ครม. เห็นชอบยกเลิกกฎหมายล้าสมัย 5 ฉบับ
นพ.ทศพร เสรีรักษ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมครม.ว่า ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยกเลิกกฎหมายบาฉบับที่ไม่มีความจำเป็นและซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น รวม 5 ฉบับ ได้แก่ 1.ยกเลิก พ.ร.บ.ควบคุมการเช่าเคหะ และที่ดิน พ.ศ.2504 2.ยกเลิกพ.ร.บ.สถานสินเชื่อท้องถิ่น พ.ศ.2518 เนื่องจากไม่มีสภาพบังคับใช้ รวมถึงมีความซ้ำซ้อนกับพ.ร.บ.โรงรับจำนำ พ.ศ.2504 3.ยกเลิก พ.ร.บ.การประกอบอาชีพงานก่อสร้าง พ.ศ.2522 เนื่องจากมี พ.ร.บ.วิศวกร พ.ศ.2542 ใช้บังคับอยู่แล้ว 4.ยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 45 ที่ระบุถึงการจำกัดเวลาเปิด - ปิด ของสถานโบว์ลิ่ง สถานเล่นสเก๊ต ร้านขายอาหารหรือเครื่องดื่ม เนื่องจากขณะนี้มีพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2543 ได้บัญญัติยกเลิกพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันอันตรายที่เกิดจากการเล่นมโหรสพ พ.ศ.2464 ดังนั้นประกาศดังกล่าวถือว่ามีความล้าสมัยมากแล้ว 5.ยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 253 ว่าด้วยการกำหนดเวลาการจำหน่ายสุราและดื่มสุรา ณ สถานที่ขายสุราและกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืน เนื่องจากปัจจุบันมี พ.ร.บ.สุรา พ.ศ.2493 และ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มีเนื้อหาครอบคลุมเรื่องเวลาการขายสุรา สถานที่ไว้แล้ว
ที่มา : สำนักข่าวเนชั่น
ทีมกม.ปชป.ขู่รบ.เดินหน้าโหวตรธน.วาระ 3
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา ในฐานะหัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเตรียมเดินหน้าโหวตร่างแก้ไข รัฐธรรมนูญ ในวาระ 3 ว่า เป็นเรื่องที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ตามมาตรา 291 เพราะศาลได้วินิจฉัยแล้วว่าการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับถือเป็นการล้มล้างให้ได้มาซึ่งอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ ดังนั้นหากรัฐบาลเดินหน้าโหวตรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ทางพรรคประชาธิปัตย์ ก็พร้อมเดินหน้ายื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกครั้ง ทั้งนี้การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และหากยังเดินหน้าพรรคประชาธิปัตย์จะดำเนินการตามกรอบกฎหมายที่มีอยู่ รวมทั้งจะยื่นถอดถอนผู้ที่ลงรายชื่อสนับสนุนด้วย
อ่านเพิ่มเติม: สำนักข่าวเนชั่น
ภรรยา 'สุรชัย แซ่ด่าน' ล่ารายชื่อถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ นักโทษคดี 112
2 ธ.ค.55 นางปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยาของนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (แซ่ด่าน) ผู้ต้องโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามมาตรา 112 ได้รณรงค์ล่ารายชื่อเพื่อถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้กับนายสุรชัยและผู้ต้องโทษในคดีเดียวกันที่คดีเด็ดขาดแล้ว โดยยืนยันว่าการกระทำความผิดของคนเหล่านี้เกิดจากความสับสนทางความคิดที่เป็นผลมาจากสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบันมีการแบ่งฝ่ายแตกแยกอย่างรุนแรง และผู้กระทำผิดได้รู้สึกสำนึกเสียใจต่อการกระทำแล้ว
โดยนายสุรชัยเป็นผู้ต้องโทษเด็ดขาดคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมโทษจำคุก 12 ปี 6 เดือน (5 คดี คดีละ 2 ปี 6 เดือน) และได้รับการลดโทษจาก พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษพ.ศ.2555 จึงเหลือโทษจำคุก 10 ปี 9 เดือน
นางปราณี เปิดเผยถึงการรณรงค์ล่ารายชื่อว่า กิจกรรมนี้เป็นความต้องการของนักโทษคดี ม.112 และคุณสุรชัยด้วย โดยตนได้เริ่มล่ารายชื่อมาตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยตอนนี้ยังได้รายชื่อมาเพียงร้อยกว่าชื่อ เพราะได้ส่งแบบฟอร์มล่ารายชื่อไปหลายที่แล้ว แต่ยังไม่ได้กลับคืน โดยตั้งเป้าไว้ประมาณ 500 ชื่อ แล้วจึงส่งไปยังสำนักพระราชวังในครั้งแรกก่อนประมาณต้นปีหน้า จากนั้นจะดำเนินการล่ารายชื่อเพื่อส่งไปเป็นระยะๆ
สำหรับผู้ที่สนใจร่วมลงชื่อนั้น นางปราณี กล่าวว่าสามารถร่วมลงชื่อได้โดยการถ่ายแบบฟอร์มล่ารายชื่อ(ดูล้อมกรอบด้านล่าง) พร้อมลงชื้อแล้วส่งมาตามที่อยู่ “คุณปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ 57/107 ม.2 ซ.จุฬาเกษม 12 ถ.งามวงศ์วาน ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000” หรือมาเจอกับตนที่กิจกรรมของปฏิญญาหน้าศาลทุกบ่ายวันอาทิตย์
ที่มา : ประชาไท
ศธ.เล็งยกร่างทรงผมน.ร.ใหม่ ชี้เด็กชายสั้นเกรียน-หญิงสั้นติ่งหู กระทบสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล
นางศิริพร กิจเกื้อกูล รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธานคณะทำงานพิจารณาข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับแบบทรงผมของนักเรียน นักศึกษา เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะทำงานได้พิจารณากรณีสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับการร้องเรียนจากนักเรียนและผู้ปกครอง ว่าการที่ ศธ.กำหนดทรงผมของนักเรียนคือ นักเรียนชายต้องตัดผมสั้นเกรียน และนักเรียนหญิงต้องตัดผมสั้นเห็นติ่งหู กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และบางโรงเรียนได้อนุโลมให้นักเรียนที่เรียนนาฏศิลป์สามารถไว้ผมยาวได้ เป็นการเลือกปฏิบัติ
"คณะทำงานได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเรื่องนี้มีกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความประพฤตินักเรียนหลายฉบับ เรื่องทรงผมก็เป็นเรื่องหนึ่งและโรงเรียนสามารถพิจารณาตามความจำเป็นได้อยู่แล้ว ดังนั้น จึงมีมติให้ไปรวบรวมกฎระเบียบและยกร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่ให้เหลือเพียงฉบับเดียว โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และประโยชน์สูงสุดของนักเรียน รวมทั้งสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งในเรื่องที่เกี่ยวกับนักเรียนนักศึกษานั้น อาจจะมีการแยกเป็นรายละเอียดของระดับชั้นว่า ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษาควรเป็นอย่างไร โดยจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมครั้งต่อไป
ที่มา: มติชนรายวัน
ก.แรงงาน เตรียมประกาศรองรับคนงานพ่อลูกอ่อนลาเลี้ยงลูกได้ ธ.ค.นี้
เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.55 ASTVผู้จัดการออนไลน์ รายงาน นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่มีข้อเสนอของหน่วยงานรัฐและเอกชน ขอให้กระทรวงแรงงาน แก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยกำหนดให้ลูกจ้างชายสามารถลางานได้ถึง 90 วันติดต่อกัน เพื่อช่วยภรรยาเลี้ยงลูกที่เพิ่งคลอดนั้นว่า ยอมรับว่าข้อเสนอดังกล่าวทำได้ยาก เพราะกระทรวงแรงงานไม่สามารถไปบังคับสถานประกอบการให้ทำตามได้ อีกทั้งข้อเสนอที่จะให้แก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าวก็ต้องใช้เวลานาน เพราะฉะนั้น ก.แรงงาน ได้เตรียมออกเป็นประกาศกระทรวงแรงงาน เพื่อรองรับเรื่องนี้แทน ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้มอบให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ไปจัดทำร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง ขอความร่วมมือสถานประกอบการอนุญาตให้ลูกจ้างลาไปช่วยเหลือภรรยาที่คลอดบุตร ซึ่งต้องเป็นภรรยาที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย
ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานยังกล่าวด้วยว่า เรื่องดังกล่าวต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของนายจ้างว่าจะอนุญาตให้ลาได้กี่วันโดย หากเป็นไปได้ตนอยากขอความร่วมมือสถานประกอบการเปิดโอกาสให้ลูกจ้างชายสามารถขอลาหยุดงานได้ 15 วันติดต่อกัน เช่นเดียวกับข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ เพื่อไปช่วยภรรยาที่เพิ่งคลอดบุตรเลี้ยงลูก ทั้งนี้ คาดว่า ร่างประกาศฉบับดังกล่าวจะเริ่มประกาศใช้ได้ภายในเดือนธันวาคม 2555 นี้
จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานที่เคยรณรงค์เรียกร้องสิทธิในการลาคลอดของคนงานชายทั้งต่อรัฐและบริษัท และเป็นสหภาพฯที่สมาชิกส่วนใหญ่หลายพันคนเป็นผู้หญิง กล่าวถึงความสำคัญของสิทธิในการลาคลอดของคนงานชายว่า เนื่องจากในสังคมคนงานหรือในเมือง คนงานมักอยู่กันแบบครอบครัวเดี่ยว มีเพียง สามี-ภรรยา ดังนั้นเวลาที่ผู้หญิงคลอดลูกคนที่จะเป็นผู้ช่วยได้ดีก็คือคนที่เป็นสามี อีกทั้งการที่สามีคอยดูแลยังเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ในครอบครัวด้วย ทางสหภาพฯ จึงเห็นความสำคัญของสิทธิตรงนี้จึงได้เคยเรียกร้องต่อทั้งบริษัทและรัฐบาลในอดีต
ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ เห็นด้วยกับข้อเสนอของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่จะมีการประกาศรับรองคนงานชายลาคลอดได้ เพราะถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่รัฐบาลเห็นความสำคัญของคนงานที่มีปัญหาตรงนี้ และถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะเรียกร้องจำนวนวันลาเพิ่มในอนาคต แต่ในเบื้องต้นอยากให้กระทรวงประกาศกำหนดจำนวนวันลาได้ไปเลย เช่น 15 วันให้เสมอภาคกับข้าราชการ ไม่ใช่ให้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของนายจ้าง เพราะถ้าคนงานที่ไหนอำนาจต่อรองน้อยก็อาจจะไม่ได้วันลาเลยก็ได้
