รอบอาทิตย์ที่สอง ก.ย.55 : เอ็นจีโอค้าน กรอ. เสนอแก้กฎหมาย 37 ฉบับ

รอบอาทิตย์ที่สอง ก.ย.55 : เอ็นจีโอค้าน กรอ. เสนอแก้กฎหมาย 37 ฉบับ

เมื่อ 14 ก.ย. 2555

 

เอ็นจีโอรวมตัวค้าน 3 บิ๊กเศรษฐกิจแก้กฎหมาย 37 ฉบับ
 
สืบเนื่องจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สมาคม หรือ กรอ. (สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ สมาคมธนาคารไทย) เตรียมจะเสนอต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในวันพุธที่ 12 กันยายนนี้ ให้แก้กฎหมาย และกฎระเบียบต่างๆ รวม 37 ฉบับ โดยอ้างว่า ล้าหลัง และเป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก
 
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากกฎหมายที่ภาคเอกชนต้องการแก้ 37 ฉบับนั้น มีบางฉบับที่ภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเห็นด้วย เช่น พ.ร.บ.องค์การอิสระสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ที่ควรต้องนำกฎหมายภาคประชาชนมาร่วมพิจารณา แต่ไม่เห็นด้วยในการเสนอขอแก้ไขในหลายฉบับ เช่น  พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าไม่ปลอดภัย  2551,  พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อม  2535 ฯลฯ จึงไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ กรอ.ที่ให้ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อพัฒนา ปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ประกอบด้วยผู้แทนภาคเอกชน ผู้แทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง  ตลอดจนนักวิชาการนักกฎหมาย แต่ต้องมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง หรือมิเช่นนั้นก็ควรส่งให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ที่มี ศ.คณิต ณ นคร เป็นประธานไปดำเนินการที่มีการรับฟังความคิดเห็นที่รอบด้าน
 
รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ไม่เห็นด้วยกับการเสนอแก้ พ.ร.บ. พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 ตามที่ กรอ.เสนอ ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิก  พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ที่เสนอให้ไปใช้  พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้าแทนนั้น เพราะสินค้าและบริการที่เป้นการผูกขาด กลไกการแข่งขันไม่เกิด ดังนั้นจึงยังจำเป็นต้องมี  พ.ร.บ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 และต้องแก้ไข  พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้าเพื่อให้แข่งขันได้จริง
 
ด้านนางสาวสุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ไม่เห็นด้วยกับการที่สมาคมโรงพยาบาลเอกชนเสนอให้ยกเลิกธรรมนูญสุขภาพที่ไม่ให้ภาครัฐสนับสนุนภาษีหรือสิทธิพิเศษการลงทุนกับธุรกิจการแพทย์ 

ที่มาข่าว ประชาไท

 

ศาล รธน.ไม่รับคำร้องยื่นวินิจฉัย พ.ร.บ.คอมพ์ชี้ไม่ขัด รธน.

13 ก.ย. สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่เอกสารข่าวระบุถึงผลการพิจารณาของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกรณีศาลอาญาส่งคำโต้แย้งของจำเลย คือนายคธา ป. ที่ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความไม่เป็นมงคลเกี่ยวกับพระมหากษัจตริย์บนเว็บไซต์แห่งหนึ่งช่วงระหว่างวันที่ 22 เม.ย. 52 และ วันที่ 14-15 ต.ค 52 จนถูกดำเนินคดีฐานผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550
       
โดยนายคธาแย้งว่า ถ้อยคำในมาตรา 14 (2) ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่ระบุว่า “....โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน...” จากบทบัญญัติเต็มที่ว่า การนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน มีโทษสูงสุดคือจำคุกไม่เกิน 5 ปี นั้น เป็นบทบัญญัติที่ขาดความชัดเจนอันขัดหลักกฎหมายอาญาและเปิดช่องให้ผู้มีอำนาจใช้ดุลพินิจที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับจำเลยจึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 40 (3) ที่รับรองสิทธิในกระบวนการยุติธรรมโดยบัญญัติไว้ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะให้คดีของตนได้รับการพิจารณาอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม
       
ซึ่งการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 14 (2) ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์นั้นมุ่งคุ้มครองความมั่นคงประเทศ และความสงบเรียบร้อยของประชาชนโดยส่วนรวม ซึ่งเป็นไปตามหลักนิติธรรม และการกำหนดความผิดทางอาญาแก่บุคคลตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ถูกต้องและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 40 (3) คำโต้แย้งของจำเลยจึงไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 211 ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
 
 
 
แม่ทัพภาค 4 เล็งใช้มาตรา 21 พ.ร.บ.ความมั่นคง กับผู้เห็นต่าง
 
12 กันยายน 2555 ที่มหาวิทยาราชภัฏยะลา พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาค 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ให้สัมภาษณ์ก่อนการพบปะเสวนากับบุคลากรทางการศึกษากรณีการพบปะกลุ่มบุคคลที่มีแนวคิดต่างจากรัฐ 93 คน ที่ประกาศจุดยืนยุติการต่อสู้ด้วยความรุนแรงเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2555 ที่จังหวัดนราธิวาส ว่า อย่าเรียกว่าเป็นการเจรจา แต่เป็นการปฏิบัติตามนโยบายของอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ในเรื่องการเปิดพื้นที่พูดคุยเพื่อให้เกิดสันติภาพกับพี่น้องกลุ่มหนึ่งที่เคยจับอาวุธมาต่อสู่กับรัฐและได้ออกมาปฏิเสธการใช้ความรุนแรง
 
เมื่อผู้ข่าวถามว่า จะมีการนิรโทษกรรมต่อกลุ่มบุคคลเหล่านี้หรือไม่ เนื่องจากบางคนมีคดีติดตัว พล.ท.อุดมชัย กล่าวว่า อย่าเรียกว่านิรโทษกรรม แต่อาจจะใช้มาตรา 21 ของพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคง) ที่ให้มีการอบรมแทนถูกขัง อย่างที่ใช้อยู่ในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาในขณะนี้ เป็นช่องทางในการยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธหรือด้วยความรุนแรง
 
ที่มาข่าว ประชาไท
 
 
อนุญาตถอนอุทธรณ์ คดี112 ‘ธันย์ฐวุฒิ’ เตรียมยื่นขออภัยโทษ
 
12 ก.ย.55  ศาลอาญาอ่านคำสั่งของศาลอุทธรณ์ คดีของนายธันย์ฐวุฒิ (สงวนนามสกุล) จำเลยในความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ  เนื่องจากทางจำเลยยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ไปเมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา ศาลจึงอ่านคำสั่งอนุญาตให้ถอนอุทธรณ์คดีในวันนี้ และให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 2 พ.ค. คดีนี้จึงถึงที่สุดแล้ว
 
อานนท์ นำภา ทนายจำเลยระบุว่า น่าจะมีการถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษได้ภายในสัปดาห์หน้า
 
รัษฎา มนูรัษฏา ทนายความรางวัลสมชาย นีละไพจิตร ให้ความเห็นว่า การสั่งอนุญาตถอนอุทธรณ์นั้นโดยปกติใช้เวลาไม่นาน และไม่ควรจะใช้เวลานานถึง 4 เดือนกว่า เพราะกระทบต่อสิทธิของผู้ต้องขัง นอกจากนี้กรณีที่จำเลยขอถอนอุทธรณ์ ไม่ควรต้องสอบถามอัยการโจทก์ เนื่องจากไม่ได้มีกฎหมายใดระบุให้ต้องสอบถาม และจำเลยประสงค์จะไม่ต่อสู้คดีต่อไปแล้ว แต่หากเป็นกรณีที่อัยการโจทก์ผู้ฟ้องคดีขอถอนอุทธรณ์เอง ศาลต้องถามฝ่ายจำเลย เพราะจำเลยบางคนอาจไม่ยินยอมและต้องการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ให้ถึงที่สุด อย่างไรก็ตาม หากศาลมีคำสั่งให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ขอถอนอุทธรณ์ก็ยังนับว่าเป็น ประโยชน์ต่อจำเลยที่จะได้สิทธิบางประการย้อนหลัง
 
ธันย์ฐวุฒิ กล่าวว่า การที่คำสั่งอนุญาตให้ถอนอุทธรณ์ให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ 2 พ.ค. น่าจะทำให้เขาได้รับสิทธิลดหย่อนโทษตามระบบปกติเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 12 ส.ค.ด้วย ซึ่งเขาได้เป็นนักโทษ “ชั้นกลาง” โดยปกติจะได้รับการลดโทษ 1 ใน 8 ซึ่งเมื่อเทียบแล้วน่าจะประมาณ 1 ปี กับ 7เดือนครึ่ง  
 
ที่มาข่าว ประชาไท 
 
 
ชาวไร่ยาสูบค้านร่าง ก.ม.ควบคุมยาสูบ หวั่นทำลายอาชีพปลูกใบยา
 
นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง รับข้อเรียกร้องจากเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ และตัวแทนสมาคมผู้บ่มยา เพื่อคัดค้านการยกร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคยาสูบ ระบุว่า อาจจะทำให้เกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบพันธุ์เวอร์จิเนีย พันธุ์เบอร์เลย์ ที่ปลูกใบยาสูบมานับร้อยปี ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กว่า 30 จังหวัด ต้องเลิกอาชีพยาสูบ โดยเป็นร่างกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเกษตรกร ทั้งนี้ หากคลังเห็นชอบตามกฎหมายที่กำลังยกร่าง จะกระทบต่อเกษตรกรโรงงานบ่มยา เงินหมุนเวียนในระบบ และกระทบรายได้เข้ารัฐ 5-6 หมื่นล้านบาทต่อปี ผู้เกี่ยวข้องจึงยังไม่ควรนำร่างฯ เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แต่ควรระดมความเห็นอย่างรอบด้าน และพิจารณาว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
 
 
 
คลังถกพรบ.ควบคุมการบริโภคยาสูบ ป้องผู้ปลูกยาสูบ
 
นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังจากการหารือและรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้ผลิตและเพาะปลูกใบยาว่าการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบและกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ควรมีการพิจารณาอย่างรอบด้าน โดยสาระสำคัญในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติควบคุมการบริโภคยาสูบ มีดังนี้
 
1. เนื้อหาในพระราชบัญญัติควบคุมการบริโภคยาสูบต้องไม่ทับซ้อนกับพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 ของกรมสรรพสามิต
 
2. พระราชบัญญัติควบคุมการบริโภคยาสูบไม่ควรลิดรอนสิทธิที่มีอยู่เดิมของผู้ผลิตยาสูบ รวมถึงผู้เพาะปลูกใบยาสูบ ซึ่งตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 กระทรวงการคลังมีบทบาทที่ชัดเจนในการควบคุมดูแลผู้เพาะปลูกใบยาสูบภายในประเทศ
 
3. การกำหนดมาตรฐานต่างๆ ตามพระราชบัญญัติควบคุมการบริโภคยาสูบจะต้องเป็นไปตามหลักมาตรฐานสากลและไม่ส่งผลกระทบต่อผู้เพาะปลูกใบยาสูบภายในประเทศ
 
4. ในหมวดที่ 7 กองทุนเพื่อการควบคุมการบริโภคยาสูบ ตามพระราชบัญญัติควบคุมการบริโภคยาสูบ กระทรวงการคลังเห็นว่ากองทุนเพื่อการควบคุมการบริโภคยาสูบในสำนักงานคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบ อาจไมสอดคล้องกับวินัยทางการเงินและการคลังของกระทรวงการคลัง รวมถึงอาจซ้ำซ้อนกับการดำเนินงานของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ หรือ สสส.
 
5. กระทรวงการคลังมีจุดยืนที่สำคัญที่จะสนับสนุนพระราชบัญญัติควบคุมการบริโภคยาสูบในส่วนของการคุ้มครองสุขภาพของผู้บริโภค โดยเฉพาะลดการเข้าถึงบุหรี่ของเด็กและเยาวชน
 
6. สำหรับการขึ้นภาษียาเส้นจาก 1 บาท/กิโลกรัม เป็น 10 บาท/กิโลกรัม กระทรวงการคลังกำลังศึกษาแนวทางการช่วยเหลือผู้เพาะปลูกใบยาเพื่อให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ในขณะเดียวกันก็จะจัดเก็บภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยกับผู้ผลิตยาเส้นและบุหรี่
 
ที่มาข่าว กรุงเทพธุรกิจ
 
 
ครม. เห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.จัดการศึกษาคนพิการ
 
11 กันยายน  ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ (ฉบับที่) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ และให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
  
ทั้งนี้สาระสำคัญคือ 1.กำหนดให้คำว่า “ครูการศึกษาพิเศษ”
2.กำหนดให้เพิ่มเติมกรรมกรผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ จากเดิมจำนวน 13 ครน เป็น 14 คน และให้ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษเป็นกรรมการและเลขานุการ 
3.กำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อรองรับครูการศึกษาพิเศษ ที่มีวุฒิทางการศึกษาพิเศษระดับปริญญาตรี ซึ่งทำการสอนและได้รับเงินเพิ่ม เป็นครูการศึกษาพิเศษ ตามพ.ร.บ.นี้ 
 
ที่มาข่าว มติชนออนไลน์
 
 
ล่าชื่อร้อง ป.ป.ช.ห้าม "ข้าราชการพลังงาน" เป็นบอร์ด "กิจการด้านพลังงาน"
 
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เชิญชวนประชาชนทั่วไปชวนร่วมลงชื่อเรียกร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ห้ามไม่ให้ปลัดกระทรวงพลังงาน และข้าราชการในกระทรวงพลังงานเป็นกรรมการในบริษัทที่ประกอบกิจการด้านพลังงาน เหตุหวั่นเกรงผลประโยชน์ทับซ้อนจากการปฏิบัติหน้าที่
 
ข้อมูลในหน้าเว็บไซต์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคระบุว่า มีหลักฐานปรากฏชัดว่า ขณะนี้ มีเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูงในกระทรวงพลังงานหลายตำแหน่ง เข้าไปมีส่วนได้เสียในฐานะเป็นกรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน พนักงานหรือลูกจ้างในธุรกิจของเอกชนซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับ ดูแล ควบคุม หรือตรวจสอบของหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นสังกัดอยู่หรือปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งโดยสภาพของผลประโยชน์ของธุรกิจเอกชนนั้นอาจขัดหรือแย้งต่อประโยชน์ส่วนรวม หรือประโยชน์ทางราชการ หรือกระทบต่อความมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น อันเป็นการดำเนินกิจการต้องห้ามตามความในมาตรา 100 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
 
เพื่อยับยั้งป้องกันการก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติและประชาชน จึงขอเรียกร้องให้ ป.ป.ช.ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 100 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว กำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องห้ามมิให้ดำเนินกิจการตามความในบทบัญญัติดังกล่าวเพิ่มเติมโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดังนี้ 1.ปลัดกระทรวงพลังงาน 2.รองปลัดกระทรวงพลังงาน 3.อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ 4.อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน 5.อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน 6.ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน
 
ที่มาข่าว ประชาไท 
 
 
ผู้บริโภคเสนอเพิ่มสัดส่วนประชาชนผู้เสนอกฎหมายเป็นกรรมาธิการ เกรงมีปัญหาขัดรัฐธรรมนูญ
 
12 ก.ย. 55 สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นำโดยนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และในฐานะผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย เข้ายื่นหนังสือต่อนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรเสนอเพิ่มสัดส่วนประชาชนผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายเป็นกรรมาธิการพิจารณา กม.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเกรงว่าหากไม่มีสัดส่วนตามที่กำหนดในมาตรา 163 อาจจะเป็นปัญหาได้ และที่ผ่านมาผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายมีสัดส่วนในการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม ทั้งในกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
 
นางสาวสารี  อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และในฐานะผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย กล่าวว่า สืบเนื่องจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่10 สมัยสามัญทั่วไป วันที่ 5 กันยายน2555 มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ..... กรณีการแก้ไขเพิ่มเติมของวุฒิสภา โดยสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมของวุฒิสภาและมีมติกำหนดจำนวนบุคคลที่จะประกอบเป็นกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณา กฎหมายฉบับนี้จำนวน 22 คน โดยตั้งกรรมาธิการฝ่ายสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 11 คน  กรรมาธิการฝ่ายวุฒิสภาจำนวน11 คน แต่เป็นสมาชิกวุฒิสภา 8 คน  เมื่อวันศุกร์ที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา