นายทหารพระธรรมนูญ นำทหารพลแม่นปืน 2 นาย เข้าให้การดีเอสไอ คดี 91 ศพช่วงกระชับพื้นที่ชุมนุมเสื้อแดง ปี 53 สอบเครียด
ไทยรัฐออนไลน์ รายงานเมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 29 ส.ค. 2555 ว่า นายทหารพระธรรมนูญ กองทัพบก นำสิบเอกศฤงคาร ทวีชีพ และสิบเอกคธารัตน์ เนียบรอด สังกัด ม.พัน 5 ที่ทำหน้าที่พลเฝ้าระวัง บนอาคารร้างหน้าสนามมวยลุมพีนี ในช่วงเหตุการณ์กระชับพื้นที่ของกลุ่มเสื้อแดง เมื่อเดือน พ.ค. 2553 เข้าพบ พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดี กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และประชาชน จำนวน 91 ศพ ในช่วงการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ
โดยมี พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง รองผบช.น.และอัยการฝ่ายคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด เข้าร่วมสอบสวนในฐานะพนักงานสอบสวนร่วม เพื่อให้การถึงการปฏิบัติหน้าที่ หลังมีการจับภาพขณะที่ทั่งคู่ใช้ปืนยาวติดลำกล้อง เล็งใส่ไปทางชุมชนบ่อนไก่ โดยบรรยากาศการสอบสวนเป็นไปอย่างเคร่งเครียด
ขณะที่เดลินิวส์ รายงานด้วยว่า สิบเอกคชารัตน์ แต่งกายในเครื่องแบบทหาร ส่วนสิบเอกศฤงคารซึ่งปลดประจำการไปแล้ว แต่งกายด้วยเสื้อเชิ้ตสีขาว กางเกงยีนส์สีเข้ม โดยพลแม่นปืนทั้ง 2 มีสีหน้าเรียบเฉย ไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ กับสื่อมวลชน และพยายามเดินหลบเลี่ยงกลุ่มผู้สื่อข่าวและช่างภาพ แต่ไม่สามารถหลุดจากวงล้อมของกลุ่มผู้สื่อข่าวได้ ทำให้ถูกรุมติดตามถ่ายภาพจนเจ้าหน้าที่นำตัวแยกเข้าห้องสอบสวน
มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า พ.ต.อ.ประเวศน์ กล่าวว่า ขณะเดียวกันทหารทั้งสองให้การยอมรับว่าการปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 15 พฤษภาคม ตั้งแต่เวลา 15 นาฬิกา ถึง 18 นาฬิกา เป็นการปฏิบัติหน้าที่บริเวณบ่อนไก่ เพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับหน่วย พร้อมแจ้งเตือน และในวันนั้นได้มีการลั่นไกปืนยิงขู่กลุ่มผู้ชุมนุม โดยกระสุนที่ใช้เป็นกระสุนยาง ซึ่งหลังจากนี้ทางพนักงานสอบสวนอาจทำเรื่องขอปืนกระบอกดังกล่าวเพื่อตรวจสอบอีกครั้ง
"ยืนยันเร่งทำสำนวนการสอบสวนคดีนี้ให้เสร็จโดยเร็ว และจะส่งสำนวนดังไปยังกองบัญชาการตำรวจนครบาลเพื่อประกอบสำนวนการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมบริเวณบ่อนไก่และงามดูพลี"รองอธิบดีดีเอสไอระบุ
นัดพิพากษา คดีสนธิ ลิ้มทองกุล หมิ่นเบื้องสูง 26 ก.ย.นี้
29 ส.ค.55 ที่ห้องพิจารณาคดี 908 ศาลอาญา รัชดา ศาลนัดสืบพยานคดีหมายเลขดำ อ.2066/2553 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ หรือพระราชินี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กรณีเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2551 จำเลยนำคำปราศรัยของน.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ดา ตอร์ปิโด ที่พูดบนเวทีปราศรัยบริเวณสนามหลวง เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2551 มาเผยแพร่ซ้ำที่ปราศรัยบนเวทีของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ขณะที่ดารณีถูกศาลพิพากษาจำคุกแล้ว 15 ปี และถูกควบคุมตัวในเรือนจำมากว่า 4 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างการอุทธรณ์คดี
ทั้งนี้ ภายหลังสืบพยานในวันนี้เสร็จสิ้น ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีนี้ ในวันที่ 26 กันยายน นี้ เวลา 09.00 น.
นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความ นำพยานเข้าเบิกความ รวม 3 ปาก โดยนายคำนูญ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.สรรหา เบิกความสรุปว่า การพูดของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ไม่ได้มีเจตนากระทำผิดตาม มาตรา 112 แต่ต้องการให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองบังคับใช้กฎหมายตามมาตรา 112 ซึ่งน.ส.ดารณี พูดจาจาบจ้วงและพาดพิงสถาบันเบื้องสูงหลายครั้ง เป็นความผิดซึ่งหน้า หากไม่มีใครจับกุม และถ้าปล่อยให้พูดอยู่เช่นนั้น ก็เท่ากับว่ากฎหมายบ้านเมืองเป็นหมัน
นายคำนูญ กล่าวต่อว่า ภายหลังนายสนธิ ถูกพนักงานสอบสวนดำเนินคดี ตนเองเป็นคนที่ใช้ตำแหน่ง สมาชิกวุฒิสภา ประกันตัวให้นายสนธิ ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล ทั้งนี้เมื่อปี 2548-2549 พบข้อความการหมิ่นประมาทสถาบันเบื้องสูง ปรากฏอยู่ตามเว็บไซด์จำนวนมาก ซึ่งนายสนธิก็ได้พูดในการจัดรายการทางโทรทัศน์รวมทั้งพูดบนเวทีการปราศรัย เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองดำเนินการอย่างจริงจัง
นายจินดา ประดับปัญญาวุฒิ บิดาน.ส.อังคณา ประดับปัญญาวุฒิ เบิกความเป็นพยานสรุปว่า ครอบครัวได้เข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เพราะมีความรักต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัฐธรรมนูญและความถูกต้อง ต่อมาเมื่อเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่หน้ารัฐสภา น.ส.อังคณา ประดับปัญญาวุฒิ ลูกสาวคนโต ถูกยิงด้วยแก๊สน้ำตาเข้าที่ลำตัวบริเวณสีข้าง เสียชีวิตที่รพ.รามาธิบดี ขณะที่ภรรยาของตนเองก็ได้รับบาดเจ็บสาหัส นิ้วเท้าขาดและมีบาดแผลที่ขาทั้งสองข้าง รับรักษาที่ รพ.ศิริราช โดยสมเด็จพระราชินีทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมป์
ด้านดร.อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์ ขึ้นเบิกความเป็นปากสุดท้ายว่า ได้อ่านเนื้อหาถอดเทปคำปราศรัยของนายสนธิแล้ว วิเคราะห์ได้ชัดเจนว่าผู้พูดมีเจตนาที่จะถ่ายทอดคำพูดของ น.ส.ดารณี เพื่อสื่อให้ประชาชนเห็นว่า น.ส.ดารณี มีพฤติกรรมจาบจ้วงเบื้องสูง อันเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ไม่ใช่ลักษณะของนำข้อความดังกล่าวมาพูดโดยตรง เป็นการบอกเล่าและถ่ายทอดข้อเท็จจริงที่ผู้พูดรับรู้มา เพื่อให้ผู้ฟังทราบเนื้อหาสาระของบุคคล
ขณะที่วานนี้ (28ส.ค.) พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ เบิกความเป็นพยานระบุว่า การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นการปกป้องและรักษาสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น พระประมุขซึ่งตลอดการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯไม่เคยมีใครพูดจาจาบจ้วงสถาบัน และพยานก็ไม่ยอมให้ใครมาดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย เพราะพยานถือเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และหากนายสนธิ จำเลยไม่จงรักภักดีต่อสถาบัน พยานคงจะไม่คบหากับนายสนธิมาจนถึงปัจจุบัน และในการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อถึงวาระสำคัญ เช่น 12 ส.ค.และวันที่ 5 ธ.ค.ก็จะจัดกิจกรรมและให้มีการถวายความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวและสมเด็จพระราชินีนาถทุกครั้ง ซึ่งการพูดบนเวทีปราศรัยของนายสนธินั้น เป็นการสรุปคำพูดของน.ส.ดารณี สั้นๆเพียงแค่ 5 บรรทัด เพื่อให้คนฟังทราบ และให้ตำรวจปฏิบัติตามหน้าที่โดยไม่ได้ขยายความแต่อย่างใด โดยเมื่อนายสนธิพูดเสร็จ พยานก็เห็นด้วยว่าเป็นประโยชน์และจะทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งรัดดำเนินคดี กับน.ส.ดารณี ซึ่งพูดจาบจ้วงและหมิ่นเบื้องสูงหลายครั้ง และคาดว่าหากไม่มีการดำเนินคดีใดๆ น.ส.ดารณี ก็คงจะกระทำผิดซ้ำอีก
ขณะที่นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เบิกความเป็นพยานปากที่ 2 ระบุว่าการพูดปราศรัยของนายสนธิดังกล่าวสืบเนื่องมาจากที่ น.ส.ดารณี แนวร่วม นปช. ปราศรัยที่เวทีสนามหลวงมีเนื้อหาหมิ่นสถาบันเบื้องสูง จึงจำเป็นต้องขึ้นพูดบนเวทีพันธมิตรฯ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีกับ น.ส.ดารณี เพราะก่อนหน้านี้พบว่าน.ส.ดารณีได้ปราศรัยในลักษณะเดียวกันนี้หลายครั้ง แต่ไม่เคยเป็นข่าวว่ามีการดำเนินการใดๆจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเลย จนเมื่อนายสนธิได้พูดกับประชาชนให้รับรู้ว่าน.ส.ดารณีกระทำการหมิ่นเบื้อง สูง จึงได้มีการแจ้งความดำเนินคดีกับน.ส.ดารณี และภายหลังศาลมีคำพิพากษาจำคุก ซึ่งเห็นได้ว่านายสนธิไม่ได้มีเจตนาหมิ่นเบื้องสูง เพราะคนที่ได้รับฟังการปราศรัยนั้นไม่ได้คล้อยตามหรือเห็นด้วยกับการกระทำ ของ น.ส.ดารณี แต่แสดงความไม่พอใจกับคำพูดของน.ส.ดารณี และในการปราศรัยครั้งนั้นนายสนธิ ได้ว่ากล่าวน.ส.ดารณีด้วยจึงแสดงให้เห็นเจตนาชัดเจนที่แตกต่างกัน
อภิสิทธิ์-สุเทพ เบิกความไต่สวนการตาย "พัน คำกอง"
(30 ส.ค.55) ที่ห้องพิจารณา 909 ศาลอาญา รัชดา มีการไต่สวนการเสียชีวิตของนายพัน คำกอง คนขับแท็กซี่ซึ่งถูกยิงบริเวณถนนราชปรารภ ใกล้แอร์พอร์ตลิงก์ซึ่งเป็นจุดประจำการของทหาร เช้ามืดวันที่ 15 พ.ค.53 จากกรณีที่มีการยิงสกัดรถตู้ที่เข้ามาในพื้นที่ โดยวันนี้ มีพยาน 3 ปากได้แก่ พล.ต.อ.ประทีป ตันประเสริฐ รักษาการ ผบ.ตร.ในขณะนั้น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)
สุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ตอบทนายว่า เมื่อมีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ตั้งเวทีที่ผ่านฟ้า ยึดถนนราชดำเนิน นายกฯ โดยการอนุมัติของ ครม. จึงใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ความมั่นคง ตั้ง ศอรส. เพื่อคลี่คลายสถานการณ์แต่ต่อมาผู้ชุมนุมไม่ได้ชุมนุมโดยสงบ คุกคามการใช้ชีวิตโดยสงบของประชาชนทั่วไป มีการก่อเหตุร้าย ยิงปืน เอ็ม 79 ระเบิดชนิดขว้าง ใส่สถานที่ราชการและเอกชน จนเกิดความหวาดหวั่น ปลุกระดมด้วยข้อความที่ทำให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาลและสถาบันอันเป็นที่เคารพ หลังจากผู้ชุมนุมบุก ก.ก.ต.และรัฐสภา พร้อมด้วยอาวุธ และเข้ายึดอาวุธจากเจ้าหน้าที่ ครม.จึงเห็นชอบประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง เมื่อ 7 เม.ย. พร้อมมอบหมายให้ตนเองเป็นผู้อำนวยการ ศอฉ. เพื่อป้องกันเหตุร้าย คลี่คลายสถานการณ์ให้ปกติสุข และดำรงไว้ซึ่งอำนาจรัฐและความมั่นคงปลอดภัยของบ้านเมือง
สุเทพ กล่าวว่า ศอฉ.มีอำนาจตาม พ.ร.ก.ในการระดมกำลังพลเรือน ตำรวจ ทหาร เพื่อป้องกันยับยั้งเหตุร้าย โดยสายบังคับบัญชายังมีอยู่ตามปกติ ทั้งนี้ ยืนยันว่า ศอฉ.ไม่เคยมีคำสั่งสลายการชุมนุมแม้แต่ครั้งเดียว โดยตลอดเวลา 2 เดือนครึ่งที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นการแก้ไขตามสถานการณ์ในแต่ละเวลา เช่น เมื่อ นปช.ตั้งเวทีที่ผ่านฟ้า และยึดราชดำเนินทั้งสาย ทั้งยังยึดสี่แยกราชประสงค์ ก่อให้เกิดปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ อย่างรุนแรง ศอฉ.จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ผลักดันผู้ชุมนุม เพื่อขอคืนพื้นที่บางส่วน เพื่อแก้ปัญหาจราจรตามนโยบายของนายกฯ
สุเทพ อธิบายการผลักดันผู้ชุมนุมว่า ไม่ใช่การสลายการชุมนุม ซึ่งเป็นการใช้กำลังบังคับโดยเจ้าหน้าที่ให้เลิกชุมนุม แต่คือ การดันให้ผู้ชุมนุมถอยร่น เพื่อคืนพื้นที่บางส่วนสำหรับการจราจร
สุเทพ กล่าวว่า ในการปฏิบัติงานเมื่อวันที่ 10 เม.ย. มีคำสั่ง 1/53 ศอฉ. ที่ระบุวิธีปฏิบัติในการควบคุมฝูงชนชัดเจน โดยสาระสำคัญของการใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชนอยู่ในภาคผนวก 9 ว่าด้วยกฎการใช้กำลัง ซึ่งให้เจ้าหน้าที่ใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชนตามหลักสากล ตั้งแต่ โล่ กระบอง รถฉีดน้ำ แก๊สน้ำตาชนิดขว้าง และปืนลูกซองกระสุนยาง ซึ่งมีการแจ้งให้ประชาชนและผู้ชุมนุมทราบโดยตลอด ทั้งนี้ รับว่าหนังสือดังกล่าวประทับตรา "ลับมาก" ไม่เผยแพร่สู่ประชาชนตามระเบียบของราชการ แต่ ศอฉ.และรัฐบาลก็ได้ชี้แจงให้ประชาชนทราบโดยตลอด
สุเทพ กล่าวว่า การจัดกำลัง แถวหน้าเป็นเจ้าหน้าที่ถือโล่และกระบอง ถัดมาเป็นรถฉีดน้ำ และปืนลูกซอง อย่างไรก็ตาม อนุญาตให้มีอาวุธปืนเล็กยาวได้ไม่เกินหน่วยละ 10 คน สำหรับผู้บังคับหมู่ขึ้นไป เพื่อใช้ป้องกันหน่วย หรือประชาชน กรณีมีเหตุร้าย ซึ่งเป็นปกติที่กำหนดไว้ในกฎการใช้กำลัง หากแต่มีคำสั่งกำชับชัดเจนให้ใช้เมื่อพบผู้กระทำผิดซึ่งหน้า และจะเกิดอันตรายถึงชีวิตแก่เจ้าหน้าที่และประชาชน
ทั้งนี้ ในวันที่ 10 เม.ย. ซึ่งมีกำลังพลจากกองพลทหารราบที่ 9 มาปฏิบัติการที่บริเวณสะพานพระปิ่นเกล้านั้น ทราบว่าเดินทางมาโดยรถหุ้มเกราะสายพานลำเลียง แต่ไม่มีการใช้อาวุธที่อยู่ในรถต่อประชาชน
เขาระบุว่า วันดังกล่าว เริ่มปฏิบัติการเมื่อเวลา 13.00 น. และหยุดเมื่อ 18.15 น. เนื่องจากเห็นว่าใกล้ค่ำ จึงให้ทุกหน่วยหยุด ณ จุดที่ไปได้ถึง แต่ปรากฏมีผู้ชุมนุมล้อมรถพาหนะของเจ้าหน้าที่ และแย่งอาวุธเอ็ม 16 ปืนทราโว ไปจำนวนมาก แกนนำปลุกระดม เกิดการปะทะด้วยความรุนแรงขึ้น และเนื่องจากมีลม ทำให้แก๊สน้ำตาจากพื้นดินไม่ได้ผล ศอฉ.จึงสั่งให้เฮลิคอปเตอร์โปรยใบปลิวและแก๊สน้ำตาทางอากาศ เพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าถึงเจ้าหน้าที่
สุเทพ กล่าวว่า ต่อมา เวลาทุ่มเศษ มีกองกำลังชุดดำ ใช้อาวุธสงครามนานาชนิด ยิงใส่เจ้าหน้าที่และประชาชน มีผู้บาดเจ็บ ล้มตาย เมื่อ ศอฉ.สั่งถอนกำลัง ปรากฏว่ามีการปิดล้อมเจ้าหน้าที่ ใช้เอ็ม 79 และปืนเล็กยาว ยิงใส่เจ้าหน้าที่ รวมถึงใช้ระเบิดชนิดขว้าง ศอฉ.จึงอนุญาตให้ใช้อาวุธปืนยิงขู่เพื่อป้องกันตนเองได้ อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถจับชายชุดดำได้แม้แต่คนเดียว เนื่องจากเข้าไม่ถึงตัวและมีการปะปนในกลุ่มผู้ชุมนุม ทั้งนี้ มีตำรวจสายสืบของนครบาลสามารถแย่งชิงอาวุธจากชายชุดดำได้ 1 รายโดยได้เครื่องยิงเอ็ม 79 มา ทั้งนี้ หลังเหตุการณ์ 10 เม.ย. มีการกำหนดมาตรการป้องกันการสูญเสียบาดเจ็บหลายอย่าง อาทิ ให้เจ้าหน้าที่ตั้งหน่วยอยู่กับที่ รักษาระยะห่างอย่างน้อย 150 เมตร ไม่ให้ประชาชนเข้าถึงตัว มีด่านตรวจที่มีที่กำบัง
สุเทพ ย้ำว่า ศอฉ.ไม่เคยสั่งการหรืออนุญาตให้มีการซุ่มยิง เพราะไม่มีเจตนาทำร้ายประชาชน การอนุมัติใช้อาวุธมีลำดับขั้นตอนตามความรุนแรงของสถานการณ์ โดยหลังเกิดเหตุ 10 เม.ย. ได้อนุญาตให้ใช้ปืนลูกซองกระสุนลูกปราย เพื่อระงับเหตุและไม่ประสงค์ชีวิตประชาชน โดยต้องเล็งยิงในระดับต่ำกว่าเข่าลงไป ต่อมาเมื่อเจ้าหน้าที่ตั้งด่านตามถนน ถูกผู้ก่อการร้ายใช้อาวุธสงครามโจมตี จึงอนุญาตให้มีปืนเล็กยาวป้องกันตัว จากนั้น เมื่อผู้ก่อการร้ายซุ่มยิงจากตึกสูง จึงมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ควบคุมพื้นที่สูงข่ม รอบบริเวณไม่ให้มีการทำร้ายเจ้าหน้าที่ได้
กรณีการเสียชีวิตของพัน คำกอง จากการสอบถามคณะตัวแทนของ พล.ร.1 เพื่อชี้แจงต่อสภาหลังเหตุการณ์ ได้ข้อมูลว่า เช้ามืดวันที 15 พ.ค. มีรถตู้ฝ่ามาบริเวณสถานีแอร์พอร์ตลิงก์ มีการโจมตีชุลมุน ไม่รู้ใครเป็นใคร เมื่อเหตุสงบพบผู้เสียชีวิต 2 ราย รายหนึ่งคือพัน คำกอง เสียชีวิตใกล้บังเกอร์เจ้าหน้าที่แต่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธว่าไม่ใช่การกระทำของเจ้าหน้าที่ อีกรายคือเด็กชายคุณากร ซึ่งถูกยิงในซอยข้างโรงหนัง นอกวิถีกระสุนของเจ้าหน้าที่
ทนายแสดงภาพรถตู้ที่มีรอยกระสุนบริเวณกระจกข้าง สุเทพระบุว่า ไม่ทราบว่าใครยิง แต่เจ้าหน้าที่จะยิงแบบนี้ไม่ได้
อัยการถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับชายชุดดำ สุเทพระบุว่า ชายชุดดำปรากฏชัดเจนในช่วงค่ำวันที่ 10 เม.ย. ซึ่งมีการขอคืนพื้นที่ โดยจากเหตุทั้งหมด มีที่จับกุมได้บางส่วนได้ส่งดีเอสไอ ดำเนินคดีก่อการร้าย
นอกจากนี้ หลังการเปิดคลิปวิดีโอที่ถ่ายไว้โดยช่างภาพของสำนักข่าวเนชั่น ศาลถามว่าในคำสั่ง ศอฉ.เกี่ยวกับการใช้อาวุธ ระบุว่าห้ามใช้ปืนยิงอัตโนมัติ แต่ในคลิปดังกล่าว มีเสียงปืนอัตโนมัติ ผิดหรือไม่ สุเทพ ตอบว่า ในภาพไม่เห็นว่าใครยิงและมีปืนกี่กระบอก ได้ยินแต่เสียง อาจเป็นการยิงพร้อมๆ กันก็ได้
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เบิกความย้ำว่าไม่เคยมีคำสั่งสลายการชุมนุม ก่อนการประกาศภาวะฉุกเฉินร้ายแรงและขอคืนพื้นที่ รัฐบาลได้ขอให้ศาลแพ่งวินิจฉัยซึ่งวินิจฉัยว่ากระทำได้ เนื่องจากการชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ มีหลักการปฏิบัติตามความเหมาะสมและจำเป็น
อภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่ทราบรายละเอียดวิธีปฏิบัติและไม่ทราบว่าในการปฏิบัติจริง มีการทำตามคำสั่งหรือไม่ แต่มีรายงานว่าได้ดำเนินตามนโยบายที่ให้ไว้ นอกจากนี้ ในช่วงที่มีการชุมนุมในหลายประเทศ ซึ่งสหประชาชาติให้ความสนใจถึงหลักการสลายการชุมนุม ก็ไม่ได้ระบุว่าไทยมีการละเมิด
อภิสิทธิ์กล่าวว่า ในวันที่ 10 เม.ย. ขณะปฏิบัติการยังไม่มีรายงานการเสียชีวิต จนเมื่อหยุดปฏิบัติหน้าที่ช่วงใกล้ค่ำ มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ถูกโอบล้อมและมีการใช้อาวุธกับเจ้าหน้าที่ จึงมีรายงานความสูญเสียครั้งแรก นอกจากนี้ ตั้งแต่ 14 พ.ค. มีรายงานว่ามีผู้ติดอาวุธโจมตีเจ้าหน้าที่ที่ด่านรอบการชุมนุม โดยมีการลำเลียงอาวุธจากในที่ชุมนุม อย่างไรก็ตาม สาเหตุการเสียชีวิตของประชาชนยังไม่มีข้อยุติ แต่ยังไม่มีรายงานว่าเกิดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยบางกรณีมีความชัดเจนระดับหนึ่ง เช่น เสียชีวิตจากเอ็ม 79 ก็เสียชีวิตจากคนที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ใช้เอ็ม79 ขณะที่กรณีสูญเสียชีวิตจากการยิง ก็ต้องสอบสวน เพราะมีอาวุธของเจ้าหน้าที่ถูกปล้นและนำไปใช้ ทั้งนี้ ทราบว่ามีกลุ่มติดอาวุธในผู้ชุมนุม จากคลิปวิดีโอ มีการดำเนินคดีไปแล้วบางส่วนแต่จำรายละเอียดไม่ได้
อภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มการชุมนุม พยายามส่งคนไปเจรจากับแกนนำ นปช. หลายครั้ง แม้กระทั่งประกาศแผนปรองดอง กำหนดวันยุบสภา เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ แต่แกนนำไม่ยุติการชุมนุมและเปลี่ยนเงื่อนไขการเจรจาอยู่ตลอด รัฐบาลจึงมีนโยบายกระชับวงล้อมเพื่อกดดันให้ยุติการชุมนุมโดยไม่สลายการชุมนุม เช่นเดียวกับการชุมนุมในปี 52
อภิสิทธิ์กล่าวว่า ในการปฏิบัติการขอคืนพื้นที่สวนลุมเมื่อวันที่ 19 พ.ค. ไม่ทราบว่าใครสั่งเคลื่อนพล-ใช้กำลัง พร้อมอธิบายว่า การใช้คำว่าขอคืนพื้นที่ เป็นการอธิบายตามความเป็นจริง ไม่ใช่การหลีกเลี่ยงคำว่า สลายการชุมนุม โดยขณะนั้น ขอคืนพื้นที่สวนลุม การชุมนุมที่ราชประสงค์ก็ยังทำได้ แต่ถ้าเป็นการสลายการชุมนุมจะไม่เป็นเช่นนั้น
อภิสิทธิ์กล่าวว่า สำหรับเหตุการณ์ที่วัดปทุมวนาราม มีผู้สื่อข่าวต่างประเทศจาก นสพ.ดิอินเพนเดนท์ ได้โทรประสานงานให้รัฐบาลเข้าไปช่วยเหลือ แต่หน่วยพยาบาลกลับถูกซุ่มยิง นอกจากนี้ยังมีการรายงานไม่เป็นลายลักษณ์อักษรระบุว่า มีชายชุดดำอยู่ในวัดปทุม มีการต่อสู้ ข่มขู่ทวงหนี้ด้วย
พล.ต.อ.ประทีป ตันประเสริฐ รักษาการ ผบ.ตร.ในขณะนั้น เบิกความว่า หลังประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เมื่อวันที่ 7 เม.ย.53 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศอฉ. โดยในการประชุม ศอฉ. มีสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้อำนวยการ ศอฉ.นั่งอยู่ด้วยทุกครั้ง ตั้งแต่เริ่มชุมนุม ตำรวจมีการหาข่าวตลอด ทั้งโดยตำรวจนอกและในเครื่องแบบ
พล.ต.อ.ประทีป กล่าวว่า ในช่วงแรก มีกำลังของตำรวจ ช่วย ศอฉ. 70 กองร้อยๆ ละ 155 คน ขึ้นตรงต่อกองทัพภาคที่ 1 ต่อมาหลัง 14 พ.ค. มีการเปลี่ยนนโยบาย มาขึ้นตรงต่อ ศอฉ. เนื่องจากมีการชุมนุมในต่างจังหวัดด้วย แต่กองทัพภาคที่ 1 มีอำนาจเฉพาะในกรุงเทพฯ จึงให้ ศอฉ.คุมกำลังแทน
พล.ต.อ.ประทีป กล่าวว่า ในการสลายการชุมนุมที่ผ่านฟ้า เมื่อวันที่ 10 เม.ย.53 ไม่ทราบว่าใครควบคุมการเข้าสลายการชุมนุม ทราบแต่ว่าเป็นหน้าที่ของฝ่ายยุทธการของทหาร โดยปกติการจัดกำลังจะแบ่งเป็น 3 ชั้น กำลังตำรวจอยู่ชั้น 2 และ 3 ส่วนด้านหน้าเป็นหน่วยงานอื่น ทั้งนี้ ตนเองไม่ทราบรายละเอียดการใช้กำลังและวิธีปฏิบัติ เนื่องจากดูแลด้านนโยบายเท่านั้น ต่อมา ที่ราชประสงค์ ศอฉ. มีนโยบายจำกัดพื้นที่ เพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมเพิ่มกำลัง เนื่องจากขณะนั้นมีการประกาศว่าเป็นการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กำลังเป็นของฝ่ายทหารไม่ทราบว่าฝ่ายใดปิดล้อม โดยกำลังตำรวจอยู่ที่ชั้น 2-3 เหมือนเดิม
พล.ต.อ.ประทีป กล่าวว่า ในวันที่ 10 เม.ย. ตำรวจมีเพียงโล่และกระบองเท่านั้น ไม่มีอาวุธอื่น ต่อมา ช่วงหลังมีการอนุญาตให้พกปืนพกได้ เนื่องจากมีตำรวจเสียชีวิตที่ สีลม 2 นาย จากการโดนยิงที่ท้อง 1 นายและเอ็ม 79 1 นาย นอกจากนี้ ศอฉ. ให้เจ้าพนักงานใช้ปืนลูกซอง และปืนเล็กยาว เพื่อป้องกันตนเองได้ โดยสมควรแก่เหตุ โดยมีการทำหนังสือย้ำหลักปฏิบัตินี้ตลอด
พล.ต.อ.ประทีป กล่าวว่า ไม่ทราบถึงรายงานการเสียชีวิตของประชาชน รวมถึงพัน คำกอง บริเวณราชปรารภ ที่จัดทำโดยตำรวจนครบาล พญาไท ทั้งนี้ โดยทั่วไป เมื่อมีการเสียชีวิตเกิดขึ้น พนักงานสอบสวนในพื้นที่จะต้องเข้าไปตรวจสอบที่เกิดเหตุโดยเร็ว กรณีพัน คำกอง พนักงานสอบสวนเข้าไม่ได้ เพราะติดแนวลวดหนาม และมีการปะทะกันอยู่ แต่ต่อมาตำรวจก็ได้ไปโรงพยาบาลพญาไท ซึ่งมีการตั้งศพไว้
พล.ต.อ.ประทีป กล่าวว่า หากมีการกระทำใดๆ เกี่ยวกับการสลายการชุมนุมโดยตำรวจ ตนเองในฐานะ ผบ.ตร.และ ผช.ศอฉ. ต้องได้รับการรายงาน โดยที่ผ่านมา ไม่พบกรณีที่เจ้าหน้าที่ถูกลงโทษทางวินัยจากการไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง อย่างไรก็ตาม หากมีการกระทำเกินกว่าเหตุ ในฐานะผู้บังคับการตำรวจ มองว่า เจ้าพนักงานตำรวจผู้ที่กระทำการต้องรับผิดชอบ
อนึ่ง การไต่สวนการตายของ "พัน คำกอง" เสร็จสิ้นแล้วในวันนี้ โดยศาลอาญานัดฟังคำสั่ง ในวันที่ 17 ก.ย.นี้ เวลา 9.00น. โดยนับเป็นการไต่สวนการตายคดีแรกที่ศาลจะมีคำสั่ง
เร่งรับรองไทยพลัดถิ่นจ.ตราด7พันคน
คณะกรรมการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้กฎหมายและแนวทางแก้ไขการไร้สถานะและสิทธิของบุคคลประเทศไทย วุฒิสภา เร่งช่วยรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นของคนตราด ที่คาดจะมีคนไทยพลัดถิ่นกว่า 7 พันคนในพื้นที่ จ.ตราด…
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 31 ส.ค. ที่ห้องประชุมเลียดประถม ชั้น 6 อาคารเอส เอ็มดีมอเตอร์ จำกัด ม.5 ต.หนองเสม็ด อ.เมือง จ.ตราด นายสุพจน์ เลียดประถม สมาชิกวุฒิสภา จ.ตราด เป็นประธานจัดประชุมชี้แจ้งขั้นตอนการยื่นคำร้องพิสูจน์และรับรองความเป็นคน ไทยพลัดถิ่น จ.ตราด โดยมีคณะกรรมการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้กฎหมายและแนวทางแก้ไขการไร้สถานะและสิทธิของบุคคลประเทศไทยวุฒิสภา นำโดย นางเตือนใจ ดีเทศน์ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นตาม พ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2555 พร้อมด้วยนายสุรพงษ์ กองจันทึก คณะกรรมการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้กฎหมายและแนวทางแก้ไขการไร้สถานะและสิทธิของบุคคลประเทศไทยวุฒิสภา และประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติผู้ไร้สัญชาติแรงงานข้ามชาติและ ผู้พลัดถิ่นสภาทนายความ นายวิทยา เลียดประถม ปลัด อ.เมืองตราด นายประทีป เลขาพันธ์ เลขานุการ ส.ส.ตราด ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และบุคคลผู้ไร้สถานะจำนวนกว่า 100 คน ร่วมในการประชุม
นายสุพจน์ กล่าวว่า สืบเนื่องมาจากทราบว่ายังมีบุคคลไร้สถานะทางทะเบียนราษฎรอาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดตราดอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด และพื้นที่อื่นๆ ที่ต้องการยื่นคำร้องพิสูจน์และรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ซึ่งจะเริ่มดำเนินการระหว่างวันที่ 1-7 ก.ย. 2555 เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี จึงได้จัดให้มีการประชุมในครั้งนี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับบุคคลผู้ไร้สถานะในจังหวัดตราด กลุ่มรหัส 63 คือ ผู้ที่อพยพเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา กลุ่มรหัส 64 คือ กลุ่มผู้ที่หลบหนีเข้าเมืองเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกงประเทศกัมพูชา ในการเตรียมความพร้อมให้กลุ่มบุคคลดังกล่าว ได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินงานการยื่นคำร้องพิสูจน์ และรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น จ.ตราด ซึ่งประกอบไปด้วยบุคคลที่ได้รับการสำรวจไว้แล้วว่าเป็นคนสัญชาติไทย รวมทั้งผู้ที่ถูกบันทึกผิดหลงในกลุ่มทะเบียนที่ไม่ได้ระบุการเป็นผู้มีเชื้อชาติไทย กลุ่มที่ตกสำรวจของเจ้าหน้าที่ กลุ่มที่มีลักษณะอื่นทำนองเดียวกันตามมาตรา 4 นิยาม “คนไทยพลัดถิ่น” ของ พ.ร.บ.สัญชาติฉบับที่ 5 พ.ศ.2555 เบื้องต้นภายหลังจากร่วมประชุมชี้ขั้นตอนการดำเนินการดังกล่าวแล้ว นางเตือนใจ ดีเทศน์ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นตาม พ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่ 5 พ.ศ.2555 ได้ดำเนินการร่างหนังสือส่งไปยัง นายพระนาย สุวรรณรัฐ ประธานคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นให้ดำเนินการจัดประชุมคณะ กรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นโดยด่วน เพื่อนำกฎกระทรวงการพิสูจน์และการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นมาปฏิบัติและทบทวนส่วนที่ควรปรับปรุงแก้ไขให้ได้รับสิทธิโดยเร็วต่อไป
ด้าน นายสุรพงษ์ กล่าวว่า จากการประชุมในวันนี้พบว่า กลุ่มอื่นๆ ที่ตกหล่น หรือได้รับการสำรวจนอกเหนือจากกลุ่ม 63 และ 64 เจ้าหน้าที่อาจไม่รับการพิสูจน์ จึงทำให้บุคคลเหล่านี้ที่เป็นคนไทยพลัดถิ่นขาดสิทธิ์ในการยื่นเรื่องพิสูจน์ เพื่อได้รับการคืนสัญชาติในฐานะคนไทยพลัดถิ่น นอกจากนี้ยังพบว่า คนไทยพลัดถิ่นที่เคยถือสัญชาติไทยไปแล้ว ที่กฎหมาย พ.ร.บ.สัญชาติฉบับที่ 5 ให้มาเปลี่ยนเลข 13 หลักเพื่อเป็นคนไทยโดยการเกิด ยังไม่มีการยื่นเรื่องและดำเนินการในเรื่องนี้แต่อย่างใด
รบ.พม่ายกเลิกบัญชีดำ "ภัยความมั่นคง" กว่า 2 พันรายชื่อ
ทั้งชาวพม่าและชาวต่างชาติ ในจำนวนนี้มีลูก "ออง ซาน ซูจี" และ "หมอซินเธีย" พ่วงด้วย ขณะที่ "แอ๊ด คาราบาว" "ชาญวิทย์ เกษตรศิริ" และผู้สื่อข่าวไทยหลายคนก็ถูกเลิกขึ้นบัญชีดำเช่นกัน ด้านอดีตนักศึกษาพม่าเรียกร้องให้ทางการพม่ายกเลิกบัญชีดำที่เหลืออยู่ทั้งหมด
เมื่อวานนี้ (30 ส.ค. 55) เว็บไซต์ทำเนียบประธานาธิบดีพม่า ได้แจ้งว่า ได้ลบรายชื่อประชาชนราว 2,000 คน ทั้งชาวต่างชาติและพลเมืองพม่า ออกจากบัญชีดำบุคคลซึ่งถูกพิจารณาว่าเป็นภัยต่อสันติภาพและความมั่นคงของรัฐบาลทหารพม่าชุดก่อนแล้ว
ความเคลื่อนไหวดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากสื่อของรัฐบาลพม่าประกาศว่า รายชื่อบุคคลจำนวน 2,082 คน ได้ถูกย้ายออกจากบัญชีผู้ที่อาจเป็นศัตรูของรัฐ ในสมัยรัฐบาลทหารชุดก่อนแล้ว โดยในรายชื่อมีทั้งฝ่ายต่อต้านรัฐบาลชาวพม่า นักกิจกรรมชาวต่างชาติ ผู้สื่อข่าว นักประวัติศาสตร์ เจ้าหน้าที่สหประชาชาติ และลูกของนางออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้าน
โดยบุคคลที่มีชื่อเสียงของพม่า ที่อยู่ในบัญชีดังกล่าวประกอบด้วย นพ.เส่ง วิน ผู้นำรัฐบาลพม่าพลัดถิ่น อ่อง ดิน จากกลุ่ม US Campaign for Burma นางซิปโปร่า เส่ง เลขาธิการสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) พญ.ซินเธีย หม่อง ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการแม่ตาวคลินิก โป่จี, เต็ตหน่าย และสมาชิกสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า (AAPPB) อ่อง โมซอว์ จากพรรคประชาธิปไตยเพื่อสังคมใหม่ (DPNS) หม่อง หม่อง จากสหพันธ์สหภาพแรงงานพม่า (FTUB) ขิ่น โอมาร์ จากเครือข่ายเพื่อประชาธิปไตยและการพัฒนา อ่อง ทู จากสภาทนายความพม่า และหน่อ เล ดี จากสหภาพสตรีพม่า
รายชื่อในบัญชีดำที่ถูกยกเลิกยังประกอบด้วยโม ตี ซอน และ นพ.นายอ่อง อดีตผู้นำแนวร่วมนักศึกษาพม่าทั้งมวล (ABSDF) กองกำลังนักศึกษาพม่าติดอาวุธ ซึ่งจัดตั้งขึ้นหลังการปราบปรามผู้ประท้วงฝ่ายนิยมประชาธิปไตยเมื่อปี พ.ศ. 2531 ด้วย
โดยโม ตี ซอน ซึ่งวางแผนกลับเข้าพม่าในวันที่ 1 ก.ย. นี้ กล่าวกับอิระวดีว่าเขายินดีกับข่าวลบชื่อออกจากบัญชีดำนี้ แต่ขอเรียกร้องให้มีการลบชื่อบุคคลที่ยังอยู่ในบัญชีดำทั้งหมด ซึ่งยังมีมากกว่า 4 พันรายชื่อ
"ถ้ารัฐบาลลบชื่อพวกเราออกจากบัญชีดำได้ ก็ควรลบชื่อคนอื่นๆ ซึ่งเป็นผู้ปราศจากมลทินด้วย"
ทั้งนี้ นพ.นาย อ่อง ซึ่งจะเข้าไปในพม่าวันศุกร์นี้ พร้อมด้วยนักกิจกรรมซึ่งลี้ภัยอีก 4 คน ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปไตยเพื่อสังคมใหม่ (DPNS) รวมทั้งหม่อง หม่อง จากสหพันธ์สหภาพแรงงานพม่า (FTUB) จะหยิบยกเรื่องการถอนรายชื่อบุคคลต่างๆ ออกจากบัญชีดำไปหารือกับรัฐมนตรีในรัฐบาลพม่าด้วย
"การเดินทางของเรานั้นราบรื่นและเรียบง่าย เราไม่ต้องกรอกหนังสือแสดงความยินยอมอะไร และเราจะไปหารือเรื่องนี้กับรัฐบาล" นพ.นาย อ่อง กล่าว
ในบรรดารายชื่อชาวต่างประเทศที่อยู่ในบัญชีดำ ประกอบด้วย เดนิส เกรย์ จากสำนักข่าว AP แอนดรูว์ มาร์แชล อดีตผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ อดีตผู้สื่อข่าวอังกฤษอย่างจอห์น พิลเกอร์ และอดีตผู้ประกาศ CNN และผู้สื่อข่าวอัลจาซีร่า ริซ ข่าน
"การถอนบัญชีดำ ไม่ได้มีความหมายอะไรมาก ที่ผมสนใจก็คือ ยังมีคนอีกจำนวนหลายพันที่ยังถูกขึ้นบัญชีดำ" มาร์แชลให้สัมภาษณ์กับอิระวดี "พวกเขาเป็นใคร และทำไมเขายังถูกพิจารณาว่าเป็นศัตรูของยุคพม่าปฏิรูป?"
ทั้งนี้ มาร์แชล ถูกควบคุมตัวและเนรเทศเมื่อปี 2551 หลังแอบเข้าไปรายงานข่าวพายุไซโคลนนาร์กีส แม้ว่าชื่อของเขาจะถูกลบออกจากบัญชีดำอย่างเป็นทางการแล้ว แต่เขากล่าวว่า เขาได้เข้าไปเยือนพม่ามา 6 ครั้งแล้วนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา รวมทั้งการเข้าไปทำข่าวการเยือนพม่าของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา นางฮิลลารี่ คลินตัน
ชาวต่างชาติคนอื่นๆ ที่ถูกลบชื่อจากบัญชี ยังประกอบด้วย เดวิด สก็อต แมธิสันจาฮิวแมนไรท์วอช (HRW) เดสมอนด์ บอล ศาสตราจารย์ออสเตรเลีย และคริสทีนา ฟิง ผู้เขียน "Living Silence" หนังสือที่ถ่ายทอดเรื่องราวภายใต้รัฐบาลทหารพม่า
จอห์น วิลเลียม ยิตทอว์ ชาวอเมริกันที่ลอบเข้าไปในบ้านพักนางออง ซาน ซูจีในเดือนพฤษภาคมปี 2552 ซึ่งทำให้นางออง ซาน ซูจีถูกขยายเวลาการกักบริเวณออกไปจนถึงเดือนพฤศจิกายนปี 2553 ก็ถูกลบรายชื่อออกจากบัญชีดำเช่นกัน
ทั้งนี้ประมาณ1 ใน 3 ของรายชื่อ 2,082 บุคคลที่ถูกลบออกจากบัญชีดำ ประกอบด้วยอาจารย์มหาวิทยาลัย แพทย์ นักธุรกิจ และนักกิจกรรมในประเทศพม่า
โดยอิระวดี สัมภาษณ์อาจารย์มหาวิทยาลัยสตรีท่านหนึ่ง ซึ่งกล่าวว่า ไม่น่าเชื่อว่ารายชื่อของเธออยู่ในบัญชีนั้น "ฉันได้ลาออกจากตำแหน่งก่อนที่จะสิ้นสุดสัญญาจ้างงาน 5 ปี บางทีนี่อาจเป็นสาเหตุว่าทำไมฉันถึงอยู่ในบัญชีดำ แม้ว่าฉันได้จ่ายค่าปรับจากการเลิกสัญญาแล้วก็ตาม"
ทั้งนี้ ประชาชนในประเทศที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีดำจะไม่ได้รับอนุญาตให้ถือหนังสือเดินทางเพื่อออกไปนอกประเทศ ซึ่งนักศึกษารุ่น '88 หลายคนก็ยังเผชิญปัญหานี้อยู่
จากการตรวจสอบของผู้สื่อข่าวเพิ่มเติม รายชื่อของผู้ที่ถูกยกเลิกจากบัญชีดำยังประกอบด้วย เบอร์ทิล ลิตเนอร์ ผู้สื่อข่าวและนักเขียนชาวสวีเดน ซึ่งมีงานเขียนเกี่ยวกับพม่าหลายเรื่อง แอนเดอร์ส ออสเตอร์การ์ด ผู้กำกับภาพยนตร์ Burma VJ ซึ่งเคยเข้าชิงรางวัลออสการ์ แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชีย ของฮิวแมนไรท์ วอทซ์ ชี ซุน ฉวน ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน SDP ของสิงคโปร์ สี ชี หาว นักสิทธิมนุษยชนและ ส.ส.จากรัฐซาราวัก มาเลเซีย ขณะเดียวกันมีชื่อของ พริสซิลลา แอน แคลปป์ นักการทูต ประจำกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ซึ่งรับผิดชอบกองงานพม่า ระหว่างปี 2542 - 2545 ด้วย
นอกจากนี้ยังมีรายชื่อบุคคลที่เสียชีวิตไปแล้วอย่าง คิม แด จุง อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และนางคอราซอน อากีโน อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์
ขณะเดียวกัน ยังพบรายชื่อของชาวไทยที่ถูกยกเลิกจากบัญชีดำของทางการพม่าจำนวนมาก เช่น ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ สมศรี หาญอนันทสุข ผู้อำนวยการเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้ง ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน และผู้สื่อข่าวไทยอย่างเช่น ชิบ จิตนิยม, สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี, สุพัตรา ภูมิประภาส และวาสนา นาน่วม
นอกจากนี้ยังมีชื่อของยืนยง โอภากุล หรือ แอ๊ด คาราบาว ซึ่งเคยแต่งเพลงโจมตีรัฐบาลพม่า และเคยเข้าไปแสดงดนตรีในพื้นที่ของกองกำลังชนกลุ่มน้อยพม่า
ขณะเดียวกันมีชื่อของนักกิจกรรมทางการเมืองด้วย อย่างเช่น จรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และแกนนำ นปช. ซึ่งเคยถูกทางการพม่าจับและเนรเทศ หลังเข้าไปเคลื่อนไหวในพม่า และมีชื่อของอัญชะลี ไพรีรัก อดีตผู้ประกาศข่าว ซึ่งเคยมีบทบาทในขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยด้วย
ชาวบ้านค่ายเฮ..ศาลปกครองพิพากษาเพิกถอนจัดตั้งนิคมฯ
เมื่อเวลา 10.30 น.วันนี้ (31 ส.ค.) นายชาญเชี่ยว สุขช่วย ตุลาการศาลปกครองระยอง เจ้าของสำนวนได้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ ส.8/2554 ที่ห้องพิจารณาคดี 1 ศาลปกครองระยอง ตำบลเนินพระ อำเภอเมืองระยอง ซึ่งเป็นคดีเกี่ยวกับการเพิกถอนประกาศจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมระยอง (บ้านค่าย) ตั้งอยู่ในตำบลหนองบัว และตำบลบางบุตร อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ในพื้นที่รวมกว่า 2,194 ไร่ โดยมีผู้ฟ้องคดีคือ นายเศรษฐา ปิตุเตชะ และชาวบ้านค่าย จังหวัดระยองรวม 386 คน ซึ่งได้มอบอำนาจให้ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนเป็นผู้รับมอบอำนาจดำเนินคดีปกครองให้ทั้งหมด
ส่วนผู้ถูกฟ้องคดี ประกอบด้วย ผู้ถูกฟ้องที่ 1 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 คณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวผู้ฟ้องคดีทั้ง 386 คนได้ฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ออกประกาศจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมทั่วไป นิคมอุตสาหกรรมระยอง (บ้านค่าย) เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2554 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 1 มิถุนายน 2554 ซึ่งเป็นโครงการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย
การประกาศจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าว ได้ก่อ และ/หรืออาจทำให้เกิดความเดือดร้อน และเกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีกับพวก รวมทั้งชาวบ้านอำเภอบ้านค่าย ซึ่งมีแหล่งที่อยู่อาศัย และอาจเกิดการแย่งน้ำเพื่อการเกษตร เกิดมลพิษ ขณะที่กระบวนการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรม ไม่มีการทำประชาพิจารณ์ การดำเนินการมีความไม่โปร่งใสในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และผลกระทบทางสุขภาพ (HIA)
บริเวณพื้นที่ประกาศตั้งอยู่ในพื้นที่ประเภทอนุรักษ์ ชนบทและเกษตรกรรม ตามร่างผังเมืองรวมจังหวัดระยอง จึงนำคดีมายื่นฟ้องต่อศาล เพื่อขอให้ศาลพิพากษามีคำสั่งเพิกถอนการประกาศจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมระยอง (บ้านค่าย) และให้ผู้ถูกฟ้องคดี 1 ดำเนินการให้ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 67 วรรคสอง พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตรา 11 ก่อนที่จะดำเนินการใดๆ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดำเนินการศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ หรือการประเมินผลในเชิงกลยุทธ์ (SEA)
ศาลปกครองระยอง องค์คณะที่ 1 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม พิพากษาโครงการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีลักษณะเป็นนิคมอุตสาหกรรมตามกฎหมาย ว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ต้องเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 พิจารณาในขั้นขออนุมัติโครงการ ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดประเภท และขนาดของโครงการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและหลักเกณฑ์ ระเบียบการปฏิบัติ และแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ฉบับลงวันที่ 16 มิถุนายน 2552
ทั้งนี้ ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดังกล่าว ยังมีผลบังคับใช้ในขณะที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 4/2553 วันที่ 24 มิถุนายน 2553 เห็นชอบให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ร่วมดำเนินการกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมระยอง (บ้านค่าย) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พิพากษาเพิกถอนประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ฉบับลงวันที่ 20 เมษายน 2554 เรื่องการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมทั่วไป นิคมอุตสาหกรรมระยอง (บ้านค่าย) ในพื้นที่ตำบลหนองบัว และ ตำบลบางบุตร อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ภายในแนวเขตพื้นที่ท้ายประกาศ โดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ออกประกาศ
นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ผู้รับมอบอำนาจจากชาวบ้านทั้ง 386 คน ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีนี้ให้ชาวบ้านกล่าวว่า ในวันนี้ ศาลปกครองระยองได้พิพากษาตามคำขอท้ายฟ้อง คือ ขอให้ศาลได้พิพากษาเพิกถอนการประกาศจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมระยอง (บ้านค่าย) ซึ่งศาลปกครองระยองได้พิพากษาตามคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของผู้ฟ้องคดีแล้ว เป็นการแสดงให้เห็นชัดเจนว่า การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ดำเนินการประกาศจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมระยอง (บ้านค่าย) เป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดแย้งกฎหมายหลายฉบับ ซึ่งในวันนี้ ศาลปกครองระยอง ได้ยืนยันโดยคำพิพากษาแล้ว ถือว่าอาจใช้เป็นบรรทัดฐานในเบื้องต้นที่จะทำให้หน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะ กนอ.ต้องรับฟังเสียงของประชาชน และต้องดำเนินการศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (E/HIA)ให้เรียบร้อยเสียก่อน ก่อนที่จะประกาศจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมใด ๆ
นอกจากนิคมอุตสาหกรรมบ้านค่ายแล้ว ยังมีนิคมอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีกมากที่ กนอ. ดำเนินการจัดตั้งไปโดยข้ามขั้นตอนของกฎหมาย เช่น การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง ตำบลสำนักทอง อำเภอเมืองระยอง ที่ทางสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนร่วมกับชาวบ้าน ได้ฟ้องเพิกถอนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมไปแล้วอีกคดีหนึ่ง ขณะนี้ยังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองระยอง คาดว่าจะมีลักษณะเหมือนกัน เพราะเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนบริษัท ไทยเจนเนอรัลไนซ์โคล แอนด์โค้ก จำกัด หรือโรงงานถ่านหินโค้ก ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนสายบายพาส 36 เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด ก็เข้าข่ายลักษณะเดียวกัน คือ เป็นการดำเนินการก่อสร้างก่อนที่จะได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งทาง ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกมาแถลงชัดเจนว่าโรงงานใดที่แอบก่อสร้างไปก่อนที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะไม่ยินยอมออกใบอนุญาตให้ดำเนินการได้ นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด
เริ่มเก็บ 30 บาทรักษาทุกโรคอีกครั้ง "วิทยา" เผยราบรื่นเพราะเตรียมการดี
"วิทยา" เผยการดำเนินการร่วมจ่าย 30 บาท วันแรก ราบรื่นดี ระบุเพราะเตรียมการดี ส่วนที่นครราชสีมา 30 บาทวันแรกไม่ราบรื่น เผย ปชช.ยังไม่เข้าใจ
1 ก.ย. 55 - ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่านายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงนโยบายการร่วมจ่ายค่าธรรมเนียม 30 บาทวันแรก ในการเดินทางไปยังโรงพยาบาลตรัง พร้อมมอบนโยบายแก่แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านว่า รัฐบาลนำโดยนายกรัฐมนตรี มีนโยบายที่จะเพิ่มคุณภาพบริการ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี คนป่วยหายเร็ว คนปกติมีสุขภาพแข็งแรง มีระบบบริการสาธารณสุขได้มาตรฐาน และเข้าถึงบริการได้ทั่วถึงและทัดเทียม
"จากการติดตามนโยบายร่วมจ่ายในวันแรกวันนี้ที่โรงพยาบาลตรัง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาด 535 เตียง มีจำนวนผู้ป่วยมารับบริการในแผนกผู้ป่วยนอกวันละ 1,600-1,800 รายต่อวันและผู้ป่วยในวันละ 450-500 รายต่อวัน พบว่าราบรื่นดี เนื่องจากผู้บริหารมีการเตรียมการไว้อย่างดี"นาววิทยากล่าว
นครราชสีมา 30 บาทวันแรกไม่ราบรื่น ปชช.ยังไม่เข้าใจ
ด้านเนชั่นทันข่าวรายงานว่านายแพทย์วิชัย ขัตติยวิทยากุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่รัฐบาลประกาศให้เริ่มเก็บค่าธรรมเนียมบริการ 30 บาท ในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า วันนี้ (1 ก.ย. 55) เป็นวันแรก ก็ปรากฏว่าในสถานพยาบาลต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ มีประชาชนยังไม่เข้าใจเข้ามาสอบถามเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ซึ่งในแต่ละวันจะมีผู้มาใช้บริการไม่ต่ำกว่า 4 พันคน ที่มีปัญหาไม่เข้าใจเรเข้าใจมาสอบถามที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์กันอย่างเนืองแน่น
ซึ่งตนก็ได้ให้นโยบายกับโรงพยาบาล และสถานพยาบาลต่างๆ ที่ร่วมโครงการ เร่งทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง และให้โรงพยาบาลทุกแห่งพัฒนาความพร้อมให้บริการที่ดีขึ้นทุกด้าน ทั้งผู้ป่วยฉุกเฉิน ผู้ป่วยเรื้อรัง บริการผู้สูงอายุ ผู้พิการ โดยไม่มีเวลาหยุดพักเที่ยง ทั้งนี้สำหรับในจังหวัดนครราชสีมานั้น มีโรงพยาบาลและสถานพยาบาลภาครัฐ เข้าร่วมโครงการนี้ 30 แห่ง และภาคเอกชนอีก 4 แห่ง ซึ่งทุกแห่งก็พร้อมดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลด้วยความยินดี โดยจะมีการตรวจสิทธิ์ตามบัตรประชาชน
ผู้ที่เคยได้รับสิทธิ์ยกเว้นการร่วมจ่าย 30 บาท ทั้ง 21 กลุ่ม ก็จะยังได้รับการยกเว้นร่วมจ่ายเหมือนเดิม แต่หากใครมีความสมัครใจที่จะช่วยจ่ายให้กับสถานพยาบาล ก็ยินดี เพราะปัจจุบันนี้สถานพยาบาลแต่ละแห่งก็รับภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ทั้งค่าอยู่เวรพยาบาล ค่าซื้อเครื่องมือแพทย์ และค่าตอบแทนแพทย์ชำนาญการ ซึ่งขณะนี้ก็ได้แต่เพียงจัดทอดผ้าป่าสามัคคีเพื่อหาเงินมาช่วยลดภาระเหล่านี้ แต่หากได้เงินค่าธรรมเนียมเล็กน้อยมาช่วยก็จะช่วยลดภาระให้กับสถานพยาบาลได้บ้าง นายแพทย์วิชัยฯ กล่าว
รพ."รามาฯ-จุฬาฯ" ยังไม่เก็บ 30 บ.
เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่าเมื่อวันที่ 31 ส.ค. รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผอ.โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในการร่วมจ่าย 30 บาทรักษาทุกโรค ในโครงการหลักประกันสุขภาพ ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 1 ก.ย.นี้ โดยมีเงื่อนไขต้องเก็บเฉพาะผู้ป่วยที่ได้รับยา และหากผู้ป่วยไม่ประสงค์จ่ายก็ให้เป็นไปตามสิทธิผู้ป่วยว่า เพื่อลดความยุ่งยากในการตรวจสอบสิทธิ ลดการเผชิญหน้าของเจ้าหน้าที่กับผู้ป่วย และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้จ่ายและผู้ไม่ประสงค์ร่วมจ่าย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ยกเว้นกับบุคคลที่ไม่ประสงค์ร่วมจ่าย ที่ประชุมของรามาธิบดีจึงมีมติยกเว้นการจัดเก็บเงินดังกล่าว และใช้ระบบเดิมด้วยคุณภาพและมาตรฐานเดิมทุกอย่าง โดยร.พ.ยอมขาดรายได้และจะนำรายได้ส่วนอื่นมาทดแทน
ด้านรศ.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ รองผอ.ร.พ.จุฬาลงกรณ์กล่าวว่า ร.พ.ขนาดใหญ่ อยู่ระหว่างทำแนวปฏิบัติและสื่อสารให้กับผู้ปฏิบัติงาน หากไม่ทันก่อนวันที่ 1 ก.ย. ร.พ.จุฬาฯ จะเลือกสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชนก่อนให้ได้มากที่สุด โดยจะยังไม่เก็บเงินดังกล่าว อาจต้องชะลอการเก็บเงินไปก่อน
นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุขกล่าวว่า กรณีร.พ.ที่ประกาศว่าจะไม่เก็บ 30 บาทก็ต้องมีเหตุผล โดยเรื่องนี้ต้องการให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ส่วนผู้ที่ใช้บริการตรวจโรคหรืออื่นๆ เช่น ทำแผล ฉีดวัคซีนที่ไม่ได้รับยา รวมทั้งใช้บริการที่ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง ศูนย์สุขภาพชุมชนในถิ่นทุรกันดาร และร.พ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล(ร.พ.สต.) ทั่วประเทศ ยังเป็นการให้บริการฟรีทั้งหมดเช่นเดิม ทั้งนี้ หากไม่ประสงค์จะร่วมจ่ายก็สามารถสงวนสิทธิ์ได้ โดยในปีงบประมาณ 2556 นี้รัฐบาลได้จัดสรรงบรายหัวในโครงการ 30 บาท ในอัตรา 2,755.60 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2554 หัวละ 209.12 บาท
ด้านนพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ไม่ได้ระบุชัดถึงข้อปฏิบัติของหน่วยบริการว่าต้องดำเนินการเก็บร่วมจ่ายหรือไม่ แต่เน้นให้บริการประชาชนและให้ได้ร่วมจ่าย ส่วนกรณีที่เกิดขึ้นจะผิดหลักกฎหมายหรือไม่ คงต้องกลับไปพิจารณาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 1 ก.ย.ที่จะเริ่มเก็บเงินเป็นวันแรก สปสช.ได้เตรียมระบบรับเรื่องร้องเรียนตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านสายด่วนโทร.1330
ร.พ.แม่สอด เริ่มโครงการร่วมจ่าย 30 บาท
สำนักข่าวไอเอ็นเอ็นรายงานว่าโรงพยาบาลแม่สอด เริ่มโครงการร่วมจ่าย 30 บาท ดีเดย์วันนี้ 1 กันยายน 2555 สร้างแรงจูงใจประชาชน ใช้บริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่ใกล้บ้าน
นายแพทย์รณไตร เรืองวีรยุทธ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กล่าวว่า โครงการร่วมจ่ายค่าธรรมเนียมบริการ 30 บาท ในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตามนโยบายรัฐบาล จะเริ่มในวันนี้ (1 กันยายน 2555) โดยทางโรงพยาบาลแม่สอด มีความพร้อมที่สนองนโยบาย มติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ร่วมจ่าย 30 บาท ในการเข้ารับบริการในโรงพยาบาลชุมชนขึ้นไป จนถึงโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ และในโรงพยาบาลเอกชน ที่เข้าร่วมโครงการ
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำเภอแม่สอด เผยว่า โครงการร่วมจ่ายนี้ จะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนไปใช้บริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่ใกล้บ้านมากขึ้น ซึ่งสามารถดูแลประชาชนได้ดีเหมือนโรงพยาบาลใหญ่ ทั้งการส่งเสริมสุขภาพ การตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง การตรวจรักษาโรคทั่วไป โดยในอนาคตนี้จะใช้ระบบการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ต พูดคุยปรึกษากับแพทย์ผู้รักษาในโรงพยาบาลแม่สอดโดยตรง หลังจากที่ นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข ได้มีโอกาสเดินทางไปที่อำเภอท่าสองยาง และส่งเสริมให้ใช้ระบบการสื่อสารทางอินเทอร์เนต ผ่านการแชทวิดีโอกับประชาชน ที่มีปัญหาการคมนาคมไม่สะดวก ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการในพื้นที่โรงพยาบาลอำเภอท่าสองยาง และจะลงมาที่อำเภอแม่ระมาด รวมทั้ง อำเภอแม่สอด ตามลำดับ
Comments
We've all heard that crash diets and fad diets don't work for permanent weight loss. <a href="http://www.ksloseweight.com/">loss weight</a>
she's terrible and loud, don't like her all all on the show!
she's terrible and loud, don't like her all all on the show! http://www.kinhealth.com
The vast category of skill games, including virtual keyboard online. game skills at 2DPlay will test your various skills.
she's terrible and loud, don't like her all all on the show! http://www.kinhealth.com http://www.d3fly.com/gold.html
Great update and glad all is well in your world…Oh and, Go Gamecocks!!! http://www.wecloth.com http://www.tobuywowgold.com/Product/Gold
http://www.suparticle.com
I totally agree! I wish they would bring back Leah Rimini! http://www.ksloseweight.com