รอบอาทิตย์ที่สอง พ.ย. 55: สภาถก ยกเลิกทหารเกณฑ์

รอบอาทิตย์ที่สอง พ.ย. 55: สภาถก ยกเลิกทหารเกณฑ์

เมื่อ 9 พ.ย. 2555

ครก.112เดือดถูกเขี่ยทิ้ง นปช.ชี้อย่าประมาทอ้าย

นายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร จำหน่ายร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ออกจากสารบบว่า ประธานสภาฯ วินิจฉัยว่าการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญหมวด 3 และหมวด 5 จริง เพราะเป็นเรื่องพระมหากษัตริย์ และเป็นการลดโทษของผู้กระทำความผิดด้วย หลังจากนี้ประชาชนก็ไม่สามารถยื่นแก้ไขเรื่องดังกล่าวแล้ว เพราะช่องทางที่จะแก้กฎหมายได้รัฐธรรมนูญเปิดช่องได้ในเฉพาะหมวด 3 และ 4 ดังนั้น ผู้ที่จะแก้ไขกฎหมายดังกล่าวได้คือ ส.ส.และ ครม.เท่านั้น 

ผู้สื่อข่าวถามว่า การวินิจฉัยดังกล่าวจะเป็นบรรทัดฐานในอนาคตหรือไม่ นายสุวิจักขณ์กล่าวว่า หากมีการเปลี่ยนแปลงประธานสภาฯ ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของประธานสภาฯ คนใหม่ แต่ก็คงหยิบแนวทางวินิจฉัยของนายสมศักดิ์ มาพิจารณาประกอบด้วย

ด้านนายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะคณะกรรมการรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 หรือ ครก.112 กล่าวว่า คำวินิจฉัยของนายสมศักดิ์คงไม่ถูกต้อง เพราะตลอด 3-4 ปี จะเห็นว่ามาตรา 112 นั้นลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน ดังนั้นการใช้ตำแหน่งของประธานสภาฯ วินิจฉัยเพียงคนเดียวไม่น่าจะถูกต้อง และมาลบล้างรายชื่อประชาชนที่ร่วมลงชื่อแก้กฎหมายเกือบ 4 หมื่นคนได้อย่างไร เพราะอย่างน้อยก็ควรจะนำเข้าที่ประชุมสภาฯ เป็นผู้ตัดสิน ส่วนแนวทางหลังจากนี้ก็ต้องเข้าที่ประชุม ครก.112 ก่อน ขณะที่ตัวเองก็จะเขียนผลงานทางวิชาการนำเสนอเรื่องนี้สู่สังคมต่อไป  
 
น.ส.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กลุ่มนิติราษฎร์ และ ครก.112 กล่าวว่า หลังจากนี้คงมีมาตรการตอบโต้ประธานสภาฯ ที่วินิจฉัยเรื่องนี้ตามลำพัง ในรูปแบบของแถลงการณ์ ส่วนจะอย่างไรหรือมีอะไรตอบโต้มากกว่านี้หรือไม่ ต้องคุยกันใน ครก.112 ก่อน
 
“สิ่งที่ประธานสภาฯ ทำคือทำให้ช่องทางของประชาชนในการผลักดันกฎหมายเริ่มตีบตัน และจะเป็นปัญหาในอนาคต เราเข้าใจนักการเมืองที่ไม่กล้าแก้กฎหมายดังกล่าว จึงออกมาเคลื่อนไหวด้วยตัวเอง เพราะไม่ผูกพันกับใคร ซึ่งจำนวนรายชื่อเกือบ 4 หมื่นคนที่รวบรวมรายมาได้ในระยะอันสั้น และถูกขัดขวางทุกรูปแบบ ก็แสดงให้เห็นว่าประชาชนเขาเดือดร้อนจากกฎหมาย 112 จริง ดังนั้นก็ควรจะมีการเคารพประชาชนมากกว่านี้” น.ส.จันทจิราระบุ  
 
อ่านเพิ่มเติม: ไทยโพสต์

โฆษกประธานสภาฯ ชี้แก้ ม. 112 ขัดรัฐธรรมนูญ วอนหยุดแสดงความเห็นหวั่นประชาชนเข้าใจผิด

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 55 นายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนที่ระบุว่า นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ตีตกกฎหมายมาตรา 112 ที่ประชาชนร่วมกันเข้าชื่อกว่า 40,000 คนเพื่อขอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่า หลังข่าวเกิดขึ้นมีอาจารย์และนักวิชาการจำนวนหนึ่งออกมาให้ข้อมูลในลักษณะคลาดเคลื่อนทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดในระบบและกระบวนการของรัฐสภา ซึ่งในกรณีนี้ตนยืนยันได้ว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎรตัดสินใจในเรื่องนี้เพียงตัวคนเดียวไม่ได้ ข้อสรุปที่เกิดขึ้นผ่านการพิจารณาจากฝ่ายข้าราชการประจำอีกทั้งนายนิคม ไวรัชพาณิช ในฐานะรองประธานรัฐสภา ได้เขียนความเห็นว่ากรณีดังกล่าวไม่เข้าข่ายหมวด 3 และ หมวด 5 ในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดสิทธิให้ประชาชนสามารถกระทำได้ ดังนั้นการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากมาตรา 112 เป็นมาตราที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์อยู่ในรัฐธรรมนูญในหมวดที่ 2 นายวัฒนากล่าวยืนยันอีกว่า หากในกรณีนี้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ในฐานะประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรรับเรื่องไว้ก็จะถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ตนจึงอยากเรียกร้องให้บุคคลที่ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะชนหยุดการแสดงความคิดเห็นในลักษณะผิดๆ เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดและขาดความศรัทธาในระบบรัฐสภาของไทย
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา (ผ่านประชาไท)

สภาถก ยกเลิกทหารเกณฑ์

'สุนัย' ชี้ ระบบเกณฑ์ทหารอิงระบบไพร่ เสนอยกเลิกให้ใช้การสมัครพร้อมให้สิทธิพิเศษสอบเข้า รร.นายร้อยแทน ส.ส.ปชป.ถาม คนจบสาขาอื่นจะมาเรียนด้วยได้หรือไม่ ส่วน ส.ส.หญิงอภิปราย ควรเปิดให้ผู้หญิงได้เรียน จปร.ด้วย ด้าน รมว.กลาโหม ปัดพูดเรื่องเกณฑ์ทหาร ยันชัดไม่เอาอย่างนั้น

เมื่อที่ 7 พ.ย. 55 ที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีการอภิปราย ร่าง พ.ร.บ.กำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จ วิชาการทหาร ฉบับที่... พ.ศ.... โดยมีเนื้อหาเรื่องการขยายวิชาการทหารไปสู่หลักสูตรปริญญาเอกและเปิดโอกาสให้มีบุคคลภายนอกเข้าร่วมในการกำหนดหลักสูตรได้ ซึ่งในการอภิปรายมีการกล่าวถึง การเพิ่มเนื้อหาด้านสิทธิมนุษยชนในหลักสูตร การเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้าไปเรียนในโรงเรียนเตรียมทหาร การเปิดโอกาสให้ผู้ที่จบสาขาอื่นมีโอกาสเข้าไปเรียน รวมทั้งการเสนอให้มีการยกเลิกระบบการเกณฑ์ด้วย  
 
ดร.สุนัย จุลพงศธร ส.ส.แบบสัดส่วน พรรคเพื่อไทย เสนอ 3 ประเด็น เพื่อให้กฎหมายนี้เป็นการปฏิรูปแนวคิดของกองทัพ ประเด็นแรก รูปแบบของร่าง พรบ.ฉบับนี้น่าจะยังมีปัญหาซึ่งอาจถูกยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ เช่น กรณีที่ตนเป็นลูกครึ่งจีนรวมทั้งลูกที่เกิดในเมืองไทยกลับไม่สามารถที่จะสอบเข้าเป็นทหารได้แม้แต่นายสิบ แต่กลับต้องเกณฑ์ทหารได้ ตรงนี้จึงอาจขัดกับหลักความเสมอภาคในรัฐธรรมนูญ  
 
ประการที่สอง ต้องมีกระบวนการจัดการเนื้อหลักสูตรที่ก้าวหน้า ให้ทหารได้เรียนรู้การเมืองการปกครอง เรียนรู้เรื่องสิทธิมนุยชน มีความคิดเท่าทันโลกสมัยใหม่ ไม่ใช่นายจะใช้ไปฆ่าใครก็ได้ และประการสุดท้ายคือ การปรับปรุงระบบที่จะไม่ให้ทหารมายึดอำนาจ หรือการเกณฑ์ทหารจะทำอย่างไรให้สอดคล้องกฎหมายฉบับนี้  
 
ทั้งนี้ ดร.สุนัย กล่าวว่า กฎหมายการเกณฑ์ทหารของไทยเป็นกฎหมายที่อิงกับระบบไพร่ ทาส ในอดีต เพราะเกณฑ์มาแล้วเงินเดือนก็น้อยแล้วยังไปถูกฝึก โขก สับ จึงทำให้ต้องมีหนี ยัดเงิน จึงอยากให้ยกเลิก รวมทั้งที่ระบุว่า พ่อเป็น จีน ฝรั่ง สมัครสอบทหารไม่ได้จนกว่าจะผ่านไปสองรุ่นก็ต้องยกเลิกเสีย อย่างในวันนี้ที่ พันตรีหญิงลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ (Ladda Tammy Duckworth) ลูกครึ่งไทย-อเมริกัน ผู้ลงสมัคร ส.ส.พรรคเดโมแครตก็กลายเป็นสตรีเชื้อสายไทยคนแรกได้ดำรงตำแหน่ง ส.ส เขต 8 รัฐอิลลินอยล์ สหรัฐ หรืออย่างลูกคนขับแท็กซี่ที่ไปเรียนที่อเมริกาก็สอบเข้าเป็นทหารได้ เห็นชัดเจนว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วเปิดโอกาสแห่งความเสมอภาค ขณะที่ทั้งตนและลูกเกิดเมืองไทยแท้ๆกลับเป็นได้แค่ทหารเกณฑ์ นอกจากนี้ เขายังเสนอแนวทางในเรื่องนี้ด้วยว่า เมื่อยกเลิกแล้วจึงควรเปิดให้สมัครรับทหารเกณฑ์จากเด็กที่จบระดับมัธยมปลายแล้วจึงให้สิทธิในการสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยเป็นกรณีพิเศษแทน
 
พอ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงร่างกฎหมายฉบับดียวกันว่า ปัญหาของการศึกษาในโรงเรียนนายร้อยเวลานี้คือ คนที่ไปจบปริญญาเอกจากต่างประเทศหลายท่านเมื่อมาทำงานในโรงเรียนนายร้อยระยะหนึ่งแล้วจะลาออกจากโดยอาจไปมหาวิทยาลัยภาครัฐหรือทำงานเอกชน ดังนั้น จึงควรสร้างแรงจูงใจให้ผู้ที่จะมาเป็นอาจารย์ เพราะปัญหาคืออาจารย์เหล่าทั้งหลายมองเห็นอนาคตตัวเองที่ พันเอกพิเศษ ดังนั้นจึงถึงเวลาที่ควรจะยกยศออกจากเงินเดือน โดยอาจออกเป็นกฤษฎีกาพิเศษซึ่งไม่ติดที่ยศ แต่ปรับเงินเดือน เช่น ศาสตรจารย์ก็ให้เท่ากับศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัย หรือเปิดโอกาสให้สภามหาวิทาลัยแนะนำผู้ที่จะมาเป็น ศาสตราจารย์พิเศษ รองศาสตราจารย์พิเศษ หรือผู้ช่วยศ.พิเศษได้ ซึ่งจะทำให้นักวิชาการจากภายนอกเข้ามามีส่วนในการกำหนดหลักสูตรมากขึ้น
 
