"ธาริต" แย้มรัฐบาลมาร์คใช้ "ผังล้มเจ้า" ทำให้เกมโอเวอร์
25 พ.ค. 55 - เนชั่นทันข่าวรายงานว่านายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวในรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ ทางสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ ถึงคดีผังล้มเจ้าว่าไม่ได้ยุติแต่เป็นแค่การระงับไว้ก่อน แต่หากมีหลักฐานเพิ่มเติมก็สามารถนำกลับขึ้นมาพิจารณาได้ ทั้งนี้คดีดังกล่าวเกิดจาก ปี 2553 คนไทย สองกลุ่มทะเลาะกันอย่างรุนแรง ตนเห็นด้วยกับรัฐบาลขณะนั้นว่าต้องทำให้การฆ่ากันหยุดโดยเร็ว การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังตนเห็นด้วย และภาคภูมิใจในเป็นฝ่ายปฏิบัติให้ผู้มีอำนาจ เหมาะสมกับสถานการณ์ ณ ขณะนั้น เรื่องผังล้มเจ้าก็ปรากฏขึ้น ตนไม่อยากใช้คำว่าเป็นยุทธวิธีส่วนหนึ่งทำให้เกมโอเวอร์ ขณะที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ขณะนั้นก็อยู่ใน ศอฉ. รวมทั้งเป็นคณะกรรมการคดีพิเศษก็ได้เสนอให้เป็นคดีพิเศษ ตนรู้สึกว่าเมื่อฝ่ายความมั่นคงได้บอกว่าได้ช่วยกันทำชาร์ทผังล้มเจ้า เราก็รู้สึกว่าไม่สบายใจ ถ้ามีขบวนการที่จะล้มเจ้าก็เป็นเรื่องที่หน่วยบังคับใช้กฎหมายต้องดำเนินคดี
นายธาริตกล่าวถึงเหตุผลทำไมจึงงดการสืบสวนว่า ในผังมี 29 รายชื่อเราสอบสวนร่วมกับอัยการ เราทำงานรูปคณะกรรมการสอบสวนและร่วมกันทำเรื่องนี้มา ใน 39 รายชื่อมีบางรายชื่อที่เข้าข่ายกระทำการล่วงละเมิดตาม ม.112 เราก็แยกเป็นรายคน ซึ่งทั้งสั่งฟ้อง อัยการเห็นด้วย บางคนสารภาพ ศาลลงโทษ บางคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลและอัยการ ที่บอกว่าเลิกเป็นศูนย์ไม่ใช่ เราดำเนินการเป็นส่วนๆ แต่อีกส่วนของผังล้มเจ้า การกระทำของ 19 คนที่เป็นขบวนการเดียวกัน เราสอบมาสองปีเศษแล้ว พนักงานสอบสวนเชื่อแต่แรกว่ามีที่มาที่ไปแต่พอสอบเข้าก็ไม่มีใครยอมรับว่าใครเป็นคนทำ หรือมีวิธีคิดอย่างไร ทำเป็นขบวนการอย่างนั้นอีกทั้งหน่วยที่ทำก็ไม่มีใครยอมรับ ทุกคนปฏิเสธว่าไม่มีส่วนร่วมในการทำผัง พอทำหนังสือเราก็ทำหนังสือถึง ผอ.ศอฉ. ซึ่งก็คือนายสุเทพในขณะนั้น แต่นายสุเทพก็ไม่ตอบ และไม่มีข้อเท็จจริงว่าใครเป็นคนทำ ขณะพ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. ก็บอกว่าเป็นคนกลางอีกที เมื่อถามว่าใครทำ พ.อ.สรรเสริญก็บอกว่าเป็นฝ่ายความมั่นคง ทั้งนี้ผังล้มเจ้าไม่เคยนำเข้าที่ประชุม ศอฉ. เรื่องดังกล่าว พ.อ.สรรเสริญเป็นผู้นำไปเปิดเผยต่อสาธารณชน แต่เมื่อถามท่านท่านก็ไม่แน่ใจว่าใครทำ
"เรื่องผังล้มเจ้า ในการข่าวมีหรือไม่ผมไม่เถียง แต่ถ้าจะให้เขาติดคุกติดตะรางก็ต้องทำให้สิ้นสงสัย"นายธาริตกล่าว
เมื่อถามว่า ครั้งนั้่นใช้ 112 เป็นมาตรการในทำให้เกมส์โอเวอร์ เป็นเหตุให้ตอนนี้เกิดความสับสนเรื่องการใช้ ม. 112 หรือไม่ นายธาริตกล่าวว่า ดีเอสไอเป็นหน่วยงานหนึ่งของรัฐ กติกากำหนดว่า ฝ่ายบริหารเป็นฝ่ายรัฐบาล ข้าราชการประจำเป็นฝ่ายปฏิบัติ ในปี 2553 มีนโยบายใช้กฎหมายอย่างจริงจังให้มันจบ เมื่อสถานการณ์เลิก รัฐบาลนี้ใช้มาตรการเรื่องปรองดอง ก็ต้องให้ส่วนราชการปฏิบัติ ซึ่งมีกฎหมายบัญญัติว่าให้ข้าราชการพลเรือนต้องปฏิบัติตามนโยบายราชการ แล้วจะถูกประณามว่าเปลี่ยนสี ก็กติกาเป็นอย่างนี้แล้วจะให้ทำอย่างไร ตนไม่สบายใจมากว่าเมื่อสังคมยังแตกแยก ดีเอสไอรับผิดชอบงานคดีด้านนี้ ฉะนั้นจะมีความเห็นอย่างไรต้องมีทั้งคนถูกใจและไม่ถูกใจ
