนี้ คดีดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงจลาจลพยานหลักฐานส่วนใหญ่ถูกทำลาย หากเป็นคดีปกติเมื่อครบ 2 ปีแล้วยังไม่มีพยานหลักฐานชัดเจน พนักงานสอบสวนต้องเสนองดการสอบสวน แต่ถ้าคดีดังกล่าวมีความสำคัญ ดีเอสไอจึงยังเดินหน้าการสอบสวนต่อ

ที่มา: สำนักข่าวไทย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: แถลงการณ์ สองปีของการสลายการชุมนุม ยังไม่มีความยุติธรรมให้กับเหยื่อโดยศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม( ศปช.)

 

กองทัพรัฐฉานเจรจากับพม่ารอบใหม่ที่เมืองเชียงตุง

พ.ต.หลาวแสง โฆษกสภากอบกู้รัฐฉาน RCSS (Restoration Council of Shan State) กองทัพรัฐฉาน SSA (Shan State Army) เปิดเผยว่า คณะเจรจาสันติภาพของสภากอบกู้รัฐฉาน RCSS กองทัพรัฐฉาน SSA จะมีการพบเจรจากับคณะเจรจาสันติภาพรัฐบาลพม่าอีกครั้ง ที่เมืองเชียงตุง รัฐฉานภาคตะวันออกในวันที่ 19พ.ค. 55 โดยการเจรจาครั้งนี้ เป็นการเจรจาครั้งสำคัญระดับสหภาพเป็นครั้งที่ 2ซึ่งฝ่ายสภากอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน ได้ส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงไปร่วมเจรจา นอกจากนี้จะมีสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศ รวมถึงนักการทูตต่างประเทศร่วมสังเกตการณ์และเป็นสักขีพยานด้วย ส่วนคณะเจรจาฝ่ายรัฐบาลพม่าคาดว่าจะมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงซึ่งอาจเป็นรองประธานาธิบดีเดินทางมาร่วมเจรจาด้วย

พ.ต.หลาวแสง กล่าวถึงประเด็นที่ทาง RCSS / SSA เตรียมนำไปเจรจาหารือกับรัฐบาลพม่าครั้งนี้ว่า มี 4ประเด็นใหญ่ คือ 1.หารือเรื่องจัดตั้งสำนักงานที่เมืองหัวเมือง และเมืองทา พื้นที่ที่รัฐบาลพม่ากำหนดเป็นเขตปกครองของ RCSS/SSA ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังมีปัญหาไม่เข้าใจกัน  2.หารือเรื่องการร่วมมือปราบปรามยาเสพติด 3.หารือเรื่องการจัดสรรที่ดินที่อยู่อาศัยและที่ทำกินสำหรับประชาชนในพื้นที่ปกครอง และ 4. หารือเรื่องปล่อยตัวเจ้าหน้าที่และผู้สนับสนุน RCSS/SSA ที่ถูกทางการพม่าจับกุมไว้อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมนี้ ทหารพม่าในพื้นที่เมืองปางโหลง และในพื้นที่เมืองหัวเมือง รัฐฉานภาคใต้ ได้ออกลาดตระเวนอย่างต่อเนื่องและได้บุกโจมตีฐานทหารกองกำลังไทใหญ่ SSA รวมแล้วอย่างน้อย 3 ครั้ง โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา ทหารพม่าสังกัดกองพันทหารราบที่ 246 เมืองปางโหลง ได้บุกโจมตีฐานชั่วคราวของ SSA บริเวณบ้านเก่าปางหมี ตำบลสะเน็น อ.ปางโหลง

ที่มา: สำนักข่าวฉาน

 

เผยโฉมหน้าครม.ใหม่ฝรั่งเศส ตำแหน่งหญิง-ชายคนละครึ่ง

ประธานาธิบดีคนใหม่ของฝรั่งเศสจากพรรคสังคมนิยม ฟรองซัวส์ อัลลองด์ ได้ประกาศรายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ประกอบด้วย 34 ตำแหน่ง โดย 17 ตำแหน่งเป็นของสตรี และมีการเพิ่มตำแหน่งรมต.กระทรวงสิทธิสตรีใหม่ด้วย           สัดส่วนคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นไปตามคำมั่นสัญญาของอัลลองด์ในการหาเสียงในการเลือกตั้งประธานาธิบดีก่อนหน้านี้

หนึ่งในสิบเจ็ดรัฐมนตรีหญิงของฝรั่งเศส ได้แก่ คริสเตียน โตบีรา จากแคว้นเฟรนช์กีเนีย ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ทำให้เธอเป็นสตรีที่ได้รับตำแหน่งสูงที่สุดในคณะรัฐมนตรี เธอเป็นนักกฎหมายวัย 60 ปีที่ได้ตรากฎหมายทำให้การค้าทาสเป็นอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติในปี 2001 นอกจากนี้ เธอยังเป็นสตรีผิวดำคนแรกที่ลงแข่งขันเป็นผู้สมัครการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสในปี 2002 ด้วย

ส่วนสตรีคนอื่นๆ ที่ได้รับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีได้แก่ มาริซอล ตูแรน เป็นรัฐมนตรีกระทรวงอนามัยและสังคม เซซิล ดูโฟลต์เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการเคหะ ซึ่งเป็นผู้นำของพรรคกรีนด้วย นอกจากนี้ ยังมีสตรีคนอื่นๆ ที่ช่วยอัลลองด์ในการหาเสียง เช่น ออเรลี่ ฟิลิเปตติ รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม และนาจา วัลโล เบลกาเซม ดูแลเรื่องสิทธิสตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งใหม่ในครม.ด้วย ในขณะเดียวกันเธอยังได้รับตำแหน่งโฆษกรัฐบาลด้วย

ที่มา: France24