รอบอาทิตย์ที่สอง ส.ค.55

รอบอาทิตย์ที่สอง ส.ค.55

เมื่อ 10 ส.ค. 2555

 

ชง พ.ร.บ.ข้าราชการสาธารณสุข ชี้ช่วย ปชช.รักษาเฉพาะทาง
 
ที่รัฐสภา ตัวแทนสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) ได้เดินทางยื่นหนังสือเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุขและบุคลากรสาธารณสุข พ.ศ.... ต่อ นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 จำนวน 112,502 รายชื่อ โดยมาจากวิชาชีพสาธารณสุข 21 สายงาน เช่น ข้าราชการสาธารณสุข แพทย์ ทันตแพทย์ นักกายภาพบำบัด พยาบาลวิชาชีพ ทั้งที่เป็นข้าราชการและลูกจ้างชั่วคราว พร้อมด้วยอาสาสมัครสาธารณุสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และภาคประชาชน
       
ทั้งนี้ การยื่นเสนอร่างระเบียบดังกล่าวก็เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนที่จะได้รับการดูแลจากบุคคลากรสาธารณสุขที่มีการบริหารจัดการด้านบุคคลแบบเฉพาะทาง หรือคณะกรรมการ ก.สธ.
 

 

กม.ห้ามแล้ว ดริ๊งก์บนรถ ทั้ง′โดยสาร-ส่วนตัว′ 
 
นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการใช้ร่างประกาศตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เรื่อง การห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทางสาธารณะ ขณะขับขี่หรือขณะโดยสารอยู่ในรถหรือบนรถทุกประเภท ซึ่งหมายรวมถึงท้ายรถด้วยว่า ขณะนี้ประกาศเรื่องดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคมเป็นต้นไป เป็นตามขั้นตอนกฎหมาย ที่เมื่อคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พิจารณาเห็นชอบร่างประกาศดังกล่าว และเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาลงนามแล้วจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาทันที
 
"ดังนั้น ผู้ที่ขับขี่หรือขณะโดยสารรถทุกประเภทต้องพึงระวัง เพราะหากฝ่าฝืนจะเข้าข่ายผิดกฎหมายทันที และต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" นพ.สมานกล่าว
 
ที่มาข่าว มติชนออนไลน์
 
 
ผู้บริโภคกว่า 1,200 คนเข้าชื่อไม่รับ(ร่าง)ประกาศ‘การไกล่เกลี่ยข้อพาทฯ’ของกสทช.
 
เครือข่ายผู้บริโภค 1,223 คนเข้าชื่อไม่รับร่างระเบียบ กสทช.  ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม และผู้ร้องเรียน ชี้ส่อแววขัดกฎหมายและประกาศ กทช. หลายฉบับ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาให้ผู้บริโภคภายใน 30 วัน ระบุ หาก กสทช. ยืนยันที่จะออกร่างระเบียบนี้ก็ขอให้เตรียมงบประมาณเพื่อชดใช้ความเสียหายให้กับผู้ร้องเรียนด้วย แนะ กสทช. บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังเพื่อลดข้อร้องเรียน   ให้บรรจุการไกล่เกลี่ยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการจัดการเรื่องร้องเรียน และทำให้การจัดการเรื่องร้องเรียนมีประสิทธิภาพจะเป็นทางออกที่สวยกว่า
 
นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค แถลงว่า เครือข่ายผู้บริโภคไม่เห็นด้วยกับการออกร่างระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมและผู้ร้องเรียน พ.ศ. .... ด้วยเหตุว่าร่างระเบียบฯ ดังกล่าวขัดต่อมาตรา 46 ใน พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ที่กำหนดให้คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องเรียน และยังขัดต่อ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ในมาตรา 30 ที่ กำหนดว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการและพนักงานของสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการพิจารณาคำร้องเรียนที่ประชาชนยื่นตามกฎหมาย หากกฎหมายดังกล่าวมิได้กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการไว้โดยเฉพาะจะต้องดำเนิน การให้แล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่อง ในกรณีที่คณะกรรมการหรือพนักงานปฏิบัติหน้าที่ล่าช้ากว่าที่กำหนดโดยไม่มีเหตุอันสมควร หากก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลใด ให้สำนักงาน กสทช. รับผิดชดใช้ความเสียหายให้แก่บุคคลนั้น
 
 
 
เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิฯ ยินดีเอาผิด ตร.แขวนคอเด็ก แต่ค้านโทษประหารชีวิต
 
เเถลงการณ์เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และองค์กรสิทธิมนุษยชน กรณี ศาลมีคำพิพากษาให้ประหารชีวิต 3 ดาบตำรวจ จังหวัดกาฬสินธุ์ ในคดีฆ่าเเขวนคอ เยาวชนอายุ 17 ปี ระหว่างสงครามยาเสพติด ชื่นชมความพยายามกว่าแปดปีของบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งผู้เสียหาย พยานบุคคล กรมสอบสวนคดีพิเศษ พนักงานอัยการ ทนายความโจทก์ร่วม และผู้พิพากษาซึ่งได้ช่วยก่อให้เกิดมาตรฐานที่ดีในนำตัวเจ้าหน้าที่ซึ่งกระทำผิดมาลงโทษ โดยระบุในแถลงการณ์ว่า คดีนี้สะท้อนให้เห็นความล้าหลังของ “ระบบยุติธรรม” ในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ที่เกินเลย และใช้วิธีการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมต่อเยาวชนซึ่งเป็นผู้ต้องหา  เจ้าหน้าที่มีพฤติกรรมหลอกลวงญาติของผู้เสียชีวิต
 
ในแถลงการณ์ยังเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งรัดการดำเนินคดีในจังหวัดกาฬสินธุ์ อีกหลายคดีที่ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับผู้เสียหาย และผู้บริสุทธิ์ และทำความจริงให้ปรากฏ
 
อย่างไรก็ตาม ในแถลงการณ์ฉบับนี้ ได้ตั้งข้อสังเกตถึงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา โดยระบุว่า โทษประหารชีวิตนั้นเป็นนั้นเป็นการทำลายคุณค่าสูงสุดของความเป็นมนุษย์คือชีวิต ซึ่งมนุษย์ไม่อาจพรากชีวิตไปจากมนุษย์ด้วยกันได้ อีกทั้งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้รับรองถึงสิทธิในการมีชีวิตไว้ รวมถึงตามแผนแม่บทสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (2552-2556) ประเทศไทยได้ระบุว่าหนึ่งในตัวชี้วัดความสำเร็จของแผน คือ การพิจารณากฎหมายที่มีอัตราโทษประหารชีวิตให้ยกเลิกเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตภายในปี 2556 การที่ประเทศไทยยังดำรงไว้ซึ่งโทษประหารและมีการบังคับใช้ ย่อมเป็นการขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและสวนทางกับกระแสการยอมรับสิทธิมนุษยชนของนานาประเทศซึ่งประเทศสมาชิกสหประชาชาติได้ยกเลิกโทษประหารแล้วกว่า 141 ประเทศ 57 ประเทศที่ยังมีและใช้โทษประหารอยู่ รวมทั้งประเทศไทย
 
ที่มาข่าว ประชาไท
 
 
สภาไฟเขียวร่างพ.ร.บ.วิชาชีพแผนไทยฯ
 
ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบ​วาระ 3 ร่างพ.ร.บ. วิชาชีพแพทย์แผนไทย  348 ต่อ 6 เสียง ​​ ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.วิชาชีพแพทย์แผนไทย เพื่อให้มีกฎหมายด้วยวิชาชีพแพทย์แผนไทย เพื่อให้แยกการกำกับดูแลและการควบคุมการประกอบวิชาชีพแผนไทย ออกจากอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการประกอบโรคศิลปะ และคณะกรรมการวิชาชีพสาขาการแพทย์แผนไทย โดยจัดตั้ง "สภาแพทย์แผนไทย" ขึ้นเพื่อส่งเสริมการประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทย กำหนดและควบคุมมาตรฐานการประกอบวิชาชีพ และจริยธรรมแพทย์แผนไทย  ควบคุมมิให้มีการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากบุคคล ซึ่งไม่มีความรู้อันก่อให้เกิดภัยและความเสียหายแก่ประชาชน
 
อย่างไรก็ตาม ระหว่างการ​พิจารณาวาระ 2 มีสมาชิกสงวนคำแปรญัตติไม่เห็นด้วยตามกรรมาธิการเสียงข้างมาก โดยในมาตรา 14 (1) ว่าด้วยองค์ประกอบของกรรมการสภาการแพทย์แผนไทย  จนที่ประชุม​ต้องลงมติ ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับกรรมาธิการเสียงข้างมากด้วยคะแนน 17 ต่อ 359 เสียง  โดยที่ประชุมให้กลับไปใช้ตามร่างเดิม
 
ที่มาข่าว โพสต์ทูเดย์
 
 
1%Effect:สนพ.นักอ่าน นักศึกษาล่ารายชื่อค้านซีเอ็ด,อมรินทร์กินรวบวงการหนังสือ
 
สำนักพิมพ์รายย่อย,นักเขียน,นักอ่าน นักศึกษาล่ารายชื่อค้านซีเอ็ดอัมรินทร์เรียกค่าธรรมเนียมศูนย์กระจายสินค้า1%จากราคาปก กรรมาธิการ สภาผู้แทน.ออกตัวรับลูกเป็นคนกลางตั้งโต๊ะเจรจา
 
5 กรกฎาคม 2555 ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท อมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์ จำกัด 2บริษัทผู้จัดจำหน่ายหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยบริษัท ได้ออกจดหมายร่วมกันส่งไปถึงสำนักพิมพ์และบริษัทจัดจำหน่ายหนังสือต่างๆ เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมศูนย์กระจายสินค้าในอัตรา 1% ของมูลค่าหนังสือที่ส่งไปยังศูนย์กระจายสินค้าของบริษัททั้งสอง โดยอ้างว่าต้นทุนการทำธุรกิจที่สูงขึ้นจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทของรัฐบาล บริษัทจึงจำเป็นต้องเรียกเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวเพื่อชดเชย
 
หลังจากที่ข่าวการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวได้เผยแพร่ออกไป ทำให้กลุ่มสำนักพิมพ์ต่างๆเกิดการตื่นตัว คัดค้านการเก็บค่าธรรมเนียม และได้มีการเจรจา ระหว่างตัวแทนของบริษัทซีเอ็ดและอมรินทร์ ตัวแทนจากชมรมส่งเสริมการจัดจำหน่ายหนังสือ และตัวแทนจากสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2555 โดยมีมติให้ระงับการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวที่ตอนแรกกำหนดจะเริ่มเก็บในวันที่ 1 สิงหาคม 2555 ออกไปก่อน และให้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อพูดคุยหาข้อสรุปร่วมกัน
 
ขณะเดียวกันกลุ่มสำนักพิมพ์ที่ไม่เห็นด้วยต่อกรณีดังกล่าวก็ได้ออกจดหมายเปิดผนึกชี้ว่ามาตรการดังกล่าวสร้างผลกระทบต่อโครงสร้างธุรกิจหนังสือและผู้อ่าน โดยชี้ให้เห็นถึงที่มาว่าเกิดจากการที่ทางซีเอ็ดและอัมรินทร์ำธุรกิจทั้งในด้านการพิมพ์ สายส่งและร้านหนังสือ เสมือนว่าสวมหมวกหลยใบ ในจดหมายดังกล่าวยังได้รณรงค์ล่ารายชื่อคัดค้านมาตรการ1% โดยมีสำนักพิมพ์ขนาดเล็กและนักอ่านเข้าร่วมลงชื่อจำนวนหนึ่ง(ตามลิงก์)
 
ขณะเดียวกัน นิสิตนักศึกษา นักกิจกรรมทางสังคมอาทิ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ( สนนท.)ก็ได้ร่วมกันออกจดหมายเปิดผนึกในนามเครือข่ายนิสิตนักศึกษาและประชาชนผู้รักการอ่านล่ารายชื่อเช่นกันโดยชี้ว่าเป็นเจตนาในการผูกขาดตลาดทางปัญญาหนังสือบีบให้ สนพ.ขนาดเล็กปิดตัวลง ขาดความหลากหลายทำให้ประชาชนมีทางเลือกน้อยลงในการเลือกอ่านหนังสือ 
 
ที่มาข่าว ประชาไท
 
 
รัฐบาลพม่าเลิกแบนนิตยสารแล้ว-หลังนักข่าวเดินขบวนค้านการเซ็นเซอร์สื่อ
 
รัฐบาลพม่ายกเลิกการห้ามตีพิมพ์และจำหน่ายนิตยสารรายสัปดาห์ "เดอะ วอยซ์ วีคลี่" และ "เอ็นวอย" ซึ่งถูกสั่งห้ามเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว หลังนักข่าวร่วมร้อยเดินขบวนเรียกร้องเสรีภาพสื่อในย่างกุ้งและมัณฑะเลย์เพื่อประท้วงการปิดกั้นสื่อเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา 
 
สำนักข่าวมิซซิม่าของพม่ารายงานว่า เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ฝ่ายตรวจสอบและทะเบียนสื่อพม่า ได้มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งห้ามตีพิมพ์และจำหน่ายนิตยสารสองเล่ม ได้แก่ วอยซ์ วีคลี่ และ เอ็นวอย ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 28 ก.ค. นิตยสารทั้งสองเล่มถูกสั่งห้ามจำหน่ายอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจาก วอยซ์ วีคลี่ ตีพิมพ์ข่าวเกี่ยวกับการสับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี และการ์ตูนล้อเลียนเรื่องกฎหมายสื่อในประเทศ ในขณะที่นิตยสาร เอ็นวอย ตีพิมพ์การให้สัมภาษณ์ที่อ่อนไหวของ อ่อง เถ่ง ลิน ส.ส. พรรคสหภาพเพื่อความสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ที่วิพากษ์วิจารณ์เต็น เส่งและออง ซาน ซูจี ซึ่งตีพิมพ์โดยไม่ได้ผ่านการตรวจสอบจากกองเซ็นเซอร์
 
ทั้งนี้ สิ่งพิมพ์ทุกชนิดในพม่า จำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบจากฝ่ายตรวจสอบและทะเบียนสื่อพม่า และได้รับอนุญาตก่อนเท่านั้น จึงจะสามารถตีพิมพ์และเผยแพร่ได้อย่างถูกกฎหมาย
 
การยกเลิกคำสั่งดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นักข่าวท้องถิ่นราวร้อยคนได้รวมตัวกันเดินขบวนในเมืองย่างกุ้ง และมันฑะเลย์ ในนามคณะกรรมการเพื่อเสรีภาพสื่อ เพื่อคัดค้านการสั่งห้ามตีพิมพ์นิตยสารดังกล่าว เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการปิดกั้นสื่อ และให้มีการกำจัดข้าราชการที่คัดค้านแผนการปฏิรูปการเมืองในพม่าออกไปจากการบริหาร โดยมีการล่ารายชื่อในจดหมายพร้อมข้อเรียกร้องที่จะส่งไปถึงประธานาธิบดีเต็ง เส่งด้วย
 
ที่มาข่าว ประชาไท
 
 
เสื้อแดงล่าแสนชื่อ ดันรัฐให้สัตยาบันกรุงโรมว่าด้วย ICC ชี้ไม่ติดมาตรา 8
 
สหภาพเพื่อประชาธิปไตยประชาชน(Union for People’s Democracy) ซึ่งเป็นกลุ่มที่รวมตัวกันของคนเสื้อแดงที่อาศัยอยู่ในประเทศในทวีปยุโรป ได้จัดกิจกรรมตั้งโต๊ะล่า 100,000 รายชื่อเพื่อให้ประเทศไทยลงนามให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ(International Criminal Court หรือ ICC) ในงาน “5 สิงหาประชาชุมนุม” ซึ่งจัดโดยกลุ่มเสื้อแดง กทม. 50 เขต รวมกับวิทยุชุมชน 5 สถานี ที่ห้องคอนเวนชั่นฮอลล์ ชั้น 6 ห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียล เวิลด์ ลาดพร้าว นางกรรณิการ์ นีลเซ่น ผู้แทนสหภาพเพื่อประชาธิปไตยประชาชน เปิดเผยว่าการล่ารายชื่อนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค. ตอนนี้ได้รายชื่อเพียงสองพันกว่ารายชื่อ โดยตามรัฐธรรมนูญกำหนดกำหนดไว้หนึ่งหมื่นรายชื่อในการยื่นเสนอกฎหมายต่อสภา แต่ทางสหภาพฯได้กำหนดไว้ว่าจะยื่นต่อรองประธานรัฐสภาในวันที่ 9 สิงหาคม นี้ เวลาบ่ายโมง ได้เท่าไหร่จะยื่นเท่านั้นก่อน แม้รายชื่อจะยังไม่ครบตามเงื่อนไข และหลังจากยื่นรายชื่อแล้วจะมีการล่ารายชื่อต่อไปเรื่อยๆอีกด้วยเพื่อทำการจัดส่งภายหลัง โดยหวังว่าจะไม่มีเหตุการณ์ทหารออกมาเข่นฆ่าประชาชนเหมือนกับปี 52, 53 อีก
 
ทั้งนี้เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา วารุณี ปั้นกระจ่าง ผู้อำนายการกองกฎหมายจากกระทรวงการต่างประเทศ เคยตอบคำถามถึงสาเหตุที่ประเทศไทยไม่เข้าเป็นภาคีของธรรมนูญกรุงโรมว่า “ประเด็นสำคัญที่สุดคือ ข้อ 27 ของธรรมนูญกรุงโรม กำหนดให้ประมุขของรัฐไม่ได้รับการยกเว้นจากความรับผิดทางอาญาตามธรรมนูญศาลนี้ ไม่ว่ากรณีใดและจะไม่เป็นมูลเหตุให้ลดหย่อนโทษ หมายความว่าถ้าไทยเข้าเป็นภาคีก็จะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีข้อนี้ด้วย แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 8 ระบุว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้" 
 
ที่มาข่าว ประชาไท