ส่วนเงื่อนไขที่จะได้สิทธิในการลาจะได้ก็ต่อเมื่อได้จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายนั้น จิตรา มองว่า น่าจะใช้หลักเกณฑ์ของประกันสังคมที่ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียน แต่ถ้าอยู่กันอย่างเปิดเผยโดยพฤตินัยก็น่าจะรับสิทธิได้ เพราะส่วนมากในสังคมคนงานจะอยู่ด้วยกันโดยไม่จดทะเบียนสมรส
ทั้งนี้สำหรับสิทธิการลาคลอดของข้าราชการชายที่ว่านั้น ได้มีการปรับแก้ตามพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บําเหน็จ บํานาญ และเงินอื่น ในลักษณะเดียวกัน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2555(คลิกอ่านทั้งฉบับ) ของข้าราชการ ที่พึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 19 ก.ย. 55 ที่ผ่านมา ระบุสิทธิข้าราชการชายที่สามารถลาไปช่วยภรรยาที่คลอดบุตรได้ 15 วัน ภายใน 30 วันหลังคลอด โดยได้รับเงินเดือนระหว่างลา จากมาตรา 28/1 ระบุว่า “ข้าราชการซึ่งลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตรภายในสามสิบวันนับแต่วัน ที่ภริยาคลอดบุตร ให้ได้รับเงินเดือนระหว่างลาได้ไม่เกินสิบห้าวันทําการ แต่ถ้าเป็นการลาเมื่อพ้นสามสิบวันนับแต่วันที่ภริยาคลอดบุตร ไม่ให้ได้รับเงินเดือนระหว่างลา เว้นแต่ผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ตําแหน่งอธิบดีหรือตําแหน่งเทียบเท่าขึ้นไปเห็นสมควรจะให้จ่ายเงินเดือนระหว่างลานั้นก็ได้ แต่ไม่เกินสิบห้าวันทําการ”
อ่านเพิ่มเติม: ประชาไท
สปส.เสนอขยายอายุผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เป็น 60 ปี
นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม หรือ สปส. กล่าวถึงการแก้ไขกฎหมายประกันสังคม เพื่อขยายอายุแรงงานนอกระบบ ที่จะเข้าสู่ระบบประกันสังคมมาตรา 40 จากปัจจุบัน 55 ปี เป็นไม่เกิน 60 ปี ให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่ประกันสังคมเพิ่มขึ้น ว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับแก้ไข ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว รอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และสภาผู้แทนราษฎร
ทั้งนี้ ระบบประกันสังคมมาตรา 40 ให้แรงงานนอกระบบเข้าร่วมตามความสมัครใจ โดยแบ่งเป็นทางเลือกแรก จ่ายเงินสมทบ 100 บาทต่อเดือน ผู้ประกันตนจ่ายเอง 70 บาท รัฐบาลจ่าย 30 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์ ได้แก่ 1.เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย 200 บาทต่อวัน แต่ไม่เกิน 20 วันต่อปี 2.เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ 500-1,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 15 ปี 3.ค่าทำศพกรณีตาย 2 หมื่นบาท
ส่วนทางเลือกที่ 2 นอกจากได้รับสิทธิประโยชน์ใน 3 กรณีข้างต้นแล้ว ยังเพิ่มอีก 1 กรณี คือเงินบำเหน็จชราภาพ จากเงินที่ออมขั้นต่ำ 50 บาทต่อเดือน พร้อมดอกผล
ที่มา : เอเอสทีวีผู้จัดการ
สตช.ตั้งจเรตำรวจแห่งชาติสอบกรณี ตร.ทำร้ายสื่อ
เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร.ฝ่ายกฎหมายและสอบสวน เป็นประธานการประชุมกรณีสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในการสลายการชุมนุมองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) ซึ่งมีการจับกุมสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ เมื่อวันที่ 24 พ.ย. ที่ผ่านมาโดยใช้การประชุมนานกว่า 1 ชั่วโมง
พล.ต.อ.เอกกล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาข้อร้องเรียนจากสมาคมดังกล่าวใน 3 ประเด็น คือ 1. ให้ดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีการจับกุมสื่อมวลชนขณะทำหน้าที่บริเวณสะพานมัฆวานฯ 2. ให้เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการจับกุม 3. ให้ออกระเบียบการปฏิบัติการหน้าที่ของตำรวจระหว่างสื่อมวลชน
พล.ต.อ.กล่าวต่อว่า ประเด็นแรกได้รับรายงานจากผู้แทนของกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พบว่าทั้ง 3 คนได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้งแล้ว ซึ่งตรงนั้นเป็นคดีอาญาส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งที่ประชุมได้เสนอให้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. พิจารณาในการตั้ง พล.ต.อ.อัมรินทร์ อัครวงศ์ จเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.) เป็นหัวหน้าคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเป็นไปตามที่สื่อร้องเรียนหรือไม่ หาก ผบ.ตร.เซ็นอนุมัติแล้วตรงนี้จะมีจำกัดในการไม่ให้ผู้แทนสื่อมวลชนเข้าไปร่วมสืบสวนด้วย อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าทั้ง 2 ส่วน ทั้งการดำเนินการในคดีอาญา และการสืบสวนข้อเท็จจริงของ จตช.จะไม่มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การปฏิบัติหน้าที่จะพยายามให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ตรงไปตรงมา โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 30 วัน