ส่วนคดีหมิ่นเบื้องสูงของนายจตุพรนั้น นายธาริตกล่าวว่า เมื่อได้ฟังครั้งแรกก็รับไม่ได้ เมื่อมาร้องเราก็ต้องรับ ขณะนั้นตนก็แว้บขึ้นมาว่าใครมาพูดอย่างนี้น่าจะเข้าข่ายผิด จึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมาและสอบสวน แต่พนักงานสอบสวนก็ใช้พยานกลาง คือนักภาษาศาสตร์ อีกกลุ่มคือนักสื่อสารมวลชน และ มวลชนที่ฟัง เมื่อมาประมวลบอกว่าต้องฟังให้ครบทั้ง ซึ่งสรุปว่า เขาพูดในบริบทที่ต่อว่าผู้นำประเทศในขณะนั้น การพูดอย่างนี้ตนว่าไม่ได้ล่วงละเมิดสถาบัน เขาพุ่งเป้าไปที่คนอื่นไม่ใช่สถาบัน ไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อน
ที่มา : ประชาไท
“สาทิตย์” เผยมีข่าว “พล.อ.สนธิ” พบ “พ.ต.ท.ทักษิณ” ก่อนรับเป็นผู้เสนอ พ.ร.บ.ปรองดอง
25 พ.ค.- ปชป.เชื่อการเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเข้าสภาจะเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งครั้งใหม่ “สาทิตย์” ระบุ มีข่าววงใน “พล.อ.สนธิ” ดอดพบ “พ.ต.ท.ทักษิณ” ก่อนรับเป็นนอมินีเสนอร่างกฎหมาย จี้นายกฯ แสดงท่าทีให้ชัดทั้งในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทยที่จะมีสมาชิกได้ประโยชน์ และในฐานะน้องสาวอดีตนายกฯ ขณะที่ “ถาวร” มั่นใจ หัวหน้าพรรคมาตุภูมิได้เก้าอี้รัฐมนตรีตอบแทนในการปรับ ครม.ครั้งหน้าแน่นอน
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ว่า ภายในพรรคเพื่อไทยก็ยังขัดแย้งกันอยู่ในเนื้อหา เพราะฝ่ายหนึ่งเห็นว่าถ้าเขียนให้เป็นการนิรโทษกรรมทุกความผิด รวมทั้งให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ประโยชน์ นิรโทษกรรมลบล้างผิดไปด้วย ประชาชนจะลุกฮือขึ้นมาคัดค้านอย่างแน่นอน ขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่าควรทำไปเลย เพราะเสียงในรัฐสภามีเพียงพออยู่แล้ว ในที่สุดก็ให้นอมินีคือ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ เป็นผู้เสนอ
นายสาทิตย์ กล่าวว่า มีข่าวลือในวงการเมืองว่า พล.อ.สนธิ ไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณแล้ว จะจริงหรือไม่ พล.อ.สนธิ ต้องชี้แจงให้ประชาชนทราบ ผมไม่ทราบว่ามีการแลกเปลี่ยนอะไรหรือไม่ หรือมีการพบกันจริงหรือไม่ แต่การเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมลบล้างความผิดทุกคดีความ ตามที่เป็นข่าวนั้น เป็นแนวทางที่กมธ.ปรองดองเคยศึกษาเอาไว้ แต่สถาบันพระปกเกล้า ที่ทำรายงานเรื่องปรองดองในจำนวน 20 กว่าคนเห็นด้วยกับแนวทางนี้ 2 คนเท่านั้น เพราะแนวทางเขียนกฎหมายให้ลบล้างความผิดทั้งอาญา วางเพลิง ทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บเสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นคดียิงวัดพระแก้ว เผาศาลากลาง ยิงเอ็ม 79 จนแม่ค้าข้าวแกง ผู้ชุมนุม ตำรวจ ทหารตาย รวมถึงลบล้างสิ่งที่ คตส.ดำเนินการทั้งหมด ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง วินิจยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้พ้นจากความผิด แล้วในที่สุดนำไปสู่การคืนเงินให้ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น เป็นการทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรม และกฎหมายลงอย่างสิ้นเชิง ผมคิดว่าการเสนอกฎหมายลักษณะนี้จะเป็นชนวนใหญ่ให้ความขัดแย้งที่มีผลมาจากการแก้รัฐธรรมนูญ การจ่ายเงินเยียวยา 7.5 ล้านบาท กลายเป็นความขัดแย้งที่บานปลายมากขึ้นอย่างแน่นอน
“กฎหมายนิรโทษกรรม ไม่อาจสร้างความปรองดองอย่างแน่นอน เหมือนเป็นการใช้เสื้อคลุมปรองดอง ปิดบังอำพรางเป้าประสงค์ที่แท้จริงเพื่อนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และบริวาร ขอเรียกร้องให้ พล.อ.สนธิ ชี้แจงกับประชาชนให้ชัดเจนว่า 1.ประเทศชาติและประชาชนจะได้อะไรจากกฎหมายนิรโทษกรรม 2. พล.อ.สนธิ ไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมาจริงหรือไม่ และตกลงเงื่อนไขอะไรกันเอาไว้ ถึงยอมเป็นผู้เสนอกฎหมายฉบับนี้ 3.นายกรัฐมนตรีซึ่งอยู่ในฐานะ ส.ส. หัวหน้ารัฐบาล เจ้าของพรรคเพื่อไทย และในฐานะที่เป็นน้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งจะได้ประโยชน์จากกฎหมายนี้ ต้องแถลงท่าทีให้ชัด เพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์แน่นอน อย่าบอกว่าเป็นเรื่องของสภาฯ เพราะนายกฯ เป็นหนึ่งในสภา ที่ต้องลงมติด้วย และ 4. ถ้ากฎหมายนี้ออกมา จะมี ส.ส.อย่างน้อย 20 คนที่ได้ประโยชน์ พรรคเพื่อไทยจะมีท่าทีอย่างไร” นายสาทิตย์ กล่าว
