18 ตุลาคม 2555 รายงานข่าวจากกรุงบวยโนส ไอเรส (บัวโนสไอเรส) เมืองหลวงของอาร์เจนตินาระบุ วุฒิสภาอาร์เจนตินาลงมติผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น 52 ต่อ 3 เสียง โดยขั้นตอนต่อไปคือ การส่งต่อไปให้สภาผู้แทนราษฎรที่มีกลุ่มการเมืองของผู้นำหญิงอาร์เจนตินาครองเสียงข้างมากอยู่ พิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้งก่อนมีการประกาศใช้เป็นกฎหมายในเดือนหน้าต่อไป
ความเคลื่อนไหวทางการเมืองล่าสุดที่เกิดขึ้นในอาร์เจนตินา ถูกมองจากนักวิจารณ์ว่าเป็นความพยายามของประธานาธิบดีหญิงกริสตินา เฟร์นันเดซ เด เคิร์ชเนอร์ วัย 59 ปี และสมาชิกกลุ่มการเมือง “เฟรนเต ปารา ลา บิกโตเรีย” ของเธอ ในการหาทางผูกขาดการครองอำนาจต่อไป เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า คนหนุ่มสาวอาร์เจนตินาส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนแนวทางการทำงานของรัฐบาล และการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจะส่งผลให้ฐานเสียงของรัฐบาลที่เป็นคนหนุ่มสาวขยายตัวเพิ่มมากขึ้นไม่น้อยกว่า 1.4 ล้านคะแนนเสียง
ขณะเดียวกัน ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นยังส่งผลให้อาร์เจนตินากลายเป็นประเทศล่าสุดของโลกที่กำหนดอายุของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเริ่มต้นที่ 16 ปีบริบูรณ์ต่อจากออสเตรีย นิการากัว เอกวาดอร์ และบราซิล
“อุรุกวัย” อนุมัติทำแท้งถูกกฎหมาย
18 ตุลาคม 2555 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงมอนเตวิเดโอ ประเทศอุรุกวัยว่า ทางการอุรุกวัยประกาศเมื่อวันพุธ อนุญาตให้มีการทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย นับเป็นประเทศที่ 2 ในทวีปอเมริกาใต้ที่บังคับใช้กฎหมายดังกล่าว
นายเลโอเนล บริออซโซ รมช.สาธารณสุขอุรุกวัย แถลงว่า สมาชิกวุฒิสภาของอุรุกวัยทั้ง 31 ที่นั่ง มีมติเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียงเสียง 17 ต่อ 14 เห็นชอบให้เริ่มบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสมทางการแพทย์เท่านั้น โดยสตรีที่แสดงความจำนงต้องการทำแท้ง ต้องมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ จำเป็นต้องผ่านการตรวจ และเข้ารับคำปรึกษาจากสูตินรีแพทย์อย่างน้อย 3 คน ที่อธิบาย และชี้ให้เห็นถึงผลข้างเคียงของการทำแท้ง
นอกจากนี้ สูตินรีแพทย์ต้องให้คำแนะนำแก่คนไข้ เกี่ยวกับทางเลือกในการมีบุตรโดยไม่ต้องผ่านการตั้งครรภ์ อาทิ การรับอุปการะเด็กกำพร้า พร้อมกับต้องลงนามเห็นชอบเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ตาม หากคนไข้ต้องการทำแท้งด้วยตนเอง จำเป็นต้องแสดงใบอนุญาตซื้ออุปกรณ์ให้แก่ร้านขายยา ที่ต้องได้รับใบอนุญาตจำหน่ายเครื่องมือดังกล่าวอย่างถูกต้อง จากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเช่นกัน
นายบริออซโซ กล่าวแสดงความเชื่อมั่นว่า การบังคับใช้กฎหมายฉบับดังกล่าว จะช่วยหยุดยั้งวิธีการทำแท้งที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ตลอดจนควบคุมการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ และเปิดทางให้แก่การดำเนินนโยบายประกันสุขภาพของรัฐบาล
ในอดีต การทำแท้งในอุรุกวัยถือเป็นเรื่องร้ายแรง และผิดศีลธรรมอย่างมาก โดยยาและอุปกรณ์ทำแท้งหาซื้อได้เฉพาะในตลาดมืดเท่านั้น แต่ยาทำแท้งที่เตรียมออกวางจำหน่ายในอนาคต นายบริออสโซยืนยันว่า ผ่านการตรวจสอบอย่างละเอียดแล้วว่าได้มาตรฐาน เช่นเดียวกับยาและผลิตภัณฑ์ทำแท้งที่วางจำหน่ายในหลายประเทศของยุโรป
