เล็งชง ครม.แก้กฎหมาย หนุนชาวบ้านมีส่วนร่วมจัดการขยะพิษ
“หมอสุรวิทย์” ตรวจบ่อขยะพิษ จ.ฉะเชิงเทรา พบสารก่อมะเร็ง “ฟีนอล” ในบ่อน้ำ ทำชาวบ้านป่วยแล้วกว่า 800 ราย ส่วนใหญ่ปวดหัว มึนงง ผื่นคันผิวหนัง หายใจติดขัด สั่งจัดหน่วยแพทย์ตรวจสุขภาพชาวบ้านรอบบ่อขยะ เตรียมเสนอ ครม.แก้กฎหมาย ให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมแก้ปัญหาขยะพิษในพื้นที่ พร้อมเสนอทุกจังหวัดเอ็กซเรย์แหล่งขยะอันตรายในพื้นที่ ป้องกันสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อม
วันนี้ (2 ก.ย.) นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.ธวัชชัย กมลธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขประจำพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และคณะเดินทางไปติดตามปัญหาการนำกากขยะอุตสาหกรรม ไปทิ้งในพื้นที่ อ.พนมสารคาม และ อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา โดยได้ประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ที่โรงพยาบาลพนมสารคาม เพื่อรับฟังปัญหาและมาตรการแก้ไขของจังหวัด จากนั้นคณะได้เดินทางไปดูพื้นที่แหล่งขยะพิษที่หมู่ 7 ตำบลหนองแหน ซึ่งเป็นบ่อดินลึก 3-10 เมตร ในพื้นที่ 15 ไร่ น้ำมีสีดำ มีกลิ่นฉุน โดยชาวบ้านระบุว่า กลิ่นจะเหม็นมากภายหลังฝนตก และฟุ้งกระจายไปไกลประมาณ 3 กิโลเมตร จากนั้นเดินทางไปตรวจบ่อทิ้งขยะที่หมู่ที่ 9 ตำบลเกาะขนุน อ.พนมสารคาม ซึ่งมีกลิ่นเหม็นแต่ไม่รุนแรงเท่ากับจุดแรก
นพ.สุรวิทย์ กล่าวว่า รัฐบาลมีความเป็นห่วงสุขภาพประชาชน จากปัญหาการลักลอบนำขยะพิษอันตรายไปทิ้งในพื้นที่ ได้มอบหมายให้ติดตามแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นการด่วน จากการรับฟังรายงานแก้ไขปัญหาในพื้นที่ของ ผวจ.ฉะเชิงเทรา พบว่า เป็นการนำกากขยะจากอุตสาหกรรมนอกพื้นที่ไปทิ้ง รวมทั้งหมด 11 จุด โดยอยู่ที่ อ.พนมสารคาม 6 จุด และที่อ.แปลงยาว 5 จุด พื้นที่ปัญหามีขนาดตั้งแต่ 1-200 ไร่ ประเภทขยะ ประกอบด้วย น้ำเสีย 7 แหล่ง ที่เหลือเป็นขยะประเภทพลาสติก มีประชาชนอาศัยบริเวณรอบๆ 3,000 คน ขณะนี้จังหวัดได้ตั้งคณะกรรมการดำเนินการแก้ไขทั้งระบบ 1 ชุด มีรองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานชุดทำงาน ประชุมติดตามความก้าวหน้าทุกสัปดาห์ ทั้งด้านกฎหมายและการดูแลสุขภาพประชาชน
นพ.สุรวิทย์ กล่าวต่อว่า สำหรับในด้านผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน สธ.ได้มอบหมายให้ สสจ.ฉะเชิงเทรา จัดหน่วยแพทย์ดูแล โดยในระยะเร่งด่วนได้แจกหน้ากากอนามัยให้ประชาชน ประมาณ 10,000 ชิ้น และจัดหน่วยแพทย์เฉพาะทางจากโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี โรงพยาบาลพุทธโสธร ตรวจรักษาผู้เจ็บป่วยที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 2 แห่ง ที่ตำบลหนองแหน และตำบลห้วยพลู ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2555 จนถึงปัจจุบัน มีประชาชนเจ็บป่วยเข้ารับการตรวจรักษา 838 ราย ส่วนใหญ่เจ็บคอ หายใจติดขัด ผื่นคันตามผิวหนัง ปวดศรีษะ มึนงง แสบจมูก ประชาชนสามารถรับบริการได้ตลอดเวลาฟรี
นพ.สุรวิทย์ กล่าวต่อว่า ส่วนมาตรการระยะยาว เนื่องจากพิษภัยของสารเคมีในระยะแรกๆ อาจพบผลกระทบไม่มาก แต่สารนี้จะสะสมในร่างกายเกิดผลในระยะยาว ที่เป็นห่วงที่สุดคือ โรคมะเร็ง โดยเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2555 กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เก็บตัวอย่างน้ำจากบ่อน้ำตื้น ในหมู่บ้านที่ ตำบลหนองแหน 12 แห่ง พบมีการปนเปื้อนสารฟีนอล (Phenol) ในบ่อ 2 แห่ง ซึ่งสารดังกล่าวเป็นสารก่อมะเร็ง จึงให้ประชาชนงดการใช้น้ำบ่อมาอุปโภคบริโภค ให้ใช้แหล่งน้ำภายนอกที่ปลอดภัยแทน โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดน้ำสะอาดมาให้ชาวบ้านใช้ และตั้งประปาบาดาล ที่ผลิตน้ำได้ 2,000 ลิตรต่อวัน ขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาระบบประปา โดยจะขยายผลการตรวจคุณภาพน้ำในบ่อน้ำตื้นในพื้นที่อื่นๆ ด้วย
“สธ.จะตรวจดูการปนเปื้อนสารโลหะหนักอันตราย ในประชาชน โดยดูจากปัสสาวะ และเลือด ต่อไป โดยเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ที่ผ่านมา ได้สุ่มเก็บตัวอย่างเลือด และปัสสาวะ ของประชาชนจากหมู่ 7 ตำบลหนองแหน จำนวน 140 ตัวอย่าง เพื่อตรวจหาแมงกานีส ตะกั่ว และ สังกะสี ในเลือด และตรวจหาโครเมียม นิกเกิล สารปรอท สารฟีนอล ตกค้างในปัสสาวะที่สำนักโรคประกอบอาชีพ กรมควบคุมโรค ซึ่งจะทราบผลเร็วๆ นี้” รมช.สาธารณสุข กล่าวและว่า ขณะเดียวกัน จะเพิ่มการตรวจหาสารพทาเลส(Phthalates) ซึ่งเป็นสารที่เกิดมาจากกระบวนการผลิตพลาสติก สารชนิดนี้เป็นสารก่อมะเร็งเช่นกัน โดยจะเก็บตัวอย่างเลือด ตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และจัดหน่วยแพทย์ดูแลด้านจิตใจเพราะปัญหากลิ่นส่งผลกระทบต่อประชาชนด้วย
นพ.สุรวิทย์ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นตัวอย่างที่เกิดมาจากความใส่ใจของประชาชนในพื้นที่ ถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีมาก จะนำผลรายงานนายกรัฐมนตรี เพื่อให้มีการเอ็กซเรย์ ปัญหาการลักลอบทิ้งสารพิษอันตรายในจังหวัดอื่นๆ ด้วยเพื่อเป็นการป้องกันผลกระทบ ทั้งประชาชน สัตว์เลี้ยง และสิ่งแวดล้อม และจะเสนอแก้กฎหมายให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการอนุญาตการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม หรือการกำจัดมลพิษอุตสาหกรรมในพื้นที่ด้วย ทั้งนี้ ในวันที่ 10-11 กันยายนนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะจัดอบรมเจ้าหน้าที่ และ อสม.ในการคัดกรองการรักษาเบื้องต้น และการให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ที่มีปัญหาสารพิษ เพื่อที่จะสามารถวางแผนการเฝ้าระวังสุขภาพประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง
คปก.ชงความเห็นร่าง กม.คนพิการ ห่วงสัญญาจ้างเหมาช่วงไม่เป็นธรรม
คปก.ห่วงสัญญาจ้างเหมาช่วงงานไม่เป็นธรรมกับคนพิการ เสนอตัดออกจากมาตรา 35 ร่างกฎหมายคนพิการ
(4 ก.ย.55) นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเรื่อง ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ....เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ประธานวิปรัฐบาล และประธานวิปฝ่ายค้าน ซึ่งขณะนี้ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานสรุปผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อเสนอให้บรรจุไว้ในระเบียบวาระสภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย แสดงความเห็นว่า ควรกำหนดบทบาทให้องค์กรด้านคนพิการหรือองค์กรเอกชนอื่นใด ซึ่งได้รับรองจากคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ สามารถเรียกร้องแทนคนพิการ ให้ความช่วยเหลือ จัดให้มีศูนย์บริการ เสนอแนะต่อหน่วยงานรัฐ ตลอดจนให้กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนสนับสนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรด้านคนพิการ หรือองค์กรเอกชนในแต่ละท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
สำหรับกรณีกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ คปก. มีความเห็นว่า ควรจัดตั้งเป็นคณะกรรมการบริหารการลงทุน ที่มีการจัดการบริหารการลงทุนที่มีการบริหารกองทุนที่สอดรับกับการกระจายภารกิจการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรด้านคนพิการหรือองค์กรเอกชน และควรมอบอำนาจให้คณะกรรมการบริหารกองทุนหรือคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในระดับจังหวัดเป็นผู้พิจารณาอนุมัติงบประมาณเพื่อสนับสนุนได้ตามระเบียบที่คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติกำหนด โดยไม่ต้องเสนอคำขออนุมัติต่อคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติพิจารณาทุกกรณี
ในแง่การคุ้มครองคนพิการในการทำงานและประกอบอาชีพ คปก.เสนอว่า ในกรณีที่นายจ้าง เจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานรัฐรายใดไม่ประสงค์จะรับคนพิการเข้าทำงาน แต่ประสงค์จะจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ หรือให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการ ควรได้ความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการก่อน นอกจากนี้ควรบัญญัติเพิ่มเติมเรื่องการสร้างงานให้แก่องค์กรด้านคนพิการด้วย
อย่างไรก็ตาม เจตนารมณ์ของกฎหมายนี้มีความต้องการเพื่อการสร้างงานให้แก่คนพิการในรูปแบบต่างๆ แต่การมีบทบัญญัติเรื่องจัดจ้างเหมาช่วงงานตามมาตรา 35 นั้น คปก.มีความกังวลว่าในประเด็นปัญหาความไม่เป็นธรรมในสัญญาจัดจ้างเหมาช่วงงานที่อาจจะไม่สร้างความมั่นคงในการทำงานให้กับคนพิการ จึงขอเสนอให้ตัดเรื่องการจัดจ้างเหมาช่วงงานออกจากมาตรา 35 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวเพื่อให้สอดคล้องกับการเรียกร้องการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมต่อแรงงานในภาพรวมของประเทศและเปิดโอกาสให้นายจ้างได้ใช้ทางเลือกอื่นที่สมเหตุสมผลและมีความเป็นธรรมตามหลักการและเหตุผลของการร่างกฎหมายฉบับนี้
ขณะเดียวกัน คปก.มีความเห็นเพิ่มเติมด้วยว่า คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่หนึ่งในการวินิจฉัยและมีคำสั่งเพิกถอนการกระทำหรือห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ แต่เนื่องจากองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ ดังกล่าวมีนายกเป็นประธาน และปลัดกระทรวงต่างๆ เป็นกรรมการทำให้การประชุมของคณะกรรมการฯ ไม่คล่องตัว คปก.เห็นว่าควรกำหนดให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม เพื่อให้มีอำนาจหน้าที่ในการรับเรื่องร้องเรียน ตรวจสอบ ไกล่เกลี่ย ประนีประนอม วินิจฉัย ติดตามและเสนอแนะการแก้ไขปัญหาการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ
ชวนรณรงค์เข้าชื่อเสนอ พ.ร.บ.เสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ
ระบุ ร่างของ พม. ให้เหตุผลทางวิชาการ ทางศาสนา และเพื่อประโยชน์สาธารณะ เป็นข้อยกเว้น เป็นการทำลายหัวใจของความเท่าเทียมกัน
4 กันยายน 2555 ภาควิชาและศูนย์สตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกจดหมายเปิดผนึกเชิญชวนประชาชน ร่วมรณรงค์ และเข้าชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ (ภาคประชาชน)
โดยเหตุผลของการเชิญชวนการรณรงค์ และเสนอร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ ฉบับประชาชน เกิดขึ้นจากการที่ร่าง พ.ร.บ.ความเสมอภาคระหว่างเพศ โดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่กำลังจะนำเข้าสู่คณะรัฐมนตรีนั้น ยังมิอาจเรียกได้ว่าเป็นกฎหมายที่ส่งเสริมความเสมอภาค และสร้างหลักประกันความเท่าเทียมให้กับคนทุกเพศอย่างแท้จริง เมื่อเทียบเคียงกันกับร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ ฉบับประชาชน ที่มีความสมบูรณ์ในการส่งเสริมความเท่าเทียมกัน และให้หลักประกันกับคนทุกเพศ ไม่ว่าจะมีอัตลักษณ์ทางเพศแบบใด "กล่าวอย่างง่ายว่า เกย์ กะเทย ทอมดี้ หญิงรักหญิง ชายรักชาย คนข้ามเพศ หรือเพศใดๆ ก็จะได้รับความคุ้มครองอย่างเสมอภาคกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา 3 ของ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับราชการ กล่าวถึง "การไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุที่เป็น ชาย หรือ หญิง หรือมีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศกำเนิด ยกเว้น มีเหตุผลทางวิชาการ ทางศาสนา และเพื่อประโยชน์สาธารณะ" ข้อยกเว้นนี้ เป็นการทำลายหัวใจของความเท่าเทียมกัน เสมอภาคกันระหว่างเพศอย่างแท้จริง และยังขัดแย้งกับพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยได้ลงนามไว้อย่าง อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDEW) เป็นต้น" เอกสารเชิญชวนระบุ
ในจดหมายที่ส่งทางอีเมลดังกล่าวยังระบุว่า แม้เจ้าหน้าที่จากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จะอ้างถึงการเติมข้อยกเว้นนั้น มาจากการแก้ไขโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 ในมาตรา 30 ได้รับรอง บุคคลย่อมเสมอภาคและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย การเลือกปฏิบัติด้วยแห่งเพศ การศึกษา ฐานะเศรษฐกิจ สุภาพ ความพิการ อายุ ความเชื่อทางศาสนา ความคิดทางการเมือง เป็นสิ่งที่กระทำมิได้ โดยบันทึกเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรานี้ได้กล่าวถึง การให้ความคำนึงของวิถีทางเพศ (Sexual Orientation) และอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity) ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการพูดถึงประเด็นนี้ ดังนั้น หากท่านเห็นถึงความสำคัญของสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคกันของมนุษย์หากท่านเห็นว่าเพศ จะต้องไม่เป็นเป็นอุปสรรคในการมีสิทธิ เสรีภาพ และการแสวงหาโอกาสที่ดีในชีวิต
"เราเชื่อเหลือเกินว่าสิ่งเหล่านี้ไม่อาจได้มาจากการหยิบยื่น หรือการมอบให้อย่างมีเงื่อนไข เพราะเราเชื่อเหลือเกินว่าสิทธิ เสรีภาพ และการสร้างความเสมอภาคกันมาจากการลงมือทำ"
วุฒิสภาพิจารณาร่างฯ งบรายจ่ายปี 56
การประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 ในวันนี้ เป็นการพิจารณาต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 โดยสาระสำคัญของการอภิปราย และลงมติในวาระ 2 คือการพิจารณารายละเอียดของร่างกฎหมายวานนี้ มุ่งเน้นการอภิปรายถึงการจัดสรรงบประมาณในภารกิจต่างๆ ทั้งด้านสังคม ความมั่นคง เศรษฐกิจ และการบริหารจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น
สำหรับการอภิปรายพิจารณาในวันนี้ จะเป็นการอภิปรายในภาพรวมการจัดสรรงบประมาณ โดยเข้าสู่การพิจารณามาตรา 3 ว่าด้วยวงเงินงบประมาณทั้งหมดจำนวน 2.4 ล้านบาท โดยร่างกฎหมายฉบับนี้มีด้วยกันรวม 34 มาตรา โดยวุฒิสภาวางกรอบที่จะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเวลา 22.00 น.วันนี้ เพื่อลงมติเห็นชอบผ่านร่างกฎหมาาย ก่อนส่งกลับให้รัฐบาลนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อม เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
การอภิปรายในวันนี้ มี ส.ว.ที่แสดงเจตจำนงอภิปราย 48 คน ซึ่งล่าสุด นายโสภณ ศรีมาเหล็ก ส.ว.น่าน อภิปรายแสดงความห่วงใย เรื่องการจัดสรรงบประมาณ การแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ 3.5 แสนล้านบาท ที่ควรมีการบริหารจัดการที่ดี เพราะขณะนี้ยังพบว่า มีปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งในหลายพื้นที่
กัมพูชาเตรียมเนรเทศผู้ร่วมก่อตั้ง 'เดอะไพเรตเบย์'
ความคืบหน้ากรณี Gottfrid Svartholm Warg หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเว็บเดอะไพเรตเบย์ เว็บแชร์ไฟล์ยอดฮิตสัญชาติสวีเดน ถูกจับกุมที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา จากการร้องขอของประเทศสวีเดน ทั้งนี้ กัมพูชายังไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับสวีเดน
ล่าสุด (4 ก.ย.55) สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า โฆษกตำรวจแห่งชาติกัมพูชา เกิด จันทฤทธิ์ (Kirt Chantharith) ระบุว่า กัมพูชาจะเนรเทศ Warg ออกนอกประเทศ โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายคนเข้าเมือง ส่วนปลายทางจะเป็นที่ใดนั้นขึ้นอยู่กับทางสวีเดน และขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดวันที่จะเนรเทศ
อนึ่ง เว็บไซต์เดอะไพเรตเบย์เป็นเว็บไซต์แชร์ไฟล์สัญชาติสวีเดน เปิดให้บริการตั้งแต่พฤศจิกายน 2546 และกล่าวอ้างว่าเป็น "เว็บไซต์บิตทอร์เรนต์แทร็กเกอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก" เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อเล็กซาจัดอันดับให้เดอะไพเรตเบย์เป็นเว็บที่มีผู้เข้าชมมากเป็นอันดับที่ 80 ของโลกและอันดับที่ 14 ของสวีเดน
เมื่อปี 2552 ศาลสวีเดนตัดสินว่า เดอะไพเรตเบย์มีความผิดฐานละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์ และลงโทษจำคุก 4 ผู้ก่อตั้ง คือ Gottfrid Svartholm, Fredrik Neij, Peter Sunde และ Carl Lundstroem เป็นเวลา 1 ปี พร้อมปรับเป็นเงิน ราว 11.2 ล้านบาท ต่อมา ในชั้นอุทธรณ์ ศาลได้ลดโทษผู้ร่วมก่อตั้ง 3 คน เหลือจำคุก 4-10 เดือน และปรับเป็นเงินราว 21.5 ล้านบาท ส่วน Warg ซึ่งไม่ได้มาศาล เนื่องจากอาการเจ็บป่วย ศาลอุทธรณ์ตัดสินจำคุกเขาเป็นเวลา 1 ปีและปรับเป็นเงินราว 34.3 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในวันที่ต้องมารับโทษเมื่อช่วงต้นปีนี้ (2555) เขาไม่ได้ปรากฏตัว
ผู้บริโภคอาเซียนยื่นนายกฯ เร่งออก พรบ. องค์การฯคุ้มครองผู้บริโภค
4 กันยายน 2555 องค์กรผู้บริโภคอาเซียนเข้ายื่นจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้เร่งออก พ.ร.บ. องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อเป็นกลไกใหม่ในการเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ห้ามผลิต และนำเข้าผลิตภัณฑ์อันตรายทั้งภูมิภาคอาเซียน ถ้ามีการประกาศห้ามผลิต/นำเข้า ผลิตภัณฑ์ชนิดใดชนิดหนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะต้องถูกห้ามผลิต/นำเข้าในประเทศอื่นๆ ที่เป็นสมาชิกอาเซียนด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวทั้งภูมิภาค
ในวันเดียวกัน เวทีประชุมสภาผู้บริโภคอาเซียน ณ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ ตัวแทนสมาชิกของประเทศต่างๆ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ ได้นำเสนอข้อมูลในเรื่องอันตรายของผลิตภัณฑ์ที่หลายประเทศในอาเซียนได้สั่งห้ามยกเลิกการใช้และห้ามนำเข้าไปนานแล้ว แต่ยังพบในอีกหลายประเทศร่วมภูมิภาคอาเซียน
นายเซีย เซ็งชุน (Mr. Seah Seng Choon) ผู้อำนวยการสมาคมผู้บริโภคแห่งสิงคโปร์ กล่าวว่า “ในสิงคโปร์การคุ้มครองผู้บริโภครุดหน้าไปมาก เมื่อสิบปีที่แล้วได้แบน แร่ใยหินหรือแอสเบสตอสไปแล้ว พอได้ฟังข้อมูลที่ประเทศไทยวันนี้ ที่กระทรวงอุตสาหกรรมเลื่อนการแบนไปอย่างน้อยห้าปี รู้สึกตกใจมากเพราะแม้ผลของโรคที่เกิดจากแร่ใยหินไม่ได้เห็นในเวลานี้ แต่ผลกระทบจากการสะสมเริ่มแล้วตั้งแต่วันนี้ ดังนั้นจึงเห็นด้วยว่าจะต้องแบนแร่ใยหินทันที เพราะจะได้ไม่มีผลร้ายมากขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตามในมุมมองเรื่องการแบนสินค้าที่เกิดขึ้นในประเทศของสิงคโปร์และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกันนั้น หากขาดประเทศไทยที่เดียวที่ไม่มีการแบน ประเทศไทยก็ต้องเป็นแหล่งเดียวที่รับสินค้าอันตรายเช่นแร่ใยหินเข้าประเทศไทยแทนประเทศอื่นที่ได้สั่งแบนสินค้าไปแล้ว”
นางสาวโมฮานา ปรียา (Ms. Mohana Priya) จากสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมาเลเซีย กล่าวว่า “ในมาเลเซียนั้น สารบีพีเอ ถูกแบนโดยไม่ยากนักเพราะมีข้อมูลวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ยืนยันชัดเจนว่า สารบีพีเอในขวดนม มีผลกระทบต่อสุขภาพทารกและเด็ก ซึ่งทำให้รัฐบาลมาเลเซียตัดสินใจอย่างไม่ยากเย็นในการห้ามใช้สารบีพีเอในขวดนม เพราะว่าเป็นเรื่องสำคัญต่อสุขภาพของอนาคตของชาติที่จะละเลยมิได้”
ในขณะที่ ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้จัดการแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) กล่าวว่า จากประสบการณ์การจัดการปัญหาสินค้าไม่ปลอดภัย หน่วยงานราชการเกี่ยงกันไปมา ไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงเช่น กรณีของบีพีเอ หรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับแร่ใยหิน ทั้งที่มีหลักฐานทางวิชาการอย่างชัดเจนว่ามีอันตราย ดังนั้นจึงเห็นด้วยหากประเทศใดในอาเซียนแบนสินค้าใดสินค้าหนึ่ง ประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียนควรแบนด้วย ไม่เช่นนั้น สินค้าอันตรายที่ถูกประเทศอื่นยกเลิกแล้วจะเข้ามาทุ่มตลาดในประเทศที่ยังไม่มีมาตรการเกี่ยวกับสินค้านั้น”
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “นายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ควรเร่งผลักดันให้เกิดองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะร่างกฎหมายฉบับนี้ต้องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบอีกครั้งก่อนที่จะเป็นกฎหมาย ซึ่งองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคจะเป็นกลไกใหม่ในการรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคและเป็นตัวแทนในประเด็นต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภคในวงกว้างเช่น สินค้าอันตราย ไม่ว่าจะเป็นกรณีแร่ใยหิน หรือ สารบีพีเอในขวดนม ที่มีการยกเลิกการใช้ในหลายประเทศในอาเซียน ขณะที่ประเทศไทยไม่สามารถยกเลิกได้ เพราะไม่มีหน่วยงานที่อยากจะรับผิดชอบผู้บริโภคอย่างชัดเจนเบ็ดเสร็จได้”
สภาผู้บริโภคอาเซียนประกาศปฏิญญา SEACC กรุงเทพฯ '1 ประเทศแบน 10 ประเทศแบน'
เรียกร้องให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคอาเซียน และประเทศสมาชิกยกเลิกการใช้แร่ใยหินและขวดนมเด็กที่มีสารบีพีเอเป็นส่วนประกอบเป็นการด่วน และสนับสนุนให้ประเทศไทยมี พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคทันที
5 กันยายน 2555 สภาผู้บริโภคอาเซียน ได้ประกาศ ปฏิญญา SEACC กรุงเทพฯ 2555 เพื่อเรียกร้องให้เกิดความร่วมมือในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกันของรัฐบาลในอาเซียน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรผู้บริโภค ตัวแทนองค์กรผู้บริโภคต่างยืนยันที่จะร่วมมือกันคุ้มครองผลประโยชน์ ของผู้บริโภคในทุกภาคส่วน และเป็นตัวแทนของผู้บริโภคในกระบวนการตัดสินใจในเรื่องมาตรการและนโยบายที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภคในอาเซียนให้มีมตราฐานเดียวกัน
รองศาสตราจารย์ ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานกรรมการอำนวยการสภาผู้บริโภคอาเซียน และประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า“ปฎิญญาสภาผู้บริโภคอาเซียน กรุงเทพฯ ๒๕๕๕ ตกลงกันในการร่วมกันแบนสินค้า แอสเบสตอสและ บีพีเอ เช่นเดียวกับที่สิงคโปร์และมาเลเซียได้แบนสำเร็จแล้ว โดยยืนยันให้มีมาตรการอัตโนมัติที่ประเทศหนึ่งแบนสินค้าใด ประเทศอื่นในอาเซียนต้องแบนสินค้านั้นทันที ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีในการร่วมมือกันในครั้งนี้ การประชุมสภาอาเซียนผู้บริโภคนี้ ยังเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนความรู้และความร่วมมือระหว่างกัน ดังเช่นที่ปฎิญญาได้ให้การสนับสนุนการเกิดขึ้นขององค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในไทย นอกจากนี้ตัวแทนจากประเทศอินโดนีเซีย ก็ให้ความสนใจในประเด็นเรื่องข้อมูลผลกระทบ FTA ของไทย และต้องการศึกษาผลกระทบในอินโดนีเซียเช่นกัน ก็สามารถร่วมมือกันได้ เพื่อหาวิธีร่วมกันในการจัดการปัญหาในระดับอาเซียน ซึ่งเป็นกลไกที่เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ผู้บริโภคอย่างเท่าเทียมกัน”
นางสาวอินดา สุขมานิวซิงค์ ประธานกรรมการบริหารสภาผู้บริโภคอาเซียน กล่าวต่อว่า “เมื่อค่ำวานนี้มีความยินดีที่ได้มีโอกาสพบตัวแทนรัฐบาลไทยซึ่งดูแลงานคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งตัวแทนรัฐบาลไทยได้ให้สัญญาณที่ดีในเรื่องที่จะทำงานร่วมกันเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ผู้บริโภคร่วมกัน ไม่ว่าจะเกิดปัญหากับผู้บริโภคในประเทศไหนในภูมิภาคอาเซียน เราทุกคนควรมองว่าเป็นปัญหาร่วมกันไม่ใช่ของประเทศใดประเทศหนึ่ง”
นายเซีย เซ็งชุน ผู้อำนวยการสมาคมผู้บริโภคแห่งสิงค์โปร์ กล่าวว่า “ความร่วมมือระหว่างองค์กร สำคัญมาก เช่น งานประชุมนี้เราก็ได้มีโอกาสแชร์ประสบการณ์ทำให้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทยไหนบ้างอยากให้มีผู้บริโภคมาร่วมกันมากกว่านี้เวลาที่ออกไปให้ความรู้ผู้บริโภคจะได้รู้ว่าพวกเขาพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภคกันอย่างไร หรือได้รู้ว่ากฎหมายที่ออกมาเช่น LEMON LAW ของสิงคโปร์ เป็นกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองผู้บริโภคจากผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน”
นางสาวโมฮานา ปรียา สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมาเลเซีย กล่าวว่า “เราจะมีการประสานงานระหว่างหน่วยงานรัฐและแลกเปลี่ยนเรื่องการตัดสินใจของหน่วยงานรัฐซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจต่างๆ เพื่อให้เกิดความเท่าทันในการเท่าทันปัญหาได้อย่างทันสถานการณ์”
ชงแก้กม.จัดการที่ราชพัสดุ
ธนารักษ์เดินหน้ายกร่างกฎหมายใหม่ เพิ่มอำนาจบริหารจัดการที่ราชพัสดุ-ประเมินราคาที่ดิน
7 ก.ย. 55 นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการแก้กฎหมายของกรมธนารักษ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ทั้งในส่วนของที่ราชพัสดุ การประเมินราคาที่ดิน รวมถึงส่วนอื่นๆ ให้มีศักยภาพมากขึ้น ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าน่าจะแล้วเสร็จในปี 2557 โดยขั้นตอนในขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการของกฤษฎีกาพิจารณาตีความกฎหมายในส่วนต่างๆ ว่ามีความถูกต้องและเหมาะสมหรือไม่
ทั้งนี้ แนวทางการแก้ไขกฎหมายเบื้องต้น ได้แก่ การมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ของกรมธนารักษ์มีอำนาจในการบริหารจัดการที่ราชพัสดุที่อยู่ในความดูแลของหน่วยงานต่างๆ มากขึ้นกว่าในปัจจุบัน เพราะที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ของกรมฯ มักประสบปัญหาการมีอำนาจไม่เพียงพอ เมื่อต้องมีการเรียกคืนที่ดินที่เป็นที่ราชพัสดุจากหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในส่วนอื่นๆ ได้อย่างเต็มที่ และการแก้กฎหมายเกี่ยวกับการประเมินราคาที่ดิน โดยการมอบอำนาจในการบริหารจัดการให้เจ้าหน้าที่ของกรมโดยตรง จากปัจจุบันประธานในเรื่องดังกล่าวกับอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย ซึ่งทำให้การดำเนินงานค่อนข้างล่าช้า
“มีการหารือเรื่องนี้กับ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลังมาโดยตลอด ซึ่งก็ได้รับความเห็นชอบในหลักการ” นายนริศกล่าว
ส่วนที่ราชพัสดุในบริเวณอื่นๆ นั้น ก็จะมาพิจารณาดูถึงทำเล ความเหมาะสม และหากบางพื้นที่ใดเป็นที่ตาบอด กรมอาจพิจารณาซื้อที่ดินเพิ่มเติมเพื่อเปิดทางในพื้นที่นั้นให้มีทำเลดีขึ้น และนำมาใช้ประโยชน์
สภาพม่าผ่าน กม.ลงทุนต่างชาติไม่จำกัดทุนเริ่มต้น
7 ก.ย. 55 ย่างกุ้ง - รัฐสภาพม่าได้ลงมติผ่านร่างกฎหมายการลงทุนของต่างประเทศในวันศุกร์นี้ ซึ่งสมาชิกบางคนกล่าวว่า หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญก็คือ ได้ยกเลิกที่เคยระบุให้นักลงทุนจากต่างประเทศจะต้องมีเงินทุนอย่างน้อย 5 ล้านดอลลาร์สำหรับการเริ่มต้นก่อตั้งบริษัทร่วมทุนกับธุรกิจในท้องถิ่น
กฎหมายผ่านออกมาในขณะที่บริษัทต่างชาติจำนวนมากรอจังหวะเข้าไปลงทุนในพม่า ซึ่งเปิดประเทศอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ระบบทหารมอบอำนาจให้แก่รัฐบาลกึ่งพลเรือนของประธานาธิบดีเต็งเส่ง เมื่อ 18 เดือนที่แล้ว ซึ่งการปฏิรูปของรัฐบาลได้ทำให้โลกตะวันตกยกเลิกการคว่ำบาตร
อย่างไรก็ตาม บริษัทลงทุนส่วนใหญ่ยังคงรอดูรายละเอียดของกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งจะต้องส่งไปให้ประธานาธิบดีพิจารณา และลงนามประกาศออกมายังคับใช้ หรือไม่ก็อาจจะใช้สิทธิยับยั้งในบางเรื่อง หรือทั้งหมด เช่นที่เคยทำมาก่อนหน้านี้
กฎหมายฉบับนี้อยู่ในรัฐสภามา 5 เดือนแล้ว และมีการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ระหว่างทำเนียบประธานาธิบดี กับสำนักงานรัฐสภา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในหลายเรื่องดำเนินการโดยบรรดาผู้ช่วยประธานาธิบดีที่โต้แย้งว่า การมีข้อจำกัดมากมายจะทำให้ไม่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนต่างชาติ และจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มทุนนิยมผู้ใกล้ชิดระบอบทหารเดิมที่ครอบครองเศรษฐกิจ และบริการต่างๆ ในขณะนี้
นายเต็งยู้น (Thein Nyunt) ส.ส.คนหนึ่งบอกแก่รอยเตอร์ว่า ร่างก่อนหน้านี้เคยจำกัดเอาไว้ 13 แขนงให้นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกิน 49% แต่ร่างฉบับใหม่ให้ถือได้ 50% ซึ่งรวมทั้งแขนงการผลิต การเกษตร การเพาะเลี้ยงสัตว์ และการประมงด้วย
แหล่งข่าวเปิดเผยกับรอยเตอร์ก่อนหน้านี้ว่า ประธานาธิบดีประสงค์ที่จะให้ยกเลิกการจำกัดเงินทุนเริ่มต้น และขยายสัดส่วนหุ้นที่ให้เข้าถือได้ให้สูงขึ้น.
ชงคลังออกกม.กองทุนสำรองฯเป็นภาคบังคับ
7 ก.ย. 55 สมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเสนอคลังออกกฎหมายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นภาคบังคับ พร้อมเสนอเปลี่ยนรูปแบบจ่ายคืนหลังเกษียณเป็นทยอยจ่าย
นายพิสิฐ ลี้อาธรรม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะนายกสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กล่าวว่า เพื่อให้การบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทเอกชนและรัฐวิสาหกิจมีความคล่องตัวมากกว่าในปัจจุบัน จึงเสนอกระทรวงการคลังแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อให้พนักงานบริษัทและประชาชนได้มีโอกาสเป็นสมาชิกทุกคน เพื่อเป็นกฎหมายภาคบังคับเหมือนกับกองทุนประกันสังคม คาดว่าคงไม่สร้างภาระกับผู้ประกอบการมากจนเกินไป
นอกจากนี้ ยังเสนอให้เปลี่ยนรูปแบบการจ่ายเงินคืนเมื่อสมาชิกเกษียณอายุทำงานหลังมีอายุ 55 ปีขึ้นไป ด้วยการชะลอการนำเงินออกจากกองทุนไม่ให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้รับผลกระทบมากจนเกินไป ด้วยการจ่ายเงินคืนเพียงบางส่วน โดยแบ่งจ่ายคืนเป็นรายเดือน รายไตรมาส รายปี แทนการจ่ายเป็นก้อนเดียวทั้งหมด เพราะในปี 2-3 ปี ข้างหน้าไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพต้องจ่ายเงินคืนสมาชิกจำนวนมาก
ปัจจุบันมีเงินไหลเข้ากองทุนประมาณ 75,000 ล้านบาทต่อปี ขณะที่เงินไหลออกมีประมาณ 50,000 ล้านบาทต่อปี รวมถึงควรเปิดโอกาสให้สมาชิกส่งเงินสมทบเข้ากองทุนได้เกินกว่าที่นายจ้างส่งสมทบเข้ากองทุน เพื่อให้เป็นเงินสะสมของสมาชิกได้มีเงินใช้ภายหลังเกษียณอายุทำงาน
นายมโนชัย สุดจิตร เลขาธิการสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กล่าวว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปัจจุบันมีทั้งบริษัทเอกชน รัฐวิสาหกิจ มีบริษัทและรัฐวิสาหกิจตั้งกองทุน 11,793 ราย ตั้งกองทุนขึ้นมาเป็นกองทุนเดี่ยวหรือตั้งเป็นกองทุนหลายบริษัทแล้วรวมเป็น 1 กองทุน ปัจจุบันมีอยู่ 453 กองทุน มีสมาชิกประมาณ 2.34 ล้านราย มูลค่ากองทุนรวมทั้งสิ้น 665,000 ล้านบาท
โดยกองทุนเติบโต 12% ต่อปี มีอัตราสมทบของนายจ้างประมาณ 6.5% ส่วนสมาชิกสมทบประมาณ 4.8% สำหรับผลตอบแทนของกองทุนในช่วงที่ผ่านมา หากเป็นกองทุน Employee point หรือสมาชิกเลือกแนวทางการลงทุนได้ เพื่อเน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทและมีความเสี่ยงสูงกว่า เช่น กองทุนของ ธ.ก.ส. จะได้รับผลตอบแทนประมาณ 8% หากลงทุนในระดับปานกลางผลตอบแทน 5% หากลงทุนแบบมั่นคงผลตอบแทนประมาณ 3-4%