รอบอาทิตย์สุดท้าย พ.ค.55 : วุ่นพ.ร.บ.ปรองดอง

รอบอาทิตย์สุดท้าย พ.ค.55 : วุ่นพ.ร.บ.ปรองดอง

เมื่อ 4 มิ.ย. 2555

พล.อ.สนธิเสนอร่างพ.ร.บ.ปรองดองเข้าสภา

พล.อ.สนธิเสนอร่างพ.ร.บ.ปรองดอง ระบุถึงเหตุผลและความจำเป็นในการเสนอกฎหมาย กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯในวันที่30พ.ค.นี้
 
พล.อ.สนธิ บุญยรัตนกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ได้เสนอร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ระบุถึงเหตุผลและความจำเป็นในการเสนอกฎหมาย และกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ในวันที่ 30-31 พ.ค.นี้ แถมสภาฯ เปิดช่องให้เลื่อนวาระขึ้นมาพิจารณาได้ โดยใช้มติเสียงข้างมากของสภา
 
สาระสำคัญของร่างพ.ร.บ. ปรองดอง ที่น่าสนใจ มาตรา 3 ให้บรรดาการกระทำใดๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2548 จนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง
 
มาตรา 4 เมื่อ พ.ร.บ.นี้ มีผลใช้บังคับแล้ว ผู้กระทำการตามมาตรา 3 อยู่ในระหว่างการสอบสวนให้ผู้มีอำนาจสอบสวน ระงับการสอบสวนทั้งหมด หากอยู่ในระหว่างการฟ้องร้องให้พนักงานอัยการหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องระงับการฟ้องหรือให้ถอนฟ้อง หากอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี และเมื่อมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษา และหากรับโทษอยู่ให้การลงโทษสิ้นสุดลงและปล่อยตัว
 
มาตรา 5 ให้บุคคลที่ได้รับผลระทบ จากประกาศ หรือ คำสั่งของ คปค. หรือคำสั่งของหัวหน้า คปค. ที่ได้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ไม่เป็นผู้ถูกกล่าวหา หรือ เป็นผู้กระทำความผิด โดยให้นำความใน
 
ที่มาข่าว กรุงเทพธุรกิจ
 
เปิดร่างพ.ร.บ.ปรองดองสามฉบับ ดูความเหมือนความต่าง
 
นอกจากร่าง ′ปรองดอง′ ของ พล.อ.สนธิ ที่ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลร่วมเสนอ 35 คน ยังมีการเสนอเข้าสภาตามมาอีก 3 ร่าง ประกอบด้วย 
ร่างของ นายสามารถ แก้วมีชัย ในนามส.ส.เพื่อไทย มีส.ส.ลงชื่อ 50 คน ร่างของ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และส.ส.เสื้อแดง 74 คน และร่างของนายนิยม วรปัญญา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย พร้อมคณะ 22 คน 
 
ร่างของพล.อ.สนธิ และร่างของนายสามารถมีถ้อยคำและมาตราต่างๆ เป็นเนื้อเดียวกัน ขณะที่เนื้อหาในร่างของ พล.อ.สนธิ และนปช. โดยรวมไม่แตกต่างกัน คือ กำหนดให้การ ′ล้างผิด′ ครอบคลุมช่วงเหตุการณ์ 15 ก.ย. 2548 จนถึง 10 พ.ค. 2554 เมื่อพ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ให้ระงับการสอบสวน ยื่นฟ้อง ถอนฟ้อง จำหน่ายคดี ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขัง หากคดีพิพากษาถึงที่สุดให้เสมือนไม่ต้องคำพิพากษา คดีที่ดำเนินการโดย คตส.ก็ให้สิ้นสุด เสมือนไม่เคยถูกกล่าวหา การเพิกถอนสิทธิ์ กก.บห.ที่พรรคถูกยุบ ให้ถือเป็นโมฆะ และการดำเนินการตามพ.ร.บ.ไม่ตัดสิทธิ์บุคคลในการเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่ง 
 