ปัจจุบัน อุรุกวัยถือเป็นประเทศที่ 2 ในกลุ่มประเทศแถบละตินอเมริกา ที่อนุมัติกฎหมายการทำแท้ง หลังจากกายอานา ที่ประกาศให้ทำแท้งอย่างถูกกฎหมายเป็นแห่งแรกในภูมิภาค เมื่อปี 2538
'ทวิตเตอร์' ใช้มาตรการบล็อคเฉพาะประเทศ เซ็นเซอร์ทวีต 'นีโอนาซี' ในเยอรมนี
18 ตุลาคม 2555 ทวิตเตอร์ เว็บโซเชียลมีเดียชื่อดัง บล็อคข้อความของกลุ่มนีโอนาซี ไม่ให้ประชาชนในเยอรมนีเข้าถึง ตามการร้องขอของรัฐบาลเยอรมัน โดยนับเป็นครั้งแรกที่ทวิตเตอร์เซ็นเซอร์เนื้อหาเฉพาะในประเทศ ตามนโยบายที่เคยประกาศไว้เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
โฆษกของทวิตเตอร์ระบุว่า บัญชี @hannoverticker ของกลุ่ม Besseres Hannover (ฮันโนเวอร์ที่ดีกว่า) ซึ่งเป็นกลุ่มขวาจัด ถูกปิดกั้นการเข้าถึงในเยอรมนี เนื่องจากถูกตัดสินว่ามีเนื้อหาผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้ในประเทศอื่นๆ ยังสามารถเข้าไปอ่านข้อความในบัญชีนั้นได้
ขณะที่เป็นที่รับรู้กันว่าทวิตเตอร์นั้นลังเลที่จะเซ็นเซอร์เนื้อหาเพราะเกรงว่าจะไล่ลูกค้า การดำเนินการดังกล่าวจึงทำให้เกิดการวิจารณ์กฎหมายเยอรมันซึ่งแบนกลุ่มดังกล่าว มากกว่าที่จะวิจารณ์ทวิตเตอร์
"ทวิตเตอร์เป็นบริษัทเอกชน และแม้ว่าจะมีประวัติที่น่านับถือในเรื่องเสรีภาพในการพูด แต่ก็คงไม่สามารถหวังว่าจะผ่านไปได้ทุกปัญหา ยิ่งกว่านั้น เยอรมนียังเป็นตลาดที่ใหญ่และมั่งคั่ง" Pádraig Reidy จาก Index on Censorship องค์กรรณรงค์ด้านเสรีภาพในการแสดงออก กล่าว
เขากล่าวด้วยว่า ทวิตเตอร์ปฏิบัติตามกฎหมายและเปิดเผยต่อสาธารณะ แต่ปัญหาอยู่ที่กฎหมายเยอรมันเอง การแบนความเห็นขวาจัดและลัทธิแก้ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากนาซี เป็นเรื่องผิดสมัยสำหรับประชาธิปไตยเสรีนิยมใหม่ และกฎหมายเหล่านี้จะชี้และเยาะเย้ยความพยายามของสหภาพยุโรปในการพร่ำสอนชาวโลกเรื่องเสรีภาพในการพูด
กลุ่ม Besseres Hannover ถูกแบนโดยรัฐบาลแห่งรัฐโลว์เออร์แซกโซนี (Lower Saxony) เมื่อเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากกลุ่มดังกล่าวสนับสนุนอุดมการณ์นาซี ซึ่งถือเป็นการบ่อนทำลายประชาธิปไตยเยอรมัน
ทั้งนี้ ทวิตเตอร์ประกาศเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา (พฤ.) ว่า ในเยอรมนี จะมองไม่เห็นบัญชีผู้ใช้ดังกล่าว ขณะที่ที่อื่นๆ ในโลกนั้นเห็น
Alex Macgillivray ที่ปรึกษากฎหมายของบริษัททวิตเตอร์ ทวีตว่า "ไม่เคยต้องการจะระงับเนื้อหา ยังดีที่มีเครื่องมือในการทำในลักษะที่แคบลงและโปร่งใส"
จากนั้น เขาทวีตต่อด้วยว่า ทวิตเตอร์ได้ประกาศมาตรการระงับการเข้าถึงเนื้อหาเมื่อเดือนมกราคม และกำลังใช้มันตอนนี้เป็นครั้งแรกกับกลุ่มซึ่งเข้าข่ายผิดกฎหมายในเยอรมนี
ทั้งนี้ ทวิตเตอร์ระบุผ่านเว็บด้วยว่า หากมีการร้องขอที่ถูกต้องและอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสมจากหน่วยงานที่มีอำนาจ ทวิตเตอร์ก็อาจจำเป็นต้องระงับการเข้าถึงเนื้อหาในบางประเทศเป็นครั้งคราว อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อมั่นว่าการแลกเปลี่ยนข้อมูลในระบบเปิดและเสรี จะส่งผลกระทบระดับโลกในเชิงบวก และย้ำว่าข้อความในทวิตเตอร์จะต้องไม่ถูกปิดกั้น (..."the Tweets must continue to flow.")