ทั้งนี้ หากสื่อมวลชนมีภาพข่าวที่สามารถเห็นเหตุการณ์ได้ชัดเจนมากกว่าที่ตำรวจมีก็สามารถนำมาให้คณะกรรมการได้ และคณะกรรมการเองจะเชิญสื่อมวลชนที่ถูกจับกุมมาให้ปากคำด้วย หลักจากการสืบสวนเสร็จสิ้นพร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบสำนวนได้
พล.ต.อ.เอกกล่าวต่อในประเด็นการเยียวยาผู้เสียหายว่า จะต้องได้ข้อเท็จจริงจากการสืบสวนของคณะกรรมการก่อนว่าเกิดความเสียหายอย่างไร ทั้งอาการบาดเจ็บที่ใด ใครเป็นผู้กระทำ อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถระบุได้ว่าตำรวจนายใดเป็นผู้กระทำ ตร.ก็มีระเบียบหากเจ้าหน้าที่ละเมิดทำให้ผู้อื่นเกิดความเสียหายต่อผู้หนึ่งผู้ใด สำหรับการออกระเบียบปฏิบัติกับสื่อมวลชนนั้นจะมีการหารือกับนายกสมาคมของสื่อมวลชนในโอกาสต่อไป ซึ่งแนวทางหลักก็คือ การติดสัญลักษณ์ของสื่อมวลชนให้ปรากฏอย่างเด่นชัด ไม่ต้องมานั่งดูบัตรสื่อมวลชน
ที่มา : เอเอสทีวีผู้จัดการ
2 สื่อยัน ผู้ชุมนุมไม่มีท่าทีคุกคาม จนท.ไม่ประกาศใช้แก๊สน้ำตาก่อนสลาย 'ม็อบเสธอ้าย'
เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 55 นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหาในฐานะ คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภคและคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาธิบาล วุฒิสภา กล่าวว่า หลังสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสมาคมนักข่าววิทยุ และโทรทัศน์ไทย ยื่นเรื่อง ให้ กมธ. สิทธิมนุษยชนฯตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการคุกคามการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ในเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) เมื่อวันที่ 24 พ.ย. ซึ่งเจ้าหน้าที่ ได้ใช้แก๊สน้ำตากับกลุ่มผู้ชุมนุม และสื่อมวลชน ทั้งสองคณะกรรมาธิการฯ มีมติตั้งคณะอนุกรรมการร่วมกันฝ่ายละ 5 คน มีตนเป็นประธานฯ และยังมีนักวิชาการ นักกฎหมาย และนักสิทธิมนุษยชนร่วมด้วย ซึ่งในการประชุมอนุกรรมาธิการครั้งแรกวันนี้ได้เชิญผู้สื่อข่าว คือ ช่างภาพจาก TPBS และหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันมาเป็นผู้ให้ข้อมูล
นายพัฒนศักดิ์ วรเดช ช่างภาพ TPBS และ นาย สันติ เต๊เตี๊ยะ จากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ได้ให้ข้อมูลสอดคล้องกันว่า ในวันที่ 24 พ.ย.55 ขณะเกิดเหตุบริเวณสะพานมัฆวาน กลุ่มผู้ชุมนุมพยายามตัดลวดหนามและระหว่างที่ผู้ชุมนุมจะฝ่าเข้าไปที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามให้ผู้ชุมนุมใช้เส้นทางอื่นในการเข้าไปร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมหลักบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า แต่ผู้ชุมนุมดึงดันไม่ยอม ยืนยันจะเข้าไปทางนี้ให้ได้ จากนั้นจึงมีการขว้างแก๊สน้ำตาเข้าใส่ผู้ชุมนุม ซึ่งทั้งสองพยายามจะวิ่งฝ่าเข้าไปหาตำรวจเพื่อความปลอดภัยของตัวเองแต่ก็ถูกทำร้ายโดยกระบอง และกล้องก็หายจากมือไป ในระหว่างนั้นทั้งสองพยายามตะโกนบอกเจ้าหน้าที่ว่าเป็นนักข่าวอยู่ตลอดเวลา แต่สุดท้ายก็ถูกจับกุมโดยถูกขังรวมกับผู้ชุมนุมอื่นๆ โดยบนรถคุมตัวมีนักข่าว 3 คน เป็นนักข่าวจาก DNN อีกหนึ่งคน ที่คุมขังในรถมีสภาพอึดอัดมากเพราะไม่มีอากาสหายใจ
"พยายามตะโกนว่าเป็นสื่อแต่ไม่มีใครฟัง ทั้งๆที่พยายามโชว์บัตรนักข่าวให้เจ้าหน้าที่ดูด้วย" ผู้ให้ข้อมูลคนหนึ่งกล่าว และว่าจนกระทั่งมีนักข่าวจากทำเนียบรัฐบาลกับนักข่าวจากสำนักข่าวของตัวเองมายืนยันจึงได้รับการปล่อยตัวหลังจากนั้น 1 ชั่วโมง
ทางคณะกรรมาธิการได้ตั้งคำถามถึงประสบการณ์ในการทำข่าวในพื้นที่การชุมนุม ทั้งสองยืนยันว่ามีประสบการณ์และเข้าใจในขั้นตอนการทำงานของเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีการประกาศว่าจะมีการใช้แก๊สน้ำตาแต่อย่างใด นอกจากนี้ ยังมีการระบุว่า แก๊สน้ำตาที่ผู้ชุมนุมนำมาขว้างใส่ตำรวจนั้นเป็นแก๊สน้ำตาที่ตำรวจปาเข้ามาแล้วผู้ชุมนุมปากลับไปแต่ทิศทางลมไม่เป็นใจทำให้ควันส่วนใหญ่พัดไปทางฝั่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั่นเอง และในขณะที่มีการปาแก๊สน้ำตารถของผู้ชุมนุมยังไม่สามารถเข้าถึงบริเวณที่ตำรวจประจำอยู่เลย