จะมีที่แตกต่างคือ มาตรา 3 ร่างของพล.อ.สนธิ เป็นการล้างผิดในทุกกรณีรวมทั้งคดีหมิ่นสถาบัน ขณะที่ร่างของนปช. ที่ระบุไว้ในมาตรา 3 วรรคสอง ให้การล้างผิดไม่รวมถึงคดีก่อการร้าย และความผิดต่อชีวิต 
 
ส่วนร่างของนายนิยมแตกต่างกันจากร่างอื่นๆ เรื่องช่วงเวลา และให้คืนสิทธิเลือกตั้ง แต่สิทธิหรือประโยชน์อื่นๆ ที่ไม่ได้ระบุผู้ได้รับการนิรโทษกรรมไม่สามารถเรียกร้องได้ 
 
ที่มาข่าว และดูร่างฉบับเต็มที่ ข่าวสด
 
สภาวุ่น ลงมติเลื่อนพ.ร.บ.ปรองดองขึ้นมาพิจารณาก่อน
 
วันที่ 30 พ.ค. 55 เมื่อเวลา 18.05 น. นายสมศักดิ์ ได้ตัดบทการอภิปรายเพื่อจะขอมติที่ประชุม ว่า จะเลื่อนหรือไม่เลื่อน ปรากฏว่า ได้มีการตะโกนใส่ไมค์ว่า “จะเผด็จการรัฐสภาเหรอ ค้อนปลอมตราดูไบ เป็นลูกจ้างเขามาหรือไง เราเป็น ส.ส.ไม่ใช่ขี้ข้า” จากนั้น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นำโดยกุลเดช พัวพัฒนกุล ส.ส.อุทัยธานี พรรคประชาธิปัตย์ และนายอภิชาต สุภาแพ่ง ได้วิ่งขึ้นไปบนที่ประนั่งประธาน
 
โดยนายอภิชาต ยกมือไหว้ พร้อมดึงแขนนายสมศักดิ์ออกจากเก้าอี้ จนนายสมศักดิ์ตัวเซจวนตกเก้าอี้ ขณะที่ด้านหน้าบัลลังก์ประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ได้ลุกขึ้นเดินเข้าไปรุมประท้วงหน้าบัลลังก์ ทำให้เกิดความวุ่นวายมาก ตำรวจสภากว่า 30 คนต่างเข้าไปรุมล้อมอารักขาประธานสภา และมี ส.ส.พรรคเพื่อไทย เช่นนายฉลอง เรี่ยวแรง ส.ส.นนทบุรี นายพิชิต ชื่นบาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้ขึ้นไปป้องกันตัวนายสมศักดิ์ไว้
 
ขณะที่นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้เอามือค้ำคอนายอภิชาตดันออกจากตัวนายสมศักดิ์ ซึ่งก่อนที่จะมีการใช้กำลังกันนั้น เจ้าหน้าที่สภารีบมาแยกตัวทั้งคู่ ในที่สุด ประธานสภาได้กดออดพักประชุมอีกครั้ง แต่ก็ยังเกิดเหตุวุ่นวาย น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม ได้ขึ้นไปที่นั่งประธานสภา แล้วลากเก้าอี้ออกไปไม่ให้ประธานสภามีที่นั่งอีก
 
ทำให้นางเปล่งมณี เร่งสมบูรณ์สุข ส.ส.เลย พรรคเพื่อไทย ได้นำ ส.ส.หญิงพรรคเพื่อไทย ไปแย่งเก้าอี้คืนจาก น.ส.รังสิมา แต่นางกันตวรรณ ตันเถียร ส.ส.พังงา พรรคประชาธิปัตย์ ได้เข้าไปยื้อยุดเก้าอี้ จนเกือบตบตีกันระหว่าง ส.ส.2 พรรค แต่นายพงศ์เวช เวชชาชีวะ ส.ส.นนทบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ได้พาเจ้าหน้าที่ รปภ.มาห้าม เจ้าหน้าที่สภาได้เอาเก้าอี้ตัวอื่นมาเป็นที่นั่งประธานสภาแทน ขณะที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรครักษ์ประเทศไทย ได้ถ่ายคลิปไวตลอดเหตุการณ์
 