ด้านนายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พล.อ.สนธิ กำลังทำให้เกิดความขัดแย้งในรอบต่อไปแน่นอน แต่จะออกมาในรูปแบบใดนั้นยากจะคาดเดาและอาจจะเกิดการปฏิวัติรอบใหม่ก็ได้ เพราะหากมีการลบล้างความผิดการทุจริตของคนใดคนหนึ่งก็จะมีทั้งกลุ่มที่คัดค้านในเรื่องนี้
เมื่อถามว่าส่วนตัวคิดว่า พล.อ.สนธิ จะได้รับตำแหน่งในการปรับคณะรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ 3 หรือไม่ นายถาวร กล่าวว่า พล.อ.สนธิจะได้นั่งเก้ารัฐมนตรีในการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งต่อไปแน่นอน และเชื่อว่าผลจากการยื่น พ.ร.บ.ปรองดองในครั้งนี้ จะทำให้บางคนเข้าไปมีชื่อเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้า และจะได้รับมอบหมายจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ให้ดูแลจังหวัดปัตตานี หรือไม่ก็อาจจะเป็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมดก็ได้.
ที่มา : สำนักข่าวไทย
ชี้ร่างพรบ.ปรองดองชี้มีกม. 2 ฉบับในซองเดียว
แก้วสรรโวย ร่างพ.ร.บ.ปรองดอง ชี้ มีกฎหมายสองฉบับในซองเดียว นิรโทษกรรม - เว้นโทษ เชื่อเรื่องถึงศาลรธน.แน่
นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตกรรมการคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ให้สัมภาษณ์ "สำนักข่าวเนชั่น" กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส. พรรคมาตุภูมิ และกลุ่ม ส.ส.พรรครัฐบาล เสนอ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ เข้าสู่สภาว่า ถ้าทำอย่างนี้ก็เป็นแค่กฎหมายระดับ พ.ร.บ. ซึ่งจะเป็นปัญหาทางนิติศาสตร์ ว่าขัดการกระทำเช่นนี้ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ที่ฝ่ายนิติบัญญัติจะโผล่มาออกกฎหมายล้มล้างคดีที่อำนาจตุลากรดำเนินการไปแล้ว หรือย้อนหลังไปทำลายการทำงานตามกฎหมายที่ผ่านมาในอดีต ซึ่งเรื่องนี้คงต้องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ
นายแก้วสรรกล่าวว่าตอนที่ตนทำงานเป็น คตส.ก็ทำตามกฎหมาย ในระบบขณะนั้นถือว่าเป็นกฎหมาย แต่อยู่ดีๆคุณบอกจงหายไปตนก็ไม่เข้าใจว่าใช้อำนาจอะไรกัน การใช้อำนาจต้องมีเหตุมีผล ไม่ใช่บอกว่าเสียงเยอะก็บอกว่าเป็นกฎหมาย และการเขียนไปเขียนย้อนหลังประโยชน์เฉพาะกลุ่มบุคคลได้ยังไง หากบอกว่าการตัดสิทธิยุบพรรคทำไม่ได้ นั่นจึงจะไม่เป็นการทำเฉพาะบุคคล หากทำอย่างนี้จึงจะทำได้ แต่อยู่ดีๆก็เอื้อมมือมาบอกว่าอันนี้ผิดไม่ผิด
ส่วนที่ มาตรา 7 เปิดช่องให้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายนั้น นายแก้วสรรกล่าวว่า ถ้าฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ที่ทำอยู่มันผิดตรงไหน กฎหมาย ณ เวลาหนึ่งก็เป็นกฎหมายเราก็ทำโดยสุจริตและไม่ผิดมาตรฐาน แต่ใช้ไปข้างหน้าคุณมาย้อนและให้ใช้ค่าเสียหายและตนนึกไม่ถึง แต่เรื่องนี้คงเป็นปัญหาไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ
"พล.อ.สนธิ แกเป็นคนตั้งพวกผมมาและ ให้ผมใช้ค่าเสียหายแกทำได้ด้วยหรือ" นายแก้วสรรกล่าว
นายแก้วสรรกล่าวต่อว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มันไม่ใช่ปรองดองอยู่แล้วการปรองดองเป็นความขัดแย้งทางการเมือง ความขัดแย้งเหลืองแดง มันเป็นเรื่องความเชื่อความคิด หากมองออกว่าผ่านไปแล้วผ่านไปเลย ใครผิดก็หยวนอย่างนี้ เรียกว่าเป็น กฎหมายนิรโทษกรรม ส่วนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ใช่นิรโทษกรรม หรือปรองดอง เป็นเรื่องของคุณทักษิณที่คิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมก็จะใช้อำนาจนิติบัญญัติมาช่วย สุดท้ายก็มีสองฉบับอยู่ในฉบับเดียว ฉบับแรกนิรโทษกรรมจลาจล อีกฉบับเป็นการเว้นความผิด ครั้งนี้ต้องเรียกว่ากฎหมายสองฉบับแต่ใส่ในซองเดียว
นายแก้วสรรกล่าวอีกว่า ส่วนการนิรโทษกรรมคนสลายม็อบ หรือคนที่ก่อม็อบ เราก็เคยทำมาตอนช่วง 14 ต.ค. 16 ตอน พฤษภา 35 มันเป็นดุลพินิจของสภา ที่เขาจะบอกว่าแล้วๆกันไปเถอะ แต่จะก็ต่างที่ว่ามาในคราวนีร้ันไม่ใช่เรื่องบันดาลโทสะหรือเหตุการณ์พาไป แต่เป็นเรื่องการวางแผนจะอยู่ดีจะให้ๆมาลืมเสียเถอะ ในทางความชอบธรรม ที่จะอธิบานยได้มันไม่มี เขาคิดว่าบ้านเมืองจะสงบ แต่เหตุผลมันไม่เข้าท่า คนตายคนเจ็บ เขามีส่สวนได้เสีย แล้วบอกว่าแล้วๆแล้วไปมันทำได้หรือ หากทำความเสียหายให้ชาวบ้านรัฐมีอำนาจหรือเปล่า หากเรื่องนี้ไปถึงศาล รธน. ก็ต้องตัดสิน เช่นกัน
ที่มา : สำนักเนชั่น
ศาลสั่งบ.ประกันภัยชดใช้2แสนผู้ค้าย่านสยามสแควร์
เมื่อวันที่ 25 พ.ค.55 นายเกรียงศักดิ์ วรมงคลชัย อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการและโฆษกสภาทนายความ เปิดเผยว่า ตามที่สภาทนายความ ให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายกับ น.ส.วนิดา สมบัติศิริ ผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งค้าขาย บริเวณโรงภาพยนตร์ ย่านสยามสแควร์ ได้รับความเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้ในช่วงเวลาระหว่างที่มีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง บริเวณแยกราชประสงค์ เมื่อเดือน พ.ค.53 โดยกรณีของ น.ส.วนิดา สภาทนายความได้ให้ความช่วยเหลือ ในการยื่นฟ้องคดีต่อศาลแขวงปทุมวันเมื่อวันที่ 11 ต.ค.54 ซึ่ง น.ส.วนิดา สมบัติศิริ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท ศรีอยุธยาประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลย เรื่องผิดสัญญาประกันภัย ให้ชดใช้ค่าเสียหาย เนื่องจากบริษัทผู้รับประกันภัยไม่จ่ายค่าสินไหม ค่าเสียหาย เนื่องจากเห็นว่าเป็นเหตุการณ์จลาจลที่เกิดจากเหตุก่อการร้าย
โดยคดีดังกล่าว ศาลแขวงปทุมวัน มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา ให้ บจก.ศรีอยุธยาประกันภัย จำกัด ชำระเงินแก่โจทก์ จำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้อง และให้จำเลยใช้ค่าธรรมเนียมและค่าทนายความ 5,000 บาทด้วย
ที่มา: สำนักข่าวเนชั่น
เอ็นจีโอสวนกลับอิตาเลี่ยนไทย บี้ กพร.เข็นโปแตชเข้าโครงการรุนแรง
เอ็นจีโอสวนกลับ อิตาเลี่ยนไทยเดินหน้าทำอีเอชไอเอ อัดสร้างภาพหวังระดมมวลชนสนับสนุนโครงการ บี้ กพร. –กระทรวงทรัพฯ เข็นโครงการเหมืองแร่โปแตชเข้าโครงการอันตรายอีกรอบ หลังอุตสาหกรรมเหมืองแร่หลุด 11 โครงการรุนแรง ไม่ต้องทำอีเอชไอเอตาม ม. 67 วรรค 2 หวังสร้างมาตรฐานกฎหมายเหมืองใต้ดินทั้งประเทศ
25 พ.ค. 55 - มีความเคลื่อนไหวภายหลังการเดินหน้าการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย ในการทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Public Review : ค.3) โครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ที่โรงแรมบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งบริษัทเอเชีย แปซิฟิก โปแตช คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) ว่าจ้าง บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง อนด์ เมเนจเม้นท์ จำกัด ดำเนินการศึกษาต่อเนื่องมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2554 และนำมาซึ่งการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเวทีสุดท้ายในครั้งนี้เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ที่ผ่านมา
นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะทรัพยากรแร่ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องชัดเจนในการทำเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้ายของของบริษัทเอพีพีซี คือ การทำอีเอชไอเอ เป็นเจตนารมย์ของบริษัท หรือเป็นการปฎิบัติตามข้อกฎหมาย 67 วรรค 2 เนื่องจากโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี หลุดจากการเป็นโครงการที่เข้าข่ายความรุนแรง เพราะฉะนั้นบริษัทอิตาเลี่ยนไทยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำอีเอชไอเอแต่ประการใด สิ่งที่ทำเพียงแค่ต้องการสร้างภาพว่าบริษัทมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ประเด็นสำคัญก็คือเหตุใด กพร.จึงปล่อยให้บริษัทเดินหน้าทำอีเอชไอเอ ทั้งที่ไม่ต้องทำเรื่องนี้แต่อย่างใด
“เมื่อไม่เข้าโครงการความรุนแรง เหตุใดบริษัทอิตาเลี่ยนไทยจึงดึงดันเดินหน้าทำอีเอชไอเอ เพื่ออะไร หรือเพื่อเกณฑ์มวลชนให้ตีกัน ระดมมวลชนเพื่อสนับสนุนโครงการของตนเอง กพร.ต้องถามบริษัทอิตาเลี่ยนไทยให้ชัดว่า ทำตามข้อกฎหมายหรือเจตนารมย์อย่างอื่น อย่าลืมว่าที่ผ่านมากระบวนการการทำโครงการเหมืองแร่โปแตชผิดตั้งแต่ต้น มันก็ผิดไปทั้งหมดตั้งแต่ประเด็นการไต่สวนขอประทานบัตร ที่มีปัญหากันอยู่ในขณะนี้ แล้วจะไปทำประเมินอีเอชไอเอได้อย่างไร” นายเลิศศักดิ์ กล่าว
นายเลิศศักดิ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากระบวนการขั้นตอนก็ผิดมากมายแต่กลับไปจัดทำประเมินอีเอชไอเอ มันกลับหัวกลับหางกันไปหมด บริษัทจะเอาข้อมูลมาจากไหนไปประเมิน ต้องไม่ลืมว่าโปแตชมีหลายพื้นที่ทั่วอีสาน เพราะฉะนั้นจะต้องมีมาตรฐานทางกฎหมายทีชัดเจนว่าโครงการเหมืองแร่โปแตชจะเข้าหรือไม่เข้าโครงการอันตราย
นายเลิศศักดิ์ กล่าวต่อว่า โครงการเหมืองแร่โปแตชไม่เข้าข่ายโครงการรุนแรงตามมาตรา 67วรรค 2 ทั้งที่โครงการแบบนี้เป็นโครงการอุตสาหกรรมอันตราย นั้นหมายถึง มันไม่ได้สร้างกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่ดี เพราะฉะนั้น กพร. ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ต้องทบทวนโครงการเหมืองแร่ใต้ดิน และทำหนังสือไปยังหน่วยงานราชการทีเกี่ยวข้องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สผ. หรือกระทรวงทรัพยากรฯ ส่งเรื่องกลับไปยังคณะกรรมการอิสระสิ่งแวดล้อมแห่งชาติทบทวน ให้ดึงกลับโครงการเหมืองแร่โปแตชเข้าประเภทโครงการความรุนแรง นั้นหมายถึงจะส่งผลไปถึงมาตรฐานการทำเหมืองแร่ใต้ดินทั้งหมดในประเทศไทย นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาด้วยว่า ยังมีโครงการไหน ที่ควรจะต้องทบทวนเปลี่ยนเพิ่มเติม กพร.ควรจะเป็นตัวนำร่อง สนับสนุนโครงการอันตราย ให้จัดอยู่ในประเภทกิจการที่อาจมีผลกระทบรุนแรง เพื่อให้มีกระบวนการศึกษาและตรวจสอบอย่างรอบคอบ
ด้านนายชาติ หงส์เทียมจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารสิ่งแวดล้อม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่า กพร.ทราบว่า โครงการเหมืองแร่โปแตช ไม่เข้าโครงการความรุนแรง แต่การทำอีเอชไอเอ มันจะทำให้มีข้อมูลรายละเอียดมากกว่าการทำอีไอเอตามปกติ ทาง กพร.จึงแนะนำให้ทางบริษัทพิจารณาว่าจะทำอีเอชไอเอหรือไม่ ซึ่งทางบริษัททำตามคำแนะนำ ส่วนจะเป็นการผิดขั้นตอนกฎหมายหรือไม่ ก็เป็นดุลยพินิจของ สผ.