ในระหว่างการให้ข้อมูล คณะอนุกรรมาธิการพยายามถามคำถามเกี่ยวกับการลำดับเข้าจัดการกับผู้ชุมนุมว่า มีการเจรจา การฉีดน้ำ การเปิดรถคลื่นเสียง หรือการประกาศจะมีการใช้แก๊สน้ำตาต่อผู้ชุมนุมหรือไม่ ทั้งสองยืนยันว่า ไม่มีขั้นตอนดังกล่าวและผู้ชุมนุมไม่ได้มีท่าทีเป็นภัยต่อความมั่นคง ไม่ได้ตระเตรียมการเข้าไปทำร้ายบุคคลสำคัญของรัฐบาลแต่อย่างใด และเมื่อคณะอนุกรรมาธิการพยายามจะถามเรื่องทัศนคติของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อผู้ชุมนุมและการปลุกระดมจากแกนนำของทั้งสองฝ่าย ช่างภาพจากสองสำนักข่าว กล่าวว่า จากจุดที่อยู่ไม่มีการพูดปลุกระดมจากทั้งสองฝ่ายแต่อย่างใด
นายสันติ ช่างภาพจากผู้จัดการายวัน ระบุถึงปัญหาในที่ชุมนุมอีกว่า อาจจะมีการเข้าใจผิดเพราะทางผู้ชุมนุมได้แจกปลอกแขนให้แก่สื่อมวลชนเป็นสีเหลือง ซึ่งเหมือนกับของการ์ด จึงอาจจะก่อให้เกิดความสับสนของเจ้าหน้าที่ได้ ก่อนจบการให้ข้อมูล ประธานคณะอนุกรรมาธิการได้ขอให้ทั้งสองนำภาพถ่ายวีดีโอจากกล้องของตัวเองมาให้กับคณะอนุกรรมาธิการและให้เจ้าหน้าที่ประสานงานกับ กทม.เพื่อขอข้อมูลจากกล้อง CCTV ด้วย ทั้งนี้ ในการตรวจสอบครั้งต่อไปจะได้เชิญ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและนักข่าวอื่นๆที่เป็นพยานในที่เกิดเหตุมาให้ปากคำในวันที่ 11 ธันวาคม 2555
ที่มาภาพและข่าว: เว็บไซต์ข่าวรัฐสภาถึงประชาชน (ผ่านประชาไท)
ผบ.ทบ.สั่งปรับแผน รปภ.ครูใต้ ขอความร่วมมือคนพื้นที่ดูแล-แจ้งเบาะแส
เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) เมื่อเวลา 16.00 น. พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก แถลงภายหลังการประชุมผู้บังคับหน่วยขึ้นตรงกองทัพบกที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. เป็นประธานการประชุมว่า ผบ.ทบ.ได้แสดงความห่วงใยการดูแลกำลังพลที่ปฏิบัติงานในทุกพื้นที่ โดยให้ทุกหน่วยคำนึงความปลอดภัยของกำลังพลเป็นสำคัญ พร้อมกำชับให้ดูแลการฝึกทหารใหม่อย่างใกล้ชิด และให้เป็นไปตามมาตรฐานการฝึก ป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บ รวมถึงการดูแลด้านสุขภาพ ส่วนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ผู้บัญชาการทหารบกระบุว่า ยังคงเน้นให้เจ้าหน้าที่ใช้หลักกฎหมาย และการสร้างความเข้าใจเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม จากการที่รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย และยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ (กปต.) ซึ่งมีทุกภาคส่วน ทุกกระทรวง ทบวง กรม เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา น่าจะส่งผลให้การแก้ปัญหาในอนาคตมีทิศทางที่ดีขึ้น
พ.อ.วินธัย กล่าวถึงเรื่องแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ผบ.ทบ. ยังคงเน้นให้เจ้าหน้าที่ใช้หลักกฎหมาย และการสร้างความเข้าใจเป็นสำคัญ ทั้งนี้ จากการที่รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย และยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ (กปต.) ซึ่งมีทุกภาคส่วน ทุกกระทรวง ทบวง กรม เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา น่าจะส่งผลให้การแก้ปัญหาในอนาคตมีทิศทางที่ดีขึ้น เมื่อถามว่า ผบ.ทบ.ได้มีการสั่งให้หน่วยงานในพื้นที่ปรับแผนการรักษาความปลอดภัยครูหรือไม่ พ.อ.วินธัย กล่าวว่า ผบ.ทบ.ได้สั่งให้ปรับแผนโดยให้สอดคล้องกับความต้องการของบุลากรทางการศึกษา ซึ่งได้มีการหารือร่วมกันก่อนหน้านี้ แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ที่ต้องช่วยกันดูแลปกป้องครู เป็นหูเป็นตาให้เจ้าหน้าที่ และแจ้งเบาะแสให้เจ้าหน้าที่ด้วย
ที่มา : เอเอสทีวีผู้จัดการ
เครือข่ายเฝ้าระวังพิทักษ์ฯ สถาบัน จี้นายกเอาผิด ม.112 บุคคลจากคลิป เสธ.อ้าย
เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มเครือข่ายเฝ้าระวังพิทักษ์และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ จากกรุงเทพมหานคร และ จ.ราชบุรี ประมาณ 40 คน นำโดยนายธานินทร์ พันธ์ประภากิจ ผู้ประสานงานเครือข่าย เข้าร้องเรียน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กรณีให้เร่งรัดดำเนินการทางกฎหมายกับกลุ่มคนที่พูดจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ จากการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามที่นำโดย พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือเสธ.อ้าย ประธานองค์การ เมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยช่วงหนึ่งของการชุมนุมมีการเปิดคลิปวิดีโอที่ปรากฏกลุ่มบุคคลพูดจาจาบจ้วงละเมิดสถาบัน ซึ่งกลุ่มบุคคลดังกล่าวมีความเกี่ยวข้อง และมีความสัมพันธ์กับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และพรรคเพื่อไทย ซึ่งรัฐบาลกลับไม่ดำเนินการใดๆ ต่อบุคคลกลุ่มนี้
โดยคลิปดังกล่าวมีพฤติกรรมจาบจ้วงใน 2 ลักษณะ คือ บุคคลที่มีพฤติกรรมกระทบกระเทือน เปรียบเปรยที่มีเจตนาให้คนฟังเข้าใจว่าหมายถึงบุคคลใด แต่ไม่เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เช่น พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และนายจุตพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่ม นปช. กลุ่มที่ 2 บุคคลที่กระทำความผิดตามมาตรา 112 ชัดเจน เช่น นายชูพงศ์ ถี่ถ้วน นายใจ อึ๊งภากรณ์ นักวิชาการคนเสื้อแดง และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ
นายธานินทธ์กล่าวว่า สิ่งที่พวกตนยอมไม่ได้ คือ การปล่อยให้มีการจาบจ้วงสถาบันเกิดขึ้น ในฐานะที่นายกฯ มีหน้าที่โดยตรงในการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ หลังจากนี้จะติดตามการดำเนินการของรัฐบาลภายใน 30 วัน หากไม่มีการดำเนินการต่อกลุ่มบุคคลดังกล่าว ทางเครือข่ายฯ จะเดินทางมาชุมชุมอีกครั้ง และขอย้ำว่าเรามีหมัดเด็ดในการชุมนุมครั้งต่อไปถ้าหากรัฐบาลยังไม่ดำเนินการอะไร
นายสมภาส นิลพันธ์ ผอ.ศูนย์บริการประชาชนสำนักปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับหนังสือร้องเรียนดังกล่าว พร้อมระบุว่าจะนำหนังสือร้องเรียนไปยื่นต่อนายกฯ ภายในวันนี้ และขอให้ผู้ชุมนุมทั้งหมดเดินทางกลับ
ที่มา : เอเอสทีวีผู้จัดการ
จี้กสทช.ออกกฎคุมคลิปในละครทีวี
เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 55 นางสาวรัตติยา อาจหาญ แกนนำเครือข่ายสื่อเพื่อเด็กเยาวชนและครอบครัว พร้อมด้วยมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา และภาคีเครือข่ายกว่า30คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ พันเอก ดร. นที ศุกลรัตน์ ประธานกรรมการ กสทช. เพื่อขอให้เร่งออกมาตรการควบคุมละคร ที่มีฉากการกระทำผิดกฎหมาย รวมถึงการช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงจากการแอบถ่าย และการใช้คลิปในรูปแบบดังกล่าว
นางสาวรัตติยา กล่าวว่า อิทธิพลของสื่อ และตัวละครในโทรทัศน์มีผลต่อเด็กเยาวชนอย่างมาก ละครแต่ละตัวสามารถชี้นำและกระตุ้นการเลียนแบบพฤติกรรมโดยที่เด็กรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และล่าสุดพบว่าในละครโทรทัศน์ จะมีฉากนำเสนอตอกย้ำเรื่องการฟอร์เวอร์ดคลิป เจาะระบบ ปล่อยคลิปประจานแบล็คเมล์ หรือที่เรียกกันว่า “สงครามคลิป” ให้เห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดา สามารถทำได้ โดยไม่มีข้อความคำเตือนใดๆ อาทิในละครเรื่อง“แรงเงา”ทาง ช่อง 3 ที่พึ่งจบไป จึงมีความสุ่มเสี่ยงอย่างมากที่จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ว่าเป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย เกิดพฤติกรรมเลียนแบบโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนซึ่งยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอ ไม่ได้ผ่านการวิเคราะห์ แยกแยะจึงถือเป็นการชี้นำที่อันตราย
นางสาวรัตติยา กล่าวว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้น ทางเครือข่ายฯขอให้ กสทช.ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่มีอำนาจโดยตรง เร่งออกมาตรการดังนี้ 1.ควบคุมละคร ที่มีฉากการกระทำผิดกฎหมาย ด้วยการแอบถ่าย การใช้คลิปประจาน แบ็คเมล์ ข่มขู่ ให้มีการขึ้นข้อความคำเตือนเช่นเดียวกับฉากเล่นการพนัน 2.ออกมาตรการช่วยเหลือ เยียวยาฟื้นฟูผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงจากการแอบถ่าย และการใช้คลิปในรูปแบบดังกล่าว และ3.ภาคีเครือข่ายขอขอบคุณที่ กสทช. มีนโยบาย เรื่องการจัดเรตติ้งรายการเด็ก ทางสื่อโทรทัศน์ช่วงเวลา16.00-18.00 น. จันทร์-ศุกร์ และ 07.00-09.00 น. และ 18.00-22.00 น.ในวันเสาร์ อาทิตย์ ตลอดจนการสนับสนุน ผลักดันให้มีช่องฟรีทีวีสำหรับเด็ก 2 ช่อง จาก 5 ช่องที่จะเปิดประมูลใหม่และให้รายการโทรทัศน์ มีรายการเด็กไม่น้อยกว่า 60 นาทีต่อวันหรือ15%ของรายการทั้งหมด
ขณะที่ พันเอก ดร. นที กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า ขณะนี้กสทช.ได้กำหนดประกาศฉบับใหม่ เรื่องของการจัดเรตติ้งโดยมีเนื้อหาที่เหมาะสมคุ้มครองเด็กและเยาวชน ซึ่งอยู่ระหว่างประกาศในราชจานุเบกษา คาดว่าจะมีผลบังคับใช้หลังปีใหม่นี้ อย่างไรก็ตาม หากมีประกาศฉบับนี้ออกมาก็จะสามารถควบคุมการผลิตสื่อที่ไม่ปลอดภัยได้ง่ายขึ้น
ที่มา : โพสต์ทูเดย์
เตือนแพร่คลิปเลียนแบบละครดังเสี่ยงผิดกม.
เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา ร่วมกับเครือข่ายสื่อเพื่อเด็กเยาวชนและครอบครัว จัดเสวนา “สงครามคลิปในแรงเงา...เทรนด์อันตรายกับชีวิตจริงที่ต้องเท่าทัน” โดยน.ส.ศรีดา ตันทอธิพานิช ผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวว่า ขณะนี้มีเครื่องมือการสื่อสารที่พัฒนาก้าวหน้า ทั้งมือถือ และอินเทอร์เน็ต ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก รวดเร็ว มีช่องทางปล่อยเวียนการเผยแพร่เป็นสองเท่า ทำให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นการสนับสนุนการเลียนแบบ การผลิต เผยแพร่ และการกระตุ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ทุกฝ่ายจะมีความพยายามควบคุมไม่อยากให้สิ่งไม่ดีส่งต่อได้ แต่ที่ผ่านมากลับพบว่ามันยากมากที่จะควบคุมผ่านสื่อกระแสหลักต่างๆ ที่บริโภคกันทั้งทีวี วิทยุ ดารา จนกลายเป็นเรื่องตามกระแสสังคม โดยโซเชียลมีเดียฉายซ้ำ
“ในฉากของละครแรงเงา มักนำเสนอเรื่องการส่งต่อคลิป เจาะระบบ และปล่อยคลิปประจาน แกล้งกัน ซึ่งทำโดยนางเอกที่เป็นตัวเอกของเรื่อง แสดงให้เห็นถึงชัยชนะ ความสำเร็จและความสะใจถูกชูเป็นฮีโร่ มีความชอบธรรม ที่ได้แก้แค้น ส่วนเด็กเยาวชนที่เสพสื่อเสพละครเหล่านี้ก็จะดูแค่ปลายๆ ยังไม่มีวุฒิภาวะ ไม่ได้ผ่านการวิเคราะห์ จึงถือเป็นการชี้นำเด็ก ทำให้เห็นว่าการใช้ไอที ถ่ายคลิป เผยแพร่ และเข้าเจาะระบบของบุคคลอื่นเป็นเรื่องชอบธรรมที่สามารถทำกันได้ทั่วๆไป ไม่ได้ผิดกฎหมาย”ผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทยกล่าว
ทั้งนี้การกระทำดังกล่าวถือเป็นการทำผิดกฎหมายโดยรู้เท่าไม่ถึงการ การเจาะระบบข้อมูล ของผู้อื่น ถือเป็นการบุกรุก ทำผิดกฎหมายโดยตรงของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 โดยเฉพาะมาตรา 3-6 ถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล กรณีเจาะแฮคข้อมูล เพื่อนำคลิปไปเผยแพร่ประจาน เข้าข่ายผิดกฎหมายอย่างชัดเจน มีบทลงโทษทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งมีกฎหมายโดยตรงอยู่แล้วในการคุ้มครองบุคคลที่เสียหาย ยังสามารถฟ้องร้องหมิ่นประมาทได้ เพราะเรื่องการเผยแพร่คลิปไม่ใช่เรื่องที่รับรู้กันแค่คนสองคนแต่หมายถึงคนทั้งประเทศหรือคนทั้งโลก
ด้าน น.ส.เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) กล่าวว่า ขณะนี้มีความพยายาม ผลักดันบทบาทกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ฉบับประชาชน เข้าสู่สภาให้เป็นกฎหมายอย่างเร็วที่สุด เพื่อการทำให้สื่อมีความปลอดภัยกับเด็กและเยาวชนไทย ซึ่งในต่างประเทศเขาจะมีกองทุนนี้โดยตรง เป็นการสร้างพื้นที่สื่อดีๆให้กับเด็กและครอบครัวได้เข้าถึงการมีส่วนร่วม พัฒนาสอดคล้องกับชุมชน ซึ่งขณะเดียวกันเราสนับสนุน เสริมสร้างกิจกรรมต่างๆเปิดพื้นที่สื่อดี โดยเฉพาะขณะนี้จากข้อมูลโดยตรง ที่ผู้ปกครอง ครู ต่างกังวลเรื่องการรับสื่อของเด็กเยาวชน ที่พัฒนาไปเร็วมาก เราจึงต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้รู้เท่าทันสื่อ รวมไปถึงเรื่องคลิปด้วย เพราะนี้เป็นวิธีเดียวเท่านั้นถึงจะป้องกันเด็กจากพิษภัยสื่อได้
นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า กรณีที่มีผู้ที่ถูกกระทำจากการใช้สื่อ ใช้คลิป ต้องตกเป็นเหยื่อ เช่นถูกแอบถ่าย แล้วส่งต่อ หรือถูกแบล็คเมล์ข่มขู่ จึงอยากเสนอให้ร่าง พ.ร.บ.กองทุนสื่อฯฉบับประชาชน กำหนดเพิ่มเนื้อหา ให้มีกลไกสนับสนุนการช่วยเหลือ เยียวยาฟื้นฟู หรือให้คำปรึกษากับผู้ที่ถูกกระทำจากเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย
ที่มา : โพสต์ทูเดย์
ค้านเหล้า-บุหรี่ขึ้นบัญชีการค้าเสรี
เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชูวิทย์ จันทรส เลขานุการเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ (ครปอ.) พร้อมด้วย นิสิตนักศึกษา เครือข่ายภาคประชาชน องค์กรงดเหล้าจากทั่วประเทศกว่า 100 คนเข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผ่านทางนายสุพร อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ถอนบัญชีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ออกจากการเจรจาการค้าเสรี (FTA) ทั้งนี้เครือข่ายฯ ได้นำรายชื่อภาคีจากทั่วประเทศ และองค์กรด้านเด็กและเยาวชน กว่า 219 องค์กร ที่ร่วมลงชื่อแสดงจุดยืนในเรื่องดังกล่าวมอบถึงนายกรัฐมนตรีด้วย
นายชูวิทย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้พยายามผลักดันให้เปิดเจรจาการค้าเสรี โดยเฉพาะไทยกับสหภาพยุโรป(อียู) จากนั้นก็ผลักดันให้มีการยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี ที่เห็นชอบตามยุทธศาสตร์สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมาจากทุกภาคส่วนร่วมในสังคมไทย สนับสนุนให้ถอนบัญชีสินค้าสุรา/บุหรี่ จนประสบความสำเร็จและในเรื่องนี้เครือข่ายทั่วประเทศ องค์กรด้านเด็กและเยาวชน กว่า 219 องค์กร ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งและขอแสดงจุดยืนเรียกร้องต่อรัฐบาลดังนี้
1.ขอรัฐบาลไทยยืนยันถอดบัญชีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ออกจากการเจรจาการค้าเสรี ไทย-สหภาพยุโรป ตลอดจนการเจรจาการค้าเสรีในรูปแบบอื่นๆด้วย และภาคีเครือข่ายทั้ง 219 องค์กรเห็นชอบร่วมกันที่จะเคลื่อนไหว ต่อสู้ให้ถึงที่สุด
2.ขอให้คณะรัฐมนตรี ยืนยัน มติ ครม. ตามมติเดิมที่ได้เห็นชอบยุทธศาสตร์สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งให้ความสำคัญต่อผลกระทบกับชีวิตของประชาชนและความโปร่งในของกระบวนการ ในการเจรจาการค้าเสรีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ และขอให้ทบทวนการยกเลิกมติ ดังกล่าวเป็นการด่วน
3.เครือข่ายฯเชื่อมั่นว่า รัฐบาลไทยมีความกล้าหาญเพียงพอที่จะคำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาวะคนไทยไม่น้อยกว่าผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ และจะเป็นแบบอย่างของประเทศที่ปกป้องประชาชนจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ ในระดับต้นๆของโลก
ที่มา : โพสต์ทูเดย์
ลาวให้สัตยาบันเป็นสมาชิก WTO
เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ทางการลาวให้สัตยาบันเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก หรือ WTO แล้ว หลังจากที่ดำเนินการยื่นเรื่องขอเข้าเป็นสมาชิกมานานถึง 8 ปี
ทางการลาวให้สัตยาบันในการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก หรือ WTO ในวันนี้(7 ธ.ค.) โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าว ถือเป็นก้าวที่สำคัญอีกก้าวหนึ่งของประเทศเล็กๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งหลังจากการให้สัตยาบันสิ้นสุดลง ลาวก็จะเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลกอย่างเป็นทางการภายในต้นปีหน้า
ทางด้านของตัวแทนจากสภานิติบัญญัติลาว ก็แสดงความเห็นว่า การเข้าเป็นสมาชิก WTO ในครั้งนี้ (7ธ.ค.) ถือเป็นโอกาสทองของลาว ที่จะได้สิทธิประโยชน์จากระบบการค้าเสรี เนื่องจากจะมีการลงทุนจากต่างชาติเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการทำให้การค้า และขนาดเศรษฐกิจของลาวขยายตัว แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มอุตสาหกรรม และบริษัทท้องถิ่นของลาว ควรเตรียมพร้อม และปรับตัวกับการเข้าเป็นสมาชิก WTO ในครั้งนี้
ทั้งนี้ รัฐบาลลาวได้ยื่นเรื่องขอเข้าเป็นสมาชิก WTO ไปตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งระหว่างนั้น WTO ได้ทำการตรวจสอบคุณสมบัติของลาวอย่างละเอียด ขณะที่ ลาวก็ทำการแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ เพื่อให้สอดคล้องกับการนำประเทศเข้าสู่ระบบการค้าเสรีอย่างเต็มตัว ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายด้านการลงทุน กฎหมายเกี่ยวกับการนำเข้า-ส่งออกสินค้า กฎหมายคุ้มครองการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงกฎหมายคุ้มครองมาตรฐานและคุณภาพของอาหารและเนื้อสัตว์
ลาวถือเป็นประเทศที่มีความยากจนที่สุดประเทศหนึ่งของโลก โดยประชากรส่วนใหญ่ มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ของธนาคารโลก แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจลาวเติบโตอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นค่าเฉลี่ยถึงร้อยละ 7 โดยทางการลาวต้องเป้าเอาไว้ว่า จะหลุดออกจากกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุดของโลกให้ได้ ภายในปี 2563
ที่มา: VoiceTV