จากนั้นเวลา 18.26 น. ได้มีการเปิดประชุมเป็นครั้งที่ 2 โดยมีนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภา ขึ้นทำหน้าที่ประธานแทนนายสมศักดิ์ แต่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ยอมนั่งเก้าอี้ ยังคงยืนจับกลุ่มคุยกัน พร้อมตะโกนดังลั่นห้องประชุมให้ปิดประชุม ทำให้นายฉลอง เรี่ยวแรง ส.ส.พรรคเพื่อไทย เดินเข้ามาไกล่เกลี่ย และนายวิสุทธิ์ ได้ขอร้อง ทำให้บรรยากาศในห้องประชุมเย็นลง แต่บรรดา ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยังคงยืนกรานไม่ให้เลื่อนวาระ ทำให้นายวิสุทธิ์ต้องสั่งปิดการประชุมและนัดประชุมอีกครั้งในเวลา 09.30 น. วันที่ 31 พ.ค.ต่อไป
 
ที่มาข่าว เดลินิวส์
 
วันที่ 31 พ.ค. 55 หลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร กลับมาประชุมอีกครั้งนี้  และมีการลงมติของที่ประชุมสภาผู้แทนฯ เห็นชอบให้เลื่อนวาระ พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ  ขึ้นมาพิจารณาเป็นวาระเร่งด่วน ด้วยคะแนน 272 ต่อ 2 เสียง งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนน 1 ท่ามกลางความไม่พอใจของ ส.ส.ฝ่ายค้านที่ไม่เห็นด้วย
          
อย่างไรก็ตาม  ประธานสภาฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมสภาฯทราบว่าขอนัดประชุมในวันพรุ่งนี้เวลา 9.30 น.เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ  จากนั้นได้สั่งปิดประชุมทันที ทำให้เกิดเหตุการณ์วุ่นวายขึ้นในสภาฯอีกครั้ง เนื่องจาก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไม่พอใจที่ประธานสภาฯเร่งรวดรัด จึงนำแฟ้มเอกสารที่ถืออยู่ในมือโยนใส่นายสมศักดิ์ ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องเข้ามาอารักขาและนำตัวประธานสภาฯออกไป
 
 
พันธมิตร - หลากสีชุมนุมหน้าสภา ค้านพ.ร.บ.ปรองดอง
 
ตั้งแต่ช่วงเช้า วันที่ 30 พ.ค. กลุ่มเสื้อหลากสีราว 200 คน นำรถยนต์ติดเครื่องขยายเสียง กล่าวโจมตีรัฐบาล และคนเสื้อแดง และคัดค้านพ.ร.บ.ปรองดอง บริเวณ ข้างอาคารรัฐสภา ถนนพิชัย โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ กว่า 100  นาย รักษาความเรียบร้อย โดยมีอุปกรณ์ดูแลฝูงชนพร้อมสรรพ และเคลื่อนขบวนมารวมตัวกันชุมนุมและตั้งเวทีบริเวณถนนพิชัย ตัดถนนราชวิถีซึ่งตรงข้ามกับประตูประสาทเทวฤทธิ์ (ประตู 3) ของรัฐสภา
 
ขณะที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุม บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า มีการตั้งครัวบริการอาหารและน้ำดื่ม ผู้ร่วมชุมนุมเสื้อเหลืองทะยอยเดินทางมาอย่างต่อเนื่อง  โดยพลตรีจำลอง ศรีเมือง แกนนำคนสำคัญ ไม่ยืนยันว่า บุกเข้ารัฐสภาหรือไม่  พร้อมกล่าววิจารณ์พ.ร.บ.ปรองดอง
 
นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประธิปไตย ได้ขึ้นเวทีกล่าวปราศรัยที่ลานพระบรมรูปทรงม้าว่า พี่น้องพันธมิตรฯ คงพิสูจน์ชัดแล้วกรณีข่าวลือว่า "สนธิไหนรับเงินจากทักษิณกันแน่" การชุมนุมครั้งนี้ขอต้อนรับมวลชนทุกฝ่ายที่จุดมุ่งหมายเดียวกันคือต่อต้านการออกกฎหมายเพื่อนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณพ้นผิดและแตะต้องหมวดสถาบัน
 
