กสทช.ปิดวิทยุชุมชนกว่า700สถานีทั่วประเทศ
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ได้มีมติ กสท. เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2555 และเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2555 เห็นชอบให้สำนักงาน กสทช. นำรายชื่อวิทยุกระจายเสียงที่ถูกเพิกถอนสิทธิการเป็นผู้ทดลองออกอากาศในลักษณะชั่วคราว (วิทยุกระจายเสียงชุมชน) จำนวน 700 สถานี ทั่วประเทศ
ประกอบด้วย สถานีที่มิได้เข้าแสดงตนเพื่อขยายระยะเวลาทดลองออกอากาศในลักษณะชั่วคราว 300 วัน ภายในระยะเวลาที่กำหนด 673 สถานี , สถานีที่ยื่นหนังสือขอยกเลิกการประกอบกิจการ จำนวน 24 สถานี และสถานีที่มีข้อมูลซ้ำซ้อนกับสถานีที่ได้รับสิทธิทดลองออกอากาศอยู่ก่อนแล้ว 3สถานี สิ้นสุดการเป็นผู้ทดลองออกอากาศในลักษณะชั่วคราว นับตั้งแต่วันที่ กสท. มีมติเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2555 เป็นต้นไป โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ที่ สำนักงาน กสทช. ส่วนกลาง และ กสทช. ส่วนภูมิภาค ทั้ง 14 เขต
กสทช. สั่งปิด 18 วิทยุชุมชน รบกวนคลื่นการบิน
วันที่ 4 ต.ค. 55 ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พ.ต.อ.ทวีศักดิ์ งามสง่า กรรมการกสทช. กล่าวว่า จากกรณีที่เกิดปัญหาคลื่นวิทยุชุมชนรบกวนวิทยุสื่อสารการบินในลักษณะมีคลื่นแทรกเป็นคำพูดและเสียงเพลง กระทบต่อการสื่อสารระหว่างนักบินกับผู้ควบคุมการจราจรทางอากาศไม่ชัดเจน ทำให้ต้องทวนข้อความซ้ำหลายครั้ง จนอาจเข้าใจผิด และเกิดอุบัติเหตุได้ โดยในปี 54 ที่ผ่านมา ศูนย์ควบคุมจราจรทางอากาศได้รับแจ้งจากนักบินมีคลื่นรบกวนทั้งสิ้น 1,781 ครั้ง
สำนักงานกสทช. ร่วมกับบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) แจ้งสถิติสถานีวิทยุชุมชนรบกวนวิทยุการบินในปี 55 ข้อมูลตั้งแต่ 1 ม.ค.-20 ก.ย. 55 มีสูงถึง 441 ครั้ง โดยภาคอีสานมีจำนวนสูงสุด ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินคดีตามกฎหมายกับสถานีวิทยุชุมชนแล้ว 18 สถานี ซึ่งทั้งหมดเป็นสถานีที่ไม่ได้รับใบอนุญาตทดลองออกอากาศชั่วคราวตามที่กสทช. กำหนด
สำหรับมาตรการดำเนินการกับสถานีวิทยุชุมชนเถื่อนทั้ง 18 สถานีนั้น นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. อธิบายว่า จะสั่งปิดทันที โดยไม่แจ้งล่วงหน้า พร้อมดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วิทยุโทรคมนาคม พ.ศ. 2498 ซึ่งต้องระวางโทษตามม.6 ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนสถานีวิทยุชุมชนที่ลงทะเบียนรับใบอนุญาตทดลองออกอากาศชั่วคราวนั้น หากมีคลื่นรบกวน จะสั่งระงับการออกอากาศชั่วคราว
ชม.เดินหน้าผลักดันร่าง พ.ร.บ.จัดการตนเอง ประเดิม “120 วันร่วมสร้างสรรค์เชียงใหม่มหานคร”
สมาชิกภาคีขับเคลื่อนเชียงใหม่จัดการตนเอง ประมาณ 100 คนร่วมกันประกอบพิธีบวงสรวงอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ และกล่าวคำปฏิญาณเพื่อสร้างสรรค์เชียงใหม่มหานคร จากนั้นได้มีการเดินรณรงค์ไปรอบคูเมืองเชียงใหม่ โดยกิจกรรมดังกล่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “120 วันร่วมสร้างสรรค์เชียงใหม่มหานคร” ที่ภาคีขับเคลื่อนเชียงใหม่จัดการตนเอง ร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมกว่า 30 เครือข่ายจะจัดงานขึ้นในระหว่างวันที่ 30 ก.ย. 2555 - 27 ม.ค. 2556 บริเวณลานหน้าหอศิลป์ล้านนา ตรงข้ามอนุสาวรีย์สามกษัตริย์
ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ให้ชาวเชียงใหม่เกิดจิตสำนึกในการจัดการตนเอง รวมทั้งแสดงความพร้อมของจังหวัดเชียงใหม่ในการจัดการตนเอง ตามร่าง พ.ร.บ.บริหารราชการเชียงใหม่มหานครที่หลายฝ่ายในจังหวัดเชียงใหม่ได้เดิน หน้าเผลักดันเพื่อให้มีการนำเสนอและพิจารณาประกาศเป็นกฎหมายในอนาคต ซึ่งการจัดงานจะมีขึ้นในทุกวันอาทิตย์ เริ่มวันนี้ (30 ก.ย. 55) เป็นสัปดาห์แรก และเป็นประจำทุกสัปดาห์รวมทั้งสิ้น 18 สัปดาห์ จะประกอบด้วยการจัดกิจกรรมหลักในหลายรูปแบบจาก 18 เครือข่ายที่เข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็นการจัดนิทรรศการหรือการจัดเวทีเสวนา เป็นต้น
ยื่นอุทธรณ์คดี ผอ.ประชาไท ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
สัปดาห์ที่ผ่านมาทนายความของจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ในฐานะผู้ดูแลเว็บบอร์ดประชาไท ได้ยื่นอุทธรณ์คดี หลังจากศาลพิพากษาให้มีความผิดตามมาตรา 15 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 30,000 บาท ให้ความร่วมมือลดโทษเหลือ 8 เดือน ปรับ 20,000 บาท รอลงอาญา 1 ปี ตาม ม.15 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จำคุก 1 ปี
