แอมเนสตี้ฯหารือ ก.ต่างประเทศพักการใช้โทษประหารชีวิต
27 พฤศจิกายน 2555 ตัวแทนจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยเข้ายื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเพื่อเรียกร้องให้มีการพักการใช้โทษประหารชีวิต โดยคุณพรประไพ กาญจนรินทร์ อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศเป็นตัวแทนเข้าร่วมปรึกษาและรับมอบหนังสือ
นางสาวปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ผู้อำนวยการองค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศระบุว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยเรียกร้องให้รัฐบาลไทยควรพิจารณาสนับสนุนแนวโน้มที่เกิดขึ้นในเวทีระหว่างประเทศในทางที่ยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยประกาศยุติการประหารชีวิตในทางปฏิบัติอย่างเป็นทางการโดยทันที เพื่อให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติแม่บทว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โดยมีเจตจำนงที่จะออกกฎหมายให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในท้ายที่สุด และให้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิต และให้ใช้โทษจำคุกตลอดชีวิตแทนภายในปี 2556 นอกจากนี้ ประเทศไทยควรให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับฉบับที่สองของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (Second Optional Protocol to the International Covenant on Civil and Political Rights)
ด้านคุณพรประไพ กาญจนรินทร์ อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยในปีนี้คิดว่าคงจะงดออกเสียงในประเด็นนี้ไปก่อน แต่ก็ยังมีความคืบหน้าในประเด็นดังกล่าว ซึ่งขณะนี้กระทรวงยุติธรรมได้จัดสรรงบประมาณจำนวนหนึ่งให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเป็นผู้รับผิดชอบ ในการว่าจ้างให้คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศึกษาวิจัยและการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนว่ามีความคิดเห็นอย่างไร หากมีการยกเลิกโทษประหารชีวิต ซึ่งผลการศึกษาจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายนปี 2556
WWF เรียกร้องรัฐบาลไทยยุติการค้างาช้างในประเทศ
ถ้อยแถลงของประธานาธิบดีบารัก โอบามา เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2555 ให้การยอมรับต่อความก้าวหน้าของประเทศไทย ในการจัดการต่อปัญหาการลักลอบค้าสัตว์ป่า แต่ในความเป็นจริงแล้วเราอาจไม่มีเวลามากพอสำหรับความยินดีชื่นชม เมื่อข้อเท็จจริงที่ปรากฎในปัจจุบัน คือ แต่ละปีช้างอัฟริกันหลายหมื่นตัวยังคงถูกฆ่าเอางา เพื่อป้อนตลาดค้างาช้างในเอเชีย เมื่อต้นปีที่ผ่านมา กองกำลังต่างชาติติดอาวุธบุกรุกอย่างอุกอาจเข้าไปในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแห่งหนึ่งในแคเมอรูนและสังหารช้างมากกว่า 300 ตัว ขณะที่ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่เป็นตลาดค้างาช้างที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ไม่มีข้อกำหนดทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด ความเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและส่งออกนำเข้าสินค้าที่สะดวกสบายยังหมายถึงการตกเป็นเป้าหมายของการลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นอาชญากรรมข้ามชาติที่มีการจัดการอย่างเป็นระบบระดับโลก
WWF มีความยินดีที่ประเทศไทยให้คำมั่นสัญญาต่อการจัดการปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ และ WWF ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใช้มาตรการเร่งด่วนเพื่อยุติการค้างาช้างในประเทศไทย
การลักลอบล่าสัตว์เพื่อการค้าข้ามชาติเพิ่มปริมาณมากขึ้นอย่างน่าตกใจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และปัจจุบันยังเป็นภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดต่อชนิดพันธุ์ที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์จำนวนมาก รวมถึงเป็นภัยต่องานอนุรักษ์ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมานานหลายทศวรรษ การไล่ล่าแรดในอัฟริกาใต้เพิ่มขึ้นมากกว่า 3000 เปอร์เซนต์ ระหว่างปี 2550 – 2554 ขณะที่ช้างอัฟริกันถูกฆ่าเอางาหลายหมื่นตัวในแต่ละปี และมีเสือเหลืออยู่ในป่าน้อยกว่า 3,200 ตัว การลักลอบค้าสัตว์ป่าจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่กำลังคุกคามความอยู่รอดของสัตว์ป่าหลายชนิด
ความต้องการผลิตภัณฑ์ที่มาจากชนิดพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของตลาดในเอเชียนั้นไม่สามารถคาดการณ์ได้ แต่ล้วนมีอุปสงค์เป็นตัวกระตุ้น ไม่ว่าจะเป็น งาช้าง นอแรด หรือ ชิ้นส่วนของเสือ เพื่อแสดงสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม
แม้หลายฝ่ายจะตระหนักถึงภัยคุกคาม มาตรการในการปราบปรามปัญหาการลักลอบค้าสัตว์ป่าและการลงโทษผู้กระทำความผิดยังไม่สอดคล้องกัน ผู้กระทำผิดภายใต้การบังคับใช้กฎหมายจำนวนมากที่ยังเชื่อว่า พวกเขาจะได้รับการเว้นโทษ หรือ หากถูกจับ จะได้รับโทษสถานเบา การลักลอบค้าสัตว์ป่าจึงเป็นธุรกิจผิดกฎหมายที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่ได้ผลกำไรสูง
WWF รณรงค์ต่อต้านการลักลอบการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายทั่วโลก โดยมีจุดประสงค์เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล และองค์กรระหว่างประเทศ ตระหนักว่าการลักลอบค้าสัตว์ป่าเป็นอาชญากรรมร้ายแรงและถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันปิดฉากกิจกรรมดังกล่าว
ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ค่าแรง 300 มีผลทั่วประเทศ 1 ม.ค.นี้
30 พ.ย.55 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 7) ซึ่งประกาศโดยนายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงานและประธานกรรมการค่าจ้าง ระบุ วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2555
ประกาศระบุว่า ด้วยคณะกรรมการค่าจ้างได้มีการประชุมศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่นตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2554 และมีมติเห็นชอบให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อใช้บังคับแก่นายจ้างและลูกจ้างทุกคน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 79 (3) และมาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 คณะกรรมการค่าจ้างจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกข้อ 3 - ข้อ 32 ของประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน
พ.ศ. 2554
ข้อ 2 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละสามร้อยบาท ในท้องที่จังหวัดกระบี่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยนาท ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง ตราด ตาก นครนายก นครพนม นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ นราธิวาส น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา พังงา พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ แพร่ พะเยา มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยะลา ยโสธร ร้อยเอ็ด ระนอง ระยอง ราชบุรี ลพบุรี ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สงขลา สตูล สมุทรสงคราม สระแก้ว สระบุรี สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อ่างทอง อุดรธานี อุทัยธานี อุตรดิตถ์ อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ
ข้อ 3 ประกาศคณะกรรมการค่าจ้างฉบับนี้ ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556 เป็นต้นไป
เปิดตัวคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน หลังดันกฎหมายไม่คืบหน้า
เปิดตัวคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ผ่านเวทีสาธารณะ "๑๕ ปี ที่ผลักดันองค์การอิสระ เมื่อไม่มีกฎหมาย ผู้บริโภคควรทำอะไร" ในวันศุกร์ที่ 30 พ.ย. 55 ณ โรงแรมที เค พาเลซ ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพ ฯ
นางสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล กรรมการ องค์การอิสระฯ ในฐานะผู้แทนเขต กล่าวว่า จากการที่เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคได้ร่วมกันรณรงค์ผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มาเป็นเวลากว่า ๑๕ ปี ตั้งแต่กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พ.ศ.๒๕๔๐ ถึงฉบับปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ก็ยังไม่คลอดออกมา และมีท่าทีจะทำให้เป็นกฎหมายที่พิกลพิกาลทำงานไม่ได้ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจึงได้ร่วมกันจัดให้มีคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อ การคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน จากการคัดเลือกกันเอง ขึ้นเมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๕ เพราะปัจจุบันผู้บริโภคยังประสบปัญหาการละเมิดสิทธิผู้บริโภคซ้ำซากที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย ไม่ว่าความไม่ปลอดภัยจากการโดยสารรถสาธารณะต่างๆ การเอาเปรียบผู้บริโภคจากการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมการเงินต่างๆ ความเหลื่อมล้ำของบริการสุขภาพหลายมาตรฐาน ความไม่รับผิดชอบของผู้ให้บริการฟิตเนสจนก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก
ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ กรรมการองค์การผู้บริโภคฯ ในฐานะผู้เชียวชาญด้านการเงิน การธนาคาร กล่าวว่า จากการพิจารณาเรื่องร้องเรียนในรอบปีที่ผ่านมา พบว่าเรื่องที่ร้องเรียนกว่าร้อยละ ๘๐ กระจุกตัวที่ ๓ เรื่อง เรื่องแรกเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมในการใช้บริการการเงิน ว่ามีอัตราค่าบริการที่สูงเกินควร หรือ มีการเก็บค่าบริการในอัตราที่ไม่ได้มีการแจ้งล่วงหน้า เช่น ในกรณีของการเก็บค่าธรรมเนียมในการถอนเงินจากตู้ ATM หรือค่าธรรมเนียมในการติดตามหนี้ซึ่งบางรายแจ้งว่าสูงถึง ๒,๐๐๐ บาท
เรื่องที่สอง คือ กรณีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ หรือ เงินผ่อนของ non-bank ที่สูงเกินควร
เรื่องที่สาม คือ การทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรมเป็น ผู้ร้องเรียนหลายรายแจ้งว่าถูกข่มขู่ หรือถูกประจานโดยผู้ที่ทวงหนี้โทรไปที่ทำงาน ในประเด็นนี้รัฐบาลควรผลักดันร่าง พ.ร.บ. การติดตามทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรม พ.ศ. .... ซึ่งได้รับความเห็นชอบจาก ครม. เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๕๕
‘วันความหลากหลายทางเพศ’ จี้ออกกฎหมายรับรองสถานภาพชีวิตคู่ LGBT
29 พ.ย. 55 เนื่องในวันความหลากหลายทางเพศ กรรมการสิทธิฯ ร่วมกับหลายองค์กร ร่วมรณรงค์กำจัดอคติทางเพศ เนื่องในวันสิทธิความหลากหลายทางเพศโดยจัดเวทีสาธารณะ ‘ก้าวต่อไปของสิทธิมนุษยชนกับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ’
ช่วงบ่ายของการสัมมนา “ก้าวต่อไปของสิทธิมนุษยชนกับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ” เป็นการนำเสนอปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายการสมรสและข้อเสนอกฎหมายรับรองสถานะชีวิตคู่ โดยมีผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วย ทินกิจ นุตวงษ์ นักวิจัยอิสระ, รณภูมิ สามัคคีคารมย์ นักวิชาการประจำศูนย์ศึกษานโยบายสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล, ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ กลุ่มสะพาน, ไพศาล ลิขิตปรีชากุล มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ
นเวทีดังกล่าวมีการระบุว่ากฎหมายของไทยกำหนดให้คู่สมรสต้องเป็นชายกับหญิงเท่านั้น ทำให้ครอบครัวของผู้ที่มีเพศทางสรีระเหมือนกันไม่ได้รับการยอมรับในการใช้ชีวิตคู่ และมองว่าเป็นเรื่องอับอายและกลัวว่าจะไม่มีลูกให้สืบสกุล ซ้ำยังด่าว่า เสียดสี หรือบังคับให้บวชซึ่งถือว่าเป็นการทำร้ายจิตใจอย่างรุนแรง นำไปสู่ความรุนแรงอย่างกว้างขวางจากบุคคลรอบตัว การล่วงละเมิดทางเพศ ทุบตีหรือทำร้ายจนเสียชีวิตก็มีให้เห็นบ่อยครั้งในหน้าสื่อ
และการที่ไม่สามารถแต่งงานกันได้นี้ก็ทำให้ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางกฎหมายและทางสังคมจากการเป็นคู่สมรสได้ เช่น สิทธิในผลประโยชน์จากการทำประกันภัย สิทธิในกรณีคู่สมรสเป็นข้าราชการ การแบ่งทรัพย์สินกันตามกฎหมายครอบครัว
การรณรงค์กฎหมายรับรองสถานภาพชีวิตคู่จึงไม่เพียงช่วยรับรองชีวิตคู่ของ LGBT เท่านั้น แต่ยังสามารถเป็นกลไกทางสังคมประการหนึ่งที่ช่วยทำลายอคติ สร้างความรู้ความเข้าใจที่ดีขึ้นในตัวตนทางเพศของ LGBT นอกจากนี้ต้องมีมาตรการทางสังคมอื่นๆ เพื่อสร้างความยอมรับของคนในสังคมต่อการใช้ชีวิตคู่ของ LGBT ซึ่งปัจจุบันมีการวางแนวทางปฏิบัติไว้แล้ว แต่ยังไม่มีคณะทำงานที่ชัดเจนและหลากหลาย
เปิดคำสั่งศาลอาญา เพิกถอนประกัน"ก่อแก้ว พิกุลทอง"
30 พ.ย.2555 เวลา15.30น.ศาลได้มีคำสั่งเพิกถอนการประกันตัวของนายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. เหตุขึ้นเวทีกล่าวปราศรัยโจมตีศาล ส่วนสส.พรรคเพื่อไทยแกนนำ นปช. อีก 4 คนรอด แต่ศาลเพิ่มเงื่อนไขห้ามขึ้นเวที ยุยงปลุกปั่น ห้ามออกนอกประเทศ
โดยศาลเห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2555 จำเลยแถลงข่าวที่อาคารรัฐสภาต่อหน้าสื่อมวลชน ถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.291 ว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ ในทำนองว่า
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะไม่เลวร้ายเกินไป ทั้งนี้ หากศาลมีคำวินิจฉัยออกมาเลวร้ายที่สุดว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง ตนก็ได้มีการเตรียมตัวโดยให้คนรู้จักเบิกเงินสด ตุนน้ำ ตุนยา หยุดการลงทุน หยุดงาน บอกครอบครัว เพื่อรองรับสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ถ้าคำวินิจฉัยออกมาเลวร้ายที่สุดก็ต้องสู้แตกหักอย่างเดียว ซึ่งต่อมาถ้อยคำดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ออกไปเป็นวงกว้างทั้งทางหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และทางอินเตอร์เน็ต
ถ้อยคำที่จำเลยกล่าว เป็นถ้อยคำที่มุ่งเน้นไปยังผลร้ายที่จะเกิดขึ้นต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไปในทางที่ตนเองไม่เห็นชอบด้วย เป็นการแสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่ 5 ได้อย่างชัดเจนที่ต้องการข่มขู่คุกคามและกดดันการปฏิบัติหน้าที่ของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่วิพากษ์วิจารณ์การทำงาน
เป็นการกล่าวข้อความยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม ทั้งต่อมวลชนฝ่ายตนเองและฝ่ายตรงข้ามให้เกิดความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่อง ถึงขนาดที่จะทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในราชอาณาจักร หรือให้ประชาชนละเมิดต่อกฎหมายแผ่นดิน อันเป็นการกระทำที่ผิดเงื่อนไขที่ศาลมีคำสั่งไว้ และยังถือได้ว่าจำเลยที่ 5 อาจก่อให้เกิดอันตรายประการอื่น จึงยังไม่แน่ว่าหากศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 5 ต่อไป จำเลยที่ 5 จะไปกล่าวหรือแถลงข้อความในทำนองยั่วยุ ปลุกปั่น อย่างใดอีก
กรณีมีเหตุสมควรที่จะมีคำสั่งให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 5 จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 5 หมายขังจำเลยที่ 5 ไว้จนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
วันเอดส์โลก ผู้ติดเชื้อ HIV ร้องหยุดละเมิดสิทธิและเลือกปฏิบัติ
1 ธันวาคม 55 เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ร่วมกับคณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.) จัดกิจกรรมรณรงค์ “มีเอชไอวีก็เรียนได้ ทำงานได้” หยุดการตีตราและเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี เริ่มที่เรา...เราทำได้ ที่สถานีขนส่งหมอชิต เนื่องในวันเอดส์โลก
นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ เรียกร้องทุกภาคส่วนให้หยุดละเมิดสิทธิ หยุดการตีตรา และเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อฯ ให้เป็นศูนย์ โดยขอให้
1.หน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนทุกแห่งต้องไม่บังคับตรวจเลือดเอชไอวีทั้งก่อนและระหว่างการทำงาน
2.สถาบันการศึกษาทุกแห่งต้องไม่ใช้เหตุผลของการมีเชื้อเอชไอวีมาลิดรอนสิทธิด้านการศึกษา และต้องไม่บังคับตรวจเลือดเอชไอวีไม่ว่าในกรณีใดทั้งสิ้น
3. รัฐบาลต้องส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และสร้างความเข้าใจในการป้องกันการรับและถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีว่าเป็นหน้าที่ของทุกคน ไม่ใช่ผลักภาระให้กับผู้ติดเชื้อฯ เพียงลำพัง รวมทั้งส่งเสริมความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์