'อียู' สั่ง 'กูเกิล' แก้นโยบายความเป็นส่วนตัว ใน 4 เดือน
หน่วยงานกำกับดูแลด้านความเป็นส่วนตัวของสหภาพยุโรป สั่งให้ 'กูเกิล' แก้ไขนโยบายความเป็นส่วนตัวที่บังคับใช้เมื่อมีนาคมที่ผ่านมา เนื่องจากอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล ให้เวลา 4 เดือน มิเช่นนั้นจะดำเนินการตามกฎหมาย
กรณีบริษัทกูเกิลปรับปรุงนโยบายความเป็นส่วนตัวใหม่ ซึ่งจะรวบข้อตกลงการใช้งานบริการต่างๆ ของกูเกิล 60 บริการเข้าด้วยกันภายใต้ข้อตกลงเดียว ตั้งแต่เมื่อ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยข้อตกลงใหม่นี้จะอนุญาตให้กูเกิลแชร์ข้อมูลการใช้บริการของผู้ใช้ระหว่างบริการต่างๆ เช่น ยูทูป จีเมล กูเกิลพลัส ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ซึ่งกูเกิลระบุว่าข้อมูลเหล่านี้จะทำให้การให้บริการ เช่น แสดงผลค้นหาและโฆษณาที่เกี่ยวข้องดีขึ้น ขณะที่คณะกรรมาธิการแห่งชาติว่าด้วยสารสนเทศและเสรีภาพ หรือ CNIL ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลข้อมูลส่วนบุคคลของฝรั่งเศส แสดงความไม่เห็นด้วยโดยระบุว่านโยบายดังกล่าวอาจขัดต่อกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป
ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า CNIL แถลงผลการตรวจสอบกรณีดังกล่าวในนามของสมชิกสหภาพยุโรป 27 ประเทศ โดยเรียกร้องให้กูเกิลแก้ไขนโยบายความเป็นส่วนตัวใหม่ โดยระบุว่า กูเกิลต้องให้ข้อมูลที่ชัดเจนกว่านี้ว่าข้อมูลใดของผู้ใช้ที่จะถูกเก็บและเก็บไปเพื่ออะไร รวมถึงต้องให้ผู้ใช้ควบคุมวิธีการที่ข้อมูลจะถูกรวบรวมได้มากขึ้น
Isabelle Falque-Pierrotin ประธาน CNIL กล่าวว่า กูเกิลมีเวลา 3-4 เดือน เพื่อแก้ไขนโยบายดังกล่าว มิเช่นนั้น ทางการบางประเทศอาจดำเนินการทางกฎหมายกับกูเกิลได้
ทั้งนี้ บีบีซีรายงานว่า แม้จะไม่ได้มีการระบุว่าการกระทำของกูเกิลนั้น "ผิดกฎหมาย" แต่ก็ระบุว่า กูเกิลให้รายละเอียดที่ "ไม่ครบถ้วนและคร่าวๆ" นำมาซึ่ง "ความวิตกกังวลอย่างมากเกี่ยวกับการปกป้องข้อมูลและการเคารพกฎหมายยุโรป"
ด้าน Peter Fleischer ที่ปรึกษาประเด็นความเป็นส่วนตัวของกูเกิล กล่าวว่า ได้รับรายงานแล้วและอยู่ระหว่างการพิจารณา อย่างไรก็ตาม เชื่อว่านโยบายความเป็นส่วนตัวที่ออกมาใหม่นั้นได้แสดงให้เห็นถึงพันธกิจที่มีมายาวนานของบริษัทในการปกป้องข้อมูลของผู้ใช้และสร้างสรรผลิตภัณฑ์ที่ดี พร้อมทั้งมั่นใจว่านโยบายดังกล่าวได้ปฏิบัติตามกฎหมายของสหภาพยุโรป
Nick Pickles ผู้อำนวยการ Big Brother Watch ซึ่งเป็นกลุ่มรณรงค์ด้านความเป็นส่วนตัวในสหราชอาณาจักร แสดงความยินดีต่อข่าวดังกล่าว โดยระบุว่า เป็นเรื่องถูกต้องอย่างยิ่งที่หน่วยงานกำกับดูแลของยุโรปจะให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นใจให้ประชาชนรู้ว่าข้อมูลอะไรบ้างที่ถูกเก็บและถูกนำไปใช้อย่างไร
