รอบอาทิตย์ที่สี่ พ.ย.55 : ครม.ไฟเขียว ปราบสิ่งยั่วยุความรุนแรง

รอบอาทิตย์ที่สี่ พ.ย.55 : ครม.ไฟเขียว ปราบสิ่งยั่วยุความรุนแรง

เมื่อ 23 พ.ย. 2555

 

ครม.ไฟเขียว ร่าง พ.ร.บ.ปราบสิ่งยั่วยุความรุนแรง
 
ครม.เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ปราบปรามสิ่งของยั่วยุให้เกิดพฤติกรรมความรุนแรง ให้อำนาจ จนท.ค้นบ้าน-คอมฯ นักวิชาการด้านเทคโนดิจิทัล ชี้ กม.นิยามความผิดกว้างและไม่ชัดเจน
 
20 พ.ย.55 ทำเนียบรัฐบาล ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป 
 
โดยไทยรัฐออนไลน์รายงานด้วยว่า นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.ได้เห็นชอบตามที่ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย เพื่อให้มีกฎหมายในการป้องกันและปราบปรามเกี่ยวกับการกระทำผิดเกี่ยวกับวัตถุลามก รวมถึงสื่อที่ส่งเสริมและยั่วยุพฤติกรรมต่างๆ ที่ร้ายแรงไม่น้อยกว่าวัตถุลามก  ขณะที่เรื่องนี้ได้ผ่านการตรวจพิจารณาจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และครั้งนี้เป็นการยืนยันร่างเดิมไม่มีการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด
 
สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว เว็บไซต์สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้สรุปไว้ดังนี้
 
          1. กำหนดความหมายของสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตรายและลักษณะการกระทำที่เป็นพฤติกรรมอันตราย ซึ่งรวมถึงการกระทำวิปริตทางเพศ การกระทำทารุณกรรมต่อเด็ก การฆ่าตัวตายของเด็กหรือเป็นหมู่คณะ การใช้ยาเสพติด การกระทำความผิดต่อชีวิตและความผิดต่อทรัพย์ และขยายความหมายของคำว่า “เด็ก” ให้ครอบคลุมถึงตัวแสดงที่ปรากฏอยู่ในสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตรายซึ่งมีลักษณะที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นเด็กด้วย
 
          2. กำหนดให้พระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการหรือเจ้าหน้าที่อื่นตามกฎหมายอื่นที่มีลักษณะหรือเนื้อหาเกี่ยวกับสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย และกำหนดให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจในการวินิจฉัยและการวางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการและการประสานงาน
 
          3. กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นรัฐมนตรีของกระทรวงที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ เป็นรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมาย และให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของตนเท่านั้น
 
          4. กำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย ซึ่งประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่งและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ
 
          5. กำหนดให้สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชนผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ
 
          6. กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจในการเข้าไปตรวจค้นในสถานที่หรือเคหสถานของบุคคล ค้นบุคคลหรือยานพาหนะ เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตรายหรือทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือจะใช้ในการกระทำความผิดซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ยึดหรืออายัดสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตรายหรือพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด รวมทั้งมีอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำความผิดในพัสดุภัณฑ์จดหมาย ตู้ไปรษณีย์ ระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ฯลฯ เมื่อปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าจะได้ข้อมูลที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ทั้งนี้ จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลและต้องรายงานผลการดำเนินการให้ศาลทราบด้วย และให้เจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
 
          7. กำหนดความผิดและบทกำหนดโทษสำหรับการกระทำความผิดเกี่ยวกับสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย
 
นายอธิป จิตตฤกษ์ นักวิชาการอิสระด้านเทคโนโลยีดิจิทัลกับศิลปวัฒนธรรม  มอง ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า นิยามความผิดกว้างไป ทั้งขอบเขตของสิ่งยั่วยุความรุนแรง เขียนคลุมสื่อกระตุ้นความรุนแรงเกือบหมด และตัวคำว่า "ยั่วยุ" เอง มันไม่ชัดเจน(Clear)มันถูกละเมิด(Abuse)ได้ง่าย จริงๆ มันควรจะเป็นกฎหมายปราบปรามสิ่งลามกอนาจารเด็ก (Child Porn) แต่กลับใส่อะไรมาเต็มเลย เหมือนแถม จึงคิดว่าควรจะตัดส่วนที่แถมมาออกให้หมด เหลือกฎหมายปราบปรามสิ่งลามกอนาจารเด็กพอ
 