ที่มา: ประชาไท
สมัชชาคนจนเก็บกระเป๋ากลับบ้าน รอเปิดเจรจาทางการ 22 มิ.ย.นี้
หลังการเจรจานอกรอบตัวแทนรัฐบาลรับปากแก้ปัญหาเร่งด่วนพื้นที่ป่าทับที่ทำกิน จ่อนำเรื่องเงินเยียวยาเขื่อนราษีไศลเข้าครม.29 พ.ค.นี้ ส่วนเวทีเจรจาทางการเดือนหน้าจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกกระทรวงทบวงกรมเข้าร่วม
25 พ.ค.55 กลุ่มสมัชชาคนจนที่ปักหลักชุมนุมบริเวณประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา กำลังเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงเย็นวันนี้ หลังมีการหารือกับตัวแทนรัฐบาลได้คำตอบเป็นที่น่าพอใจ พร้อมกับมีการนัดหมายให้มาเจรจากันอีกครั้งในวันที่ 22 มิ.ย.2555
นายพุฒ บุญเต็ม ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน กล่าวว่าในวันนี้มีการเจรจากรณีเร่งด่วนเกี่ยวกับพื้นที่ป่าทับที่ทำกินของราษฎรในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเสด็จในกรม กรมหลวงชุมพร ต.สองพี่น้อง อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร และปัญหาเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด ในพื้นที่ จ.พัทลุง จ.ตรัง และจ.นครศรีธรรมราช ทางเครือข่ายเห็นความจริงใจของรัฐบาลในการแก้ปัญหาจากที่มีการเรียกเจ้าหน้าที่อุทยานมาพูดคุยถึงถึงแนวทางแก้ไขข้อขัดแย้งด้วยการแก้กฎหมายซึ่งจะเป็นแนวทางในระยะยาว เพื่อให้ประชาชนสามารถอยู่อาศัยทำกินได้อย่างปกติสุขขณะที่หน่วยราชการก็ไม่ผิดระเบียบด้วย
ส่วนระยะสั้นนั้นทางสมัชชาคนจนเสนอให้มีมติ ครม.คุ้มครองในทั้ง 2 กรณี เพื่อยับยังปัญหาของชาวบ้านพื้นที่ป่า ซึ่งมีทั้งการข่มขู่คุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐในการเข้าไปตัดต้นยางพาราของชาวบ้าน การเข้าจับกุมชาวบ้านในพื้นที่ ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการรับที่จะนำไปหารือต่อ
นายพุฒ กล่าวด้วยว่า สำหรับการหารือนอกรอบระหว่างตัวแทนสมัชชาคนจนกับนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐนมตรี เมื่อวันที่ 24 พ.ค.55 เป็นการหารือเพื่อสรุปข้อมูลอย่างชัดเจน และมีการนัดหมายเปิดเวทีเจรจากับรัฐบาลอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 มิ.ย.55 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกกระทรวงทบวงกรมเข้าร่วม ส่วนกรณีเร่งด่วนเขื่อนราษีไศล นั้นจะมีการนำเสนอ ครม.ในวันที่ 29 พ.ค.ที่จะถึงนี้ ในเรื่องเงินเยียวยา 133 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในการหารือตัวแทนรัฐบาลได้รับปากที่จะเร่งเดินหน้ากระบวนการแก้ปัญหาโดยเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือ ทำความเข้าใจในกรณีที่สามารถทำได้ให้เสร็จสิ้นก่อนการประชุมเจรจาในวันที่ 22 มิ.ย.55 ซึ่งคาดว่าในวันดังกล่าวจะมีการรายงานความคืบหน้าการดำเนินงาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.30 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล นางไข ประกอบนา ประธานกลุ่มตัวแทนราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนราษีไศลและตัวแทนประมาณ 100 คน เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายกฯ เพื่อเรียกร้องให้เร่งรัดกรมชลประทาน 8 (มูลล่าง) เขื่อนราษีไศล จ.ศรีสะเกษ อนุมัติการจ่ายเงินค่าชดเชยให้กับราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าว โดยให้ชดเชยไร่ละ 32,000 บาท จากผู้เดือดร้อน 436 ราย
ขณะที่นายวีระพัฒน์ แก้วคำ ประธานกลุ่มตัวแทนราษฎรผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำพัฒนาชนบทห้วยก๊ากวาก ยื่นหนังสือเรียกร้องให้นายกฯ เร่งรัดการช่วยเหลือเงินค่าชดเชยแก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำดังกล่าว ซึ่งมีผู้ได้รับผลกระทบ 248 ราย โดยขอให้จ่ายชดเชยไร่ละ 5 หมื่นบาท จากทั้งหมด 3,000 ไร่
ที่มา: ประชาไท
ค่าแรง 300 เขมรลอบเข้าไทย จับแล้วกว่า3หมื่นคน
ทางการไทยฝั่ง จ.สระแก้ว สนธิกำลังสกัดกั้นแรงงานกัมพูชาลักลอบทำงานโดยผิดกฎหมายต่อเนื่อง พบมีจำนวนมากขึ้น 15% เพราะมีความหวังได้ค่าแรงเพิ่มหลังรัฐบาลไทยประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 สามารถจับกุมได้ทั้งสิ้นกว่า 3 หมื่นคน ทยอยส่งกลับประเทศ...
