คำสั่งรักษาด่านศอฉ.ใช้ "พลแม่นปืน" หากผู้ก่อเหตุปะปนผู้ชุมนุม - หากยิงไม่ได้ให้ใช้ "สไนเปอร์"
ตามที่สำนักข่าวประชาไท ได้รับเอกสารส่วนราชการ สยก.ศอฉ. ที่ กห.1407.55 (สยก.) ลงวันที่ 17 เม.ย. 53 เรื่อง “ขออนุมัติแนวทางการปฏิบัติในการใช้อาวุธเพื่อ รปภ. ที่ตั้งหน่วยและสถานที่สำคัญ รวมทั้งการปฏิบัติ ณ จุดตรวจ/ด่านตรวจและสายตรวจเคลื่อนที่” ลงนามโดย พล.ท.อักษรา เกิดผล หน.สยก.ศอฉ. เสนอ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผอ.ศอฉ. ในเวลานั้นเอกสารมีทั้งหมด 5 หน้า ใจความสำคัญคือการระบุแนวทางปฏิบัติ หากมี “ผู้ก่อการร้ายแฝงตัวมากับกลุ่มผู้ชุมนุม และใช้อาวุธ/วัตถุระเบิดต่อเจ้าหน้าที่ และประชาชนผู้บริสุทธิ์”โดยในข้อ 2.5 ของเอกสารระบุว่า “ในกรณีพบความผิดซึ่งหน้าในลักษณะผู้ก่อเหตุใช้อาวุธยิงใส่เจ้าหน้าที่ หรือใช้อาวุธ/วัตถุระเบิดต่อที่ตั้งหน่วยและสถานที่สำคัญที่ ศอฉ. กำหนด ได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้อาวุธยิงผู้ก่อเหตุ เพื่อหยุดยั้งการปฏิบัติได้ แต่หากผู้ก่อเหตุอยู่ปะปนกับผู้ชุมนุมจนอาจทำให้การใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ เป็นอันตรายต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ ให้งดเว้นการปฏิบัติ ยกเว้นในกรณีที่หน่วยได้จัดเตรียมพลแม่นปืน (Marksmanship) ที่มีขีดความสามารถเพียงพอให้ทำการยิงเพื่อหยุดยั้งการก่อเหตุได้ นอกจากนี้หากหน่วยพบเป้าหมายแต่ไม่สามารถทำการยิงได้ เช่น เป้าหมายอยู่ในที่กำบัง ฯลฯ หน่วยสามารถร้องขอการสนับสนุนพลซุ่มยิง (Sniper) จาก ศอฉ. ได้”
ต่อมามี ที่การออกหนังสือที่ กห.0407.45 (สยก./130) ลงวันที่ วันที่ 17 เม.ย. 53 “เรื่อง ขออนุมัติแนวทางการปฏิบัติการใช้อาวุธเพื่อ รปภ. ที่ตั้งหน่วยและสถานที่สำคัญ รวมทั้งการปฏิบัติ ณ จุดตรวจ ด่านตรวจ และสายตรวจเคลื่อนที่” เรียน ผอ. ศอฉ. โดย พล.อ. รอง เสธ.ศอฉ. (3) 18 เม.ย. 54โดยในท้ายเอกสารมีข้อความว่า “อนุมัติตามเสนอในข้อ 4” ลงนามโดย “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ในฐานะ ผอ.ศอฉ. โดยลงนามวันที่ 18 เม.ย. 53
ก่อนหน้านี้ ในการแถลงข่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อ 16 ส.ค. 55 กล่าวปฏิเสธว่าไม่มีการใช้สไนเปอร์ เป็นเพียงปืนติดลำกล้องเพื่อใช้ระวังป้องกัน ซึ่งในตลาดนัดก็มีขายสำหรับใช้ยิงนก ขณะที่เมื่อ 16 พ.ค. 53 พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. ก็ปฏิเสธว่าไม่มีการใช้สไนเปอร์ มีเพียง “พลแม่นปืนระวังป้องกัน” ทำหน้าที่คุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ต่ำหรือตามถนนหนทางโดยทั่วไป เจ้าหน้าที่เหล่านี้จะมีหน้าที่ในการตรวจสอบว่ามีบุคคลผู้ใดถืออาวุธหรือจะเข้าทำร้ายเจ้าหน้าที่ และจะใช้การยิงคุ้มครอง
ในวันที่18 มี.ค 54 พ.ต.ท.สมชาย เพศประเสริฐ ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ได้นำรายงานบัญชีสรุปรายการเบิกจ่ายกระสุนจากหน่วยคลังแสงสรรพาวุธทหารบก เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ตั้งแต่ 11 มี.ค. 53 จนถึงเสร็จสิ้นการโดยมีการเบิกกระสุนจากคลังแสงทหารบกกว่า 597,500 นัด ส่งคืน 479,577 นัด ใช้ไป 117,923 นัด เผยมีการเบิกกระสุนปืนซุ่มยิง 3,000 นัด คืนเพียง 880 นัด ขณะที่เบิกกระสุนซ้อมเพียง 10,000 นัด ส่งคืน 3,380 นัด (อ่านข่าวย้อนหลัง)
อ่านรายละเอียดเอกสาร สยก.ศอฉ. ที่ กห.1407.55ได้ที่: หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท
ผบ.ทบ.ส่งนายทหารพระธรรมนูญแจ้งจับ "โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม" พ่วงล่าม ข้อหาหมิ่น "กองทัพบก"
เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 18 สิงหาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. มอบหมายให้ พ.ท.สายัณห์ ขุนขจี นายทหารพระธรรมนูญ เข้าแจ้งความกับ ร.ต.อ.บดินทร์ คำผุย พนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี ให้ดำเนินคดีกับนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ชาวแคนาดา ทนายความคนเสื้อแดง และหญิงไทย ไม่ทราบชื่อและนามสกุล ซึ่งเป็นล่ามแปลและเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์เอเชียอัพเดท ในข้อหาหมิ่นประมาท พร้อมกับนำแผ่นซีดีบันทึกคำปราศรัยของนายโรเบิร์ตกับพวก จำนวน 1 แผ่น ไปมอบให้กับพนักงานสอบสวนเพื่อเป็นหลักฐานด้วย
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2555 ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 20.10 น. นายโรเบิร์ตพร้อมกับพวกได้ขึ้นเวทีปราศรัยที่บริเวณแยกราชประสงค์ เป็นภาษาอังกฤษ โดยมีล่ามแปลเป็นภาษาไทย ผ่านเครื่องขยายเสียงของสถานีโทรทัศน์เอเชียอัพเดท ซึ่งข้อความในการปราศรัยได้หมิ่นประมาทถึงกองทัพบก ทำให้ได้รับความเสียหายและเสื่อมเสียชื่อเสียง จึงเข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี เพื่อให้ดำเนินคดี เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมผ่านมา
ด้าน พล.ต.ต. อนุชัย เล็กบำรุง รอง ผบช.น. ดูแลงานกฎหมายและสอบสวน เปิดเผยว่า ทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว และรายงานให้ พล.ต.ท. คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น.ทราบแล้ว ขณะนี้ให้ทาง บก.น.5 ตั้งคณะพนักงานสอบสวนระดับ บก.เพื่อพิจารณาคดีดังกล่าว ซึ่งตนจะควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด และให้ความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเนื้อหาที่นายโรเบิร์ตขึ้นพูดระบุว่า กองทัพได้ซื้ออาวุธจากสหรัฐอเมริกาเพื่อมาเข่นฆ่าประชาชน รัฐบาลอเมริกาส่งสไนเปอร์มาสอนสไนเปอร์ไทยให้กระทำกับประชาชนโดยไม่รู้ถึงสิทธิเสรีภาพ
ที่มา: เว็บไซต์มติชนออนไลน์
ศาลอุทธรณ์สหรัฐฯ ไม่อนุญาตรัฐบาลติดภาพคำเตือนบนซองบุหรี่
สำนักข่าว BBC รายงานว่า ผู้พิพากษาในชั้นศาลอุทธรณ์ของสหรัฐฯ ตัดสินให้รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่สามารถออกคำสั่งให้บริษัทยาสูบติดภาพคำเตือนเรื่องสุขภาพลงบนบรรจุภัณฑ์บุหรี่เนื่องจากเป็นการทำลายเสรีภาพในการแสดงความเห็นในอเมริกาก่อนหน้านี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐฯ ต้องการให้มีภาพคำเตือนผู้สูบบุหรี่ 9 ชนิด ติดลงบนซองบุหรี่ ซึ่งเป็นรูปเกี่ยวกับโรคและความตาย เพื่อเป็นการเตือนให้เห็นอันตรายของบุหรี่อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทยาสูบแย้งว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพเกินความจริงหากอ้างตามข้อมูล และเป็นภาพในเชิงโฆษณาชวนเชื่อของการต่อต้านการสูบบุหรี่ การตัดสินในครั้งนี้มีขึ้นในขณะที่ประเทศอื่นๆ เริ่มมีคำสั่งแบบเดียวกันคือให้มีการติดภาพคำเตือนบนบรรจุภัณฑ์บุหรี่ในประเทศออสเตรเลียถึงขั้นห้ามไม่ให้มีโลโก้ของบริษัทยาสูบอยู่บนกล่อง
ศาลอุทธรณ์ของสหรัฐฯ ยืนยันการตัดสินจากศาลชั้นต้น ที่มีมติ 2-1 ให้รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่สามารถสั่งติดภาพคำเตือนได้โดยกล่าวว่า คดีนี้ชวนให้ตั้งคำถามเกี่ยวกับขอบเขตอำนาจของรัฐบาลในการบังคับให้ผู้ผลิตสินค้าต้องเผยแพร่ข้อมูลที่เกินจริงและไม่ตรงตามโฆษณา รวมถึงทำลายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของพวกเขาเองนอกจากนี้ คดีดังกล่าวยังเป็นเรื่องของการที่รัฐบาลพยายามทำให้ซองบุหรี่ทุกซองในประเทศกลายเป็นป้ายโฆษณาขนาดเล็กเพื่อเผยแพร่ข้อความต่อต้านบุหรี่ของรัฐบาล ซึ่งแม้แต่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก็ยังไม่ได้นำเสนอหลักฐานที่บ่งบอกว่าภาพดังกล่าวจะช่วยทำให้นโยบายลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ในอเมริกาประสบความสำเร็จมากขึ้น
กลุ่มบริษัทยาสูบแสดงความยินดีต่อคำตัดสินนี้ โดยบริษัทลอร์ริลาด โทแบคโค พูดถึงคดีนี้ว่าเป็นเรื่องความสำคัญของหลักการตามมาตรา 1 ในรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ (มาตราที่ว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น)อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ ยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะว่าจะมีการยื่นเรื่องไปถึงชั้นศาลฎีกาหรือไม่
ที่มา: เว็บไซต์ BBC
สภาผ่านฉลุยงบปี56
การพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 วงเงิน 2.4 ล้านล้านบาท ได้มีการพิจารณาเสร็จสิ้นและลงมติวาระสามเมื่อเวลา 01.39 น.ของวันที่ 18 สิงหาคม 2555ด้วยคะแนน 279 เสียงต่อ 8 เสียง งดออกเสียง 127 เสียง โดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รมว. คลัง ได้กล่าวขอบคุณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ และจะนำข้อสังเกตของสมาชิกไปปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการบ้านเมืองต่อไป จากนั้นจึงปิดประชุมในเวลา 01.43 น.
