รอบอาทิตย์สุดท้าย ก.ย. 55 : เวียดนามจำคุก 12 ปี บล็อกเกอร์วิจารณ์รัฐบาล

รอบอาทิตย์สุดท้าย ก.ย. 55 : เวียดนามจำคุก 12 ปี บล็อกเกอร์วิจารณ์รัฐบาล

เมื่อ 30 ก.ย. 2555

 

เวียดนามจำคุก 12 ปีบล็อกเกอร์วิจารณ์รัฐบาล
 
24 ก.ย.55 สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า ศาลเวียดนามได้ตัดสินจำคุกบล็อกเกอร์ 3 รายด้วยความผิดฐานเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อต่อต้านรัฐบาล 
 
บีบีซีระบุว่า การพิจารณาคดีดังกล่าวซึ่งเป็นที่สนใจของสาธารณะ ดำเนินไปอย่างรวบรัดในนครโฮจิมินห์ ภายใต้การรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนา
 
บล็อกเกอร์ทั้งสามถูกกล่าวหาว่าโพสต์บทความการเมืองลงในเว็บไซต์ต้องห้ามชื่อ ชมรมผู้สื่อข่าวเสรี  รวมถึงโพสต์บทความวิจารณ์รัฐบาลในบล็อกส่วนตัว โดย เหงียน วาน ฮาย ซึ่งมีนามปากกาว่า "เดียว เกย" ได้รับโทษสูงสุด 12 ปี
 
ขณะที่ ตา ฝอง ตัน อดีตตำรวจหญิง เจ้าของบล็อกชื่อ ความยุติธรรมและความจริง ถูกตัดสินจำคุก 10 ปี ก่อนหน้านั้นเมื่อเดือนกรกฎาคม แม่ของเธอเสียชีวิตจากการจุดไฟเผาตัวเองหน้าทำเนียบรัฐบาล โดยครอบครัวของเธอบอกว่าไม่แน่ใจว่าการกระทำดังกล่าวเป็นไปเพื่อประท้วงการควบคุมตัวลูกสาวของนาง หรือเพราะความขัดแย้งอื่น ส่วน ฝาน ถัญ ฮาย นักเขียนอีกรายถูกจำคุก 4 ปี
 
กรณีของ "เดียว เกย" ผู้เคยเป็นทหารก่อนจะกลายมาเป็นนักเขียนที่เห็นต่างกับรัฐ เคยถูกพูดถึงโดยบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เมื่อต้นปีที่ผ่านมา
 
"เดียว เกย" กล่าวต่อศาลว่า เขาผิดหวังกับความอยุติธรรม การทุจริต และความเป็นเผด็จการ ซึ่งไม่ใช่ภาพแทนของรัฐ แต่เป็นคนไม่กี่คน
 
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า "เดียว เกย" กล่าวถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของพลเมืองเวียดนามซึ่งได้รับการรับรองภายใต้กฎหมายของประเทศและตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่เวียดนามเป็นภาคี ก่อนที่สัญญาณถ่ายทอดเสียงจะถูกตัดไป
 
ฮา ฮุย โสน ทนายความของ "เดียว เกย" บอกว่า ลูกความของเขาบริสุทธิ์ ส่วนโทษที่ได้รับก็รุนแรงเกินไป ทั้งนี้ เขาระบุด้วยว่า ผู้พิพากษาไม่อนุญาตให้ลูกความของเขาได้ให้การต่อสู้คดีจนจบด้วยเหตุผลว่า เวลามีจำกัด
 
เดือง ติ ตัน อดีตภรรยาของ "เดียว เกย" บอกว่า ตำรวจกักตัวเธอและลูกชายไว้หลายชั่วโมง ทำให้พวกเขาไม่ได้ร่วมฟังกระบวนการพิจารณาคดี
 
เธอบอกกับผู้สื่อข่าวบีบีซีว่า คนทั้งสามถูกตัดสินให้มีความผิดอาญาร้ายแรงภายในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง และว่าประชาชนสามารถเห็นได้ชัดเจนว่านี่เป็นโทษต่อนักโทษการเมืองที่เหลวไหลที่สุด 
 
ด้านสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงฮานอย ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลเวียดนามปล่อยตัวคนเหล่านี้ โดยระบุถึงความกังวลเมื่อทราบว่ามีการตัดสินจำคุกบล็อกเกอร์ถึง 12 ปี จากการแสดงความเห็นทางการเมืองอย่างสันติ
 
ขณะที่แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการองค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำภูมิภาคเอเชีย ระบุในแถลงการณ์ซึ่งเรียกร้องให้ปล่อยบุคคลทั้งสามว่า การใช้กฎหมายความมั่นคงภายในประเทศตามอำเภอใจของเวียดนาม เพื่อจำคุกผู้ที่วิจารณ์รัฐบาล ทำให้บล็อกเกอร์ต้องแบกรับผลของการทำลายเสรีภาพในการแสดงความเห็นครั้งนี้
 
ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีของเวียดนามเพิ่งออกแถลงการณ์โจมตีบล็อกสามแห่งที่วิจารณ์รัฐบาล โดยสั่งให้ตำรวจสืบสวนและเอาเรื่องกับผู้ที่รับผิดชอบบล็อกดังกล่าวด้วย
 
 
 
กองทัพไม่ขัดยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่อาจกระทบเจ้าหน้าที่
 
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก สั่งให้เพิ่มจุดสกัดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสกัดการก่อเหตุของกลุ่มก่อความไม่สงบ ยอมรับว่าจะทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบ และความไม่สะดวก ขณะที่การบังคับใช้กฎหมายมีข้อจำกัด มีทั้งประชาชนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการใช้กฎหมายพิเศษ รวมทั้งกรณีว่าที่เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มีแนวคิดลดพื้นที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งเห็นว่าจะต้องพิจารณาตามความเหมาะสม หากยกเลิกจะทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่อย่างแน่นอน ยืนยัน กองทัพไม่มีปัญหา ต่อไปการตรวจค้นต้องให้ตำรวจเป็นผู้ขอหมายศาลเข้าดำเนินการ
 
 
 
‘นิคม’นัดถกวุฒิวาระปกติ ขยายเวลาดูร่างพ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกกฎหมาย
 
 วันที่ 24 ก.ย. นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา มีคำสั่งให้นัดประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 12 สมัยสามัญทั่วไป เป็นพิเศษ เวลา 10.00 น. ยังคงประชุมในวาระปกติ โดยประธานแจ้งเรื่องต่อที่ประชุมให้รับทราบ อาทิ รายงานของผู้สอบบัญชี และรายงานการเงินของ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุตริตแห่งชาติ รายงานผลการปฏิบัติงานปีงบประมาณ พ.ศ.2552 ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน
 
ส่วนเรื่องอื่นในการพิจารณา คือ มีการขอให้ขยายเวลาการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอเข้าชื่อกฎหมาย ออกเป็นกรณีพิเศษ อีก 30 วัน
 
ที่มา : ข่าวสด
 
 
ศาลปกครองยกฟ้อง คดีบริษัทไฟฟ้าฟ้อง กฟผ.เปิดสัญญาซื้อขายไฟ ยืนยัน ปชช.มีสิทธิรู้ข้อมูล
 
ชาวบ้านเฮ! หลังรอมานานร่วม 5 ปี ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้อง คดีบริษัท สยามเอ็นเนอร์จี จำกัด ฟ้องคณะกรรมการวินิจฉัยฯ-กฟฝ.เปิดสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ศาลชี้ข้อมูลเปิดเผยไม่เสียหายรายแรง ไม่ละเมิดสิทธิเรื่องความลับทางการค้า
 
วันนี้ (24 ก.ย.55) เวลา 13.30 น. ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง คดีหมายเลขดำที่ 1970/2552 คดีหมายเลขแดงที่ 1708/2555 ที่บริษัท กัลฟ์ เจพี ยูที จำกัด หรือบริษัท สยามเอ็นเนอร์จี จำกัด ยื่นฟ้องคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรมและการเกษตร และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟฝ.) เรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
การฟ้องคดีดังกล่าวเป็นไปเพื่อขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารฯ ที่มีมติให้ กฟผ.เปิดเผยข้อมูลสัญญาซื้อขายไฟฟ้าซึ่งทำกับบริษัทฯ แก่เครือข่ายภาคประชาชน 4 เครือข่าย อันได้แก่ เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม เครือข่ายรักษ์แปดริ้ว และเครือข่ายติดตามผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน ผู้ร้องสอดเข้าไปเป็นคู่กรณีฝ่ายที่ 3 และเพิกถอนคำสั่งของ กฟผ.ที่เห็นควรเปิดเผยข้อมูลสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
 
สืบเนื่องจากรณีที่ เมื่อวันที่ 10 พ.ย.51 เครือข่ายภาคประชาชนที่คัดค้านโรงไฟฟ้า 4 พื้นที่ ได้มีการชุมนุมและยื่นหนังสือเรียกร้องให้ กฟผ.เปิดเผยสัญญา ที่กฟผ.ได้ลงนามซื้อขายไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (ไอพีพี) 3 ราย จาก 3 โครงการ คือ 1.โรงไฟฟ้าถ่านหิน บริษัท เก็คโค่-วัน จำกัด ในพื้นที่นิคมมาบตาพุด จ.ระยอง 2.โรงไฟฟ้าก๊าซบางคล้า บริษัท สยามเอ็นเนอร์จี จำกัด ในพื้นที่ ต.เสม็ดเหนือ-ใต้ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา และ 3.โรงไฟฟ้าหนองแซง ของ บริษัท เพาเวอร์เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด ในพื้นที่ อ.หนองแซง จ.สระบุรี และ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา โดยที่ขณะนั้นโรงไฟฟ้าเขาหินซ้อน ของ บริษัท ไทยเพาเวอร์ซัพพลาย จำกัด ในพื้นที่ ต.เขาหินซ้อน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ยังไม่มีการเซ็นสัญญา
 