นายสนธิ กล่าวอีกว่า ตนเองถือเป็นคู่กรณีกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ที่ออกมาคำรามอยู่ทุกวันว่า อย่าเอาทหารไปยุ่งการเมือง การเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง เป็นวาทะเดิมๆ ที่ลอกเลียนแบบจากลูกพี่เก่า พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ.ที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว วันนี้ขอเสนอให้รัฐบาล ยกเลิก พ.ร.บ.กลาโหมแล้วเด้ง พล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่ง แล้วจะดูว่าจะท่องคาถา การเมืองแก้ด้วยการเมืองอีกต่อไปหรือไม่
 
ที่มาข่าว มติชนออนไลน์
 
 
 
เอ็นจีโอ-เครือข่ายชาวบ้านฟ้องศาลปกครองหยุดคดีโลกร้อน
 
 28 พ.ค.55 ที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ ภาคประชาชนจำนวนกว่า 100 คน จาก 4 เครือข่าย 1 องค์กรพัฒนาเอกชน ได้แก่ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง พัทลุง และประจวบคีรีขันธ์ เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซิน จ.ชัยภูมิ เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าภูผาแดง จ.เพชรบูรณ์ องค์กรชุมชนบ้านพรสวรรค์ จ.เชียงใหม่ และมูลนิธิอันดามัน รวมทั้งผู้ฟ้องร้องในนามบุคคล 18 ราย รวมทั้งสิ้น 23 ราย ได้ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งให้บังคับใช้แบบจำลองค่าเสียหายโลกร้อน และให้ผู้ถูกฟ้องร้องคดีทั้งสองดำเนินการปรับปรุงแก้ไขแบบจำลองดังกล่าวให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก่อนนำแบบจำลองใหม่มาบังคับใช้
 
นายกฤษดา ขุนณรงค์ ผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดี กล่าวว่า เมื่อปีที่ผ่านมาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ได้ยื่นหนังสือถึงกรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้ ขอให้ยุติการบังคับใช้แบบจำลอง โดยได้แนบความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านวนศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ ที่ระบุว่าแบบจำลองดังกล่าวไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และไม่เป็นธรรม แต่เมื่อหน่วยงานดังกล่าวยืนยันที่จะบังคับใช้แบบจำลองต่อไป ทางเครือข่ายชาวบ้าน และชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ จึงได้หารือกับสภาทนายความ และกลุ่มนักวิชาการ มีความเห็นร่วมกันว่าจำเป็นต้องฟ้องศาลปกครอง เพื่อให้ศาลพิจารณาเพิกถอนแบบจำลองดังกล่าว
 
นายกฤษดา กล่าวอีกว่า สำหรับมูลเหตุในการฟ้องร้องนั้น ผู้ฟ้องเห็นว่า แบบจำลองนี้สร้างขึ้นโดยขาดองค์ความรู้และการศึกษาข้อมูลที่ครอบคลุมเพียงพอ ใช้วิธีคิดคำนวณที่ไม่เหมาะสมและผิดไปจากสามัญสำนึกของคนทั่วไป เป็นการนำงานวิชาการที่ไม่ผ่านการประเมินเพื่อตรวจสอบความถูกต้องทางวิชาการ ไม่เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการทั้งในประเทศ ไม่ได้รับฟังความเห็นจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย นำมาบังคับใช้ในการเรียกค่าเสียหายซึ่งส่งผลกระทบต่อสิทธิของประชาชน
 
สำหรับการฟ้องดำเนินคดีแพ่งโดยกรมอุทยานแห่งชาติฯ และกรมป่าไม้ ใช้มาตรา 97 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 เป็นฐานในการฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ และนำหนังสือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ ทส.0911.2/2181 ลงวันที่ 6 ก.พ.47 ที่กำหนดแบบจำลองทางคณิตศาสตร์สำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมมาเป็นหลักเกณฑ์ในการขอให้ศาลฯ สั่งเรียกค่าเสียหาย
 