ด้านนายสุกิจ อัถโถปกรณ์ ส.ส.จังหวัดตรัง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขณะนี้ อาชีพทหารเป็นอาชีพที่ผู้ปกครองอยากให้ลูกเรียนสูงมาก เพราะมองว่ามีความมั่นคง ได้บรรจุเป็นราชการแน่นอนหากสามารถสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร และทำให้สถาบันกวดวิชาทำเงินได้อย่างมากมาย แต่สถานการณ์ตรงนี้ที่สามารถบรรจุเป็นข้าราชการได้ทั้งหมดจะทำได้อีกกี่ปีในขณะที่อาชีพอื่นๆอย่างพยาบาลก็ต้องปรับเป็นลูกจ้างชั่วคราวกันแล้วและมีการออกมาเรียกร้องสิทธิกัน ส่วนเรื่องการขยายหลักสูตรปริญญาโทและเอกนั้นคงไม่มีใครไม่เห็นด้วย แต่อยากถามว่า เมื่อมีการขยายหลักสูตรไประดับนี้ สถาบันอื่นๆทั่วไปจะเปิดโอกาสให้คนที่จบจากที่อื่นได้เจ้ามาเรียนด้วย ดังนั้น โรงเรียนนายร้อยจะให้คนที่จบจากสถาบันอื่นได้เรียนด้วยหรือไม่ เพราะโดยวิชาก็น่าเรียนน่าสนใจ เช่น วิศวะกรรมสาขาต่างๆโดยมีวิชาทางทหารพ่วงด้วย ตรงนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับคนทั่วไป รวมทั้งทหารก็ได้ซึมซับเรียนรู้กับคนธรรมดาบ้าง เพราะคนเรียนทหารบางคนอาจสำคัญตัวว่าตัวเองเป็นผู้ยิ่งใหญ่ และอาจทำตัวไม่เคารพกฎหมายบ้าง  
 
ในช่วงหนึ่งของการอภิปรายยังมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหญิงท่านหนึ่งกล่าวถึงหลักสูตรที่ควรมีเรื่องสิทธิมนุษยหรือเรื่องการเจรจาด้วย เพราะสำคัญที่จะพัฒนาศักยภาพความพร้อมของทหารและบ้านเมือง และกล่าวว่า โรงเรียนเตรียมทหารยังเป็นโรงเรียนเดียวที่ไม่รับผู้หญิงเข้าไปเรียน ซึ่งโรงเรียนตำรวจหรือเหล่าอื่นๆมีแล้วและโดยศักยภาพก็ไม่แตกต่างกัน  
 
ในช่วงท้าย พลอากาศเอก สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกะทรวงกลาโหม ได้ตอบข้อสังเกตต่างๆ ที่มีการอภิปรายดังกล่าวว่า ในกรณีที่ถามถึงการรับผู้หญิงหรือโรงเรียนนายร้อยหญิงนั้นเหมาะสมหรือไม่ ในเรื่องนี้เคยคิดกันหลายครั้ง แต่หน้าที่หลักยังอยู่ที่ทำการรบ เป็นทหารราบ ถือปืน ซึ่งเราต้องการไม่มากและไม่คิดถึงขนาดนั้น ปีหนึ่งแค่ประมาณ 80 คน และผู้หญิงก็มีอยู่หลายส่วน เช่น ทหารหญิง หรือแพทย์ทหารหญิง อย่างไรก็ตามในอนาคตข้างหน้ามีการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้แน่ ส่วนเรื่องการเกณฑ์ทหารคงไม่พูดเพราะคงไม่เอาย่างนั้น
 
สำหรับผลการลงมติในวาระที่ 1 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรรับหลักการ
 
ที่มา: เว็บไซต์ข่าวรัฐสภา

วุฒิฯผ่านร่างพรบ.ปชช.เข้าชื่อลดเหลือ 1หมื่น เสนอกม.ได้
วันที่ 5 พ.ย. ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา มีนางพรทิพย์ โล่วีระ จันทร์รัตน์ปรีดา รองประธานวุฒิสภา เป็นประธาน เพื่อพิจารณา ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยมีสาระสำคัญคือ การแก้ไขเนื้อหาที่กำหนดให้มีผู้ริเริ่มในการรวบรวมการเข้าชื่อของผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 รายชื่อ จากเดิมต้องใช้ 5 หมื่นชื่อ ในการเสนอร่าง พ.ร.บ.ที่มีหลักการเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย หรือแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและใช้หลักฐาน รับรองเพียงสำเนาบัตรประชาชน รวมทั้งกำหนดให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูป กฎหมายหรือหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ช่วยประชาชนจัดทำร่างกฎหมายด้วย
 
ทั้งนี้ ในการประชุมมีการถกเถียงกันถึงบทลงโทษตามมาตรา 13 และ 14 ซึ่งกำหนดให้บุคคลที่ปลอมแปลงเอกสารและลายมือชื่อและใช้ทรัพย์สินจูงใจ หรือ ใช้อิทธิพลขู่เข็ญให้ผู้ใดร่วมลงชื่อ ต้องโทษจำคุก 5-10 ปี หรือปรับ 1-2 แสนบาท โดยกรรมาธิการวิสามัญฯเสียงข้างมาก ต้องการให้ตัดออกเพราะเห็นว่าอาจเป็นอุปสรรคต่อการใช้สิทธิของประชาชน
 
พล.ต.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว.สรรหากล่าวว่า การตัดบทกำหนดโทษดังกล่าว จะเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย เพราะจะเปิดช่องให้มีการคอรัปชันอำนาจ โดยการจ้างวานหรือปลอมแปลง รายชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมายที่อาจเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง โดยเฉพาะในภาวะที่บ้านเมืองมีการแบ่งสีแบ่งขั้วอยู่ในขณะนี้จึงไม่เห็นด้วยที่ตัดบทบัญญัตินี้ออก แต่เห็นด้วยหากจะลดอัตราโทษได้
 
ที่สุดที่ประชุมวุฒิสภาเสียงข้างมาก ไม่ให้ตัดบทกำหนดโทษออกจากนั้น มีมติรับ ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ในวาระ 3 ด้วยคะแนน 99 ต่อ 2 เสียง โดยขั้นตอนต่อจากนี้ จะส่งร่างพ.ร.บ.คืนให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาว่า จะเห็นด้วย กับการแก้ไขของวุฒิสภาหรือไม่ หากสภาฯไม่เห็นด้วย ต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมกันของสองสภาฯพิจารณา ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ร่วมกันต่อไป
 
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์
 
กำนัน-ผู้ใหญบ้านกาฬสินธุ์ไม่เห็นด้วยชุมนุมกรุงเทพฯ

กาฬสินธุ์ - กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเมืองน้ำดำกว่าร้อยละ 80 ค้านกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้านไปชุมนุมคัดค้านแก้ไข พ.ร.บ.กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพราะเห็นว่าการแก้ไขกฎหมายบางอย่างใน พ.ร.บ.นี้จะทำให้การปฏิบัติงานดีขึ้นและลดปัญหาการสร้างอิทธิพลในชุมชน
 
