รอบอาทิตย์ที่สอง ก.ค.55 : คำวินิจฉัยศาลรธน.เรื่องการแก้ไข รธน.

รอบอาทิตย์ที่สอง ก.ค.55 : คำวินิจฉัยศาลรธน.เรื่องการแก้ไข รธน.

เมื่อ 13 ก.ค. 2555

เปิดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญโดยละเอียด

ประเด็นที่ 1 ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ ?

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรค 2 เป็นบทบัญญัติที่ให้สิทธิ แก่ผู้ที่ทราบถึงการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามมาตรา 68 วรรค 1 ที่จะใช้สิทธิให้มีการตรวจสอบการกระทำดังกล่าวได้ โดยให้มีสิทธิ 2 ประการ คือ
 
ประการที่ 1 เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ  และประการที่ 2 สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการ ให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้ เพราะอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและวินิจฉัยสั่งการในกรณีที่ผู้ร้องใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 วรรค 2 เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ อัยการสูงสุด เพียงแต่มีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น และยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เท่านั้น หาได้ตัดสิทธิของผู้ร้องที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงไม่  เมื่อผู้ร้องได้เสนอให้อัยการสูงสุดตรวจสอบแล้วชอบที่จะใช้สิทธิ 
ประการที่ 2 ยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ศาลเห็นว่า การแปลความดังกล่าวนี้ จะสอดคล้องต่อเจตนารมณ์ ในมาตรา 68 
 
สิทธิพิจารณาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 นี้  มีหลักการมุ่งหมายให้ชนชาวไทยทุกคนมีส่วนร่วมในการปกป้อง พิทักษ์รักษาการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและการเข้าสู่อำนาจในการปกครองประเทศ ให้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มิให้ถูกล้มล้าง  โดยสภาพจึงเป็นการป้องกันไว้ล่วงหน้า  เพื่อที่จะได้มีโอกาสตรวจสอบและวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำที่จะเป็นจะอันตรายต่อระบบการปกครองและเป็นล้มล้างรธน.ให้เกิดขึ้นได้   เพราะถ้าหากปล่อยให้เกิดการกระทำที่เป็นภัยร้ายแรงต่อรัฐธรรมนูญ   ระบบการปกครองตามรัฐธรรมนูญได้เกิดขึ้นแล้ว  ย่อมสุดวิสัยแก้ไขให้กลับคืนดีได้   การมีอยู่ของมาตรา 68 และมาตรา 69 นี้ จึงเป็นไปเพื่อรักษาหรือคุ้มครองตัวรัฐธรรมนูญเองตลอดจนหลักการที่รัฐธรรมนูญได้รับรองหรือกำหนดกรอบไว้  
 
ประเด็นที่ 2 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา  291 สามารถแก้ไขเพิ่มเติมโดยยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่  
 
อำนาจในการก่อตั้งองค์กรสูงสุดทางการเมือง เป็นอำนาจการก่อตั้งองค์กรทั้งหลาย เมื่อองค์กรที่ถูกจัดตั้งมีเพียงอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญให้ไว้ และอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้องค์กรนั้นใช้อำนาจที่ได้รับมอบจากรธน.เองกลับไปแก้ไขรธน.นั้นเหมือนการใช้อำนาจแก้ไขรธน.ธรรมดา
 
ประเทศไทยช้ระบบประมวลกฎหมายยึดหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญที่จะต้องกำหนดวิธีการหรือกระบวนการแก้ไข เปลี่ยนแปลงรธน.ไว้เป็นวิธีพิเศษ แตกต่างจากกระบวนการกฎหมายทั่วไป 
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ ได้มาโดยการลงประชามติของประชาชน ก็ควรที่จะให้ประชานผู้มีอำนาจสถาปนารธน.ได้ลงประชามติเสียก่อนว่า  สมควรจะมีรธน.ฉบับใหม่หรือไม่ 
 
ประเด็นข้อที่ 3 การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการล้มล้าง การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ตามรธน.นี้ หรือเพื่อให้ได้มาในอำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามบทบัญญัติ รธน.นี้ ตามรธน.มาตรา 68 วรรค 1 หรือไม่
 
