กมธ.กฎหมายฯถกหาช่องยกเลิกพรก.ฉุกเฉิน3จชต.
คณะกรรมาธิการการกฎหมาย (กมธ.) การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มี พล.ต.อ.วิรุฬห์ พื้นแสน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยเป็นประธาน ได้ประชุมพิจารณาศึกษาการบังคับใช้กฎหมายที่บังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประกอบด้วย พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551,พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 ,พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548, พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534, และ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2547 ทั้งนี้ได้เชิญเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร, กองทัพภาคที่ 4 สภาความมั่นคงแห่งชาติ เข้าให้ข้อมูลด้วย ทั้งนี้เพื่อสอบถามเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ และเป็นการประเมินสถานการณ์ของฝ่ายการเมืองหลังจากมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นเวลากว่า 8 ปี
นายสุรเชษฐ์ แวอาแซ ส.ส. จ.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า แนวคิดที่จะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่ภาคใต้ หลายฝ่ายต่างก็เห็นด้วย และในฐานะ ส.ส.ในพื้นที่ก็มองว่า พ.ร.ก.นี้มีผลดีต่อเฉพาะการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่มีความรุนแรง แต่กับพื้นที่อื่นอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ที่ไม่มีความรุนแรง เพราะใน 3 จังหวัดภาคใต้ก็มีหลายจุดด้วยกันที่ไม่มีความรุนแรง เช่นใน อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ที่มีการยกเลิกไป พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปนั้น ผลก็เป็นที่น่าพอใจ และตนมองว่าการแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ถือว่าเป็นไปด้วยดี แต่สิ่งที่ตนมองว่าควรที่จะต้องมาพิจารณาคือการบังคับใช้กฎหมายที่คนในพื้นที่อาจมองว่าได้รับความไม่เป็นธรรม เพราะจะเป็นพื้นฐานนำไปสู่ความสงบ และเปิดช่องให้ผู้หลงผิดเข้ามอบตัว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมดังกล่าวยังไม่ได้มีมติหรือข้อเสนอใดที่จะส่งต่อไปยังฝ่ายบริหาร โดยจากนี้ไปกมธ.จะรวบรวมข้อมูลและลงพื้นที่จริงอีกครั้ง ก่อนจะสรุปอย่างเป็นทางการในการปฏิบัติจริงอีกครั้งหนึ่ง
ที่มา : สำนักข่าวเนชั่น
สภาฯ ถกรับทราบรายงาน กก.สิทธิ์ฯ วุ่น หลังส.ส.เพื่อไทย หนุนส่งรายงานให้ กมธ.กฎหมาย สภาฯ
ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ที่ประชุมได้รับทราบรายงานการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ปี 2551-2552 ต่อจากสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ได้มีการปิดประชุมสภาก่อนจะมีการรับทราบรายงานดังกล่าว โดยนายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า รายงานฉบับนี้จะต้องส่งให้รัฐสภาร่วมพิจารณา แต่เมื่อส่งมาที่สภาแล้วถือว่าไม่ถูกต้อง และตนขอให้ทางคณะกรรมการสิทธิ์ฯ นำรายงานนี้กลับไปทบทวน เนื่องจากมีรายละเอียดบางส่วนไม่ครอบคลุม หรือให้ส่งรายงานนี้ไปยังคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กฎหมาย ยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฏร พิจารณา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ส่วนใหญ่ได้คัดค้านว่า รายงานฉบับนี้เป็นเพียงการรับทราบเท่านั้น อีกทั้งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะกรรมการสิทธิ์ฯ ยืนยันว่า จะไม่มีการถอนรายงานไปทบทวนเพราะกรอบการทำงานคือว่าจบกระบวนการแล้ว โดยนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันว่า ทำไม่ได้ น่ารังเกียจ หากสภามีมติที่จะเสนอไปยังคณะกรรมาธิการสามัญน่าจะเป็นมติที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายและไม่ว่ามติจะออกมาอย่างไรคณะกรรมาการสิทธิ์ฯ ต้องยืนยันความเป็นอิสระจะถอนไม่ได้
ด้าน นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า องค์กรอิสระ ทั้งหลายไม่ใช่รัฐอิสระ จึงต้องมีความจำเป็นปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และยอมรับการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทั้งนี้สภาแห่งนี้ไม่ใช่สภาต้นไม้หรือสภาเสาไฟฟ้า สภาแห่งนี้มีวิญญาณ และเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศ ดังนั้นคำรายงานใดๆ ที่ไม่สอดคล้อง หรือไม่สมบูรณ์ หรือเอียงข้าง สภาแห่งนี้มีสิทธิที่จะท้วงติงได้ หากปฏิเสธกรรมาธิการฯ ชุดนี้ แปลว่า ท่านปฏิเสธกรรมาธิการฯ ทุกชุด
จากนั้นประธานในที่ประชุม ได้ยืนยันว่า ได้บรรจุวาระถูกต้องตามมาตรา 136 ของรัฐธรรมนูญ คือให้สภาพิจารณารับทราบก่อนส่งไปยังวุฒิสภาอีกที และการอภิปรายเมื่อวันพฤหัสที่แล้วถือว่ารับทราบแล้ว เพียงแต่มีบางประเด็นที่สมาชิกติดใจ แต่ก็มีสิทธิ์ที่จะเสนอให้คณะกรรมาธิการสามัญไปพิจารณาอีกครั้งได้ ทั้งนี้สมาชิกยังคงถกเถียงกันไปมาโดยไม่ได้ข้อสรุป จนในที่สุดนายวิสุทธิ์ จึงตัดบทว่า เมื่อถือว่าที่ประชุมได้รับทราบรายงานแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ ส่งให้วุฒิสภา ส่วนกรณีที่มีการเสนอญัตติที่ค้างอยู่ก็ดำเนินไปตามขั้นตอน จากนั้นได้สั่งปิดประชุมเมื่อเวลา 15.50น.
ที่มา : มติชนออนไลน์
"ประยุทธ์" เผยสถานการณ์วันศุกร์ 3 จชต. ดีขึ้น
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบข่มขู่ไม่ให้ค้าขายทุกวันศุกร์ว่า ขณะนี้พ่อค้าแม่ค้าออกมาค้าขายได้ 30 % ทุกอย่างอยู่ในเกณฑ์ดีขึ้นเรื่อยๆ ถ้าสื่อบอกว่าประชาชนไม่กล้าออกมาขายของเท่ากับว่าเราขยายคำขู่ของโจรมากขึ้นซึ่งไม่เป็นผลดี ประชาชนก็ไม่กล้าออกมาค้าขาย ดังนั้นสื่อต้องปลุกคนให้ออกมาสู้ ขณะนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเร่งผลิตตำรวจเพิ่มอีก 6,000 นายซึ่งในเดือนพ.ค.จะลงพื้นที่จำนวน1,800 นายและอีก 2,100 นายกำลังผลิตเพิ่มส่งตามลงไป ทั้งนี้นายกฯได้อนุมัติงบประมาณเรียบร้อยแล้วสามารถจะดำเนินการได้ภายในเดือนพ.ย.นี้ นี่คืองานความมั่นคงเชิงรุกและป้องกัน เราจะกำหนดพื้นที่ให้ชัดเจน หากพื้นที่ไหนรุนแรงทหารจะเข้าไปดูเป็นหลักและเสริมด้วยทหารพราน