ต่อมา กฟผ.พิจารณาและเห็นว่าควรเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่ผู้ขอ แต่บริษัทเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้า คือ บริษัทสยามเอ็นเนอจี (ผู้ฟ้องคดี 1970/2552) และกับบริษัทเพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด (ผู้ฟ้องคดี 1971/2552) ได้คัดค้านการเปิดเผยข้อมูลสัญญา และยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารฯ ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวก็ได้มีคำวินิจฉัยให้ กฟผ.เปิดเผยข้อมูลข่าวสารสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและข้อตกลงเพิ่มเติมให้แก่ผู้ขอ ยกเว้นเอกสารแนบท้ายสัญญาหมายเลข 2 (ความพร้อมจ่ายพลังงานไฟฟ้า) และเอกสารแนบท้ายสัญญาหมายเลข 3 (ค่าพลังงานไฟฟ้า)
 
ทั้งนี้ คำพิพากษาของศาลปกครองที่ยืนยันตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งให้คัดถ่ายเนื้อหาสัญญาดังกล่าวได้ โดยให้ยกเว้นเอกสารแนบท้ายสัญญาหมายเลข 2 และเอกสารแนบท้ายสัญญาหมายเลข 3 ซึ่งสามารถเข้าไปตรวจดูได้เท่านั้น 
 
 
 
46 องค์กรสิทธิค้านร่างปฏิญญาสิทธิอาเซียน ชี้เน้น 'จำกัด' สิทธิมากกว่าส่งเสริม
 
26 ก.ย. 55 -  องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน 46 องค์กร นำโดยคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ออกจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ คัดค้านการรับรองร่างปฏิญญาอาเซียน ที่จะถูกนำเข้าสู่การพิจารณาในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนในวันที่ 27 ก.ย. นี้ ณ กรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะถูกรับรองโดยรัฐสภาอาเซียนในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยจดหมายเปิดผนึกระบุว่า ร่างปฏิญญาดังกล่าว แสดงเจตนารมณ์ของการจำกัดมากกว่าจะเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพ ละเลยการส่งเสริมและคุ้มครองความหลากหลายทางเพศ และไม่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล
 
จดหมายเปิดผนึกดังกล่าวระบุว่า ร่างปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียนนี้ ถึงแม้ว่าจะมีการผ่านการจัดรับฟังความคิดเห็นร่วมกับภาคประชาชนหลายครั้งอย่างต่อเนื่อง แต่ข้อเสนอที่สำคัญก็มิได้ถูกเอาไปปรับปรุงแก้ไขให้ร่างมีความสมบูรณ์ตามข้อเสนอแนะ ภาคประชาสังคมไทย จึงต้องการจะคัดค้านการรับรองให้ร่างปฏิญญาดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ในฐานะเอกสารที่จะเป็นหลักประกันของอาเซียนในด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย 
 
 
 
แอคติวิสต์หญิงบาห์เรนถูกจำคุก 2 เดือน ฐานฉีกรูปกษัตริย์
 
เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 55 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยหญิงชาวบาห์เรน ไซหนับ อัล คาวาจา ถูกศาลบาห์เรนตัดสินจำคุก 2 เดือน ในข้อหาทำลายทรัพย์สินราชการ โดยทนายของเธอระบุว่าเกี่ยวข้องกับการที่เธอฉีกรูปภาพกษัตริย์ในระหว่างการประท้วง 
 
ก่อนหน้านี้ นางไซหนับ อัล คาวาจา ได้อดอาหารประท้วงเรียกร้องให้ปล่อยตัวบิดาของเธอ นายอับดุลฮาดิ รวมทั้งสามี และน้องสะใภ้ ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน เนื่องจากพวกเขาถูกทางการบาห์เรนตัดสินคุมขังในเดือนเม.ย. 2554 จากการเข้าร่วมการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย บิดาของเธอ เป็นหนึ่งใน 8 คนที่ถูกทางการตัดสินจำคุกตลอดชีวิต เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าเขาวางแผ่นโค่นล้มรัฐบาล 
 
นักเคลื่อนไหวสตรีผู้นี้ ถูกจับกุมและคุมขังมาแล้วหลายครั้ง ในข้อหาเข้าร่วมชุมนุมอย่างผิดกฎหมาย ดูถูกเจ้าหน้าที่พนักงาน และจากการอดอาหารประท้วง ทำให้ล่าสุด เธอถูกตัดสินจำคุกหนึ่งเดือนในเดือนเมษายนและพฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากได้รับการปล่อยตัว เธอถูกคุมขังอีกครั้งในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ในระหว่างการดำเนินคดีในข้อหาทำลายทรัพย์สินราชการ
 
ทนายความของไซหนับ นายจีชีระบุหลังการตัดสินว่า การตัดสินจำคุกเป็นโทษที่รุนแรงเกินไป เนื่องจากปรกติแล้ว บทลงโทษสำหรับการฉีกรูปกษัตริย์เป็นเพียงการจ่ายค่าปรับเท่านั้น แต่หวังว่าเธอจะได้รับการปล่อยตัวเร็วๆ นี้ เนื่องจากเธอถูกคุมขังมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมแล้ว อย่างไรก็ตาม ไซหนับยังต้องเผชิญกับอีก 8 ข้อหาที่ทางการได้กล่าวหาเธอในระหว่างการประท้วง อาทิ การดูหมิ่นเจ้าพนักงาน การเช้าร่วมการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย การยุยงสร้างความเกลียดชังต่อรัฐบาล การขัดขวางการจราจร เป็นต้น
 
องค์กรสิทธิมนุษยชนแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ให้เธอเป็น "นักโทษทางความคิด" และเรียกร้องให้ปล่อยตัวเธอโดยเร็วที่สุด ในขณะที่องค์กรสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์ เฟิรสท์ ประณามคำตัดสินว่าโทษรุนแรงเกินไป 
 
นางไซหนับ เป็นผู้ที่มีบทบาทโดดเด่นในการเรียกร้องประชาธิปไตยในบาห์เรน โดยในระหว่างการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในบาห์เรนปี 2554- 2555 ซึ่งได้รับอิทธิพลจากการลุกฮือในอาหรับ เธอใช้ทวิตเตอร์ในการรายงานสถานการณ์แก่โลกภายนอก ทำให้มีคนติดตามมากกว่า 3 หมื่นคน ทั้งนี้ บาห์เรน ปกครองโดยชนชั้นนำในศาสนาอิสลามนิกายซุนหนี่ ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ ทำให้เกิดความตึงเครียดและความรุนแรงในการเผชิญหน้ากันหลายครั้ง 
 
ปัจจุบัน บาห์เรนปกครองในระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปี 2544 และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2545 มีรัฐสภาจำนวน 40 ที่นั่ง และมีตุลาการที่เป็นอิสระ ทำให้ที่ผ่านมา บาห์เรนมีเสรีภาพในการแสดงออกและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ในเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ผู้ชุมนุมหลายพันคน ได้ออกมาประท้วงกลางกรุงมานามา เมืองหลวงของประเทศบาห์เรน เพื่อเรียกร้องการมีส่วนร่วมในทางการเมืองที่มากขึ้น และยุติการเลือกปฏิบัติที่ประชากรที่นับถือนิกายชีอะห์มองว่า เป็นการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบในการเข้าทำงานและการบริการต่างๆ ทำให้ทางการบาห์เรนต้องขอให้กองทัพซาอุดิอารเบีย เข้ามาช่วยปราบปรามผู้ประท้วง และทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 60 คน 
 
 
 
ศาลปกครองสั่งจำหน่ายคดีล้มประมูล3จี-ประกาศกสทช.ไม่ขัดก.ม.
 
ศาลปกครองกลางได้ออกคำสั่งวันนี้ (25 ก.ย.) ให้จำหน่ายคดีหมายเลขดำที่ 1411, 1436/2553 ที่ บมจ.กสท โทรคมนาคม และ บมจ.ทีโอที ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสำนักงาน กสทช. เมื่อปี 2553 เนื่องจากเหตุแห่งการฟ้องคดีคือ ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ไอเอ็มที ย่าน 2.1 กิกะเฮิรตซ์ วันที่ 23 ก.ค. 2553 ที่ทั้ง 2 บริษัทได้อ้างว่าเป็นประกาศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับผลกระทบจากการขาดรายได้สัมปทานปีละหลายหมื่นล้านบาท 
 
โดยศาลเห็นว่า ประกาศฉบับเดิมได้ยกเลิกไปแล้วหลังจาก กสทช. ได้ออกประกาศฉบับใหม่ขึ้นมาแทน  ตามขั้นตอนที่ระบุใน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 แล้ว เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีสิ้นสุดลง ความเดือดร้อนหรือเสียหายของผู้ฟ้องคดีทั้ง 2 ได้หมดสิ้นลงไปแล้ว และไม่มีกรณีที่ศาลจะต้องออกคำสั่งบังคับเพื่อเยียวยาความเดือดร้อนหรือความเสียหายของผู้ฟ้องต่อไปอีก ศาลจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ รวมถึงให้คำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนพิพากษาสิ้นสุดลงด้วย
 
คดีนี้ บมจ.กสท โทรคมนาคม และ บมจ.ทีโอที ได้ยื่นฟ้องเมื่อ กลางเดือน ก.ย. 2553 ขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งเพิกถอนประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ไอเอ็มที ย่าน 2.1 กิกะเฮิรตศซ์ ซึ่งประกาศ ณ 23 ก.ค. 2553  และระงับการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดสรรคลื่นความถี่และอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ไอเอ็มที ย่าน 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ตามประกาศดังกล่าว
 
ศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำสั่งลงวันที่ 16 ก.ย. 2553 และศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งลงวันที่ 23 ก.ย. 2553 ได้มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามประกาศ กทช. ฉบับดังกล่าว พร้อม กสทช. ระงับการจัดประมูลคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ออกไปก่อนจนว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น  ส่งผลให้การประมูลคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ที่ปฏิบัติหน้าที่แทน กสทช. ได้กำหนดจะจัดขึ้นในวันที่ 20 ก.ย. 2553 ต้องยกเลิกไป
 
 
 
สภาอุรุกวัยเตรียมผ่านร่าง ก.ม.ทำแท้งถูกกฎหมาย
 
สภาอุรุกวัยกำลังเตรียมผ่านร่างกฎหมายทำแท้งถูกกฎหมาย เพื่อป้องกันการทำแท้งเถื่อน ขณะนี้ร่างกฎหมายทำแท้งของอุรุกวัยผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว หากร่างกฎหมายผ่านการพิจารณาในชั้นวุฒิสภา จะส่งต่อไปให้ประธานาธิบดีลงนามรับรอง ออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ ร่างกฎหมายดังกล่าว อนุญาตให้ทำแท้งได้ในระยะการตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์แรก และจะเป็นการพิจารณาเป็นรายกรณี หากอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์
 
 
 
ศาลสั่งจำคุก 6 เดือน ปรับ 5 หมื่น “ตู่” จตุพร พรหมพันธุ์ ฐานหมิ่น “อภิสิทธิ์” สั่งฆ่าประชาชน แต่ให้รอลงอาญา
 
ที่ห้องพิจารณา 801 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (27 ก.ย.) ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีหมิ่นประมาท อ.1008/53 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายนายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา โดยโจทก์ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 53 ระบุความผิดสรุปว่า
       
เมื่อวันที่ 29 ม.ค. - 15 ก.พ. 2553 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยได้กล่าวปราศรัยหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ด้วยเครื่องกระจายเสียงต่อหน้าประชาชนกลุ่มคนเสื้อแดง และประชาชนที่รับฟังและชมโทรทัศน์ช่องพีเพิล แชนแนล ที่มีการถ่ายทอดสดทั่วประเทศ ทำนองว่าโจทก์เป็นนายกรัฐมนตรีที่สั่งฆ่าประชาชนและหลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร และข้อความอื่นๆ ซึ่งล้วนเป็นเท็จ
       
การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชังว่า โจทก์เป็นคนมีจิตใจโหดเหี้ยม สั่งฆ่าประชาชน หนีทหาร เหตุเกิดทั่วราชอาณาจักร ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328, 326, 332
       
คดีนี้หลังจากศาลไต่สวนมูลฟ้องโจทก์แล้วเห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับรับฟ้องคดีไว้พิจารณา จำเลยให้การปฏิเสธ
       
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยแล้ว เห็นว่าที่จำเลยปราศรัยเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2553 ทำนองว่านายอภิสิทธิ์จะขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. เป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้ ต้องถูกดำเนินคดีหนีทหาร ใช้เอกสารเท็จสมัครเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อย จปร.นั้น เมื่อบุคคลทั่วไปรับฟังย่อมเข้าใจและรู้สึกว่าโจทก์ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลีกเลี่ยงและจงใจหนีการเกณฑ์ทหาร ซึ่งเป็นหน้าที่ของชายไทยทุกคน โจทก์จึงไม่มีความน่าเชื่อถือศรัทธาไม่มีความเหมาะสมสง่างามที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป โดยจำเลยย่อมตระหนักดีอยู่แล้วว่า การปราศรัยนั้นจะกระทบชื่อเสียงเกียรติคุณของโจทก์ ข้อความที่จำเลยกล่าวจึงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์
       
แต่มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่าการกระทำดังกล่าว จำเลยได้แสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมตามวิสัยของประชาชนที่จะกระทำได้หรือไม่เห็นว่า ตามที่โจทก์เบิกความตอบคำถามค้านของทนายความจำเลย ฟังได้เพียงว่า โจทก์เป็นนักศึกษาในความดูแลของ ก.พ. โดย ก.พ.เป็นผู้ดำเนินการผ่อนผันให้โจทก์โดยมีแบบหนังสือผ่อนผันการตรวจเลือกเข้ารับราชการทหาร (สด.41) แต่โจทก์ไม่มีหนังสือผ่อนผันดังกล่าวมาแสดงประกอบ ส่วนที่โจทก์ตอบคำถามค้านอีกว่าโจทก์เคยแสดงเอกสารเกี่ยวกับการผ่อนผันเป็นบัญชีรายชื่อนักเรียนที่ไปศึกษาต่างประเทศซึ่งได้ยกเว้นหรือผ่อนผัน (สด.20) ต่อประธานรัฐสภา เมื่อพิจารณาเอกสารดังกล่าวพบว่ามีชื่อโจทก์อยู่ลำดับที่ 3 ระบุว่าได้รับการยกเว้นหรือผ่อนผันเมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2529 เพื่อไปศึกษายังประเทศอังกฤษระหว่างปี 2530-32 แต่เอกสารดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าเป็นหนังสือผ่อนผันการตรวจฯ ที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะหนังสือผ่อนผันฯ ที่ถูกต้องจะต้องเป็น สด.41 ที่ลงนามโดย รมว.มหาดไทย หรือผู้ว่าราชการจังหวัด ดังนั้นในส่วนที่โจทก์ไม่ไปตรวจเลือกเข้ารับเกณฑ์ทหารโดยอ้างว่าได้รับการผ่อนผันจึงยังมีข้อพิรุธน่าสงสัยพอสมควร ส่วนที่โจทก์สมัครเข้าเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อย จปร. โจทก์เบิกความว่าไม่เคยใช้เอกสารเท็จในการสมัครเข้ารับราชการ ซึ่งเป็นการเบิกความลอยๆ ไม่มีเอกสารพยานหลักฐานใดมาสนับสนุน
       
ซึ่งขณะเกิดเหตุโจทก์เป็นนายกรัฐมนตรีถือเป็นบุคคลสาธารณะย่อมตกเป็นเป้าการวิพากษ์วิจารณ์ความประพฤติรวมถึงประวัติชีวิตความเป็นมาตามสมควรเพราะเป็นบุคคลที่ประชาชนให้ความสนใจ ส่วนจำเลยเป็น ส.ส.ฝ่ายค้าน จึงเป็นปกติที่จำเลยจะต้องตรวจสอบเรื่องราวฝ่ายรัฐบาลและตัวโจทก์ จำเลยจึงมีสิทธิจะตรวจสอบแสดงความเห็นโดยสุจริต เพราะหากเป็นไปตามที่จำเลยปราศรัยย่อมแสดงว่าโจทก์จงใจประพฤติตนฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งจะขาดคุณสมบัติเป็น ส.ส.และนายกรัฐมนตรีได้ จำเลยซึ่งมีสิทธิวิจารณ์เรื่องของโจทก์ได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จำเลยสร้างขึ้นมาเอง โดยจำเลยได้ตั้งคำถามต่อโจทก์ก่อนจะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่โจทก์กลับไม่ได้ชี้แจง จึงแสดงให้เห็นเจตนาจำเลยชัดเจนว่าจะตรวจสอบในเรื่องดังกล่าว แม้โจทก์อาจจะได้รับการผ่อนผันการเกณฑ์ทหารและไม่ได้ใช้เอกสารเท็จใดๆ ในการสมัครเข้าเป็นอาจารย์ แต่เอกสารที่เกี่ยวข้องมีพิรุธน่าสงสัยหลายประการและยังไม่ปรากฏว่าเอกสารที่จำเลยนำมาอ้างนั้นโจทก์ได้โต้แย้งว่าเป็นเอกสารปลอมหรือเท็จ พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมาจึงมีเหตุตามสมควรที่ทำให้จำเลยมีความสงสัยและเชื่อว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่จำเลยปราศรัย การกระทำนั้นจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ตาม ป.อาญา ม.329 (1) (3)
       
ส่วนที่จำเลยกล่าวปราศรัยเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2553 ทำนองว่าโจทก์เป็นประธานนั่งประชุมวางแผนล้อมปราบประชาชน วางแผนสั่งปราบปรามประชาชนนั้นเห็นว่า การกล่าวปราศรัยดังกล่าวทำให้คนเสื้อแดงอาจมีความคิดคล้อยตามไปได้ว่าโจทก์กระทำการดังกล่าวจริงซึ่งจะทำให้บุคคลทั่วไปรู้สึกว่าโจทก์จิตใจโหดเหี้ยม อำมหิต เจ้าเล่ห์เพทุบายจนรู้สึกเกลียดชังโจทก์ ขณะที่จำเลยนำสืบกล่าวอ้างเพียงลอยๆ ไม่มีหลักฐานใดมาสนับสนุนว่าโจทก์กับพวกร่วมประชุมวางแผนปราบปรามประชาชน ซึ่งแม้โจทก์เป็นนายกรัฐมนตรีจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่การกล่าวถ้อยคำของจำเลยเป็นการกล่าวยืนยันข้อเท็จจริงโดยไม่มีมูลความจริงใดๆและเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อกล่าวหาและใส่ร้ายโจทก์ จึงไม่เป็นการกระทำโดยสุจริตหรือติชมด้วยความเป็นธรรม แต่เป็นการปราศรัยเพื่อยั่วยุปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อก่อให้เกิดความเกลียดชังในตัวโจทก์ ซึ่งจำเลยไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าข้อความที่จำเลยปราศรัยเป็นความจริง จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง
       
พิพากษาว่า ให้จำคุกจำเลย 6 เดือนและปรับ 50,000 บาท ตาม ม.328 แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยรับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี และให้จำเลยโฆษณาลงคำพิพากษาใน นสพ.มติชน และเดลินิวส์ เป็นเวลา 7 วัน โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา
       
ภายหลัง นายบัณฑิต ศิริพันธุ์ ทนายความนายอภิสิทธิ์ โจทก์ กล่าวว่า กรณีที่นายจตุพรกล่าวหาว่านายอภิสิทธิ์หนีทหารนั้น มีความชัดเจนว่าในคำพิพากษาของศาลที่ไม่ได้ระบุว่านายอภิสิทธิ์หนีทหาร หรือใช้เอกสารปลอมหรือเอกสารเท็จ เพียงแต่ระบุว่าเอกสารบางส่วนนั้นมีข้อพิรุธ ซึ่งตนเตรียมหารือกับนายอภิสิทธิ์เพื่อยื่นอุทธรณ์ประเด็นนี้แน่นอน และหากจะมีผู้ใดนำคำพิพากษาในส่วนนี้ไปใช้ในประเด็นการเมืองก็ขอย้ำว่าคดีนี้ยังไม่ถึงที่สิ้นสุด ส่วนกรณีที่นายจตุพรได้กล่าวหาว่านายอภิสิทธิ์วางแผนสั่งฆ่าประชาชนนั้นก็ชัดเจนว่าในคำพิพากษาระบุว่าการพูดลักษณะดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการปลุกปั่น ยุยง ซึ่งคำกล่าวหาไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ศาลจึงได้พิพากษาจำคุกนายจตุพร
       
ด้านนายจตุพร แกนนำ นปช.กล่าวว่า จากกรณีที่ศาลมีคำพิพากษามานี้ หลังจากนี้จะระวังถ้อยคำและการปราศรัย
       
เมื่อถามถึงกรณีนายเทพพนม นามลี ประธานคณะกรรมการแนวร่วมประชาธิปไตย หรือแดงสุรินทร์ ยื่นเรื่องให้นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบคุณสมบัติของนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รมว.มหาดไทย หลังจากคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือนกระทรวงมหาดไทย (อ.ก.พ.) มีมติไล่ออกกรณีทุจริตที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ขณะดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย แต่นายยงยุทธยังไม่ยอมลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งกลุ่มแดงสุรินทร์เกรงว่าหากนายยงยุทธ ยังทำกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ ในฐานะหัวหน้าพรรค อาจมีคนนำผลการชี้มูลของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาร้องต่อ กกต.เพื่อให้ยุบพรรคเพื่อไทยนั้น นายจตุพรกล่าวว่า ส่วนตัวไม่รู้จักกับนายเทพพนมแต่อย่างใด อีกทั้งนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ในฐานะประธาน นปช.ก็ไม่เคยแต่งตั้งให้มีแกนนำแดงสุรินทร์ ตามที่นายเทพพนมกล่าวอ้าง จึงไม่ทราบว่าการออกมาเรียกร้องดังกล่าวนั้นมีจุดประสงค์เพื่ออะไร พร้อมยืนยันว่านายยงยุทธสามารถปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ดี และทำประโยชน์ให้กับพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอด
       
ขณะที่ นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความนายจตุพร จำเลย กล่าวว่า จะยื่นอุทธรณ์คดีในส่วนที่ศาลพิพากษาจำเลยกระทำผิดหมิ่นนายอภิสิทธิ์ สำหรับประเด็นการหนีทหารหากจะมีการนำประเด็นนี้ไปตรวจสอบอีกครั้งในส่วนคำพิพากษาคดีนี้อาจจะเป็นส่วนประกอบหนึ่งในการพิจารณาแต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะการตรวจสอบการเกณฑ์ทหารของกระทรวงกลาโหมจะพิจารณาจากเอกสารที่ทางราชการเป็นผู้ออกให้ในการรับเลือกและการผ่อนผันการเกณฑ์ทหาร
 
 
 
องค์กรผู้บริโภคห่วงร่างกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเดินหน้าลำบาก
 
28 ก.ย. 55 - หลังจากที่เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศได้ร่วมกันผลักดันร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. .... แบบมาราธอนมากว่า ๑๔ ปี จนขณะนี้เข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของกรรมาธิการร่วม ๒ สภา ส่อแววว่าจะเดินหน้าลำบาก เพราะกรรมาธิการร่วมบางส่วนต้องการรื้อกฎหมายทั้งฉบับและอ้างว่า หากไม่แก้ไขตามความเห็นกฎหมายอาจไม่ผ่านความเห็นชอบของสภา
 
การประชุมกรรมาธิการร่วมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. .... ครั้งที่ ๒ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา โดยมีนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ
 
ที่ประชุมได้อภิปรายเพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน เรื่องกรอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วม ที่ควรพิจารณาเฉพาะประเด็นที่มีความเห็นแตกต่างในการแก้ไขกฎหมายที่ผ่านวุฒิสภา เช่น มาตรา ๘ ประเด็นเรื่องงบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบ ๓ บาท ขณะที่วุฒิสภาได้แก้ไขและเห็นชอบ ๕ บาทต่อหัวประชากร ซึ่งทั้งสองสภาต่างเห็นด้วยในการกำหนดงบประมาณต่อหัวประชากร แต่กลับมีกรรมาธิการบางท่านที่ไม่เห็นด้วยกับการลงมติผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรดังกล่าวมาเสนอให้คณะกรรมาธิการร่วมพิจารณาไม่ให้กำหนดงบประมาณต่อหัวไว้ในกฎหมาย โดยอ้างเหตุผลให้เป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหารในการสนับสนุนงบประมาณ เช่นเดียวกับที่เคยอภิปรายและแพ้มติในสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว
 
นอกจากนี้ การอภิปรายของคณะกรรมาธิการร่วมบางท่านที่ต้องการลดบทบาทของคณะกรรมการองค์การอิสระ ทั้งที่มาตรา 19 เรื่องอำนาจหน้าที่คณะกรรมการไม่มีการแก้ไขใดๆ และทั้งสองสภาต่างเห็นชอบแบบเดียวกัน แต่การประชุมวันนี้กลับอ้างอาจเกินรัฐธรรมนูญทั้งที่ประเด็นเหล่านี้ต่างถกเถียงอย่างมากมายกว้างขวางในการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ เกือบสองปี หากนับจากการได้รับพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2553 หรือการอภิปรายของคณะกรรมาธิการที่ต้องการตัดบทบาทกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในมาตรา 19(3) ในการดำเนินการและสนับสนุนการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นความจริง หรือแจ้งหรือโฆษณาข่าวสารที่เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย หรือเสื่อมเสียแก่สิทธิผู้บริโภค ในการนี้จะระบุชื่อสินค้าหรือชื่อบริการ หรือชื่อของผู้ประกอบการด้วยก็ได้ เพราะเห็นว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)  จนทำให้ที่ประชุมยังไม่ได้มีการลงมติใด ๆ เพราะมีความพยายามที่จะเสนอให้กรรมาธิการร่วมพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ให้เกินเลยจากที่มติวุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติมร่างที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ความเห็นชอบ และจะมีการนัดประชุมเพื่อพิจารณากฎหมายฉบับนี้ทุกวันพุธเวลา ๙ โมงเช้า ห้อง ๓๗๐๑
 
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง หนึ่งในกรรมาธิการที่เป็นผู้แทนผู้เสนอกฎหมาย ชี้แจงว่า กฎหมายฉบับนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคมาก ไม่ว่าจะช่วยคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง ให้ผู้บริโภคได้รู้เท่าทันปัญหาผู้บริโภคในด้านต่างๆ เป็นปากเป็นเสียงแทนผู้บริโภค เสนอความเห็นให้มีมาตรการ กติกาต่าง ๆ เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคเพิ่มขึ้น และตรวจสอบการทำงานของรัฐให้บังคับใช้กฎหมายได้อย่างเต็มที่ในการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญและมีความแตกต่างจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค หรือเอ็นจีโอ
 
นอกจากนี้ สารี ยังให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า คณะกรรมาธิการร่วม ควรพิจารณาเฉพาะประเด็นที่มีความแตกต่างของสองสภา เนื่องจากกฎหมายได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางและผ่านกระบวนการพิจารณาของทั้งสองสภาแล้ว พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความจริงใจในการออกกฎหมายที่เสนอโดยภาคประชาชน เพื่อประโยชน์ต่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่รอคอยมาอย่างยาวนาน พร้อมกันนี้ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ จะเฝ้าติดตามผลการประชุมกรรมาธิการอย่างใกล้ชิด และขณะนี้ได้ร่วมกันลงลายมือชื่อเพื่อสนับสนุนให้รัฐบาลเร่งพิจารณากฎหมายดังกล่าว ให้ออกมาบังคับใช้โดยเร็ว