อย่างไรก็ตาม อธิป กล่าวย้ำสำหรับกฎหมายปราบปรามสิ่งลามกอนาจารเด็กด้วยว่า แม้จะให้ตัดเหลือแต่ส่วนนี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าตนเองจะเห็นด้วยเห็นด้วยหรือไม่กับกฎหมายปราบปรามสิ่งลามกอนาจารเด็ก เพราะตอนนี้มันมีดีเบตในต่างประเทศจำนวนมากเรื่องนี้ ว่าจะคุมยังไงไม่ให้การปราบปรามมันไปละเลย เสรีภาพในการแสดงความเห็น(Free Speech) และสิทธิพลเมืองในแง่อื่นๆ
 
นักวิชาการอิสระ ยังกล่าวอีกว่าทุกวันนี้กฎหมายสอดส่องอินเทอร์เน็ตในต่างประเทศมันผ่านก็เพราะอ้างว่าจะปราบปรามสิ่งลามกอนาจารเด็ก หากอ้างเรื่องลิขสิทธิ์แรงต่อต้านมันเยอะแล้ว อย่างเช่นแบบที่ SOPA หรือ ร่างรัฐบัญญัติหยุดยั้งการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ (Stop Online Piracy Act) ตกไปในอเมริกา ACTA ตกไปในสภายุโรป
 
 
 
 
ประมงพื้นบ้านท่าศาลา บุก ‘สผ.’ ค้านมติ คชก.เห็นชอบ EHIA ท่าเรือเชฟรอน
 
ชี้ประเด็นความบกพร่องของมติ คชก.อาจนำมาซึ่งการสูญสลายของทะเล แหล่งอาหาร วิถีประมง และชีวิตของประมงชายฝั่งท่าศาลา ด้าน เลขาธิการ สผ.ยืนยัน คชก.พิจารณารายงานรอบคอบแล้วในทุกด้าน
 
วันนี้ (22 พ.ย.55) เวลา 13.00 น.สมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เดินทางมายังสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เข้ายื่นหนังสือคัดค้านมติความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ต่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ (EHIA) กรณี “โครงการก่อสร้างศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย” ของ บริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด พร้อมเรียกร้องให้ทบทวนและเพิกถอนมติให้ความเห็นชอบ รวมทั้งในระหว่างการดำเนินการ ให้มีหนังสือถึงกรมเจ้าท่า และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อระงับไม่ให้มีการนำรายงาน EHIA ดังกล่าว ไปพิจารณาเพื่อออกใบอนุญาต
 
สมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา ให้เหตุผลการคัดค้านว่า กระบวนการพิจารณาและการให้ความเห็นชอบโครงการไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายผังเมือง ดังนี้ 1.การกำหนดขอบเขตพื้นที่ศึกษาเพื่อประเมินผลกระทบของโครงการ ไม่ครอบคลุมพื้นที่ และผู้ได้รับผลกระทบที่แท้จริง 2.การดำเนินโครงการอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศเฉพาะของพื้นที่ที่เป็นสาระสำคัญของการดำรงอยู่ของชุมชนประมง อันจะนำไปสู่การล่มสลายของชุมชนประมง 3.การเลือกพื้นที่ตั้งโครงการ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่
 
4.การพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ   มีข้อบกพร่องในหลักการความสมบูรณ์ครอบคลุมของการระบุผลกระทบของโครงการ และ 5.การพิจารณาเห็นชอบโครงการ ขาดข้อมูลการกำหนดการใช้ประโยชน์พื้นที่ และขัดต่อเจตนารมณ์ตามร่างกฎกระทรวงบังคับใช้ผังเมืองรวมจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งกำหนดให้บริเวณพื้นที่ตั้งโครงการเป็นพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม ห้ามมิให้มีอุตสาหกรรม กิจกรรมการเก็บ ลำเลียงวัตถุอันตราย
 
หลังการเข้ายื่นหนังสือ นายสันติ บุญประคับ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ยืนยันว่า คชก. ได้พิจารณารายงานโดยรอบคอบแล้วในทุกด้าน ตามรายงานและข้อมูลที่มีอยู่ทั้งหมด ณ ขณะที่พิจารณา
 
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีนักวิชาการหลายกลุ่มออกมาให้ความเห็นว่ายังมีข้อมูลและข้อเท็จจริงสำคัญอื่นๆ ของพื้นที่อีกจำนวนมาก ที่ คชก.ไม่นำมาประกอบการพิจารณาให้ความเห็นชอบรายงาน EHIA ของโครงการ
 
ด้าน นายสุพร โต๊ะเสน นายกสมาคมประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา กล่าวถึงความเห็นร่วมของเครือข่ายฯ ต่อการตอบคำถามของเลขาธิการ สผ.ว่า แนวทางการต่อสู้ด้วยการนำเสนอข้อมูลวิชาการของพื้นที่ที่ผ่านมา ไม่เพียงพอที่จะทำให้ สผ. หันมารับฟังได้ และไม่เพียงพอที่จะปกป้องพื้นที่ผลิตอาหารอ่าวท่าศาลา ดังนั้นแนวทางการเคลื่อนไหวต่อไปของสมาคมและเครือข่ายอื่นๆ จะใช้บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิชุมชนปกป้องทรัพยากร วิถีชีวิต และเศรษฐกิจชุมชน รวมพลังเพื่อการยืนยันเจตนารมณ์รักษาอ่าวท่าศาลาไว้เป็นพื้นที่ผลิตอาหาร
 