ตลอด 3 วันของการพิจารณา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นั่งฟังการพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายเพียง 10 นาที
ด้าน นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) แถลงข่าวในเช้าวันเดียวกันถึงการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2556 เมื่อวันที่ 15-17 ส.ค. ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลล้มเหลวในการชี้แจงในหลายประเด็น และรัฐบาลควรได้รับสมญานามว่า เป็นรัฐบาลที่ “เปิดช่องทุจริต ปิดโอกาสของประชาชน” ใน 4 ประเด็นหลัก คือหนึ่ง การใช้จ่ายงบประมาณฟื้นฟูเยียวยาน้ำท่วม ปีพ.ศ. 2555 สอง การรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร สาม โครงการจำนำข้าว และ สี่ ด้านการจัดการน้ำมัน
สำหรับการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 ในส่วนของวุฒิสภานั้นนายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ ส.ว.ปราจีนบุรี ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2556 วุฒิสภา เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้าทางกรรมาธิการฯ จะมีการนัดประชุมเพื่อสรุปรายงาน และข้อเสนอแนะในการพิจารณางบประมาณฯ จากนั้นจะนำเสนอรายงานต่อประธานวุฒิสภา เพื่อให้บรรจุในระเบียบวาระการประชุม ซึ่งเบื้องต้นเท่าที่หารือกับนายนิคม ไวยรัชพานิช ว่าที่ประธานวุฒิสภา มีความเป็นไปได้ว่า วุฒิสภาจะนัดประชุมเพื่อพิจารณา วันที่ 3-4 ก.ย. นี้
อย่างไรก็ตาม สำหรับการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบฯ56 ของวุฒิสภา ซึ่งทำควบคู่ไปกับการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร พบการจัดงบประมาณที่ไม่โปร่งใส ซึ่งเป็นไปตามข้อสังเกตของส.ส.พรรคฝ่ายค้าน เช่น งบโครงสร้างพื้นฐาน สร้าง ซ่อมแซมถนน แหล่งน้ำ พบว่ามีการจัดสรรไปในพื้นที่ส.ส.ในพรรครัฐบาลมากกว่าพื้นที่อื่น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การพิจารณาของวุฒิสภาจะเป็นไปในภาพกว้าง อาจไม่ลงลึกอย่างที่ ส.ส.ทำ เพราะวุฒิสภาไม่สามารถไปปรับลดงบประมาณส่วนใดได้
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า
ศปช.เปิดฉบับสมบูรณ์รายงานสลายชุมนุม 53 - ฉบับ คอป.กรรมการสิทธิฯ ยังเงียบ
เมื่อวันที่ 19 ส.ค.55 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการจัดแถลงข่าวรายงาน “ความจริงเพื่อความยุติธรรม: เหตุการณ์และผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 53” ของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเดือน เม.ย.-พ.ค.53 หรือ (ศปช.) พร้อมเตรียมเดินสายอภิปรายรายงานทั่วประเทศ เช่น จ.เชียงใหม่ จ.อุบลราชธานี เป็นต้น
ทั้งนี้ ศปช.ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 19 ก.ค.53 โดยกลุ่มนักกิจกรรมร่วมกับนักวิชาการกลุ่มสันติประชาธรรม มีเจ้าหน้าที่ทำงาน 5-6 คนในการลงพื้นที่เก็บข้อมูล และสัมภาษณ์พยาน ผู้ได้รับผลกระทบฯ เคยแถลงข่าวมาแล้ว 2 ครั้ง ส่วนในครั้งนี้เป็นการสรุปรายงานร่างฉบับสมบูรณ์ 932 หน้า ซึ่งมีกำหนดพิมพ์เพื่อวางแผงทั่วไปในวันที่ 1 กันยายนนี้ พร้อมกับจะเปิดให้ดาวน์โหลดฉบับเต็มได้ที่เว็บไซต์ www.pic2010.org นอกจากนี้ ในเว็บไซต์ดังกล่าวยังมีการย่อยข้อมูลต่างๆ เป็นแผนภาพ แผนที่ต่างๆ ด้วย
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่รับผิดชอบจัดทำรายงานเรื่องการสลายการชุมนุมปี 2553 อีกหน่วยคือ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งหมดอายุการทำงานเมื่อสิ้นเดือนก.ค.และมีกำหนดว่ารายงานฉบับเต็มจะออกราวเดือน ส.ค.นี้เช่นกัน ขณะที่อีกหน่วยหนึ่งคือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาตินั้น เคยมีร่างรายงานดังกล่าวเล็ดรอดออกมาจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากเมื่อเดือน ก.ค.ปีที่ผ่านมา และนำกลับไปพิจารณาใหม่อีกครั้ง นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ หนึ่งในอนุกรรมการที่ร่วมจัดทำรายงานกล่าวว่า ร่างรายงานฉบับสมบูรณ์เขียนเสร็จแล้ว แต่จะต้องเข้าที่ประชุมใหญ่ของคณะกรรมการสิทธิก่อนเผยแพร่สู่สาธารณะ ซึ่งน่าจะดำเนินการได้เร็วๆ นี้
ที่มา: หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท
หมอนิรันดร์ ร่วม “ปฏิญญาหน้าศาล” ย้ำการมีนักโทษการเมืองคือการละเมิดสิทธิฯ
เมื่อวันที่ 19 ส.ค.55 เวลา 14.00 น. บริเวณหน้าศาลอาญา รัชดาภิเษก กลุ่มปฏิญญาหน้าศาลซึ่งจัดกิจกรรมหน้าศาลอาญาทุกอาทิตย์ ได้จัดเสวนาในหัวข้อ “นักโทษการเมืองกับสิทธิมนุษยชน” โดยมี นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มาเป็นวิทยากร
นายแพทย์นิรันดร์กล่าวว่า คำที่ตรงกว่าคำว่านักโทษการเมือง คือนักโทษที่มีความคิดเห็นที่ต่าง การมีความคิดเห็นที่แตกต่างในระบอบประชาธิปไตยถือว่าเป็นเรื่องดี และสะท้อนความเป็นประชาธิปไตย ถ้ากำหนดให้คิดเหมือนกันนั่นคือระบอบเผด็จการ ปัญหาการมีคนคิดเห็นต่างแล้วต้องเข้าไปอยู่ในคุก โดยใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือนั้น ยืนยันว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งสิ้น ในอดีต คนที่เห็นต่างทางการเมืองหรือเห็นต่างในเรื่องนโยบายสาธารณะ ก็มักถูกกล่าวโทษด้วยกฎหมายอาญา เช่น ถูกตราหน้าว่าเป็นคอมมิวนิสต์ในสมัยสงครามเย็น หรือนักศึกษาในสมัย 6 ตุลา 2519 ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ กรณี 4 รัฐมนตรีจากภาคอีสานสมัยทศวรรษ 2490 ที่ถูกมองว่าจะแบ่งแยกดินแดน รางวัลที่ได้รับคือถูกฆ่าตาย รวมทั้งพี่น้องภาคใต้ เช่น กรณีหะยีสุหลง ก็มีความเห็นต่างทางนโยบายให้สามจังหวัดภาคใต้มีอิสระในการจัดการนโยบายตนเอง ก็ถูกกล่าวหาว่าแบ่งแยกดินแดน และรางวัลที่ได้รับคือถูกฆ่าตายเช่นเดียวกันดังนั้น ต้องทำความเข้าใจว่าการต่อสู้ในเรื่องความเห็นต่างทางการเมืองมีมาตลอด และใน 4-5 ปีนี้ก็มีกรณีหลายอย่างที่ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิคนที่มีความเห็นต่าง อันทำให้เกิดนักโทษการเมือง เช่น การใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, กฎหมายความมั่นคง, กฎหมายการชุมนุมต่างๆแม้แต่กรณีชาวบ้านชุมนุมเรียกร้องประเด็นทรัพยากร อย่างกรณีเขื่อนปากมูนหรือเขื่อนราษีไศลที่ถูกจับ ก็คือข้อหาก่อการร้าย ฉะนั้นเวลาที่จะจัดการกับคนที่เห็นต่างหรือขัดต่ออำนาจ มักจะถูกหาเหตุจากในเรื่องกฎหมาย ถ้าเป็นเรื่องทรัพยากรก็จะเอากฎหมายสิ่งแวดล้อมมาใช้ เช่น ชาวบ้านที่อยู่ในป่าก็โดนข้อหาทำให้โลกร้อน หรือที่หนองแซง ซึ่งคัดค้านโรงไฟฟ้า ก็ถูกตำรวจใช้กฎหมายสลายการชุมนุม
ส่วนกรณีมาตรา 112 ปัญหาของกฎหมายนี้คือการบังคับใช้ และคนที่ใช้อำนาจ เช่น ตำรวจ อัยการ และตุลาการ จุดอ่อนสำคัญของกฎหมายคือใครไปแจ้งความก็ได้ ทำให้เกิดปัญหาว่าคนที่กล่าวหานำสถาบันมาใช้ทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม คู่ต่อสู้ทางการเมือง หรือคนที่คิดเห็นต่างทางการเมืองประเด็นที่สำคัญของการแก้ปัญหาจากมาตรา 112 คือการสร้างความชัดเจนให้เกิดความสมดุลระหว่างเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นกับการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ สังคมต้องแยกให้ออกว่าตรงไหนคือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แบบไหนคือการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย รวมทั้งความสับสนระหว่างพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์กับพื้นที่สาธารณะ ต้องแยกให้ออก ถ้าแยกไม่ออกจะเป็นช่องทำให้คนนำสถาบันมาทำลายล้างกัน และจะทำให้สถาบันเสื่อมเสียเสียเอง นอกจากนั้น 112 ยังถูกใช้พ้องไปกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งใช้ในการปิดเว็บไซต์หลายหมื่นเว็บ มีส่วนที่กระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก
นายแพทย์นิรันดร์เสนอว่าสิทธิ 3 ประการที่สำคัญและต้องต่อสู้เรียกร้องต่อไป คือ หนึ่ง สิทธิในการรับรู้ความจริง เพราะสังคมไทยมักไม่ยอมรับความจริงและความจริงไม่ถูกทำให้ปรากฏ สอง สิทธิในการที่จะเอาคนผิดมาลงโทษ ซึ่งไม่ใช่เรื่องของการอาฆาตแค้น แต่ประเด็นคือไม่ต้องการให้มีการทำผิดซ้ำอีก ส่วนจะให้อภัยกันหรือนิรโทษกรรมนั้นเดี๋ยวค่อยว่ากันอีกที แต่ต้องคุยกันให้ได้ก่อนว่าใครผิด และสาม สิทธิที่จะได้รับการชดเชยและเยียวยา
นายแพทย์นิรันดร์มองว่ากระบวนการต่อสู้ของประชาชนในขณะนี้ ไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องการแบ่งฝ่าย แต่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมและความถูกต้องด้วย และต้องยอมรับว่ากระบวนการยุติธรรมได้ทำลายสิทธิและความเป็นธรรมในสังคม โดยตนก็ไม่รู้เหมือนว่าถ้ากระบวนการยุติธรรมไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้ได้ บ้านเมืองจะเกิดอะไรขึ้น
ที่มา: หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท
ศาลรัสเซียตัดสิน 3 สาววงพังก์ "พุซซี่ ไรออต" มีความผิดฐานลบหลู่ศาสนา
เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2555ผู้พิพากษารัสเซียตัดสินให้วงดนตรีพังก์ พุซซี่ ไรออต ซึ่งมีสมาชิกในวง 3 คน มีความผิดฐานก่อเหตุอันธพาลจากความเกลียดชังทางศาสนา และ สร้างความไม่พอใจต่อผู้ที่นับถือศาสนาจำนวนมาก กรณีนี้ทำให้มีผู้ประณามรัสเซียว่า ไม่สามารถอดทนอดกลั้นต่อผู้ที่แสดงการแข็งข้อต่อทางการได้
สมาชิกวงพุซซี่ ไรออตถูกจับเมื่อเดือนมีนาคมหลังจากแสดงดนตรีในโบสถ์ใหญ่ในกรุงมอสโคว ซึ่งพวกเขาระบุว่า จะเป็นการทำให้พระแม่มารีช่วยคุ้มครองรัสเซียจากนายวลาดิเมียร์ ปูติน ซึ่งชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในสองอาทิตย์ถัดมาหลังจากนั้น
สมาชิกวงดนตรีพังก์ พุซซี่ ไรออต ถูกตัดสินจำคุกสูงสุด 7 ปี แม้ว่าอัยการจะขอให้ลงโทษจำคุกแค่ 3 ปีเท่านั้น โดยพวกเขาถูกกล่าวหาว่าลบหลู่ศาสนา ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกมีการจัดการประท้วงเพื่อแสดงการสนับสนุนนักดนตรีวงนี้ ทั้งในกรุงปารีสของฝรั่งเศส กรุงบรัสเซลของเบลเยียม และนครเทลอาวีฟของอิสราเอล โดยผู้ประท้วงได้มาชุมนุมกันและประณามการไต่สวนของศาลรัสเซีย
ที่มา: เว็บไซต์ Thai PBS
พม่าประกาศยกเลิกการเซ็นเซอร์สื่อแล้ว
ฝ่ายตรวจสอบและทะเบียนสื่อของพม่ากล่าวเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2555 ว่า การรายงานข่าวในประเทศโดยสื่อท้องถิ่นต่อจากนี้ สามารถตีพิมพ์ได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการตรวจสอบจากรัฐบาลอีก โดยก่อนหน้านี้พม่าควบคุมสื่ออย่างแน่นหนามาตลอด แต่เริ่มผ่อนคลายมากขึ้นหลังการปฏิรูปการเมืองเริ่มขึ้นเมื่อต้นปีนี้
"การเซ็นเซอร์ได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 6สิงหาคม 1964 (พ.ศ. 2507) และจบลงหลังจาก 48ปีและอีก 2อาทิตย์" ติน สเหว่ หัวหน้าฝ่ายตรวจสอบและทะเบียนสื่อของพม่าให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพีอย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่กระทรวงข้อมูลข่าวสารระบุว่า ภาพยนตร์ยังจำเป็นต้องผ่านการตรวจสอบจากรัฐบาลอยู่
ก่อนหน้านี้ นักข่าวในพม่า ได้รับอนุญาตให้เขียนข่าวและบทความในประเด็นทางสังคมและการเมืองที่อ่อนไหวมากขึ้นโดยรัฐบาลกำหนดกรอบที่เหมาะสม นับเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลังจากความพยายามปฏิรูปการเมืองของพม่า รวมทั้งหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องอ่อนไหวทางสังคมและการเมืองโดยตรง ก็ได้รับอนุญาตให้ตีพิมพ์โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการตรวจสอบ ในขณะที่รัฐบาลได้ยกเลิกการปิดกั้นเว็บไซต์กว่า 300,000แห่ง ทำให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทางการเมืองได้เป็นครั้งแรก
ในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว นายสเหว่ได้ให้สัมภาษณ์ว่า การเซ็นเซอร์สื่อควรถูกยกเลิกเนื่องจากขัดต่อการปฏิบัติในระบอบประชาธิปไตย แต่ได้เตือนว่าสิ่งพิมพ์ต่างๆ ควรยอมรับความรับผิดชอบที่มาพร้อมกับเสรีภาพสื่อ มีนักข่าวบางส่วนให้ความคิดเห็นว่า การปฏิรูปกฎหมายดังกล่าว อาจไม่ได้เป็นผลดีเสมอไป โดยเฉพาะหากรัฐบาลยังต้องการที่จะจับผิดงานเขียนต่างๆ หลังจากตีพิมพ์ออกมาแล้ว
เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นักข่าวพม่าราว 100คน ในนามของคณะกรรมการเพื่อเสรีภาพสื่อ (Committee for Press Freedom) ได้รวมตัวเดินขบวนประท้วงในเมืองย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ เพื่อคัดค้านการระงับตีพิมพ์นิตยสารสองฉบับ ทำให้ต่อมารัฐบาลได้ยกเลิกการสั่งห้ามแล้ว อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่ารัฐบาลยังคงจะดำเนินคดีฟ้องร้องนิตยสารสองฉบับอยู่
ที่มา: สำนักข่าวบีบีซี
อินโดนีเซียกับจีนเตรียมจับมือสร้างขีปนาวุธท่ามกลางความขัดแย้งเรื่องทะเลจีนใต้
อินโดนีเซียกำลังเจรจากับจีนในข้อตกลงผลิตจรวดขีปนาวุธต่อต้านเรือรบรุ่น C-705บนเกาะชวาของอินโดนีเซีย ซึ่งความร่วมมือทางทหารระหว่างอินโดนีเซียกับจีนครั้งนี้มีขึ้นขณะที่ยังคงมีข้อพิพาทระหว่างจีนกับหลายประเทศในสมาคมอาเซียนเกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้
แนวคิดสร้างจรวดขีปนาวุธร่วมกันระหว่างจีนกับอินโดนีเซียนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนกรกฏาคม และเริ่มมีการเจรจาอย่างเป็นรูปเป็นร่างเมื่อคราวรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน Yang Jiechi เยือนกรุงจาการ์ต้าเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โฆษกกระทรวง ตปท. อินโดนีเซีย Michael Tene กล่าวว่าความร่วมมือทางทหารครั้งนี้คือส่วนหนึ่งของเป้าหมายการขยายศักยภาพทางทหารของอินโดนีเซีย
ประเด็นที่น่าสนใจคือความร่วมมือครั้งนี้มีขึ้นขณะที่จีนกำลังมีความขัดแย้งกับหลายประเทศในอาเซียนในเรื่องพื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้ และดูเหมือนอาเซียนอาจกำลังแตกคอกันหลังไม่สามารถร่างแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยเรื่องทะเลจีนใต้ระหว่างการประชุมที่กรุงพนมเปญเมื่อเดือนที่แล้ว ทำให้นักวิเคราะห์เชื่อว่าเวลานี้จีนกำลังอยู่ในตำแหน่งที่ได้เปรียบในการผลักดันให้เกิดการเจรจาเป็นรายประเทศ แทนที่จะต้องเผชิญหน้ากับสมาคมอาเซียนทั้งกลุ่ม
อย่างไรก็ตาม กระทรวงกลาโหมอินโดนีเซียได้ออกมาปฏิเสธว่า แผนการสร้างจรวดขีปนาวุธร่วมกับจีนนั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นความขัดแย้งในทะเลจีนใต้
อาจารย์ Yohanes Sulaiman นักวิเคราะห์ด้านการทหารแห่ง University of Indonesia ให้ความเห็นว่า ท่าทีล่าสุดของอินโดนีเซียน่าจะเป็นการเพิ่มทางเลือกทางทหารของอินโดนีเซีย เพื่อลดการพึ่งพากองทัพสหรัฐมากกว่า นักวิเคราะห์ผู้นี้ชี้ว่าหากเกิดปัญหาที่จังหวัดปาปัวอีกครั้ง สหรัฐอาจใช้มาตรการคว่ำบาตรทางทหารต่ออินโดนีเซียเหมือนที่เคยทำมาแล้วเมื่อ 13ปีก่อนเนื่องจากปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน อินโดนีเซียจึงต้องพยายามเพิ่มทางเลือกด้านการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ด้วยการกระชับความสัมพันธ์กับจีน แต่สิ่งที่น่ากังวลคืออินโดนีเซียยังไม่มียุทธศาสตร์ในการตอบสนองต่อการชิงดีชิงเด่นระหว่างจีนกับสหรัฐเพื่อขยายอำนาจทางทหารในเอเชีย
ทางด้านศาสตราจารย์ Mely Caballero Anthony แห่งภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของ S. Rajaratnam School of International Studies ในสิงคโปร์ระบุว่า อินโดนีเซียก็เหมือนประเทศอื่นๆในอาเซียนที่ต่างไม่ต้องการให้เกิดการแข่งขันแย่งชิงอำนาจระหว่างจีนกันสหรัฐในภูมิภาคนี้ ศาสตราจารย์ Mely กล่าวว่านโยบายต่างประเทศของสมาชิกสมาคมอาเซียนนั้นคล้ายคลึงกันคือเน้นความเป็นอิสระ เป็นกลาง และไม่เลือกเข้าข้างฝ่ายใดว่าจะเป็นสหรัฐหรือจีน
อินโดนีเซียจัดสรรงบประมาณด้านการทหารเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 16,000 ล้านดอลล่าร์ระหว่างปี พ.ศ 2553 – 2557 เพื่อปรับปรุงอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ทันสมัย และได้สั่งซื้ออาวุธจากหลายประเทศ รวมทั้งเกาหลีใต้ รัสเซีย เยอรมนี อังกฤษ รวมทั้งสหรัฐ จนมาถึงล่าสุดคือการจัดทำข้อตกลงสร้างจรวดขีปนาวุธร่วมกับจีนบนเกาะชวา
ที่มา: สำนักข่าว Voice of America
ทนายอากงเปิดเอกสารสำคัญชี้อากงบริสุทธิ์
เมื่อวันที่ 24สิงหาคม 2555นางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ หนึ่งในทีมทนายความของ นายอำพล ตั้งนพกุล หรือเป็นที่รู้จักในสาธารณะในชื่อ "อากง SMS" วัย 61ปี ผู้ต้องหาคดีละเมิด พรบ.คอมพิวเตอร์และ กม.อาญา ม.112ซึ่งได้เสียชีวิตลงในเรือนจำเมือวันที่ 8พฤษภาคม 2555ด้วยโรคมะเร็งที่ตับ ได้นำเอกสารหลักฐานความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคมจากประเทศเยอรมันทั้งต้นฉบับภาษาอังกฤษ และฉบับแปลโพสต์ลงในเฟซบุ๊คของเธอ
ในบันทึกดังกล่าวได้แสดงเอกสารที่เป็นความเห็นจาก Dr. Karsten Nohl ผู้เชี่ยวชาญเครือข่ายโทรคมนาคมจาก Security Research Labs องค์กรเอกชนที่ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมตั้งอยู่ในประเทศเยอรมัน โดยได้ให้ความเห็นต่อการเก็บบันทึกหมายเลขอีมี่ หรือเลขรหัสประจำเครื่องของดีแทคไม่มีความน่าเชื่อถือเพียงพอที่จะระบุเครื่องที่ใช้ส่ง sms ได้ (ทำให้ไม่สามารถนำหมายเลขอีมี่เชื่อมโยงมาถึงเครื่องโทรศัพท์ของอากงได้)
เนื้อหาในรายงานเป็นการถามตอบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเลขอีมีทั้งสิ้น6 ข้อ โดยบทสรุปของเอกสารได้ระบุว่า"บันทึกการรับ-ส่งข้อความสั้นแบบเอสเอ็มเอสของระบบดีแทค ไม่มีความน่าเชื่อถือพอที่จะระบุเครื่องโทรศัพท์ที่ใช้ส่งข้อความสั้นแบบเอสเอ็มเอสได้ มีความเป็นไปได้สองประการที่ข้อมูลจะคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง หนึ่ง เป็นการส่งข้อความสั้นแบบเอสเอ็มเอส เข้าสู่ระบบเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยผ่านระบบอินเตอร์เน็ต หรือเครือข่าย SS7และมีการเชื่อมโยงข้อมูลที่ผิดพลาดกับการส่งข้อมูลกำหนดตำบลที่ปัจจุบันของผู้อื่น สองมีการปลอมแปลงหมายเลข IMEI เครื่องโทรศัพท์ เป็นหมายเลข IMEI เครื่องโทรศัพท์ของผู้อื่นในบริเวณใกล้เคียง โดยการจับตาการรับ-ส่งข้อมูลของเครื่องโทรศัพท์อื่น ๆ ในเครือข่ายจีเอสเอ็ม และเพียงเตรียมพร้อมในส่วนของเครื่องมือและซอฟท์แวร์"
นอกจากนี้ พูนสุขยังได้เขียนข้อความไว้ในบันทึกว่า "เดิมเอกสารชิ้นนี้ได้เตรียมไว้เพื่อขอสืบพยานเพิ่มเติมในชั้นอุทธรณ์ และจะขอให้พยานผู้เชี่ยวชาญจากเยอรมันมาเบิกความ เนื่องจากในศาลชั้นต้นคณะทำงานไม่สามารถหาพยานผู้เชี่ยวชาญมาเบิกความได้ แต่ตามที่ทราบกันสุดท้ายได้ตัดสินใจถอนอุทธรณ์เนื่องจากอากงไม่ได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว หากต่อสู้คดีต่อไปอาจต้องใช้ระยะเวลายาวนาน "
อ่านรายละเอียดของเอกสารฉบับเต็มได้ที่: หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท
ศาลนอร์เวย์ตัดสินมือปืนสังหารหมู่จำคุก 21 ปี
เมื่อวันที่ 24ส.ค. 2555 ศาลนอร์เวย์ตัดสินให้นายอันเดอร์ เบห์ริง เบรวิก ฆาตกรสังหารหมู่ มีสติดีขณะก่อเหตุสังหารหมู่ 77ศพเมื่อปีก่อน จึงตัดสินจำคุกเขาขั้นต่ำ 21ปี และไม่รับคำร้องของอัยการที่ขอให้ตัดสินว่าเขาเสียสติ
นายเบรวิกยอมรับว่าเป็นผู้ลงมือสังหารประชาชน 77คน ในเหตุวางระเบิดในกรุงออสโล เมื่อวันที่ 22กรกฎาคมปีก่อน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 8คน จากนั้นนั่งเรือไปกราดยิงที่ค่ายเยาวชนฤดูร้อนของพรรครัฐบาลบนเกาะอูโทยา มีผู้เสียชีวิตอีก 69คน ส่วนใหญ่เป็นเยาวชน
เขายืนยันว่าตนมีสภาพจิตปกติดี และปฏิเสธที่จะยอมรับสารภาพผิด โดยอ้างความชอบธรรมในการสังหารว่าเป็นเหตุจำเป็น เพื่อหยุดยั้งการแพร่ขยายอารยธรรมของชาวมุสลิมในนอร์เวย์
ผู้รอดชีวิตและครอบครัวผู้เสียชีวิตต้องการให้ศาลตัดสินว่าเขามีสติดีขณะก่อเหตุ เพราะหากตัดสินว่าเขาเสียสติ จะเปิดทางให้เขารับโทษน้อยลง ขณะที่นายเบรวิกเองก็ต้องการให้ศาลตัดสินว่ามีสติดีเพราะอยากให้คนมองการก่อเหตุของเขาว่าเป็นการแสดงเจตนาทางการเมือง
ด้านอัยการยื่นคำร้องที่ขอให้ตัดสินว่านายเบรวิกมีอาการทางจิต ขณะที่ผู้พิพากษาทั้ง 5คน มีคำตัดสินอย่างเป็นเอกฉันท์ว่านายเบรวิกมีสภาพจิตปกติดี และตัดสินจำคุกเขาเป็นเวลา 21ปี แต่สามารถขยายเวลาออกไปได้อีก หากพิจารณาแล้วว่า เขายังแสดงพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อสังคม
จิตแพทย์ที่ได้รับการมอบหมายจากศาล แสดงความเห็นแย้งต่อสภาพจิตของนายเบรวิก โดยทีมแรกวินิจฉัยแล้วระบุว่าเขามีอาการทางจิตประเภทหวาดระแวง ที่แย้งกับทีมที่สองที่ชี้ว่าสภาพจิตของเขาปกติดี
ก่อนหน้าการเข้าฟังคำพิพากษา นายเบรวิกกล่าวว่า การที่ต้องตกอยู่ภายใต้การดูแลของจิตแพทย์ อาจเลวร้ายกว่าการตาย และเขาจะไม่ขออุทธรณ์ใดๆต่อคำตัดสิน ด้านอัยการที่ชี้ขาดว่าเขามีจิตไม่ปกติ กล่าวว่า นายเบรวิกสามารถขออุทธรณ์คำตัดสินได้
ก่อนหน้าการตัดสิน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้ารักษาความปลอดภัย รวมถึงตั้งเครื่องกีดขวางบริเวณหน้าศาล ในกรุงออสโล ขณะที่ในห้องพิจารณาคดี ได้มีการติดตั้งฉากกั้นที่ทำจากกระจกเป็นกรณีพิเศษ ระหว่างนายเบรวิก และผู้เข้าฟังการพิจารณาคดีซึ่งเป็นญาติของผู้เสียชีวิต พร้อมทั้งมีการติดตั้งกล้องวิดีโอที่ควบคุมด้วยรีโมทคอนโทรล เพื่อบันทึกขึ้นตอนทั้งหมด และถ่ายทอดสดไปยังห้องพิจารณาคดีอื่นๆ เพื่อให้ผู้บาดเจ็บและญาติของเหยื่อได้ชมตลอดการตัดสิน
ที่มา: มติชนออนไลน์
ปล่อยตัว 2 นักโทษคดี 112 แล้ว
เมื่อวันที่ 24ส.ค.55เวลา 9.30น. บริเวณเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ สองผู้ต้องขังจากคดีมาตรา 112คือ สุชาติ นาคบางไทร หรือ วราวุธ (สงวนนามสกุล) และ สุริยันต์ (สงวนนามสกุล) ได้รับการปล่อยตัวจากการพระราชทานอภัยโทษตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ 2555 เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12สิงหาคม โดยมีญาติและคนเสื้อแดงร่วมต้อนรับ
ทั้งนี้ นายวราวุธถูกศาลพิพากษา จำคุก 6ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดเหลือ 3ปี แต่รวมเวลาที่อยู่ในเรือนจำก่อนได้การอภัยโทษทั้งสิ้น 1ปี กับเกือบ 10เดือน ส่วนนายสุริยันต์ ศาลพิพากษาจำคุก 6ปี 1เดือน สุริยันต์รับสารภาพ ศาลลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือลงโทษ 3ปี 15วัน รวมเวลาที่อยู่ในเรือนจำก่อนได้การอภัยโทษทั้งสิ้น 1ปี กับเกือบ 11เดือน
นายวราวุธได้แจ้งกับผู้สื่อข่าวประชาไทว่า ตนจะมีการกิจกรรมเดี่ยวโทรโข่ง “Talk Show แห่ง (สุ) ชาติ” ในวันเสาร์ที่ 3 พ.ย.55 เพื่อบอกเล่าประสบการณ์การเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารในนามกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ และประสบการณ์เกี่ยวกับคดีความและเรื่องราวในเรือนจำของตน โดยจะมีการจำหน่ายบัตร 2 ราคาคือ ราคา 112 บาทจำนวน 500 ที่นั่ง และ 2,000 บาทจำนวน 50 ที่นั่ง โดยสถานที่และรูปแบบการจำหน่ายบัตรจะได้แจ้งให้ทราบต่อ
ที่มา: หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท
"สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" อภิปรายที่วัดลาดพร้าว
คืนก่อนพิธีฌาปนกิจศพนายอำพล หรือ อากง SMS ที่วัดลาดพร้าว ถ.ลาดพร้าว-วังหิน กรุงเทพมหานคร เมื่อคืนวันที่ 25 สิงหาคม 2555 ในช่วงกลางดึก สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ขึ้นอภิปรายเป็นเวลา 30นาทีโดยตอนหนึ่งของการปราศรัย สมศักดิ์ กล่าวถึงเรื่อง การมี "Moral Courage" หรือ "ความกล้าหาญทางคุณธรรม" ซึ่งเป็นเรื่องที่รู้ว่าอะไรผิด อะไรถูก โดยไม่เกี่ยวว่าจะมีทัศนะทางการเมืองอย่างไร โดยสมศักดิ์กล่าวถึงคดีกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8กับกรณีการเสียชีวิตของอากง SMS โดยสมศักดิ์กล่าวว่า ในคดีกรณีสวรรคตดังกล่าวทั้ง 3ศาล มีบรรดาตุลาการรวม 12-13คน แต่ไม่มีสักคนกล้าที่จะบอกว่าหลักฐานไม่พอที่จะเอาผิดประหารชีวิต เฉลียว ปทุมรส, ชิต สิงหเสนี และบุศย์ ปัทมศริน ยกเว้นตุลาการคนหนึ่งในชั้นศาลอุทธรณ์ที่กล้าบอกว่าตัดสินประหารชีวิตไม่ได้ จำเลยเหล่านี้ไม่ผิด ที่เหลือไม่มีใครกล้าบอกเลย
กรณีอากง เป็นเรื่องที่สะเทือนใจมาก เพราะตลอดทั้งกระบวนการแต่ต้นจนจบ หาคนที่กล้าหาญทางคุณธรรมแบบนี้ไม่ได้ ในระดับตุลาการที่ตัดสินอากง ตั้งแต่การไม่ให้อากงประกัน ตุลาการต้องรู้แน่ๆ ว่าการไม่ให้ประกันมันผิด เหตุผลที่ว่าอากงอายุ 60จะหนี เป็นเหตุผลที่ว่าผิดแน่ๆ ถ้าตุลาการไปอ้างเหตุผลแบบนี้ แต่ไม่กล้าจะบอกว่าคนนี้ไม่หนีหรอกแล้วให้ประกัน แล้วการตัดสินศาลก็ยอมรับว่าไม่มีหลักฐานพอที่อากงเป็นคนส่ง SMS ในภาษากฎหมายเขามีศัพท์ว่า "Burden of Proof" ภาระในการพิสูจน์ไม่ได้อยู่ที่จำเลย ไม่ได้อยู่ที่ตัวโจทก์ ถ้าพิสูจน์ไม่ได้ว่าจำเลยส่งจริง ศาลก็ต้องปล่อยจำเลยไป และกรณีที่ต่อให้อากงยอมรับว่าส่ง SMS จากเครื่องนี้จริง แต่พิสูจน์ไม่ได้ว่าอากงในการกดส่ง ตามหลักภาระในการพิสูจน์ศาลก็ต้องปล่อยอากง แต่ศาลก็ไม่กล้าตัดสิน ในสังคมซึ่งมีความเป็นมนุษย์อยู่ ตุลาการที่นั่งบัลลังก์ไม่อนุมัติประกันอากง เขาต้องรู้แน่ๆ ว่าการไม่อนุมัติให้อากงประกันไม่ถูก เขาต้องรู้แน่ๆ ว่าการตัดสินแบบนี้มันผิดหลักกฎหมายแต่ก็ไม่ให้ประกัน ตัดสินเสร็จก็ไม่ให้ประกัน อ้างเรื่องกลัวหนีอีก นี่คือสิ่งที่ผมไม่มีความกล้าหาญทางคุณธรรม อย่างน้อยควรจะรู้อะไรผิด อะไรถูก
อ่านอภิปรายฉบับเต็มได้ที่: หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท