รอบอาทิตย์แรก ก.ค. 55: ปธ.สภาฯ เตรียมส่งเอกสารแถลงปิดคดีศาลรธน. 11ก.ค.

รอบอาทิตย์แรก ก.ค. 55: ปธ.สภาฯ เตรียมส่งเอกสารแถลงปิดคดีศาลรธน. 11ก.ค.

เมื่อ 8 ก.ค. 2555

 

ธงชัย’ ย้ำ อย่าตั้งความหวังสูงกับไอซีซี

สืบเนื่องจากการเดินทางเข้าพบพนักงานอัยการศาลอาญาระหว่างประเทศหรือไอซีซี (ICC) ของตัวแทนกลุ่ม นปช. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (26มิ.ย. 55) โดยมี ศ.ดร. ธงชัย วินิจจะกุลเป็นผู้นำคณะตัวแทน พยานในเหตุการณ์และผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือนเม.ย. -พ.ค. 2553เข้าหารือและชี้แจงต่อศาลอาญาระหว่างประเทศนั้น ธงชัย ได้ให้ความคิดเห็นต่อการหารือดังกล่าวว่า ถึงแม้จะผ่านมากว่าหนึ่งปีครึ่งแล้ว ไอซีซีก็ยังคงเก็บเอกสารคำร้องไว้เพื่อการพิจารณา ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดี ต่างจากหลายกรณีที่เอกสารคำร้องถูกจำหน่ายทิ้งภายในเวลาไม่กี่อาทิตย์

นอกจากนี้ การที่อัยการศาลได้ให้เข้าพบและหารือ ยังแสดงให้เห็นว่า ไทยยังถูกจับตามองโดยศาลอาญาระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม เขาย้ำว่า ไม่ควรตั้งความหวังกับไอซีซีมากเกินไป เพราะโอกาสที่ศาลจะรับคดีมีอยู่น้อยมาก เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องเขตอำนาจพิจารณาคดี หากว่าประเทศไทยลงนามเป็นภาคีในธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ไอซีซีก็จะทำการสอบสวนในไทยได้ง่ายขึ้น แต่ก็ยังเป็นเรื่องยาก เพราะ “ชนชั้นนำ” ไทยไม่อยากจะให้ไอซีซียุติการงดรับผิด ทั้งนี้ ธงชัยมองว่า การหารือในครั้งนั้นเป็นไปอย่างดีมาก โดยคณะผู้แทนได้นำเสนอกรณีความรุนแรงปี 2553ในบริบทของ “การงดรับผิดอย่างเป็นระบบ” (Institutionalised Impunity)  ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของไอซีซีในการยุติการงดรับผิดในรัฐต่างๆ โดยเขากล่าวว่า คณะผู้แทนได้ชี้ให้ไอซีซีเห็นชัดเจนว่า เหตุการณ์ปี 2553เกิดขึ้นเพราะเหล่าชนชั้นนำรู้ว่าตนเองไม่ต้องรับผิดชอบ และเหตุการณ์เช่นนี้อาจจะเกิดขึ้นในเร็ววันอีกสืบเนื่องจากการงดรับผิดที่กลายเป็นวัฒนธรรมและชอบด้วยกฎหมายในประเทศไทย ซึ่งทำให้คดีนี้มีน้ำหนักอย่างมากต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ

จดหมายฉบับแปลภาษาไทย: เว็บไซต์ไทยอีนิวส์

จดหมายฉบับภาษาอังกฤษ: เว็บไซต์ของโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม 

 

ก.ค.เดือนแห่งการตรวจเอชไอวีแห่งชาติ กระตุ้น ปชช.เห็นประโยชน์รู้ผลเลือดตัวเอง

องค์กรเอ็นจีโอด้านเอดส์ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)จับมือกำหนด 1ก.ค.และให้ตลอดเดือน ก.ค.ทั้งเดือนเพื่อเป็นวันรณรงค์ตรวจเลือดเอชไอวีแห่งชาติ ชวนประชาชนทบทวนความเสี่ยงต่อการรับเชื้อเอชไอวีที่ผ่านมาในครึ่งปีแรกเตรียมรณรงค์กระตุ้นให้คนไปขอรับบริการปรึกษาและตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีมากขึ้น ด้าน “1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์” พร้อมให้บริการปรึกษารองรับความต้องการของประชาชน

