ปัจจุบันรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 153 วรรคสอง กำหนดว่า หากมีการยุบสภาและมีการเลือกตั้งใหม่ สำหรับกฎหมายที่ค้างพิจารณาอยู่ในรัฐสภาที่แล้วนั้น รัฐบาลใหม่ที่ได้รับการเลือกตั้งต้องร้องขอต่อรัฐสภาใหม่ภายในหกสิบวัน เพื่อให้นำกฎหมายที่ค้างพิจารณาจากสภาที่แล้วมาพิจารณาต่อ หากรัฐบาลใหม่ไม่ร้องขอให้นำกฎหมายฉบับใดขึ้นมาพิจารณาต่อ กฎหมายฉบับนั้นก็จะเป็นอันตกไป
วัตถุประสงค์ของกฎหมายข้อนี้ ก็เพราะว่า กฎหมายบางฉบับที่ค้างพิจารณาอยู่เป็นการออกกฎหมายตามแนวทาง หรือแนวนโยบายของรัฐบาลชุดก่อน ซึ่งนโยบายบางอย่างที่ไม่ตรงกับรัฐบาลชุดใหม่ ก็ไม่ควรถูกพิจารณาต่อ จึงให้ัรัฐบาลที่เพิ่งขึ้นมารับตำแหน่งได้ตรวจสอบดูว่า กฎหมายใดมีหลักการสอดคล้องกับนโยบายการบริหารประเทศของตนหรือไม่
ที่ผ่านมา มีกฎหมายของรัฐบาลชุดก่อนหลายฉบับ ที่ต้องตกไปเพราะรัฐบาลชุดใหม่ไม่ประสงค์จะให้พิจารณาต่อ บางกรณีก็เป็นไปตามแนวทางที่รัฐบาลชุดใหม่หาเสียงไว้ เช่น พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ
ขณะเดียวกันกฎหมายหลายฉบับที่ประชาชนเข้าชื่อกัน 10,000 ชื่อเสนอให้รัฐสภาพิจารณา เมื่อเข้าไปรอการพิจารณาอยู่ในรัฐสภาแล้วแต่มีการยุบสภาก่อน ก็ต้องเป็นไปตามกระบวนการเดียวกัน หากรัฐบาลใหม่ไม่ได้ร้องขอให้รัฐสภานำกลับมาพิจารณาต่อ ก็ต้องเป็นอันตกไป โดยที่ยังไม่เคยถูกพิจารณาโดยรัฐสภาเลย กรณีัตัวอย่างที่เคยมีมา เช่น ร่างพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. ... และ ร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ...
ทั้งที่จริงๆ แล้ว การพิจารณากฎหมายที่เสนอโดยประชาชนนั้นเป็นอำนาจของรัฐสภา ซึ่งเป็นตัวแทนมาจากการเลือกตั้งของคนทั้งประเทศ รัฐบาลไม่ควรมีสิทธิกลั่นกรองก่อนว่ากฎหมายฉบับใดมีหลักการที่ตนเห็นด้วยหรือไม่ กฎหมายที่ภาพคประชาชนเข้าชื่อกันเสนอทุกฉบับควรได้รับการพิจารณาโดยรัฐสภา ไม่ควรต้องตกไปเพราะเหตุเปลี่ยนรัฐบาล เหตุยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ หรือเหตุผลใดในทางเทคนิคก็ตาม
จึงมีข้อเสนอว่า ให้เพิ่มข้อยกเว้นเข้าไปในมาตรา 153 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ ว่า "ยกเว้นร่างพระราชบัญญัติที่เสนอโดยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชน ให้รัฐสภาพิจารณาไปได้เลย"
หมายเหตุ*
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
มาตรา 153 ในกรณีที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือบรรดาร่างพระราชบัญญัติที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วย หรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา ให้เป็นอันตกไป
ในกรณีที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ภายหลัง การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา แล้วแต่กรณี จะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หรือร่างพระราชบัญญัติที่รัฐสภายังมิได้ให้ ความเห็นชอบต่อไปได้ ถ้าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปร้องขอภายในหกสิบวัน นับแต่วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกหลังการเลือกตั้งทั่วไป และรัฐสภามีมติเห็นชอบด้วย แต่ถ้า คณะรัฐมนตรีมิได้ร้องขอภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือ ร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันตกไป
การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือร่างพระราชบัญญัติต่อไปตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภา แล้วแต่กรณี
Comments
เอ๋ หมายความว่า ทุกวันนี้ถ้าเสนอไป ล่าหมื่นชื่อให้เหนื่อยแทบตาย แต่ถ้าเปลี่ยนสภา ยุบสภา หรือหมดวาระสภา ก็ต้องมาลุ้นว่ากฎหมายหมื่นชื่อจะตกหรือไม่ตกเหรอ?
ทำไมงั้นอะ ในเมื่อกฎหมายหมื่นชื่อ ไม่ได้ใช้โควต้าส.ส./ส.ว.เสียหน่อย