ขณะที่ นายประสิทธิชัย หนูนวล เครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา กล่าวกับ สผ.ว่า ภารกิจในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่เพื่อปกป้องคนท่าศาลาเท่านั้น แต่เป็นการปกป้องแหล่งอาหารให้กับคนทั้งประเทศ สอดคล้องกับวิกฤติอาหารและวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก การทำหน้าที่ของคนท่าศาลาจึงเป็นการทำหน้าที่เพื่อคนไทยทุกคน
 
“เราไม่ควรทำลายศักยภาพของเราเอง คือความเป็นผู้มั่งคั่งด้านการผลิตอาหาร ในกรณีนี้ สผ.มีสิทธิที่จะดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของสหประชาชาติ หรือจะสนองเจตนารมณ์ของบริษัทข้ามชาติที่ทำลายสิ่งแวดล้อมมาแล้วทั่วโลกก็ทำได้ แต่ท้ายที่สุดเลขา สผ.ก็ตอบประชาชนว่าเลือกที่จะยืนอยู่ข้างบริษัทเชฟรอน ชุมชนจึงต้องใช้แนวทางอื่นในการต่อสู้ต่อไป” นายประสิทธิชัยกล่าว
 
 
 
 
'Insects' ร่วม 'Shakespeare' ฟ้องศาลปกครองเร่งรัดคดี หลังพบหนังถูกปล่อยบิท
 
22 พ.ย.55 ธัญญ์วาริน สุขะพิศิษฐ์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง  ‘Insects in the Backyard’  ร่วมกับมานิต ศรีวานิชภูมิผู้อำนวยการสร้าง และสมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง  ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’  เข้าแจ้งความต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เหตุถูกเว็บไซต์เถื่อน ขโมยหนังไปจำหน่ายและเผยแพร่โดยมิได้รับอนุญาต
 
ก่อนหน้านี้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์มีมติไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ เรื่อง ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’  โดยให้เหตุผลว่า ภาพยนตร์มีเนื้อหาที่อาจก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ  ส่วนภาพยนตร์เรื่อง  ‘Insects in the Backyard’ ให้เหตุผลว่า ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
 
มานิต ศรีวานิชภูมิ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่องเชคสเปียร์ต้องตาย ได้กล่าวถึงการแจ้งความการละเมิดลิขสิทธิ์ครั้งนี้ ว่า เหมือนถูกกระทำซ้ำสอง หลังจากที่ภาพยนตร์ถูกคำสั่งห้ามเผยแพร่มาครั้งหนึ่งแล้ว
 
‘มันแย่มากๆ  หลังจากหนักโดนแบนไปก็ยังมีคนมาละเมิด  เอาไปขายต่อ  มันแย่มากๆ  มันเหมือนโดนข่มขืนซ้ำสอง’ มานิตกล่าว
 
หลังจากนั้น ทีมผู้สร้าง-ผู้กำกับและทีมทนายความจากหนังทั้งสองเรื่อง ได้เดินทางต่อไปยัง ‘ศาลปกครอง’ เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลเร่งรัดการพิจารณาคดีในกรณีการขอให้เพิกถอนคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ทั้งสองเรื่อง ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกัน
 
ความเสียหายและผลกระทบอันจะเกิดขึ้นเพราะเหตุที่มีผู้นำหนังทั้งสองเรื่องไปเผยแพร่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้ผู้ผลิตหนังได้รับความเสียหายและสูญเสียรายได้ที่อาจจะได้รับจากการจัดฉายหลังศาลมีคำพิพากษา
 
โดยในกรณีของเรื่อง ‘Insects in the Backyard’ นั้น ได้ดำเนินการฟ้องร้องไปแล้วเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2554 แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในคดี เช่นเดียวกับในกรณีของ ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ ซึ่งได้ฟ้องร้องไปเมื่อ 9 สิงหาคม 2555 ก็ไม่มีความคืบหน้าเช่นกัน
 
ด้านธัญญ์วาริน สุขะพิศิษฐ์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ‘Insects in the Backyard’ ได้แสดงความเห็นต่อระบบการพิจารณาคดีว่า เป็นไปด้วยความล่าช้า และไม่ทันการณ์ ‘มันน่าจะเร็วกว่านี้  มันก็เป็นสินค้า  มีระยะเวลาของมัน  ไม่ใช่เมื่อไหร่ก็ได้  ถ้าล้าสมัยไปก็เสียหาย’
 
 
 