ในส่วนรายละเอียดการคิดค่าเสียหายแบ่งเป็น 7 กรณี คือ 1.ค่าการสูญหายของธาตุอาหาร 2.ค่าทำให้ดินไม่ซับน้ำฝน 3.ค่าทำให้น้ำสูญเสียออกไปจากพื้นที่โดยการแผดเผาของรังสีดวงอาทิตย์ 4.ค่าทำให้ดินสูญหาย 5.ค่าทำให้อากาศร้อนมากขึ้น 6.ค่าทำให้ฝนตกน้อยลง 7.มูลค่าความเสียหายโดยตรงจากป่า 3 ชนิด คือ การทำลายป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง รวมเป็นเงินที่ชาวบ้านต้องจ่ายประมาณ 150,000 บาทต่อไร่ต่อปี
 
จากนั้น เวลา 13.30 น. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย โดยองค์กรสมาชิก จากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง พัทลุง ประจวบคีรีขันธ์ และสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี พร้อมทั้งเครือข่ายชาวบ้านในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี และราชบุรี ได้เดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเข้ายื่นหนังสือถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผ่านทางนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
 
เนื้อหาในหนังสือระบุว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรสมาชิกเครือข่ายฯ ถูกดำเนินคดีโลกร้อนจำนวน 34 ราย ถูกเรียกค่าเสียหายรวมกันทั้งสิ้น 13 ล้านบาท การเรียกค่าเสียหายคดีโลกร้อนของกรมอุทยานแห่งชาติฯ และกรมป่าไม้ ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติและส่งผลกระทบให้เกษตรกรต้องรับภาระชำระหนี้ที่ไม่ได้มีอยู่จริง และไม่ได้เป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้น อีกทั้งแบบจำลองฯดังกล่าว มีรายละเอียดการคำนวณที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ไม่ได้รับการยอมรับถึงคุณภาพ มาตรฐานการวิจัย และไม่น่าเชื่อถือทางวิชาการเพียงพอที่จะนำมาบังคับใช้ทางกฎหมาย ดังได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างจากเครือข่ายนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม นักวิทยาศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
 
ที่มาข่าว ประชาธรรม
 
 
ศาลตัดสิน “ผอ.ประชาไท” ผิดคดีตัวกลาง สั่งจำคุกแต่ให้รอลงอาญา
 
ศาลพิพากษาลงโทษ ผอ.ประชาไท ตาม ม.15 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จำคุก 1 ปี ปรับ 30,000 บาท ให้ความร่วมมือลดโทษเหลือ 8 เดือน ปรับ 20,000 บาท รอลงอาญา 1 ปี 
 
30 พ.ค.55 เมื่อเวลา 10.50 น.ที่ศาลอาญารัชดา ห้องพิจารณาคดีที่ 704 ศาลพิพากษาคดี จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท (prachatai.com) ในความผิดตามมาตรา 14 และ 15 พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ จำคุก 1 ปี ปรับ 30,000 บาท จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 8 เดือน ปรับ 20,000 บาท และจำเลยไม่เคยกระทำความผิดให้รอลงอาญา 1 ปี  ก่อนหน้านี้ ศาลได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีนี้ในวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา แต่ในวันดังกล่าว ผู้พิพากษาขึ้นบัลลังก์แจ้งขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษาไปเป็นวันที่ 30 พ.ค.55 โดยให้เหตุผลว่า เอกสารคดีนี้มีจำนวนเยอะมาก
 
สำหรับบรรยากาศในการเข้าฟังคำพิพากษาวันนี้ มีผู้เข้าร่วมฟังกว่า 100 คน โดยมีตัวแทนจากสถานทูตประจำประเทศไทยจากประเทศต่างๆ กว่า 11 ประเทศ อาทิ อเมริกา อังกฤษ แคนาดา สวีเดน ฟินแลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ เยอรมนี ตัวแทนจากสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย
 
ที่มาข่าว ประชาไท
 
อ่านรายละเอียดคำพิพากษาได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/th/case/112
 