ส่วนกรณีที่พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงระบุว่าจะหารือร่วมกับหน่วยข่าวกรองของประเทศมาเลเชียในเดือนพ.ย.นี้นั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เราก็คุยกันมาตลอด เพราะนายกฯมอบหมายให้ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ดูแลปรับปรุงเรื่องการข่าว อย่ามาพูดว่าการข่าวดีหรือไม่ดี เพราะการข่าวลับไม่ได้ฝึกได้ในปีเดียว วันนี้ที่ปลอดภัยเพราะได้มีการข่าวแจ้งเตือน
ที่มา : สำนักข่าวเนชั่น
กำนัน25จว.บุกสภาค้านขีดวาระนั่งเก้าอี้5ปี
เมื่อวันที่ 9 ต.ค. กลุ่มกำนันผุ้ใหญ่บ้าน 25 จังหวัดภาคกลางกว่า 500 คน นำโดยนายยงยศ แก้วเขียว ประธานสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย ได้เดินทางมาชุมนุมที่บริเวณหน้ารัฐสภาเพื่อเรียกร้องให้มีการถอนร่างพ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่...) พ.ศ....ออกมาจากคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อปรับปรุงในบางประเด็น เพราะไม่เห็นด้วยกับกำหนดวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี และคัดค้านให้เลือกกำนันโดยตรงจากประชาชน
ทั้งนี้กลุ่มกำนันผู้ใหญ่บางส่วนได้บุกประชิดติดกับรั้วของรัฐสภาและปิดปิดช่องทางจราจรที่ติดฟตุบาท ทำให้การจราจรติดขัด ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภาถึงกับต้องปิดประตูทางเข้าฝั่งถนนอู่ทองในโดยปริยาย จนสร้างความไม่พอใจต่อกลุ่มผู้ชุมนุมถึงกับตะโกนถามว่าจะให้เข้าห้องน้ำได้ที่ไหน ซึ่งบรรยากาศก็เป็นไปอย่างเคร่งเครียด จนกระทั่งนายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ สว. ราชบุรี ได้ลงมาเจรจา ขอให้ผู้ชุมนุมเปิดช่องจราจรและเปิดทางให้สว.ได้เข้าประชุมวุฒิสภาได้
นายยงยศ กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายถึงวาระการดำรงตำแหน่งกำนันผู้ใหญ้บ้านให้เหลือ 5 ปี ไม่ส่งผลดีต่อการปฏิบัติหน้าที่เพราะกำนันผู้ใหญ่บ้านไม่ใช่นักการเมืองที่ต้องเลือกตั้งบ่อยๆ ซึ่งจะทำให้เกิดความแตกแยกในชุมชน ทำให้จากนี้ไปจะขึ้นป้ายคัดค้านทั่วประเทศจำนวน 7,255 ตำบล และเตรียมระดมกำนันผู้ใหญ่บ้านทั่วประเทศมาชุมนุมที่หน้ารัฐสภาต่อไป
จากนั้นเวลา 11.30 น. ตัวแทนกำนันผู้ใหญ่บ้าน จำนวน 100 คน เข้ายื่นหนังสือต่อนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 เพื่อเรียกร้องให้ทางวุฒิสภาคัดค้านกฎหมายฉบับนี้ก่อนที่จะสลายการชุมนุม
ที่มา : โพสต์ทูเดย์
นักวิชาการเสนอโมเดลหาองค์กรกลางกำกับวิชาชีพสื่อ
ในการประชุมสัมมนา "ยุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์" ครั้งที่ 3 นายเจษฎ์ โทณะวนิก คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวระหว่างการประชมกลุ่มย่อยเรื่อง "กฎหมายสื่อ จริยธรรม และการกำกับดูแลสื่อ"ว่า กลไกการควบคุมกันเองของสื่อมวลชน ผ่านสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ยังไม่ได้ผล เนื่องจากเมื่อเกิดปัญหาขึ้นสมาชิกสภาวิชาชีพจะตัดสินใจลาออกแทน และสภาวิชาชีพก็ไม่สามารถเอาผิดได้อีกต่อไป ทั้งที่สังคมมีความคาดหวังค่อนข้างมาก กับการจัดการของสภาวิชาชีพ ดังนั้นเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้มีการกำกับดูแลอีกชั้นหนึ่งซึ่งอาจระบุไว้เลยว่าหากสื่อมวลชนไม่ยอมรับการลงโทษของสภาวิชาชีพ จะมีมาตรการทางกฎหมายอื่นๆ ที่รุนแรงขึ้น เพื่อให้สื่อมวลชนยอมรับกระบวนการควบคุมกันเอง และกระบวนการดำเนินเอาผิดไม่ได้จบแค่การลาออก
นอกจากนี้ ภายในวงเสวนากลุ่มย่อยยังได้เสนอให้ มีการกำกับดูแลผ่านสภาวิชาชีพ และกำกับดูแลด้วยใบอนุญาต โดยให้องค์กรกำกับดูแลกันเองมาใช้บังคับอย่างเคร่งครัด และต้องมีบุคคลที่น่าเชื่อถือทำหน้าที่ประธาน และกรรมการสภา โดยต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดการกีดกัน หรือใช้ลักษณะพวกมากลากไป เพื่อสร้างคุณภาพของสื่อมวลชน และเรียกความเชื่อถือจากสังคมให้มากขึ้น
นางวิลาสินี อดุลยานนท์ ผอ.สำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวตอนหนึ่งระหว่างการสัมมนาหัวข้อ "การสื่อสารความเกลียดชังกับผลกระทบต่อสังคม" ว่า ในขณะที่ Hate Speech ได้สร้างความเกลียดชัง ในมุมหนึ่งก็ได้สร้างพึงพอใจให้กับคนกลุ่มนี้ แต่คนเป็นสื่อเองก็ไม่ควรจะรู้สึกภูมิใจชั่ววูบกับเสียงเชียร์เหล่านั้น และสิ่งที่สื่อมวลชนสามารถทำได้คือการสร้างบรรยากาศนำไปสู่การถกเถียงแบบมีเหตุมีผล อย่างปล่อยให้การสร้างวาทกรรมที่ดูหมิ่น สร้างความเกลียดชัง เพราะยิ่งมี Hate speech มากเท่าไร ยิ่งทำให้การมีเหตุมีผลน้อยลงทุกที แต่เราควรสร้างสังคมให้คำนึงถึงสิทธิที่แต่ละฝ่ายมีต่อกัน
ที่มา : สำนักข่าวเนชั่น
ชี้ผลวิจัย ม.ฮาวาร์ดหนุนระบุศาสนาประจำชาติ
จากการอภิปราย เรื่อง “สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กับการสนองงานพระพุทธศาสนา” ใน งาน “1 ทศวรรษ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ” ที่บริเวณหน้าอาคารหลวงพ่อวัดปากน้ำ พุทธมณฑล จ.นครปฐม พระเมธีธรรมาจารย์ รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ในฐานะเลขาธิการองค์กรชาวพุทธแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้มีกฎหมายที่สำคัญต่อคณะสงฆ์อยู่ 3 ฉบับ ที่ยังค้างอยู่และยังไม่ได้รับการพิจารณา คือ 1.ร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์ และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ.... ทั้งที่ร่าง พ.ร.บ.นี้ผ่านความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคม (มส.) แล้ว แต่กลับพบว่ายังมีการดำเนินการแบบวนไปวนมา ยังไม่ได้เสนอเพื่อบรรจุในวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร
พระเมธีธรรมาจารย์ กล่าวต่อไปว่า 2.ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารพระพุทธศาสนา พ.ศ.... ร่าง พ.ร.บ.นี้ผ่านความเห็นชอบจาก มส. และเสนอไปยังสภาฯแล้ว 3. เรื่องการระบุให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อใด องค์กรชาวพุทธจะเคลื่อนไหวเรื่องนี้อีกแน่ และเรื่องนี้มีผลวิจัยจากทางนักวิชาการของ ม.ฮาวาร์ด สหรัฐอเมริกา สรุปว่าเห็นด้วยกับการระบุว่ามีศาสนาอะไรเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ เพราะจะมีประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและสังคมด้วย.
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เปลี่ยนสิทธิ์รักษา 6 กรณีต้องขอข้อมูลยื่น รพ.ใหม่เอง
เมื่อวันที่ 8 ต.ค. ที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวในการประชุมชี้แจงการสร้างความเป็นเอกภาพและบูรณาการสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบประกันสุขภาพภาครัฐกรณีการให้บริการผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV/ผู้ป่วยโรคเอดส์ และผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายแก่สถานพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคมว่า การดำเนินการเปลี่ยนสิทธิการรักษาสำหรับผู้ป่วยเอดส์/ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย สามารถแบ่งเป็น 6 กรณี คือ 1.จากสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาท เป็นประกันสังคม ผู้ประกันตนจะได้สิทธิหลังจ่ายเงินสมทบครบ 90 วัน ผู้ป่วยเลือกโรงพยาบาลคู่สัญญาและโรงพยาบาลที่จะรักษา อาจเป็นคนละโรงพยาบาลก็ได้ 2.จากสิทธิประกันสังคมเป็นสิทธิประกันสุขภาพ ผู้ประกันตนยังคงสิทธิหลังออกจากงาน 180 วัน ผู้ป่วยเลือกลงทะเบียนหน่วยบริการประจำและเลือกโรงพยาบาลที่จะรักษา อาจเป็นคนละโรงพยาบาลก็ได้
3.จากสิทธิประกันสุขภาพเป็นสิทธิสวัสดิการข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ ได้รับสิทธินับจากวันบรรจุ โดยจะไม่มีระบบลงทะเบียน ผู้ป่วยต้องติดต่อโรงพยาบาลของรัฐที่สะดวกเข้ารับการรักษา 4.จากสิทธิข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจเป็นสิทธิประกันสุขภาพ ได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพทันทีหลังจากสิ้นสุดสิทธิข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ ผู้ป่วยเลือกลงทะเบียนหน่วยบริการประจำและเลือกโรงพยาบาลที่จะรักษาอาจเป็นคนละโรงพยาบาล 5.จากสิทธิข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจเป็นสิทธิประกันสังคม ผู้ประกันตนได้สิทธิหลังจ่ายเงินสมทบครบ 90 วัน และเลือกโรงพยาบาลคู่สัญญาและโรงพยาบาลรักษาที่อาจจะเป็นคนละแห่งก็ได้ และ 6.จากสิทธิประกันสังคมเป็นสิทธิข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ ผู้ประกันตนยังคงสิทธิหลังออกจากงาน 180 วัน ไม่มีระบบลงทะเบียนให้ผู้ป่วยติดต่อเลือกโรงพยาบาลของรัฐที่สะดวกเข้ารับการรักษา
“ทั้ง 6 กรณีผู้ป่วยสามารถเลือกโรงพยาบาลคู่สัญญาแตกต่างจากโรงพยาบาลที่เข้ารับการรักษาได้เฉพาะที่เป็นโรงพยาบาลรัฐบาลด้วยกันเท่านั้น และในการย้ายโรงพยาบาล ผู้ป่วยต้องแสดงความจำนงแก่ผู้ประสานของโรงพยาบาลเดิมเพื่อขอข้อมูลทางการแพทย์ไปให้โรงพยาบาลใหม่ เนื่องจากไม่มีระบบออนไลน์ เพราะข้อมูลของผู้ป่วยจะต้องเป็นความลับตามที่กฎหมายกำหนด” รองเลขาธิการ สปสช.กล่าว
ด้าน นางสุพัชรี มีครุฑ ผู้ตรวจราชการ สปส.กล่าวว่า ผู้ป่วยที่เป็นผู้ประกันตนทั้งที่เป็นผู้ประกันตนเดิมและผู้ที่เปลี่ยนจากสิทธิอื่นมาเป็นประกันสังคม หากเลือกโรงพยาบาลคู่สัญญาเป็นโรงพยาบาลเอกชน จะไม่สามารถเลือกโรงพยาบาลรักษาอื่นได้ต้องรักษากับโรงพยาบาลที่เป็นคู่สัญญาที่ระบุในบัตรประกันสังคม เนื่องจากระบบของประกันสังคมจะทำสัญญากับโรงพยาบาลคู่สัญญาเท่านั้น แต่หากเป็นผู้ประกันตนที่โรงพยาบาลตามบัตรเป็นโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สธ.ได้มีการอนุโลมให้เข้ารักษาในโรงพยาบาลสังกัดสธ.อื่นที่ไม่ใช่โรงพยาบาลตามบัตรได้ แต่ต้องอยู่ภายในโรงพยาบาลเดียวกัน
“สำหรับสิทธิประโยชน์ของผู้ป่วยทั้ง 2 โรคทั้งสิทธิประกันสังคมและสิทธิประกันสุขภาพ ส่วนตัวเห็นว่าเกณฑ์เหมือน หรือใกล้เคียงกันแล้วมีความแตกต่างแค่ในส่วนของเงินที่จ่ายเท่านั้น เช่น กรณีการตรวจซีดีโฟร์ (CD4) ของผู้ป่วยเอดส์ สปส.จ่าย 500 บาทต่อการตรวจรู้ผล ขณะที่ สปสช.จ่าย 400 บาทต่อการตรวจรู้ผล หรือการตรวจปริมาณไวรัสในร่างกาย ที่ สปส.จ่าย 2,500 บาทต่อการตรวจรู้ผล ส่วน สปสช.จ่ายชดเชยเป็นน้ำยา 1.1 เท่าพร้อมค่าบริหารจัดการ 250 บาทต่อการตรวจรู้ผล เป็นต้น ซึ่งในอนาคต สปส.จะพยายามให้มาตรฐานเป็นแบบเดียวกัน” นางสุพัชรี กล่าว
ที่มา : ผู้จัดการเอเอสทีวี
ธปท.รับลูก'หม่อมอุ๋ย' ออกกม.จัดการบริษัทปล่อยกู้ดอกโหด
เมื่อวันที่ 9 ต.ค. ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง กล่าวภายหลังการหารือกับ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงการเข้าไปดูแลบริษัทปล่อยสินเชื่อที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) ซึ่งปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อในลักษณะเอาเปรียบผู้บริโภค โดยคิดดอกเบี้ยสูงกว่าที่ ธปท.กำหนดว่า วันนี้เป็นการมาให้ข้อมูลและเสนอความคิดเห็นให้ ธปท.รับทราบ เพราะเท่าที่หารือกันแล้วพบว่า บริษัทปล่อยสินเชื่อดังกล่าวไม่ได้อยู่ในการกำกับดูแลของ ธปท. ในส่วนของสถาบันการเงิน และนอนแบงก์ที่ ธปท. กำกับดูแลนั้น ไม่ได้มีปัญหาดำเนินการได้ดีอยู่แล้ว แต่ก็คิดตรงกันว่าไม่ควรที่จะปล่อยให้มีการปล่อยสินเชื่อโดยเอาเปรียบประชาชน
ดังนั้น จึงหารือว่าควรที่จะหาช่องทางกฎหมายเพื่อที่จะนำบริษัทปล่อยสินเชื่อเหล่านี้ เข้ามาอยู่ในกำกับของ ธปท. เพื่อให้การปล่อยสินเชื่อเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของ ธปท. ซึ่งหากเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล อัตราดอกเบี้ยสูงสุดรวมค่าธรรมเนียมไม่ควรเกิน 28% แต่การปล่อยสินเชื่อของบริษัทเหล่านี้ที่ผ่านมา ถ้าคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมรวมกันจะสูงมากกว่า 28% มาก
“ในความคิดของผมที่เสนอไปคือ หากพบพฤติกรรมแบบนี้ แต่ไม่ได้อยู่ในกำกับดูแลของ ธปท. ก็ต้องหาทางที่จะนำเข้ามาอยู่ในกำกับดูแลของ ธปท. ซึ่งเท่าที่หารือ น่าจะมี พ.ร.บ.ที่ ธปท.กำกับดูแลอยู่บางมาตรการที่มีช่องให้สามารถนำบริษัทเหล่านี้เข้ามาอยู่ในกำกับดูแลได้ ซึ่งต้องถาม นายเกริก วณิกกุล รองผู้ว่าการ ธปท.สายเสถียรภาพสถาบันการเงิน ว่าเป็นมาตรการใด และต้องดำเนินการต่อไปอย่างไร ซึ่ง ธปท.รับทราบเรื่องนี้ และจะนำไปศึกษาหาข้อมูลเพื่อเร่งดำเนินการดูแลไม่ให้เกิดการเอาเปรียบประชาชนต่อไป”
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การหารือดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจาก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ได้กล่าวในงานสัมมนาประจำปีของ ธปท.ว่า ในช่วงที่ผ่านมา มีการปล่อยสินเชื่อที่เอารัดเอาเปรียบประชาชน คิดดอกเบี้ยบวกค่าธรรมเนียมในอัตราที่สูงมาก ซึ่งอยากให้ธปท. เข้าไปดูแล ทำให้ ธปท.ได้เชิญ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร มาหารือ เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงว่า เป็นบริษัทใดที่มีการดำเนินการผิดกฎเกณฑ์ของ ธปท. และเอาเปรียบประชาชน และ ธปท.มีอำนาจกำกับดูแลหรือไม่.
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
ศาลมาเลเซียยกฟ้อง คดีกะเทยยื่นฟ้องกฎหมายอิสลามขัดรธน.ห้ามแต่งหญิง
ศาลสูงเมืองเซเรมบัง ทางใต้ของมาเลเซีย ยกฟ้องคดีที่กะเทย 4 คน ยื่นฟ้องกฎหมายชารีอะห์ของอิสลามว่าขัดรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดบทลงโทษผู้ที่แต่งตัวผิดเพศ ทั้งที่รัฐธรรมนูญบัญญัติถึงสิทธิในการใช้ชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ซึ่งหมายถึงว่าประชาชนจะต้องไม่ถูกลงโทษเพราะเชื้อชาติ หรือเพศ เพราะไม่สามารถเลือกเกิดได้ อย่างไรก็ตาม ศาลตัดสินว่ากะเทยมุสลิมต้องอยู่ภายใต้กฎหมายชารีอะห์ ไม่สามารถยกเว้นได้
คำตัดสินดังกล่าวสร้างความผิดหวังให้กับกะเทยทั้ง 4 คน ซึ่งอยู่ในวัย 20 กว่า และทำงานเป็นช่างแต่งหน้าเจ้าสาว ด้วยการแต่งตัวและแสดงตัวเป็นผู้หญิง ซึ่งทำให้พวกเขาถูกตำรวจจับข้อหาแต่งหญิงมาแล้ว โดยเป็นความผิดนี้มีโทษปรับไม่เกิน 320 ดอลลาร์สหรัฐฯ และถูกจำคุกไม่ต่ำกว่า 6 เดือน
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
เวียดนามเตรียมปล่อยตัวหญิงขายบริการออกจากสถานบำบัด
ภายในปีหน้า ทางการเวียดนามเตรียมปล่อยตัวหญิงขายบริการกว่า 900 คน ออกจากสถานบำบัด พร้อมประกาศลดหย่อนโทษให้แก่ผู้ที่ประกอบอาชีพดังกล่าว ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าว ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นในสังคมเวียดนาม
ทางการเวียดนามเตรียมปล่อยตัวหญิงขายบริการทางเพศกว่า 900 คน ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในสถานบำบัด หลังจากที่กฎหมายลดหย่อนโทษ ที่เอาผิดกับหญิงขายบริการทางเพศประกาศบังคับใช้อย่างเป็นทางการภายในปีหน้า โดยกฎหมายฉบับดังกล่าว ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นในเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่เข้มงวดกับการเอาผิดกับผู้ที่ประกอบอาชีพขายบริการทางเพศเป็นอย่างมาก หากว่ากฎหมายดังกล่าวบังคับใช้ จะส่งผลให้ผู้ที่ถูกจับกุมในข้อหาขายบริการทางเพศ ไม่ต้องถูกควบคุมตัวในสถานบำบัดอีกต่อไป แต่จะถูกปรับเป็นเงิน 5 ล้านดอง หรือประมาณ 7,300 บาทแทน ซึ่งแม้ว่าจะมีการลดหย่อนโทษลง แต่รัฐบาลเวียดนามก็ยืนยันว่า อาชีพขายบริการทางเพศ ยังคงเป็นอาชีพที่ไม่ได้รับการยอมรับในสังคมเวียดนามเช่นเดิม
ปัจจุบัน ทางการเวียดนามคาดการณ์ว่า มีผู้ประกอบอาชีพขายบริการทางเพศในประเทศ มากถึง 30,000 คน ซึ่งหากว่าถูกทางการจับกุมตัวได้ พวกเธอก็จะถูกส่งตัวไปอยู่ในสถานบำบัด ร่วมกับผู้ที่ถูกจับกุมจากคดียาเสพติดอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหลายแห่ง ได้ออกมาเรียกร้องให้ทางการเวียดนาม ยุติการลงโทษด้วยวิธีดังกล่าว เพราะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เนื่องจากมีรายงานว่า ผู้ที่ถูกคุมขังถูกทำร้ายร่างกาย และได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม
ที่มา : VoiceTV
ศาลฟิลิปปินส์สั่งระงับใช้"กฎหมายอาชญากรรมไซเบอร์" 120 วัน
ศาลฎีกาฟิลิปปินส์สั่งระงับใช้กฎหมายอาชญากรรมโลกไซเบอร์ของรัฐบาลเป็นการชั่วคราว หลังจากเกิดกระแสประท้วงในโลกอินเทอร์เน็ตว่ากฎหมายนี้จะถูกใช้เพื่อจำกัดเสรีภาพ
กฎหมายดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า พ.ร.บ.ป้องกันอาชญากรรมโลกไซเบอร์ 2012 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา โดยมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันภาพอนาจารเด็กทางออนไลน์ การขโมยข้อมูลส่วนบุคคล และอีเมล์ขยะ โดยคำสั่งระงับครั้งนี้จะมีผลเป็นระยะเวลา 120 วัน
นางเลย์ลา เดอ ลิมา รัฐมนตรียุติธรรมฟิลิปปินส์ เผยว่า ศาลฎีกามีคำสั่งในวันนี้ระงับการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเป็นการชั่วคราว รัฐบาลเคารพและจะปฏิบัติตามการใช้อำนาจด้านตุลาการนี้ แต่จะเดินหน้าสนับสนุนการทำให้โลกไซเบอร์มีความปลอดภัยและยับยั้งแก๊งอาชญากรรมต่อไป
คณะผู้พิพากษา 15 คน ของศาลฎีกาประชุมเป็นการภายในวันนี้เกี่ยวกับคำร้องให้ประกาศให้กฎหมายดังกล่าวของรัฐบาลเป็นโมฆะ แต่โฆษกศาลไม่ขอออกความเห็นต่อข่าวที่อ้าง นางเดอ ลิมา ว่าศาลสั่งระงับการบังคับใช้กฎหมายนี้
รัฐบาลฟิลิปปินส์บังคับใช้กฎหมายอาชญากรรมโลกไซเบอร์เมื่อสัปดาห์ก่อนเพื่อปราบปรามการก่ออาชญากรรมในโลกไซเบอร์ เช่น การฉ้อฉล การโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคล การส่งอีเมล์ขยะ การอนาจารเด็ก แต่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาตราที่กำหนดว่าการหมิ่นประมาทออนไลน์จะถูกจำคุกสถานหนักกว่าหมิ่นประมาทผ่านสื่อหลักทั่วไป และมาตราที่เปิดทางให้รัฐบาลปิดเว็บไซต์รวมทั้งติดตามกิจกรรมออนไลน์โดยไม่ต้องขอคำสั่งศาล กลุ่มสิทธิที่ยื่นร้องต่อศาลยินดีที่ศาลมีคำสั่งระงับใช้กฎหมายชั่วคราว และขอให้ศาลมีคำตัดสินยกเลิกกฎหมายนี้
ที่มา : มติชน