รอบอาทิตย์สุดท้าย ต.ค.55: สภาไม่รับพิจารณาร่างแก้ไขม.112

รอบอาทิตย์สุดท้าย ต.ค.55: สภาไม่รับพิจารณาร่างแก้ไขม.112

เมื่อ 2 พ.ย. 2555

 

ยกฟ้องคดีโปรแกรมเมอร์ถูกกล่าวหาโพสต์เฟซบุ๊กหมิ่นสถาบัน
 
31 ต.ค.55 เวลาประมาณ 9.50 น. ห้องพิจารณาคดี 804 ศาลอาญา รัชดา ผู้พิพากษานั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.4857/2554 ที่นายสุรภักดิ์ ภูไชยแสง เป็นจำเลยในความผิดตามมาตรา 112 และ มาตรา 3, 14, 17 โดยศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังมีความสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรค 2
 
หลังเสร็จสิ้นการอ่านคำพิพากษาสุรภักดิ์มีอาการยิ้มแย้มและเข้าสวมกอดมารดาก่อนจะถูกคุมตัวไปยังเรือนจำ และคาดว่าเขาจะได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯในช่วงเย็นวันนี้
 
สุรภักดิ์กล่าวในภายหลังว่า การประกันตัวเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่มาตราในรัฐธรรมนูญกลับกับมีค่าไม่เท่ากัน การไม่ได้รับการประกันตัวทำให้เขามีความยากลำบากในการต่อสู้คดีอย่างมาก ต้องอยู่ในเรือนจำเกือบ 1 ปี 2 เดือน ทำให้สูญเสียทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นการงาน ครอบครัว ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่อาจเยียวยาได้ รัฐไทยมีงบประมาณปกป้ององค์กรต่างๆ มากมายแต่กลับไม่มีการปกป้องประชาชนผู้บริสุทธิ์
 
ที่มาข่าว ประชาไท
 
 
สภาเขี่ยตก ร่างพ.ร.บ.แก้ไข ม.112 เหตุไม่เข้าหมวดสิทธิเสรีภาพ
 
เว็บไซต์รัฐสภาเผยแพร่ เอกสารสรุปผลการดำเนินงานของกลุ่มงานเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เมื่อวันที่ 25 ต.ค.55 ซึ่งตารางสรุปผลดังกล่าวปรากฏการจำหน่ายเรื่องการเข้าชื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  ของนายชาญวิทย์ เกษตรศิริ พร้อมด้วยประชาชน 30,383 คน
 
“ประธานรัฐสภาสั่งจำหน่ายเรื่องเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2555 (เนื่องจากประธานรัฐสภาวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ (ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ.....) มีหลักการไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย และหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550”  เอกสารกลุ่มงานเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ระบุ
 
ที่มาข่าว ประชาไท
 
 
ภาคประชาชนร่วมเสนอร่างกฎหมาย ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. ... เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร
 
2 พ.ย. 55 ภาคประชาชน ร่วมเสนอร่างกฎหมาย ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. ... เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร พร้อมเรียกร้องให้มีตัวแทนภาคประชาชนเข้าเป็นกรรมาธิการในพิจารณาร่าง พ.ร.บ. การประมง พ.ศ. ...
 
นายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้แทนประธานสภาผู้แทนราษฎร รับรายชื่อประชาชนจำนวน 10,198 รายชื่อจากสมาคม สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย และสมาคมประมงเรือชายฝั่งคลองนาทับ เพื่อยื่นเสนอร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. ... และเอกสารประกอบการเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาตามมาตรา 163 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 นอกจากนี้ทางกลุ่มยังขอให้สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาสนับสนุนให้ตัวแทนภาคประชาชน ร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. การประมง พ.ศ. ... ที่สภาผู้แทนราษฎรกำลังพิจารณาอยู่ด้วย เนื่องจากภาคประชาชนได้ริเริ่มรวบรายชื่อเพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ. การประมง พ.ศ. ... เช่นเดียวกันแต่การรวบรวมรายชื่อยังไม่แล้วเสร็จจึงอาจจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาไม่ทันในสมัยประชุมนี้
 
ด้านนายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า หลังจากนี้จะมีการตรวจสอบรายชื่อประชาชนผู้เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ หากพิจารณาแล้วถูกต้องครบถ้วนสภาผู้แทนราษฎรก็จะดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนการการเข้าชื่อเสนอกฏหมายต่อไป
 
 
 
ศาลรัฐธรรมนูญชี้ แบนหนังตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
 
เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญ ได้พิจารณาคำร้อง กรณีที่ศาลปกครองกลางได้ส่งคำโต้แย้งของนายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ และนายธัชชัย วงศ์กิจรุ่งเรือง  (ผู้ฟ้องคดี) ที่สร้างภาพยนตร์สะท้อนสังคมเรื่องหนึ่ง  แต่ถูกคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ กระทรวงวัฒนธรรม มีความเห็นว่ามีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามพ.ร.บ. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 26 (7) และมาตรา 29 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 มาตรา 29 และมาตรา 45 จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 211
 
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว เห็นว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวเป็นมาตรากาทางกฎหมายที่ให้อำนาจหน่วยงานของรัฐในการพิจารณาความเหมาะสมของเนื้อหาภาพยนตร์ก่อนนำออกสู่สาธารณะโดยให้มีอำนาจในการกำหนดประเภทของภาพยนตร์ ว่า เป็นภาพยนตร์ประเภทใด รวมทั้งประเภทที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักรและให้มีอำนาจในการสั่งให้ผู้ขออนุญาตแก้ไขหรือตัดทอนก่อนอนุญาต หรือจะไม่อนุญาตก็ได้  หากเห็นว่าเป็นภาพยนตร์มีเนื้อหาที่เป็นบ่อนทำลาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ความมั่นคงของรัฐและเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แม้จะเป็นบทบัญญัติที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอยู่บ้าง แต่ก็เป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 วรรคสอง ประกอบมาตรา 29 เพียงเท่าที่จำเป็นและไม่ได้กระทบกระเทือนต่อสาระสำคัญแห่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อีกทั้งเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ภาพยนตร์ และวีดีทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 26  (7) ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 29 และมาตรา 45.
 
ที่มาข่าว เดลินิวส์
 
 
เยาวชนก่อม็อบหน้าทำเนียบฯ เร่ง รบ.หนุน พ.ร.บ. สื่อสร้างสรรค์
 
30 ตุลาคม ที่หน้าประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มเครือข่ายเยาวชนสื่อสร้างสรรค์ 77 จังหวัด เครือข่ายตาสับปะรดและมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา กว่า 40 คน รวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้มีการสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.กองทุนสื่อพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ฉบับประชาชน โดยนายอนุศาสน์ เพ็ชรสุข ตัวแทนชมรมวิทยุเด็ก เยาวชนและครอบครัว กล่าวว่า ทางเครือข่ายเยาวชนฯ ได้ร่วมกับภาคประชาชน 77 จังหวัดทั่วประเทศ ในการลงนามสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อฯ ที่เป็นร่าง พ.ร.บ.สำคัญในการยกระดับคุณภาพสื่อเพื่อสร้างการเรียนรู้อย่างยั่งยืนแก่เด็ก ให้มีความเท่าทันสื่อ โดยร่าง พ.ร.บ.กองทุนสื่อฯ ได้ผ่านขั้นตอนการรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายต่อประธานรัฐสภา และผ่านขั้นตอนการตรวจสอบรายชื่อและหลักฐานตามกฎหมายจากส่วนจังหวัดต่างๆ แล้ว
 
ทั้งนี้ เพื่อให้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ดำเนินการไปตามกระบวนการเสนอต่อรัฐสภาเพื่อบรรจุวาระในการพิจารณาร่วมกับร่างของกระทรวงวัฒนธรรมที่เสนอไปก่อนหน้านี้แล้ว จึงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีเร่งลงนามร่าง พ.ร.บ.กองทุนสื่อฯ เพื่อนำเข้าประกอบบรรจุวาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระเร่งด่วน นอกจากนี้ เสนอให้นายกรัฐมนตรีสนับสนุนประเด็นเนื้อหาในร่างฉบับประชาชนที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของเยาวชน ประชาชนในการยกร่าง พ.ร.บ.กองทุนสื่อฯ และมีเนื้อหาในการส่งเสริมพัฒนาสื่อเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ สร้างความเท่าทันและการมีส่วนร่วมในการบริการจัดการภาคประชาชน
 
อย่างไรก็ตาม นายอนุศาสน์กล่าวด้วยว่า ถึงแม้จะมีร่าง พ.ร.บ.ของกระทรวงวัฒนธรรมอยู่แล้ว แต่ก็เชื่อว่าการมีเร่ง พ.ร.บ.ของประชาชนจะสร้างโอกาสในการเข้าถึงของคนในท้องถิ่นง่ายกว่า อีกทั้งสามารถบริหารงานได้ง่ายขึ้น เพราะประชาชนอยู่ในพื้นที่ทราบปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นเป็นอย่างดี

ที่มาข่าว มติชนออนไลน์
 
 
คปก.เสนอปรับแก้ร่าง 2 ฉบับ สาธารณสุขชุมชน-แก้คุณสมบัติผู้ตรวจเงินฯ
 
นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้ลงนามในบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะ คปก. เรื่อง ร่างพ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน พ.ศ. .... เสนอไปยังนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา โดยขณะนี้ สภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการและได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.นี้ในรายมาตราแล้ว
 
คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายมีความเห็นในหลายประเด็น ได้แก่ องค์ประกอบของคณะกรรมการสภาสาธารณสุขชุมชน ในร่างมาตรา 13 ซึ่ง คปก.เห็นควรให้กำหนดโดยคำนึงถึงสัดส่วนจากฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับนักการสาธารณสุขและจำนวนของกรรมการที่เหมาะสมสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประเด็นถัดมาคือ เรื่องอำนาจหน้าที่ของสภาการสาธารณสุข ซึ่งนอกจากอำนาจในการควบคุม กำกับดูแล และกำหนดมาตรฐานวิชาชีพการสาธารณสุขแล้ว ควรมีอำนาจในการพัฒนาศักยภาพของสมาชิกสภาวิชาชีพการสาธารณสุขให้มีความรู้ ความสามารถในการบริหารประชาชนได้อย่างมีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ และเอื้อต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน นอกจากนี้ยังเห็นควรให้สภาการสาธารณสุขเสนอแผนและรายงานผลการดำเนินงานของสภาการสาธารณสุขต่อสมาชิกสภาและเผยแพร่ต่อสาธารณชนด้วย
 
ขณะเดียวกัน คปก. เห็นว่า ในประเด็นบทบัญญัติในหมวดที่ 6 (1)(2)(3) และหมวด 7 บทกำหนดโทษ ร่างมาตรา 48 อาจละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 33 ที่รับรองและคุ้มครองเสรีภาพในเคหสถานในการที่จะอยู่อาศัยและครอบครองเคหสถานโดยปกติสุข อย่างไรก็ตามการกำหนดโทษควรคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของกฎหมายฉบับนั้น บทกำหนดโทษควรได้สัดส่วนกับความผิดด้วย เพื่อป้องปรามมิให้เกิดการกระทำที่กฎหมายกำหนดห้าม
 
ที่มาข่าว ประชาไท