รอบสัปดาห์สุดท้าย ก.ค. 55: คัดเลือกแล้ว 5 กรรมการนโยบายไทยพีบีเอส

รอบสัปดาห์สุดท้าย ก.ค. 55: คัดเลือกแล้ว 5 กรรมการนโยบายไทยพีบีเอส

เมื่อ 30 ก.ค. 2555

คัดเลือกแล้ว 5 กรรมการนโยบายไทยพีบีเอส

การคัดเลือกกรรมการนโยบายไทยพีบีเอส ซึ่งมีนายสัก กอแสงเรืองเป็นประธานคณะกรรมการสรรหา ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2555 เปิดให้ผู้ได้รับการคัดเลือกรอบสุดท้ายจำนวน 14 คนได้แสดงวิสัยทัศน์ จากนั้นกรรมการสรรหาได้คัดเหลือ 5 คน  ผลการสรรหาปรากฏ ดังนี้

กรรมการด้านการส่งเสริมประชาธิปไตย ได้แก่ สมศรี หาญอนันทสุข, สมพันธ์ เตชะอธิก และวิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ กรรมการด้านการบริหารองค์กรได้แก่ ธีรภัทร สงวนกชกร และปราณี ทินกร

รายละเอียดของผู้ที่ผ่านการคัดเลือกรอบสุดท้ายจำนวน 14 คน: http://www.prachatai.com/journal/2012/07/41713

 

อภิสิทธิ์รับไม่ได้ไปเกณฑ์ทหารจริง แต่เรื่องผ่านมาแล้ว 20 ปีจึงไม่มีความหมาย

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวตอบโต้ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่นำหลักฐานมาแถลงข่าวกรณีข้อก​ล่าวหาว่านายอภิสิทธิ์สมัครเข้า​เป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อย จปร. โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งไม่ได้รับการตรวจคัดเลือกเป็นทหารกองเกิน

นายอภิสิทธิ์ยอมรับว่าไม่ได้ไปคัดเลือกเก​ณฑ์ทหารจริง เนื่องจากได้ใช้สิทธิ์ผ่อนผันไปศึกษาต่อต่างประเทศ และสมัครเข้ารับราชการที่โรงเรี​ยนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ดังนั้นการกล่าวหาไม่ได้ไปคัดเลื​อกทหารและเรื่องผ่านมากว่า 20 กว่าปีแล้ว จึงไม่มีความหมาย ซึ่งได้ฟ้องจตุพรพรหมพันธุ์ ในข้อหาหมิ่นประมาทไปแล้วและเรื่องอยู่ในศาลแล้ว โดยวันนี้จะติดตามการแถลงข่าว หากพบมีการใช้หลักฐานเท็จหรือพบ​หมิ่นประมาทเพิ่มเติมก็จะให้ทีม​กฎหมายส่งเรื่องดำเนินคดีต่อไป โดยเชื่อว่าเรื่องทั้งหมดมีคำสั่งทางการเมืองให้ทำ

ที่มา: มติชนออนไลน์ 

 

เครือข่ายประชาชนไทย 8จังหวัดลุ่มน้ำโขง ออกแถลงการณ์ ระงับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

เครือข่ายประชาชนไทย 8จังหวัดลุ่มน้ำโขง ออกแถลงการณ์ เรียกร้องรัฐบาลไทย ระงับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ระหว่าง กฟผ.และบริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด และดำเนินการผลักดันให้มีการทำการศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากเขื่อนไซยะบุรี ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และสุขภาพ ตลอดจนดำเนินการเปิดเผยข้อมูล รับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำ ซึ่งเป็นผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงหาก กฟผ. ไม่ดำเนินการ ทางเครือข่ายฯ เตรียมฟ้องร้อง ต่อศาลปกครองโดยนัดหมายกำหนดวันฟ้องในวันที่ 7สิงหาคมนี้

สำหรับแถลงการณ์ฉบับเต็มติดตามได้ที่: http://www.facebook.com/Stopxayaburidam

 

โพลล์ชี้คนกรุงเเกินครึ่งพอใจเสรีภาพ-ไม่รู้จัก พ.ร.บ.ค่าทดแทนจำเลยคดีอาญา

ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และพ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 ของประชาชนในกรุงเทพมหานคร ผลสำรวจพบ ประชาชนในกรุงเทพฯ พึงพอใจกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในปัจจุบันเกินครึ่งหนึ่งสูงถึง ร้อยละ 52.9 ขณะที่รู้จักพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 เพียงแค่ร้อยละ 26.4 และไม่รู้ถึงสิทธิของตนเองตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544

ทั้งนี้ การสำรวจดังกล่าวเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชน ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครจำนวนทั้งสิ้น 1,356 คน เก็บข้อมูลในวันที่ 25 - 27 ก.ค.55

นายสิงห์ สิงห์ขจร อาจารย์ประจำสาขาวิชาการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารองค์การ กล่าวว่า ทางศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ เล็งเหตุถึงสิทธิของเสรีภาพของประชาชน ตาม มาตรา 245  และมาตรา 246  ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้กำหนดให้ผู้เสียหายในคดีอาญาได้รับค่าตอบแทนที่จำเป็นและสมควรจากรัฐ  และจำเลยในคดีอาญาได้รับค่าทดแทนหรือค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและสมควรจากรัฐนั้น  เพื่อให้การรองรับสิทธิดังกล่าวเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่ราชอาณาจักรไทย จึงได้มีการตราพ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา  พ.ศ.2544 ขึ้น ซึ่งมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้ว  ตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544

พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาทำให้มีผู้มีสิทธิได้รับค่าตอบแทน ค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่าย 2 ประเภท คือ

1.ผู้เสียหายในคดีอาญา หมายถึงเป็นผู้ที่ถูกกระทำให้ได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิต หรือร่างกาย หรือจิตใจ และผู้ที่ถูกกระทำต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้น หมายถึงไม่ใช่คู่กรณี คือไม่ใช่ผู้ที่ก่อให้เกิดการกระทำความผิดนั้นอย่างเช่นในกรณีผู้ที่ถูกกระทำถูกทำร้ายร่างกาย ข่มขืนกระทำชำเรา ทำให้แท้งลูก และถูกฆาตกรรม

2. จำเลยในคดีอาญา หมายถึง ต้องเป็นจำเลยที่ถูกดำเนินคดีโดยพนักงานอัยการและถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดี ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ว่า จำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิด แล้วมีการถอนฟ้องหรือศาลพิสูจน์แน่ชัดแล้วว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิด ซึ่งจะต้องยื่นคำขอรับสิทธิภายใน 1 ปี

ที่มา: หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท

 

สภาที่ปรึกษาฯ ยันเดินหน้าดันรักษามะเร็งมาตรฐานเดียว

คณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุขและคุ้มครองผู้บริโภค สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดแถลงข่าวเรื่องการเสนอ (ร่าง) ความเห็นและข้อเสนอแนะ เรื่อง “รักษามะเร็งมาตรฐานเดียว ข้อเสนอเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในระบบหลักประกันสุขภาพของไทย” พร้อมด้วย (ร่าง) ความเห็นและข้อเสนอแนะ เรื่อง “การสร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพ : กรณีศึกษาการพิจารณาความเหมาะสมในการเรียกเก็บค่าบริการร่วม 30 บาท ณ จุดบริการด้านสุขภาพในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ณ ห้องแถลงข่าว ขั้น 3 สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ

ศาสตรเมธี ดร.สุปรีดิ์ วงศ์ดีพร้อม ประธานคณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ สภาที่ปรึกษาฯ เผยจากการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบประกันสุขภาพของไทย โดยสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งและเนื้องอกเป็นอันดับหนึ่ง แม้ประเทศไทยจะเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว แต่ยังคงมีความเหลื่อมล้ำในการรักษาพยาบาลอันเนื่องมาจากความแตกต่างด้านการบริหารงาน เช่น สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ อัตราการจ่ายเงินให้หน่วยบริการ ยาที่ได้รับ เป็นต้น สภาที่ปรึกษาฯ โดยคณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ เล็งเห็นว่า รัฐบาลควรดำเนินการรักษาโรคมะเร็งมาตรฐานเดียว เพื่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยมะเร็ง จึงเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่องดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญคือ

หนึ่ง ปรับสิทธิประโยชน์ และวิธีการรักษามะเร็งทุกโรคให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยเฉพาะยาราคาแพง ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้ง 3 ระบบ (1).ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 2).ระบบประกันสังคม 3).สวัสดิการของข้าราชการ รัฐวิสาหกิจและบุคลากรของรัฐ) โดยเป็นแบบเดียวกับระบบที่ดีที่สุด

สอง ปรับวิธีจ่ายเงินให้หน่วยบริการ โดยเฉพาะวิธีจ่ายเงินสำหรับการรับยามะเร็งแบบผู้ป่วยนอกให้เป็นลักษณะเฉพาะ อัตราเดียวกัน แยกจากงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว เนื่องจากเป็นการรักษาที่มีราคาแพง สำหรับการจ่ายเงินแบบผู้ป่วยใน ให้จ่ายอัตราต่อน้ำหนักสัมพัทธ์ที่เท่ากัน

สาม ขอให้ทั้ง 3 กองทุน จัดงบประมาณให้ความสำคัญกับการรณรงค์ให้สุขศึกษาประชาสัมพันธ์ และคัดกรองกลุ่มเสี่ยง เช่น การใช้สารเคมีในอาหาร การตรวจอุจจาระเพื่อหาไข่พยาธิใบไม้ตับ เป็นต้น

ด้านนายอนันต์ เมืองมูลไชย สมาชิกคณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ เตรียมยื่นความเห็นและข้อเสนอเพื่อคัดค้านนโยบาย “โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคด้วยการพัฒนาทั้งระบบ” ซึ่งมีการเรียกเก็บค่าบริการร่วม 30 บาท ณ จุดบริการด้านสุขภาพ เนื่องจากการขอรับบริการด้านสุขภาพของประชาชนในแต่ละครั้งนั้นมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลด้วย เช่น ค่าเดินทาง ค่าอาหาร เป็นต้น การเรียกเก็บค่าบริการร่วม 30 บาท เป็นการเพิ่มภาระของประชาชนที่มีรายจ่ายน้อย อีกทั้งข้อมูลและผลการสำรวจรายจ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนพบว่า ประชาชนในกลุ่มที่ยากจนถึงยากจนที่สุดต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่สูงกว่าประชาชนที่มีฐานะดี ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงความไม่เสมอภาคด้านสุขภาพในกลุ่มที่มีฐานะแตกต่างกัน ดังนั้น สภาที่ปรึกษาฯ โดยคณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ จึงเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อคัดค้านนโยบายดังกล่าว คือ ให้ยกเลิกการนำนโยบายเรียกเก็บเงิน 30 บาท ณ จุดบริการสุขภาพกลับมาใช้ และเร่งรัดการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศให้เกิดคุณภาพมาตรฐานเดียว และลดความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม ทั้งในเรื่องสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างของแต่ละกองทุน รวมทั้งกรณีที่ประชาชนบางกลุ่มยังต้องจ่ายเงินสมทบค่าดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง ในขณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ต้องจ่ายค่าดูแลรักษาสุขภาพ เนื่องจากประชากรไทยทุกคนต้องแบกรับภาระในการจ่ายภาษีโดยเท่าเทียมกัน

ที่มา: หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท

 

ศาลฎีการับคำร้องเพิกถอนคำสั่งไต่สวนการตายกรณี 'ตากใบ'

สืบเนื่องจากวันที่ 6 ก.ค. 55 ทนายความของญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส จำนวน 34 คน ได้ยื่นฎีกาต่อศาลอาญา ขอให้เพิกถอนคำสั่งไต่สวนการตายกรณีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมพื้นที่อำเภอตากใบของศาลจังหวัดสงขลา เนื่องจากเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ศาลอาญามีคำสั่งรับฎีกาและให้ส่งฎีกาให้ศาลฎีกาพิจารณาต่อไป

คดีนี้สืบเนื่องจาก ญาติผู้ตายทั้ง 34 คน ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งไต่สวนการตายกรณีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่อำเภอตากใบของศาลจังหวัดสงขลา ศาลอาญามีคำสั่งไม่รับคำร้อง ผู้ร้องซึ่งเป็นญาติผู้ตายทั้ง 34 คน จึงได้ยื่นอุทธรณ์ ต่อมาเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.55 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลอาญา เนื่องจากเห็นว่าศาลจังหวัดสงขลารับคดีไว้และทำการพิจารณาพิพากษาไปแล้ว ศาลอาญาจึงไม่อาจรับคดีไว้พิจารณาอีก เป็นการต้องห้ามตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 15

ผู้ร้องจึงได้ยื่นฎีกา โดยให้เหตุผลว่า คำร้องของผู้ร้อง มีวัตถุประสงค์ว่าคำสั่งของศาลจังหวัดสงขลานั้นไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว การยื่นคำร้องของผู้ร้องในคดีนี้ไม่ใช่คดีที่ศาลจังหวัดสงขลารับไว้พิจารณาแล้ว ซึ่งต้องห้ามตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 15 แต่เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ผู้ร้องสามารถใช้สิทธิทางศาลได้โดยตรง และเมื่อไม่มีศาลใดมีเขตอำนาจเฉพาะ จึงต้องยื่นต่อศาลที่มีเขตอำนาจทั่วไป คือศาลอาญา เพราะศาลอาญามีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทั้งปวงได้ทั่วราชอาณาจักร

คำสั่งไต่สวนการตายของศาลจังหวัดสงขลากรณีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม อำเภอตากใบในคดีหมายเลขดำที่ ช.16/2548 คดีหมายเลขแดงที่ ช.8 /2552 ที่ว่าผู้ตายทั้งหมดเสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจ โดยไม่กล่าวถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย กล่าวคือ ไม่ระบุข้อเท็จจริงเรื่องที่ผู้ถูกควบคุมตัวจำนวน 78 คน ถูกบังคับให้ถอดเสื้อและมัดมือไขว้หลัง บังคับให้นอนคว่ำหน้ากับพื้นรถยนต์บรรทุก ทับซ้อนกันเป็นชั้น ประมาณ 4-5 ชั้น และไม่ระบุชื่อบุคคลผู้ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งและเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติตามคำสั่ง ซึ่งเป็นผู้สั่งการหรือกระทำการอันเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ซึ่งจากคำให้การของประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุจำนวนมาก และพยานหลักฐานต่าง ๆ ในสำนวนได้ปรากฏข้อเท็จจริงทั้งหมดอย่างชัดแจ้ง รวมตลอดถึงข้อเท็จจริงสำคัญอื่นๆ ที่แสดงให้เห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมผู้ร่วมชุมนุม และนำตัวไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร โดยไม่คำนึงถึงหลักนิติธรรม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกควบคุมตัวแต่อย่างใด คำสั่งของศาลจังหวัดสงขลาย่อมกระทบต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของผู้ตาย และญาติผู้ตาย ซึ่งได้รับการรับร้องไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ขัดกับบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 และบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงสมควรถูกเพิกถอนและมีคำสั่งใหม่ที่เป็นธรรม  

โดยในตอนท้ายของฎีกา ผู้ร้องได้ระบุด้วยว่า คำสั่งของศาลจังหวัดสงขลาที่ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ส่งผลให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องรับผิดในการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและสิทธิมนุษยชนแต่ประการใด และอาจเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคล โดยการปฏิบัติที่ทารุณ โหดร้าย และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้อีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ที่มา: หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท

 

ประธานาธิดีพม่าเยือนไทย พร้อมลงนามความร่วมมือ 3 ด้าน

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายเต็งเส่ง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า แถลงร่วมผลการหารือข้อราชการ โดยนายกรัฐมนตรี ได้ขอบคุณในความร่วมมือของสหภาพพม่า ทั้งด้านเศรษฐกิจ การลงทุน การจ้างงาน และการปราบปรายาเสพติด ซึ่งจะมีการจัดพิธีฉลองการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตครบ 65ปีในปี 2556ทั้งนี้ในการหารือไทยได้เสนอการขยายความร่วมมือในหลายด้านและแสดงความพร้อมในการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิร่วมไทย-พม่า หรือเจซี ที่สหภาพพม่าจะเป็นเจ้าภาพและเสนอการจัดตั้งสมาคมมิตรภาพพม่า-ไทย คู่ขนานกับสมาคมไทย-พม่า เพื่อมิตรภาพ ซึ่งไทยได้การเสนอแนวทางความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในพม่า 4สาขาหลัก คือ การเสริมสร้างขีดความสามารถบุคลากรพม่า การเตรียมความพร้อมในการที่สหภาพพม่าจะเป็นประธานอาเซียนในปี 2557การปฏิรูปเศรษฐกิจและพัฒนาทางเลือก การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และในโอกาสนี้ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลง 3ฉบับ คือ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่เกี่ยวข้องเพื่อยืนยันพันธะที่ไทยจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาท่าเรือและนิคมอุตสาหกรรม บันทึกข้อตกลงในการดำเนินการตามแผนความร่วมมือ 4ข้อข้างต้น ถ้อยแถลงร่วมด้านการจัดตั้งเวทีหารือด้านพลังงาน ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแน่นแฟ้นกับประชาชนทั้ง 2ประเทศ

นอกจากนี้ ไทยได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือในการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวายและเชื่อมโยงกับท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันและของภูมิภาค รวมถึงการจัดตั้งคณะทำงานระดับรัฐมนตรีที่จะมีการประชุมในเดือนสิงหาคมนี้ รวมถึงการส่งเสริมเศรษฐกิจตามแนวชายแดน โดยไทยเสนอเปิดจุดผ่านแดนถาวร คือ ด่านกิ่วผาวอก จังหวัดเชียงใหม่ ด่านบ้านห้วยต้นนุ่น จังหวัดแม่ฮ่องสอน และด่านบ้านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี และการพิจารณาเปิดจุดผ่อนปรนตะโกบน จังหวัดราชบุรี อย่างไรก็ตาม ยังเห็นตรงกันในความร่วมมือการพัฒนาการปลูกข้าวในพม่าและการพัฒนาด้านแรงงาน โดยยืนยันที่จะดูแลแรงงานพม่าในไทยอย่างเป็นระบบและมีสิทธิภายใต้กฏหมายแรงงานไทย  ขณะที่ ประธานาธิบดี สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า แสดงความขอบคุณรัฐบาลไทยที่ตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งได้หารือเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงการขนส่งเส้นทางท่าเรือน้ำลึกทวายและแหลมฉบัง    โดยย้ำว่าพม่าพร้อมที่จะให้การสนับสนุนประเทศไทยในการดำเนินโครงการด้านต่างๆ เช่นกัน

ที่มา: สำนักข่าวไทย

 

ประธาน IOC เผยนักกีฬาที่ไม่ลงแข่งกับอิสราเอลอาจโดนลงโทษ

เว็บไซต์ Guardian  รายงานว่า Jacques Rogge ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee - IOC) ได้ออกมาเปิดเผยว่า IOC จะลงโทษนักกีฬาที่สละสิทธิ์ลงแข่งขันกับนักกีฬาทีมชาติอิสราเอลในกีฬาประเภทต่างๆ หากสอบสวนแล้วว่าไม่มีอาการบาดเจ็บ ในมหกรรมโอลิมปิคที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27 ก.ค.-12 ส.ค.นี้

Rogge ออกมาระบุหลังจากที่มีกระแสการพยายามดึงเรื่องกีฬากับการเมืองมาข้องเกี่ยวกัน เมื่อนักกีฬาโลกอาหรับหลายชาติมีท่าทีที่จะ "ไม่ยอมลงแข่งขัน" กับอิสราเอล โดยมีข่าวว่าชาติอาหรับบางชาติได้ขอให้ฝ่ายจัดการแข่งขันช่วยจัดตารางเลี่ยงการเจอกับทีมชาติอิสราเอล ในการแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ

อนึ่ง กรณีที่เคยมีกรณีที่นักกีฬายูโดจากอิหร่านถอนตัวเมื่อต้องได้แข่งขันกับนักกีฬาจากอิสราเอลในการแข่งขันโอลิมปิกที่เอเธนส์เมื่อปี 2004 รวมถึงโอลิมปิกที่ปักกิ่งในปี 2008 ได้มีการสืบสวนถึงกรณีที่นักว่ายน้ำของอิหร่านถอนตัวจากการลงแข่งขันรอบคัดเลือกที่มีนักกีฬาอิสราเอลลงทำการแข่งขันด้วย

ที่มา: เว็บไซต์ The Guardian

 

ศาลสูงอังกฤษตัดสิน "ทวีตขู่บึ้มสนามบิน" ไม่ใช่อาชญากรรม

ศาลสูงอังกฤษตัดสินให้ พอล แชมเบอร์ส ชาวอังกฤษวัย 28 ปี ชนะอุทธรณ์คดีที่เขาถูกตัดสินเมื่อ พ.ค.53 ให้มีความผิดตาม พ.ร.บ.การสื่อสาร 2546 จากการทวีตว่าจะระเบิดสนามบินโรบิน ฮูด เมืองดอนคาสเตอร์ ภาคเหนือของอังกฤษ

ในคำพิพากษา ศาลระบุว่า บริบทนั้นมีความสำคัญ หากผู้ที่รับสารหรืออ่านข้อความนี้แล้ว ไม่สนใจมัน เพราะมองว่าเป็นมุขตลกโง่ๆ ไร้รสนิยม หรือเป็นการล้อเล่นที่ไร้สาระแล้ว ก็จะไม่สามารถถือว่ามันเป็นการคุกคามได้หลังคำตัดสิน พอล แชมเบอร์ส บอกว่า ผมรู้สึกโล่งใจที่ได้พิสูจน์ตัวเอง และว่ามันไร้สาระมากที่เรื่องมันมาไกลได้ขนาดนี้ รวมถึงขอบคุณทุกคนที่ให้ความช่วยเหลือรวมถึงเพื่อนในทวิตเตอร์ด้วยที่ผ่านมา แชมเบอร์สกล่าวเสมอว่า เขาไม่เชื่อว่าจะมีใครจริงจังกับ "เรื่องตลกไร้สาระ"

จอห์น คูเปอร์ ทนายความของแชมเบอร์สกล่าวว่า นี่เป็นการตัดสินที่มีนัยสำคัญต่อโซเชียลเน็ตเวิร์ก มันหมายความในอนาคต ไม่ใช่แค่ข้อความที่จะต้องเข้าข่ายคุกคามเท่านั้น แต่ตัวบุคคลที่ส่งต้องมีเจตนาที่จะคุกคามด้วย

"ต่อไปนี้ คนก็จะพูดเรื่องตลกได้แล้ว แม้ว่ามันจะเป็นตลกร้ายก็ตาม คดีนี้ไม่ควรจะถูกดำเนินคดีด้วยซ้ำ และสำนักงานอัยการสูงสุดของอังกฤษอาจมีคำถามที่จะต้องตอบต่อกรณีดังกล่าว" ทนายความของแชมเบอร์สกล่าว

ย้อนไปเมื่อวันที่ 6 ม.ค.53 ในช่วงหิมะตกหนัก ส่งผลให้สนามบินหลายแห่งรวมถึงสนามบินโรบิน ฮูด ต้องปิดให้บริการเที่ยวบิน เมื่อแผนเดินทางไปไอร์แลนด์เพื่อพบแฟนสาวล่ม พอล แชมเบอร์ส ได้ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว ซึ่งขณะนั้นมีผู้ติดตามประมาณ 600 คนว่า "ตายห่า! สนามบินโรบิน ฮูดปิดแล้ว แกมีเวลาเตรียมใจหนึ่งอาทิตย์และอีกนิดหน่อย แล้วฉันจะไประเบิดสนามบินให้เละ!!" ("Crap! Robin Hood airport is closed. You've got a week and a bit to get your shit together, otherwise I'm blowing the airport sky high!!")

หลังจากนั้น หนึ่งสัปดาห์ เจ้าหน้าที่ของสนามบินซึ่งอยู่นอกเวลางาน พบข้อความนี้เข้า และแม้จะไม่เชื่อว่ามันเป็นการข่มขู่ แต่ก็มีหน้าที่ต้องรายงานต่อตำรวจ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบการก่อการร้ายบุกจับแชมเบอร์สถึงสำนักงาน ขณะที่บ้านของเขาถูกค้น โทรศัพท์มือถือ แลบทอปและเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะถูกยึด ต่อมาเขาถูกศาลตัดสินให้มีความผิดฐานส่งข้อความอิเล็กทรอนิกส์ที่มีลักษณะคุกคามสู่สาธารณะ อันขัดต่อกฎหมายการสื่อสาร 2546 และถูกปรับเป็นเงินรวม 1,000 ปอนด์ ทั้งยังถูกให้ออกจากงานที่ปรึกษาด้านการเงินของบริษัทจัดส่งรถยนต์ในดอนคาสเตอร์ด้วย

คดีนี้ถือเป็นคดีแรกในอังกฤษที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์ถูกพิพากษาให้มีความผิดจากการโพสต์ข้อความลงในเว็บไซต์ และกลายเป็นประเด็นร้อนที่ถกกันอย่างกว้างขวาง ผู้ใช้ทวิตเตอร์ดังๆ หลายคนอยู่ข้างแชมเบอร์ส มีการใช้แท็ก  #twitterjoketrial ในการพูดคุยเรื่องนี้ และต่อมามันก็กลายเป็นแท็กติดอันดับ นอกจากนี้ แชมเบอร์สยังได้รับการสนับสนุนจากนักแสดงตลกหลายคนที่เล่นทวิตเตอร์ อาทิ อัล เมอร์เรย์, เกรแฮม ไลน์ฮาน และสตีเฟน ฟราย ซึ่งช่วยระดมทุนเป็นค่าใช้จ่ายในคดีให้เขาเป็นเงิน 30,000 ปอนด์ด้วย

การอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นของเขาถูกปฏิเสธในปลายปี 53 ต่อมา ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีการอุทธรณ์ต่อศาลสูง โดยจอห์น คูเปอร์ ทนายของเขาบอกกับศาลว่า ส่วนใหญ่แล้ว แชมเบอร์สทวีตในลักษณะขำขัน ใครที่ติดตามทวิตเตอร์ของเขาก็จะรู้เรื่องนี้และเข้าใจถึงสิ่งที่เขากำลังสื่อออกมา นอกจากนี้ แชมเบอร์สก็ไม่ได้ปกปิดอัตลักษณ์ของตัวเอง (แชมเบอร์สใช้รูปและชื่อนามสกุลจริงในทวิตเตอร์) พร้อมระบุด้วยว่า เห็นได้ชัดว่ามันไม่ได้ถูกส่งโดยผู้ก่อการร้ายและยังเป็นเรื่องผิดพลาดที่ศาลโยงเรื่องเหล่านี้เข้าด้วยกับการก่อการร้าย

หลังคำตัดสิน แท็ก #twitterjoketrial กลับมาฮิตอีกครั้ง โดยผู้ใช้ทวิตเตอร์หลายรายต่างร่วมโพสต์แสดงความยินดีกับแชมเบอร์สที่ชนะคดีดังกล่าว รวมถึงตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมด้วย

ปัจจุบัน แชมเบอร์สมีผู้ติดตามในทวิตเตอร์ 78,013 ราย (ข้อมูล ณ 27 ก.ค.55 20.30น.)

ที่มา: BBC News และ เว็บไซต์ Yahoo News