เมื่อ 10 ต.ค. 2555 โดย iLaw
สิทธิการสื่อสารในสามโลก: การจัดสรรทรัพยากรคลื่นความถี่ของประเทศไทย
โดย ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
วันอาทิตย์ 14 ตุลาคม 2555 14:30-16:30 น.
ที่ The Reading Room เลขที่ 2 ชั้น 4 สีลม 19
พื้นที่สื่อสารที่ราวกับไม่มีขีดจำกัด เอาเข้าจริงก็ยังต้องการโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งทำงานอยู่บนทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่บนท้องถนน สวนสาธารณะ ห้องประชุม แบนด์วิธอินเทอร์เน็ต คลื่นความถี่ ไปจนถึงวงโคจรดาวเทียม
การจัดสรรทรัพยากรคลื่นความถี่ของประเทศไทยกำลังเดินทางมาถึงหัวเลี้ยวหัวต่อ เคเบิลและทีวีดาวเทียมกำลังโตอย่างก้าวกระโดด การแพร่ภาพเสียงก็กำลังมุ่งไปสู่ระบบดิจิทัล ในขณะที่การส่งข้อมูลผ่านโครงข่ายมือถือก็กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยียุคถัดไป โครงสร้างที่เราจะวางและตัวแบบที่เราจะตัดสินใจใช้ในวันนี้ จะส่งผลต่อการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและคุณภาพชีวิตของพวกเราไปอีกหลายปี
กลางปี 2555 คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ มีมติว่าสิทธิในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นสิทธิมนุษชน เนื่องจากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้นั้น จะนำไปสู่สิทธิอื่นๆ ทั้งสิทธิในการพัฒนา สิทธิทางเศรษฐกิจ สิทธิในการศึกษา สิทธิในการเข้าถึงสาธารณสุข รวมไปถึงสิทธิในการแสดงออกและสิทธิทางการเมืองเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตของตัวเอง เมื่อพิจารณาว่าโครงข่ายการสื่อสารที่เข้าถึงประชากรส่วนใหญ่ของประเทศได้มากที่สุด ซึ่งก็คือโครงข่ายโทรศัพท์มือถือ ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าการจัดสรรทรัพยากรคลื่นความถี่ 3G เพื่อการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง จะเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญที่จะกำหนดโครงสร้างของการเข้าถึงสิทธิต่างๆ ของประชาชนในประเทศ
The Reading Room และเครือข่ายพลเมืองเน็ต เชิญร่วมพูดคุยในประเด็นดังกล่าวกับ ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม จะมาบรรยายถึงหลักการจัดสรรทรัพยากร ปัจจัยในการตัดสินใจ พร้อมเปิดให้ซักถามอย่างละเอียด ในวันอาทิตย์ 14 ตุลาคม เวลา 14:30-16:30 น. ที่ The Reading Room สีลม 19