เครือข่ายผู้หญิงยื่นกว่า 15,000 ชื่อ สู่สภา ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ

เครือข่ายผู้หญิงยื่นกว่า 15,000 ชื่อ สู่สภา ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ

เมื่อ 2 พ.ย. 2555

หลังจากรณรงค์ให้ประชาชนร่วมเข้าชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.โอกาสและความเสมอภาคทางเพศ ฉบับประชาชน ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา  ล่าสุด วันที่ 31 ตุลาคม2555 เครือข่ายผู้หญิง ร่วมกับองค์กรภาคประชาชน นำรายชื่อประชาชนที่เข้าชื่อ 15,636 รายชื่อ เสนอร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ พ.ศ. ... ฉบับภาคประชาชน ยื่นประธานสภาแล้ว

เว็บไซต์ประชาไทรายงานว่า ที่อาคารรัฐสภา เครือข่ายผู้หญิง ร่วมกับเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ และเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนอื่นๆ กว่า 100คน เข้ายื่นเสนอร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ พ.ศ. ... ฉบับประชาชน พร้อมเอกสารเข้าชื่อเสนอกฎหมาย 15,636 รายชื่อ ต่อประธานรัฐสภา

ภาพประกอบจาก ประชาไทหนังสือพิมพ์ออนไลน์

นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้รับเรื่องกล่าวกับกลุ่มภาคประชาชนที่มายื่นเสนอกฎหมายว่า ขณะนี้มีร่างกฏหมาที่เกี่ยวข้องกับความเสมอภาคระหว่างเพศซึ่งอยู่ในการพิจารณาของรัฐสภา 2 ฉบับ (1.ร่างกฎหมายของรัฐบาลที่เสนอโดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งผ่านการพิจารณาของสำนักงานกฤษฎีกาแล้ว 2.ร่างกฎหมายที่เสนอโดยนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร) ส่วนร่างกฎหมายฉบับของประชาชนนี้จะถูกนำเข้าสู่ขั้นตอนต่อไปคือการตรวจสอบรายชื่อซึ่งอาจต้องใช้เวลาและอาจเข้าสู่การพิจารณาไม่ทันปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 28 พ.ย.นี้

อย่างไรก็ตาม เจริญกล่าวด้วยว่า คาดว่ากฎหมายนี้น่าจะเข้าสู่การพิจารณาทันสมัยประชุมหน้าที่จะเปิดสภาในวันที่ 21 ธ.ค.55 นอกจากนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวยังต้องเสนอให้นายกรัฐมนตรีรับรองก่อนด้วย เนื่องจากเป็นร่างกฏหมายที่เกี่ยวกับการเงินเพราะมีการจัดตั้งกองทุน เมื่อนายกรัฐมนตรีลงนามรับรองแล้วกฎหมายจึงจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภาต่อไป

อนึ่ง ร่างพ.ร.บ. ฉบับประชาชน มีเจตนารมณ์เพื่อแก้ไขปัญหาการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศในทุกรูปแบบโดยครอบคลุมการกีดกันทางเพศ ทั้งการกระทำทางตรงหรือทางอ้อม ในด้านการทำงาน ด้านเศรษฐกิจ ด้านการศึกษาหรือฝึกอบรม ด้านสื่อสารมวลชน ด้านการเมือง ด้านสุขภาพและอนามัยการเจริญพันธุ์ ด้านครอบครัว ด้านเกษตรกรรมรวมถึงการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ หรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ อีกทั้งยังเป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีของรัฐภาคีตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ เพื่อให้อนุสัญญานี้ สามารถบังคับใช้ได้จริงในระบบกฎหมายไทย 

ทั้งนี้ ร่างพรบ.ฉบับแก้ไขล่าสุดที่ได้ยื่นต่อประธานรัฐสภา ได้ให้ความหมายคำว่า เพศ ครอบคลุมเพศสรีระ เพศภาวะ และเพศวิถี อีกทั้งหลายจุดได้เพิ่มเติมให้พิจารณาอัตลักษณ์ทางเพศ และความหลากทางเพศ เข้าไปด้วย