รวมปฏิกริยาข้อเรียกร้องจากนานาชาติ ดูที่ ประชาไท
 
 
ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
 
 1 มิ.ย. นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะทีมโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วย นายสมฤทธิ์ ไชยวงศ์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ แถลงว่าศาลได้ประชุมพิจารณาคำร้องรวม 5 คำร้อง คือ คำร้องของพล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา และคณะนายวันธงชัย ชำนายกิจ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ นายวรินทร์  เทียมจรัส และนายบวร ยสินทร และคณะ กรณีคณะรัฐมนตรี รัฐสภา พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา นายสุนัย จุลพงศธร และคณะ และนายภราดร ปริศนานันทกุล และคณะ ได้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีผลทำให้เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 อันเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
 
นายพิมล กล่าวอีกว่า ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 68 ให้สิทธิแก่ผู้ที่ทราบถึงการกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ย่อมมีสิทธิให้มีการตรวจสอบการกระทำดังกล่าว  จึงมีมติรับคำร้องไว้พิจารณาทั้ง 5 คำร้อง โดยให้รวมพิจารณาคำร้องไปในคราวเดียวกัน เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณา ศาลมีคำสั่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฏร แจ้งรัฐสภารอการดำเนินเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
 
นอกจากศาลจะส่งหนังสือแจ้งให้คณะรัฐมนตรี รัฐสภา พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา นายสุนัย จุลพงศธร และคณะและนายภราดร ปริศนานันทกุล และคณะ ซึ่งเป็นผู้เสนอร่าง ส่งหนังสือชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งสำเนาคำร้อง และศาลจะนัดคู่กรณีไต่สวนวันที่ 5- 6 ก.ค.2555 เวลา 09.30 น.
 
เมื่อถามว่าการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในวาระ 2 และ 3 จะต้องชะลอออกไปหรือไม่ นายพิมล กล่าว่า จะหยุดหรือไม่ต้องอยู่ที่รัฐสภาพิจารณา ในการบังคับศาลคงไปบังคับอะไรไม่ได้ แต่หากมีการดำเนินการต่อไป อาจเป็นการแสดงเจตนาว่าการดำเนินการตามคำร้องอาจเป็นจริง
 
ที่มาข่าว เดลินิวส์
 
แดงลั่น ล่าชื่อถอดถอนตุลาการรัฐธรรมนูญ
 
นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวในการจัดรายการความจริงวันนี้กรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนทำให้ที่ประชุมรัฐสภาไม่สามารถลงมติวาระ 3 ได้ ว่า ส่วนตัวแปลกใจ เพราะนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พูดระหว่างการชุมนุมก่อนที่จะรู้ผลว่า วันนี้จะมีข่าวดี ซึ่งถือว่านายสนธิ แทงหวยถูก เรื่องนี้ยังมีความพยายามที่จะนำไปสู่การยุบพรรคเพื่อไทยและพรรคชาติไทยพัฒนาอีกครั้ง ศาลรัฐธรรมนูญกำลังใช้คำว่าตุลาการภิวัฒน์เข้ามาจัดการกับเสียงของประชาชน ถือว่าใช้อำนาจเกินรัฐธรรมนูญ วันนี้มีเป้าหมายชัดเจนว่าจะล้มรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อไม่ให้มีทางออก หลังจากแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.291 ไม่ได้ โดยอ้างว่าขัดรัฐธรรมนูญ สุดท้ายก็จะนำไปสู่การล้มรัฐบาลไปปล้น ส.ส.เพื่อให้พรรคประชาธิปัตย์กลับมาเป็นรัฐบาล
 