พิจารณาแล้วเห็นว่า การแก้ไขรธน.มาตรา 291 มีเจตนารมณ์เพื่อต้องการให้มีวิธีแก้ไขรธน.เพิ่มขึ้นเป็นรายมาตรา เป็นอำนาจที่รธน.แห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2550 ให้ไว้เพื่อเป็นช่องทางในการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากข้อบกพร่องในตัวรัฐธรรมนูญเองหรือจากข้อเท็จจริงที่ต้องมีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ 
 
ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่ ... พ.ศ.  ... จึงเป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.  2550 มาตรา 291 อันถือได้ว่ามีที่มาจากรธน.ฉบับปัจจุบัน กระบวนดังกล่าวยังไม่มีข้อเท็จจริงที่เชื่อถือได้ว่า  เป็นการล้มล้างระบอบการปกครองประชาธิปไตย  ตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างอีกทั้งขึ้นตอนการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญก็ยังไม่เป็นรูปร่าง การกล่าวอ้างของผู้ร้องจึงเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าซึ่งยังไม่มีผลแต่ประการใด และบทบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ก็ยังบัญญัติคุ้มกันรับรองร่างรัฐธรรมนูญที่ว่า ร่างรธน.ที่มีผลในการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขบทบัญญัติว่าด้วยพระมหากษัตริย์จะกระทำมิได้ และหากร่างรธน.มีลักษณะตามวรรค 5 ดังกล่าวให้ร่างรธน.ตกไป ตามมาตรา 291 (11) วรรค 6
 
ข้ออ้างของผู้ร้อง ทั้ง  5  ดังกล่าว ข้อเท็จจริงยังไม่เพียงพอที่จะวินิฉัยได้ว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 6 เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย  อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ข้ออ้างทั้งหมดจึงยังคงเป็นเพียงการคาดการณ์ เป็นความห่วงใยถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย  อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และยังห่างไกลต่อเหตุที่จะเกิดขึ้นตามที่กล่าวอ้าง
 
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ มติชนออนไลน์
 
 
กสม.แจงแนวทางชันสูตรศพตามหลักอิสลามหวังคุ้มครองสิทธิผู้เสียชีวิตครอบครัวแดนใต้
 
คณะอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดสัมมนาโครงการสร้างความรู้ความเข้าใจและเผยแพร่แนวทางการตรวจชันสูตรศพตามกระบวนการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ตามหลักศาสนาอิสลาม
 
นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า กรณีที่มีการเสียชีวิตที่ผิดธรรมชาติจะต้องมีการชันสูตรพลิกศพตามกฎหมาย เช่น กรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ หรือกรณีอื่นๆ ที่ไม่ใช่เกิดจากโรคชรา แต่เนื่องจากใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ยินยอมให้ผ่าศพ เพราะเชื่อว่าขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม และชาวบ้านยังไม่เข้าใจที่ชัดเจนในเรื่องการผ่าศพ เช่น คิดว่าหากผ่าแล้วจะมีผลดีอย่างไร ทั้งที่เป็นไปเพื่อให้ความจริงปรากฏและเพื่อคืนความยุติธรรมแก่ผู้เสียชีวิตและญาติ
 
ด้านพญ.นูรไอนี อาแว นายแพทย์ระดับปฏิบัติการโรงพยาบาลเบตง อ.เบตง จ.ยะลา เผยว่า การชันสูตรศพต้องได้รับการยินยอมจาก 3 ฝ่าย คือ ญาติ แพทย์ผู้ชันสูตรศพ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง แพทย์จึงจะสามารถชันสูตรศพได้ในกรณีที่ต้องจำเป็น เช่น ผ่าท้องเพื่อนำทารกที่ยังมีชีวิตอยู่ออกจากครรภ์แม่ที่เสียชีวิต หรือกรณีผู้เสียชีวิตกลืนสิ่งของมีค่าลงท้อง ทั้งนี้การผ่าศพนั้นขึ้นอยู่กับความจำเป็น เช่น หากผ่าแล้วจะได้รับความยุติธรรมกลับคืนมา
 
