รอบอาทิตย์แรก ส.ค.55 : ประหารชีวิตตำรวจฆ่าแขวนคอ

รอบอาทิตย์แรก ส.ค.55 : ประหารชีวิตตำรวจฆ่าแขวนคอ

เมื่อ 4 ส.ค. 2555

ศาลสั่่งประหารชีวิต 3 ดาบตำรวจกาฬสินธุ์ฆ่าอำพรางศพหนุ่ม 17

30 ก.ค. เวลา 10.00 น. ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.3252/2552 ที่อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ฟ้อง ด.ต.อังคาร คำมูลนา อายุ 48 ปี ด.ต.สุดธินัน โนนทิง อายุ 43 ปี ด.ต.พรรณศิลป์ อุปนันท์ อายุ 42 ปี พ.ต.ท.สำเภา อินดี อายุ 51 ปี อดีต สวป.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ พ.ต.อ.มนตรี ศรีบุญลือ อายุ 62 ปี อดีต ผกก.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ และ พ.ต.ท.สุมิตร นันท์สถิต อายุ 45 ปี อดีต รอง ผกก. สภ.เมืองกาฬสินธุ์เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย และเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องรับโทษ

พิพากษาว่า จำเลยที่ 1-3 กระทำผิดฐานย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย ลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ลงโทษประหารชีวิต เมื่อรวมโทษแล้วให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 1-3 สถานเดียว จำเลยที่ 5 กระทำผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องรับโทษ ลงโทษจำคุก 7 ปี จำเลยที่ 6 กระทำผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ลงโทษ จำคุกตลอดชีวิต และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4 เนื่องจากขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 4 โทรศัพท์ให้ญาติหาคนมาประกันตัวนายเกียรติศักดิ์ เพื่อความสะดวกที่พนักงานสอบสวนจะได้ไม่ต้องนำตัวผู้ต้องหาไปฝากขังต่อศาล และเป็นการให้บริการประชาชนซึ่งเป็นเรื่องปกติ เชื่อว่าจำเลยที่ 4 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายของนายเกียรติศักดิ์ สำหรับคดีฆ่าอำพรางศพ

คดีนี้ เกิดขึ้นเมื่อปี 2547 โดยญาติผู้ตายได้มายื่นเรื่องต่อกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพกระทรวงยุติธรรม และให้แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจน์สุนันท์ ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ตรวจพิสูจน์บาดแผล ต่อมากรมสอบสวนคดีพิเศษได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อมาคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ได้มีมติรับเป็นคดีพิเศษ เมื่อปี 2548 เนื่องจากเชื่อว่า การเสียชีวิตของนายเกียรติศักดิ์ อาจมีเงื่อนงำ ซึ่งคดีนี้เกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศสงครามกับยาเสพติด กระทั่งเกิดคดีในลักษณะของการฆ่าตัดตอนผู้ต้องหายาเสพติดหลายคดี

ที่มาข่าว ผู้จัดการออนไลน์

 

 

คาร์บอมบ์รามัน 5 ตำรวจดับคาที่

คนร้ายประกอบระเบิดซุกในรถยนต์และจุดชนวนพร้อมกับซุ่มยิงเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ท่าธง อ.รามัน เป็นเหตุให้ตำรวจเสียชีวิตคาที่ 5 นาย และบาดเจ็บอีก 1 นาย คนร้ายยึดอาวุธปืนไปด้วย
 
ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) รายงานว่า เมื่อเวลา 15.10 น. วันที่ 25 กรกฎาคม 2555 เกิดเหตุคนร้ายไม่ทราบจำนวนลอบวางระเบิดชุดปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยครู ตร.สภ.ท่าธง อ.รามัน จ.ยะลา บนถนนสายชนบท บ.อูเปาะ ม.4 ต.วังพญา อ.รามัน ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 5 นายและได้รับบาดเจ็บ 1 นาย

ที่มาข่าว Deepsouthwatch

 

คนร้ายประกบยิงทหารลาดตระเวนดับ 4 เจ็บ 2
 
ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) รายงานว่า เมื่อเวลา 07.05 น. วันที่ 28 ก.ค. 55 ขณะที่ชุดปฏิบัติการหมวดปืนเล็กที่ 2 กองร้อยทหารราบ 15321 หน่วยเฉพาะกิจปัตตานี 25  ได้ถูกคนร้ายลอบโจมตีขณะกำลังเดินทางกลับหลังจากการตรวจสอบความเรียบร้อยบริเวณตลาดนัดบ้านมายอ ต.มายอ อ.มายอ จ.ปัตตานี และเดินทางกลับฐานปฏิบัติการ 
 
โดยทหาร 6 นายได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ 3 คัน คันละ 2 คน ระยะห่างคันละ 30 – 40 เมตรเมื่อมาถึงบริเวณที่เกิดเหตุคนร้ายประมาณ 15 คนได้ใช้รถยนต์กระบะจำนวน 3 คัน เป็นพาหนะประกบรถจักรยานยนต์  จากนั้นได้ขับปาดหน้า คนร้ายที่นั่งอยู่ในกระบะหลังประมาณ 4 – 6 คนในแต่ละคันได้ใช้อาวุธปืนสงครามยิงใส่ ทำให้รถจักรยานยนต์ล้มลงและทหารได้ยิงตอบโต้ แต่ถุกกระสุนปืนของคนร้าย  จากนั้นคนร้ายที่นั่งอยู่ในรถ 2 คันแรกได้ลงจากรถเข้ามาจ่อยิงซ้ำทำให้ทหารเสียชีวิต 4 นาย และได้รับบาดเจ็บ 2 นาย   คนร้ายได้แย่งชิงอาวุธปืนเอ็ม 16 จำนวน 4 กระบอกไปด้วย  เหตุเกิดที่บนถนนสาย 4061 มายอ - ปาลัส บ้านดูวา หมู่ที่ 3 ต.ถนน อ.มายอ จ.ปัตตานี 
 
ที่มาข่าว Deepsouthwatch

 

คาร์บอมบ์หลัง รร.ซีเอสปัตตานี หม้อแปลงพังยับ อาคารร้าว-ไฟไหม้ชั้น 7
 
31 กรกฎาคม 2555 คนร้ายนำรถยนต์กระบะซึ่งบรรจุวัตถุระเบิดนำมาจอดที่บริเวณถนนกำแพงด้านหลังของโรงแรมซีเอส  ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี แล้วจุดชนวนด้วยวิทยุสื่อสาร  แรงระเบิดทำให้หม้อแปลงไฟฟ้าได้รับความเสียหายอย่างหนัก  กำแพงมีรอยร้าวและกระจกห้องพักด้านหลังของโรงแรมแตกเป็นจำนวนมาก  นอกจากนี้ยังมีรถยนต์ซึ่งจอดอยู่ใกล้ๆ ได้รับความเสียหาย 1 คัน หลังจากเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจและมูลนิธิกู้ภัย เดินทางมาที่เกิดเหตุและช่วยอพยพแขกที่พักออกจากโรงแรมอย่างเร่งด่วน 
 
เจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด เปิดเผยว่าระเบิดที่คนร้ายนำไปวางในรถกระบะเป็นระเบิดขนาด 15 กิโลกรัมจุดชนวนด้วยวิทยุสื่อสารซึ่งได้นำไปจอดไว้ที่ถนนเทศบาล 5 ซึ่งอยู่ด้านหลังโรงแรมซีเอส ปัตตานี  รถยนต์คันดังกล่าวได้จอดไว้ติดกับห้องซึ่งเป็นที่ตั้งของหม้อแปลงไฟฟ้าที่ใช้ควบคุมระบบไฟฟ้าของโรงแรมทั้งหมด 
 
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีห้องพักบางส่วนถูกไฟไหม้เนื่องจากประกายไฟที่ย้อนกลับขึ้นไปทางช่องแอร์ โดยมีห้องพักที่ชั้น 7 อย่างน้อย 1 ห้องถูกไฟไหม้เสียหายทั้งหมด ส่วนห้องพักด้านหลังโรงแรมหลายห้องแตกเสียหาย เจ้าหน้าที่ได้ฉีดน้ำเข้าทางช่องกระจกที่แตกเพื่อดับไฟ และสปริงเกอร์ฉีดน้ำทำงาน โดยหลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ได้ย้ายผู้เข้าพักทั้งหมดให้ออกไปพักที่โรงแรมใกล้เคียง
 
ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาคสี่ ส่วนหน้ารายงานว่ามีพนักงานโรมแรมได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยถูกกระจกบาด 3 คน
 
ที่มาข่าว Deepsouthwatch
 
 
เมินเคอร์ฟิวพรก.เอาอยู่! ‘หาดใหญ่-ปัตตานี’คุมเข้ม3กระบะก่อเหตุคาร์บอมบ์
 
หลังมีการก่อการร้ายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หลายครั้งติดต่อกันในช่วงเริ่มต้นของเดือนรอมฎอน และมีข่าวสะพัดว่าอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่จะมีการก่อเหตุเช่นกัน ล่าสุดทำให้มีการเฝ้าระวังกันอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะรถยนต์ที่ถูกขโมยมานั้นมีการจับตามองเป็นพิเศษ 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการเฝ้าจับตารถยนต์ต้องสงสัยที่ได้มีการแจ้งเตือนผ่านกล้องวงจรปิดที่ติดอยู่ตามจุดต่างๆ รอบตัวเมืองทั้ง 2 อำเภอ โดยที่ อ.หาดใหญ่ มีกล้องวงจรปิดทั้งหมด 458 ตัว ขณะที่ในเขตเทศบาลนครสงขลา มีกล้องวงจรปิดทั้งหมด 14 ตัว พร้อมกับมีการตรวจเช็กสภาพกล้องทุกจุดให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน ซึ่งจะเป็นอีกมาตรการหนึ่งในการรักษาความปลอดภัย
 
นายดือราแม มะมิงจิ ประธานกรรมการอิสลาม จ.ปัตตานี กล่าวถึงสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ตนรู้สึกไม่สบายใจ และขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วย ส่วนกลุ่มผู้ที่ก่อเหตุนั้นตนไม่รู้จะพูดอย่างไร เพราะไม่ทราบว่าเขาต้องการอะไร และมีวัตถุประสงค์อะไร อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้เป็นเดือนรอมฎอนที่ควรส่งเสริมให้ทำความดี ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และละเว้นในสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย อย่าทำให้คนอื่นเดือดร้อน เสียใจ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหน ศาสนาใด เราไม่ควรทำให้เขาเดือดร้อน 
 
“ผมไม่เห็นด้วยกับการแก้ปัญหาโดยการประกาศเคอร์ฟิว เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นยังไม่มีความจำเป็นต้องประกาศใช้เคอร์ฟิว และยังจะทำให้คนส่วนใหญ่ได้รับความเดือดร้อน ไม่เกิดสันติ และเห็นว่าเจ้าหน้าที่ยังสามารถใช้กฎหมาย พ.ร.ก.ในการควบคุมสถานการณ์ก็เพียงพอแล้ว" นายดือราแมกล่าว
 
ที่มาข่าว ไทยโพสต์
 
พ.อ. ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้ากล่าวว่าทางหน่วยยังไม่มีนโยบายในการประกาศเคอร์ฟิวพี้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้  แม้ว่าทางรัฐบาลจะได้แสดงความเป็นห่วงถึงสถานการณ์ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฏาคม ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นการเข้าสู่เดือนรอมฎอนซึ่งเป็นเดือนแห่งการถือศีลอดของชาวมุสลิม
 
ที่มาข่าว Deepsouthwatch

 

 

กลุ่มสิทธิสตรี 'FEMEN' เปลือยอกประท้วงโอลิมปิก ชี้หนุนกดขี่สตรีในรัฐอิสลาม
 
 2 ส.ค. 55 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กลุ่มรณรงค์สิทธิสตรีฟีเมน (FEMEN) จากยูเครน ได้เปลือยอกประท้วงในกรุงลอนดอนเพื่อประท้วงเกมส์โอลิมปิก "ลอนดอน 2012" โดยชี้ว่าคณะกรรมการโอลิมปิกสนับสนุน "ระบอบอิสลามที่กดขี่เปื้อนเลือด" และเรียกร้องให้โอลิมปิกบอยคอตต์ประเทศที่ใช้กฎหมายอิสลามหรือ 'ชารีอะห์' เนื่องจากกดขี่สิทธิสตรี และขัดกับหลักการสากลเพื่อสันติภาพของเกมส์โอลิมปิก
 
กลุ่มผู้ประท้วงสตรี 4 คนจากกลุ่มฟีเมน จัดการประท้วงที่เรียกว่า "มาราธอนอิสลาม" โดยเปลือยกายท่อนบนวิ่งบริเวณสะพานลอนดอนทาวเวอร์ และเขียนคำบนหน้าอกว่า "ไม่เอากฎหมายชารีอะห์" โดยได้รับความสนใจจากสาธารณะและผู้สื่อข่าวจำนวนหนึ่ง แต่ต่อมาถูกตำรวจสก๊อตแลนด์ยาร์ดเข้าจับกุมในข้อหาละเมิดพ.ร.บ.ความเรียบร้อยในที่สาธารณะ และนำไปควบคุมตัวที่โรงพัก
 
ที่มาข่าว ประชาไท
 
 
เครือข่ายพลเมืองเน็ตเปิดต้นทุน "เซ็นเซอร์เว็บ" ร่วม 140 ล้านต่อปี
 
การประชุมว่าด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศและสิทธิพลเมือง ประจำปี 2555 ในหัวข้อ "อินเทอร์เน็ตกับการจัดทำนโยบายสาธารณะ" ที่ไทยพีบีเอส สฤณี อาชวานันทกุล หัวหน้าคณะวิจัยโครงการ "ราคาของการเซ็นเซอร์: มุมมองทางเศรษฐศาสตร์" ภายใต้ความร่วมมือของเครือข่ายพลเมืองเน็ตร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงผลวิจัยในเบื้องต้นโดยระบุว่า ประเทศไทยมีการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตสูงมาก เห็นได้จากอันดับเสรีภาพสื่อโลกของไทยที่จัดอันดับโดยองค์การผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนที่ลดอันดับลง ขณะที่ต้นทุนของการปิดกั้นยังไม่เคยมีการพูดถึงกันเลย งานวิจัยนี้จะดูที่ต้นทุนของภาครัฐและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต่ใช้ในการปิดกั้น
 
สำหรับภาครัฐ กระทรวงไอซีทีไม่เปิดเผยงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการปิดกั้น แต่จากการศึกษาเอกสารงบประมาณและรายงานการจัดซื้อจัดจ้าง พบว่า กระทรวงไอซีทีน่าจะมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตไม่ต่ำกว่าปีละประมาณ 139 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 
 
ในส่วนของภาคเอกชน มีการออกแบบสอบถามไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) และเจ้าของเว็บไซต์ 2,000 แห่งที่มียอดผู้มาเยือนสูงสุดจากทรูฮิต มีผู้ตอบแบบสอบถามกลับมา 38 ราย โดยร้อยละ 50 ใช้วิธีให้บุคลากรคอยตรวจสอบเนื้อหาที่ผู้ใช้สร้างเอง (user-generated content) ร้อยละ 25 เขียนสคริปท์หรือโปรแกรมกรองข้อความที่อาจเป็นปัญหา ร้อยละ 11 ให้ผู้ใช้แจ้งเนื้อหาที่มีปัญหา ร้อยละ 7 ซื้อซอฟต์แวร์คัดกรอง และร้อยละ 5 ซื้ออุปกรณ์ (ฮาร์ดแวร์) สำหรับคัดกรอง โดยเนื้อหาหลักที่ปิดกั้นแบ่งเป็น 5 ประเภท ได้แก่ หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 22% ลามกอนาจาร 21% หมิ่นประมาทผู้อื่น 20% การพนัน 18% และเนื้อหาโฆษณา 16%
 
ด้านค่าใช้จ่ายทางตรงในการปิดกั้นอินเทอร์เน็ต พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดมีค่าใช้จ่ายเองไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท หรือเฉลี่ยรายละประมาณไม่ต่ำกว่า 26,000 บาทต่อปี นอกจากนี้บุคลากรยังใช้เวลารวม 31,621 ชั่วโมงในรอบ 6 เดือนแรกของปี 2555 คิดเป็นค่าใช้จ่ายประมาณ 4.1 ล้านบาทต่อปี โดยวิธีที่มีค่าใช้จ่ายสูงที่สุดคือกรณีให้คนคอยตรวจสอบ 2 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ยราว 74,282 บาทต่อปี ต่อผู้ให้บริการ 1 ราย ซึ่งสูงพอที่จะบั่นทอนแรงจูงใจของผู้ประกอบการขนาดเล็กและรายใหม่ในการเปิดพื้นที่ให้ผู้ใช้สร้างเนื้อหาหรือแสดงความคิดเห็น
 
ที่มาข่าว ประชาไท
 
 
พนักงานมหา’ลัยล่า 2 หมื่นราย ชงร่าง พ.ร.บ.พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา
 
รศ.ดร.สุมิตร สุวรรณ ประธานเครือข่ายพนักงานมหาวิทยาลัยในสถาบันอุดมศึกษา เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ...ว่า เป็นที่น่าเสียดายที่การประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ซึ่งมี ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน ซึ่งกำหนดประชุมวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา ต้องเลื่อนออกไป อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ศ.ดร.สุชาติ ก็ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชน ว่า สนับสนุนแนวทางของเครือข่ายฯ ที่จะผลักดันให้มีร่าง พ.ร.บ.พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งตนได้รับการติดต่อจากพนักงานมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิกเครือข่าย ว่า จะเตรียมรวบรวมรายชื่อให้ได้ 20,000 ชื่อ เพื่อยื่นร่าง พ.ร.บ.เอง แต่ตนเห็นว่า ควรรอฟังผลการประชุม ก.พ.อ.ก่อน หาก ก.พ.อ.เห็นด้วย และ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ก็เห็นชอบช่วยผลักดันซึ่งก็เป็นอีกแนวทางที่ดี
 
 
 
ค้านร่าง พ.ร.บ.แร่ ยื่น คปก.ดันกฎหมายภาคประชาชน
 
1 สิงหาคม 2555 เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือ ขอข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการคัดค้านร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.... ต่อคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย โดยมีนายคณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมายและนายสุขุมพงศ์ โง่นคำ กรรมการปฏิรูปกฎหมายเป็นผู้แทนรับเรื่องดังกล่าวและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการผลักดันดันกฎหมายภาคประชาชน
 
นายไพโรจน์  พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย  เปิดเผยว่า การจัดสรรทรัพยากรเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปฏิรูปกฎหมายทั้งระบบ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงให้ผลประโยชน์แก่คนเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทั้งนี้หากพิจารณาในแง่อำนาจหน้าที่หนึ่งของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.)คือการให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างกฎหมายเสนอต่อคณะรัฐมนตรี จึงเห็นว่าการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวภาคประชาชนควรจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าวอีกครั้ง ขณะเดียวกันคปก.พร้อมจะให้คำปรึกษาและสนับสนุนการยกร่างกฎหมายฉบับภาคประชาชน ทั้งนี้เครือข่ายประชาชนควรเตรียมการเรื่องการรวบรวมรายชื่อภาคประชาชนเสนอร่างกฎหมายแร่ไว้ด้วย เนื่องจากกระบวนการพิจารณากฎหมายอาจจะช้าหรือเร็วก็ได้ 
 
นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ประเทศไทย กล่าวว่า  อยากให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายมีความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.... โดยเร็ว และ เห็นด้วยกับการเสนอร่างกฎหมายฉบับประชาชนโดยขอให้คปก.ช่วยสนับสนุนในการยกร่างกฎหมายดังกล่าวด้วย
 
ที่มาข่าว ประชาไท
 
 
ศาลปกครองกลางไม่รับฟ้องเลิก “คดีโลกร้อน”
 
1 ส.ค.55 ความคืบหน้ากรณีตัวแทนเครือข่ายชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการนำแบบจำลองการคิดค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม (คดีโลกร้อน) มาใช้บังคับในคดีแพ่ง เข้ายื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ต่อศาลปกครองกลาง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 พ.ค.55 เพื่อขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาเพิกถอนคำสั่งให้บังคับใช้แบบจำลองค่าเสียหายโลกร้อนและให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการปรับปรุงแก้ไขแบบจำลองดังกล่าวให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ อีกทั้งจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก่อนนำแบบจำลองใหม่มาบังคับใช้
 
ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งลงวันที่ 23 ก.ค.55 ไม่รับคำฟ้องคดีโลกร้อนไว้พิจารณา โดยให้เหตุผลว่า รายละเอียดหนังสือสั่งการของกรมอุทยานแห่งชาติฯ รวมทั้งแบบจำลองฯ เป็นเพียงการวางหลักเกณฑ์ภายในฝ่ายปกครอง มิใช่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายกระทำการหรือสั่งการต่อผู้บุกรุกแผ้วถางหรือทำลายป่าไม้โดยตรง โดยเป็นการสั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองประเมินและคำนวณค่าเสียหายของทรัพยากรธรรมชาติที่เสียเพื่อทราบจำนวนที่ชัดเจนสำหรับการฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งต่อศาลต่อไป
 
ส่วนศาลจะพิจารณากำหนดให้ผู้กระทำผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเท่าใดนั้นย่อมขึ้นอยู่กับการนำสืบพิสูจน์ข้อเท็จจริงของคู่กรณีต่อศาล
 
หนังสือสั่งการของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมิใช่คำสั่งที่มีสภาพบังคับโดยตรงต่อผู้ฟ้องคดีทั้ง 23 คน ผู้ฟ้องคดีทั้ง 23 คนจึงมิใช่ผู้เดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้จากหนังสือสั่งการของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง
 
ที่มาข่าว ประชาไท
 
 
นศ.ร้องยุติพิจารณาร่าง ม.นอกระบบ ยันฟังความเห็น นศ.ก่อน
 
1 สิงหาคม 2555 แนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้านมหาวิทยาลัยนอกระบบ ยื่นหนังสือต่อ รศ.นพ. กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการ คณะกรรมการการอุดมศึกษา เพื่อขอให้ยุติกระบวนการผ่านร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ (มหาวิทยาลัยนอกระบบ) พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการทำประชาพิจารณ์จากฝ่ายต่าง ๆ ภายหลังจากที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้ยืนยันความพร้อมในการแปรสภาพจากมหาวิทยาลัยของรัฐไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ
 
นายนิพิฐพนธ์ คำยศ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เหตุผลที่มายื่นหนังสือ เพราะทางกลุ่มแนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้าน ม.นอกระบบ เห็นว่าทั้งมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ที่ออกนอกระบบไปแล้ว หรือที่กำลังดำเนินการออกนอกระบบ ไม่มีส่วนร่วมจากนักศึกษาในการร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยนอกระบบ อีกทั้งการให้ข้อมูลความรู้ไม่เต็มที่ ไม่ทั่วถึง แสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรม ไม่โปร่งใสในการกระบวนการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ
 
ที่มาข่าว ประชาไท