เมื่อวันที่ 7 พ.ย. ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีอีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์ นายสุวิทย์ สุบงกฎ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยนายอำเภอทั้ง 18 อำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านจาก 135 ตำบลกว่า 1,300 คน ร่วมประชุมชี้แจงแนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติด กับสร้างความเข้าใจกรณีการผลักดัน พ.ร.บ.กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งมีกลุ่มกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน บางกลุ่มมาเคลื่อนไหวคัดค้านที่หน้าพระบรมรูปทรงม้า กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ เนื้อหาการชี้แจงส่วนใหญ่ได้สร้างความเข้าใจให้ผู้ใหญ่บ้าน กำนันถึงบทบาท หน้าที่ และเหตุผล จนกระทั่งไม่ยอมไปร่วมชุมนุมเคลื่อนไหว เพราะส่วนใหญ่ไม่ต้องการสร้างปัญหาให้คนในกรุงเทพมหานครและตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของใคร
 
นายสุวิทย์ สุบงกฎ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า คำชี้แจงส่วนใหญ่เน้นสร้างความเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ต่อการทำหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ว่าการแก้ไข พ.ร.บ.นี้ไม่มีผลกระทบอะไร แต่จะเกิดสิ่งดีๆ มากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่า กำนัน ผู้ใหญ่บ้านบางคนก็มีปัญหากับคนในชุมชน และหลายแห่งเมื่อมีปัญหาก็ไม่สามารถที่จะให้ออกได้เพราะต้องอยู่ครบวาระ 60 ปี
 
แต่การแก้ไขให้มีวาระ 5 ปีในการดำรงตำแหน่งกับการเลือกตั้งกำนันโดยตรงจากประชาชนในชุมชนนั้น ถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องเพราะจะไม่เกิดปัญหาในเชิงอิทธิพล แต่จะต้องเป็นการสร้างความดี จากการตรวจสอบมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน บางส่วนที่ไปชุมนุมที่กรุงเทพฯ แต่กว่าร้อยละ 80 มีความเข้าใจว่าการเคลื่อนไหวในครั้งนี้อาจจะตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มบุคคลที่ไม่หวังดีต่อประเทศชาติ
 
ด้านนายสมบูรณ์ เหล่าพร กำนันตำบลกุดโดน อำเภอห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายโดยรัฐบาลถือเป็นสิทธิของผู้บริหารประเทศ การแก้ไข พ.ร.บ.กำนัน ผู้ใหญ่บ้านนั้นในส่วนตัวไม่ขัดข้องเพราะเคยดำรงตำแหน่ง 4 ปีมาแล้ว การปรับปรุง พ.ร.บ.ก็เพื่อที่จะลดทอนปัญหา เพราะในกลุ่มผู้ใหญ่บ้าน กำนัน บางคนที่ไม่ทำงาน บางคนมีอิทธิพล แต่เมื่อมีการกำหนดวาระดำรงตำแหน่งก็ถือเป็นการจัดระเบียบให้ชุมชนได้ดีขึ้น
 
ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์

จารุพงศ์กล่อมกำนัน-ผญบ.ยอมสลายการชุมนุม

เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 55 นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย พร้อมด้วย พล.ต.ท.ชัชจ์ กุลดิลก รมช.มหาดไทย และนายประชา ประสพดี รมช.มหาดไทย นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชวน ศิรินันท์พร อธิบดีกรมการปกครอง ได้เดินทางมารับฟังข้อเสนอแนะและข้อเรียกร้องของสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย ที่ต้องการให้ถอนร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวออกจากการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร โดยนายจารุพงศ์ กล่าวปราศรัยบนเวทีว่า ขั้นตอนขณะนี้ยังอยู่ระหว่างเตรียมการนำเสนอในวาระที่ 2 ตามขั้นตอนของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยคณะรัฐมนตรี ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวของในกฎหมายนี้ ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยได้รวบรวมความเห็นจากตัวแทน 3 ฝ่ายประกอบด้วย กรรมาธิการที่พิจารณากฎหมายฉบับดังกล่าว ตัวแทนจากกระทรวงมหาดไทยฝ่ายข้าราชการประจำและการเมือง และตัวแทนจากสมาคมฯ ซึ่งทั้งหมดก็ยืนยันตรงกันว่าจะรีบดำเนินการตามข้อเรียกร้องทันที
 
“ข้อเรียกร้องที่กำนันผู้ใหญ่บ้านเสนอ ผมรับปากจะดำเนินการภายในวันนี้ ด้วยการยั้งกฎหมายนี้ไว้ก่อน แต่ยังถอนไม่ได้เพราะไม่มีอำนาจในการถอน แต่รับปากได้ว่าจะหยุด และจะให้กรมการปกครองไปยกร่างใหม่ตามที่กำนันผู้ใหญ่บ้านต้องการ จากนั้นจะนำเข้าสู่ที่ประชุมครม.เพื่อนำไปสู่ฝ่ายนิติบัญญัติต่อไป ขอยืนยันว่ากฎหมายนี้จะไม่ถูกสส.พิจารณาในสมัยประชุมนี้เด็ดขาด ส่วนอนาคตค่อยว่ากัน แต่เราจะนำกฎหมายที่เสนอโดยอธิบดีกรมการปกครองเข้าประกบด้วย ซึ่งคาดว่าสภาจะนำร่างที่กรมการปกครองเสนอเป็นร่างหลักในการพิจารณา” นายจารุพงศ์กล่าว
 
นายจารุพงศ์กล่าวอีกว่า ในร่างของกรมการปกครอง จะนำเสนอเพียงมาตราเดียวคือ ให้กำนันมาจากการเลือกตั้งของประชาชน และผู้ที่สมัครเลือกตั้งได้ จะต้องเป็นผู้ใหญ่บ้านมาก่อน ส่วนของวาระการดำรงตำแหน่งจะไม่เข้าไปแก้ไข เพราะฉะนั้นกำนันผู้ใหญ่จะดำรงรงตำแหน่งจนครบวาระ 60 ปีเหมือนเดิม อย่างไรก็ตามร่างที่อยู่ในสภาจะไม่กระทบกับกำนันผู้ใหญ่บ้านที่ดำรงตำแหน่งอยู่แล้วด้วย จึงขอให้กำนันผู้ใหญ่บ้านสบายใจได้ และขอให้หายใจไว้ อย่าตาย ส่วนข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุมนั้น ไม่ต้องเป็นห่วงเพราะ สส.ต้องทำตามมติพรรค
 
จากนั้นนายยงยศ แก้วเขียว นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้าน ได้ประกาศชัยชนะบนเวที ทำให้ผู้ชุมนุมทุกคนได้โห่ร้องดีใจ ขณะเดียวกันขอให้นายจารุพงศ์ ได้ร่วมกันวางพวงมาลาต่อพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.5 เพื่อยืนยันว่าสิ่งที่นายจารุพงศ์กล่าวมาทั้งหมดเป็นเรื่องจริง ซึ่งนายจารุพงศ์ก็ร่วมวางพวงมาลาด้วย จากนั้นผู้ชุมนุมจึงได้แยกย้ายเดินทางกลับภูมิลำเนา
 
ต่อมาเวลา 14.00 น. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พ.ต.อ.ปรีดา แถลงถึงสถานการณ์การชุมนุมกรณีที่มีกลุ่มกำนัน ผู้ใหญ่บ้านทั่วประเทศ มาชุมนุมที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าว่า สำหรับการชุมนุมนั้น เวลา 12.00 น. นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย ได้มาเจรจากับผู้ชุมนุม และผู้ชุมนุมพอใจได้สลายการชุมนุมและทยอยกันเดินทางกลับ ขณะนี้ที่ตกค้างก็เหลือเพียงการรอรถบัสมารับเท่านั้น ส่วนการจราจรแยกอู่ทองในที่มีการปิดขณะนี้ได้เปิดเป็นปกติตั้งแต่เวลา 12.30 น.แล้ว อย่างไรก็ตาม การจราจรรอบลานพระบรมรูปทรงม้ายังคงติดขัดขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงเส้นทาง
 
พ.ต.อ.ปรีดากล่าวอีกว่า สำหรับกำลังตำรวจนั้นจะยังคงตรึงอยู่จนกว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะเดินทางกลับทั้งหมด สถานการณ์ทั่วไปยังคงปกติไม่มีเหตุรุนแรง และยังไม่พบความผิดทางกฎหมาย โดยยอดที่มีผู้มาชุมนุมอยู่ที่ 17,000-18,000 คน  
 
ที่มา: โพสต์ทูเดย์

แนะร่างฯ ก่อการร้ายไม่ควรใช้กับบุคคลในประเทศหวั่นกระทบสิทธิการชุมนุม

เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 55 นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ลงนามในบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะ คปก. เรื่อง ร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ. .... เสนอไปยังนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา ซึ่งปัจจุบันร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภาแล้ว โดยคปก. มีความเห็นใน 5 ประเด็น ได้แก่ การให้นิยาม “การก่อการร้าย” ตามมาตรา 3 ซึ่งไม่เห็นด้วยที่จะบัญญัติให้มีความหมายรวมถึงการกระทำที่เป็นความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา เพราะยังมีข้อโต้แย้งหลายประการโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาลักษณะ 1/1 ที่จัดทำเป็นพระราชกำหนดจึงไม่มีกระบวนการพิจารณาลึกลงไปในรายละเอียดเพื่อทบทวนถึงความเหมาะสมและสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายที่ประเทศไทยเป็นภาคี อีกทั้งยังมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับเนื้อหาของบทบัญญัติที่ยังไม่สอดคล้องกับหลักความชัดเจนแน่นอนซึ่งเป็นหลักประกันที่สำคัญในกฎหมายอาญา (หลัก Nullum crimen, nulla poena sine lege) ทำให้ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญานั้นมีความหมายครอบคลุมถึงการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ จึงควรทบทวนถึงกระบวนการตราและเนื้อหาของกฎหมายให้มีองค์ประกอบความผิดที่ชัดเจนแน่นอนสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายและพิธีสารที่เกี่ยวข้องซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีก่อนที่จะกำหนดให้นิยาม “การก่อการร้าย” ครอบคลุมไปถึง ด้วยเหตุผลเช่นเดียวกัน คปก. เห็นว่า การจัดทำรายชื่อ “บุคคลที่ถูกกำหนด” (หรือเดิม คือ “บัญชีรายชื่อผู้ก่อการร้าย”) ตามมาตรา 4 สมควรมุ่งเน้นไปยังการก่อการร้ายสากลและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายสากล โดยยังไม่สมควรปรับใช้กับการก่อการร้ายในประเทศตามประมวลกฎหมายอาญาเพราะยังมีข้อโต้แย้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้เสรีภาพในการชุมนุม อันอาจเป็นช่องทางให้ใช้พ.ร.บ.นี้ไปในทางลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเพื่อประโยชน์ทางการเมืองได้

คปก. ยังไม่เห็นพ้องกับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ และสภาผู้แทนราษฎร ที่กำหนดให้กระบวนการและขั้นตอนการจัดทำรายชื่อ “บุคคลที่ถูกกำหนด” ตามมาตรา 4 ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบโดยพนักงานอัยการและศาล เนื่องจากเกรงว่าภายใต้เงื่อนเวลาและข้อจำกัดหลายประการจะทำให้พนักงานอัยการและศาลไม่อาจพิจารณากลั่นกรองถึงความชอบด้วยกฎหมายของการจัดทำรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ และสุดท้ายจะทำให้ระบบการตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งเป็นหลักการสำคัญของหลักนิติรัฐเสียไปในที่สุด ซึ่ง คปก. เห็นว่า พนักงานอัยการและศาลควรทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่เมื่อผู้ได้รับผลกระทบร้องขอน่าจะเหมาะสมกว่า และที่สำคัญกระบวนการขั้นตอนการจัดทำรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดและกระบวนการตรวจสอบดังกล่าว ควรยึดถืออย่างเคร่งครัดต่อหลักการใช้อำนาจโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิในกระบวนการยุติธรรม แม้เป็นกรณีที่ปรากฏรายชื่อตามมติหรือประกาศคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

ส่วนการกำหนดหน้าที่และความรับผิดของ “ผู้มีหน้าที่รายงาน”ตามมาตรา 5 ควรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการระงับดำเนินการกับทรัพย์สินให้ชัดแจ้งและครอบคลุมทั่วถึงทุกประเภทธุรกิจ ด้านมาตรการเชิงลงโทษต่อผู้มีหน้าที่รายงาน ควรมีหลักเกณฑ์และกระบวนการในการพิจารณากลั่นกรองที่เปิดเผยและให้ผู้ได้รับผลกระทบมีโอกาสชี้แจง รวมทั้งมีหลักเกณฑ์และกระบวนการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้ประกอบธุรกิจจนเกินสมควรตลอดจนคำนึงถึงความพร้อมของผู้ประกอบธุรกิจรายย่อย

ขณะเดียวกัน ประเด็นความผิดฐานสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ในมาตรา 14 ตามร่างพ.ร.บ.แม้จะมีลักษณะเฉพาะสอดคล้องกับข้อเสนอของ FATF เรื่อง กำหนดให้การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายเป็นการกระทำความผิดทางอาญา และหลักการตามอนุสัญญาเพื่อการปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่ลัทธิการก่อการร้าย แต่บทบัญญัติดังกล่าวควรได้รับการพิจารณาทบทวนร่วมกับบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 1/1 ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายซึ่งมีความคล้ายคลึงกันเพื่อขจัดความซ้ำซ้อนและเพื่อความเป็นระบบ

นอกจากนี้ คปก. เห็นว่า ร่างพ.ร.บ.นี้ได้ให้อำนาจไว้อย่างกว้างขวางจึงสมควรที่จะมีระบบการตรวจสอบถ่วงดุลที่จากผู้เชี่ยวชาญที่เป็นอิสระถึงความสัมฤทธิ์ผลของมาตรการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายโดยรายงานอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชน อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อฝ่ายการเมืองมีเจตจำนงในการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายอย่างแท้จริง โดยรับประกันความเป็นอิสระปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง เสริมสร้างความเชี่ยวชาญและความเป็นมืออาชีพ โดยเคารพหลักความเสมอภาค หลักการตรวจสอบถ่วงดุล และหลักสิทธิมนุษยชน
 
ที่มา: ประชาไท
 
AI ร้องชะลอร่างปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียนที่เต็มไปด้วยเงื่อนไข

เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 55 แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ชะลอการรับรองร่างปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียน ชี้ เนื้อหาของร่างฉบับปัจจุบันไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ระบุ การเข้าถึงสิทธิประการต่างๆ “ต้องสมดุลกับการปฏิบัติหน้าที่” สอดคล้อง “บริบทในประเทศ” โดยอ้างเหตุผลหลายประการ รวมทั้ง “ความมั่นคงแห่งชาติ” และ “ศีลธรรมจรรยาของสังคม”

อ่านเพิ่มเติม: ประชาไท

สั่งตรวจเข้มต่างชาติทำธุรกิจในไทย พร้อมดันแก้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเข้มงวดตรวจสอบการจดทะเบียนนิติบุคคลให้มากขึ้น โดยเฉพาะนิติบุคคลต่างด้าวรายใหม่เพื่อป้องกันปัญหานอมินี หรือการที่คนต่างด้าวให้คนไทยถือหุ้นแทนหรือกระทำการแทนเพื่อเข้ามาทำธุรกิจสงวนในไทย ส่วนรายเดิมที่เข้ามาทำธุรกิจอยู่แล้วก็ต้องตรวจสอบใกล้ชิดเพื่อป้องกันปัญหานอมินีด้วย ทั้งนี้ ยังสั่งการให้จัดทำโครงการพี่เลี้ยง SMEs เป็นโครงการที่ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจทั้งในและต่างประเทศให้มาเป็นพี่เลี้ยงให้ธุรกิจ SMEs เช่น การเริ่มต้นทำธุรกิจ การเข้าสู่ตลาด กลไกรัฐ เป็นอย่างไร เพื่อให้ SMEs เติบโตเพิ่มขึ้น
 
ส่วนงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา ได้เร่งรัดกฎหมายที่คั่งค้าง ทั้งการป้องกันการแอบถ่ายในโรงภาพยนตร์ การป้องกันการละเมิดทางอินเทอร์เน็ต ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพื่อผลักดันให้ไทยหลุดจากบัญชีประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) ในการพิจารณาของสหรัฐฯ เดือน เม.ย. 2556 ขณะที่ด้านการปราบปรามจะเน้นการสร้างสายสืบลิขสิทธิ์เพื่อชี้เบาะแสการละเมิด
 
อ่านเพิ่มเติม: เอเอสทีวีผู้จัดการ

ระดมสมองป้องกันผูกขาดยารักษาโรค
ที่ประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมทรัพย์สินทางปัญญา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน เพื่อจัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเจรจาการค้าเสรี ไปยังคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) โดยหลายหน่วยงานเห็นตรงกันให้รัฐบาลคลอดกฎหมายเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการผูกขาดยา รัฐบาลต้องปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศที่ว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา (ข้อตกลงทริปส์) ในกรณีของยารักษาโรค
 
อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเจรจาในประเด็นสิทธิบัตรและการผูกขาดเชิงพาณิชย์ได้ ก็ควรดำเนินการทางกฎหมายให้เกิดมาตรการเยียวยาและมาตรการรองรับผลกระทบภายในประเทศ ก่อนที่การเจรจาจะแล้วเสร็จ โดยต้องจัดสรรงบประมาณให้กับระบบบริการสุขภาพหรือระบบประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น ตามรายได้ที่สูงขึ้นจากความตกลงทางการค้าเสรี เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายด้านยาและเพิ่มการเข้าถึงยาของผู้ป่วย
 
นอกจากนี้ ให้จัดสรรงบประมาณการทำวิจัยและพัฒนาอย่างเพียงพอเพื่อสนับสนุนให้คนไทยผลิตยาเองได้ ลดการพึ่งพายาจากต่างประเทศ พร้อมทั้งให้รัฐกำหนดให้มีมาตรการควบคุมยาในประเทศอย่างจริงจังสำหรับปัญหาคู่เจรจาขอให้ขยายระยะเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรยา ที่ประชุมเห็นว่าต้องเสนอให้มีการขยายระยะเวลาคุ้มครองสั้นที่สุด
อ่านเพิ่มเติม: โพสต์ทูเดย์  

คปก. ตั้งข้อสังเกตการจัดสรรงบ-บทกำหนด ร่างองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค

เมื่อวันที่ 6 พ.ย.55 นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ลงนามในบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะ คปก. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ....เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา โดย คปก. ได้พิจารณาประเด็นที่วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวแล้ว เห็นควรมีความเห็นและข้อเสนอแนะ สำคัญ 3 ประเด็น คือ กรณีการจัดสรรงบประมาณให้แก่องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคโดยคำนวณจากจำนวนประชากร คปก. ได้พิจารณา เห็นว่าการกำหนดให้รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณเป็นจำนวนเงินขั้นต่ำโดยคำนวณตามจำนวนประชากร เป็นไปเพื่อให้ตอบสนองต่อหลักการของรัฐธรรมนูญมาตรา 61 วรรคสอง ที่กำหนดให้องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคต้องมีความเป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ และรัฐต้องสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การฯ ดังกล่าว
 
ดังนั้น เพื่อเป็นการประกันความเป็นอิสระขององค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในเบื้องต้นซึ่งรัฐบาลจะเป็นผู้ใช้ดุลพินิจในการอนุมัติตามรายละเอียดในมาตรา 9 ของร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. .… ที่กำหนดว่า “เพื่อประโยชน์ในการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินเป็นเงินอุดหนุนทั่วไปตามมาตรา 8(2) ให้องค์การเสนองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ หรือร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี และในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ หรือร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาอาจขอให้เลขาธิการเข้าชี้แจงเพื่อประกอบการพิจารณาได้” ด้วยเหตุดังกล่าว คปก.จึงเห็นควรให้กำหนดหลักการเช่นว่านี้ไว้ในร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. .… เพื่อเป็นการประกันความเป็นอิสระขององค์การตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
 
ในแง่บทกำหนดโทษ คปก.มีความเห็นว่า การกำหนดเป็นองค์ประกอบความผิดทางอาญาที่ว่า “ไม่เป็นอิสระ” “ไม่เป็นกลาง” และ “ไม่คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน” นั้น คลุมเครือและไม่ชัดเจนว่า การกระทำเพียงใดที่ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่เป็นอิสระ ไม่เป็นกลาง หรือไม่คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน อีกทั้งผู้กระทำไม่สามารถทราบได้ว่าพฤติกรรมเช่นไรคือพฤติกรรมที่จะทำให้ตนต้องรับผิดตามมาตรานี้ ซึ่งขัดต่อหลักความผิดทางอาญาดังกล่าวข้างต้น
 
ส่วนองค์ประกอบของคณะกรรมการอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และกรรมการสรรหา คปก.เห็นว่า การเพิ่มองค์ประกอบคณะกรรมการสรรหา ตามมาตรา 14 (1/1) ที่ให้อธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐทุกแห่งเลือกกันเองให้เหลือหนึ่งคนเพื่อเข้ามาเป็นกรรมการสรรหาได้นั้นอาจไม่เหมาะสม หากพิจารณาในแง่ที่ว่าอธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐเป็นผู้ให้บริการคนหนึ่ง ซึ่งอาจมีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง จึงไม่เหมาะสมที่จะทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการสรรหา คปก.จึงเห็นว่าไม่ควรกำหนดให้อธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐเป็นกรรมการสรรหา
 
อนึ่ง ร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. .…ซึ่งวุฒิสภาได้แก้ไขเพิ่มเติมให้แตกต่างจากร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. .… ที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเป็นรายมาตรานี้มีการแก้ไข รวม 11มาตรา และเป็นการเพิ่มเติมอีก 2 มาตรา ในประเด็นต่างๆ คือ เรื่องจำนวนเงินอุดหนุนทั่วไปจากรัฐบาล คุณสมบัติของกรรมการในคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค งบประมาณ รายได้ขององค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา อำนาจหน้าที่ของกรรมการ ประมวลจริยธรรม อำนาจในการเชิญบุคคลมาให้ข้อเท็จจริงแสดงความคิดเห็น หรือจัดส่งเอกสาร คณะอนุกรรมการกิจการฮาลาล ลักษณะต้องห้ามของเลขาธิการ บทกำหนดโทษ และระยะเวลาจัดสรรงบประมาณ
 
ที่มา: ประชาไท

รอส่งศาลฎีกาตรวจสอบคำพิพากษาปลอมในจ.ประจวบฯ

เมื่อวันที่ 6 พ.ย.55 นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงกรณีการปลอมเอกสารคำพิพากษาศาลฎีกา คดีพิพาทการถือครองที่ดินบริเวณชายหาดปากน้ำปราณ ที่มีการยื่นฟ้องคดีในศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ว่า จากการตรวจสอบของสำนักงานกฎหมายเบื้องต้นพบว่าเอกสารคำพิพากษาดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม เนื่องจากตรวจสอบจากหมายเลขคดีดำที่ 543/2549 และหมายเลขคดีแดงที่1433/2554 ของเอกสารดังกล่าวพบว่า เป็นหมายเลขคดีของศาลแขวงสมุทรปราการ เอกสารคำพิพากษาดังกล่าวจึงเป็นของปลอมจริงและมีผู้กระทำผิดโดยใช้เอกสารปลอม โดยเบื้องต้นสำนักงานศาลยุติธรรมจะส่งเอกสารดังกล่าวไปยังศาลฎีกา เพื่อรอคำยืนยันอย่างเป็นทางการอีกครั้งจากศาลฎีกาว่าเป็นเอกสารปลอมจริงหรือไม่ หากศาลฎีกากายืนยันกลับมาว่าเป็นของปลอม สำนักงานศาลฯก็จะมอบอำนาจให้ศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษต่อไป
 
นายสิทธิศักดิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้เอกสารดังกล่าวยังปลอมแบบฟอร์มเอกสารรายงานกระบวนวิธีพิจารณาคดีอีกด้วย ซึ่งไม่ใช่รูปแบบคำพิพากษาของศาลฎีกา จึงไม่ตรงกับต้นฉบับของศาลฎีกา และยังมีการกล่าวอ้างถึงเจ้าหน้าที่ศาล และผู้พิพากษา ซึ่งเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ศาลได้แจ้งความร้องทุกข์เพื่อให้ดำเนินคดีต่อบุคคลที่กระทำผิดในข้อหาปลอมและใช้เอกสารปลอมเอาไว้แล้ว
 
"สำนักงานยุติธรรมก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะกรณีดังกล่าวเป็นการกระทำที่ทำให้เกิดความเสียหายบุคคลที่ 3 ซึ่งท่านเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมรับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยสำนักงานศาลฯจะดำเนินการอย่างเฉียบขาดหากพบว่าใครเป็นผู้กระทำผิด" โฆษกศาลยุติธรรม ระบุ
 
ส่วนจะต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนว่ามีเจ้าหน้าที่ศาลเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ นายสิทธิศักดิ์ กล่าวว่า เบื้องต้นยังไม่มีมูลที่จะปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ศาลเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย และยังไม่มีหลักฐานว่าการปลอมคำพิพากษาดังกล่าวเกิดจากคนในศาลมีส่วนรู้เห็นเป็นใจ ซึ่งการตั้งคณะกรรมการสอบสวนจะต้องมีมูลให้เห็น เช่น มีพยานให้การซัดทอดหรือมีหลักฐานอันใดอันหนึ่งว่ามีคนในศาลเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย จึงจะเป็นเหตุให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทั้งทางวินัยและทางอาญาตามกระบวนการต่อไป
 
ที่มา: สำนักข่าวเนชั่น

หนังโป๊ขู่ฟ้องศาล คว่ำประชามติสวมถุง

ชาวเมืองลอสแองเจลีสเคาน์ตีลงประชามติด้วยคะแนน 55.85 ต่อ 44.15 เปอร์เซ็นต์ เห็นด้วยกับเทศบัญญัติ "มาตรการ บี" หรือ "กฎหมายการร่วมเพศที่ปลอดภัยในอุตสาหกรรมหนังโป๊" ที่บังคับผู้ผลิตหนังต้องยื่นขออนุญาตต่อทางการแอลเอเคาน์ตี ก่อนการถ่ายทำฉากที่นักแสดงมีเพศสัมพันธ์กันจริงๆ โดยจะมีเงื่อนไขกำกับว่านักแสดงต้องสวมถุงยางอนามัย
 
กฎหมายนี้ผลักดันโดยองค์กร AIDS Healthcare Foundation ที่อุตส่าห์ล่ารายชื่อมาได้กว่า 360,000 ชื่อเพื่อขอให้รัฐบาลท้องถิ่นบรรจุมาตรการ บี ไว้ในการลงประชามติเมื่อวันอังคารด้วย ความพยายามดังกล่าวมีมานานแล้ว และถูกผู้ผลิตหนังโป๊ซึ่งยึดซานเฟอร์นันโดวัลเลย์เป็นฐานการผลิต คัดค้านต่อต้านโดยขู่จะย้ายฐานไปเมืองอื่น
 
หลังผลมติออกมา ไดแอน ดุค ประธานบริหารของ Free Speech Coaltion ตัวแทนสหพันธ์อุตสาหกรรมหนังโป๊ รีบทำหนังสือถึงแอลเอเคาน์ตีในวันพุธ ขู่ว่าพวกตนจะยื่นคำร้องท้าทายกฎหมายมัดมือชกฉบับนี้ต่อศาล "เราเชื่อว่ากฎหมายดังกล่าวไม่เพียงขัดต่อรัฐธรรมนูญจากการฝืนบังคับการแสดงออก แต่ยังควรอยู่ในขอบเขตอำนาจของรัฐแคลิฟอร์เนีย มากกว่าอำนาจของรัฐบาลท้องถิ่น" โดยเชื่อว่าศาลน่าจะเห็นด้วย
 
การฟ้องยังไม่เท่าไหร่ แต่ตัวแทนอุตสาหกรรมหนังโป๊ยังอ้างด้วยว่า พวกตนจะร่างโรดแม็พภายในไม่กี่สัปดาห์หรือแรมเดือน เพื่อย้ายฐานการผลิตที่มีมูลค่านับพันล้านเหรียญสหรัฐ และการจ้างงานราว 10,000 ตำแหน่ง ไปยังชุมชนอื่นที่ยินดีต้อนรับอุตสาหกรรมหนังโป๊มากกว่าแอลเอเคาน์ตี
 
ที่มา: ไทยโพสต์

พม่าผ่านกฎหมายเปิดกว้างเอื้อต่างชาติเข้ามาลงทุน

เมื่อ 4 พ.ย. ประธานาธิบดีเต็ง เส่งแห่งพม่า ลงนามผ่านร่างกฎหมายใหม่ ด้านการลงทุนจากต่างชาติเมื่อวันศุกร์ 2 พ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อส่งต่อให้รัฐสภาดำเนินการเรื่องรายละเอียดของกฎหมายภายในสัปดาห์นี้ ภายหลังร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวถูกเตะถ่วงยื้อมานานตั้งแต่ช่วงเดือนมี.ค. ระหว่างกลุ่มผู้ร่างกฎหมายกับกลุ่มนักธุรกิจ โดยรัฐบาลพม่าต้องการดึงเงินลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น ขณะที่กลุ่มธุรกิจในประเทศต่างพยายามรักษาผลประโยชน์ผูกขาดการค้าของตนอย่างเหนียวแน่น ทั้งอ้างกลุ่มธุรกิจการเงินจากต่างชาติจะทำให้เกิดธุรกิจขนาดเล็กในพม่าต้องปิดตัวลง
 
ทั้งนี้ รายละเอียดของข้อกฎหมายด้านการลงทุนจากต่างชาติฉบับใหม่ เปิดโอกาสให้ต่างชาติถือครองกิจการหลายประเภทได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องแบ่งถือหุ้นกับบริษัทของชาวพม่า อีกทั้งเพิ่มระยะเวลาสัมปทานบางประเภทมากกว่า 50 ปี ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่และธุรกิจการลงทุน การต่อยืดสัญญาสัมปะทานดำเนินการได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 10 ปี ขณะที่กฎหมายฉบับเก่าอนุญาตต่างชาติถือครองหุ้นทางธุรกิจสูงสุดได้แค่ 50 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะธุรกิจประเภทเกษตรกรรม อนุญาตต่างชาติถือครองหุ้นได้เพียง 35 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้น รัฐบาลพม่ายังปรับลดภาษีดำเนินการทางธุรกิจในช่วงแรกนาน 5 ปี หวังกระตุ้นเพิ่มทั้งธุรกิจนำเข้าและส่งออกสินค้า ขณะเดียวกัน รัฐบาลพม่าได้ลงนามกับบริษัทเครดิตวีซ่า เปิดโอกาสให้มีการใช้จ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตในประเทศ รวมถึงการกดถอนเงินสดจากธนาคารในพม่าได้ตั้งแต่เดือนม.ค.ปีหน้าเป็นต้นไป
 
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์