"พวกนี้ไม่ต้องการให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นนายกฯ มาตั้งแต่ต้น ดังนั้นวันนี้คนเสื้อแดงขอประกาศว่าพวกเราจะเข้าชื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคน ยกเว้นนายชัช ชลวร เพราะคนเหล่านี้เขาให้เป็นศาลสูง แต่กลับทำตัวเป็นศาลเตี้ย และวันนี้มีแต่คนเสื้อแดงเท่านั้นที่จะเป็นหลังพิงให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เราไม่ต้องไปพบกับใครอีกแล้ว ผมรู้ว่าวันนั้นพวกเราเจ็บปวด ที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ต้องเดินทางไปพบ มันคือรักแท้ในคืนหลอกลวง สิ่งที่นายกฯ ต้องทำอย่างเดียว คือเดินเข้าหาประชาชน ไม่ใช่ไปบ้านหลังนั้นอีก วันนี้เกิดเหตุการณ์ตุลาภิวัฒน์ พวกเราขอต่อสู้ครั้งเดียวครั้งสุดท้าย จัดให้เต็มๆ อีก 5 ปีจะไม่ต้องมาเหนื่อยกันอีก บอกพี่บอกน้องให้เตรียมตัวพร้อมฐานที่มั่น เตรียมเสื้อแดงใส่กระเป๋า เตรียมอาหารให้พร้อม ทันทีที่ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ขอให้รวมตัวเข้า กทม. และประกาศสู้ทันที เพราะตุลาการภิวัฒน์ก็ต้องเจอกับประชาชนภิวัฒน์ ถ้าเราไม่ช่วย ก็เกรงว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะมีชะตากรรมไม่แตกต่างกับ พ.ต.ท.ทักษิณ นายสมัคร สุนทรเวช นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เราจะไม่ยอมให้นายกฯหญิงต้องเจอชะตากรรมเช่นนี้ และไม่ยอมให้ทหารออกมาปฏิวัติเด็ดขาด" นายจตุพร กล่าวอย่างดุเดือด.
 
ที่มาข่าว เดลินิวส์
 
 
 
บ้านเลขที่ 111 ครบ 5 ปีพ้นโทษแล้ว
 
"เสนาะ" นำทีมสมาชิกบ้าน 111 ปล่อยนกพิราบ 111 ตัว หวังนำพาความทุกข์ พ้นบ้านเมือง "พงศ์เทพ" ยันสมัครเพื่อไทย พรุ่งนี้ ด้าน"สมศักดิ์ เทพสุทิน" ปัดถกอนาคตการเมือง ขณะ "พ.ต.ท.ทักษิณ" โฟนอินแล้ว
 
กิจกรรมการจัดงาน 5 ปี เป็นแรงใจ สู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง ของสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ที่จะพ้นโทษการถูกเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี ในวันนี้ โดยเวลา 11.00 น. จะมีพิธีทำบุญเลี้ยงพระเพลจำนวน 9 รูป จาก 9 วัด จากนั้นจะมีการปล่อยนกพิราบขาว จำนวน 111 ตัว ออกจากกรง พร้อมทั้ง ปล่อยลูกโป่งสีขาว 111 ลูก ด้วย จากนั้น ในเวลา 16.00 น. จะมีการเสวนาเรื่อง 111 ไทยรักไทย โดยมี นายโภคิน พลกุล นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา และ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ ร่วมเสวนาที่โรงแรมรามา การ์เด้นส์
 
ทั้งนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะโฟนอินมาร่วมพูดคุยด้วย และอ่านแถลงการณ์ร่วมของสามาชิก 111 ไทยรักไทย จากนั้นในช่วงค่ำ จะมีงานเลี้ยงเปิดใจหลังพ้นโทษ ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์
 
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา สมาชิกบ้านเลขที่ 111 กล่าวในการเสวนาเรื่อง 111 ไทยรักไทย 5 ปีที่ฟันฝ่า เดินหน้าประชาธิปไตย ว่า ความแตกแยกที่ผ่านมาของสังคมไทยเป็นความแตกแยกที่หยั่งลึก ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า สาเหตุหลักเกิดจากการทำรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งการยึดอำนาจดังกล่าว ทำให้เห็นกระบวนการที่ไม่เป็นธรรม โดยมีตุลาการเข้าไปมีส่วนร่วม กับการยึดอำนาจ ทำให้สังคมไทย ไม่เชื่อถือตุลาการ ทั้งนี้ทางแก้ดีที่สุดคือ ประชาชนต้องช่วยกันตรวจสอบตุลาการเพื่อให้ได้ตุลาการที่ดีและเข้มแข็ง ด้าน นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ สมาชิกบ้านเลขที่ 111 กล่าวว่า สาเหตุหลักที่ทำให้สังคมไทย ยังไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะมีกระบวนการขัดขวางอยู่ 2 พวก คือ เผด็จการทหาร และ อำมาตย์ 
 
ที่มาข่าว ไอเอ็นเอ็น