23 พ.ค. พ.ต.อ.สุบิน บุญเล็ก ผกก.สภ.คลองลึก กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ประสานงานกับกำลังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทั้งทหารพราน กองกำลังบูรพา ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง จ.สระแก้ว ร่วมกันสกัดกั้นแรงงานกัมพูชาลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ซึ่งขณะนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้น คาดว่าแรงงานกัมพูชาเหล่านี้เข้าใจผิดว่า เมื่อเข้ามาทำงานในประเทศไทยแล้วจะได้ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท จากการถ่ายทอดสื่อสารกับแรงงานกัมพูชาที่เข้ามาทำงานในไทย จึงทำให้แรงงานผิดกฎหมายลักลอบเข้ามามากขึ้นในช่วงนี้
ขณะที่ พ.ต.อ.สังคม ตัดโส ผกก.ด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า ได้ประสานกับหน่วยเฉพาะกิจทั้ง 3 หน่วย รับผิดชอบ 4 อำเภอ ตามแนวชายแดนร่วมกับตำรวจภูธรในพื้นที่ สนธิกำลังสกัดจับแรงงานผิดกฎหมาย โดยเริ่มเข้มงวดตั้งแต่รัฐบาลประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท จนสามารถจับกุมส่งด่านตรวจคนเข้าเมืองได้เกือบ 30,000 คน ซึ่งเพิ่มขึ้น 15% และเป็นผู้นำพาที่เป็นคนไทยจำนวน 33 ราย คาดว่ามีสิ่งจูงใจจากการขึ้นค่าแรง 300 บาท เนื่องจากชาวกัมพูชาส่วนใหญ่เป็นผู้ด้อยโอกาส และฐานะยากจน
ด้านนายจรูญ กุมพล ประธานที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า เห็นด้วยกับรัฐบาลประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เพราะทุกวันนี้ผู้ประกอบการบางแห่งจ้างค่าแรงเกินกว่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว แต่ต้องเป็นแรงงานมีคุณภาพ โดยทุกวันนี้ค่าแรงงานชาวกัมพูชาที่รับจ้างอยู่ที่ 150-200 บาท ซึ่งเป็นแรงงานภาคการเกษตร
นางฮอน หญิงชาวกัมพูชา เล่าว่า ตนเองพาลูกหนีความอดอยากมาหางานทำในฝั่งไทย ได้รับค่าจ้างเพียงวันละ 120-200 บาท ต้องแบ่งซื้อข้าวสารและกับข้าวให้ลูกในแต่ละวัน ซึ่งไม่เคยมีเงินเหลือเก็บแม้แต่บาทเดียว และการถูกจับกุมในครั้งนี้คงต้องถูกส่งตัวกลับประเทศกัมพูชา และไม่รู้ว่าเมื่อถูกส่งตัวกลับไปฝั่งกัมพูชาแล้ว จะเอาเงินที่ไหนซื้อข้าวให้ลูกกิน ซึ่งประเทศกัมพูชาประสบเหตุน้ำท่วมเช่นเดียวกับไทย และได้รับความเดือดร้อนไม่แพ้กัน.
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
มท.1ไม่ยกเลิกกำนัน-ผู้ใหญ่เขตเทศบาล
นายยงยศ แก้วเขียว นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย พร้อมคณะกำนันผู้ใหญ่บ้านจำนวน 10 คน กล่าวภายหลังเดินทางเข้าพบ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯและรมว.มหาดไทยว่า สมาคมกำนันฯทราบว่ากระทรวงมหาดไทย ได้นำกฎหมายยกเลิก พ.ร.บ.เทศบาล มาตรา 4,12 และ 48 ผ่านมติ ครม. และเสนอ พ.ร.บ.การเลือกกำนันผู้ใหญ่บ้าน กลับเข้ามาใหม่เขตที่ได้มีการยกเลิกไปแล้ว โดยความเห็นชอบของประชาชนเสนอมายังรมว.มหาดไทย แล้วให้กำหนดวิธีการคัดเลือกกำนันผู้ใหญ่บ้านกลับเข้ามาใหม่ในเขตเทศบาล หรือ ในท้องที่ที่ประชาชนต้องการให้มีกำนันผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งขณะนี้กำลังนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในวันนี้(23พ.ค.) ตนและคณะ จึงได้เดินทางมาขอบคุณรมว.มหาดไทย ที่เห็นถึงความสำคัญของการคงอยู่ของกำนันผู้ใหญ่บ้าน
นายยงยศ กล่าวต่อว่า เรื่องค่าตอบแทนของกำนันผู้ใหญ่บ้านนั้น ขณะนี้สมาคมฯเห็นว่า ยังไม่มีความจำเป็นเท่าไหร่นักที่รัฐบาลจะมาเพิ่มค่าตอบแทนให้กับกำนันผู้ใหญ่บ้าน เงินค่าตอบแทนนั้น คอยได้ ไม่จำเป็นอย่างรีบด่วน เนื่องจากชาติยังมีปัญหาเรื่องการกู้เงินเพื่อช่วยเหลือประชาชนในเรื่องอุทกภัยหรือภัยพิบัติต่าง ๆ เพราะสมาคมฯเห็นว่าตำแหน่งกำนันผู้ใหญ่บ้าน เราไม่เล็งเห็นถึงค่าตอบแทนเท่าไหร่ แต่เน้นถึงการปฏิบัติหน้าที่
อนึ่งพ.ร.บ.เทศบาล มาตรา 4,12 และ 48 มีเนื้อหาหลักคือ เมื่อพ้นกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ได้มีพ.ร.ฎ.ยกฐานะท้องถิ่นใดเป็นเทศบาลแล้ว
ที่มา : สำนักข่าวเนชั่น
'เฟซบุ๊ก' จ่อเลิกแบนเด็กต่ำกว่า 13 หวังยอดใช้งานเพิ่มขึ้น
"เฟซบุ๊ก" จ่อไฟเขียวให้เด็กต่ำกว่า 13 สมัครใช้งานสังคมออนไลน์ได้แล้ว คาดยอดยูสเซอร์เพิ่มขึ้นอีกหลายล้านราย หลังก่อนหน้านี้ห้ามเพราะกฎหมายคอมพิวเตอร์สหรัฐฯ และห่วงภัยออนไลน์ที่อาจแฝงอยู่...
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานเมื่อวันที่ 21 พ.ค. ว่า เฟซบุ๊ก สังคมออนไลน์อันดับ 1 ของโลก เตรียมพิจารณายกเลิกข้อห้าม ที่ไม่ให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 13 ปี สมัครใช้งานเว็บไซต์สังคมออนไลน์ และคาดว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว อาจทำให้มียอดผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอีกหลายล้านราย
โดยพนักงานอาวุโสของเฟซบุ๊ก ระบุว่า การตัดสินใจครั้งดังกล่าว มีขึ้นเนื่องจากพบว่า จำนวนเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี หาทางเล่นเว็บไซต์สังคมออนไลน์อยู่ดี แม้มีข้อห้ามดังกล่าว โดยอาจลวงอายุเวลาสมัครใช้งาน บ้างได้รับอนุญาตจากผู้ปกครอง และได้รับความช่วยเหลือในการสมัคร เป็นต้น
ก่อนหน้านี้ที่มีการห้าม สืบเนื่องมาจากกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ของสหรัฐฯ จึงนำไปเป็นข้อกำหนดของผู้สมัครใช้งานทั่วโลก แต่ในความเป็นจริงแล้ว พ่อแม่ส่วนใหญ่ต่างรู้สึกดีที่ได้ใช้สังคมออนไลน์ร่วมกับเด็กๆ แต่อย่างไรก็ดี ยังมีการตั้งค่าความปลอดภัยบางประการ ที่ป้องกันเยาวชนจากภัยออนไลน์ด้วย
อนึ่ง ปัจจุบันมีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กราว 900 ล้านราย และอาจถึง 100 ล้านรายได้ในอีกไม่นานนี้ ซึ่งหมายความว่าจะมีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กราว 1 ใน 7 ของประชากรทั้งโลก และสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หุ้นสาธารณะของเฟซบุ๊ก (ไอพีโอ) ที่เพิ่งเทรดสู่ตลาดแนสแดค ราคาหุ้นละ 1,140 บาท ส่งผลให้มูลค่ารวมของบริษัทเพิ่มเป็น 3 ล้านล้านบาท.
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์