เขามองว่า ถ้าประชาชนไม่ตระหนักว่าพฤติกรรมของพวกเขาถูกจับตามองและบันทึกมากเพียงใด มันก็เป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างทางเลือกในการใช้บริการ
เขากล่าวว่า คำตัดสินนี้เป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้ผู้บริโภคมีอำนาจในการควบคุมข้อมูลส่วนตัวและทำให้มั่นใจว่าบริษัทอย่างกูเกิลจะไม่สามารถมองข้ามประเด็นความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ไปง่ายๆ เพื่อจะเก็บรวบรวมข้อมูลและทำกำไรให้มากขึ้น
คมนาคมเร่งออกกม.คุ้มครองสิทธิผู้โดยสารชาร์เตอร์ไฟล์
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับ นายวรเดช หาญประเสริฐ อธิบดีกรมการบินพลเรือน (บพ.) และผู้บริหารระดับสูงของสายการบินพีซี แอร์ วานนี้ (19 ต.ค.) ว่า กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างกำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้โดยสารที่ใช้บริการของสายการบินแบบเช่าเหมาลำทั้งเส้นทางบินในประเทศ และต่างประเทศ หลังจากเกิดเหตุสายการบินพีซีแอร์ทำผู้โดยสารตกค้างที่ประเทศเกาหลี คาดว่าภายใน 1 เดือนจะประกาศบังคับใช้ตามกฎหมายได้
จากกรณีดังกล่าวบพ.จะยังไม่ยกเลิก หรือเพิกถอนใบอนุญาตทำการบินของ สายการบินพีซีแอร์ เนื่องจากพีซีแอร์ได้ทำการจำหน่ายตั๋วโดยสารออกไปแล้วจนถึงสิ้นเดือนต.ค.นี้ หากเพิกถอนใบอนุญาตอาจส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารที่จะต้องเดินทางไปยังเกาหลี และจากการรับฟังแนวทางการแก้ปัญหาของสายการบินพีซีแอร์เบื้องต้นพอรับฟังได้ โดยบริษัทแจ้งว่าขณะนี้ได้แก้ไขปัญหาด้วยการจัดส่งเจ้าหน้าที่ของสายการบินพีซีแอร์ไปประจำที่สนามบินอินชอน เพื่อทำหน้าที่ในการจ่ายชำระค่าน้ำมันและค่าบริการการบินโดยตรง โดยยกเลิกระบบการชำระเงินผ่านบริษัทตัวแทนที่ชื่อ สกายเจ็ท ซึ่งกำลังมีข้อขัดแย้งกับสายการบินพีซีแอร์
ทั้งนี้ แม้ว่าบพ.จะยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองสิทธิผู้โดยสาร แต่สายการบินพีซีแอร์จะอ้างไม่รับผิดชอบไม่ได้ หากผู้โดยสารรายใดเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมและเกิดความเสียหายจากปัญหาดังกล่าว สามารถร้องเรียนผ่านสายด่วนคมนาคม 1356 โดยหากพิจารณาข้อร้องเรียนและปัญหาจากการร้องเรียนของผู้โดยสารแล้วพบว่าสายการบินพีซีแอร์มีปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพการให้บริการ เช่น ดูแลผู้โดยสารที่ตกค้างไม่ดี ก็อาจเข้าข่ายถูกเพิกถอนใบอนุญาตได้
คปก.ถก นักกฎหมาย ร่างพ.ร.บ.วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ถกความเหมาะสมบทลงโทษ
คณะกรรมการเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จัดการประชุมรับฟังความเห็นนักวิชาการ-ทนายความ ร่างพ.ร.บ.วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญถกความเหมาะสมบทลงโทษ-การละเมิดอำนาจศาล
19 ตุลาคม 2555 - คณะกรรมการเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จัดการประชุมรับฟังความเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ…. โดยมีนายสุขุมพงศ์ โง่นคำ กรรมการปฏิรูปกฎหมายและประธานคณะกรรมการเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เป็นประธานการประชุม ทั้งนี้มีผู้แทนจากสภาทนายความ นักวิชาการกฎหมาย และทนายความสิทธิมนุษยชน ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งมีการอภิปรายใน 2 ประเด็นหลัก คือ 1. การละเมิดอำนาจศาลตามาตรา 16 และ 17 สมควรบัญญัติไว้หรือไม่และบทกำหนดโทษมีความเหมาะสมหรือไม่ 2. ความเหมาะสมในการบัญญัติบทบัญญัติและบทกำหนดโทษเกี่ยวกับวิธีการคุ้มครองชั่วคราว
สำหรับประเด็นเรื่องการละเมิดอำนาจศาลตามมาตรา 16 ที่ประชุมมีความเห็น 2 แนวทาง คือ เห็นควรที่จะบัญญัติมาตรา 16 ไว้ เนื่องจากมาตรานี้มีขึ้นเพื่อรักษาความสงบในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ และศาลเองมิใช่คู่ความ แต่เป็นคนกลางในการตัดสินคดีจึงสมควรที่จะได้รับความคุ้มครอง ส่วนที่ไม่เห็นควรให้บัญญัติมาตรา 16 ให้เหตุผลว่าบทบัญญัติดังกล่าวจะเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็นซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ และยังสามารถใช้กฎหมายเกี่ยวกับการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทแล้วแต่กรณีมาปรับใช้ได้
ขณะเดียวกันในเรื่องความเหมาะสมในการกำหนดบทลงโทษตามมาตรา 16 ที่ประชุมยังมีความเห็นแตกต่างกันโดยส่วนใหญ่มีความเห็นเป็น 2 แนวทางคือ เห็นว่าบทกำหนดโทษนั้นไม่กำหนดโทษขั้นต่ำ ซึ่งมีความเหมาะสมแล้ว แต่ทั้งนี้ควรระบุถึงการอุทธรณ์คดีกรณีถูกตัดสินลงโทษด้วย เนื่องจากไม่ได้บัญญัติเอาไว้ ส่วนเหตุผลของผู้ที่เห็นว่าไม่ควรมีการกำหนดโทษ มีความเห็นว่า คดีที่เข้ามาสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของคนส่วนใหญ่แตกต่างจากคดีแบบอื่น ดังนั้น จึงควรใช้มาตรการเชิงบวกคือ การพูดคุยเจรจาจะเหมาะสมกว่า และเป็นห่วงว่าการเปิดช่องให้ตุลาการใช้ดุลยพินิจในการลงโทษอาจก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติได้
นอกจากนี้ที่ประชุมมีความเห็นเพิ่มเติมว่า การบัญญัติมาตรา17 มีความเหมาะสม เนื่องจากเป็นการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน และจูงใจให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญมากกว่าจำกัด อีกทั้งการวิพากษ์วิจารณ์ ยังเป็นประโยชน์ในแง่การพัฒนาการทำงานของศาล ส่วนประเด็นการกำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราวนั้น ที่ประชุมเห็นสอดคล้องว่า สมควรระบุเอาไว้เป็นกฎหมายในพ.ร.บ.ให้ชัดเจน เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 212 กำหนดให้ประชาชนมีสิทธิฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะกำหนดเอาไว้เพื่อเป็นการบรรเทาความเสียหายของคู่ความ และคุ้มครองประชาชนด้วย