โดยในคำอุทธรณ์ สรุปเหตุผลได้ความว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ได้มีบทบัญญัติกำหนดให้ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องตรวจสอบเนื้อหาข้อความทุกข้อความที่มีการโพสต์ ทั้งยังไม่มีกฎระเบียบ หลักเกณฑ์ หรือมาตรฐานใดในการกำกับดูแลเนื้อหาข้อมูลคอมพิวเตอร์ให้ผู้ให้บริการได้ทราบโดยแน่ชัดถึงขอบเขตหน้าที่ ทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นถึงมาตรการในการกำกับดูแลหรือตรวจสอบที่ถือปฏิบัติโดยทั่วไป อันเป็นมาตรฐานวิชาชีพได้
แม้ศาลชั้นต้นจะเห็นว่ามาตรฐานภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบของผู้ให้บริการนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่ศาลรู้ได้เองโจทก์ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ จำเลยก็ขอเรียนศาลอุทธรณ์ว่า จะต้องพิจารณาถึงมาตรฐานที่ผู้ให้บริการถือปฏิบัติกันทั่วไปทั้งในและต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาการให้บริการอินเตอร์เน็ตแพร่หลายมาก่อน เนื่องจากการให้บริการอินเตอร์เน็ตเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงข้อมูลข่าวสาร ผู้ให้และผู้ใช้บริการทั่วโลก ซึ่งต้องมีมาตรฐานการปฏิบัติที่เป็นที่ยอมรับกันในทางสากล และต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าสารของประชาชนส่วนใหญ่ ภาระค่าใช้จ่ายและความเป็นไปได้ในการบริหารจัดการ ตลอดจนข้อจำกัดทางเทคโนโลยี
คปก.ยื่นนายกฯชะลอร่างกฎหมาย 3 ฉบับ รอร่างประชาชนประกบ
นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้ลงนามในหนังสือด่วนที่สุด เรื่อง ขอให้ชะลอการพิจารณาร่างพ.ร.บ. 3 ฉบับ เสนอต่อนายกรัฐมนตรี และประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้แก่ ร่างพ.ร.บ.การประมง พ.ศ. ...(คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ) ร่างพ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. ... (คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ) และร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. ... (คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ) ไว้ก่อน และรอให้กระบวนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายและกระบวนการตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆแล้วเสร็จเสียก่อน เพื่อบรรจุเป็นระเบียบวาระให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณารับหลักการร่างพ.ร.บ.ที่เสนอโดยประชาชนและที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีพร้อมกันไปในคราวเดียว
ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ.การประมงฯ และร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งฯ อยู่ระหว่างการดำเนินการเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย ส่วนร่างพ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ฯ มีเครือข่ายภาคประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมายต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารและรายชื่อของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม
“ส.ว.”จี้รัฐบาลปัดฝุ่นร่างพ.ร.บ.ชุมนุมในที่สาธารณะ
นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุมรัฐสภา ครั้งที่1 (สมัยสามัญทั่วไป) โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุมได้เปิดให้สมาชิกหารือถึงเรื่องต่างๆ โดยพล.ร.อ.สุรศักดิ์ ศรีอรุณ ส.ว.สรรหา ได้หยิบยกร่างพ.ร.บ.ชุมนุมในที่สาธารณ พ.ศ...ที่เสนอเข้ามาในสมัยรัฐบาลชุดที่แล้วและยังค้างอยู่ในระเบียบวาระ ขึ้นมาพิจารณาด้วย
เสียงวิพากษ์ “จันดารา” วธ.เล็งแก้ พ.ร.บ.ภาพยนตร์
นายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวถึงกรณีที่ผู้สร้างภาพยนตร์ และหลายภาคส่วนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ การให้เรตภาพยนตร์ ‘จันดารา’ว่า เป็นหนังที่เหมาะกับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป เข้าชม หรือ เรตติ้ง 18+ โดยให้โรงภาพยนตร์เข้มงวดการตรวจบัตรประชาชน และ วธ.ไม่มีสิทธิออกคำสั่งให้ตรวจบัตรประชาชนดังกล่าว เพราะเป็นการละเมิดสิทธิคนชมนั้น กระทรวงวธ.ถือเป็นเพียงหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ เพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ เป็นเครื่องมือติดตามและดำเนินกิจการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของไทยให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้น ก็ถือเป็นความเห็นที่สังคมสามารถชี้แนะกลับมายัง วธ.ได้
ฝ่ายที่มีความเห็นว่า วธ.ควรปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ดังกล่าว เนื่องจากมีข้อผิดพลาดเกี่ยวกับการบังคับใช้ด้านต่างๆ นั้น ขณะนี้ได้มอบหมายให้ สำนักตรวจพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ไปศึกษารายละเอียดแล้ว หลังจากที่ พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นกฎหมายใหม่ที่มีผลบังคับใช้มาเมื่อปี 2551 เป็นต้นมา ดังนั้น จึงอาจมีช่องว่างทั้งการปรับหลักเกณฑ์ตัวบทกฎหมายให้เข้ากับปัจจุบัน การกำหนดประเภทของภาพยนตร์ทั้ง 7 ประเภท ว่า มีความเหมาะสมหรือไม่