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เปิดเผยรายละเอียดเรื่องนี้ว่า ที่ประชุมคณะทำงานส่งเสริมการเข้าถึงบริการปรึกษาและตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีซึ่งประกอบไปด้วยคนทำงานเรื่องเอดส์จากภาครัฐและเอกชน ได้กำหนดให้วันที่ 1ก.ค.ของทุกปีเป็นวันรณรงค์ตรวจเอชไอวีแห่งชาติ (VCT Day)เพื่อรณรงค์ให้คนเห็นความสำคัญของการรู้ผลการติดเชื้อเอชไอวีของตนเองเพราะการรู้ผลเลือดจะช่วยทำให้เกิดผลดีต่อการดูแลสุขภาพในระยะยาว เนื่องจากหากผลออกมาเป็นลบซึ่งหมายถึงไม่ติดเชื้อเอชไอวีก็จะได้หาทางเลือกในการป้องกันที่เหมาะกับตัวเอง ดูแลผลเลือดตัวเองให้เป็นลบตลอดไป แต่หากผลเป็นบวกซึ่งหมายถึงติดเชื้อเอชไอวีก็จะได้ประเมินภาวะสุขภาพและเข้าสู่กระบวนการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ต้องรอให้เจ็บป่วย ทั้งนี้ ตลอดเดือนกรกฎาคมจะมีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ผ่านสื่อต่างๆ เช่น ภาพยนตร์โฆษณา สปอตวิทยุ บิลบอร์ด และคลิปรณรงค์ทางโซเชียลมีเดีย โดยมีสโลแกนว่า “เอชไอวี...ตรวจเพื่อก้าวต่อ” เพื่อชี้ชวนให้เห็นว่าการตรวจเอชไอวี การรู้ผลเลือด จะช่วยให้ชีวิตเราก้าวไปข้างหน้าได้อย่างปกติ ไม่สะดุดล้มเพราะความเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากเอชไอวี

ที่มา: เว็บไซต์ประชาไท

 

"เฟซบุ๊ก" เพิ่มไอคอนแสดงสถานะแต่งงานสำหรับเกย์-เลสเบี้ยนแล้ว

เฟซบุ๊ก เว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์กอันดับหนึ่งของโลก ได้เพิ่มสัญลักษณ์ หรือไอคอน สำหรับคู่รักเพศเดียวกัน สำหรับแสดงสถานะการแต่งงานของพวกเขาและเธอแล้ว จากเดิมที่มีเพียงไอคอนของเจ้าบ่าวกับเจ้าสาวเท่านั้น โดยไอคอนเจ้าบ่าวกับเจ้าบ่าวปรากฏครั้งแรกเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (30 มิ.ย.) หลัง คริส ฮิวจ์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเฟซบุ๊ก แสดงสถานะแต่งงานกับ ฌอน เอลดริจ คู่สมรสของเขา บนไทม์ไลน์  โดยมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอเฟซบุ๊กเข้ามากดไลค์ด้วย

ด้าน ริช เฟราโร รองประธานฝ่ายสื่อสารของพันธมิตรต่อต้านการหมิ่นประมาทเกย์และเลสเบี้ยน (Gay and Lesbian Alliance Against Defamation: GLAAD) แสดงความขอบคุณต่อเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า ไอคอนใหม่นี้จะช่วยเพิ่มความเข้าใจต่อความรักของคนรักเพศเดียวกันว่าเป็นความรักเช่นเดียวกับเพศอื่นๆ

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2554 เฟซบุ๊กได้เพิ่มตัวเลือกสถานะความสัมพันธ์ให้กับกลุ่มเกย์ เลสเบี้ยน ไบเซ็กส์ชวล และผู้หญิงข้ามเพศ (LGBT) อย่าง “In a domestic partnership” and “In a civil union” ที่แสดงถึงสถานะการเป็นคู่แต่งงานอย่างเป็นทางการของหลายๆ ประเทศ นอกจากนี้ เฟซบุ๊กยังได้ร่วมกับกลุ่ม GLAAD และกลุ่มคนรักเพศเดียวกันต่างๆ ตั้ง Network of Support  เพื่อป้องกันการกลั่นแกล้งจากกลุ่มที่แอนตี้คนรักเพศเดียวกันบนเฟซบุ๊กด้วย

ที่มา: Los Angeles Times

 

ญาติผู้ประสบภัยม. 112 เดินหน้ารณรงค์ปล่อยตัวนักโทษ-ผู้ต้องหาคดีหมิ่น

เครือข่ายญาติและผู้ประสบภัยจากมาตรา 112นำโดยสุกัญญา พฤกษาเกษมสุข ภรรยาของสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ได้แถลงข่าวเปิดตัวกิจกรรมของ "เครือข่ายญาติและผู้ประสบภัยจากมาตรา 112" โดยมีจุดประสงค์เพื่อรณรงค์ให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังและผู้ต้องหาในคดีม. 112ทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข

สุกัญญา พฤกษาเกษมสุข กล่าวว่า นอกจากกลุ่มจะมีจุดประสงค์เพื่อรณรงค์ให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังโดยทันทีแล้ว ทางเครือข่ายยังหวังจะสร้างความเข้าใจกับสาธารณะในประเด็นสิทธิขั้นพื้นฐานของนักโทษและผู้ต้องหา เช่น สิทธิในการประกันตัว สิทธิการรักษาพยาบาล และสิทธิในการยอมรับในฐานะเป็นนักโทษการเมือง

การแถลงข่าวในครั้งนี้มีญาติผู้ได้รับผลกระทบจากม. 112มาร่วมแถลงด้วย อาทิ ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยาของสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ กีเชียง ทวีวโรดมกุล บิดาของธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล โดยเล่าถึงกิจกรรมที่จะดำเนินต่อไปของกลุ่มว่า จะให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายที่จำเป็น ทำการรณรงค์และยื่นจดหมายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ที่มา: เว็บไซต์ FCCT

 

พม่าทักท้วงหลังทางการไทยให้รางวัลกองทัพรัฐฉานร่วมปราบยาเสพติด

สำนักข่าวฉาน รายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวของหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยว่า เมื่อวันที่ 30มิ.ย. 2555 สถานทูตพม่าประจำประเทศไทยได้ทักท้วงมายังกระทรวงการต่างประเทศของไทย กรณีทางการไทยมอบรางวัลร่วมปราบปรามยาเสติดให้สภากอบกู้รัฐฉาน RCSS กองทัพรัฐฉาน SSA ภายใต้การนำของพล.ท.เจ้ายอดศึกก่อนหน้านี้ ทางการพม่ายังแสดงท่าทีไม่พอใจกรณีที่ทางการไทยประกาศตั้งค่าหัว 3บุคคลในพม่าเมื่อวันที่ 20เม.ย. ที่ผ่านมา ข้อหาเกี่ยวข้องยาเสพติด ซึ่งประกอบด้วย 1.จายหน่อคำ 2. พลตรีนะคันมวย ผู้นำกะเหรี่ยง DKBA และ นายยี่เซ ผู้นำกองกำลังอาสาสมัคร โดยเจ้าหน้าที่ทางการพม่าระบุ ทางการไทยควรประสานหารือกับรัฐบาลพม่าก่อนจะประกาศเรื่องนี้

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23มิ.ย. ทางการไทยโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ได้มอบรางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ในด้านการรณรงค์ ส่งเสริมในการป้องกันต่อต้านอาชญากรรมและยาเสพติดเพื่อความมั่นคงแห่งปี  “คนดี คิดดี ทำดี สังคมดี ตามรอยพระยุคคลบาท”รางวัล “อินทรีทอง Award” ครั้งที่ 1ประจำปี 2555เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก วันที่ 26มิ.ย. ของทุกปีพิธีมอบรางวัลจัดขึ้น ณ สโมสรบุณยะจินดา (ดุริยางค์ตำรวจ) กองสวัสดิการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถ.แจ้งวัฒนะ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี  มีพล.อ พิจิตร กุลละวณิชย์ องคมนตรี เป็นประธานมอบในพิธีมอบรับรางวัล ซึ่งผู้ได้รับมอบรางวัลมีทั้งบุคคล องค์กร และหน่วยงานต่างๆ

ที่มา: เว็บไซต์คนเครือไท

 

สภาทนายค้าน จังหวัดตากห้ามแรงงานข้ามชาติเดินทาง ชี้ขัดหลักสิทธิมนุษยชน

เนื่องด้วยจังหวัดตาก โดยนายมงคล สัณฐิติวิฑูร รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ปฏิบัติหน้าที่ราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัด ได้มีหนังสือสั่งการลงวันที่ 30พฤษภาคม 2555ให้เจ้าหน้าที่ ณ ด่านตรวจห้วยหินฝน อำเภอแม่สอด ตรวจสอบเอกสารการเดินทางของแรงงานข้ามชาติที่ได้รับการผ่อนผันจัดทำทะเบียนประวัติ (ทร. 38/1) และแรงงานที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติมีหนังสือเดินทาง ว่าหากจะผ่านด่านดังกล่าวจะต้องมีหนังสือรับรองการเปลี่ยนนายจ้าง หรือสถานที่ทำงานด้วย ทำให้แรงงานจำนวนมากไม่สามารถเดินทางผ่านด่านได้

คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ โดยนายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการ ฯ ได้ทำหนังสือถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คัดค้านหนังสือสั่งการดังกล่าว และให้ยกเลิกหนังสือในทันทีโดยให้ถือปฏิบัติตามระเบียบกฎหมาย และมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีหลักเกณฑ์ควบคุมการเดินทางของกลุ่มนี้อยู่แล้วทั้งนี้ นายสุรพงษ์ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า หนังสือคำสั่ง และแนวปฏิบัติของจังหวัดตาก ไม่เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ รวมทั้งระเบียบและแนวปฏิบัติอื่นๆของรัฐ ซึ่งมีแนวทางการดำเนินการเป็นแนวเดียวกันทั้งประเทศ จังหวัดตากไม่มีอำนาจเป็นอิสระที่จะกระทำนอกเหนือจากที่กำหนด อาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157ฐานเจ้าหน้าที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ที่มา: เว็บไซต์ประชาไท

 

"จรัญ ภักดีธนากุล" ถอนตัวจากองค์คณะตุลาการ คดีแก้รัฐธรรมนูญ

วันที่ 5 กรกฎาคม 2555 หลังพักการไต่สวนพยานบุคคลฝ่ายผู้ร้องในช่วงเช้า เมื่อเปิดบัลลังก์พิจารณาไต่สวนต่อในช่วงบ่าย นายวสันต์ สร้อยพิสุทธ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้แจ้งให้ฝ่ายผู้ร้องและผู้ถูกร้องทราบว่านายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ขอถอนตัวจากการเป็นองค์คณะตุลาการทั้ง 5 สำนวน เนื่องจากถูกร้องว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี โดยที่ประชุมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติอนุญาตให้ถอนตัวได้เพื่อความเป็นกลาง อย่างไรก็ตาม องค์คณะยังทำหน้าที่วินิจฉัยต่อไปได้ ทำให้เหลือ 8 จากองค์คณะ 9

ทั้งนี้ ในช่วงเช้า นายชูศักดิ์ ศิรินิล ได้ถามนายจรัญ ภักดีธนากุล เกี่ยวกับคำพูดที่ขอให้รับรัฐธรรมนูญปี 2550ไปก่อน แล้วค่อยแก้ไขในภายหลัง ทำให้นายจรัญ ต้องลุกขึ้นชี้แจงเรื่องดังกล่าวในห้องพิจารณาคดี ว่า "ผมพูดตอนนั้นว่าถ้าไม่ได้รัฐธรรมนูญ 2550 เราจะไม่พ้นจากระบอบปฏิวัติรัฐประหาร ดังนั้น น่าจะต้องรับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ไปก่อน แล้วถ้าเห็นว่าไม่เหมาะสม ไม่ควรก็แก้ไขเพิ่มเติมได้ แต่ไม่ได้บอกว่าแก้มาตราเดียวแบบยกเลิกทั้งฉบับ ซึ่งคนละประเด็นกับคดีนี้ ดังนั้น การแก้ไขมาตรานั้นมาตรานี้หรือ 100 มาตราก็ไม่มีปัญหา เพราะสังคมจะได้ตรวจสอบแสดงความคิดเห็นในการแก้ไขแต่ละประเด็นแต่ละมาตรา เพราะเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศ"

อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2550 ในการดีเบตเรื่องรัฐธรรมนูญ ที่จัดโดยมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย นายจรัญกล่าวว่า   "ส่วนที่ว่ารัฐธรรมนูญนี้ไม่ดี มีข้อบกพร่อง มีบางจุดหลายจุดที่ท่านนำเสนอมานี้ เราเริ่มกระบวนการแก้ไข การแก้ไขนี้ผมอยากจะให้ ‘เราทำแบบเมื่อปี 2540 เราเสนอแบบให้ 50,000 คนเท่านั้นครับ! แล้วก็ ส.ส.ในสภา 1 ใน 4 เท่านั้นครับ!’ เสนอแก้ไขมาตราเดียวแบบที่เราเริ่มทำในปี 2540 แล้วให้กระบวนการนั้นจัดทำกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนขึ้นใหม่ เนี่ยครับ เราก็ว่าถ้าเราเดินอย่างนี้มันจะราบรื่นกว่าที่เราจะใช้วิธีการว่า เอาล่ะ! เราล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แล้วคาดหวังว่า คมช. กับ ครม. จะหยิบร่างรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดในอดีต มาปรับปรุงให้ดีกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ที่เรากำลังทำนี้"

โดยหลังการถอนตัวของนายจรัญ ทำให้ขณะนี้เหลือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 2 ราย คือนายนุรักษ์ มาประณีต และนายสุพจน์ ไข่มุกด์ ซึ่งเคยเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 นั่งบังลังก์ตุลาการศาลวินิจฉัยคดีนี้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: http://prachatai.com/journal/2012/07/41395

 

เผยสินเชื่อรากหญ้า ‘Ar-Rahnu’ ยอดฮิตในอาเซียนใช้ทองคำค้ำประกัน

วันที่ 7กรกฎาคม 2555ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี สหกรณ์อิสลามปัตตานี จำกัด ร่วมกับ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานเลขาธิการสันนิบาตธุรกรรมสินเชื่อขนาดย่อมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ Al-Rahnu Secretariat จัดประชุมใหญ่สันติบาตธุรกรรมสินเชื่อขนาดย่อม (Ar- Rahnu) ครั้งที่ 4ประจำปี 2012เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจให้แก่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกี่ยวกับโปรแกรมธุรกรรมสินเชื่อขนาดย่อม (Micro Credit) ตามแนวทาง Ar- Rahnu มีผู้เข้าร่วมจากประเทศในอาเซียนประมาณ 2,000คน โดยมี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน

 นายเด่น โต๊ะมีนา ประธานคณะกรรมการสหกรณ์อิสลามปัตตานี จำกัด กล่าวรายงานว่า Ar- Rahnu คือ การดำเนินธุรกรรมสินเชื่อขนาดย่อม โดยใช้ทองคำเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งที่ผ่านมาสหกรณ์ที่ใช้ระบบอิสลามในไทยรวมประมาณ 30แห่ง ไม่มีสหกรณ์ใดเปิดบริการแผนก Ar- Rahnu ทางสหกรณ์อิสลามปัตตานี จำกัด จึงเปิดแผนกนี้ตั้งแต่วันที่ 27มิถุนายน 2542เพื่อช่วยเหลือสมาชิกที่มีรายได้น้อย หรือขาดเงินทุนในการประกอบธุรกิจขนาดย่อม หรือขาดเงินในการให้การศึกษาแก่บุตรหลาน ให้สามารถใช้บริการได้สะดวก รวดเร็วและเสียค่าใช้จ่ายน้อย

 นายเด่น รายงานอีกว่า แผนกนี้เป็นที่เชื่อถือและศรัทธาของสมาชิกสหกรณ์ใน 3จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งตั้งแต่ดำเนินการมาประมาณ 13ปี สมาชิกใช้บริการ 44,274คน หมุนเวียนใช้บริการรวม 103,401คน และมีเงินกู้เป็นทุนหมุนเวียนถึง 2,866,410บาทขณะนี้สหกรณ์เปิดบริการ Ar- Rahnu แล้ว 4สาขา คือที่จังหวัดยะลา 1สาขาและที่จังหวัดปัตตานี 3สาขา มีสมาชิก 50,000คน สหกรณ์มีกำไร 30กว่าล้านบาท และมีทุนหมุนเวียนประมาณ 800ล้านบาท

 นายเด่น รายงานด้วยว่า ขณะนี้ในอาเซียนมีการเปิดบริการ Ar- Rahnu แล้วหลายประเทศ และได้ร่วมก่อตั้งสำนักงานเลขาธิการ Ar-Rahnu ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 12ตุลาคม 2004 (พ.ศ.2547) มีสมาชิกก่อตั้ง 7ประเทศ คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไนดารุสซาลาม ไทย สิงคโปร์ กัมพูชา และตีมอร์เลสเต้ เรียกว่า Sekretariat Ar-Rahnu Serantau

ที่มา: เว็บไซต์ Deep South Watch

 

ปธ.สภาฯ เตรียมส่งเอกสารแถลงปิดคดีศาลรธน.11ก.ค.

นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายวิจารณ์ว่า คำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในคำร้องที่ของให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291ขัดต่อมาตรา 68หรือไม่ ในประเด็นการคงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ไม่ได้ให้ความชัดเจนและอาจมีช่องทางที่ลดพระราชอำนาจที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตราอื่น นอกจากหมวด 2ได้ว่า เป็นการมองต่างมุมเท่านั้น

อย่างไรก็ตามในฐานะที่ตนทำหน้าที่ประธานสภาฯ ยืนยันว่าตนมีธงที่จะทำทุกทางเพื่อไม่ให้คนไทย ไม่ว่าจะอยู่สีใด ฆ่ากัน ซึ่งตนยอมรับว่าการเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้หากทำให้ถูกใจประชาชนนั้นทำได้ง่าย แต่ที่ผ่านมาตนยึดธงการทำงาน คือรักษาผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตนพร้อมจะส่งเอกสารแถลงปิดคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายในวันที่ 11ก.ค.นี้ ส่วนจะมีประเด็นใดเพิ่มเติมหรือไม่นั้น ขอหารือกับฝ่ายกฎหมายรัฐสภาก่อนสำหรับผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ตนเคยให้ความเห็นไปว่า ตนยอมถอย เพราะไม่อยากให้เป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง ที่นำไปสู่เหตุการณ์ที่คนไทยฆ่ากันตาย มั่นใจว่าศาลจะมีความคิดเห็นไม่แตกต่างจากตน ดังนั้นส่วนตัวมองว่ากรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินในแนวทางไหน ควรดูสถานการณ์เป็นหลักด้วย

ที่มา:เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ

 

ผลการตรวจสอบชี้ หายนะโรงงานฟูกูชิมาเกิดจากฝีมือมนุษย์

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า คณะกรรมาธิการอิสระตรวจสอบกรณีอุบัติเหตุโรงงานไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟูกูชิมา ได้เผยแพร่รายงานอย่างเป็นทางการเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (5ก.ค.) โดยระบุว่า ความผิดพลาดที่นำไปสู่เหตุการณ์โรงงานฟูกูชิมาระเบิดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว มาจากกฎระเบียบและข้อบังคับที่อ่อนแอและการรวมตัวกันอย่างไม่โปร่งใสระหว่างรัฐบาล ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้า และกลุ่มผู้ตรวจสอบอุตสาหกรรม

ในรายงานฉบับนี้ คณะกรรมการดังกล่าวซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐสภาเพื่อสอบสวนกรณีฟูกูชิมา ได้โต้แย้งผู้ปฏิบัติการของโรงงานคือ โตเกียว อีเล็คทริก พาวเวอร์ (เทปโก) ซึ่งอ้างว่าการหลอมละลายของโรงงานฟูกูชิมา มีสาเหตุจากคลื่นสึนามิซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11มีนาคมปีที่แล้วเพียงอย่างเดียว โดยคณะกรรมาธิการชี้ว่า แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น ก็น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งของอุบัติเหตุดังกล่าวด้วย  นอกจากนี้ ยังระบุว่าเทปโกและหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยของอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ ก็ได้ละเลยที่จะใช้มาตรการความปลอดภัยที่เหมาะสม ทั้งๆ ที่บริเวณดังกล่าวตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เสียงต่อการเกิดสึนามิและแผ่นดินไหว

ทั้งนี้ รายงานฉบับดังกล่าว ได้เผยแพร่ในขณะที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทางด้านตะวันตกของญี่ปุ่น กำลังจะเริ่มเปิดใช้ใหม่อีกครั้ง หลังจากที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานด้านความปลอดภัยจากรัฐบาล ท่ามกลางการประท้วงของประชาชนหลายพันคน ณ สำนักนายกรัฐมนตรี ที่เกิดขึ้นประจำทุกวันศุกร์เพื่อคัดค้านการเปิดใช้โรงงานไฟฟ้า ในขณะที่ผลจากการสำรวจเปิดเผยว่า ประชาชนชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐบาลลดและยุติการใช้โรงงานนิวเคลียร์

ที่มา: http://www.guardian.co.uk/environment/2012/jul/05/fukushima-meltdown-man... ">The Guardian