พญ.นูรไอนี เผยอีกว่า ที่ผ่านมามีเพียงยินยอมให้ชันสูตรพลิกศพเท่านั้น ยังไม่เคยมีกรณีที่ญาติยินยอมให้ผ่าศพคนที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งโดยทั่วไป การตรวจชันสูตรพลิกศพ สามารถทำได้ 3 วิธี คือ การชันสูตรโดยการตรวจภายนอก การชันสูตรโดยการผ่าเปิด และการชันสูตรโดยการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือดหรือการเอ็กซ์เรย์
 
ที่มาข่าว ประชาธรรม
 
 
นักวิชาการด้านยา วอน นายกฯปู เซ็นร่างแก้ พรบ.ยา เข้าสภา
 
จากการที่บริษัทยา GSK ยอมที่จะจ่ายค่าปรับปรับเกือบแสนล้านบาทหลังทำความตกลงกับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ในความผิดทั้งอาญาและแพ่งในหลายข้อหา อาทิ การทำการตลาดยาทั้งที่ไม่ตรงกับข้อบ่งใช้ที่ขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยา สหรัฐฯ (FDA), ปิดบังความไม่ปลอดภัยของยา, ปั้นงานวิจัยว่า ยาปลอดภัย, ให้อามิสสินจ้างบุคลากรทางการแพทย์เพื่อสั่งจ่ายยา, ขายยาเกินราคาให้กับระบบหลักประกันสุขภาพ ฯลฯ กรณีดังกล่าวไม่ใช่คดีแรก เคยมีการปรับบริษัทยาอื่น ๆ มานับแล้วมากกว่า 10 คดี แต่คดีนี้นับว่ามีมูลค่ามากที่สุดเท่าที่เคยมีมา
 
รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เห็นว่า แม้จะเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่มีรายละเอียดของคดีที่ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงพฤติกรรมของบริษัทยาและบุคลากรทางการแพทย์ที่สมคบกันหาประโยชน์บนชีวิตผู้ป่วยอย่างไร้จริยธรรม แต่ผลของการกระทำไปทั้งที่รู้ว่าผิดกฎหมายก็นำไปสู่ค่าปรับและการประนีประนอมทั้งทางแพ่งและอาญา แต่ไม่มีการลงโทษผู้กระทำความผิดอาญาใดๆเลย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทยาที่ทำผิดกฎหมายหรือแพทย์ผู้สั่งจ่ายยาที่ความปลอดภัยไม่ความชัดเจนเพราะได้รับอามิสสินจ้าง หรือแม้แต่ปกปิดงานวิจัยของบริษัทถึง 3 ชิ้นที่ไม่สนับสนุนประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยา ตลอดจนเกี่ยวข้องกับการตีพิมพ์งานวิจัยอันเป็นเท็จ
 
“ถึงแม้บริษัทยาจะถูกปรับราว 3,000 ล้านเหรียญ หรือเกือบแสนล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับยอดขายของ GSK ปีที่แล้วปีเดียว 44,000 ล้านเหรียญ เป็นกำไรสุทธิ 9,000 ล้านเหรียญ ยาต่างๆที่มีปัญหาในคดีนี้ทำการตลาดในลักษณะที่ว่ามาไม่ต่ำกว่า 10 ปี ฉะนั้น หากยังไม่มีกลไกที่ดีกว่านี้ เชื่อว่า บริษัทยายักษ์ใหญ่เหล่านี้ก็จะยังคงมีพฤติกรรมเช่นเดิม แต่จะทำให้เนียนขึ้น เพื่อยากต่อการเอาผิด”
 
ทางด้าน ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา กล่าวว่า จากคดีดังกล่าว เมื่อหันกลับมามองในประเทศไทยพบว่า สถานการณ์ส่งเสริมการขายยาอย่างขาดจริยธรรมนั้นไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน แต่ยิ่งน่าวิตกกังวลมากกว่า เพราะกลไกกฎหมายเดิมยังล้าหลัง จนถึงขณะนี้ พรบ.ยา พ.ศ. 2510 และกฎระเบียบต่างๆในบ้านเรายังไม่สามารถเข้าไปเอาผิดกับการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรมเหล่านี้ได้เลย เช่น มีผู้ให้ข้อมูลว่า เมื่อราว 2 ปีที่แล้วมีอาจารย์แพทย์ในโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่จ่ายยาเบาหวานที่อยู่ในกรณีนี้นั้นในปริมาณสูงสุดถูกให้ออก เพราะพฤติกรรมไม่เหมาะสม ผิดจริยธรรม แม้จะถูกตักเตือนมาเป็นระยะๆ อย่างไรก็ตามระบบการควบคุมกันเองนี้ก็ยังไม่เข้มข้นมากพอ จึงต้องเร่งแก้ไข พรบ.ยา และออกเกณฑ์จริยธรรมควบคุมการส่งเสริมการขายยาที่ขาดคุณธรรม
 
“อยากให้ท่านนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตรลงนามในร่างแก้ไข พรบ.ยาที่ภาคประชาชนนำเสนอเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาและขอให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งนำร่างพรบ.ยาที่ผ่านการพิจารณาของกฤษฎีกาเข้าสู่สภาเช่นกัน เพราะทั้ง 2 ฉบับมีเนื้อหาควบคุมการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม จัดความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพและตัวแทนขายยาอย่างเหมาะสม ไม่เช่นนั้นปัญหาเปล่านี้จะยิ่งทวีความรุนแรง ซึ่งจะส่งผลกระทบทั้งชีวิตประชาชนและงบประมาณของประเทศอย่างรุนแรง ขณะเดียวกันก็ขอเชิญชวนทุกสภาวิชาชีพต่างๆ โรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลมาร่วมลงสัตยาบรรณรับรองเกณฑ์จริยธรรมควบคุมการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรมที่กำหนดกลไกการกำกับกันเองให้มีประสิทธิภาพที่สุด รวมทั้งเปิดให้กลไกการเฝ้าระวังและตรวจสอบที่เป็นทางการเพิ่มเติมขึ้น”
 
ที่มาข่าว มติชนออนไลน์
 
 
สภารัสเซียไฟเขียว “กม.เซ็นเซอร์สื่อ” ปิดกั้นเว็บไซต์ไม่พึงประสงค์
 
รัฐสภารัสเซียลงมติสนับสนุนกฎหมายเซ็นเซอร์สื่อ ซึ่งนักเคลื่อนไหวเกรงว่าอาจจะนำไปสู่การปิดกั้นอินเทอร์เน็ต โดยการขึ้นบัญชีดำเว็บไซต์ที่ไม่พึงประสงค์
       
นอกจากนี้ สภาผู้แทนราษฎรรัสเซียยังให้ความเห็นชอบกับร่างกฎหมายอีกฉบับที่ถูกส่งขึ้นพิจารณาในวาระแรก ซึ่งมีการกำหนดโทษจำคุกสูงสุด 5 ปีสำหรับความผิดฐานหมิ่นประมาทและให้ร้ายทำลายชื่อเสียง
       
“จุดมุ่งหมายของกฎหมายฉบับนี้คือการขจัดความขัดแย้งให้หมดไปจากประเทศ” อนาโตลี โลคอต ผู้แทนจากพรรคคอมมิวนิสต์ประกาศต่อที่ประชุมสภา ในขณะที่ผู้แทนฝ่ายค้านร้องเรียนว่าร่างกฎหมายถูกเสนอเร็วเกินกว่าที่พวกเขาจะอ่านทบทวนจบ
       
กฎหมายทั้ง 2 ฉบับถูกวิจารณ์ว่าเป็นเครื่องมือกดดันฝ่ายต่อต้าน โดยมีการขึ้นค่าปรับผู้ก่อการประท้วง และนำคำว่าตัวแทนต่างชาติ (foreign agent) มาใช้กับเอ็นจีโอที่ได้รับทุนสนับสนุนจากต่างประเทศ
 
 
 
คนไทยพลัดถิ่นค้านกม.ฉบับมท.ไม่ตรงเจตนารมณ์
 
เครือข่ายคนไทยพลัดถิ่นกว่า 40 คน จากจ.ชุมพร จ.ระนอง และจ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้เดินทางมายังกระทรวงมหาดไทย พร้อมกับชูป้ายคัดค้านร่างกฎกระทรวงที่ตัดสิทธิในการขอพิสูจน์สิทธิของคนไทยพลัดถิ่น พร้อมกับยอ่านแถลงการณ์ซึ่งระบุว่า กระทรวงมหาดไทยพยายามบิดเบือน ซ่อนเร้นเนื้อหาสาระของกฎกระทรวงที่ริดรอนสิทธิ ปิดโอกาสและตัดสิทธิการขอพิสูจน์ตัวตนของคนไทยพลัดถิ่น
 
พร้อมทั้งระบุว่ากฎกระทรวงฉบับที่กระทรวงมหาดไทยจะนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ครม.เห็นชอบในวันพรุ่งนี้ (10 ก.ค.) ไม่สอดคล้องตามเจตนารมณ์แห่งพรบ.สัญชาติ ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2555 เพราะได้ปฏิเสธสิทธิที่จะขอรับรองสถานะคนไทยพลัดถิ่น ที่พลัดหลงไปถูกบันทึกในทะเบียนประวัติประเภทอื่น ทั้งที่มีบทบัญญัติรับรองสิทธิของคนเชื้อสายไทยที่ควรจะกลับมามีสิทธิในสัญชาติโดยการเกิด ทั้งนี้ การบันทึกผิด หรือตกสำรวจ เป็นผลพวงมาจากการทำงานที่ไร้ประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ไม่ใช่ความผิดของคนไทยพลัดถิ่น จึงไม่ควรปิดโอกาสการขอพิสูจน์ว่าพิสูจน์การเป็นคนไทยพลัดถิ่นอีก
 
นอกจากนี้ กฎกระทรวงยังระบุว่า ผู้ขอต้องมีหลักฐานแสดง ซึ่งน่าเชื่อถือได้ว่าไม่มีสัญชาติของปะเทศอื่น ซึ่งเป็นการแสดงถึงการผลักภาระการพิสูจน์ที่เกินสมควรให้คนไทยพลัดถิ่นผู้ยื่นคำขอ ทั้งที่ควรเป็นภาระของหน่วยงานราชการ ที่สามารถทำได้อยู่แล้ว โดยแกนนำคนไทยพลัดถิ่นระบุว่า หากรัฐบาลเลือกพิจารณาร่างก”กระทรวงมหาดไทย ที่กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ร่างฝ่ายเดียว จะทำให้คนไทยพลัดถิ่นมีสิทธิได้รับสัญชาติไทยมีราว 200 คนเท่านั้น จากเครือข่ายทั้งหมดกว่า 4,000 คน
 
ที่มาข่าว กรุงเทพธุรกิจ
 
 
เครือข่ายเภสัชกรจี้ สธ.ผลักดัน ก.ม.ยา ฉบับภาคประชาชน
 
เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกร ผู้บริโภค และนิสิต นักศึกษา ยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรียกร้องให้เร่งออกกฎกระทรวงควบคุมเภสัชกรให้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในร้านขายยาตลอดเวลา ตาม พ.ร.บ.ยา ปี 2510 หลังพบว่ายังมีร้านขายยาจำนวนมากที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
 
จากการสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ปี 2549 พบว่า มีเภสัชกรอยู่ประจำร้านยาเพียงร้อยละ 33 เช่นเดียวกับผลสำรวจของแผนพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา ปี 2554 ในพื้นที่ 10 จังหวัดที่พบว่ามีเภสัชกรอยู่ประจำร้านยาตลอดเวลา เพียง 266 แห่ง จากร้านขายยาที่สำรวจทั้งหมด 1,127 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 23.6 เท่านั้น เป็นผลให้ร้านขายยาถึงร้อยละ 80 ที่กำลังละเมิดสิทธิผู้บริโภค ฝ่าฝืนกฎหมาย
 
เครือข่ายฯ ยังเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เร่งลงนาม พ.ร.บ.ยา ฉบับภาคประชาชน เพื่อผลักดันออกเป็นกฎหมายโดยเร็ว แทน พ.ร.บ.ยา ปี 2510 ซึ่งมีความล้าหลังและไม่ครอบคลุมการแก้ไขปัญหา โดยร่างกฎหมายฉบับนี้จะช่วยอุดช่องโหว่และแก้ไขปัญหาเรื่องเภสัชกรแขวนป้าย รวมถึงควบคุมการขายยาราคาแพง และการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรมให้ดีขึ้น
 
 
 
เครือข่ายวิทยุธุรกิจฯ ร้อง กสทช.ชะลอปิดวิทยุชุมชน
 
กลุ่มเครือข่ายวิทยุธุรกิจภาคประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รวมตัวกันยื่นข้อเรียกร้องต่อกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. หลังถูก กสทช.พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกจับกุมสถานีวิทยุในเครือข่าย รวมกว่า 60 แห่ง โดยเห็นว่า กสทช.เลือกปฏิบัติ และใช้กฎหมายเข้าจับกุมผิดประเภท โดยเรียกร้องให้ กสทช.ยุติการจับกุมชั่วคราวจนกว่าจะประกาศใช้ร่างหลักเกณฑ์และประเภทของสถานีวิทยุตามแผนแม่บทที่กำหนด แต่ขณะนี้ยังไม่มีการประกาศใช้แต่อย่างใด
 
ขณะที่ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธานด้านกิจการกระจายเสียง กสทช. ยืนยัน ที่ผ่านมาเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ สถานีวิทยุทุกประเภทมาลงทะเบียน เพื่อแจ้งความจำนงในการใช้สิทธิทดลองออกอากาศชั่วคราว โดยไม่เลือกปฏิบัติ
 
สำหรับร่างหลักเกณฑ์การแบ่งประเภทวิทยุชุมชน กสทช.อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็น เพื่อให้ใบอนุญาตสถานีวิทยุใน 3 ประเภท ได้แก่ วิทยุชุมชน วิทยุสาธารณะ และวิทยุธุรกิจ คาดว่าประกาศใช้ได้ช่วงเดือนกันยายน นี้
 
 
 
'โจ กอร์ดอน' ได้รับการอภัยโทษแล้ว ปล่อยตัวจากเรือนจำคืนวานนี้
 
นักโทษคดีม. 112 สัญชาติไทย-อเมริกัน 'โจ กอร์ดอน' ได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้ว หลังจากถูกคุมขังมาแล้วกว่าหนึ่งปี โดยโฆษกสถานทูตสหรัฐระบุว่าได้จับตาและหารือกับทางการไทยอย่างสม่ำเสมอเรื่องมาตราฐานเสรีภาพในการแสดงออกสากล  
 
ทั้งนี้ ไม่มีเหตุผลที่ชัดเจนสำหรับการอภัยโทษครั้งนี้ แต่โฆษกสถานทูตฯ กล่าวว่าทางการสหรัฐได้กระตุ้นทางการไทยอย่างสม่ำเสมอในเรื่องมาตรฐานเสรีภาพการแสดงออกตามหลักสากล
 
"ทางเรายินดีมากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานอภัยโทษให้แก่โจ กอร์ดอน ซึ่งทำให้เขาได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ" บราวน์โนเลอร์ ให้สัมภาษณ์กับเอพี "เราได้กระตุ้นเตือนไปยังทางการไทยอย่างสม่ำเสมอ ทั้งในทางส่วนตัวและทางสาธารณะ ทั้งในกรุงเทพฯ และกรุงวอชิงตัน ว่าให้พิทักษ์เสรีภาพในการแสดงออกตามพันธกรณีสากล"
 
ที่มาข่าว ประชาไท