ศาลอุทธรณ์พิพากษาไม่รับคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งไต่สวนการตายกรณีตากใบ
ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ใน กรณีญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบจำนวน 34 คน ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาให้เพิกถอนคำสั่งไต่สวนการตายของศาลจังหวัดสงขลา เนื่องจากเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และศาลอาญามีคำสั่งไม่รับคำร้อง ผู้ร้องจึงได้อุทธรณ์คำสั่งของศาลอาญา โดยศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาว่า “ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ว่า ศาลอาญามีอำนาจพิจารณาคดีนี้หรือไม่ เห็นว่าศาลจังหวัดสงขลารับคดีไว้และทำการพิจารณาพิพากษาไปแล้ว นางสาวมัสตะกับพวกจึงมาคำร้องต่อศาลอาญา ซึ่งกรณีเช่นนี้ศาลอาญาจึงไม่อาจรับคดีไว้พิจารณาได้อีก เป็นการต้องห้ามตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. 2535 มาตรา 15 ที่ศาลอาญามีคำสั่งไม่รับคำร้อง ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของนางสาวมัสตะ กับพวกรวม 34 คน ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน ”
คดีนี้ เนื่องจากเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2552 ศาลจังหวัดสงขลาได้มีคำสั่งในคดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพหรือคดีไต่สวนการตายกรณีผู้เสียชีวิตในระหว่างการขนย้ายผู้ชุมนุมบริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 78 คน โดยศาลจังหวัดสงขลาได้มีคำสั่งว่า ผู้ตายทั้ง 78 คน เสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจ ในระหว่างอยู่ในความควบคุมตัวของเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ญาติผู้เสียชีวิตเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่เป็นไปโดยถูกต้อง และไม่เป็นธรรม ตามรัฐนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ม. 3 , 27, 28, 32, 197 กติการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 2, 6, 7, 14 และไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา ม.150 เนื่องจากหน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม และคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่กรณีผู้เสียชีวิตในระหว่างการขนย้ายผู้ชุมนุมในเหตุการณ์ตากใบนี้ เมื่อรับฟังจากคำให้การพยานในคดีแล้ว เห็นว่า การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานเป็นไปโดยไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2552 ญาติผู้เสียชีวิตจำนวน 34 คน จึงได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลจังหวัดสงขลา ต่อศาลอาญา โดยอาศัยสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลอาญามีเขตอำนาจทั่วอาณาจักร เนื่องจาก กฎหมายกำหนดให้คำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพถึงที่สุด จึงไม่อาจอุทธรณ์คำสั่งของศาลจังหวัดสงขลาต่อศาลอุทธรณ์ได้
ต่อมา ศาลอาญามีคำสั่งไม่รับคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งไต่สวนชันสูตร เนื่องจากเห็นว่าศาลอาญาและศาลจังหวัดสงขลาเป็นศาลยุติธรรมชั้นต้นด้วยกัน เมื่อคดีศาลสงขลารับคดีไว้พิจารณาแล้ว ศาลอาญาจึงไม่อาจพิจารณาได้อีก ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2552 ญาติผู้เสียชีวิตดังกล่าวจึงได้อุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำร้องของศาลอาญาต่อศาลอุทธรณ์ จึงได้มีการคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท
"กษิต" เรียกร้องรัฐบาลยิ่งลักษณ์ให้ความชัดเจนเรื่องสหรัฐใช้อู่ตะเภา
นายกษิต ภิรมย์ อดีต รมว.ต่างประเทศ แถลงเรื่องการขอใช้สนามบินอู่ตะเภาของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เพื่อใช้เป็นศูนย์บรรเทาสาธารณภัยและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และองค์การนาซ่าขอใช้พื้นที่เพื่อจอดอากาศยานและขึ้นทำการบินตรวจสภาพอากาศว่า โครงการนี้ทำมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ซึ่งในขณะนั้นได้เสนอต่อโลกให้ใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นศูนย์บรรเทาสาธารณภัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้พูดคุยกับ รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ องค์การสหประชาชาติ และเวิลด์ฟู๊ด ซึ่งตางก็ขอให้สนามบินอู่ตะเภาเป็นศูนย์บรรเทาสาธารณภัยฯ และรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ทำเรื่องนี้เป็นนโยบายของอาเซียน ซึ่งพูดชัดเจนในอาเซียน ว่าจะทำเรื่องนี้ในกรอบของสหประชาชาติ โดยมีการประสานงานระหว่างกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ มีการหารือกันและสำรวจพื้นที่สนามบินอู่ตะเภาว่าจะสามารถใช้พื้นที่ไหนในการทำศูนย์บรรเทาสาธารณภัยฯได้บ้าง และเรามีข้อหารืออีก 3ข้อใหญ่ คือ 1.สหรัฐจะมีการฝึกอบรมเทคโนโลยีให้กับบุคลากรของไทยและมิตรประเทศ 2.จะใช้สนามบินเป็นโกดังเก็บอุปกรณ์และอาหาร ซึ่งได้ทาบทามเรื่องนี้กับสหประชาชาติและเวิรด์ฟู๊ด ในการพัฒนาอาหารที่ไม่หุงตุ้ม 3เมื่อเกิดอุบัติภัยก็มาร่วมปฏิบัติงานให้ได้ภายใน 24ชั่วโมง รัฐบาลอภิสิทธิ์มีความคืบหน้าในเรื่องนี้มาตลอด
นายกษิต กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาไทยและสหรัฐอเมริกามีความร่วมมือในด้านต่างๆ มากมาย เช่น การฝึกคอบบร้าโกลด์ หรือเมื่อเกิดสึนามิกองทัพสหรัฐก็มาใช้สนามบินอู่ตะเภาในการให้ความช่วยเหลือกู้ภัยในภูมิภาคนี้ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2เราก็ให้สหรัฐฯใช้สนามบินอู่ตะเภาในช่วยเหลือภูมิภาคนี้เช่นกัน ดังนั้นถือว่าเรามีประสบการณ์ร่วมกับสหรัฐฯ มาตลอด ก็เป็นที่น่าเสียดายว่ารัฐบาลชุดนี้รวมถึงกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงไอซีที กลับนิ่งเงียบไม่ยอมออกมาแถลงข่าวความคืบหน้าความชัดเจนในเรื่องนี้เลย ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด และก่อให้เกิดความรู้สึกไม่ดีของประชาชน ทั้งที่จริงเรื่องนี้เราเป็นฝ่ายไปเจรจาเองในการขอความร่วมมือในการมาช่วยเหลือภัยพิบัติในอาเซียน ส่วนจะไปเกี่ยวกับ มาตรา 190 หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับเนื้อหา เพราะด้านความมั่นคงเรามีกรอบความร่วมมือกับสหรัฐฯเราอยู่แล้ว
ที่มา: เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์
ทรู ออกแถลงการณฺข้อโทษผู้ชม-ผิดหวังแกรมมี่ จี้รัฐ/กสทช.สร้างความชัดเจน ยันยังเจรจาต่อรู้ผลต้นสัปดาห์นี้
บริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด ออกเอกสารชี้แจงเพิ่มเติมกรณีปัญหาการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2012 ว่าเกิดขึ้นจากการระงับการเผยแพร่ช่องฟรีทีวี 3, 5, 9 ผ่านระบบทรูวิชั่นส์ตามข้อตกลงกับผู้ถือลิขสิทธิ์ (บริษัท GMM Grammy)ซึ่งจำกัดสิทธิ์การถ่ายทอดต่อ หรือ rebroadcast ฟุตบอลยูโร ไม่ให้เผยแพร่ในทุกระบบทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้ชมจะรับชมบอลยูโรบนฟรีทีวีโดยผ่านระบบเสาสัญญาณ หนวดกุ้ง หรือระบบคลื่นสัญญานแนวราบ (terrestrial TV) เท่านั้น ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้างทำให้ผู้ชมในระบบดาวเทียมกว่าสิบล้านครัวเรือนไม่สามารถรับชมได้
นอกจากนี้ ทรูวิชั่นส์ยังเรียกร้องให้ ภาครัฐ/กสทช สร้างความชัดเจนและสร้างมาตรฐานต่อฟรีทีวีให้เผยแพร่รายการที่ไม่จำกัดสิทธิ์คนดูในทุกระบบ ตลอดจนสร้างมาตรฐาน ต่อผู้ถือลิขสิทธิ์ในการให้สิทธิ์ต่อฟรีทีวี โดยมิให้จำกัดสิทธิ์ในการเผยแพร่ต่อจากฟรีทีวี
ติดตามแถลงการณ์ฉบับเต็มได้ที่: http://www3.truecorp.co.th/truevisions/coverpage
ยูโร 2012 : ฝ่ายซ้ายประท้วงเจ้าภาพโปแลนด์ถลุงงบฯ
นักกิจกรรมกลุ่ม Tenants Defense Committee และ Union of Syndicalists (ZSP) ได้จัดกิจกรรมประท้วงการเมืองระหว่างการจัดงานยูโร 2012 ณ กรุงวอร์ซอร์ โดยกล่าวว่ารัฐบาลโปแลนด์เจ้าภาพ จ่ายงบประมาณมหาศาลเพื่อกิจกรรมดังกล่าว ในขณะที่มีการตัดงบและเข้มงวดกับรายจ่ายส่วนอื่นๆ เช่น ด้านการศึกษา ที่อยู่อาศัย ระบบประกันสุขภาพ และบริการสาธารณะภายในประเทศ มีการประมาณการว่าโปแลนด์ใช้เงินไปถึง 26 พันล้านยูโรในการเป็นเจ้าภาพร่วมการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปครั้งนี้ ในขณะที่ รัฐบาลกำลังประสบปัญหาการจัดการด้านการขาดดุลบัญชีและหนี้สาธารณะ โดยที่ผ่านมารัฐบาลโปแลนด์ได้มีมาตรการขายกิจการของภาครัฐให้กับเอกชน เพื่อนำเงินเข้าคลัง อาทิ กิจการท่าเรือ กิจการคมนาคม กิจการอุตสาหกรรม แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ตั้งเป้าหมายไว้
ในปัจจุบัน รัฐบาลโปแลนด์กำลังจะใช้ความพยายามในการลดการขาดุลบัญชี ให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 3% อันเป็นไปตามที่สหภาพยุโรปกำหนด (Maastricht Treaty’s criterion of 3%) เพื่อจะได้รับการพิจารณาให้เปลี่ยนค่าเงินมาใช้เงินยูโร ซึ่งก่อนที่ประเทศกลุ่มยุโรโซน (ประเทศผู้ใช้เงินสกุลยูโร) จะประสบวิกฤตเศรษฐกิจนั้น มีการคาดหมายกันว่าโปแลนด์จะสามารถ ใช้เงินสกุลยูโรได้ในปี 2015
ที่มา: internationalworkersassociation.blogspot.de
ชาวคะฉิ่นเรียกร้องยุติความขัดแย้ง - หลังเกิดสงครามในรัฐคะฉิ่นครบ 1 ปี
เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย หรือ เอฟซีซีที ชาวคะฉิ่น จากรัฐคะฉิ่น ประเทศพม่า ได้จัดแถลงข่าว เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปี การเกิดสงครามระหว่างกองทัพพม่าและกองทัพอิสรภาพคะฉิ่น หรือ เคไอเอ โดยสมาชิกขององค์กรประชาสังคมในรัฐคะฉิ่น และสื่อมวลชนพลัดถิ่นชาวคะฉิ่นได้กล่าวถึงปัญหาที่ชาวคะฉิ่นกว่า 75,000 คน ซึ่งต้องอพยพเนื่องจากการสู้รบ และต้องเผชิญกับวิกฤตด้านมนุษยธรรม โดยยังไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือ ทั้งจากองค์กรภายในประเทศ และจากองค์กรระหว่างประเทศอย่างแท้จริง การแถลงข่าวในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ทั่วโลกโดยชุมชนชาวคะฉิ่น องค์กรประชาสังคม และผู้สนับสนุนเพื่อเรียกร้องให้มีการยุติวิกฤตการณ์ทางมนุษยธรรมที่เกิดขึ้นในรัฐคะฉิ่น โดยในวันอังคารที่ผ่านมา (5 มิ.ย.) มีชาวคะฉิ่นและผู้สนับสนุนประมาณ 40 คน จัดการประท้วงที่หน้าสถานทูตพม่าประจำกรุงเทพฯ พร้อมยื่นจดหมายถึงประธานาธิบดีเต็ง เส่งด้วย ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการที่เกิดขึ้นทั่วโลก
ความขัดแย้งระหว่างกองทัพพม่าและกองทัพอิสรภาพคะฉิ่น ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายประการ อาทิ การจับกุมคุมขังตามอำเภอใจ การทรมาน การบังคับใช้แรงงาน การข่มขืน และการล่วงละเมิดทางเพศด้วยฝีมือของกองกำลังของรัฐบาลซึ่งกระทำโดยที่ไม่ต้องรับโทษ ด้านโครงการพัฒนา เช่น เขื่อน เหมืองหยก เหมืองทอง และอุตสาหกรรมป่าไม้ในรัฐคะฉิ่นก็นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เพิ่มขึ้น ในประเด็นสันติภาพและการเจรจาหยุดยิงนั้น รัฐบาลยังปฏิเสธที่จะร่วมเจรจาทางการเมือง แม้การเจรจาหยุดยิงหลายรอบจะประสบความล้มเหลว และประชาชนยังคงได้รับผลกระทบต่อไป
สำหรับกองทัพอิสรภาพคะฉิ่น หรือ KIA ได้ทำสัญญาหยุดยิงกับกองทัพพม่าตั้งแต่ปี 2537 และได้พื้นที่ปกครองตนเองบริเวณชายแดนรัฐคะฉิ่นติดกับจีน อย่างไรก็ตาม เกิดเหตุตึงเครียดระหว่างทั้งสองฝ่ายนับตั้งแต่ปี 2553 หลัง KIA ปฏิเสธเป็นกองกำลังรักษาชายแดน (Border guard force - BGF) ตามคำสั่งของกองทัพพม่า และได้เกิดการปะทะกันเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ปี 2554 เมื่อทหารพม่ามากกว่า 200 นาย ได้ข้ามมายังเขตควบคุมของ KIA และโจมตีฐานของทหารคะฉิ่น ใกล้หมู่บ้านปราง กาดัง
ที่มา: หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท
รมว.กลาโหมพม่าระบุ รัฐบาลยุติโครงการนิวเคลียร์
พล.ต.หล่า มิน รัฐมนตรีกลาโหมพม่า ระบุในที่ประชุมด้านความมั่นคงในสิงคโปร์ เมื่อวันเสาร์ (2 มิ.ย.) ว่า รัฐบาลพม่าได้ยกเลิกการวิจัยพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศ เนื่องจากข้อจำกัดในเชิงปฏิบัติต่างๆ นอกจากนี้ ยังยอมรับว่า รัฐบาลพม่าชุดก่อนได้เริ่มศึกษาการใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างสันติ ที่ไม่ได้เป็นการศึกษาเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการป้องกัน หรืออาวุธ และการศึกษาวิจัยที่ผ่านมาไม่มีความคืบหน้ามากนัก เนื่องจากข้อจำกัดต่างๆและเห็นได้ชัดว่า รัฐบาลก่อนหน้าขาดเงินทุนที่จะดำเนินการโครงการนิวเคลียร์
รายงานของสหประชาชาติปี 2553อ้างว่า รัฐบาลเกาหลีเหนือส่งอาวุธนิวเคลียร์ และขีปนาวุธให้แก่พม่า อิหร่าน และซีเรีย แต่ในการสัมภาษณ์กับนิตยสารเสตรทไทม์สของสิงคโปร์ตีพิมพ์เดือน ม.ค. ประธานาธิบดีเต็งเส่งได้กล่าวปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่า พม่าพยายามรับอาวุธนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือ และระบุว่า ข้อกล่าวหาเหล่านั้นไม่มีมูลความจริง ทางด้านรัฐมนตรีกลาโหมของพม่าระบุว่า ความสัมพันธ์ระหว่างพม่าและเกาหลีเหนือเป็นเช่นเดียวกับความสัมพันธ์ปกติระหว่างประเทศอื่นๆ และพล.ต.หล่า มิน ยังได้ให้คำมั่นว่าในอนาคต พม่าจะเปิดกว้าง และโปร่งใสในความสัมพันธ์ดังกล่าว แต่ไม่พิจารณาคำแนะนำจากผู้เข้าร่วมประชุมที่เสนอให้พม่าอนุญาตให้ผู้ตรวจสอบจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) เดินทางไปยังพม่า โดยระบุว่า พม่าไม่มีอะไรที่จะต้องตรวจสอบ ดังนั้น จึงไม่มีความเกี่ยวข้องแต่อย่างใด
ที่มา: ASTV
พบนักเคลื่อนไหวจีนสมัยเทียนอันเหมินแขวนคอตาย หลังถูกจำคุก 20 ปี
เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 55 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า "ลี่ วางหยาง" นักสหภาพแรงงานจีนที่ถูกจับกุมในเหตุการณ์ เทียนอันเหมินและคุมขัง 20 ปี ถูกพบเสียชีวิตในโรงพยาบาลในสภาพแขวนคอตายเมื่อวันพุธที่ผ่านมา โดยญาติของเขาตั้งข้อสงสัยกับสาเหตุการตายที่รัฐระบุ
ลี่ วางหยาง เป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสหภาพแรงงานในมณฑลหูหนานของจีน และถูกจับกุมในขณะที่มีการปราบปรามผู้ชุมนุมครั้งใหญ่ในจตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 2532 เขาถูกปล่อยตัวเมื่อปี 2554 เซา เป๋าซื่อ พี่ชายของเขากล่าวว่า เขาค่อนข้างตั้งข้อสงสัยกับการเสียชีวืตของลี เพราะเขาไม่เคยแสดงความอยากที่จะฆ่าตัวตายเลย ถึงแม้เขาจะถูกคุมขังในคุกถึง 20 ปีและเจ็บป่วยมากก็ตาม เซาระบุว่า เมื่อวันก่อนที่เขาจะเสียชีวิต ลีก็ยังดูปรกติดี นอกจากนี้ นักกิจกรรมบางส่วนมองว่า สภาพการตายของลี่เป็นไปอย่างน่าสงสัย เพราะดูจากรูปภ่ายแล้ว จะพบว่าเท้าของเขายังแตะถึงพื้น
ทั้งนี้ ลี่ วางหยาง ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2532 หรือ 5 วันหลังจากเหตุการณ์ปราบปรามประชาชนที่จตุรัสเทียนอันเหมิน ในข้อหา "เผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อที่ต่อต้านระบอบและยุยงปลุกปั่น" เขาถูกลงโทษด้วยการใช้แรงงานในระหว่างการจำคุก 11 ปี องค์กรสิทธิมนุษยชนในจีนชี้ว่า ในระหว่างนั้น เขาถูกขังเดี่ยวและถูกซ้อมหนักมากจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล หลังจากได้รับการปล่อยตัวในปี 2544 เขาได้เรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือปัญหาสุขภาพของเขาที่เกิดจากการถูกซ้อมทรมานในเรือนจำ ทำให้เขาถูกลงโทษจำคุกอีก 10 ปีในข้อหาคิดเป็นกบฎต่อรัฐบาล
ที่มา: ABC News
รวมวิวาทะเกี่ยวกับคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญในการชะลอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย ปฏิเสธคำสั่งศาล รธน. และเรียกร้อง ทบทวนการใช้อำนาจ
อภิสิทธิ์เผย ปชป. เคารพคำสั่งศาล – รัฐสภาก็ควรเคารพคำสั่งศาล
ปธ.ศาล รธน. ชี้สภาต้องรับผิดชอบ-ถ้าดำเนินการแล้วมีอะไรเกิดขึ้น
เสวนา “อำนาจในการบัญญัติรัฐธรรมนูญ อยู่ที่ใคร ?"
วรเจตน์ - คำนูณ ถกผ่าน "ตอบโจทย์" เรื่องคำสั่งศาล รธน.
'จาตุรนต์'ชี้ ศาล รธน. สั่งชะลอแก้ไข รธน. คือรัฐประหารโดยตุลาการ
นิติราษฎร์แถลงโต้ ศาล รธน.ไม่มีอำนาจชะลอแก้ไขรัฐธรรมนูญ
นิติราษฎร์: แถลงการณ์กรณีศาลรัฐธรรมนูญสั่งระงับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ บอกศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยตามมาตรา 7