 
รัฐบาลประกาศใช้ พรบ.ความมั่นคง รับมือกลุ่มพิทักษ์สยาม-เสธ.อ้าย 22-30 พฤศจิกายนนี้
 
รัฐประกาศใช้ พรบ. ความมั่นคง โดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุม ครม.ชุดเล็กว่า ที่ประชุมมีมติให้ประกาศใช้ พรบ.ความมั่นคง 9 วัน ตั้งแต่วันที่ 22 – 30 พ.ย. ใน 3 เขต ได้แก่ เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตดุสิต
 
กระทรวงกลาโหม พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง แจงอย่าตื่นตระหนก เคลื่อนทหารเพื่อซ้อมถวายสัตย์ฯ 
 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้เน้นย้ำในที่ประชุมเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และขอให้หน่วยต่างๆ ประสานกับส่วนราชการในทุกพื้นที่ที่มีการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งในภาพรวมของปีนี้จะมีการปฏิญาณตนต่อหน้าธงชัยเฉลิมพล และจะมีการปฏิญาณตนเป็นคนดีของเหล่าทัพต่างๆ รวมถึงมีการอุปสมบท และการถวายสัตย์ปฏิญาณตนของทหารรักษาพระองค์
 
นอกจากนี้ยังมีการนำสปอตโทรทัศน์มาเผยแพร่ คิดว่า เหล่าทัพจะทำให้สอดคล้องกันทั้งหมด ส่วนที่ขณะนี้อาจเห็นความเคลื่อนไหวของกำลังทหาร เนื่องจากปัจจุบันมีการซ้อมถวายสัตย์ปฏิญาณตน จึงต้องมีกำลังพล รถ และม้า ต้องเดินทางกัน ดังนั้นฝากถึงประชาชนอย่าตื่นตระหนก
 
ตั้งวอร์รูมจับตากลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม
 
พ.อ.ธนาธิป แถลงภายหลังการประชุมสภากลาโหมถึงการรักษาความสงบเรียบร้อย การชุมนุมของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม ในวันที่ 24 พ.ย.นี้ว่า ในทุกวันของทุกหน่วยจะมีวอร์รูมติดตามสถานการณ์ด้านการข่าวอยู่แล้ว โดยจะมีทั้งข้อมูลของกระทรวงกลาโหม และเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ในส่วนของสถานการณ์การชุมนุม ทางหน่วยงานด้านความมั่นคงต้องติดตามสถานการณ์ หากผู้ชุมนุมเดินทางมาเยอะจะต้องดูแลให้ทั่วถึง ทั้งนี้เรามีความเป็นห่วงเรื่องการก่อความไม่สงบของผู้ไม่หวังดี แต่คิดว่าการชุมนุมจะเป็นไปอย่างสันติ และต้องฝากทุกภาคส่วนช่วยกัน เพี่อให้การชุมนุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่เกิดเหตุร้าย
 
พ.อ.ธนาธิป กล่าวต่อว่า ในพื้นที่การชุมนุมคาบเกี่ยวกับส่วนราชการที่สำคัญ เนื่องจากบริเวณนั้นมีสำนักพระราชวังอยู่ จึงจะต้องดูแลอย่างทั่วถึง และให้เกิดความเรียบร้อย คิดว่าทุกส่วนคงมีการเตรียมความพร้อมอยู่แล้ว แต่เรามุ่งหวังว่า การชุมนุมในวันที่24 พ.ย.นี้ จะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และส่งผลประโยชน์ต่อประเทศชาติเป็นหลัก ส่วนทหารที่คิดว่าจะชุมนุมนั้น ขอให้ใช้วิจารณญาณที่จะเดินทางไปชุมนุม เพราะทหารควรจะปลีกตัวออกมา เนื่องจากอาจมีผลกระทบเกิดขึ้นได้ คิดว่ากำลังพลทุกคนคงเข้าใจ
 
ตร. 112 กองร้อย เคลื่อนเข้ากรุง
 
พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.ธนา ชูวงศ์ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ต.อ.อนุชา รมยะนันทน์ รองโฆษกตร. พ.ต.ท.หญิง อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล รองโฆษกศปก.ตร. รวมกันแถลงข่าวกรณีการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยาม
 
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า วันนี้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ปฏิบัติการดูแลความปลอดภัยผู้ชุมนุมทั้ง 112 กองร้อย กำลังเดินทางมาจากทั่วประเทศ เพื่อเข้าสู่จุดรวมพลขั้นต้น เข้าสู่จุดที่พัก เช่น สโมสรตำรวจ กองบินตำรวจ ศูนย์ฝึกอบรมต่างๆ เพื่อเตรียมเข้าสู่พื้นที่ปฏิบัติการต่อไป
 
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ได้ตรวจความพร้อมของกำลังพล และรับฟังการเตรียมความพร้อมของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ในการดูแลกลุ่มผู้ชุมนุมในวันที่ 24 พ.ย. ซึ่ง บช.น.ได้เตรียมความพร้อม คือ
 
1. บช.น.เจ้าของพื้นที่ ได้กำหนดพื้นที่ชุมนุมที่เหมาะสะดวกในการรักษาความปลอดภัย ไม่ให้กระทบต่อประชาชนทั่วไปให้อยู่ในลานพระรูปฯ และพื้นที่โดยรอบไม่ให้กระจายไปในพื้นที่อื่น กำลังที่เข้าปฏิบัติหน้าที่จากต่างจังหวัดในแต่ละจุดจะทำงานร่วมกับกำลังของ บช.น. เช่น ถ.อู่ทองใน ใช้กำลังของภาค 6 มาอยู่ ก็จะมีกำลังของ บช.น.มาร่วม เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน ผู้คุมกำลังทั้งหมดตอนนี้รับทราบภารกิจแล้ว
2. บช.น.ได้ตั้ง ศปก.ส่วนหน้า 3 จุด ด้วยกัน คือ สนามเสือป่า รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล โดยมีรองผบช.น.เป็นผู้กำกับดูแล มีผบก.40 นายทั่วประเทศที่คัดมาร่วมดูแล โดยศปก.ส่วนหน้า มีหน้าที่หลักคือ รักษาพื้นที่และดูแลความสงบเรียบร้อย แต่ละศปก.ส่วนหน้า ก็จะมีที่ทำการส่วนหน้าย่อย (ทก.สน.) อีก 5-6 จุด มีภารกิจตั้งจุดตรวจเข้มแข็งตรวจตราอาวุธ คัดกรองบุคคล ณ จุดตรวจร่วมจะมีการ์ดของผู้ชุมนุมร่วมตรวจกับตำรวจด้วยช่วยดูคัดกรองบุคคล และอาวุธ
 
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวต่อไปว่า จากการตรวจสอบสถานการณ์ มีเหตุบ่งชี้หลายอย่างที่จำเป็นต้องเสนอใช้กฎหมายที่สูงขึ้น คือ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ
 
ทั้งนี้ จากการข่าวพบว่า การชุมนุมจะมีการยกระดับสถานการณ์ไม่ได้อยู่ที่เดียว มีการระดมคนมากขึ้น ตรวจสอบโครงข่ายผู้ชุมนุมมีการจัดเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ อาจจะมีเข้าไปในพื้นที่สำคัญ อาจมีการยั่วยุให้เกิดความวุ่นวาย กฎหมายปกติอาจจะไม่สามารถควบคุมดูแลได้ ต้องกำหนดพื้นที่ห้ามเข้าเด็ดขาด เช่น ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา หากใครฝ่าฝืนถือว่าทำผิดกฎหมายต้องถูกจับกุม ซึ่งตำรวจได้เตรียมสถานที่ควบคุมตัวไว้แล้ว ประการสำคัญภารกิจนี้เฉพาะตำรวจอาจไม่เพียงพออาจต้องขอกำลังจากหน่วยอื่นๆ มาร่วม หากประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ผบ.ตร.จะสามารถบูรณาการกำลังได้
 
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า ผบ.ตร.ได้กำชับให้จุดปฏิบัติการทุกจุดทำงานอย่างโปร่งใส สื่อสามารถติดตามการทำงานได้ตลอดเวลา จะมีชุดเจรจาต่อรองที่จุดตรวจเข้มแข็งทุกจุดนอกจากนั้น ผบ.ตร.ได้สั่งให้ผบช.น.และหน่วยปฏิบัติจัดทำแผนการดูแลสถานที่สำคัญ เช่น สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง สถานีโทรทัศน์ สถานีวิทยุ ที่ทำการระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ประปา ไฟฟ้า และระบบคมนาคมทุกแห่งให้เตรียมกำลังเข้าไปดูแล ผบ.ตร.ได้มีหนังสือถึงผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้งสามเหล่าทัพ ให้จัดกำลังมาร่วมทำงานกับตำรวจเพื่ิอให้ข้อแนะนำประสานงานที่ศปก.ตร.
 
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า ในส่วนของฝ่ายสอบสวนได้ตั้ง พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร ที่ปรึกษาสบ.10 เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน ในส่วนของบช.น.ก็จะมี พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง รองผบช.น.เป็นหัวหน้า โดยมีพนักงานสอบสวนจากหน่วยต่างๆ ทั้ง บช.ก และนครบาล และภูธร มีการจัดชุดถอดเทป วิเคราะห์ข้อมูลคำต่อคำ ภาพต่อภาพ
 
ด้าน พล.ต.ต.ธนา กล่าวว่า ผบ.ตร.ได้ สั่งผบก.จว.จัดกำลังตำรวจบ้านออกตรวจตราเพื่อป้องกันเหตุ ขอให้ประชาชนมั่นใจ แม้จะมีกำลังมาทำงานดูแลกลุ่มผู้ชุมนุมที่กทม. ในพื้นที่ก็จะมีอาสาสมัครร่วมกับตำรวจคอยดูแลประชาชนเหมือนเดิม
 
ขณะที่ พ.ต.ท.หญิง อัญชุลี กล่าวว่า โรงพยาบาลตำรวจจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 24 ชม. ดูแลผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ หากเจ็บไข้ได้ป่วยก็มาใช้บริการได้ มีการจัดเตรียมรถพยาบาลให้การดูแล หากต้องส่งต่อไปรพ.ต่างๆ ได้มีการเตรียมแผนกรณีฉุกเฉินไว้แล้ว โดยเป็นการร่วมมือระหว่างรพ.รัฐและเอกชน
 
พ.ต.ท.หญิง อัญชุลี กล่าวว่า ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ร่วมชุมนุมเด็ดขาด พ่อแม่ผู้ปกครองก็ห้ามพาเด็กมาร่วมชุมนุม เพราะถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ผู้ปกครองต้องดูแลเด็กให้เกิดความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ก็มีหน้าที่ดูแลให้เกิดความปลอดภัยต่อเด็ก
 
ที่มา : Siam Intelligence
 
 
 
ผลวิจัยระบุผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทยตรวจข้อมูลเน็ตสูงอันดับต้นของโลก
 
คณะนักวิจัยนานาชาติพบการตรวจข้อมูลในเครือข่ายโดยผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตของไทย 3 ราย คือทรู ทีโอที และสามบีบี ตั้งแต่ปี 2552, 2553, 2554 โดยเมื่อถ่วงน้ำหนักทั้งประเทศแล้ว ประเทศไทยมีอัตราการตรวจข้อมูลในระดับสูง หรือ "ทำกันโดยทั่วไป" (pervasive) ติดต่อกันทุกปี และสูงที่สุดในปี 2553 หนึ่งในคณะวิจัยระบุว่าส่วนใหญ่แล้วการตรวจดังกล่าว ทำด้วยเหตุผลทางธุรกิจเพื่อจัดการปริมาณจราจร แต่เทคโนโลยีเดียวกันสามารถใช้เพื่อเฝ้าระวังทางการเมืองได้
 
ในงานประชุม Global Internet Governance Academic Network (GigaNet) ครั้งที่ 7 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นงานประชุมวิชาการด้านการจัดการอินเทอร์เน็ตซึ่งจัดพร้อมกับที่ประชุมสากลว่าด้วยอินเทอร์เน็ตภิบาล (Internet Governance Forum) ฮาดี อัสการี นักวิจัยจากคณะเทคโนโลยี นโยบาย และการจัดการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเดลฟต์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ นำเสนอรายงานวิจัย "Unravelling the Economic and Political Drivers of Deep Packet Inspection" ซึ่งเป็นความร่วมมือกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยไซราคูส ในสหรัฐอเมริกา และใช้ข้อมูลจากโครงการ http://measurementlab.net/  ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือในการศึกษาการจัดการช่องส่งข้อมูลอินเทอร์เน็ตโดยนักวิจัยจากทั่วโลก
 
บทคัดย่อของรายงานวิจัยฉบับดังกล่าวระบุว่า การใช้เทคโนโลยี Deep Packet Inspection (DPI) หรือการตรวจตราชิ้นส่วนข้อมูลอย่างละเอียดนั้น เป็นหัวข้อการศึกษาที่วงการวิชาการให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมันมีผลกระทบต่อประเด็นอ่อนไหวทางนโยบายหลายประการ โดยรายงานฉบับนี้ให้ความสนใจกับการใช้ DPI เพื่อบีบขนาดหรือปิดกั้นช่องส่งข้อมูลสำหรับการรับส่งข้อมูลแบบเพียร์ทูเพียร์ในผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต 288 ราย จาก 70-75 ประเทศ ในช่วงเวลาสามปี และหาความสัมพันธ์ของการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวกับตัวแปรทางเศรษฐกิจและการเมือง
 
เทคโนโลยี DPI อนุญาตให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เปิด "ซองจดหมาย" เพื่อดูรายละเอียดเนื้อหาในซองข้อมูลแต่ละซอง หรือที่เรียกว่า "แพ็คเก็ต" (packet) การรู้รายละเอียดเนื้อหาในซองนี้ทำให้ผู้ให้บริการสามารถจำกัดการรับส่งข้อมูลบางชนิดจากบางโปรแกรม ให้ความสำคัญข้อมูลชนิดหนึ่งมากกว่าอีกชนิดหนึ่ง หรือปิดกั้นข้อมูลโดยระบุชนิดได้แบบทันที หรือที่เรียกว่า "ตามเวลาจริง" (real-time) ตัวอย่างเช่นการจำกัดความเร็วของการดาวน์โหลดผ่านโปรโตคอลทอร์เรนต์ นอกจากนี้การเปิดซองข้อมูลดังกล่าวยังอนุญาตให้ผู้ให้บริการทำประวัติบุคคลของผู้ใช้ได้ด้วย ซึ่งความสามารถทั้งหมดนี้ ทำให้เทคโนโลยี DPI ส่งผลกระทบต่อประเด็นอ่อนไหวอย่าง ความเป็นกลางของเครือข่าย (network neutrality) การควบคุมเนื้อหาลิขสิทธิ์ ความมั่นคง การปิดกั้นเนื้อหา ความเป็นส่วนตัว และภาระความรับผิดของตัวกลางข้อมูล
 
ข้อมูลเชิงประจักษ์แสดงให้เห็นว่า ในปี 2554 มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ให้บริการที่ถูกศึกษานั้น ใช้ DPI เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศที่มีการทำ DPI สูง มักขาดแคลนช่องส่งข้อมูล มีการแข่งขันในตลาดต่ำ รัฐมีนโยบายการตรวจตราสูง ขาดกฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัว และมีการเซ็นเซอร์เนื้อหาสูง
 
ส่วนสมมติฐานที่ว่าประเทศที่มีอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์เข้มแข็งน่าจะมีการทำ DPI สูงด้วย ถูกข้อมูลปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง คณะผู้วิจัยระบุว่า แม้ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรแต่ละตัวกับการใช้ DPI จะอยู่ในระดับอ่อน แต่คำถามที่สำคัญกว่าคือ ความสัมพันธ์ดังกล่าวนั้นมีนัยสำคัญและเป็นไปในทิศทางที่คาดหรือไม่
 
ข้อมูลดิบในการศึกษานี้นำมาจากเครื่องมือทดสอบชื่อ Glasnost ซึ่งเปิดให้ผู้ใช้เน็ตทั่วโลกทำการทดสอบการจำกัดช่องส่งข้อมูลในหลายรูปแบบ โดยเครื่องมือดังกล่าวจะทดลองรับส่งข้อมูลในหลายรูปแบบ เพื่อหาว่ามีการจำกัดหรือไม่ และเป็นการจำกัดด้วยวิธีอะไร ข้อจำกัดของชุดข้อมูลนี้คือ หากไม่มีผู้ใช้บริการเน็ตจากผู้ให้บริการรายใดมาเปิดโปรแกรมเพื่อทดสอบมากพอก็จะไม่มีข้อมูลของผู้ให้บริการรายนั้น ตัวอย่างเช่น ข้อมูลของประเทศไทยที่มีข้อมูลของผู้ให้บริการเพียงสามราย
 
ประเทศไทยติดอันดับประเทศที่มีการตรวจตราข้อมูลอินเทอร์เน็ตมากที่สุดในโลก  จากข้อมูลปี 2554 ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมีคะแนน DPI 44.7% ซึ่งหมายความว่าใน 1000 ครั้งที่รับส่งข้อมูล จะมีอยู่ 447 ครั้ง ที่ซองจดหมายของผู้ใช้บริการถูกเปิดดู โดยสูงเป็นอันดับ 7 จากทั้งหมด 70 ประเทศ รองจาก มาเก๊า (78.6%) เกาหลีใต้ (74.7) จีน (71.3) โมร็อคโค (63.2) ปานามา (47.4) และมาเลเซีย (57.0)
 
ส่วนแนวโน้มทั่วโลกนั้น ปี 2553 เป็นปีที่มีการทำ DPI สูงที่สุด สูงขึ้นจากปี 2552 ก่อนที่จะลดลงในปี 2554 ซึ่งคณะผู้วิจัยอธิบายว่า เป็นไปได้ว่าในปี 2553 เทคโนโลยีดังกล่าวมีราคาถูกลง ประกอบกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือผู้เล่นอื่นๆ มีความตระหนักมากขึ้นถึงความเป็นไปได้ที่จะใช้ DPI เพื่อประโยชน์ต่างๆ อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ว่ามีแรงต้านกลับในปี 2554 ไม่ว่าจะเป็นแรงต้านจากตลาดหรือแรงต้านทางการเมือง
 
ตัวอย่างเช่น ในปี 2554 บริษัท KPN ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเนเธอร์แลนด์ประกาศจะคิดค่าธรรมเนียมกับข้อความที่ส่งด้วยแอพพลิเคชันอย่าง WhatsApp แต่แผนดังกล่าวต้องเลิกไปหลังจากรัฐสภาเนเธอร์แลนด์ไม่เห็นด้วย เรื่องดังกล่าวส่งผลให้ในปีนี้เนเธอร์แลนด์ผ่านกฎหมายห้ามเลือกปฏิบัติต่อชนิดของข้อมูลที่รับส่งบนเครือข่าย โดยเป็นประเทศที่สองของโลกต่อจากประเทศชิลีที่มีกฎหมายนี้
 
 
 
 
ภาค ปชช.จี้ สตช.เข้มการใช้ ก.ม.คุ้มครองผู้ถูกกระทำฯ
 
22 พฤศจิกายน 2555  ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนด้านสตรี และความเสมอภาคระหว่างเพศ ยื่นหนังสือต่อ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ที่ปรึกษา สบ 10 เพื่อเสนอปัญหาในรอบ 5 ปี ของกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ปี 2550 โดยพบปัญหาส่วนหนึ่งมาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจขาดการรับรู้กฎหมาย และไม่มีกลไกให้ความช่วยเหลือผู้ถูกกระทำ
 
นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวเรียกร้องให้มีพนักงานสอบสวนหญิงทุกสถานีตำรวจ รับแจ้งความกรณีความรุนแรงจากครอบครัว และทำความเข้าใจกลไกการทำงานตามกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวแก่ตำรวจทุกนาย
 
พล.ต.อ.ชัชวาลย์ ยอมรับว่า ความรุนแรงในครอบครัวเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว การแจ้งความการดำเนินการจึงยังไม่เป็นรูปธรรม ทั้งนี้ยินดีพิจารณาตามข้อเสนอของภาคประชาชน
 
ขณะที่ผลสำรวจการรับรู้กฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวพบว่า ร้อยละ 80 ยังไม่รู้รายละเอียดของกฎหมาย ขณะที่ร้อยละ 42.1 เห็นว่า ปัจจัยที่ทำให้ผู้ถูกกระทำไม่สามารถเข้าถึงกฎหมายได้คือ ความรู้สึกอาย
 
 
 
 
เวียดนามผ่านกฎหมายลงมติไว้วางใจเจ้าหน้าที่รัฐทุกปี
 
เอเอฟพี - เวียดนามผ่านกฎหมายใหม่ที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงที่มาจากการเลือกตั้ง รวมทั้งนายกรัฐมนตรี จะต้องชนะเสียงสนับสนุนจากรัฐสภาในการลงมติประจำปีที่จะมีขึ้นเป็นครั้งแรก สื่อทางการของเวียดนามรายงานวันนี้ (22 พ.ย.)
       
ตั้งแต่ปี 2556 เจ้าหน้าที่ระดับสูงตั้งแต่ประธานาธิบดีไปจนถึงผู้พิพากษาศาลสูงสุด จะต้องเผชิญกับการลงมติไว้วางใจประจำปีในการประชุมสภา สำนักข่าวเวียดนามนิวส์ รายงาน
       
รายงานระบุว่า เจ้าหน้าที่ที่ได้รับคะแนนเสียงไว้วางใจน้อยกว่า 50% ติดต่อกัน 2 ปี จะถูกขอให้ก้าวลงจากตำแหน่ง และผลการลงคะแนนจะเผยแพร่ต่อสาธารณะ
       
แต่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การลงมติไว้วางใจไม่น่าจะเป็นไปมากกว่าสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าอำนาจในการตัดสินใจ และการเมืองที่แท้จริงอยู่ที่พรรคคอมมิวนิสต์
       
ความเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นหลังนายกรัฐมนตรีเหวียน เติ๋น ยวุ๋ง เผชิญกับเสียงเรียกร้องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนจากสมาชิกรัฐสภาให้ลาออก ซึ่งนายกฯ ยวุ๋งกล่าวกับสภาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เขาจะยังอยู่ในตำแหน่งตามเท่าที่พรรคคอมมิวนิสต์ต้องการ
       
อดีตผู้ว่าการธนาคารกลาง วัย 62 ปี รอดพ้นจากการลงโทษในที่ประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งสำคัญเมื่อเดือนก่อนเกี่ยวกับเหตุอื้อฉาวที่สร้างมลทินให้แก่ผู้นำประเทศ
       
และในความพยายามที่จะหันเหความสนใจของบรรดาเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่เพิ่มขึ้น พรรคคอมมิวนิสต์ได้เผยแพร่ “การวิจารณ์ตัวเอง” และยวุ๋งได้แสดงความเสียใจต่อการทุจริต การไร้ประสิทธิภาพ และการสูญเสียครั้งใหญ่ของรัฐวิสาหกิจที่รัฐดำเนินการ เช่น บริษัทเดินเรือวีนาชิน
       
แรงกดดันเพิ่มสูงขึ้นขณะที่เวียดนามเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ภาวะเงินเฟ้อสูง การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศลดลง และความวิตกกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับหนี้เสียในระบบธนาคารที่เปราะบาง
       
ยวุ๋ง ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อกันเป็นสมัยที่ 2 ถูกกล่าวขานว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศ.