ภาคประชาชนชาวเชียงใหม่ ร่วมกันเสนอร่างพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร พ.ศ.... โดยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2555 เครือข่ายเชียงใหม่จัดการตนเองจัดกิจกรรม “120 วัน ก้าวผ่าน 120 ปีของการรวมศูนย์อำนาจ” ซึ่งเผยแพร่ร่างกฎหมายฉบับล่าสุดที่ผ่านการปรับปรุง โดยกำหนดระยะเวลาระดมชื่อให้เสร็จภายใน 120 วัน
พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร กำหนดระเบียบการบริหารราชการไว้ว่า ราชการส่วนกลางในพื้นที่เชียงใหม่มหานครมีอำนาจดูแลกิจการที่มีผลกระทบต่อมหาชนทั้งประเทศ เช่น ภารกิจความมั่นคง เศรษฐกิจ และให้อำนาจท้องถิ่นในการบริหารท้องถิ่นเอง โดยท้องถิ่นต้องดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ รัฐไม่สามารถแทรกแซงอำนาจการตัดสินใจของท้องถิ่นได้เว้นแต่เกี่ยวกับการทหาร การต่างประเทศ เงินตรา และศาล
องค์การการปกครองส่วนท้องถิ่นในเชียงใหม่มหานครมีสองระดับได้แก่ องค์กรระดับบนคือเชียงใหม่มหานคร จัดการเรื่องที่ครอบคลุมทั้งพื้นที่เชียงใหม่ โครงการขนาดใหญ่ และอำนาจหน้าที่ต่อเทศบาล ระดับล่างคือเทศบาลทำหน้าที่พัฒนาในพื้นที่และเรื่องคุณภาพชีวิตของประชากรในพื้นที่
โครงสร้างการบริหารประกอบไปด้วยสามองค์กรที่มีฐานะเท่าเทียมกัน ได้แก่
1) สภาเชียงใหม่มหานคร
2) ผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานคร
3) สภาพลเมือง
สภาเชียงใหม่มหานครประกอบไปด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง มีอายุสภา 4 ปี โดยนายกรัฐมนตรีมีสิทธิยุบสภาได้ตามคำร้องขอของผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานคร ประชาชนสามารถเข้าชื่อถอดถอนสมาชิกสภาได้ และหากประชาชนเข้าชื่อถอดถอนสมาชิกสภาทั้งหมด ให้ถือเป็นการยุบสภา
สภามีอำนาจออกข้อบังคับเกี่ยวกับจรรยาบรรณของสมาชิกสภา ข้อบังคับการประชุมเกี่ยวกับการเลือกและการปฏิบัติหน้าที่ของประธานสภา วิธีการประชุม การเสนอและพิจารณาร่างข้อบัญญัติ การเสนอญัติติ การปรึกษา การอภิปราย การลงมติ การตั้งกระทู้ถาม การเปิดอภิปรายทั่วไป การรักษาระเบียบและความเรียบร้อยของกิจการอื่นซึ่งเป็นหน้าที่ของสภาเชียงใหม่มหานคร
ผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานครมาจากการเลือกตั้ง สมัยละหนึ่งคน มีวาระครั้งละ 4 ปี และห้ามดำรงตำแหน่งเกิน 2 วาระ มีอำนาจเช่น (มาตรา 60) กำหนดและบริหารราชการ ยุบสภา ประสานร่วมมือกับข้าราชการส่วนกลางเช่นทหารตุลาการในการพัฒนาเชียงใหม่มหานครหรือป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ ประชาชนสามารถลงชื่อถอดถอนผู้ว่าได้
สภาพลเมืองประกอบไปด้วยสมาชิกจำนวน 100 คน จากการเลือกกันเองภายใน 4 ภาคส่วนคือ ภาคประชาสังคม ตัวแทนสภาองค์กรชุมชนตำบน ตัวแทนกลุ่มวิชาชีพ และผู้ทรงคุณวุฒิ มีหน้าที่พัฒนาข้อเสนอประชาชนเพื่อเสนอให้กับฝ่ายบริหาร ตรวจสอบโดยใช้กระบวนการทางสังคม ส่งเสริมบทบาทและความเข้มแข็งของพลเมือง สภาพลเมืองได้รับงบประมาณปฏิบัติงานไม่น้อยกว่าร้อยละสองของงบประมาณเชียงใหม่มหานคร
ทั้งนี้ส่วนกลางจะเข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบเหมือนผู้ตรวจการฯ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายร่างพ.ร.บ.เชียงใหม่มหานครได้ โดย 1. ดาวน์โหลดแบบฟอร์มข.ก.1 ตามไฟล์แนบด้านบน และกรอกข้อมูลให้ครบถ้วน 2. ถ่ายเอกสารสำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง 3. ส่งเอกสารทั้งหมดมายัง ตู้ปณ.295 ปจ.เชียงใหม่ 50000 หรือที่ เครือข่ายเชียงใหม่จัดการตนเอง 225/112 หมู่2 ต.สันพระเนตร อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ 50200 คำแนะนำในการกรอบแบบฟอร์ม 1. ต้องมีทั้งนำสำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน 2. ลายเซ็นต้องเป็นแบบเดียวกันทั้งในสำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้าน กับแบบแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อ ที่อยู่และลายมือชื่อของผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย (แบบ ข.ก.๑) 3. ในส่วนบนของหนังสือที่เขียนว่า “เขียนที่” นั้น ให้เขียนที่อยู่ สถานที่ไหนก็ได้ที่ท่านกรอกแบบฟอร์ม 4. ใน ข้อ 5 ของ แบบแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อ ที่อยู่และลายมือชื่อของผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย (แบบ ข.ก.๑) ที่เขียนว่าร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ในช่องว่าง “พ.ศ. ...” และ “(ฉบับที่...)”ไม่ต้องกรอกข้อความใดๆ |
จะเป็นผลดี เพราะ รายได้จากท้องถิ่นจะเป็นของท้องถิ่น เกิดธรรมาภิบาลในการบริหารงานภายในจังหวัดมากขึ้น
52% (121 votes)
จะเป็นผลดี เพราะ เชียงใหม่จะพัฒนาได้รวดเร็วขึ้น ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น สร้างรายได้ให้จังหวัดเชียงใหม่และประเทศมากขึ้น
28% (64 votes)
จะส่งผลเสีย เพราะก่อให้เกิดความแตกแยกภายในประเทศ ความรู้สึกรับผิดชอบต่อส่วนกลางของคนเชียงใหม่จะลดลง
5% (11 votes)
จะส่งผลเสีย เพราะ เงินจะกระจุกอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่กระจายไปช่วยเหลือจังหวัดที่ยากจน
7% (16 votes)
จะส่งผลเสีย เพราะ จังหวัดเชียงใหม่จะต้องปรับวิธีการบริหารใหม่ ซึ่งอาจไม่มีประสิทธิภาพ และเกิดการคอร์รัปชั่นมากขึ้น
9% (20 votes)
คนโหวตทั้งหมด: 232 คน